ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 30อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 31อ่านอรรถกถา 25 / 32อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปกิณณกวรรคที่ ๒๑

หน้าต่างที่ ๘ / ๙.

               ๘. เรื่องนางจูฬสุภัททา [๒๒๑]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภธิดาของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ชื่อจูฬสุภัททา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ทูเร สนฺโต ปกาเสนฺติ" เป็นต้น.

               สองเศรษฐีทำกติกาต่อกัน               
               ดังได้สดับมา เศรษฐีบุตรชื่ออุคคะ ชาวอุคคนครได้เป็นสหายของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ตั้งแต่เวลาที่ยังเป็นหนุ่ม. สหายทั้งสองนั้นเรียนศิลปะอยู่ในตระกูลอาจารย์เดียวกัน ทำกติกาต่อกันว่า "ในเวลาที่เราทั้งสองเจริญวัย เมื่อบุตรและธิดาเกิดแล้ว ผู้ใดขอธิดาเพื่อประโยชน์แก่บุตร ผู้นั้นต้องให้ธิดาแก่ผู้นั้น" เขาทั้งสองเจริญวัยแล้ว ดำรงอยู่ในตำแหน่งเศรษฐีในนครของตนๆ.
               สมัยหนึ่ง อุคคเศรษฐีประกอบการค้าขาย ได้ไปยังกรุงสาวัตถีด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม. อนาถบิณฑิกเศรษฐีเรียกนางจูฬสุภัททาธิดาของตนมา สั่งว่า "แม่ บิดาของเจ้าชื่ออุคคเศรษฐีมา, กิจที่ควรทำแก่เขา จงเป็นภาระของเจ้า."

               อุคคเศรษฐีขอนางจูฬสุภัททาเพื่อบุตร               
               นางรับว่า "ดีละ" จึงจัดโภชนะมีแกงและกับเป็นต้นด้วยมือของตนเอง จำเดิมแต่วันอุคคเศรษฐีนั้นมา เตรียมวัตถุต่างๆ มีระเบียบดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้เป็นต้นไว้, ในเวลาบริโภค ก็จัดน้ำสำหรับอาบไว้ (คอย) ท่านเศรษฐีนั้นตั้งแต่เวลาอาบน้ำไป ย่อมทำกิจทุกอย่างสำเร็จเรียบร้อย.
               อุคคเศรษฐีเห็นอาจารสมบัติของนางสุภัททานั้นแล้ว มีจิตเลื่อมใส ในวันหนึ่ง นั่งอยู่กับ๑- อนาถบิณฑิกเศรษฐี ด้วยกถาอันปรารภความสุขแล้ว นึกได้ว่า "ในเวลายังเป็นหนุ่ม เราทั้งสองทำกติกาชื่ออย่างนี้ไว้แล้ว" จึงขอนางจูฬสุภัททา เพื่อประโยชน์แก่บุตรของตน.
____________________________
๑- นั่งสนทนากันตามสบายกับอนาถบิณฑิกเศรษฐี.

               แต่อุคคเศรษฐีนั้นโดยปกติเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงกราบทูลความนั้นแด่พระทศพล อันพระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยของอุคคเศรษฐีแล้วทรงอนุญาต จึงปรึกษากับภรรยา แล้วรับคำของอุคคเศรษฐีนั้น กำหนดวัน (แต่งงาน) แล้ว, ทำสักการะเป็นอันมาก เหมือนอย่างธนญชัยเศรษฐีทำให้นางวิสาขาผู้เป็นธิดา แล้วส่งไปฉะนั้น,
               เรียกนางสุภัททามาแล้ว ให้โอวาท ๑๐ ข้อ เป็นต้นว่า "แม่ ธรรมดาสตรีผู้อยู่ในตระกูลพ่อผัว ไม่ควรนำไฟภายในออกไปภายนอก"
               โดยนัยที่ธนญชัยเศรษฐีให้แก่นางวิสาขานั่นแล
               เมื่อจะส่งไป ยึดเอากุฎุมพี ๘ คนให้เป็นผู้รับรองว่า "ถ้าโทษของธิดาข้าพเจ้าเกิดขึ้นในที่ไปแล้ว พวกท่านต้องชำระ" ในวันเป็นที่ส่งธิดานั้นไป ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้ว ส่งธิดาไปด้วยสักการะเป็นอันมาก ประหนึ่งจะแสดงความเจริญแห่งผลสุจริตทั้งหลาย อันธิดาทำไว้แล้วในภพก่อนให้ปรากฏแก่ชาวโลก. ในเวลานางถึงอุคคนครโดยลำดับ มหาชนพร้อมกับตระกูลพ่อผัวได้ทำการต้อนรับ.
               ฝ่ายนางจูฬสุภัททานั่นแสดงตนแก่ชาวนครทั้งสิ้น เหมือนนางวิสาขา เพื่อทำสิริสมบัติของตนให้ปรากฏ ยืนอยู่บนรถเข้าไปสู่นคร รับเครื่องบรรณาการที่ชาวนครส่งมาแล้ว ส่งไป [ตอบแทน] แก่ชนเหล่านั้นๆ ด้วยสามารถแห่งวัตถุตามสมควร ได้ทำชาวนครทั้งสิ้นให้เนื่องเป็นอันเดียวกับด้วยคุณของตน.

               พ่อผัวให้นางจูฬสุภัททาไหว้ชีเปลือย               
               ก็ในวันมงคลเป็นต้น พ่อผัวของนาง เมื่อจะทำสักการะแก่พวกชีเปลือย ส่งไปด้วยคำว่า "นางจงมาไหว้พระสมณะทั้งหลายของพวกเรา." นางไม่อาจเพื่อจะดูชีเปลือยทั้งหลาย เพราะละอาย ไม่ปรารถนาจะไป. พ่อผัวนั้น แม้ส่ง (ข่าว) ไปบ่อยๆ ถูกนางห้ามแล้ว จึงโกรธพูดว่า "พวกเธอจงขับไล่มันไปเสีย."
               นางคิดว่า "พ่อผัวไม่อาจยกโทษแก่เรา เพราะเหตุไม่สมควรได้" ให้คนเรียกกุฎุมพีมาแล้ว บอกความนั้น. กุฎุมพีเหล่านั้นทราบความที่นางไม่มีโทษ จึงให้เศรษฐียินยอมแล้ว. เขาบอกแก่ภรรยาว่า "ลูกสะใภ้นี้ไม่ไหว้พระสมณะทั้งหลายของเรา ด้วยเข้าใจว่า เป็นผู้ไม่มีความละอาย."
               ภรรยาเศรษฐีนั้นคิดว่า "พวกสมณะของลูกสะใภ้นี้ เป็นเช่นไรหนอแล? นางสรรเสริญพระสมณะเหล่านั้นเหลือเกิน" ให้คนเรียกนางมาแล้ว พูดว่า :-
                                   "พวกพระสมณะของเจ้า เป็นเช่นไร? เจ้าจึง
                         สรรเสริญพระสมณะเหล่านั้นนักหนา. พระสมณะ
                         เหล่านั้น มีปกติอย่างไร? มีสมาจารอย่างไร? เจ้า
                         อันเราถามแล้ว จงบอกเรื่องนั้นแก่เรา."

               ลำดับนั้น นางสุภัททาประกาศคุณทั้งหลายของพระพุทธเจ้า และพระสาวกของพระพุทธเจ้า แก่แม่ผัวนั้นอยู่ ให้แม่ผัวยินดีแล้วด้วยคำทั้งหลายมีเป็นต้นอย่างนี้ว่า :-

               ลูกสะใภ้บอกสมณภาพแก่แม่ผัว               
                                   "ท่านผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจสงบ ท่านเดินยืน
                         เรียบร้อย, มีจักษุทอดลง พูดพอประมาณ,
                         พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนั้น.
                                   กายกรรมของท่านสะอาด. วจีกรรมไม่มัวหมอง,
                         มโนกรรมหมดจดดี. พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนั้น.
                                   ท่านไม่มีมลทิน มีรัศมีดุจสังข์และมุกดา บริสุทธิ์
                         ทั้งภายในภายนอก เต็มแล้วด้วยธรรมอันหมดจดทั้งหลาย,
                         พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนั้น.
                                   โลกฟูขึ้นเพราะลาภ และฟุบลงเพราะเสื่อมลาภ,
                         ท่านผู้ตั้งอยู่อย่างเดียวเพราะลาภและเสื่อมลาภ.
                         พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนั้น.
                                   โลกฟูขึ้นเพราะยศ และฟุบลงเพราะเสื่อมยศ,
                         ท่านผู้ตั้งอยู่อย่างเดียวเพราะยศและเสื่อมยศ,
                         พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนั้น.
                                   โลกฟูขึ้นเพราะสรรเสริญ และฟุบลงแม้เพราะนินทา,
                         ท่านผู้สม่ำเสมอในเพราะนินทาและสรรเสริญ,
                         พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนั้น.
                                   โลกฟูขึ้นเพราะสุข และฟุบลงแม้เพราะทุกข์,
                         ท่านไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์,
                         พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนั้น."

               นางจูฬสุภัททานิมนต์ภิกษุสงฆ์ฉันอาหาร               
               ลำดับนั้น แม่ผัวกล่าวกะนางว่า "เจ้าอาจแสดงสมณะทั้งหลายของเจ้า แม้แก่พวกฉันได้หรือ" เมื่อนางตอบว่า "อาจ" จึงพูดว่า "ถ้ากระนั้น เจ้าจงทำโดยประการที่พวกฉันจะเห็นสมณะเหล่านั้น."
               นางรับว่า "ดีละ" ตระเตรียมมหาทานเพื่อภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้ว ยืนอยู่บนพื้นปราสาทชั้นบน ผินหน้าไปเฉพาะพระเชตวัน ไหว้โดยเคารพ ด้วยเบญจางประดิษฐ์ ระลึกถึงพระพุทธคุณทั้งหลาย ทำการบูชาด้วยของหอม เครื่องอบ ดอกไม้และธูป กล่าว (อัญเชิญ) ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้านิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อฉันเช้าในวันรุ่งขึ้น, ด้วยสัญญาณของข้าพเจ้านี้ ขอพระศาสดาจงทราบว่า เป็นผู้อันข้าพเจ้านิมนต์แล้ว"
               ดังนี้แล้ว จึงซัดดอกมะลิ ๘ กำไปในอากาศ.
               ดอกไม้ทั้งหลายลอยไปเป็นเพดานอันสำเร็จด้วยระเบียบดอกไม้ ได้คงที่อยู่เบื้องบนพระศาสดาผู้ทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท ๔.

               สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกล               
               ในขณะนั้น แม้อนาถบิณฑิกเศรษฐีสดับธรรมกถาแล้ว นิมนต์พระศาสดา เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้. พระศาสดาตรัสว่า "คฤหบดี ตถาคตรับภัตเพื่อฉันในวันพรุ่งนี้แล้ว"
               เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนอื่นมาก่อนกว่าข้าพระองค์ไม่มี พระองค์ทรงรับภัตของใครหนอแล?" ตรัสว่า "คฤหบดี นางจูฬสุภัททานิมนต์ไว้แล้ว." เมื่อท่านเศรษฐีกล่าวว่า "นางสุภัททาอยู่ในที่ไกลที่สุดประมาณ ๑๒๐ โยชน์แต่ที่นี้มิใช่หรือ? พระเจ้าข้า" ตรัสว่า "ใช่ คฤหบดี. ก็สัตบุรุษทั้งหลาย แม้อยู่ในที่ไกล ย่อมปรากฏเหมือนยืนอยู่เฉพาะหน้า"
               ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๘.   ทูเร สนฺโต ปกาเสนฺติ    หิมวนฺโตว ปพฺพโต
                         อสนฺเตตฺถ น ทิสฺสนฺติ    รตฺติขิตฺตา ยถา สรา.
                                   สัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมปรากฏในที่ไกล เหมือน
                         ภูเขาหิมพานต์, (ส่วน) อสัตบุรุษย่อมไม่ปรากฏในที่นี้
                         เหมือนลูกศรอันเขาซัด (ยิง)ไปในราตรีฉะนั้น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺโต เป็นต้น ความว่า ปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ชื่อว่าสัตบุรุษ เพราะความที่กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น สงบแล้ว, แต่ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์สัตว์ผู้มีอธิการ (บุญ) อันทำไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน มีกุศลมูลสั่งสมไว้แล้ว (และ) อบรมภาวนาแล้วว่า "สัตบุรุษ."
               บทว่า ปกาเสนฺติ ความว่า แม้ยืนอยู่ที่ไกล เมื่อมาสู่คลองพระญาณแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าย่อมปรากฏได้.
               บทว่า หิมวนฺโตว ความว่า เหมือนอย่างว่า ภูเขาหิมพานต์กว้าง ๓,๐๐๐ โยชน์ สูง ๕๐๐ โยชน์ ประดับด้วยยอด ๘๔,๐๐๐ ย่อมปรากฏ แม้แก่ชนทั้งหลายผู้ยืนอยู่ในที่ไกล เหมือนตั้งอยู่เฉพาะหน้าฉันใด สัตบุรุษทั้งหลายย่อมปรากฏฉันนั้น.
               บทว่า อสนฺเตตฺถ ความว่า บุคคลพาล หนักในทิฏฐธรรม มีปรโลกอันผ่านไปแล้ว เห็นแก่อามิส บวชเพื่อประโยชน์แก่ชีวิต ชื่อว่า อสัตบุรุษ, อสัตบุรุษเหล่านั้น แม้นั่งในที่นี้ คือในที่ใกล้มณฑลแห่งพระชานุเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏ คือย่อมไม่ทราบ.
               สองบทว่า รตฺตึ ขิตฺตา คือเหมือนลูกศรที่ยิงไปในราตรี คือในที่มืดประกอบด้วยองค์ ๔.#- อธิบายว่า อสัตบุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่ปรากฏเพราะความไม่มีแห่งบุรพเหตุ ซึ่งเป็นอุปนิสัยเห็นปานนั้น.
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
____________________________
#- วันแรม ๑๔-๑๕ ค่ำ ๑ เที่ยงคืน ๑ ดงทึบ ๑ ก้อนเมฆ ๑.

               วิสสุกรรมนิรมิตเรือนยอด ๕๐๐ หลัง               
               แม้ท้าวสักกเทวราชแลทรงทราบว่า "พระศาสดาทรงรับนิมนต์ของนางจูฬสุภัททาแล้ว" ทรงบังคับวิสสุกรรมเทพบุตรว่า "ท่านจงนิรมิตเรือนยอด ๕๐๐ หลัง แล้วนำภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ไปสู่อุคคนครในวันพรุ่งนี้."
               ในวันรุ่งขึ้น วิสสุกรรมเทพบุตรนั้นนิรมิตเรือนยอด ๕๐๐ หลังแล้ว ได้ยืนอยู่ที่ประตูแห่งพระเชตวัน. พระศาสดาทรงเลือกแล้ว พาภิกษุขีณาสพผู้บริสุทธิ์ทั้งนั้น ๕๐๐ รูป พร้อมด้วยบริวารประทับนั่งในเรือนยอดแล้ว ได้เสด็จไปยังอุคคนคร.

               อุคคเศรษฐีกลับเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา               
               แม้อุคคเศรษฐีพร้อมด้วยบริวาร แลดูทางเสด็จมาแห่งพระตถาคต โดยนัยอันนางสุภัททาให้แล้ว เห็นพระศาสดาเสด็จมาด้วยสิริสมบัติใหญ่ เป็นผู้มีใจเลื่อมใสแล้ว ทำสักการะด้วยวัตถุทั้งหลาย มีระเบียบดอกไม้เป็นต้น ต้อนรับแล้ว ถวายบังคม ถวายมหาทาน นิมนต์ซ้ำอีก ได้ถวายมหาทานสิ้น ๗ วัน.
               แม้พระศาสดาทรงกำหนดธรรมเป็นที่สบายของเศรษฐีนั้น แล้วทรงแสดงธรรม. สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ทำเศรษฐีนั้นให้เป็นต้น ได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว.
               พระศาสดา เพื่อทรงอนุเคราะห์นางสุภัททา จึงรับสั่งให้พระอนุรุทธเถระกลับ ด้วยพระดำรัสว่า "เธอจงพักอยู่ในที่นี่แหละ" แล้วได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถีทีเดียว. ตั้งแต่นั้นมา ชาวนครนั้นได้มีศรัทธาเลื่อมใสดังนี้แล.

               เรื่องนางจูฬสุภัททา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปกิณณกวรรคที่ ๒๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 30อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 31อ่านอรรถกถา 25 / 32อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1035&Z=1079
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=24&A=1721
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=24&A=1721
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :