ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 24อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 25อ่านอรรถกถา 25 / 26อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สุขวรรคที่ ๑๕

หน้าต่างที่ ๘ / ๘.

               ๘. เรื่องท้าวสักกะ [๑๖๔]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในเวฬุวคาม ทรงปรารภท้าวสักกะ
               ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สาหุ ทสฺสนํ" เป็นต้น.
               ความพิสดารว่า ท้าวสักกเทวราชทรงทราบความที่พระอาพาธ มีอันแล่นไปแห่งพระโลหิตเป็นสมุฏฐาน๑- เกิดขึ้นแล้วแก่พระตถาคต ในเมื่อพระองค์ทรงปลงอายุสังขารแล้ว ทรงดำริว่า "การที่เราไปสู่สำนักของพระศาสดาแล้ว ทำคิลานุปัฏฐากย่อมควร" ทรงละอัตภาพประมาณ ๓ คาวุตเสีย เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว ทรงนวดพระบาทด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง
               ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสกะท้าวสักกะนั้นว่า "นั่นใคร?"
               ท้าวสักกะ. ข้าพระองค์ คือท้าวสักกะ พระเจ้าข้า.
               พระศาสดา. ท่านมาทำไม?
               ท้าวสักกะ. มาเพื่อบำรุงพระองค์ผู้ประชวร พระเจ้าข้า.
               พระศาสดา. ท้าวสักกะ กลิ่นมนุษย์ย่อมปรากฏแก่เทวดาทั้งหลาย เหมือนซากศพที่ผูกไว้ที่คอ ตั้งแต่ ๑๐๐ โยชน์ขึ้นไป ท่านจงไปเถิด ภิกษุผู้คิลานุปัฏฐากของเรามี.
               ท้าวสักกะกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ดำรงอยู่ในที่สุดแห่ง ๘ หมื่น ๔ พันโยชน์ สูดกลิ่นแห่งศีลของพระองค์มาแล้ว ข้าพระองค์นี่แหละจักบำรุง" แล้วไม่ให้บุคคลอื่นถูกต้องภาชนะพระบังคนหนักของพระศาสดาแม้ด้วยมือ ทรงทูนไว้บนพระเศียรทีเดียว นำไปอยู่ ไม่ได้กระทำแม้อาการสักว่าการสยิ้วพระพักตร์ ได้เป็นดุจนำภาชนะของหอมไป.
               ท้าวเธอปฏิบัติพระศาสดาอย่างนี้แล้ว ในเวลาพระศาสดามีความสำราญนั่นแหละ จึงได้เสด็จไป.
____________________________
๑- อาพาธลงพระโลหิต.

               ภิกษุสรรเสริญท้าวสักกะ               
               ภิกษุประชุมพูดกันขึ้นว่า "น่าสรรเสริญ ท้าวสักกเทวราชมีความสิเนหาในพระศาสดา ท้าวเธอทรงละทิพยสมบัติ เห็นปานฉะนี้เสีย ทรงนำภาชนะสำหรับรองพระบังคนหนักของพระศาสดา ออกไปด้วยพระเศียร หาทรงทำพระอาการมาตรว่าสยิ้วพระพักตร์ไม่ ดุจบุรุษผู้นำภาชนะอันเต็มด้วยของหอมออกไปอยู่ฉะนั้น ได้ทรงกระทำอุปัฏฐากแล้ว"
               พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไรกัน?" ครั้นภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "เรื่องชื่อนี้ พระเจ้าข้า"
               จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ข้อซึ่งท้าวสักกเทวราชทำสิเนหาในเรานั้น ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะท้าวสักกเทวราชนี้ฟังธรรมเทศนาแล้วเป็นโสดาบัน ละความเป็นท้าวสักกะชรา ถึงความเป็นท้าวสักกะหนุ่ม เหตุอาศัยเรา;
               แท้จริง เมื่อท้าวเธอเสด็จนั่งในท่ามกลางเทพบริษัท ณ อินทสาลคูหา ในกาลเมื่อตนถูกมรณภัยคุกคาม ทำคนธรรพ์เทพบุตรชื่อปัญจสิขะข้างหน้า เสด็จมา เราได้กล่าวว่า :-
                                   ดูก่อนท้าววาสวะ ท่านจงถามปัญหากะเรา
                         ท่านปรารถนาปัญหาข้อใดข้อหนึ่งในพระหฤทัย
                         เราจะทำที่สุดแห่งปัญหานั้นๆ ของท่านได้แน่แท้.

               เมื่อจะบรรเทาความสงสัยของท้าวเธอ จึงได้แสดงธรรมเทศนา.
               ในกาลจบเทศนา ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ทั้งหลายประมาณ ๑๔ โกฏิ,
               ส่วนท้าวสักกเทวราชบรรลุโสดาปัตติผล ตามที่ประทับนั่งแล้วนั่นเอง เป็นท้าวสักกะหนุ่มแล้ว เรามีอุปการะเป็นอันมากแก่ท้าวสักกเทวราชนั้น ด้วยประการอย่างนี้ ชื่อว่าความสิเนหาในเราของท้าวสักกเทวราชนั้น ไม่น่าอัศจรรย์
               ภิกษุทั้งหลาย ก็การพบเห็นเหล่าอริยบุคคลก็ดี การอยู่ ณ ที่เดียวกันกับเหล่าอริยบุคคลก็ดี ให้เกิดสุข แต่ว่า กิจเช่นนั้นกับพวกคนพาล ให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น"
               แล้วจึงได้ทรงภาษิตคาถาเหล่านี้ว่า :-
                         ๘. สาหุ ทสฺสนมริยานํ    สนฺนิวาโส สทา สุโข
                         อทสฺสเนน พาลานํ    นิจฺจเมว สุขี สิยา.
                         พาลสงฺคตจารี หิ    ทีฆมทฺธาน โสจติ
                         ทุกฺโข พาเลหิ สํวาโส    อมิตฺเตเนว สพฺพทา.
                         ธีโร จ สุขสํวาโส    ญาตีนํว สมาคโม
                         ตสฺมา หิ    
                                        ธีรญฺจ ปญฺญญฺจ พหุสฺสุตญฺจ
                                        โธรยฺหสีลํ วตวนฺตมริยํ
                                        ตํ ตาทิสํ สปฺปุริสํ สุเมธํ
                                        ภเชถ นกฺขตฺตปถํว จนฺทิมา.
                         การพบเห็นเหล่าอริยบุคคล เป็นการดี, การอยู่ร่วม (ด้วย
                         เหล่าอริยบุคคล) ให้เกิดสุขทุกเมื่อ, บุคคลพึงเป็นผู้มีสุข
                         เป็นนิตย์แท้จริง เพราะไม่พบเห็นพวกคนพาล, เพราะว่า
                         คนเที่ยวสมาคมกับคนพาล ย่อมโศกเศร้าตลอดกาลยืด
                         ยาวนาน, ความอยู่ร่วมกับพวกคนพาลให้เกิดทุกข์เสมอ
                         ไป เหมือนความอยู่ร่วมด้วยศัตรู, ปราชญ์มีความอยู่ร่วม
                         กันเป็นสุข เหมือนสมาคมแห่งญาติ, เพราะฉะนั้นแล
                         ท่านทั้งหลายจงคบหาผู้ที่เป็นปราชญ์ และมีปัญญาทั้ง
                         เป็นพหุสูต นำธุระไปเป็นปกติ มีวัตร เป็นอริยบุคคล
                         เป็นสัตบุรุษ มีปัญญาดี เช่นนั้น เหมือนพระจันทร์ ซ่อง
                         เสพคลองแห่งนักขัตฤกษ์ฉะนั้น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาหุ ได้แก่ เป็นการยังประโยชน์ให้สำเร็จ คือว่าเป็นความงาม ได้แก่กรรมอันเจริญ.
               บทว่า สนฺนิวาโส ความว่า หาใช่เพียงการพบพระอริยบุคคลเหล่านั้นอย่างเดียวเป็นการดีไม่, ถึงความเป็น คือเป็นต้นว่าความนั่งร่วมกับพระอริยบุคคลเหล่านั้น ณ ที่เดียวกันก็ดี ความเป็น คืออันได้เพื่อจะกระทำวัตรและปฏิวัตรแก่พระอริยบุคคลเหล่านั้นก็ดี เป็นการดีโดยแท้.
               บทว่า พาลสงฺคตจารี หิ ความว่า เพราะผู้ใดเที่ยวร่วมกับคนพาล.
               ประชุมบทว่า ทีฆมทฺธานํ เป็นต้น ความว่า ผู้นั้นถูกสหายพาลพูดว่า "เจ้าจงมา พวกเราจะกระทำกรรม มีอันตัดที่ต่อเป็นต้น" เป็นผู้ร่วมฉันทะกับสหายพาลนั้น กระทำกรรมเหล่านั้นต้องกรรมกรณ์หลายอย่างมีถูกตัดมือเป็นต้น ชื่อว่าย่อมโศกเศร้าสิ้นกาลยาวนาน.
               บทว่า สพฺพทา ความว่า ขึ้นชื่อว่าการอยู่ ณ ที่เดียวกันกับผู้เป็นศัตรูมีมือถือดาบก็ดี พวกสัตว์ร้ายมีอสรพิษเป็นต้นก็ดี ให้เกิดทุกข์เป็นนิตย์ฉันใด, การอยู่ร่วมกับคนพาล (ก็) ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ในบาทพระคาถาว่า ธีโร จ สุขสํวาโส นี้ มีวิเคราะห์ว่า การอยู่ร่วมด้วยปราชญ์นั้น เป็นสุข เหตุนั้นจึงชื่อว่า มีการอยู่ร่วมให้เกิดสุข. อธิบายว่า การอยู่ ณ ที่เดียวกันกับด้วยบัณฑิตให้เกิดสุข.
               ถามว่า "การอยู่ร่วมด้วยปราชญ์ ให้เกิดสุขอย่างไร?"
               แก้ว่า "เหมือนสมาคมแห่งหมู่ญาติฉะนั้น" อธิบายว่า การสมาคมแห่งหมู่ญาติ อันเป็นที่รักให้เกิดสุขฉันใด; การอยู่ร่วมด้วยปราชญ์ให้เกิดสุขฉันนั้น.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะการอยู่ร่วมกับคนพาลให้เกิดทุกข์, กับด้วยบัณฑิตให้เกิดสุข; ฉะนั้นแล ท่านทั้งหลายจงคบหา คือว่าเข้าไปนั่งใกล้ ท่านที่เป็นปราชญ์สมบูรณ์ด้วยปัญญา และผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาเป็นโลกิยะและโลกุตระ ซึ่งชื่อว่าผู้มีปัญญา และผู้ถึงพร้อมด้วยอาคมและอธิคมที่ชื่อว่าพหุสูต ผู้ชื่อว่านำธุระไปเป็นปกติ เพราะความเป็นผู้มีอันนำธุระไปเป็นปกติ คือให้ถึงพระอรหัต ผู้ชื่อว่ามีวัตร เพราะวัตรคือศีล และวัตรคือธุดงค์ ผู้ชื่อว่าอริยะ เพราะความเป็นผู้ไกลจากกองกิเลส ผู้สัตบุรุษ ผู้มีปัญญางามเห็นปานนั้น, เหมือนพระจันทร์ซ่องเสพอากาศ ที่กล่าวกันว่าคลองแห่งนักขัตฤกษ์ อันไม่มัวหมองฉะนั้น.
               ในกาลจบเทศนา คนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้นแล้ว ดังนี้แล.

               เรื่องท้าวสักกะ จบ.               
               สุขวรรควรรณนา จบ.               
               วรรคที่ ๑๕ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สุขวรรคที่ ๑๕ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 24อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 25อ่านอรรถกถา 25 / 26อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=799&Z=829
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=23&A=2392
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=23&A=2392
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๐  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :