ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 32อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 33อ่านอรรถกถา 25 / 34อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท นาควรรคที่ ๒๓

หน้าต่างที่ ๗ / ๘.

               ๗. เรื่องสัมพหุลภิกษุ [๒๓๘]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อทรงอาศัยป่าชื่อปาลิไลยกะ ประทับอยู่ในไพรสณฑ์ชื่อรักขิตะ ทรงปรารภภิกษุเป็นอันมาก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สเจ ลเภถ" เป็นต้น.

               ภิกษุ ๕๐๐ รูปอยากเข้าเฝ้าพระศาสดา               
               เรื่องมาในอรรถกถาแห่งพระคาถาว่า "ปเร จ น วิชานนฺติ" เป็นต้นในยมกวรรคแล้วแล.
               อันที่จริง ข้าพเจ้ากล่าวเรื่องนี้แล้วว่า
               การประทับอยู่ของพระตถาคตเจ้า ผู้ซึ่งพระยาช้างในไพรสณฑ์ ชื่อรักขิตะ นั้นบำรุงอยู่ ได้ปรากฏไปในสกลชมพูทวีปแล้ว. ตระกูลใหญ่มีอาทิอย่างนี้ คือ "ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกา" ส่งข่าวไปจากพระนครสาวัตถีแก่พระอานนทเถระว่า "ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงแสดงพระศาสดาแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด."
               ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป แม้ผู้มีปกติอยู่ในทิศ ออกพรรษาแล้ว เข้าไปหาพระอานนทเถระ วิงวอนว่า "อานนท์ผู้มีอายุ เราทั้งหลายฟังธรรมกถาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ต่อกาลนานแล้ว, ดีละ อานนท์ผู้มีอายุ เราทั้งหลายพึงได้เพื่อฟังธรรมกถา ณ ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า.

               ช้างปาลิไลยกะจับไม้จะตีพระอานนท์               
               พระเถระพาภิกษุเหล่านั้นไป ณ ไพรสณฑ์ชื่อรักขิตะนั้นแล้ว ดำริว่า "การเข้าไปสู่สำนักพระตถาคตเจ้า ผู้มีปกติประทับอยู่พระองค์เดียวตลอดไตรมาส พร้อมกับภิกษุมีประมาณเท่านี้ ไม่สมควร" ดังนี้แล้ว องค์เดียวเท่านั้นเข้าไปเฝ้าพระศาสดา.
               ช้างชื่อปาลิไลยกะเห็นท่านแล้ว จับไม้แล่นแปร๋ไป.
               พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นแล้วตรัสว่า "เจ้าจงหลีกไป ปาลิไลยกะ, อย่าห้าม นั่นเป็นพุทธุปัฏฐาก." มันทิ้งท่อนไม้ลงในที่นั้นนั่นเอง ถามโดยเอื้อเฟื้อถึงการรับบาตรและจีวร. พระเถระมิได้ให้.
               ช้างคิดว่า "ถ้าภิกษุนี้จักเป็นผู้มีวัตรอันเรียนแล้วไซร้ ท่านจักไม่วางบริขารของตนลงบนแผ่นหินที่ประทับนั่งของพระศาสดา."
               พระเถระวางบาตรและจีวรลงบนพื้น.
               แท้จริง ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรทั้งหลาย ย่อมไม่วางบริขารของตนลงบนที่นั่งหรือที่นอนของครู..
               พระเถระถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               พระศาสดาตรัสถามว่า "เธอมารูปเดียวเท่านั้นหรือ?" ทรงสดับความที่พระเถระมากับภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ตรัสว่า "ภิกษุพวกนั้นอยู่ที่ไหนเล่า?" เมื่อพระเถระกราบทูลว่า "ข้าพระองค์ เมื่อไม่ทราบจิตของพระองค์ จึงพักไว้ข้างนอก (ก่อน) แล้วมาเฝ้า" ตรัสว่า "จงเรียกภิกษุเหล่านั้นเข้ามาเถิด." พระเถระได้กระทำอย่างนั้น.

               เที่ยวไปคนเดียวดีกว่าไปกับเพื่อนชั่ว               
               พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกับภิกษุเหล่านั้นแล้ว เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าผู้สุขุมาล และเป็นกษัตริย์ผู้สุขุมาล พระองค์ผู้เดียวประทับยืนและประทับนั่งอยู่ตลอดไตรมาส ทรงทำกรรมที่ทำได้โดยยากแล้ว, ผู้กระทำวัตรและปฏิวัตรก็ดี ผู้ถวายวัตถุมีน้ำบ้วนพระโอษฐ์เป็นต้นก็ดี ชะรอยจะมิได้มี"
               จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย กิจทุกอย่าง ช้างปาลิไลยกะทำแล้วแก่เรา อันที่จริง การที่บุคคลเมื่อได้สหายผู้มีรูปเช่นนี้ อยู่ร่วมกัน สมควรแล้ว เมื่อบุคคลไม่ได้ การเที่ยวไปคนเดียวเท่านั้นเป็นการประเสริฐ"
               แล้วได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ไว้ในนาควรรคว่า :-
                         ๗.                สเจ ลเภถ นิปกํ สหายํ
                                        สทฺธึจรํ สาธุวิหาริธีรํ
                                        อภิภุยฺย สพฺพานิ ปริสฺสยานิ
                                        จเรยฺย เตนตฺตมโน สตีมา.
                                        โน เจ ลเภถ นิปกํ สหายํ
                                        สทฺธึจรํ สาธุวิหาริธีรํ
                                        ราชาว รฏฺฐํ วิชิตํ ปหาย
                                        เอโก จเร มาตงฺครญฺเญว นาโค.
                         เอกสฺส จริตํ เสยฺโย   นตฺถิ พาเล สหายตา
                                        เอโก จเร น จ ปาปานิ กยิรา
                                        อปฺโปสฺสุกฺโก มาตงฺครญฺเญว นาโค.
                                   ถ้าว่า บุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตัว
                         มีธรรมเครื่องอยู่อันดี เป็นนักปราชญ์ ไว้เป็นผู้เที่ยวไป
                         ด้วยกันไซร้, เขาพึงครอบงำอันตรายทั้งสิ้นเสียแล้ว พึง
                         เป็นผู้มีใจยินดี มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น.
                                   หากว่า บุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษา
                         ตัว มีธรรมเครื่องอยู่เป็นอันดี เป็นนักปราชญ์ ไว้เป็นผู้
                         เที่ยวไปด้วยกันไซร้, เขาพึงเที่ยวไปคนเดียว เหมือนพระ
                         ราชาทรงละแว่นแคว้น ที่ทรงชนะเด็ดขาดแล้ว (หรือ)
                         เหมือนช้างชื่อว่ามาตังคะ ละโขลงแล้ว เที่ยวไปในป่าตัว
                         เดียวฉะนั้น.
                                   ความเที่ยวไปแห่งบุคคลคนเดียวประเสริฐกว่า
                         เพราะคุณเครื่องเป็นสหาย ไม่มีอยู่ในชนพาล.
                                   บุคคลนั้นพึงเป็นผู้ผู้เดียวเที่ยวไป เหมือนช้างชื่อ
                         มาตังคะ ตัวมีความขวนขวายน้อยเที่ยวไปอยู่ในป่าฉะนั้น
                         และไม่พึงทำบาปทั้งหลาย.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิปกํ คือ ผู้ประกอบปัญญาเครื่องรักษาตน.
               บทว่า สาธุวิหาริธีรํ คือ ผู้มีธรรมเครื่องอยู่อันเจริญ เป็นบัณฑิต.
               บทว่า ปริสฺสยานิ เป็นต้น ความว่า เขา เมื่อได้สหายผู้มีเมตตาเป็นวิหารธรรมเช่นนั้น พึงครอบงำอันตรายทั้งหลาย คือ "อันตรายที่ปรากฏ มีสีหะและพยัคฆ์เป็นต้น และอันตรายที่ปกปิด มีราคะและโทสะเป็นต้น" ทั้งหมดทีเดียวแล้ว พึงเป็นผู้มีใจยินดี มีสติมั่นคง เที่ยวไป คืออยู่กับสหายนั้น.
               สองบทว่า ราชาว รฏฺฐํ ความว่า เหมือนพระราชาผู้ฤาษีทรงละแว่นแคว้นผนวชอยู่ฉะนั้น.
               ท่านกล่าวคำอธิบายนี้ไว้ว่า "พระราชาผู้มีภูมิประเทศอันพระองค์ทรงชนะเด็ดขาดแล้ว ทรงละแว่นแคว้นที่ทรงชนะเด็ดขาดแล้วเสีย ด้วยทรงดำริว่า "ชื่อว่าความเป็นพระราชานี้ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาทอันใหญ่, ประโยชน์อะไรของเราด้วยราชสมบัติที่เราครอบครองแล้ว"
               ลำดับนั้นแหละเสด็จเข้าไปยังป่าใหญ่ ผนวชเป็นดาบส แล้วเสด็จเที่ยวไปเฉพาะพระองค์เดียวในอิริยาบถทั้ง ๔ ฉันใด บุคคลพึงเที่ยวไปเฉพาะผู้เดียวฉันนั้น."
               สองบทว่า มาตงฺครญฺเญว นาโค ความว่า เหมือนอย่างว่า พระยาช้างตัวนี้ได้นามว่า "มาตังคะ" เพราะพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า "เราแลย่อมอยู่นัวเนียด้วยพวกช้างพลาย ช้างพัง ช้างสะเทิ้น และลูกช้างทั้งหลาย, เราย่อมเคี้ยวกินหญ้าที่เขาเด็ดปลายแล้ว, และเขาย่อมเคี้ยวกินกิ่งไม้อันพอ๑- หักได้ที่เขาหักลงแล้วๆ, และเราย่อมดื่มน้ำที่ขุ่น, เมื่อเราหยั่งลง (สู่ท่าน้ำ) และก้าวขึ้น (จากท่าน้ำ) เหล่าช้างพังย่อมเดินเสียดสีกายไป, ถ้าอย่างไร เราตัวเดียวเท่านั้น พึงหลีกออกไปจากโขลงอยู่" ดังนี้แล้ว ดำเนินไปด้วยความรู้ ละโขลงแล้ว ย่อมเที่ยวไปในป่านี้ตามสบายตัวเดียวเท่านั้น ในอิริยาบถทั้งปวง ฉันใด บุคคลพึงเที่ยวไปคนเดียวเท่านั้นแม้ฉันนั้น.
____________________________
๑- สาขาภงฺคํ ซึ่งรุกขาวัยวะอันบุคคลพึงหักคือกิ่งไม้.

               บทว่า เอกสฺส ความว่า ความเที่ยวไปแห่งบรรพชิตผู้ยินดียิ่งแล้วในเอกีภาพ ตั้งแต่กาลที่ตนบวช ชื่อว่า ผู้ผู้เดียวเท่านั้นประเสริฐ.
               บาทพระคาถาว่า นตฺถิ พาเล สหายตา ความว่า เพราะคุณธรรมนี้ คือ "จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล กถาวัตถุ ๑๐ ธุดงคคุณ ๑๓ วิปัสสนาญาณ มรรค ๔ ผล ๔ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ อมตมหานิพพาน" ชื่อว่าคุณเครื่องเป็นสหาย. บุคคลไม่อาจบรรลุคุณเครื่องเป็นสหายนั้น เพราะอาศัยเหล่าพาลชน เพราะฉะนั้น คุณเครื่องเป็นสหาย จึงชื่อว่าไม่มีในพาลชน.
               บทว่า เอโก เป็นต้น ความว่า เพราะเหตุนี้ บุคคลพึงเป็นผู้ผู้เดียวเท่านั้นเที่ยวไปในอิริยาบถทั้งปวง และไม่พึงทำบาปทั้งหลาย แม้มีประมาณน้อย.
               อธิบายว่า "บุคคลนั้นพึงเป็นผู้ผู้เดียวเท่านั้นเที่ยวไป เหมือนช้างชื่อมาตังคะ ตัวมีความขวนขวายน้อย คือไม่มีอาลัย เที่ยวไปตามสบายในสถานที่ที่ตนปรารถนาแล้วๆ ในป่านี้ฉะนั้น และไม่พึงทำบาปทั้งหลายแม้มีประมาณน้อย.
               เพราะฉะนั้น พระศาสดา เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนี้ว่า "แม้ท่านทั้งหลาย เมื่อไม่ได้สหายมีรูปเช่นนี้ พึงเป็นผู้เที่ยวไปคนเดียวเท่านั้น" จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้แก่ภิกษุเหล่านั้น.
               ในกาลจบเทศนา ภิกษุเหล่านั้นแม้ทั้ง ๕๐๐ รูป ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ดังนี้แล.

               เรื่องสัมพหุลภิกษุ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท นาควรรคที่ ๒๓
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 32อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 33อ่านอรรถกถา 25 / 34อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1118&Z=1161
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=24&A=2715
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=24&A=2715
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :