ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 17อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 18อ่านอรรถกถา 25 / 19อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘

หน้าต่างที่ ๘ / ๑๔.

               ๘. เรื่องอายุวัฒนกุมาร [๘๘]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อทรงอาศัยทีฆลัมพิกนคร ประทับอยู่ ณ กุฎีในป่า๑- ทรงปรารภกุมารผู้อายุยืน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อภิวาทนสีลิสฺส" เป็นต้น.
____________________________
๑- กุฏิกศัพท์ แปลว่า กระท่อม ก็มี คำว่า อรญฺญกุฏิกายํ คงเป็นกระท่อมที่เขาสร้างไว้ในป่า ไม่ใช่สถานที่ประทับยั่งยืน เป็นที่ประทับชั่วคราว.

               พราหมณ์ ๒ สหายออกบวช               
               ได้ยินว่า พราหมณ์ ๒ คนชาวทีฆลัมพิกนคร บวชในลัทธิภายนอก บำเพ็ญตบะสิ้นกาล ๔๘ ปี. บรรดาพราหมณ์ ๒ คนนั้น คนหนึ่งคิดว่า "ประเพณีของเราจักเสื่อมเสีย, เราจักสึก" ดังนี้แล้ว จึงขายบริขารตบะที่ตนทำไว้แก่คนเหล่าอื่น ได้ภรรยาพร้อมด้วยโค ๑๐๐ ตัวและทรัพย์ ๑๐๐ กหาปณะ ให้ตั้งไว้เป็นกองทุน. ครั้งนั้น ภรรยาของเขาคลอดเด็ก.
               ส่วนสหายของเขานอกจากนี้ไปสู่ต่างถิ่นแล้ว ก็กลับมาสู่นครนั้นอีกนั่นแล. เขาได้ยินความที่สหายนั้นมา จึงได้พาบุตรและภรรยาไปเพื่อต้องการเยี่ยมสหาย, ครั้นถึงแล้วให้บุตรในมือของมารดาแล้วก็ไหว้เองก่อน. แม้มารดาให้บุตรในมือของบิดาแล้วก็ไหว้. สหายนั้นกล่าวว่า "ขอท่านจงเป็นผู้มีอายุยืน" แต่เมื่อมารดาบิดาให้บุตรไหว้แล้ว สหายนั้นได้นิ่งเสีย.

               พราหมณ์ถามเหตุที่สหายไม่ให้พรแก่บุตร               
               ลำดับนั้น เขากล่าวกะสหายนั้นว่า "ผู้เจริญ ก็เพราะเหตุไร? เมื่อผมไหว้ ท่านจึงกล่าวว่า ' ขอท่านจงเป็นผู้มีอายุยืน.' ในเวลาที่เด็กนี้ไหว้ ไม่กล่าวคำอะไรๆ?"
               สหาย. พราหมณ์ อันตรายอย่างหนึ่งของเด็กนี้มีอยู่.
               พราหมณ์. เด็กจักเป็นอยู่ตลอดกาลเท่าไร? ขอรับ.
               สหาย. ๗ วัน พราหมณ์.
               พราหมณ์. เหตุเป็นเครื่องป้องกัน มีไหม? ขอรับ.
               สหาย. เราไม่รู้เหตุเป็นเครื่องป้องกัน.
               พราหมณ์. ก็ใครพึงรู้เล่า? ขอรับ.
               สหาย. พระสมณโคดม, ท่านจงไปสำนักของพระสมณโคดมนั้น แล้วถามเถิด.
               พราหมณ์. ผมไปในที่นั้น กลัวแต่การเสื่อมแห่งตบะ.
               สหาย. ถ้าความรักในบุตรของท่านมีอยู่, ท่านอย่าคิดถึงการเสื่อมแห่งตบะ จงไปสำนักของพระสมณโคดมนั้น ถามเถิด.

               พราหมณ์ไปเฝ้าพระศาสดา               
               พราหมณ์นั้นไปสู่สำนักของพระศาสดาไหว้เองก่อน. พระศาสดาตรัสว่า "ท่านจงมีอายุยืน" แม้ในเวลาที่ปชาบดีไหว้ ก็ตรัสแก่นางอย่างนั้นเหมือนกัน ในเวลาที่เขาให้บุตรไหว้ได้ทรงนิ่งเสีย. เขาทูลถามพระศาสดาโดยนัยก่อนนั่นแล. แม้พระศาสดาก็ทรงพยากรณ์แก่เขาอย่างนั้นเหมือนกัน.
               ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นไม่แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ จึงเทียบเคียงมนต์ของตนกับพระสัพพัญญุตญาณ. แต่ไม่รู้อุบายเครื่องป้องกัน.

               พระศาสดาตรัสบอกอุบายป้องกัน               
               พราหมณ์ทูลถามพระศาสดาว่า "ก็อุบายเครื่องป้องกันมีอยู่หรือ? พระเจ้าข้า."
               พระศาสดา. พึงมี พราหมณ์.
               พราหมณ์. พึงมีอย่างไร?
               พระศาสดา. ถ้าท่านพึงอาจเพื่อทำมณฑปใกล้ประตูเรือนของตน ให้ทำตั่งไว้ตรงกลางมณฑปนั้น แล้วปูอาสนะไว้ ๘ หรือ ๑๖ ที่ ล้อมรอบตั่งนั้น ให้สาวกของเรานั่งบนอาสนะเหล่านั้น ให้ทำพระปริตร ๗ วันไม่มีระหว่าง. อันตรายของเด็กนั้นพึงเสื่อมไป ด้วยอุบายอย่างนี้.
               พราหมณ์. พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์อาจทำมณฑปเป็นต้นได้. แต่จักได้สาวกของพระองค์อย่างไร?
               พระศาสดา. เมื่อท่านทำกิจเท่านี้แล้ว เราจักส่งสาวกของเราไป.
               พราหมณ์ทูลรับว่า "ดีละ พระโคดมผู้เจริญ" แล้วทำกิจนั้นทั้งหมดใกล้ประตูเรือนของตนแล้ว ได้ไปยังสำนักของพระศาสดา.

               พวกภิกษุไปสวดพระปริตร               
               พระศาสดาทรงส่งภิกษุทั้งหลายไป. ภิกษุเหล่านั้นไปนั่งในมณฑปนั้น. พราหมณ์สามีภริยาให้เด็กนอนบนตั่งแล้ว. ภิกษุทั้งหลายสวดพระปริตร ๗ คืน ๗ วันไม่มีระหว่าง. ในวันที่ ๗ พระศาสดาเสด็จมาเอง.
               เมื่อพระศาสดานั้นเสด็จไปแล้ว. พวกเทวดาในจักรวาลทั้งสิ้นประชุมกันแล้ว.
               ก็อวรุทธกยักษ์ตนหนึ่งบำรุงท้าวเวสวัณ ๑๒ ปี เมื่อจะได้พรจากสำนักท้าวเวสวัณนั้น ได้กล่าวว่า "ในวันที่ ๗ จากวันนี้ ท่านพึงจับเอาเด็กนี้" เพราะฉะนั้น ยักษ์ตนนั้นจึงได้มายืนอยู่. ก็เมื่อพระศาสดาเสด็จไปในมณฑปนั้น เมื่อพวกเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ประชุมกัน. พวกเทวดาผู้มีศักดิ์น้อยถดถอยไป ไม่ได้โอกาส หลีกไปตลอด ๑๒ โยชน์ ถึงอวรุทธกยักษ์ก็ได้หลีกไปยืนอย่างนั้นเหมือนกัน.

               เด็กพ้นอันตรายกลับมีอายุยืน               
               แม้พระศาสดาได้ทรงทำพระปริตรตลอดคืนยังรุ่ง. เมื่อ ๗ วันล่วงแล้ว อวรุทธกยักษ์ไม่ได้เด็ก. ก็ในวันที่ ๘ เมื่ออรุณพอขึ้นเท่านั้น, สองสามีภรรยานำเด็กมาให้ถวายบังคมพระศาสดา. พระศาสดาตรัสว่า "ขอเจ้าจงมีอายุยืนเถิด."
               พราหมณ์. พระโคดมผู้เจริญ ก็เด็กจะดำรงอยู่นานเท่าไร?
               พระศาสดา. ๑๒๐ ปี พราหมณ์.
               ลำดับนั้น ๒ สามีภรรยาขนานนามเด็กนั้นว่า "อายุวัฒนกุมาร" อายุวัฒนกุมารนั้นเติบโตแล้ว อันอุบาสก ๕๐๐ คนแวดล้อมเที่ยวไป.

               การกราบไหว้ท่านผู้มีคุณทำให้อายุยืน               
               ภายหลังวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดู ได้ยินว่า อายุวัฒนกุมารพึงตายในวันที่ ๗ บัดนี้ อายุวัฒนกุมารนั้น (ดำรงอยู่ ๑๒๐ ปี) อันอุบาสก ๕๐๐ คนแวดล้อมเที่ยวไป เหตุเครื่องเจริญอายุของสัตว์เหล่านี้ เห็นจะมี."
               พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกัน ด้วยเรื่องอะไรหนอ?" เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ด้วยเรื่องชื่อนี้"
               จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย อายุเจริญอย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่, ก็สัตว์เหล่านี้ไหว้ท่านผู้มีพระคุณ ย่อมเจริญด้วยเหตุ ๔ ประการ, พ้นจากอันตราย ดำรงอยู่จนตลอดอายุทีเดียว" ดังนี้แล้ว
               เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๘. อภิวาทนสีลิสฺส    นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน
                         จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ    อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ.
                         ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ เจริญแก่
                         บุคคลผู้กราบไหว้เป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญ
                         เป็นนิตย์.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิวาทนสีลิสฺส คือ ผู้ไหว้เป็นปกติ ได้แก่ผู้ขวนขวายกิจคือการไหว้เนืองๆ.
               บทว่า วุฑฺฒาปจายิโน ความว่า แก่คฤหัสถ์ผู้อ่อนน้อมหรือผู้บูชาเป็นนิตย์ ด้วยการกราบไหว้ แม้ในภิกษุหนุ่มและสามเณรบวชในวันนั้น, ก็หรือแก่บรรพชิตผู้อ่อนน้อมหรือผู้บูชาเป็นนิตย์ ด้วยการกราบไหว้ในท่านผู้แก่กว่าโดยบรรพชาหรือโดยอุปสมบท (หรือ) ในท่านผู้เจริญด้วยคุณ.
               สองบทว่า จตฺตาโร ธมฺมา ความว่า เมื่ออายุเจริญอยู่, อายุนั้นย่อมเจริญสิ้นกาลเท่าใด, ธรรมทั้งหลายแม้นอกนี้ ก็เจริญสิ้นกาลเท่านั้นเหมือนกัน ด้วยว่าผู้ใดทำกุศลที่ยังอายุ ๕๐ ปี ให้เป็นไป, อันตรายแห่งชีวิตของผู้นั้นพึงเกิดขึ้นแม้ในกาลมีอายุ ๒๕ ปี, อันตรายนั้นย่อมระงับเสียได้ ด้วยความเป็นผู้กราบไหว้เป็นปกติ. ผู้นั้นย่อมดำรงอยู่ได้จนตลอดอายุทีเดียว. แม้วรรณะเป็นต้นของผู้นั้น ย่อมเจริญพร้อมกับอายุแล.
               นัยแม้ยิ่งกว่านี้ ก็อย่างนี้แล.
               ก็ชื่อว่าการเจริญแห่งอายุ ที่เป็นไปโดยไม่มีอันตราย หามีไม่.
               ในเวลาจบเทศนา อายุวัฒนกุมารตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมกับอุบาสก ๕๐๐ แล้ว, แม้ชนเหล่าอื่นเป็นอันมาก ก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องอายุวัฒนกุมาร จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 17อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 18อ่านอรรถกถา 25 / 19อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=544&Z=586
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=21&A=1780
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=21&A=1780
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :