ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 24อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 25อ่านอรรถกถา 25 / 26อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สุขวรรคที่ ๑๕

หน้าต่างที่ ๗ / ๘.

               ๗. เรื่องพระติสสเถระ [๑๖๓]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในเมืองไพศาลี ทรงปรารภภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปวิเวกรสํ" เป็นต้น.

               ได้ทราบข่าวปรินิพพานแล้วบำเพ็ญสมณธรรม               
               ความพิสดารว่า เมื่อพระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลายโดย ๔ เดือน๑- จากนี้ เราจักปรินิพพาน" ภิกษุ ๗๐๐ ในสำนักของพระศาสดาถึงความสะดุ้งแล้ว. ธรรมสังเวชเกิดขึ้นแก่พระขีณาสพทั้งหลาย. ภิกษุปุถุชนทั้งหลายไม่สามารถจะอดกลั้นน้ำตาได้. ภิกษุทั้งหลายเป็นพวกๆ เที่ยวปรึกษากันว่า "พวกเราจักทำอย่างไรหนอ?"
____________________________
๑- น่าจะเป็น ๓ เดือน แต่ว่าในที่นี้เห็นจะนับโดยเดือน.

               ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่าติสสเถระ คิดว่า "ได้ยินว่า พระศาสดาจักปรินิพพาน โดยล่วงไป ๔ เดือน ก็เราเป็นผู้มีราคะยังไม่ไปปราศ, เมื่อพระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่นั่นแหละ เราควรถือเอาพระอรหัต (ให้ได้)" แล้วจึงอยู่ผู้เดียวเท่านั้นในอิริยาบถ ๔.
               การไปสู่สำนักของภิกษุทั้งหลาย หรือการสนทนาปราศรัยกับผู้ใดผู้หนึ่ง ย่อมไม่มี.
               ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายกล่าวกะท่านว่า "คุณติสสะ เหตุไร? คุณจึงทำอย่างนี้." ท่านไม่ฟังถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้น. ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลความเป็นไปนั้นแด่พระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระติสสเถระไม่มีความรักในพระองค์."
               พระศาสดารับสั่งให้หาท่านมาแล้ว ตรัสถามว่า "ติสสะ เหตุไร? เธอจึงทำอย่างนี้." เมื่อท่านกราบทูลความประสงค์ของตนแล้ว ประทานสาธุการว่า "ดีละ ติสสะ"
               แล้วตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ผู้มีความรักในเรา จงเป็นเหมือนติสสะเถิด แม้คนกระทำการบูชาอยู่ด้วยของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น ไม่ชื่อว่าบูชาเราเลย, แต่คนผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั่นแหละ ชื่อว่าบูชาเรา"
               แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๗. ปวิเวกรสํ ปิตฺวา    รสํ อุปสมสฺส จ
                         นิทฺทโร โหติ นิปฺปาโป    ธมฺมปีติรสํ ปิวํ.
                         บุคคลดื่มรสอันเกิดแต่วิเวกและรสพระนิพพาน
                         เป็นที่เข้าไปสงบ ดื่มรสปีติอันเกิดแต่ธรรม ย่อม
                         เป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปวิเวกรสํ ความว่า ซึ่งรสอันเกิดแล้วแต่วิเวก. อธิบายว่า ซึ่งความสุขอันเกิดแต่ความเป็นผู้เดียว.
               บทว่า ปิตฺวา ความว่า ดื่มแล้วด้วยความสามารถแห่งอันเป็นผู้ทำกิจมีอันกำหนดรู้ทุกข์เป็นต้น ทำให้แจ้งโดยความเป็นอารมณ์.
               บาทพระคาถาว่า รสํ อุปสมสฺส จ ความว่า ดื่มแล้วซึ่งรสแห่งพระนิพพานอันเป็นที่เข้าไปสงบกิเลสด้วย.
               สองบทว่า นิทฺทโร โหติ ความว่า ภิกษุผู้ขีณาสพ ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย และไม่มีบาป เพราะความไม่มีความกระวนกระวาย คือราคะเป็นต้นในภายใน เพราะดื่มรสทั้งสองอย่างนั้น.
               สองบทว่า รสํ ปิวํ ความว่า แม้เมื่อดื่มรสแห่งปีติ อันเกิดขึ้นแล้ว ด้วยสามารถแห่งโลกุตรธรรม ๙ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย และไม่มีบาป.
               ในกาลจบเทศนา พระติสสเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว.
               เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่มหาชน ดังนี้แล.

               เรื่องพระติสสเถระ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สุขวรรคที่ ๑๕
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 24อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 25อ่านอรรถกถา 25 / 26อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=799&Z=829
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=23&A=2392
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=23&A=2392
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๐  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :