ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 316อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 317อ่านอรรถกถา 25 / 319อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรค
มงคลสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               คาถาที่ ๓ (มี ๔ มงคล)               
               บัดนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบอธิบายในมงคลข้อว่า พาหุสจฺจญฺจ เป็นต้นนี้ดังต่อไปนี้.
               ความเป็นผู้ได้สดับมาก ชื่อว่า พาหุสจฺจํ.
               ความเป็นผู้ฉลาดในหัตถกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งชื่อว่า สิปฺปํ (ศิลปะ)
               การฝึกกายวาจาและจิต ชื่อว่า วินโย (วินัย).
               บทว่า สุสิกฺขิโต ได้แก่ ศึกษาแล้วด้วยดี.
               บทว่า สุภาสิตา ได้แก่ กล่าวแล้วด้วยดี.
               บทว่า ยา เป็นการแสดงถึงคำที่ไม่แน่นอน.
               คำที่เปล่ง คำที่เป็นทาง ชื่อว่า วาจา.
               คำที่เหลือมีนัยดังข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแล นี้คือการพรรณนาเฉพาะบทในพระคาถานี้. ส่วนการพรรณนาเนื้อความ ผู้ศึกษาพึงทราบดังนี้.
               ที่ชื่อว่า พาหุสจฺจํ ได้แก่ การทรงไว้ซึ่งคำสอนของพระศาสดา ที่ทรงพรรณนาไว้โดยนัยว่า ภิกษุเป็นพหูสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมไว้ซึ่งสุตะ๑- ดังนี้เป็นต้น และโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้สดับมาก คือทรงไว้ซึ่งสุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ๒- เป็นต้น.
____________________________
๑- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๒   ๒- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๖

               พาหุสัจจะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ละอกุศลธรรม และบรรลุกุศลธรรม และเพราะเป็นเหตุทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะโดยลำดับ.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็อริยสาวกได้สดับแล้วแล ย่อมละอกุศล บำเพ็ญกุศล ละธรรมที่มีโทษ บำเพ็ญธรรมที่ไม่มีโทษ รักษาตนให้บริสุทธิ์อยู่๓- ดังนี้เป็นต้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แม้อื่นอีกว่า ภิกษุย่อมเข้าไปเพ่งซึ่งเนื้อความแห่งธรรมทั้งหลายที่ตนทรงไว้แล้ว เมื่อเธอเข้าไปเพ่งอยู่ซึ่งเนื้อความ ธรรมย่อมทนต่อการเพ่งพินิจ เมื่อมีการอดทนต่อการเพ่งพินิจธรรมอยู่ ความพอใจก็เกิดขึ้น ผู้ที่เกิดความพอใจย่อมอุตสาหะ เมื่ออุตสาหะย่อมไตร่ตรอง เมื่อไตร่ตรองย่อมเพียรพยายาม เมื่อเพียรพยายามก็ย่อมทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา.๔-
____________________________
๓- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๖๔   ๔- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๖๕๗

               อีกอย่างหนึ่ง แม้พาหุสัจจะของฆราวาสที่ไม่มีโทษ พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำประโยชน์สุขในโลกทั้งสองมาให้.
               ชื่อว่า ศิลปะ (มี ๒ ชนิด) คือ อาคาริยศิลปะ และอนาคาริยศิลปะ.
               ในศิลปะทั้งสองอย่างนั้น อาคาริยศิลปะ ได้แก่ การงานที่เว้นจากการเบียดเบียนสัตว์อื่น เว้นจากอกุศลมีการงานของนายช่างแก้ว และนายช่างทองเป็นต้น. อาคาริยศิลปะนั้น ชื่อว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์ในโลกนี้.
               (ส่วน) การจัดทำสมณบริขารมีการจัดแจงและการเย็บจีวรเป็นต้น ชื่อว่าอนาคาริยศิลปะ ศิลปะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพรรณนาไว้ในที่นั้นๆ โดยนัยว่า๕- ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ขยัน ในกิจที่ควรกระทำทั้งน้อยและใหญ่ของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายดังนี้เป็นต้น (และ) ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า นี่คือธรรมอันทำที่พึ่ง๕- ดังนี้ พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขในโลกทั้ง ๒ มาให้ตนและชนเหล่าอื่น.
____________________________
๕- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๓๕๗   องฺ. ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๑๘
๖- องฺ. ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๑๗

               ที่ชื่อว่า วินัย มี ๒ อย่าง คือ อาคาริยวินัย ๑ อนาคาริยวินัย ๑.
               ในสองอย่างนั้น การเว้นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่า อาคาริยวินัย. วินัยนั้น ชื่อว่าอันบุคคลศึกษาดีแล้ว ด้วยการไม่ต้องโทษ คือสังกิเลสในวินัยนั้น และด้วยการกำหนดคุณแห่งความประพฤติ ชื่อว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลและความสุขในโลกทั้งสอง.
               ส่วนการไม่ต้องอาบัติ ๗ กอง ชื่อว่าอนาคาริยวินัย. แม้อนาคาริยวินัยนั้น ชื่อว่าอันภิกษุศึกษาดีแล้ว โดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล.
               อีกอย่างหนึ่ง ปาริสุทธิศีล ๔ ชื่อว่าอนาคาริยวินัย. อนาคาริยวินัยนั้นอันภิกษุศึกษาอยู่โดยประการที่ตนดำรงอยู่ในอนาคาริยวินัยนั้นแล้ว บรรลุพระอรหัต ชื่อว่าศึกษาดีแล้ว.
               พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้บรรลุโลกิยสุขและโลกุตรสุข.
               วาจาที่เว้นจากโทษมีมุสาวาทเป็นต้น ชื่อว่า วาจาสุภาษิต.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ เป็นวาจาสุภาษิต๗- ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง วาจาที่ไม่เพ้อเจ้อ ก็ชื่อว่าวาจาสุภาษิตเหมือนกัน
               เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   สัตบุรุษทั้งหลายกล่าววาจาสุภาษิตว่า
                         เป็นวาจาสูงสุด เป็นที่หนึ่ง บุคคลพึงกล่าว
                         วาจาอันเป็นธรรม ไม่พึงกล่าววาจาอันไม่
                         เป็นธรรมนั้น เป็นที่สอง พึงกล่าววาจาเป็น
                         ที่รัก ไม่พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รักนั้น
                         เป็นที่สาม พึงกล่าววาจาจริง ไม่พึงกล่าว
                         วาจาเหลาะแหละนั้น เป็นที่สี่๘- ดังนี้.
____________________________
๗- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๗๓๘   ๘- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๗๓๙

               แม้วาจาสุภาษิตธรรมนี้ พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลและความสุขในโลกทั้งสอง. ก็เพราะเหตุที่วาจาสุภาษิตนี้นับเนื่องอยู่ในวินัยอยู่แล้วนี้เอง ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่สงเคราะห์วาจาสุภาษิตนี้ด้วยวินัยศัพท์ สงเคราะห์แต่วินัย (เท่านั้น ด้วยวินัยศัพท์)
               อีกอย่างหนึ่ง จะมีประโยชน์อะไรด้วยความลำบากนี้ วาจาเป็นเครื่องแสดงพระธรรมแก่คนเหล่าอื่น ก็พึงทราบว่า เป็นวาจาสุภาษิต ในที่นี้.
               จริงอยู่ วาจาสุภาษิตนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยให้สัตว์ทั้งหลายได้บรรลุประโยชน์เกื้อกูล และความสุขในโลกทั้งสอง และพระนิพพาน ท่านกล่าวไว้ว่า
                         พระพุทธเจ้าตรัสวาจาใด อันเกษมเพื่อ
                         บรรลุพระนิพพาน เพื่อกระทำที่สุดทุกข์
                         วาจานั้นแล สูงสุดกว่าวาจาทั้งหลาย.
____________________________
๙- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๗๔๐

               ด้วยพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๔ ประการ คือ ความเป็นพหูสูต (พาหุสัจจะ) ๑ ศิลปะ ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาษิต ๑
               ด้วยประการฉะนี้ ก็ความที่แห่งธรรมเหล่านั้นเป็นมงคล ข้าพเจ้าได้อธิบายให้แจ่มแจ้ง ในมงคลนั้นๆ แล้ว ดังนี้แล.
               การพรรณนาความแห่งพระคาถานี้ว่า พาหุสจฺจญฺจ เป็นต้นจบ.

               คาถาที่ ๔ (มี ๔ มงคล)               
               บัดนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัยในบาทคาถานี้ว่า มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ ดังนี้เป็นต้นดังต่อไปนี้.
               มารดาด้วย บิดาด้วย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า มาตาปิตุ มารดาและบิดา.
               การบำรุง ชื่อว่า อุปฏฺฐานํ.
               บุตรทั้งหลายด้วย ภรรยาทั้งหลายด้วย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ปุตฺตทารสฺส ซึ่งบุตรและภรรยา.
               การสงเคราะห์ ชื่อว่า สงฺคโห.
               การงานทั้งหลาย เป็นการงานที่อากูลหามิได้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อนากุลา.
               การงานทั้งหลายนั้นเอง ชื่อว่า กมฺมนฺตา.
               คำที่เหลือมีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแล.
               นี้คือการพรรณนาเฉพาะบท.
               ส่วนการพรรณนาเนื้อความ ผู้ศึกษาพึงทราบดังต่อไปนี้.
               สตรีผู้ให้เกิด ท่านเรียกว่า มารดา, บิดาก็เหมือนกัน.
               การกระทำอุปการะด้วยการล้างเท้า การนวด การอบ การอาบน้ำและการให้ปัจจัย ๔ ชื่อว่า อุปัฏฐานะ การบำรุง.
               พึงทราบอธิบายในการบำรุงเลี้ยงนั้น ดังต่อไปนี้.
               เพราะเหตุที่มารดาบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก หวังประโยชน์ เป็นผู้อนุเคราะห์ต่อบุตรทั้งหลาย ซึ่งท่านเห็นบุตรเหล่านั้นเล่นอยู่ข้างนอกมีสรีระเปื้อนฝุ่นมาแล้วก็เช็ดฝุ่นให้ กอดจูบที่ศีรษะและยังความรักให้เกิด. บุตรทั้งหลายเลี้ยงมารดาบิดาด้วยการทูนไว้บนศีรษะแม้สิ้น ๑๐๐ ปี ก็ไม่สามารถที่จะตอบแทนอุปการคุณแห่งการบำรุงเลี้ยงนั้นได้ และเพราะเหตุที่ท่านทั้งสองนั้นเป็นผู้บำรุง เป็นผู้เลี้ยงดู เป็นผู้แสดงโลกนี้ เป็นผู้เสมอกับพระพรหม เป็นบุพพาจารย์ ฉะนั้น การบำรุงเลี้ยงมารดาบิดาทั้งสองนั้น จึงนำมาซึ่งการสรรเสริญในโลกนี้ ละไปแล้วก็นำความสุขในสวรรค์มาให้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าเป็นมงคล.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                         มารดาบิดาทั้งหลาย ผู้อนุเคราะห์แก่ปชา (บุตรธิดา)
                         ท่านเรียกว่าเป็นพรหม ว่าเป็นบุพพาจารย์ ว่าเป็น
                         อาหุเนยยบุคคลของบุตรทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล
                         บัณฑิตพึงนอบน้อมและสักการะมารดาบิดาเหล่านั้น
                         ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน การอบ การอาบน้ำ และการ
                         ล้างเท้า ด้วยการปรนนิบัติในมารดาบิดาทั้งสองนั้น
                         บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลนั้น ในโลกนี้นั้น
                         แล เขาละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์๑- ดังนี้.
____________________________
๑- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๗๐   ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๘๖.   ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๑๖๒

               อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า การบำรุงมี ๕ อย่างมีการเลี้ยงดู การกระทำหน้าที่และการดำรงวงศ์ตระกูลเป็นต้น การบำรุงนั้นพึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน ๕ อย่างมีการห้ามจากบาปเป็นต้น.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๒-
               ดูก่อนคฤหบดีบุตร มารดาบิดาซึ่งเป็นทิศเบื้องหน้า บุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ
               ๑. เราอันท่านเลี้ยงมาแล้ว จักเลี้ยงท่านตอบ
               ๒. เราจักกระทำกิจ ของมารดาบิดาเหล่านั้น
               ๓. เราจักดำรงวงศ์สกุลของมารดาบิดาเหล่านั้น
               ๔. เราจักรักษาทรัพย์สมบัติของมารดาบิดาเหล่านั้น
               ๕. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อท่านทั้งสองล่วงลับไปแล้ว เราจักเพิ่มให้ซึ่งทักษิณา (ทำบุญอุทิศให้) ดังนี้.
               ดูก่อนคฤหบดีบุตร มารดาบิดาซึ่งเป็นทิศเบื้องหน้า อันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล จักอนุเคราะห์บุตร ด้วยสถาน ๕ คือ
               ๑. ท่านทั้งสองย่อมห้าม (บุตร) จากบาป
               ๒. ย่อมให้ตั้งอยู่ในความดี
               ๓. ย่อมให้ศึกษาศิลปะ
               ๔. ย่อมหาภรรยาที่สมควรให้
               ๕. ย่อมมอบทรัพย์สมบัติให้ในสมัย ดังนี้.
____________________________
๒- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๑๙๙

               อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดย่อมบำรุงมารดาและบิดาด้วยการให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย หรือด้วยให้สมาทานศีล หรือด้วยให้บรรพชา ผู้นี้จัดว่าเป็นยอดของชนทั้งหลายผู้บำรุงมารดาบิดาในโลกนี้.
               การบำรุงมารดาบิดานั้นของผู้นั้นเป็นการกระทำการตอบแทนต่ออุปการคุณที่มารดาและบิดากระทำไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์ทั้งหลายที่เป็นไปในปัจจุบันและเป็นไปในสัมปรายภพมิใช่น้อย.
               ในคำว่า ปุตฺตทารสฺส นี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บุตรทั้งหลายก็ดี ธิดาทั้งหลายก็ดี ที่เกิดแล้วของตน ย่อมถึงการนับว่าบุตรทั้งนั้น. ภรรยาชนิดใดชนิดหนึ่ง ในบรรดาภรรยา ๒๐ จำพวกชื่อว่า ทาระ.
               บุตรทั้งหลายด้วย ทาระทั้งหลายด้วย ชื่อว่า ปุตฺตทารา (บุตรและภรรยาทั้งหลาย) ซึ่งบุตรและภรรยานั้น. การกระทำอุปการะด้วยฐานะทั้งหลายมีการยกย่องเป็นต้น ชื่อว่า สังคหะ.
               การกระทำอุปการะนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์เกื้อกูลอันเป็นไปในปัจจุบัน มีความเป็นผู้จัดการงานดีเป็นต้น.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๓-
               ดูก่อนคฤหบดี ภรรยาซึ่งเป็นทิศเบื้องหลัง สามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ แล คือ
               ๑. ด้วยการยกย่อง ๒. ด้วยการไม่ดูหมิ่น
               ๓. ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ ๔. ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ให้
               ๕. ด้วยการให้เครื่องประดับ ดังนี้.
               ดูก่อนคฤหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง อันสามีพึงบำรุงด้วยฐานะ ๕ เหล่านี้แล ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยฐานะ ๕ คือ.
               ๑. เป็นผู้จัดการงานดี
               ๒. เป็นคนสงเคราะห์คนข้างเคียง (ของสามี) ดี
               ๓. เป็นผู้ไม่ประพฤตินอกใจ
               ๔. ย่อมรักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้
               ๕. เป็นคนขยันไม่เกียจคร้านในการงานทั้งปวง ดังนี้.
____________________________
๓- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๒๐๑

               เพราะสงเคราะห์ (รวม) บุตรภรรยาที่ทรงแสดงไว้ในสิงคาลสูตรนี้ว่า บุตรและภรรยา พึงทราบว่าเป็นทิศเบื้องหลังดังนี้ ด้วยภริยาศัพท์.
               อีกอย่างหนึ่ง นัยอื่นอีกมีดังต่อไปนี้ :-
               การสงเคราะห์ด้วยทาน ปิยวาจาและอัตถจริยาที่ประกอบด้วยธรรม ชื่อว่า สังคหะ คือการให้เสบียงในวันอุโบสถทั้งหลาย การให้ดูนักษัตรในวันนักขัตฤกษ์ทั้งหลาย การกระทำมงคลในวันมงคลทั้งหลาย การโอวาทสั่งสอนในประโยชน์ทั้งหลายที่เป็นไปในปัจจุบันและสัมปรายภพ.
               การสงเคราะห์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์เกื้อกูลอันเป็นไปในปัจจุบัน และสัมปรายภพ โดยนัยก่อนนั่นแล และเพราะเป็นเหตุแห่งความเป็นผู้แม้อันเทวดาทั้งหลายพึงนอบน้อม.
               สมจริงดังคำที่ท้าวสักกะจอมเทพตรัสไว้ว่า๔-
                         คฤหัสถ์เหล่าใด เป็นผู้กระทำบุญ มีศีล
                         เป็นอุบาสก ย่อมเลี้ยงภรรยาโดยธรรม
                         ดูก่อนมาตลี เราย่อมนอบน้อมคฤหัสถ์
                         เหล่านั้น ดังนี้.
____________________________
๔- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๙๓๐

               การงานทั้งหลายมีเกษตรกรรม โครักขกรรม และพาณิชกรรมเป็นต้น พึงเว้นแล้วจากการงานที่อากูล มีการทำเวลาให้ล่วงไป การกระทำที่ไม่สมควรกระทำ และการกระทำย่อหย่อนเป็นต้น เพราะประกอบด้วยความเป็นผู้รู้กาล เพราะมีปกติกระทำเหมาะสม เพราะไม่เกียจคร้าน เพราะถึงพร้อมด้วยความอุตสาหะและความเพียร และเพราะเป็นการงานที่ไม่เสื่อมเสีย ชื่อว่า การงานที่ไม่อากูล.
               การงานที่ไม่อากูลนี้อันบุคคลประกอบแล้วอย่างนี้ เพราะเหตุที่ตนเอง บุตรภรรยา หรือทาสและกรรมกรทั้งหลายเป็นผู้ฉลาด. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการได้ทรัพย์ ข้าวเปลือก และความเจริญในปัจจุบันนี้เดียว.
               สมจริงตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๕-
                         บุคคลผู้มีการงาน กระทำสมควร
                         เป็นปกติ ขยัน ย่อมหาทรัพย์ได้ ดังนี้.
____________________________
๕- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๘๔๕

               และว่า๖- บุคคลที่ชอบนอนหลับกลางวัน ขี้เกียจลุกขึ้นกลางคืน เมาเป็นนิตย์ เป็นนักเลงไม่อาจจะอยู่ครองเรือนให้ดีได้ ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยบุรุษผู้ทอดทิ้งการงานด้วยอ้างเลสว่า เวลานี้หนาวนัก เวลานี้ร้อนนัก เวลานี้เย็นเสียแล้ว ดังนี้เป็นต้น.
               ส่วนผู้ใดไม่สำคัญความหนาวและความร้อนยิ่งไปกว่าหญ้า กระทำกิจของบุรุษอยู่ ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากความสุข ดังนี้.
               และว่า๗- เมื่อบุคคลรวบรวมโภคะทั้งหลายอยู่ เหมือนภมรผนวกอยู่ซึ่งรังฉะนั้น โภคะทั้งหลายย่อมถึงการสั่งสม ดุจจอมปลวกอันตัวปลวกก่อขึ้นฉะนั้น ดังนี้.
               ด้วยพระคาถาแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๔ ประการนี้ คือ การบำรุงมารดา ๑ การบำรุงบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรและภรรยา ๑ การงานทั้งหลายที่ไม่อากูล ๑.
____________________________
๖- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๑๘๕   ๗- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๑๙๗

               อีกอย่างหนึ่ง คาถานี้มี ๕ มงคลเพราะแยกการสงเคราะห์บุตรและภรรยาออกเป็น ๒.
               อีกอย่างหนึ่งมี ๓ มงคล เพราะรวมการบำรุงมารดาบิดาเป็นข้อเดียวเท่านั้น ก็ความที่แห่งมงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ข้าพเจ้าได้อธิบายให้แจ่มแจ้งแล้วในมงคลนั้นๆ นั่นแล.
               จบการพรรณนาเนื้อความแห่งพระคาถานี้ว่า มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ เป็นต้น.

               คาถาที่ ๕ (มี ๔ มงคล)               
               บัดนี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในคาถานี้ว่า ทานญฺจ ดังนี้เป็นต้น ดังต่อไปนี้.
               ที่ชื่อว่าทาน เพราะอรรถว่าสิ่งของเป็นเครื่องให้. มีคำอธิบายว่า สิ่งของของตนอันบุคคลย่อมมอบให้แก่ผู้อื่น.
               การประพฤติธรรม หรือการประพฤติที่ไม่ไปปราศจากธรรม ชื่อว่าธรรมจริยา.
               ชนทั้งหลายเหล่านี้อันเราทั้งหลายย่อมรู้จัก เพราะเหตุนั้นชนทั้งหลายเหล่านี้ จึงชื่อว่าญาติ.
               การงานทั้งหลายที่มีโทษหามิได้ ชื่อว่าการงานไม่มีโทษ. มีคำอธิบายว่า การงานทั้งหลายที่บัณฑิตไม่ติเตียน คือไม่ครหา.
               คำที่เหลือมีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแล. นี้คือการพรรณนาเฉพาะบท.
               ส่วนการพรรณนาเนื้อความ ผู้ศึกษาพึงทราบดังต่อไปนี้.
               เจตนาเป็นเครื่องบริจาคทานวัตถุ ๑๐ อย่างมีข้าวเป็นต้นซึ่งมีความยินดีในเบื้องต้นเจาะจงผู้อื่น ชื่อว่าทาน.
               อีกอย่างหนึ่ง อโลภะที่สัมปยุตด้วยเจตนานั้น ชื่อว่าทาน ด้วยว่า บุคคลย่อมมอบให้ซึ่งวัตถุนั้นแก่บุคคลอื่นด้วยอโลภะนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าที่ชื่อว่าทาน เพราะอรรถว่าวัตถุเป็นเครื่องให้. ทานนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ได้บรรลุผลวิเศษทั้งหลายอันเป็นไปในปัจจุบันและสัมปรายภพ มีความเป็นที่รักของชนเป็นอันมากเป็นต้น.
               ก็ในข้อนี้ พึงระลึกถึงพระสูตรทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า๑- ดูก่อนสีหะ ทายกที่เป็นทานบดี ย่อมเป็นที่รักเป็นที่พอใจของชนเป็นอันมาก ดังนี้.
____________________________
๑- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๓๔

               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ทานมี ๒ อย่างคือ อามิสทานและธรรมทาน.
               ในทาน ๒ อย่างนั้น อามิสทานมีประการอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแล.
               การแสดงธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศแล้วอันเป็นที่สิ้นทุกข์และนำความสุขมาให้ในโลกนี้และโลกหน้า เพราะปรารถนาประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลเหล่าอื่น ชื่อว่าธรรมทาน.
               ก็ในบรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานนี้เท่านั้นจัดว่าเป็นเลิศ.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๒-
                         การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง
                         รสแห่งธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง
                         ความยินดีในธรรม ย่อมชนะความยินดีทั้งปวง
                         ความสิ้นตัณหา ย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง ดังนี้.
____________________________
๒- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๔

               ในทานทั้ง ๒ อย่างนั้น ความที่อามิสทานเป็นมงคล ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วนั้นแล. ส่วนธรรมทาน เพราะเป็นที่ตั้งแห่งคุณทั้งหลายมีความเป็นผู้รู้จักอรรถเป็นต้น ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าเป็นมงคล.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๓-
               ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุแสดงธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร โดยประการใดๆ บุคคลนั้นเป็นผู้รู้แจ้งซึ่งอรรถ (รู้ผล) และเป็นผู้รู้แจ้งซึ่งธรรม (รู้เหตุ) ในธรรมนั้นๆ โดยประการนั้นๆ ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๓- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๒๖

               การประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่าธรรมจริยา.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า๔-
               ดูก่อนพราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย การประพฤติธรรม คือการประพฤติสม่ำเสมอทางกายมี ๓ อย่างแลดังนี้เป็นต้น.
               ก็การประพฤติธรรมนี้นั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้อุบัติในโลกสวรรค์.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๔-
               ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เพราะเหตุแห่งธรรมจริยาและสมจริยาแล สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่การตายเพราะกายแตก ดังนี้
____________________________
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๔๘๕

               ชนทั้งหลายผู้มีความเกี่ยวข้องกันทั้งทางฝ่ายมารดาหรือบิดาจนถึง ๗ ชั่วโคตร ชื่อว่า ญาติ.
               การสงเคราะห์ซึ่งญาติเหล่านั้นผู้ซึ่งอันความเสื่อมโภคะ หรือความเสื่อมเพราะความเจ็บป่วยครอบงำแล้ว ซึ่งมายังสำนักของตนด้วยวัตถุทั้งหลายมีอาหาร เสื้อผ้า ทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นต้นตามกำลัง. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษมีการสรรเสริญเป็นต้นอันเป็นไปในปัจจุบัน และการบรรลุคุณวิเศษมีการไปสู่สวรรค์เป็นต้นอันเป็นไปในสัมปราภพ.
               การงานทั้งหลายมีการสมาทานศีลอุโบสถ การกระทำการขวนขวาย การปลูกไม้ดอก ไม้ผลและต้นไม้ และการสร้างสะพานเป็นต้น ชื่อว่า การงานที่ไม่มีโทษ.
               จริงอยู่ การงานที่ไม่มีโทษเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุประโยชน์สุขนานัปการ.
               ก็ในข้อนี้พึงระลึกถึงสูตรทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า๕-
               ดูก่อนวิสาขา ข้อที่สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าอยู่จำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์แปด เบื้องหน้าแต่การตายเพราะกายแตก จะพึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาทั้งหลายชั้นจาตุมมหาราชิกา นั้นเป็นฐานะที่จะมีได้แล ดังนี้.
____________________________
๕- องฺ. อฏฺฐก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๑๓๓

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๔ ประการคือ ทาน ๑ ธรรมจริยา ๑ การสงเคราะห์ญาติทั้งหลาย ๑ การงานทั้งหลายที่ไม่มีโทษ ๑ ด้วยพระคาถานี้ ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ก็ความที่แห่งธรรมเหล่านั้นเป็นมงคล ข้าพเจ้าอธิบายไว้ชัดแล้วในมงคลนั้นๆ นั่นแล.
               จบการพรรณเนื้อความแห่งพระคาถานี้ว่า ทานญฺจ เป็นต้น.

               คาถาที่ ๖ (มี ๓ มงคล)               
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในพระคาถานี้ว่า อารตี วิรตี เป็นต้นดังต่อไปนี้.
               การงด ชื่อว่า อารตี. การเว้น ชื่อว่า วิรตี.
               อีกอย่างหนึ่ง สัตว์ทั้งหลายย่อมเว้น (จากบาป) ด้วยเจตนานี้ เหตุนั้น เจตนานี้ ชื่อว่า วิรัติ. (ที่ชื่อว่า วิรัติ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า เป็นเครื่องงดเว้นแห่งสัตว์ทั้งหลาย หรือเป็นเครื่องให้สัตว์ทั้งหลายงดเว้น).
               บทว่า ปาปา ได้แก่ จากอกุศล.
               ที่ชื่อว่า มชฺชํ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งความเมา การดื่มซึ่งมัชชะ (น้ำเมา) ชื่อว่า มชฺชปานํ. (เว้น) จากการดื่มน้ำเมานั้น. การสำรวมชื่อว่า สํยโม. ความไม่ประมาทชื่อว่า อปฺปมาโท.
               บทว่า ธมฺเมสุ ได้แก่ ในกุศลธรรมทั้งหลาย.
               คำที่เหลือมีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วแล. นี้คือการพรรณนาเฉพาะบท.
               ส่วนการพรรณนาเนื้อความ พึงทราบดังต่อไปนี้.
               การไม่ยินดีของบุคคลผู้มีปกติเห็นโทษในบาป ด้วยใจนั้นแล ชื่อว่าการงด. การเว้นด้วยกายและด้วยวาจา ด้วยสามารถแห่งกรรมและทวาร ชื่อว่าวิรัติ.
               ก็ชื่อว่าวิรัตินั้นมี ๓ อย่าง คือ สัมปัตตวิรัติ ๑ สมาทานวิรัติ ๑ สมุจเฉทวิรัติ ๑.
               ในวิรัติทั้ง ๓ อย่างนี้ การงดเว้นของกุลบุตรจากวัตถุที่ประจวบเข้าเพราะอาศัยชาติ หรือสกุล หรือโคตรของตน โดยนัยว่า ข้อที่เราจะพึงฆ่าสัตว์ พึงถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ให้นี้ไม่ควร ชื่อว่าสัมปัตตวิรัติ. ส่วนว่ากุลบุตรไม่ประพฤติล่วงเกินสิกขาบทมีปาณาติบาตเป็นต้น จำเดิมแต่ความเป็นไปแห่งวิรัติ อันเป็นไปแล้วด้วยสามารถแห่งการสมาทานสิกขาบท ชื่อว่าสมาทานวิรัติ.
               ภัยเวร ๕ ประการ ของพระอริยสาวกสงบระงับไป จำเดิมแต่ความเป็นไปแห่งวิรัติอันสัมปยุตด้วยอริยมรรค ชื่อว่าสมุจเฉทวิรัติ.
               อกุศล ๔ อย่างนั้นใดกล่าวคือกรรมกิเลสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้พิสดารอย่างนี้ว่า
               ดูก่อนคฤหบดีบุตร กรรมกิเลสคือปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจารและมุสาวาท ดังนี้๑- ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์รวบรวมไว้ด้วยคาถาอย่างนี้ว่า
                         บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่สรรเสริญ (กรรมกิเลส ๔
                         ประการคือ) ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑
                         มุสาวาท ๑ การประพฤติผิดภรรยาผู้อื่น ๑ ดังนี้.
               อกุศลทั้ง ๔ ประการ ชื่อว่า บาป.
____________________________
๑- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๑๗๔

               การงดเว้นจากบาปนั้น การงดและการเว้นทั้งหมดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษนานาประการ มีการละเวรภัยอันเป็นไปในปัจจุบันและสัมปรายภพเสียได้.
               ก็ในข้อนี้พึงระลึกถึงพระสูตรทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร พระอริยสาวกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาตแล.
               ก็ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงการสำรวมจากการดื่มน้ำเมาต่อไป.
               ก็คำว่า มชฺชปานา จ สํยโม นี้ เป็นชื่อแห่งการงดเว้นจากที่ตั้งแห่งความประมาท คือการดื่มซึ่งน้ำเมากล่าวคือสุราและเมรัย ก็เพราะเหตุที่บุคคลผู้ดื่มน้ำเมาเป็นปกติ ย่อมไม่รู้อรรถ ย่อมไม่รู้ธรรม ย่อมทำอันตรายแก่มารดา ทำอันตรายแก่บิดา ทำอันตรายแม้แก่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระตถาคต ย่อมถูกติเตียนในปัจจุบัน เข้าถึงทุคติในสัมปรายภพ (และ) ถึงความเป็นบ้าในภพต่อๆ ไป. ส่วนการงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา ย่อมบรรลุซึ่งการดับโทษเหล่านั้นเสียได้ และบรรลุความถึงพร้อมแห่งคุณ ซึ่งตรงกันข้ามกับโทษที่กล่าวแล้วนั้น. เพราะฉะนั้น การงดเว้นจากการดื่มน้ำเมานี้ พึงทราบว่าเป็นมงคล.
               ชื่อว่าความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะได้กล่าวต่อไป
               โดยเนื้อความ ความไม่อยู่ปราศจากสติในกุศลธรรมทั้งหลาย พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามกับความประมาท ที่ตรัสไว้ในคัมภีร์วิภังค์ว่า๑-
               การกระทำโดยไม่เคารพในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย การกระทำไม่ติดต่อ การกระทำไม่มั่นคง ความประพฤติท้อแท้ การหมดความพอใจ การทอดธุระ การไม่ซ่องเสพ การไม่เจริญ การไม่กระทำให้มาก การไม่อธิษฐาน (ไม่ตั้งใจไว้) การไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า ความประมาท. ความประมาท คือกิริยาที่ประมาท สภาพที่เป็นผู้มัวเมา เห็นปานนี้ใด นี้เราเรียกว่าความประมาท ดังนี้.
               ชื่อว่า ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย.
____________________________
๑- อภิ.วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๘๖๓

               ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลายนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุกุศลธรรมนานาประการ หรือเพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุอมตธรรม ในข้อนั้นพึงระลึกถึงคำสอนของพระศาสดามีอาทิว่า๒- ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรานั้นไม่ประมาท มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลสส่งไปอยู่อย่างนี้เป็นต้น และว่า๓- ความไม่ประมาทเป็นหนทางแห่งความไม่ตาย ดังนี้.
____________________________
๒- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๑๙
๓- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๒

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๓ ประการ คือ การงดเว้นจากบาป ๑ การสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ๑ ด้วยคาถานี้ ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ก็ความที่แห่งธรรมเหล่านั้นเป็นมงคล ข้าพเจ้าได้อธิบายไว้ชัดเจนแล้วในมงคลนั้นๆ นั่นเองดังนี้แล.
               จบการพรรณนาเนื้อความแห่งพระคาถานี้ว่า อารตี วิรตี เป็นต้น

               คาถาที่ ๗ (มี ๕ มงคล)               
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในคาถานี้ว่า คารโว จ เป็นต้นดังต่อไปนี้.
               ความเคารพ ชื่อว่า คารวะ.
               ความประพฤติถ่อมตน ชื่อว่า นิวาตะ.
               ความสันโดษ ชื่อว่า สันตุฏฐี
               การรู้อุปการะที่ผู้อื่นทำแล้ว ชื่อว่า กตัญญุตา.
               บทว่า กาเลน ได้แก่ โดยขณะ คือโดยสมัย.
               การฟังธรรมชื่อว่า ธัมมัสสวนะ.
               คำที่เหลือมีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแหละ. นี่คือการพรรณนาเฉพาะบท.
               ส่วนการพรรณนาเนื้อความ พึงทราบดังต่อไปนี้.
               การกระทำความเคารพ การกระทำความหนักแน่น ความเป็นผู้มีคารวะตามสมควร ในพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า สาวกของพระตถาคตเจ้า อาจารย์ อุปัชฌาย์ มารดาบิดา พี่ชายพี่สาวเป็นต้น ที่ควรแก่การกระทำความเคารพ ชื่อว่า คารวะ เพราะคารวะนี้นั้น เป็นเหตุแห่งการไปสู่สุคติภพเป็นต้น
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ (ในจูฬกัมมวิภังคสูตร) ว่า๑-
               บุคคลกระทำความเคารพในบุคคลผู้ควรเคารพ ได้แก่นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา บุคคลเช่นนั้นเบื้องหน้าแต่การตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ด้วยกรรมนั้นอันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานแล้วอย่างนี้. ถ้าหากว่าเบื้องหน้าแต่การตายเพราะกายแตก เขาไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาสู่ความเป็นมนุษย์ จะอุบัติในที่ใดๆ ในภายหลัง ย่อมเป็นคนมีสกุลสูง ในที่นั้นๆ
____________________________
๑- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๕๙๓

               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๒-
               ภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ๗ ประการเหล่านี้.
               ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ มีความเคารพในพระศาสดาเป็นต้น
____________________________
๒- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๒๙

               เพราะฉะนั้น ความเคารพ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าเป็นมงคล.
               ความเป็นผู้อ่อนน้อม คือความเป็นผู้มีความประพฤติถ่อมตน ชื่อว่านิวาตะ ความประพฤติถ่อมตน. บุคคลประกอบด้วยความเป็นผู้ประพฤติถ่อมตนใด ถูกนำมานะออกแล้ว ถูกนำความกระด้างออกแล้ว เป็นผู้เสมอด้วยผ้าเช็ดเท้า เป็นผู้เสมอด้วยโคเขาขาด และเป็นผู้เสมอด้วยงูที่ถูกถอนเขี้ยวเสียแล้ว เป็นผู้มีวาจาอ่อนหวานไพเราะและเสนาะโสต นี้ชื่อว่านิวาตะ.
               นิวาตะนี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการได้คุณมียศเป็นต้น ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า บุคคลที่มีความประพฤติถ่อมตนเช่นนั้น เป็นผู้ไม่กระด้างแล้ว ย่อมได้ยศ๓- ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๓- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๒๐๕

               สันโดษ ๑๒               
               ความพอใจด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ชื่อว่า สันตุฏฐี ความสันโดษ.
               ความสันโดษนั้นมี ๑๒ อย่าง คือ ในจีวรมี ๓ อย่าง คือ ยถาลาภสันโดษ ยถาพลสันโดษ ยถาสารุปปสันโดษ. แม้ในบิณฑบาตเป็นต้นก็มีอย่างละ ๓ เหมือนกัน.
               การพรรณนาประเภทแห่งสันโดษนั้นมีดังต่อไปนี้.
               ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ได้จีวรดีก็ตามไม่ดีก็ตาม เธอยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรนั้นนั่นแหละ ไม่ปรารถนาจีวรอื่น แม้เมื่อจะได้จีวรมาอีก ก็ไม่ยอมรับ นี้คือความยินดีตามมีตามได้ (ยถาลาภสันโดษ) ในจีวรของภิกษุนั้น. แต่ถ้าหากว่าภิกษุนั้นเป็นผู้อาพาธ เมื่อครองจีวรหนัก (กายย่อมน้อมลง) เธอย่อมลำบาก เธอก็เปลี่ยนจีวรนั้นกับภิกษุผู้เป็นสภาคกันเสีย แล้วยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรที่เบา. นี้จัดว่าสันโดษเหมือนกัน นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษ ในจีวรของภิกษุนั้น.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งเป็นผู้มีปกติได้ปัจจัยที่ประณีต ภิกษุรูปนั้นได้จีวรมีค่ามากผืนใดผืนหนึ่ง ในบรรดาปัจจัยทั้งหลายมีบาตรและจีวรเป็นต้น แล้วคิดว่า จีวรอันมีค่ามากนี้สมควรแก่พระเถระทั้งหลายผู้บวชมานาน หรือผู้เป็นพหูสูต ดังนี้แล้วจึงได้ถวายจีวรนั้นแก่พระเถระเหล่านั้น ตนเองถือเอาจีวรที่ไม่มีเจ้าของจากกองหยากเยื่อ หรือจากป่า หรือจากที่แห่งใดแห่งหนึ่งทำเป็นสังฆาฏิ แม้ทรงผ้านั้นไว้ก็จัดว่าเป็นผู้สันโดษแล. นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษ ในจีวรของภิกษุนั้น.
               ก็ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ได้บิณฑบาตจะเศร้าหมองก็ตาม ประณีตก็ตาม เธอยังอัตภาพให้เป็นด้วยบิณฑบาตนั้นนั่นเอง ไม่ต้องการบิณฑบาตอื่น แม้เมื่อจะได้ก็ไม่ยอมรับ. นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษ ในบิณฑบาตของภิกษุนี้.
               แต่ถ้าหากว่าภิกษุเป็นผู้อาพาธฉันบิณฑบาตที่เลว ก็ถึงความป่วยหนัก ภิกษุนั้นก็ถวายบิณฑบาตแก่ภิกษุที่เป็นสภาคกัน แล้วฉันเนยใส นมส้ม น้ำผึ้งและนมสดเป็นต้นจากมือของภิกษุนั้น แล้วประพฤติสมณธรรมอยู่ ก็จัดว่าสันโดษอยู่นั่นเอง. นี้ชื่อว่ายถาพลสันโดษ ในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้บิณฑบาตอันประณีต เธอคิดว่า บิณฑบาตนี้เหมาะสมสำหรับพระเถระทั้งหลายผู้บวชมานาน และแก่เพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายเหล่าอื่นผู้เว้นจากบิณฑบาตอันประณีตแล้ว ไม่อาจจะให้อัตภาพเป็นไปได้ ดังนี้แล้วจึงถวายบิณฑบาตอันประณีตนั้นแก่พระเถระหรือภิกษุเหล่านั้นเสีย ตนเองเที่ยวบิณฑบาต แม้ฉันอาหารที่เจือกัน (ฉันรวมกันหลายๆ สิ่ง) ก็จัดว่าเป็นผู้สันโดษอยู่นั้นเอง. นี้ชื่อว่ายถาสารุปสันโดษ ในบิณฑบาตของภิกษุนี้.
               ก็เสนาสนะถึงแก่ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เธอก็พอใจด้วยเสนาสนะนั้นนั่นเอง ไม่รับเสนาสนะอื่นอีก ซึ่งมาถึงเข้าแม้จะดีกว่า. นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษ ในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               ถ้าหากว่าเธออาพาธอยู่ในเสนาสนะที่ไม่มีลม ย่อมเดือดร้อนอย่างยิ่งด้วยโรคดีเป็นต้น เธอจึงถวายเสนาสนะแก่ภิกษุที่เป็นสภาคกัน อยู่ในเสนาสนะที่มีลมและหนาวเย็นซึ่งถึงเข้าแก่ภิกษุนั้น แม้ประพฤติสมณธรรมอยู่ ก็เป็นผู้สันโดษอยู่นั้นเอง. นี้ชื่อว่ายถาพลสันโดษ ในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งไม่ยอมรับเสนาสนะที่ดีแม้มาถึงเข้า คิดว่า เสนาสนะที่ดีเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เมื่อภิกษุนั่งอยู่ในเสนาสนะที่ดีนั้นก็ย่อมก้าวลงสู่ถีนมิทธะได้ ก็เมื่อเธอถูกความหลับครอบงำ ตื่นขึ้นอยู่ กามวิตกทั้งหลายก็ฟุ้งขึ้น ภิกษุนั้นปฏิเสธเสนาสนะที่ดีนั้น แล้วอยู่ในเสนาะสนะแห่งใดแห่งหนึ่งมีที่โล่งแจ้ง โคนไม้และกองฟางเป็นต้น ก็จัดว่าเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง. นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษ ในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               ก็ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ได้เภสัชจะเป็นลูกสมอ หรือมะขามป้อมก็ตาม ยังอัตภาพนั้นให้เป็นไปด้วยเภสัชนั้นนั่นเอง ไม่ปรารถนาแม้เนยใส น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้นที่ภิกษุเหล่าอื่นได้มาแล้ว แม้จะได้มาก็ไม่ยอมรับ. นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษ ในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.
               ก็ถ้าภิกษุเป็นผู้อาพาธต้องการน้ำมัน (แต่) ได้น้ำอ้อยมา เธอให้น้ำอ้อยนั้นแก่ภิกษุที่เป็นสภาคกันแล้ว ทำยาด้วยน้ำมันจากมือแห่งภิกษุนั้น แม้ประพฤติสมณธรรมอยู่ ก็จัดว่าเป็นผู้สันโดษอยู่นั้นเอง. นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษ ในคิลานปัจจัยของภิกษุนี้.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งวางชิ้นสมอที่ดองด้วยน้ำมูตรไว้ในภาชนะใบหนึ่งอันภิกษุอื่นพูดอยู่ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าหากว่าท่านต้องการ ท่านก็จงถือเอาของหวาน ๔ อย่างในภาชนะใบหนึ่ง ถ้าหากว่าพยาธิของภิกษุนั้นย่อมสงบได้ด้วยเภสัชอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาเภสัช ๒ อย่างเหล่านั้น ใช่แต่เท่านั้น สมอดองด้วยน้ำมูตรเน่า บัณฑิตทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นต้น สรรเสริญแล้ว และภิกษุนี้ก็คิดว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑- บรรพชาอาศัยยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า เธอพึงทำความอุตสาหะในยาดองด้วยน้ำมูตรเน่านั้น (พึงฉัน) ตลอดชีวิต จึงห้ามเภสัชที่เป็นของหวานทั้ง ๔ เสีย แล้วทำยาด้วยสมอดองน้ำมูตรเน่า ก็จัดว่าเป็นผู้สันโดษอย่างยิ่งเทียว. นี้ชื่อว่ายถาสารุปสันโดษ ในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๑๔๓

               สันโดษนี้ทั้งหมดมีประเภทดังกล่าวมาแล้วอย่างนี้ ท่านเรียกว่า สันตุฏฐี.
               สันตุฏฐีนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการละบาปธรรมทั้งหลายมีความปรารถนาเกินไป ความปรารถนาลามก ความอยากใหญ่เป็นต้น และการบรรลุคุณธรรม เพราะเป็นเหตุแห่งสุคติ เพราะเป็นเหตุแห่งการสั่งสมอริยมรรค และเพราะเป็นเหตุแห่งความเที่ยวไปสะดวกในทิศทั้ง ๔ เป็นต้น.
               และท่านกล่าวไว้ว่า๒-
                         ผู้ที่สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้
                         เป็นผู้เที่ยวไปสะดวกในทิศทั้ง ๔
                         และเป็นผู้ไม่คับแค้น ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๒- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๙๖ ขัคควิสาณสูตร.  ขุ. จูฬ. เล่ม ๓๐/ข้อ ๖๘๙

               การรู้อุปการคุณที่คนใดคนหนึ่งได้กระทำไว้ จะน้อยหรือมากก็ตาม โดยการระลึกถึงบ่อยๆ ชื่อว่ากตัญญุตา.
               อีกอย่างหนึ่ง บุญทั้งหลายนั่นเอง ชื่อว่ามีอุปการะมากแก่สัตว์ทั้งหลาย เพราะป้องกันอันตรายจากทุกข์มีทุกข์ในนรกเป็นต้น เพราะการระลึกถึงอุปการะแม้แห่งบุญเหล่านั้น ก็พึงทราบว่ากตัญญุตา.
               ความเป็นผู้กตัญญูนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษมีประการต่างๆ มีความเป็นผู้อันสัปบุรุษทั้งหลายพึงสรรเสริญเป็นต้น.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า๓-
               ภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่หาได้ยากในโลกเหล่านี้มีอยู่ ๒ จำพวก.
               ๒ จำพวกอะไรบ้าง คือ ผู้ที่ทำอุปการะก่อน ๑ ผู้กตัญญูกตเวที ๑.
____________________________
๓- องฺ. ทุก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๓๖๔

               ในกาลใด จิตสหรคตด้วยอุทธัจจะ หรือถูกกามวิตกอย่างใดอย่างหนึ่ง มีกามวิตกเป็นต้นครอบงำ การฟังธรรมเพื่อบรรเทากามวิตกเป็นต้นนั้นในกาลนั้น ชื่อว่า กาเลน ธมฺมสฺสวนํ การฟังธรรมตามกาล. อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า การฟังธรรมทุกๆ วันที่ ๕ (แห่งสัปดาห์) ชื่อว่าฟังธรรมตามกาล อย่างที่ท่านพระอนุรุทธะผู้มีอายุกราบทูลว่า๔- ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ทุกวันที่ ๕ พวกข้าพระองค์พึงนั่งสนทนาธรรมกถากันตลอดคืนยังรุ่ง พระพุทธเจ้าข้า.
____________________________
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๖๔

               อีกอย่างหนึ่ง ในกาลใด บุคคลเข้าไปหากัลยาณมิตรทั้งหลายแล้ว สามารถจะฟังธรรมที่จะบรรเทาความสงสัยของตนเสียได้ การฟังธรรมแม้ในกาลนั้น พึงทราบว่าการฟังธรรมตามกาล ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๕- ภิกษุเข้าไปหาท่านผู้รู้เหล่านั้นสอบถามปัญหา และย่อมแก้ปัญหาตามกาลอันสมควรดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๕- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๔๔๔

               การฟังธรรมตามกาลนี้นั้น ชื่อว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้บรรลุคุณวิเศษมีประการต่างๆ มีการละนิวรณ์ การเห็นอานิสงส์ ๔ ประการและการบรรลุการสิ้นอาสวะเป็นต้น.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๖-
               ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใด พระอริยสาวกตั้งใจมนสิการ น้อมเข้ามาในใจโดยประการทั้งปวง ตั้งใจฟัง ฟังธรรมอยู่ ในสมัยนั้น นิวรณ์ ๕ ประการย่อมไม่มีแก่เธอ.
               และตรัสว่า๗-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมหวังอานิสงส์ ๔ ประการแห่งธรรมทั้งหลายตามที่ตนได้ฟังมา แห่งธรรมทั้งหลายที่ตนแทงตลอดแล้ว ฯลฯ.
               และว่า๘- ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการเหล่านี้อันภิกษุอบรมแล้วโดยชอบ ปฏิบัติตามโดยชอบตามกาล ย่อมให้ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายโดยลำดับ.
               ๔ ประการคืออะไรบ้าง คือ การฟังธรรมตามกาล ๑ ดังนี้เป็นต้น
____________________________
๖- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๔๙๕   ๗- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๙๑
๘- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๔๖

               ในพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๕ ประการ คือ
                         ความคารวะ ๑
                         ความถ่อมตน ๑
                         ความสันโดษ ๑
                         ความเป็นผู้กตัญญู ๑
                         การฟังธรรมตามกาล ๑
               ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ก็ความที่แห่งธรรมเหล่านั้นเป็นมงคล ข้าพเจ้าได้อธิบายให้แจ่มแจ้งแล้วในมงคลข้อนั้นๆ นั่นแล.
               จบการพรรณนาเนื้อความแห่งพระคาถานี้ว่า คารโว จ นิวาโต เป็นต้น

               คาถาที่ ๘ (มี ๔ มงคล)               
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในมงคลข้อว่า ขนฺตี จ เป็นต้น ดังต่อไปนี้.
               ความอดทน ชื่อว่า ขันติ.
               การว่ากล่าวได้โดยง่าย เพราะความเป็นผู้ปกติรับด้วยมือขวา (เคารพ) มีอยู่ในบุคคลนี้ เพราะเหตุนี้ บุคคลนี้จึงชื่อว่า สุวโจ ผู้ว่าได้โดยง่าย.
               กรรมของผู้ว่าง่ายนั้นชื่อว่า โสวจสฺส ภาวะแห่ง โสวจสฺส นั้นชื่อว่า โสวจสฺสตา ความเป็นผู้ว่าได้โดยง่าย.
               นักบวชทั้งหลายที่ชื่อว่า สมณะ ก็เพราะสงบระงับกิเลสเสียได้.
               การดู ชื่อว่า ทัสสนะ การสนทนาซึ่งพระธรรมชื่อว่า ธัมมสากัจฉา
               คำที่เหลือมีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแล นี่คือการพรรณนาเฉพาะบท.
               ส่วนการพรรณนาเนื้อความพึงทราบดังต่อไปนี้.
               อธิวาสนขันติ ชื่อว่า ขันติ ภิกษุประกอบแล้วด้วยขันติ ก็เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ราวกะว่าไม่ได้ยิน และราวกะว่าไม่ได้เห็น ในเมื่อบุคคลด่าอยู่ด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ หรือเบียดเบียนอยู่ด้วยกรรมทั้งหลายมีการฆ่าและการจองจำเป็นต้น เสมือนขันติวาทีดาบสฉะนั้น.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
                                   บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า สมณะเป็น
                         ผู้แสดงความอดทน ในอดีตสิ้นกาลนาน
                         (เพราะ) พระเจ้ากาสิกราช ได้รับสั่งให้ตัด
                         ซึ่งขันติวาทีดาบสนั้น ผู้ดำรงอยู่แล้วด้วย
                         ขันตินั้นแล ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๕๕๒

               หรือว่าภิกษุย่อมมนสิการโดยความเป็นผู้กระทำว่าดี ราวกะท่านปุณณเถระผู้มีอายุ เพราะไม่ถือโทษยิ่งกว่านั้น ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               (พระปุณณเถระกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า)๒-
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าหากว่าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตกะจักด่า จักบริภาษข้าพระองค์ไซร้ ในการด่าบริภาษนั้น ข้าพระองค์จักคิดอย่างนี้ว่า ดีหนอที่มนุษย์เมืองสุนาปรันตกะ ฯลฯ ดีทีเดียวหนอที่พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตกะเหล่านี้ไม่ใช้ฝ่ามือประหารข้าพระองค์ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๒- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๗๕๗   สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๑๑๕

               และอธิวาสนขันติที่ภิกษุประกอบแล้ว เป็นผู้ที่แม้ฤาษีทั้งหลายพึงสรรเสริญ ดังที่สรภังคฤาษีกล่าวไว้ว่า
                         บุคคลฆ่าความโกรธเสียได้ จะไม่เศร้าโศกในกาล
                         ไหนๆ ฤาษีทั้งหลายสรรเสริญการละความลบหลู่
                         ท่านทั้งหลายจงอดทนคำหยาบคายที่คนทั้งปวง
                         กล่าวแล้ว สัปบุรุษทั้งหลายกล่าวขันตินี้ว่า สูงสุด
                         ดังนี้.
____________________________
๓- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๔๕๘

               ภิกษุเช่นนั้นแม้เทวดาทั้งหลายก็สรรเสริญ
               ดังที่ท้าวสักกะจอมเทพตรัสไว้ว่า๔-
                                   ผู้ใดแล เป็นคนมีกำลัง อดกลั้นต่อ
                         คนผู้ทุรพลไว้ ความอดกลั้นของบุคคลนั้น
                         บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นขันติอย่างยิ่ง
                         เพราะคนทุรพลต้องอดทนอยู่เป็นนิตย์.
____________________________
๔- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๘๗๕

               ผู้ที่มีความอดทนแม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ตรัสสรรเสริญ
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๕-
                                   ผู้ใดไม่โกรธไม่ประทุษร้าย ย่อมอดกลั้น
                         ต่อการฆ่าและการจองจำ เราเรียกผู้นั้นซึ่งมีขันติ
                         เป็นพลัง ผู้มีพลังเป็นเสนา ว่าเป็นพราหมณ์.
____________________________
๕- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๖

               ก็ขันตินี้นั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการได้รับคุณทั้งหลายที่ท่านกล่าวพรรณนาไว้ในที่นี้เหล่านี้ และคุณทั้งหลายเหล่าอื่น.
               การไม่ถึงความฟุ้งซ่าน หรือความเป็นผู้นิ่ง หรือคิดถึงคุณและโทษในเมื่อตนถูกว่ากล่าวประกอบด้วยธรรม (แต่) ทำความเอื้อเฟื้อความเคารพและความอ่อนน้อมอย่างยิ่งแล้วกล่าวว่า ดีละ (ที่ท่านได้กรุณาว่ากล่าวตักเตือนข้าพเจ้า) ดังนี้ชื่อว่า โสวจสฺสตา ความเป็นผู้ว่าง่าย.
               ความเป็นผู้ว่าง่ายนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ได้โอวาทและอนุศาสนีจากสำนักของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย และเพราะเป็นเหตุให้ได้ละโทษและบรรลุคุณ.
               การเข้าไปหา การอุปัฏฐาก การระลึกถึง การฟังและการเห็นบรรพชิตทั้งหลายผู้มีกิเลสอันสงบแล้ว ผู้อบรมกายวาจาจิตและปัญญาแล้ว ผู้ประกอบด้วยความฝึกฝนและความสงบอย่างสูง ชื่อว่าการเห็นสมณะทั้งหลาย การเข้าไปหาทั้งหมดเป็นต้นนั้น ท่านกล่าวว่าทัสสนะ (การเห็น) เพราะไม่ได้แสดงสิ่งที่ต่ำช้า ข้อนี้พึงทราบว่าเป็นมงคล
               เพราะเหตุไร เพราะมีอุปการะมาก
               และพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้การเห็นว่ามีอุปการะมากแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น๖- ดังนี้เป็นอาทิ.
____________________________
๖- ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๘๔

               เพราะกุลบุตรที่ปรารถนาประโยชน์ เห็นภิกษุทั้งหลายผู้ทรงศีลมาถึงประตูเรือน ถ้าหากว่าไทยธรรมมีอยู่ ก็พึงต้อนรับด้วยไทยธรรมตามกำลัง ถ้าหากว่าไทยธรรมไม่มี ก็พึงไหว้ด้วยเบญจางประดิษฐ์ เมื่อการไหว้ด้วยเบญจางประดิษฐ์นั้น ไม่สำเร็จ (ไหว้ไม่สะดวก) ก็พึงประคองอัญชลีนมัสการ แม้เมื่อการประคองอัญชลีนมัสการนั้นไม่สำเร็จ ก็พึงนั่งมองด้วยจิตที่เลื่อมใสด้วยนัยน์ตาทั้งสองที่ประกอบด้วยความรัก เพราะว่าด้วยบุญที่มีการมองดูอย่างนี้เป็นมูลเหตุ โรคนัยน์ตาก็ดี โทษก็ดี ฝ้าก็ดี ไฝก็ดี ย่อมไม่มีตลอดพันชาติเป็นอเนก เขามีจักษุที่แจ่มใส ประกอบด้วยสิริ มีวรรณะ ๕ เช่นกับด้วยหน้าต่างแก้วมณีที่เปิดไว้ในวิมานแก้ว เป็นผู้มีปกติได้สมบัติทุกอย่าง ทั้งในเทวโลก ทั้งในมนุษยโลกประมาณสิ้นแสนกัป.
               ข้อที่บุคคลมีปัญญาเกิดเป็นมนุษย์มีปัญญา จะพึงเสวยวิบากสมบัติเห็นปานนั้นด้วยคุณซึ่งเกิดจากการเห็นสมณะที่เป็นไปโดยชอบ นี้ไม่น่าอัศจรรย์ (แต่) ข้อที่บัณฑิตทั้งหลายกล่าวสรรเสริญวิบากสมบัติแห่งการเห็นสมณะซึ่งเกิดจากเหตุ เพียงศรัทธาอย่างเดียวเท่านั้น แม้ของสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายอย่างนี้ว่า
                                   นกฮูกชื่อว่าโกสิยะนี้มีนัยน์ตากลม
                         อยู่ที่ภูเขาเวทิยกะมานาน มีความสุขหนอ
                         ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ผู้เสด็จลุก
                         ขึ้นตามกาล
                                   นกฮูกนั้นทำใจให้เลื่อมใสในเรา
                         (ตถาคต) ในภิกษุสงฆ์ผู้เลิศ จะไม่ไปสู่
                         ทุคติสิ้นแสนกัป
                                   เคลื่อนจากเทวโลกแล้ว อันกุศลกรรม
                         ตักเตือนแล้ว จักเป็นพระพุทธเจ้าปรากฏพระ
                         นามว่าโสมนัส ผู้มีพระญาณอันไม่สิ้นสุด ดังนี้
                         (จึงเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์)
               ชื่อว่า การสนทนาธรรมตามกาล (กาเลน ธมฺมสากจฺฉา) ข้าพเจ้าจะได้กล่าวต่อไป.
               ในเวลาพลบค่ำ หรือในเวลาใกล้รุ่ง ภิกษุนักพระสูตร ๒ รูปสนทนาพระสูตรกัน นักวินัย ๒ รูปสนทนาพระวินัยกัน นักอภิธรรม ๒ รูปสนทนาอภิธรรมกัน พระภิกษุผู้กล่าวชาดก ๒ รูปสนทนาชาดกกัน พระภิกษุผู้เรียนอรรถกถา ๒ รูปสนทนาอรรถกถากัน หรือว่าภิกษุทั้งหลายย่อมสนทนากันในกาลนั้นๆ เพื่อชำระจิตที่หดหู่ ฟุ้งซ่านและสงสัยเป็นไปในเบื้องหน้า.
               การสนทนาธรรมตามกาลนั้น ท่านเรียกว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งคุณทั้งหลายมีความเป็นผู้ฉลาดในอาคม (ปริยัติ) เป็นต้น.
               ด้วยพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๔ มงคล คือ ขันติ ๑ โสวจัสสตา ๑ การเห็นสมณะทั้งหลาย ๑ การสนทนาธรรมตามกาล ๑ ดังพรรณนามาฉะนี้ และความที่ธรรมเหล่านั้นเป็นมงคล ข้าพเจ้าก็ได้อธิบายไว้ชัดเจนแล้วในมงคลนั้นๆ นั่นแหละ ดังนี้แล.
               จบการพรรณนาเนื้อความแห่งคาถานี้ว่า ขนฺตี จ เป็นต้น

               คาถาที่ ๙ (มี ๔ มงคล)               
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในคาถามีบทว่า ตโป จ เป็นต้นดังต่อไปนี้
               ธรรมที่ชื่อว่า ตบะ เพราะอรรถว่าแผดเผาบาปธรรมทั้งหลาย. ความประพฤติที่ประเสริฐ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า พรหมจรรย์.
               อีกอย่างหนึ่ง ความประพฤติของพรหมทั้งหลาย ชื่อว่า พรหมจรรย์ มีคำอธิบายว่า ความประพฤติอย่างประเสริฐ.
               การเห็นอริยสัจทั้งหลาย ชื่อว่า อริยสจฺจานทสฺสนํ.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อริยสจฺจานิ ทสฺสนํ ดังนี้ก็มี ข้อนี้ไม่ดี.
               ที่ชื่อว่า นิพพาน เพราะออกจากกิเลสเครื่องร้อยรัดที่ชื่อว่า วานะ.
               การทำให้แจ้ง ชื่อว่า สจฺฉิกิริยา.
               การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ชื่อ นิพฺพานสจฺฉิกิริยา.
               คำที่เหลือมีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแล นี่คือการพรรณนาเฉพาะบท.
               ส่วนการพรรณนาเนื้อความ ผู้ศึกษาพึงทราบดังต่อไปนี้.
               การสำรวมอินทรีย์โดยแผดเผาอกุศลธรรมทั้งหลายมีอภิชฌาและโทมนัสเป็นต้น หรือความเพียรอันแผดเผาความเกียจคร้าน ชื่อว่าตปะ. เพราะว่าบุคคลที่ประกอบด้วยตปะนั้น ท่านเรียกว่า อาตาปี ผู้มีตบะ หรือผู้มีความเพียรเป็นเครื่องแผดเผาบาป.
               ตบะนี้นั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ละอภิชฌาเป็นต้นเสียได้ และเป็นเหตุให้ได้ฌานเป็นต้น.
               ชื่อว่า พรหมจรรย์ เป็นชื่อแห่งเมถุนวิรัติ, สมณธรรม, ศาสนาและมรรค.
               จริงอย่างนั้น เมถุนวิรัติในธรรมทั้งหลายมีคำเป็นต้นอย่างนี้ว่า บุคคลละความประพฤติที่ไม่ประเสริฐ เป็นผู้มีปกติประพฤติประเสริฐ๑- ดังนี้ ท่านเรียกว่าพรหมจรรย์.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๓๓   ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๓   ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑๐๓

               สมณธรรมทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า๒- ดูก่อนอาวุโส เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้. ท่านก็เรียกว่าพรหมจรรย์.
               ศาสนาในธรรมทั้งหลายมีคำเป็นอาทิอย่างนี้ว่า๓- ดูก่อนมารผู้มีบาป เราจักยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่พรหมจรรย์ของเรานี้ จักไม่บริบูรณ์ ไม่แพร่หลาย กว้างขวาง มีคนรู้จักมาก ดังนี้. ท่านก็เรียกว่าพรหมจรรย์.
               มรรคในคำทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า๔- ดูก่อนภิกษุ อัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐนี้เท่านั้นแล เป็นตัวพรหมจรรย์ คือสัมมาทิฏฐิ ดังนี้. ท่านก็เรียกว่าพรหมจรรย์.
____________________________
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๙๖
๓- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๑๐๒   สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๑๓๒   ขุ. อุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๓๐
๔- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๓๐

               แต่ในพระสูตรนี้ คำทั้งปวงที่เหลือก็ใช้ได้ เพราะยึดถือเอามรรคเป็นเบื้องหน้าในการเห็นอริยสัจ ก็พรหมจรรย์นี้นั้นพึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษ มีประการต่างๆ สูงๆ ขึ้นไป.
               การเห็นมรรคด้วยสามารถแห่งการบรรลุอริยสัจ ๔ มีเนื้อความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วในกุมารปัญหา ชื่อว่า อริยสัจจานทัสสนะ การเห็นอริยสัจนั้นท่านกล่าวว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ท่านพ้นจากทุกข์ในสังสารเสียได้.
               ชื่อว่า การกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ข้าพเจ้าจักได้กล่าวต่อไป.
               ในมงคลสูตรนี้ คำว่า อรหัตผล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์ไว้ว่านิพพาน เพราะว่าอรหัตผลนั้น เรียกว่านิพพาน เพราะออกจากตัณหาที่เรียกว่าวานะ เพราะร้อยรัดคติ ๕ ไว้. การบรรลุหรือการพิจารณาพระนิพพานนั้น ท่านเรียกว่า สัจฉิกิริยา การกระทำให้แจ้ง แต่การกระทำให้แจ้งพระนิพพานนอกนี้สำเร็จได้ก็ด้วยการเห็นอริยสัจเท่านั้น เพราะเหตุนั้น พระนิพพานนี้จึงไม่ได้ประสงค์เอาในมงคลนี้ การกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนี้ พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ด้วยพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๔ ประการคือ ตบะ ๑ พรหมจริยา ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การทำนิพพานให้แจ้ง ๑ ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ก็ความที่ธรรมเหล่านั้นเป็นมงคล ข้าพเจ้าได้อธิบายไว้ชัดเจนแล้วในมงคลนั้นๆ นั่นแหละ ดังนี้แล.
               จบการพรรณนาเนื้อความแห่งคาถานี้ว่า ตโป จ เป็นต้น

               คาถาที่ ๑๐ (มี ๔ มงคล)               
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในมงคลข้อว่า ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ เป็นต้นนี้ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า ผุฏฺฐสฺส ได้แก่ สัมผัส คือถูกต้อง ได้แก่ถึงพร้อม.
               ธรรมทั้งหลายในโลก ชื่อว่าโลกธรรม. มีคำอธิบายว่า โลกยังเป็นไปอยู่ตราบใด ธรรมทั้งหลายก็ไม่หมุนกลับตราบนั้น.
               มโน คือ มานัส ชื่อว่าจิต.
               บทว่า ยสฺส ได้แก่ พระนวกะ หรือพระมัชฌิมะ หรือพระเถระ.
               บทว่า น กมฺปติ ได้แก่ ไม่หวั่น ไม่สะเทือน.
               บทว่า อโสกํ ได้แก่ ไม่เศร้าโศก คือถอนลูกศรคือความโศกเสียได้.
               บทว่า วิรชํ ได้แก่ ผู้ปราศจากราคะ คือผู้กำจัดราคะได้แล้ว.
               บทว่า เขมํ ได้แก่ ไม่มีภัย คือไร้อุปัทวะ.
               คำที่เหลือมีนัยดังข้าพเจ้ากล่าวแล้วแล นี้เป็นการพรรณนาเฉพาะบทก่อน.
               ส่วนการพรรณนาเนื้อความ พึงทราบดังต่อไปนี้.
               จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้วก็ไม่หวั่นไหว คือจิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้ง ๘ มีลาภเป็นต้นถูกต้องแล้ว คือครอบงำแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ได้แก่ไม่คลอนแคลน ไม่สะเทือน จิตนั้นของบุคคลนั้นอันใครๆ ไม่พึงให้หวั่นไหวได้ เพราะนำโลกุตรมรรคมาให้.
               ถามว่า ก็จิตของใครถูกโลกธรรมเหล่านี้ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว.
               ตอบว่า จิตของพระอรหันตขีณาสพย่อมไม่หวั่นไหว หาใช่จิตของใครอื่นไม่.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   ภูเขาศิลาแท่งทึบ ย่อมไม่หวั่นไหว
                         เพราะลมฉันใด รูป รส เสียง กลิ่น สัมผัส
                         รวมทั้งธรรมที่น่าปรารถนา และธรรมที่ไม่
                         น่าปรารถนา หาได้ทำจิตซึ่งตั้งมั่นหลุดพ้น
                         แล้วของท่านผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ ทั้งท่าน
                         ย่อมเห็นความสิ้นไปแห่งสภาวธรรมเหล่า
                         นั้นด้วย ดังนี้.๑-
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๔   องฺ. ฉกฺก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๓๒๖.

               จิตของพระขีณาสพเท่านั้น ชื่อว่า อโสกํ ไม่เศร้าโศก.
               จริงอยู่ จิตของพระขีณาสพเหล่านั้น ชื่อว่าไม่เศร้าโศก เพราะไม่มีความโศกที่ท่านเรียกกันโดยนัยว่า ความโศก ความเศร้าโศก ความเป็นผู้เศร้าโศก ความเศร้าโศกในภายใน ความแห้งเกรียมในภายใน ความที่ใจเผาไหม้๒- ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๒- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๒๖๘

               อาจารย์บางพวกเรียกจิตที่ไม่เศร้าโศกนี้ว่า พระนิพพาน.
               จิตที่ไม่เศร้าโศกนั้น ท่านไม่ต่อกับบทก่อน (จิตที่ถูกโลกธรรม) เหมือนอย่างว่า คำว่าจิตไม่เศร้าโศกเป็นจิตของพระขีณาสพฉันใด แม้คำว่าจิตที่ปราศจากธุลี จิตเกษมก็เป็นจิตของพระขีณาสพเหมือนกันฉันนั้น ด้วยว่าจิตของพระขีณาสพนั้นชื่อว่าปราศจากธุลี เพราะเป็นจิตที่ปราศจากธุลี คือราคะโทสะและโมหะ และชื่อว่าเกษม เพราะเป็นจิตที่ปลอดจากโยคะทั้งสี่ เพราะจิตของพระขีณาสพนี้แม้จะมี ๓ อย่าง (อโสกํ วิรชํ เขมํ) ด้วยสามารถที่ท่านถือเอาในปวัตติขณะนั้นๆ แสดงไว้โดยอาการนั้นๆ ก็พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้ยอดเยี่ยมในโลกมีความที่ขันธ์ไม่เป็นไปอีกเป็นต้น (ไม่ต้องเกิดอีก) และนำมาซึ่งความเป็น อาหุเนยยบุคคล เป็นต้น.
               ด้วยพระคาถานี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๔ ประการ ความที่จิตไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ๘ อย่าง ๑ จิตไม่เศร้าโศก ๑ จิตปราศจากธุลี ๑ จิตเกษม ๑ ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ก็ความที่แห่งธรรมเหล่านี้เป็นมงคล ข้าพเจ้าได้อธิบายไว้ชัดเจนแล้วในมงคลข้อนั้นๆ นั่นแหละดังนี้แล
               จบการพรรณนาเนื้อความ แห่งคาถาที่ว่า ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ เป็นต้นนี้

               คาถาที่ ๑๑               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๓๘ ประการด้วยพระคาถา ๑๐ พระคาถาว่า อเสวนา จ พาลานํ ดังนี้เป็นต้นดังพรรณนามาฉะนี้. บัดนี้ เมื่อจะทรงชมเชยมงคลที่พระองค์ตรัสไว้เหล่านี้แล จึงได้ตรัสพระคาถาสุดท้ายนี้ว่า เอตาทิสานิ กตฺวาน ดังนี้เป็นต้น.
               การพรรณนาเนื้อความแห่งพระคาถาสุดท้ายนั้น มีดังต่อไปนี้.
               คำว่า เอตาทิสานิ ความว่า มงคลทั้งหลายมีการไม่เสพพวกคนพาลเป็นต้นเช่นนี้เหล่านี้ คือที่มีประการอันเรากล่าวแล้ว.
               บทว่า กตฺวาน ได้แก่ กระทำแล้ว. จริงอยู่ บท ๓ บท คือ กตฺวาน กตฺวา กริตฺวา โดยเนื้อความก็ไม่ใช่อื่น (ถือเป็นอันเดียวกัน)
               บทว่า สพฺพตฺถมปราชิตา ความว่า เป็นผู้แม้อันศัตรูอย่างหนึ่งในบรรดาศัตรู ๔ ประเภทอันต่างโดยขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร และเทวปุตตมาร จะให้พ่ายแพ้ไม่ได้. อธิบายว่า ทำมารทั้ง ๔ ประเภทเหล่านั้นให้พ่ายแพ้เสียเอง.
               ก็ อักษรในคำว่า สพฺพตฺถปราชิตา นี้ พึงทราบว่าเป็นการเชื่อมบท (บทสนธิ).
               บาทคาถาว่า สพฺพตฺถ โสตถึ คจฺฉนฺติ ความว่า บุคคลกระทำตามมงคลเหล่านี้แล้ว เป็นผู้ที่มารทั้ง ๔ ให้แพ้ไม่ได้ ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง คือในโลกนี้และโลกหน้า และในสถานที่ทั้งหลายมีทางเดินจงกรมเป็นต้น.
               มีคำอธิบายว่า อาสวะ การเข่นฆ่าและความเร่าร้อนเหล่าใด จะพึงเกิดขึ้นจากการคบคนพาลเป็นต้น ชนทั้งหลายเหล่านั้นย่อมถึงความสวัสดี เพราะไม่มีอาสวะ การเข่นฆ่าและความเร่าร้อนเหล่านั้น ถือว่าเป็นผู้ไม่มีอุปัทวะ ไม่มีอุปสรรค มีความเกษม ไม่มีภัย ย่อมถึงความสวัสดีได้.
               ก็อนุนาสิก (นิคคหิต) ในคำว่า สพฺพตฺถ โสตฺถึ คจฺฉนฺติ นี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อความสะดวกในการประพันธ์คาถา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เทศนาจบลง ด้วยบาทพระคาถานี้ว่า ตนฺเตสํ มงฺคลมุตฺตมํ.
               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เทศนาจบลงอย่างไร?
               ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เทศนาจบลงโดยพุทธประสงค์อย่างนี้ว่า
               ดูก่อนเทวบุตร ก็เพราะชนเหล่าใดกระทำตามมงคลเหล่านี้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง ฉะนั้น ท่านจงถือเอามงคลทั้ง ๓๘ ประการมีการไม่เสพพวกคนพาลเป็นต้นนั้น เป็นมงคลอย่างสูงสุด ได้แก่ประเสริฐที่สุด คือเลิศสำหรับชนทั้งหลายเหล่านั้นผู้กระทำตามมงคลเหล่านี้นี้.
               ก็ในที่สุดแห่งพระเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้จบลงแล้วอย่างนี้ เทวดาประมาณแสนโกฏิบรรลุพระอรหัต. ผู้ที่บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี นับไม่ถ้วน.
               ต่อจากนั้นในวันที่ ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพระอานนทเถระมาแล้วตรัสว่า
               ดูก่อนอานนท์ เมื่อคืนนี้เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาหาเราแล้วถามมงคลปัญหา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงได้กล่าวมงคล ๓๘ ประการแก่เทวดานั้น.
               ดูก่อนอานนท์ เธอจงเรียนมงคลนี้ ครั้นเรียนมงคลปริยายนี้แล้วจงบอกภิกษุทั้งหลาย.
               พระเถระเรียนเอาแล้ว จึงได้บอกภิกษุทั้งหลาย มงคลสูตรนี้นั้นอาจารย์นำสืบๆ กันมา ย่อมเป็นมาได้จนถึงทุกวันนี้ พรหมจรรย์นี้พึงทราบว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศดีแล้ว จนกระทั่งบริบูรณ์ แพร่หลาย กว้างขวาง มีคนรู้กันมากและเป็นปึกแผ่นด้วยประการฉะนี้.

               สรุปมงคล ๓๘               
               บัดนี้ เพื่อความฉลาดในการอบรมญาณในมงคลเหล่านี้นั่นแหละ จึงมีโยชนา (วาจาประกอบการอธิบายความให้เชื่อมกัน) จำเดิมแต่ต้นดังต่อไปนี้.
               สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ผู้ใคร่ต่อความสุขในโลกนี้ โลกหน้าและโลกุตรสุข ละการเสพคนพาล อาศัยบัณฑิตทั้งหลาย บูชาซึ่งบุคคลทั้งหลายที่ควรบูชา อันการอยู่ในประเทศอันสมควร และการเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้วในปางก่อนตักเตือนอยู่ในการสั่งสมกุศล จึงตั้งตนไว้ชอบ มีอัตภาพอันประดับแล้วด้วยพาหุสัจจะ ศิลปะ และวินัย กล่าวอยู่ซึ่งวาจาสุภาษิตอันสมควรแก่วินัย
               ตนยังไม่ละความเป็นคฤหัสถ์ตราบใด ก็ชำระหนี้เก่าโดยการเลี้ยงดูมารดาบิดาอยู่ตราบนั้น ประกอบหนี้ใหม่ด้วยการสงเคราะห์บุตรและภรรยาอยู่ บรรลุถึงความสำเร็จแห่งสมบัติ มีทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นต้นด้วยความเป็นผู้มีการงานไม่อากูล
               ถือเอาสาระแห่งโภคะด้วยการให้ทานและสาระแห่งชีวิตด้วยการประพฤติธรรม กระทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนของตนด้วยการสงเคราะห์ญาติ และกระทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนอื่นด้วยการประกอบการงานที่ปราศจากโทษ เว้นการเบียดเบียนคนอื่นด้วยการงดจากบาป และการเบียดเบียนตนด้วยการสำรวมจากการดื่มน้ำเมา เจริญธรรมฝ่ายกุศลทั้งหลายด้วยความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
               สละเพศคฤหัสถ์ด้วยความเป็นผู้ฉลาดในกุศลธรรมที่ตนเจริญแล้ว แม้ดำรงอยู่แล้วในความเป็นบรรพชิต ก็ยินดีความถึงพร้อมด้วยวัตร ด้วยความเคารพและความอ่อนน้อมในทักขิเณยยบุคคลทั้งหลายมีพระพุทธเจ้า พุทธสาวก อุปัชฌาย์และอาจารย์เป็นต้น. สละความคิดในปัจจัยด้วยความสันโดษ ดำรงอยู่ในสัปปุริสภูมิด้วยความกตัญญู ละจิตที่ท้อแท้เสียได้ด้วยการฟังธรรม ครอบงำอันตรายทั้งปวงเสียได้ด้วยความอดทน ทำตนให้มีที่พึ่งด้วยการเป็นผู้ว่าง่าย เห็นอยู่ซึ่งการประกอบความเพียรในการปฏิบัติด้วยการเห็นสมณะ บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยเสียได้ด้วยการสนทนาธรรม
               ทำศีลวิสุทธิให้บริบูรณ์ด้วยการสำรวมอินทรีย์และตบะ ทำจิตตวิสุทธิ์ให้บริบูรณ์ด้วยพรหมจรรย์คือสมณธรรม ทำวิสุทธิอีก ๔ อย่างที่เหลือจากนั้นให้บริบูรณ์ (ทิฏฐิ, กังขา, มัคคา, ปฏิปทา) บรรลุญาณทัสสนวิสุทธิอันเป็นปริยายแห่งอริยสัจจทัสสนะด้วยปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ) นี้ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน กล่าวคืออรหัตผลซึ่งครั้นทำให้แจ้งแล้วก็เป็นผู้มีจิตไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ๘ ดุจภูเขาสิเนรุไม่หวั่นไหว เพราะลมและฝนฉะนั้น จึงเป็นบุคคลที่ไม่เศร้าโศก มีจิตปราศจากธุลี มีจิตเกษม ก็บุคคลเหล่าใดเป็นผู้มีจิตเกษม บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวงและย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน.

               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
                         เอตาทิสานิ กตฺวาน    สพฺพตฺถมปราชิตา
                         สพฺพตฺถ โสตฺถึ คจฺฉนฺติ    ตนฺเตสํ มงคลมุตฺตมํ.
               เหล่าชน ครั้นกระทำการมงคลทั้ง ๓๘ ประการเหล่านี้แล้ว
               ย่อมเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่
               ทุกสถาน การถึงความสวัสดีนั้นเป็นมงคลอย่างสูงสุดของ
               ชนเหล่านั้น.

               จบการพรรณนามงคลสูตร               
               แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย               
               ชื่อปรมัตถโชติกา               
               --------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรค มงคลสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 316อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 317อ่านอรรถกถา 25 / 319อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=7825&Z=7857
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=1484
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=1484
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :