ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 26 / 2อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปิฐวรรคที่ ๑
๑. ปิฐวิมานที่ ๑

               ปรมัตถทีปนี               
               อรรถกถาขุททกนิกาย วิมานวัตถุ               
               คันถารัมภกถา               

                                   ข้าพเจ้าขอไหว้พระพุทธเจ้า ผู้มีพระมหากรุณา
                         เป็นนาถะ ทรงข้ามสังสารสาครด้วยไญยธรรม ทรง
                         แสดงธรรมอันละเอียดลุ่มลึกมีนัยวิจิตร
                                   ข้าพเจ้าขอไหว้พระธรรมสูงสุด ที่พระสัมมา-
                         สัมพุทธเจ้าทรงบูชาแล้ว ซึ่งเป็นเครื่องนำผู้สมบูรณ์
                         ด้วยวิชชาและจรณะออกไปจากโลก.
                                   ข้าพเจ้าขอไหว้พระอริยสงฆ์ ผู้สมบูรณ์ด้วยคุณ
                         มีศีลเป็นต้น ตั้งอยู่ในมรรคผล เป็นบุญเขตอันยอด
                         เยี่ยม.
                                   บุญใด เกิดจากการไหว้พระรัตนตรัย ดังกล่าว
                         มานี้ ขอข้าพเจ้าเป็นผู้อันอำนาจบุญนั้นกำจัดอันตราย
                         ในที่ทั้งปวง.
                                   บุญใดๆ อันเทวดาทั้งหลายทำไว้ในชาติก่อนๆ
                         เทศนาอันใด ที่ทำผลแห่งกรรมให้ประจักษ์ ดำเนินไป
                         โดยการถามและตอบของเทวดาเหล่านั้น โดยแยก
                         สมบัติ คือผลมีวิมานเป็นต้นของบุญนั้นๆ พระอรหันต์
                         ทั้งหลายผู้เชี่ยวชาญแต่ก่อน สังคายนาเรื่องใดไว้ใน
                         คัมภีร์ขุททกนิกาย โดยชื่อว่าวิมานวัตถุ เพราะฉะนั้น
                         จักยึดนัยที่มาในอรรถกถารุ่นเก่านั้น เมื่อจะประกาศ
                         นิทานทั้งหลายในเทศนานั้นๆ โดยพิเศษ จักแต่งกถา
                         พรรณนาอรรถอันงามซึ่งหมดจดดี ไม่สับสน มีวินิจฉัย
                         อรรถอย่างละเอียด ไม่ผิดลัทธิสมัยของพระเถระทั้งหลาย
                         ผู้อยู่ในมหาวิหารตามกำลัง
                                   ขอสาธุชนทั้งหลายจงตั้งใจฟังวิมานวัตถุนั้นของ
                         ข้าพเจ้าซึ่งกำลังกล่าวอยู่ โดยเคารพเทอญ.

               อธิบายคำว่า วิมานวัตถุ               
               ในวิมานวัตถุนั้น สถานที่เล่นและอยู่อาศัยของเทวดาทั้งหลายมีจำนวนนับอันประเสริฐ ชื่อว่าวิมาน. จริงอยู่ วิมานเหล่านั้นบังเกิดด้วยอานุภาพของกรรมส่วนสุจริตของเทวดาเหล่านั้น รุ่งเรืองด้วยรัตนะต่างๆ มีสีและทรวดทรงอันวิจิตร เพราะประกอบด้วยขนาดพิเศษมี ๑ โยชน์และ ๒ โยชน์เป็นต้น เรียกกันว่าวิมาน เพราะพรั่งพร้อมด้วยความงาม และเพราะต้องนับโดยวิธีพิเศษ.
               วัตถุที่ตั้งแห่งวิมานทั้งหลายเป็นเหตุแห่งเทศนานั้น เหตุนั้น เทศนานั้นจึงชื่อว่า วิมานวัตถุ ได้แก่เทศนาที่ดำเนินไปโดยนัยว่า ปีฐนฺเต โสวณฺณเมยํ ปีฐวิมานตั่งทองของท่าน ดังนี้เป็นต้น.
               ก็คำนี้เป็นเพียงตัวอย่าง เพราะเทศนานี้ดำเนินไปอาศัยสมบัติมีรูปโภคะและบริวารเป็นต้น และกรรมที่เป็นเหตุทำให้บังเกิดสมบัตินั้นของเทวดาเหล่านั้น. อีกนัยหนึ่ง กล่าวโดยมุข คือวิบาก
               พึงทราบว่า ชื่อว่าวิมานวัตถุ เพราะเป็นเหตุแห่งการนับในระหว่าง [ช่วง] กรรม.
               ถามว่า วิมานวัตถุนี้ ใครกล่าว กล่าวที่ไหน กล่าวเมื่อไร และกล่าวเพราะเหตุไร.
               ตอบว่า วิมานวัตถุนี้ดำเนินไปโดยกิจ ๒ อย่าง คือถามและตอบ.
               ในกิจ ๒ อย่างนั้น คาถาคำตอบ เทวดาทั้งหลายนั้นๆ กล่าว. ส่วนคาถาคำถาม บางคาถาพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส บางคาถาท้าวสักกะเป็นต้นตรัส บางคาถาพระสาวกเถระทั้งหลายกล่าว. แม้ในคาถาคำถามนั้น คาถาส่วนมากท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้สร้างสมภารคือบุญและญาณ เพื่อเป็นพระอัครสาวกของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า บำเพ็ญสาวกบารมีมาโดยลำดับถึง ๑ อสงไขย กำไรแสนกัป ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณหมดสิ้น ซึ่งมีคุณพิเศษมีอภิญญา ๖ และปฏิสัมภิทา ๔ เป็นต้นเป็นบริวาร ดำรงอยู่ในตำแหน่งอัครสาวกรูปที่ ๒ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะในเหล่าภิกษุสาวกผู้มีฤทธิ์ กล่าวไว้แล้ว.
               ก่อนอื่น พระเถระเมื่อจะกล่าวก็เที่ยวเทวจาริกไปเพื่อเกื้อกูลโลก ไถ่ถามเทวดาทั้งหลายในเทวโลก กลับมามนุษยโลกอีก ทำคำถามและคำตอบไว้รวมกัน เพื่อทำผลบุญให้ประจักษ์แก่มนุษย์ทั้งหลาย กราบทูลเรื่องถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงกล่าวแก่ภิกษุทั้งหลาย. ท้าวสักกะตรัสก็โดยถามปัญหา เทวดาทั้งหลายตอบท้าวสักกะนั้นก็ดี ตอบท่านพระมหาโมคคัลลานเถระก็ดี ก็โดยตอบปัญหาเหมือนกัน.
               โดยนัยดังกล่าวมานี้ คาถาวิมานวัตถุ พระผู้มีพระภาคเจ้า พระเถระทั้งหลายและเทวดาทั้งหลายกล่าว ก็โดยถามปัญหา และเทวดาทั้งหลายกล่าวไว้ในที่นั้นๆ ก็โดยตอบปัญหานั้น. ภายหลัง พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายผู้สังคายนาธรรมวินัย รวบรวมยกขึ้นสู่สังคีติว่าวิมานวัตถุอย่างเดียว ก็การตอบบทว่าใครกล่าวเป็นต้น โดยสังเขปทั่วๆ ไปในวิมานวัตถุนี้เท่านี้ก่อน.
               ส่วนบทว่า ใครกล่าว เมื่อกล่าวโดยพิสดาร ก็พึงกล่าวอาคมนียปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่พึงดำเนินมาของพระเถระ ตั้งแต่มหาเถระทำปณิธานความปรารถนาไว้แทบเบื้องบาทพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี. ก็ปฏิปทานั้น ท่านกล่าวไว้พิสดารแล้วในที่นั้นๆ ในอรรถกถาทั้งหลายอันเป็นที่มา เพราะฉะนั้น พึงทราบตามนัยที่มาแล้วในที่นั้น.
               เมื่อกล่าวโดยไม่ทั่วไป [โดยเฉพาะ] การตอบบทว่า กล่าวที่ไหน ก็จักมาถึงตอนพรรณนาความแห่งวิมานนั้นๆ.
               ส่วนอาจารย์พวกอื่นๆ กล่าวว่า วันหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะไปในที่ลับหลีกเร้นอยู่ เกิดใจปริวิตกอย่างนี้ว่า ปัจจุบันนี้ มนุษย์ทั้งหลาย เมื่อความถึงพร้อมแห่งวัตถุ [ไทยธรรม] ความถึงพร้อมแห่งเขต [ทักขิไณยบุคคล] และความถึงพร้อมแห่งจิตเลื่อมใสของตน [เจตนา] แม้ไม่มี ก็ยังพากันทำบุญนั้น บังเกิดในเทวโลกเสวยสมบัติอันโอฬาร ถ้ากระไร เราจาริกไปในเทวโลก ทำเทวดาเหล่านั้นเป็นประจักษ์พยานให้กล่าวบุญ ตามที่พวกเขาสร้างสมไว้ และผลบุญตามที่ได้ประสบ แล้วกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเป็นดังนั้น พระศาสดาของเรา เมื่อทรงแสดงผลกรรมให้ประจักษ์ชัดแก่มนุษย์ทั้งหลาย เหมือนดังทรงทำพระจันทร์เพ็ญอุทัยขึ้น ณ พื้นนภากาศ ทรงชี้ความที่บุญทั้งหลาย แม้ประมาณเล็กน้อยก็ยังมีผลโอฬาร โดยศรัทธาความเชื่อต่อเนื่องกันได้ ทรงทำวิมานวัตถุนั้นๆ ให้เป็นวัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่องแล้ว จักทรงประกาศพระธรรมเทศนาได้ยิ่งใหญ่. พระธรรมเทศนานั้นก็จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลความสุขแก่ชนเป็นอันมากแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
               ท่านลุกขึ้นจากอาสนะ นุ่งผ้า ๒ ชั้นย้อมดีแล้วผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่งห่มเฉวียงบ่า เปรียบดังฟ้าแลบ มีลำสายคล้ายหิงคุ์ตามธรรมชาติ [หยาดมหาหิงคุ์] และเปรียบดังยอดเขาอัญชันคิรีเดินได้ ซึ่งฉาบด้วยแสงสนธยา ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง กราบทูลความประสงค์ของตน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแล้ว ก็ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณเวียนขวา เข้าจตุตถฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา ออกจากจตุตถฌานนั้นแล้ว ก็ถึงดาวดึงสภพในทันทีนั้นโดยกำลังฤทธิ์ จึงไถ่ถามถึงบุญกรรมตามที่เทวดาทั้งหลายนั้นๆ สร้างสมไว้. เทวดาเหล่านั้นก็บอกกล่าวแก่ท่าน. ท่านกลับจากดาวดึงส์นั้นมายังมนุษย์โลกแล้ว กราบทูลเรื่องนั้นทั้งหมดถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยทำนองที่เป็นไปในดาวดึงสภพนั้น.
               พระศาสดาก็ได้ทรงรับทราบเรื่องนั้นแล้ว ทรงทำวิมานวัตถุนั้นให้เป็นวัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่องแล้วทรงแสดงธรรมโดยพิสดาร โปรดบริษัทที่มาประชุมกัน.
               ก็วิมานวัตถุนี้นั้น นับเข้าในสุตตันตปิฎก ในปิฎกทั้ง ๓ คือ วินัยปิฎก สุตตันปิฎก อภิธรรมปิฎก. นับเข้าในขุททกนิกาย ในนิกายทั้ง ๕ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย. สงเคราะห์เข้าในคาถา ในสัตถุศาสน์มีองค์ ๙ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทานะ อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธัมมะ เวทัลละ. สงเคราะห์เข้าในธรรมขันธ์เล็กน้อย ในพระธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ ซึ่งท่านพระอานนท์คลังพระธรรมปฏิญญาไว้ดังนี้ ว่า
                         ทฺวาสีติ พุทฺธโต คณฺหึ    เทฺว สหสฺสานิ ภิกฺขุโต
                         จตุราสีติ สหสฺสานิ        เย เม ธมฺมา ปวตฺติโน
                         ธรรมเหล่าใดอันข้าพเจ้าให้เป็นไป ข้าพเจ้าเรียน
                         ธรรมเหล่านั้น จากพระพุทธองค์ ๘๒,๐๐๐ จาก
                         ภิกษุ [พระสารีบุตรเถระ] อีก ๒,๐๐๐ รวมเป็น
                         ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์.

               กล่าวโดยวรรคมี ๗ วรรค คือ ปีฐวรรค จิตตลตาวรรค ปาริฉัตตกวรรค มัญชิฏฐกวรรค มหารถวรรค ปายาสิวรรค สุนิกขิตตวรรค. กล่าวโดยเรื่อง วรรคที่ ๑ มี ๑๗ เรื่อง วรรคที่ ๒ มี ๑๑ เรื่อง วรรคที่ ๓ มี ๑๐ เรื่อง วรรคที่ ๔ มี ๑๒ เรื่อง วรรคที่ ๕ มี ๑๔ เรื่อง วรรคที่ ๖ มี ๑๐ เรื่อง วรรคที่ ๗ มี ๑๐ เรื่อง รวม ๘๕ เรื่อง ไม่นับอันตรวิมาน แต่นับด้วยก็มี ๑๒๓ เรื่อง. กล่าวโดยคาถามี ๑,๕๐๐ คาถา.
               บรรดาวรรคของวิมานวัตถุนั้น ปีฐวรรคเป็นวรรคต้น.
               บรรดาเรื่อง เรื่องปีฐวิมาน วิมานตั่งทองเป็นเรื่องต้น.
               แม้วิมานวัตถุนั้นมีคาถาว่า ปีฐนฺเต โสวณฺณมยํ เป็นคาถาต้น.

               ๑. อิตถิวิมานวัตถุ               
               ปีฐวรรควรรณนาที่ ๑               
               ๑. อรรถกถาปฐมปีฐวิมาน               
               แม้ปีฐวิมานเรื่องที่ ๑ ในปีฐวรรคที่ ๑ นั้นมีวัตถุปปัตติเหตุ เกิดเรื่องดังต่อไปนี้ :-
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกะ กรุงสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงถวายอสทิสทาน ๗ วันแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน. ท่านอนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐีก็ถวาย ๓ วันพอสมควรแก่อสทิสทานนั้น นางวิสาขามหาอุบาสิกาก็ถวายมหาทานเหมือนอย่างนั้น. ประวัติความเป็นไปแห่งอสทิสทาน ได้ปรากฏทั่วชมพูทวีป.
               ครั้งนั้น มหาชนยกเรื่องขึ้นพูดกันในที่นั้นๆ ว่า ทานจักมีผลมาก ด้วยการบริจาคสมบัติอันโอฬารอย่างนี้ หรือๆ จักมีผลมาก แม้ด้วยการบริจาคพอสมควรแก่ทรัพย์สมบัติของตน.
               ภิกษุทั้งหลายฟังคำนั้นแล้ว ก็กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทานมิใช่จักมีผลมาก ด้วยการถึงพร้อมแห่งไทยธรรมอย่างเดียว. ที่แท้ ทานจักมีผลมาก ก็ด้วยความถึงพร้อมแห่งจิตที่เลื่อมใส และด้วยความถึงพร้อมแห่งเขต [ทักขิไณยบุคคล] เพราะฉะนั้น ทานวัตถุเพียงสักข้าวกำมือหนึ่งก็ดี เพียงผ้าเก่าผืนหนึ่งก็ดี เพียงเครื่องลาดทำด้วยหญ้าก็ดี เพียงเครื่องลาดทำด้วยใบไม้ก็ดี เพียงสมอดองน้ำมูตรเน่าก็ดี บุคคลมีจิตเลื่อมใสแล้วตั้งไว้ในทักขิไณยบุคคล ทานแม้นั้นก็จักมีผลมาก รุ่งเรืองมาก แผ่ไพศาลมาก ดังนี้.
               จริงอย่างนั้น ท้าวสักกะจอมทวยเทพก็ตรัสคำเป็นคาถา ดังนี้ว่า
                         นตฺถิ จิตฺเต ปสนฺนมฺหิ    อปฺปิกา นาม ทกฺขิณา
                         ตถาคเต วา สมฺพุทฺเธ   อถาวา ตสฺส สาวเก
                         เมื่อจิตเลื่อมใสในพระตถาคตสัมพุทธเจ้า
                         หรือพระสาวกของพระสัมพุทธเจ้านั้น
                         ทักษิณาไม่ชื่อว่าน้อยเลย.
               ถ้อยคำนั้นได้แพร่ไปทั่วชมพูทวีป. มนุษย์ทั้งหลายพากันให้ทานตามสมควรแก่ทรัพย์สมบัติ แก่สมณพราหมณ์คนยากไร้ คนเดินทางไกล วณิพกและยาจกทั้งหลาย ตั้งน้ำดื่มไว้ที่ลานเคหะ ปูอาสนะไว้ที่ซุ้มประตู.
               สมัยนั้น พระเถระผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์เป็นวัตรรูปหนึ่ง มีอากัปกิริยาก้าวไปถอยกลับ เหลียวแล คู้แขนเหยียดแขน น่าเลื่อมใส ทอดจักษุลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ เที่ยวบิณฑบาต ก็มาถึงเรือนหลังหนึ่ง ในเวลาจวนแจ.
               ในเรือนหลังนั้น กุลธิดาผู้หนึ่งถึงพร้อมด้วยศรัทธาเห็นพระเถระ ก็เกิดความเคารพความนับถือมาก เกิดปีติโสมนัสอย่างโอฬาร จึงนิมนต์ให้ท่านเข้าไปยังเรือน ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ จัดตั่งของตน ปูผ้าเนื้อเกลี้ยงสีเหลืองบนตั่งนั้นถวาย. เมื่อพระเถระนั่งเหนือตั่งนั้นแล้ว นางคิดว่าบุญเขตสูงสุดนี้ปรากฏแก่เราแล้ว ก็มีจิตเลื่อมใสเลี้ยงดูด้วยอาหาร ตามสมควรแก่ทรัพย์สมบัติ ทั้งนางก็ถือพัดพัดถวาย.
               พระเถระฉันเสร็จแล้ว กล่าวธรรมีกถาประกอบด้วยทานมีถวายอาสนะ ถวายอาหารเป็นต้นแล้วก็ไป. สตรีผู้นั้นพิจารณาถึงทานของตนและธรรมกถานั้น อันปีติถูกต้องกำซาบไปทั่วเรือนร่าง จึงได้ถวายตั่งแม้นั้นแก่พระเถระ.
               สมัยต่อมาจากนั้น สตรีผู้นั้นเกิดโรคอย่างหนึ่งตาย ไปบังเกิดในวิมานทองขนาด ๑๒ โยชน์ ณ ภพดาวดึงส์ นางมีเทพอัปสร ๑,๐๐๐ เป็นบริวาร. ก็ด้วยอำนาจที่นางถวายตั่งเป็นทาน จึงบังเกิดบัลลังก์ [เตียง, ตั่ง, แท่น] ทอง ลอยไปในอากาศแล่นเร็ว ชั้นบนมีราชรถทรวดทรงดังเรือนยอด. ด้วยเหตุนั้น วิมานนี้จึงเรียกว่า ปีฐวิมาน.
               แท้จริง วิมานตั่งนั้นเป็นทองส่องให้เห็นความเหมาะสมกับกรรม เพราะนางลาดผ้าสีทองถวาย ชื่อว่าแล่นไปเร็ว เพราะกำลังปีติแรง ชื่อว่าไปได้ตามชอบใจ เพราะนางถวายแก่ทักขิไณยบุคคลโดยจิตชอบ ได้ชื่อว่าประกอบด้วยความงดงาม น่าเลื่อมใสพร้อมสรรพ เพราะสมบัติคือความเลื่อมใสโอฬาร.
               ต่อมาวันมหรสพวันหนึ่ง เมื่อเทวดาทั้งหลายพากันไปสวนนันทนวัน เพื่อเล่นกรีฑาในอุทยาน ด้วยอานุภาพอันเป็นทิพย์ของตนๆ เทวดาองค์นั้นทรงนุ่งผ้าทิพย์ประดับด้วยทิพยาภรณ์ มีเทพอัปสร ๑,๐๐๐ เป็นบริวารก็ออกจากภพของตน ขึ้นสู่วิมานตั่งนั้น ส่องแสงสว่างดั่งดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์โดยรอบ ด้วยเทวฤทธิ์ยิ่งใหญ่ด้วยสิริโสภาคย์ตระการไปยังอุทยาน.
               ก็สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเที่ยวเทวจาริกไปโดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลัง เข้าไปยังภพดาวดึงส์ แสดงองค์ไม่ไกลจากเทวดาองค์นั้น. เทวดาองค์นั้นเห็นท่านก็มีความเลื่อมใสมีความเคารพมีกำลังพรั่งพร้อม จึงรีบลงจากบัลลังก์เข้าไปหาพระเถระ กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วยืนนมัสการประคองอัญชลีอันรุ่งเรืองด้วยทศนัขสโมธาน [ชุมนุม ๑๐ นิ้ว].
               พระเถระเห็นประจักษ์ถึงกุศลและอกุศลตามที่เทวดาองค์นั้นและสัตว์เหล่าอื่นสั่งสมไว้ ด้วยความแตกฉานแห่งกำลังปัญญา โดยอานุภาพแห่งยถากัมมูปคญาณ [ญาณที่รู้ถึงสัตว์ทั้งหลายเข้าถึงภพนั้นๆ ตามกรรม] ของท่าน เหมือนผลมะขามป้อมที่วางไว้บนฝ่ามือ ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น เพราะเหตุที่ปัญญาทบทวนเฉพาะภพในอดีต และกรรมตามที่สั่งสมไว้ ส่วนมากสำเร็จโดยธรรมดาแก่เทวดาทั้งหลายในลำดับอุปปัตติภพเท่านั้นว่า เราจุติจากไหนหนอจึงอุบัติในภพนี้ เราทำกุศลกรรมอะไรหนอจึงได้สมบัตินี้ และญาณย่อมเกิดแก่เทวดานั้นตามเป็นจริง ฉะนั้น พระเถระประสงค์จะให้เทวดาองค์นั้น กล่าวกรรมที่ทำไว้แล้ว กระทำผลกรรมให้ประจักษ์แก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก
               จึงถามว่า
                                   ดูก่อนเทพธิดา ผู้ประดับองค์ ทรงมาลัยดอกไม้
                         ทรงพัสตราภรณ์สวยงาม วิมานตั่งทองของท่านโอฬาร
                         เร็วดังใจ ไปได้ตามปรารถนา ท่านส่องแสงประกาย
                         ดังสายฟ้าแลบลอดหลืบเมฆ
                                   เพราะบุญอะไร วรรณะของท่านจึงเป็นเช่นนี้
                         เพราะบุญอะไร ผลนี้จึงสำเร็จแก่ท่าน และโภคะทุกอย่าง
                         ที่น่ารัก จึงเกิดแก่ท่าน
                                   ดูก่อนเทพี ผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามท่าน
                         ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ท่านทำบุญอะไร เพราะบุญอะไร
                         ท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และวรรณะของท่านจึง
                         สว่างไสวไปทุกทิศ.
                                   เทวดานั้นดีใจ ถูกท่านพระโมคคัลลานะถาม
                         ครั้นแล้วจึงพยากรณ์ปัญหาของกรรมที่มีผลอย่างนี้ว่า
                                   ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ในหมู่มนุษย์ ดีฉันได้ถวาย
                         อาสนะแก่เหล่าภิกษุที่มาถึง [เรือน] ได้กราบไหว้ได้ทำ
                         อัญชลี [ประนมมือ] และได้ถวายทานตามกำลัง
                                   เพราะบุญนั้น วรรณะของดีฉันจึงเป็นเช่นนี้
                         เพราะบุญนั้น ผลนี้จึงสำเร็จแก่ดีฉัน และโภคะทุกอย่าง
                         ที่น่ารัก จึงเกิดแก่ดีฉัน
                                   ข้าแต่ท่านภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดีฉันขอบอก
                         แก่ท่าน ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ดีฉันได้ทำบุญอันใดไว้
                         เพราะบุญอันนั้น ดีฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้
                         และวรรณะของดีฉันจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.

               อธิบายคำว่า ปีฐะ               
               ท่อนไม้ก็ดี อาสนะก็ดี ตั่งที่ทำด้วยเถาวัลย์ก็ดี อาสนะที่ทำด้วยหวายก็ดี อาสนะที่ทำด้วยไม้เป็นต้นซึ่งมีชื่อแปลกออกไปมีมสารกะ เตียงที่มีแคร่สอดเข้ากับขาเป็นต้นก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นชื่อว่าปีฐะ ตั่ง ในคาถานั้น.
               จริงอย่างนั้น ท่อนไม้มีปีฐะเป็นต้นพอวางเท้าได้ เรียกว่าปีฐะ ได้ในบาลีนี้ว่า ปาทปีฐํ เขียงเท้า ปาทกฐสิกา กระเบื้องรองเท้า. ท่อนไม้ที่พอมือจับได้ เรียกว่าปีฐะ ได้ในบาลีนี้ว่า ปีฐสปฺปิ คนเปลี้ย. ส่วนอาสนะ โดยโวหารท้องถิ่นในชนบทบางแห่งเรียกว่า ปีฐิกา ที่สำหรับทำพลีกรรมเทวดาทั้งหลาย เรียกว่าปีฐะ ได้ในบาลีนี้ว่า ภูตปีฐิกา ตั่งเซ่นภูตผี เทวกุลปีฐิกา ตั่งสังเวยเทวดา. อาสนะที่เขาสร้างขึ้นด้วยหวายและเถาวัลย์เป็นต้น เรียกว่าปีฐะ ได้ในบาลีนี้ว่า ภทฺทปีฐํ ภัทรบิฐ เก้าอี้ [หวาย] ท่านหมายถึงจึงกล่าวไว้ว่า ภทฺทปีฐํ อุปาทยิ ทำภัทรบิฐให้เกิดขึ้น. อาสนะที่ทำด้วยไม้เป็นต้น ต่างโดยเป็นเตียงสอดแคร่เข้ากับขาเป็นต้น เรียกว่า ปีฐะ ได้ในบาลีเป็นอาทิว่า สุปญฺญตฺตํ มญฺจปีฐํ เตียงตั่งที่จัดไว้ดีแล้ว และว่า มญฺจํ วา ปีฐํ วา การยมาเนน ใช้ให้เขาทำเตียงหรือตั่ง.
               ส่วนในที่นี้ พึงทราบว่า วิมานทองขนาด ๑ โยชน์บังเกิดด้วยบุญญานุภาพของเทวดา ตั้งอยู่โดยอาการคล้ายบัลลังก์ [เตียง, ตั่ง, แท่น].
               ในบทว่า เต เตศัพท์มาในอรรถปฐมาวิภัตติพหุวจนะ โดยเป็นตศัพท์ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า น เต สุขํ ปชานนฺติ เย น ปสฺสนฺติ นนฺทนํ ชนเหล่าใดไม่เห็นสวนนันทนวัน ชนเหล่านั้น ชื่อว่าไม่รู้จักสุข.
               มาในอรรถจตุตถีวิภัตติ โดยเป็นตุมฺหศัพท์ อธิบายว่า แด่ท่าน ได้ในบาลีเป็นต้นว่า
                                                  นโม เต ปุริสาชญฺญ
                                                  นโม เต ปุริสุตฺตม
                                                  นโม เต พุทฺธวีรตฺถุ
                         ท่านบุรุษอาชาไนย ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์
                         ท่านผู้เป็นบุรุษสูงสุด ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์
                         ท่านพุทธะผู้แกล้วกล้า ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์.

               มาในอรรถตติยาวิภัตติ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า กินฺเต ทิฏฺฐํ กินฺติ เต สุตํ ท่านเห็นอะไร ท่านฟังมาว่าอะไร และว่า อุปธี เต สมติกฺกนฺตา อาสวา เต ปทาลิตา อุปธิกิเลสทั้งหลาย ท่านก็ก้าวล่วงเสียแล้ว อาสวะทั้งหลาย ท่านก็ทำลายได้แล้ว.
               มาในอรรถฉัฏฐีวิภัตติ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า กินฺเต วตฺตํ กึ ปน พฺรหฺมจริยํ อะไรเป็นวัตรของท่าน ก็อะไรเป็นพรหมจรรย์.
               ส่วนในที่นี้ เตศัพท์พึงเห็นว่าใช้ในอรรถฉัฏฐีวิภัตติ. อธิบายว่า ของท่าน.
               ในบทว่า โสวณฺณมยํ นี้ สุวัณณศัพท์มาในอรรถว่า ความถึงพร้อมแห่งผิว ได้ในบาลีเป็นต้นอย่างนี้ว่า สุวณฺโณ ทุพฺพณฺเณ สุคเต ทุคฺคเต ผิวสวย ผิวทราม มั่งมี ยากจน และว่า สุวณฺณตา สุสรตา ความมีผิวสวย ความมีเสียงไพเราะ.
               มาในอรรถว่า ครุฑ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า กากํ สุวณฺณา ปริวารยนฺติ ครุฑทั้งหลายห้อมล้อมกา.
               มาในอรรถว่า ทอง ได้ในบาลีเป็นต้นว่า กสุวณฺณเวณฺโณ กาญฺจนสนฺนิภตโจ มีผิวดังทอง มีหนังเปล่งปลั่งดังทอง.
               แม้ในที่นี้ สุวัณณศัพท์พึงเห็นว่าใช้ในอรรถว่า ทอง อย่างเดียว.
               จริงอยู่ วิมานตั่งนั้น ท่านเรียกว่าทอง เพราะมีสีงาม เหตุมีสีเสมอพระพุทธะทั้งหลาย. ทองนั่นแล ชื่อว่าโสวัณณะ เหมือนคำว่า เวกตะ และเวสมะ [วิกตสฺส ภาโว เวกตํ วิสมสฺส ภาโว เวสมํ].
               ส่วนมยศัพท์มาในอรรถว่า อสฺม มี เป็น ได้ในบาลีเป็นต้นว่า อนุญฺญาตปฏิญฺญาตา เตวิชฺชา มยมสฺมุโภ [มยํ อสฺม อุโภ] เราทั้งสองมีวิชชา ๓ เป็นผู้ปฏิญญาตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับรอง.
               มาในอรรถว่าบัญญัติรับรู้กัน ได้ในบาลีนี้ว่า มยํ นิสฺสาย เหมาย ชาตมณฺโฑ ทรี สุภา ซอกเขาเกิดสดใสเป็นทอง งดงาม เพราะอาศัยหิน [ศิลา].
               มาในอรรถว่าบังเกิด ได้ในบาลีนี้ว่า มโนมยา ปีติภกฺขา สยมฺปภา เกิดโดยใจมีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีในตัวเอง พรหมเว้นปัจจัยภายนอกเสีย ก็บังเกิดทางใจอย่างเดียว เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สำเร็จด้วยใจ.
               มาในอรรถว่าวิการ ทำให้แปลก ได้ในบาลีเป็นต้นว่า ยนฺนูนาหํ สามํ จิกฺขลฺลํ มทฺทิตฺวา สพฺพมตฺติกามยํ กุฏิกํ กเรยฺยํ ถ้ากระไร เราพึงขยำโคลน สร้างกุฎี ทำด้วยดินล้วนเสียเอง.
               มาในอรรถว่าบทบูรณ์ ทำบทให้เต็ม ได้ในบาลีเป็นต้นว่า ทานมยํ สำเร็จด้วยทาน สีลมยํ สำเร็จด้วยศีล.
               แม้ในที่นี้ มยศัพท์ก็พึงเห็นว่า ใช้ในอรรถว่าทำให้แปลก หรือในอรรถว่าทำบทให้เต็ม.
               ก็เมื่อใด มยศัพท์มีความดังนี้ว่า ปีฐวิมานบังเกิดด้วยทอง ชื่อว่าโสวัณณมัย เกิดด้วยทอง. เมื่อนั้นก็พึงเห็นว่า มยศัพท์ใช้ในอรรถว่าทำให้แปลก ว่าวิการ ทำให้แปลก [ทำรูปพรรณต่างๆ] ด้วยทอง ชื่อว่าโสวัณณมัย. จะกล่าวว่า ใช้ในอรรถบังเกิดดังนี้บ้าง ก็ควรทั้งนั้น.
               ก็เมื่อใดมีอรรถดังนี้ว่า บังเกิดด้วยทอง ชื่อว่าโสวัณณะ เมื่อนั้นก็พึงเห็นว่ามยศัพท์ ใช้ในอรรถว่าทำบทให้เต็มดังนี้ว่า ทองนั่นแหละ ชื่อว่าโสวัณณมัย.
               บทว่า อุฬารํ แปลว่า ประณีตก็ได้ ประเสริฐก็ได้ ใหญ่ก็ได้.
               จริงอยู่ อุฬารศัพท์ มาในอรรถว่าประณีต ได้ในบาลีเป็นต้นว่า๑- ย่อมบรรลุ คุณพิเศษอันประณีต อื่นจากคุณพิเศษก่อน.
               มาในอรรถว่าประเสริฐ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า๒- เขาว่าท่านกัจจายนพราหมณ์สรรเสริญพระสมณโคดม ด้วยการสรรเสริญอย่างประเสริฐ.
____________________________
๑- ปุพฺเพนาปรํ อุฬารํ วิเสสํ อธิคจฺฉติ.
๒- อุฬาราย ภวํ กจฺจายโน สมณโคตมํ ปสํสาย ปสํสติ.

               มาในอรรถว่าใหญ่ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า อุฬารโภคา โภคะใหญ่ อุฬารยสา ยศใหญ่และว่า โอฬาริกํ อันใหญ่.
               ก็วิมานแม้นั้น ชื่อว่าประณีต เพราะอรรถว่ากระทำความไม่อิ่มสำหรับผู้ใช้สอย โดยความฟูปลื้มใจ ชื่อว่าประเสริฐ เพราะถูกสรรเสริญโดยภาวะมีความเป็นวิมานที่น่าเลื่อมใสโดยรอบเป็นต้น ชื่อว่าใหญ่ เพราะใหญ่โดยขนาดและเพราะมีค่ามาก.
               วิมานอันโอฬารกล่าวกันว่า โอฬารอย่างเดียว ด้วยอรรถแม้ ๓ อย่างแล.
               จิต ชื่อว่า มโน ใจ ในบทว่า มโนชวํ นี้.
               ก็หากว่า มโนศัพท์ กล่าวทั่วๆ ไป ก็สำหรับจิตที่เป็นกุศล อกุศลและอัพยากฤต แม้ทุกดวง. แต่ก็พึงทราบโดยเป็นจิตสำเร็จมาแต่กิริยา ที่เป็นไปในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะท่านกล่าวว่า มโนชวํ เพราะฉะนั้น วิมานทอง ชื่อว่ามโนชวะ เพราะเร็วดังใจ เหมือนคำว่า โอฏฺฐมุโข ปากมีฝีปาก [พูดได้คล่อง] อธิบายว่า ไปเร็วเหลือเกิน.
               จริงอยู่ ใจย่อมตกไปในอารมณ์แม้ไกลนักหนาได้ฉับพลันทีเดียว เพราะเป็นไปรวดเร็ว. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามองไม่เห็นธรรมแม้แต่อย่างหนึ่งอันอื่น ซึ่งเป็นไปรวดเร็วเหมือนอย่างจิตนี้เลย ภิกษุทั้งหลาย และว่าจิตไปได้ไกล ไปดวงเดียว ดังนี้.
               บทว่า คจฺฉติ ได้แก่ ไปทางอากาศจากวิมานที่อยู่ของเทวดาองค์นั้น ตรงไปยังอุทยาน.
               ในบทว่า เยน กามํ นี้ กามศัพท์มาในอรรถว่าอารมณ์มีรูปเป็นต้นที่น่าพอใจ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า กามา หิ วิจิตฺรา มธุรา มโนรมา วิรูปรูเปน มเถนฺติ จิตฺตํ แท้จริง กามทั้งหลายงดงาม หวานชื่น ระรื่นใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยรูปแปลกๆ.
               มาในอรรถว่าฉันทราคะ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า ฉนฺโท กาโม ฉันทะเป็นกาม ราโค กาโม ราคะเป็นกาม ได้แก่กิเลสกาม.
               มาในอรรถว่าโลภะ ความอยากได้ทุกอย่าง ได้ในบาลีเป็นต้นว่า กามุปาทานํ ยึดกามความอยากได้.
               มาในอรรถว่าคามธรรม ธรรมของชาวบ้าน ได้ในบาลีเป็นต้นว่า อตฺตกามปาริจริยาย วณฺณํ ภาเสยฺย สรรเสริญการบำเรอกามด้วยตนเอง.
               มาในอรรถว่าหิตฉันทะ ความพอใจในประโยชน์เกื้อกูล ได้ในบาลีเป็นต้นว่า สนฺเตตฺถ ตโย กุลปุตฺตา อตฺตกามรูปา วิหรนฺติ มีกุลบุตร ๓ คนในที่นั้น มีความพอใจในประโยชน์ตนอยู่.
               มาในอรรถว่าเสรีภาพอยู่โดยอำเภอใจ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า อตฺตาธีโน อปราธีโน ภุชิสฺโส เยน กามงฺคโม มีตนเป็นใหญ่ [คือพึ่งตนเอง] ไม่มีคนอื่นเป็นใหญ่ [คือไม่พึ่งคนอื่น] เป็นไท ไปได้ตามปรารถนา
               แม้ในที่นี้ กามศัพท์พึงเห็นว่า ใช้ในอรรถว่าเสรีภาพเท่านั้น. เพราะฉะนั้น บทว่า เยน กามํ จึงแปลว่า ตามความปรารถนา. อธิบายว่า ความสมควรแก่ความปรารถนาของเทวดา.
               บทว่า อลงฺกเต แปลว่า แต่งองค์แล้ว. อธิบายว่า มีเรือนร่างประดับด้วยอาภรณ์ทิพย์ มีภาระประมาณ ๖๐ เล่มเกวียน ต่างโดยเป็นเครื่องประดับมือประดับเท้าเป็นต้น รุ่งเรืองด้วยข่ายรัศมีต่างๆ อย่างและรุ่งโรจน์ด้วยรัตนะหลายชนิด.
               คำนี้เป็นเอกวจนะใช้ในอรรถสัมโพธนะ [สํสกฤตใช้ มคธใช้อาลปนะเป็นวิเสสนะของเทวธีเต ในคาถา].
               บทว่า มาลยธเร ได้แก่ สวมมาลัยดอกไม้ เพราะมีเกศและหัตถ์เป็นต้นตกแต่งดีแล้วด้วยดอกไม้ทิพย์ อันงดงามด้วยกลุ่มช่อคลี่ขยายรุ่งโรจน์โดยรอบ มีกลีบช่อและเกสรทำด้วยทองบริสุทธิ์ดี และรัตนะต่างๆ เกิดแต่ต้นกัลปพฤกษ์ต้นปาริฉัตตกะ และเถาสันตานกลดาเป็นต้น.
               บทว่า สุวตฺเถ ได้แก่ มีพัสตราภรณ์อันงาม โดยเป็นผ้าทิพย์ มีเครื่องปกปิดคือผ้านุ่งและผ้าห่มเป็นต้น มีรัศมีของผู้มีแสงสว่างอันบริสุทธิ์ดี มีหลากสีด้วยเครื่องย้อมต่างๆ เกิดแต่กัลปพฤกษ์และลดา.
               บทว่า โอภาสสิ แปลว่า ส่องสว่าง.
               บทว่า วิชฺชุริว แปลว่า คล้ายฟ้าแลบ.
               บทว่า อพฺภกูฏํ ได้แก่ ยอดเมฆ.
               ก็คำนี้เป็นทุติยาวิภัตติ ใช้ในอรรถสัตตมีวิภัตติ อีกนัยหนึ่ง คำว่า โอภาสสิ เป็นคำกล่าวอรรถ เพราะเหตุที่อยู่ภายใน. อธิบายว่า ส่องสว่าง. คำว่า อพฺภกูฏํ ในฝ่ายนี้ พึงเห็นว่า เป็นทุติยาวิภัตติ ใช้ในอรรถทุติยาวิภัตติเท่านั้น.
               ก็ในข้อนี้ มีความดังนี้ว่า
               ยอดเขาแดงฉาบด้วยแสงสนธยา แม้ตามปกติก็ส่องสว่างอยู่ สายฟ้าที่รุ่งโรจน์อยู่โดยรอบ ก็แลบส่องสว่างโดยพิเศษฉันใด วิมานนี้รุ่งเรืองด้วยรัตนะต่างๆ อันสำเร็จมาแต่ทองอันบริสุทธิ์ดี มีรัศมีซ่านออกอยู่โดยปกติ ตัวท่านประดับด้วยอลังการทุกอย่าง ก็ส่องแสงสว่างโดยพิเศษด้วยรัศมีเรือนร่างของท่าน และแสงประกายแห่งพัสตราภรณ์อันโชติช่วงโดยประการทั้งปวงก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ก็ในปฐมปีฐวิมานนี้ คำว่า ปีฐํ นี้ เป็นคำกล่าวถึงข้อที่พึงชี้แจง.
               คำว่า อพฺภกูฏํ เป็นคำกล่าวถึงตัวอย่าง.
               คำว่า เต ก็อย่างนั้น เป็นคำกล่าวถึงข้อที่พึงชี้แจง.
               แท้จริง คำนั้น ท่านเพ่งคำว่า ปีฐํ นี้ แม้กล่าวเป็นฉัฏฐีวิภัตติ ครั้นเพ่งบทเหล่านี้คือ อลงฺกเต มาลฺยธเร สุวตฺเถ โอภาสสิ ก็เปลี่ยนไปเป็นปฐมาวิภัตติ เพราะฉะนั้น ท่านจึงอธิบายว่า ตฺวํ ท่าน. คำว่า วิชฺชุริว เป็นคำกล่าวยกตัวอย่าง.
               คำว่า โอภาสสิ นี้ เป็นคำแสดงถึงความเกี่ยวกันของข้ออุปไมย และอุปมาแม้ทั้งสอง.
               จริงอยู่ คำว่า โอภาสสิ นี้ ท่านเพ่งบทว่า ตฺวํ จึงกล่าวไว้เป็นมัธยมบุรุษ ครั้นเพ่งบทว่า ปีฐํ จึงเปลี่ยนไปเป็นประถมบุรุษ. ส่วน ศัพท์ในคำนี้พึงเห็นว่า ท่านลบแล้วแสดงไว้. คำว่า คจฺฉติ เยน กามํ โอภาสสิ และ วิชฺชุลโตภาสิตํ อพฺภกูฏํ วิย นี้เป็นทุติยาวิภัตติ เปลี่ยนไปเป็นปฐมาวิภัตติ.
               คำว่า ปิฐํ นี้ก็อย่างนั้น เป็นคำกล่าวถึงข้อที่พึงขยายคำว่า เต โสวณฺณมยํ อุฬารํ เป็นต้น เป็นวิเสสนะคำขยายของคำว่า ปีฐํ นั้น.
               ถามว่า ก็ท่านกล่าวว่า โสวณฺณมยํ ไว้แล้ว ไม่น่ากล่าวว่า อุฬารํ เพราะทองเป็นของประเสริฐสุดอยู่แล้ว เหตุเป็นโลหะอันเลิศ และเพราะเป็นทิพย์ ท่านก็ประสงค์เอาแล้วในที่นี้ มิใช่หรือ.
               ตอบว่า ไม่ใช่ เพราะสิ่งไรๆ ก็มีสภาพวิเศษ.
               เหมือนอย่างว่า ทองมีรส [น้ำ] รุ้งร่วงเป็นประเสริฐสุด บริสุทธิ์ดีโดยเป็นทองรูปพรรณหลายชนิด อันเป็นเครื่องใช้สอยของมนุษย์ แต่นั้น ก็เกิดเป็นอากร [บ่อเกิด] จากนั้น ทองทุกชนิดก็เป็นของทิพย์ของประเสริฐสุดฉันใด ก็ฉันนั้น แม้เพราะเป็นทองทิพย์ ก็เป็นทอง จามีกร ทองคำจากทองจามีกรก็เป็นทองสาตกุมภะ จากทองสาตกุมภะ ก็เป็นทองชมพูนท จากทองชมพูนท ก็เป็นทองสิงคี. ทองสิงคีนั้นแลประเสริฐสุดแห่งทองทุกชนิด.
               ด้วยเหตุนั้น ท้าวสักกะจอมทวยเทพจึงกล่าวว่า
                         มุตฺโต มุตฺเตหิ สห ปุราณชฏิเลหิ
                         วิปฺปมุตฺโต วิปฺปมุตฺเตหิ
                         สิงฺคีนิกฺขสวณฺโณ
                         ราชคหํ ปาวิสิ ภควา

                  พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พ้นแล้วกับเหล่าปุราณชฎิลผู้พ้นแล้ว
                  พระผู้หลุดพ้นแล้วกับเหล่าปุราณชฎิลผู้หลุดพ้นแล้ว ทรงมี
                  พระฉวีวรรณเสมอด้วยแท่งทองสิงคี เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์.

               เพราะฉะนั้น ท่านพระโมคคัลลานะแม้กล่าวว่า โสวณฺณมยํ ก็ยังกล่าวว่า อุฬารํ.
               อนึ่งเล่า คำว่า อุฬารํ นี้ก็มิใช่ท่านกล่าวหมายถึงความที่วิมานนั้นประเสริฐสุดและประณีตเท่านั้น ที่แท้ยังมีความที่ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า ทั้งใหญ่ด้วย.
               ก็ในปีฐวิมานนี้ คำว่า ปีฐํ เป็นต้นเป็นคำแสดงความที่ผลพึงเห็นสมกับกรรม. แม้อย่างนั้น พระเถระก็แสดงว่าวิมานนั้นถึงพร้อมแห่งวัตถุด้วยบทว่า โสวณฺณมยํ นี้. แสดงว่า วิมานนั้นถึงพร้อมด้วยความงามอย่างยิ่งด้วยบทว่า อุฬารํ นี้. แสดงว่า วิมานนั้นถึงพร้อมด้วยการไปด้วยบทว่า มโนชวํ นี้. แสดงว่า วิมานนั้นถึงพร้อมด้วยสมบัติแห่งตั่ง เหตุที่แล่นได้รวดเร็ว ด้วยบทว่า คจฺฉติ เยน กามํ นี้.
               อีกนัยหนึ่ง พระเถระแสดงว่าวิมานนั้นประณีต ด้วยบทว่า โสวณฺณมยํ นี้. แสดงว่า วิมานนั้นใหญ่โดยกว้างด้วยบทว่า อุฬารํ นี้. แสดงว่า วิมานนั้นใหญ่โดยอานุภาพด้วยบทว่า มโนชวํ นี้. แสดงว่า วิมานนั้นอยู่สบายด้วยบทว่า คจฺฉติ เยน กามํ นี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระเถระแสดงว่า วิมานนั้นสะสวยและมีสีงามด้วยบทว่า โสวณฺณมยํ นี้. แสดงว่า วิมานนั้นน่าดู น่าเลื่อมใส ด้วยบทว่า อุฬารํ นี้. แสดงว่า วิมานนั้นถึงพร้อมด้วยความเร็วด้วยบทว่า มโนชวํ นี้. แสดงว่า วิมานนั้นไปได้ไม่ขัดข้องในที่ไหนๆ ด้วยบทว่า คจฺฉติ เยน กามํ นี้.
               อีกนัยหนึ่ง วิมานนั้นเป็นผลหลั่งออกแห่งบุญกรรมอันใด เพราะบุญกรรมนั้นเป็นผลของอโลภะ จึงชื่อว่าสำเร็จด้วยทอง เพราะเป็นผลแห่งอโทสะ จึงชื่อว่าโอฬาร เพราะเป็นผลแห่งอโมหะ จึงชื่อว่าเร็วดังใจไปได้ตามปรารถนา. โดยทำนองอย่างนั้น วิมานนั้น ชื่อว่าสำเร็จด้วยทอง ก็เพราะกรรมนั้นเป็นผลแห่งศรัทธา. ชื่อว่าโอฬาร เพราะเป็นผลแห่งปัญญา. ชื่อว่าเร็วดังใจ เพราะเป็นผลแห่งวิริยะ. ชื่อว่าไปได้ตามปรารถนา เพราะเป็นผลแห่งสมาธิ. หรือพึงทราบว่า ชื่อว่าสำเร็จด้วยทอง เพราะเป็นผลแห่งศรัทธากับสมาธิ. ชื่อว่าโอฬาร เพราะเป็นผลแห่งสมาธิกับปัญญา. ชื่อว่ามโนชวะ เร็วดังใจ เพราะเป็นผลแห่งสมาธิกับวิริยะ. ชื่อว่าไปได้ตามปรารถนา เพราะเป็นผลแห่งสมาธิกับสติ.
               ในปีฐวิมานนั้น คำว่า ปีฐํ เป็นต้นเป็นคำระบุถึงความถึงพร้อมแห่งสมบัติอันเป็นผลแห่งบุญของเทวดานั้น โดยแสดงถึงสมบัติคือวิมานฉันใด คำว่า อลงฺกเต เป็นต้น ก็ระบุถึงความถึงพร้อมแห่งสมบัติอันเป็นผลแห่งบุญ โดยแสดงสมบัติคืออัตภาพก็ฉันนั้น.
               เหมือนอย่างว่า อัตภาพมีทองสีแดงเป็นเครื่องประดับ แม้ศิลปาจารย์ผู้ชำนาญประดิษฐ์แล้ว ขจิตด้วยมณีรัตนะอันรุ่งเรืองด้วยข่ายมีรัศมีต่างๆ ย่อมงดงาม มิใช่งดงามอย่างเดียวฉันใด อัตภาพที่พรั่งพร้อมทั่วสรรพางค์แม้งามโดย ๔ แง่ อันเขาประดับดีสดใสแล้วเทียว ย่อมงดงาม มิใช่งดงามอย่างเดียวก็ฉันนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระเถระจึงแสดงความงดงามอย่างวิเศษอันนำมาของเทวดานั้น ด้วยบทว่า อลงฺกเต นี้ แสดงความงดงามวิเศษอันไม่นำมา ด้วยบทว่า โอภาสสิ นี้. โดยทำนองอย่างนั้น พระเถระแสดงความงดงามอย่างยิ่งที่มีปัจจัยอันเป็นไปอยู่ [ปัจจุบัน] เป็นเครื่องหมาย ด้วยบทต้น ที่มีปัจจัยล่วงแล้ว [อดีต] เป็นเครื่องหมาย ด้วยบทหลัง หรือว่า พระเถระแสดงว่า เทวดานั้นถึงพร้อมด้วยวัตถุเครื่องใช้สอย ด้วยบทต้น แสดงว่า เทวดานั้นถึงพร้อมด้วยวัตถุของผู้ใช้สอย ด้วยบทหลัง.
               ในเรื่องนี้ ถามว่า ก็วิมานนั้นเป็นพาหะที่เทียมสัตว์ หรือเป็นพาหะที่ไม่เทียมสัตว์.
               ตอบว่า แม้หากว่า ในเทวโลก รถวิมานทั้งหลาย แม้ก็เป็นพาหะเทียมสัตว์ เพราะบาลีเป็นต้นว่า สหสฺสยุตฺตํ อาชญฺญรถํ รถม้าเทียมม้า ๑,๐๐๐ ตัว. แต่เหล่านั้นเป็นเทพบุตรทั้งนั้น แสดงตัวโดยรูปเป็นพาหะในเวลาทำกิจ [หน้าที่] เหมือนเอราวัณเทพบุตรแสดงตัวโดยรูปเป็นช้าง ในเวลาเล่นกีฬา. ก็วิมานนี้ และวิมานเช่นนี้อันอื่น พึงเห็นได้ว่า เป็นพาหะที่ไม่เทียมสัตว์.
               ถามว่า หากว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัจจัยพิเศษในอันเคลื่อนไหวด้วยวาโยธาตุ มีในภายในวิมานนั้นเองหรือภายนอก.
               ตอบว่า พึงถือว่าภายใน เหมือนอย่างว่า วงลมพายุใหญ่เร็วจัดอันบังเกิดเพราะกรรมทั่วๆ ไป ของสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เป็นต้นเป็นอยู่ พัดเบียดเบียนดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เป็นต้นเหล่านั้น ให้เคลื่อนไปในที่อื่นเสียฉันใด วาโยธาตุภายนอกที่พัดเบียดเบียนวิมานนั้นฉันนั้น ก็หาไม่.
               อนึ่ง เปรียบเหมือนจักรรัตนะ หมุนไปโดยอำนาจวาโยธาตุที่ตั้งขึ้นภายใน แต่วาโยธาตุภายนอก แห่งจักรรัตนะนั้น เหมือนดวงจันทร์เป็นต้น เบียดเบียนแล้วพัดไป ก็หาไม่ เพราะจักรรัตนะหมุนไปโดยอำนาจจิตของพระเจ้าจักรพรรดิ ในลำดับพระดำรัสเป็นต้นว่า ท่านจักรรัตนะจงหมุนไปดังนี้ฉันใด พึงเห็นว่า วิมานไปได้ด้วยวาโยธาตุที่อาศัยตน โดยอำนาจจิตของเทวดานั้นเท่านั้นก็ฉันนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า เร็วดังใจไปได้ตามปรารถนา ดังนี้.
               พระเถระครั้นระบุสมบัติอันเป็นผลบุญของเทวดานั้น ในคาถาที่ ๑ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะประกาศบุญสัมปทาอันเป็นเหตุแห่งสมบัตินั้น จึงกล่าว ๒ คาถาว่า เกน เต ตาทิโส วณฺโณ เป็นต้น.
               ในคาถานั้น กึศัพท์ในบทว่า เกน มาในอรรถว่าติเตียน ได้ในบาลีเป็นต้นว่า กึ ราชา โย โลกํ น รกฺขติ ผู้ใดไม่รักษาโลก ผู้นั้นเป็นพระราชาได้อย่างไร. กึ นุ โข นาม ตุมฺเห มํ วตฺตพฺพํ มญฺญถ เธอทั้งหลายจะสำคัญเราว่าควรกล่าวคำชื่อไรเล่าหนอ.
               มาในอรรถไม่แน่นอน ได้ในบาลีเป็นต้นว่า ยงฺกิญฺจิ รูปํ อตีตานาคตปจฺจุปฺปนฺนํ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบัน.
               มาในอรรถคำถาม ได้ในบาลีเป็นต้นว่า กึสูธ วิตฺตํ ปุริสสฺส เสฏฺฐํ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอะไรเล่า ชื่อว่าประเสริฐสุดสำหรับบุรุษ.
               แม้ในที่นี้ กึศัพท์ก็พึงเห็นว่าใช้ในอรรถคำถาม.
               บทว่า เกน เป็นตติยาวิภัตติ ใช้ในอรรถว่าเหตุ. อธิบายว่า เพราะบุญอะไร.
               บทว่า เต แปลว่า ของท่าน.
               บทว่า เอตาทิโส แปลว่า เช่นนี้. อธิบายว่า ตามที่เห็นอยู่ในบัดนี้.
               วัณณศัพท์ ในบทว่า วณฺโณ มาในอรรถว่าคุณ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า กทา สญฺญุฬฺหา ปน เต คหปติ อิเม สมณสฺส โคตมสฺส วณฺณา ดูก่อนคฤหบดี คุณเหล่านี้ของพระสมณโคดม ท่านรวบรวมไว้เมื่อไร.
               มาในอรรถว่าสรรเสริญ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า อเนกปริยาเยน พุทฺธสฺส วณฺณํ ภาสติ ธมฺมสฺส วณฺณํ ภาสติ สงฺฆสฺส วณฺณํ ภาสติ สรรเสริญพระพุทธเจ้า สรรเสริญพระธรรม สรรเสริญพระสงฆ์มากปริยาย.
               มาในอรรถว่าเหตุ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า อถ เกน นุ วณฺเณน คนฺธเถโนติ วุจฺจติ เพราะเหตุไรเล่า จึงเรียกว่า คนขโมยกลิ่น.
               มาในอรรถว่าประมาณ [จำนวน] ได้ในบาลีเป็นต้นว่า ตโย ปตฺตสฺส วณฺณา บาตรประมาณ [จำนวน] ๓ บาตร.
               มาในอรรถว่าชาติ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า จตฺตาโร เม โภ โคตม วณฺณา ท่านพระโคดม ชาติของเรามี ๔.
               มาในอรรถว่าทรวดทรง ได้ในบาลีเป็นต้นว่า มหนฺตํ หตฺถิราชวณฺณํ อภินิมฺมิตฺวา เนรมิตทรวดทรงเป็นพญาช้างใหญ่.
               มาในอรรถว่าผิวพรรณ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า สุวณฺณวณฺโณสิ ภควา สุสุกฺกทาโฐสิ วิริยวา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์มีผิวพรรณดังทอง ข้าแต่ท่านผู้บำเพ็ญเพียร พระองค์มีพระเขี้ยวขาวดี.
               แม้ในที่นี้ วัณณศัพท์ก็พึงเห็นว่า ใช้ในอรรถว่า ผิวพรรณ อย่างเดียว.
               ความในข้อนี้มีดังนี้ ดูก่อนเทวดา เพราะบุญวิเศษอะไร คือเช่นไร เป็นเหตุ ผิวพรรณแห่งเรือนร่างของท่านจึงมีรัศมีแม้ไปถึง ๑๒ โยชน์เช่นนี้ คืออย่างนี้.
               บทว่า เกน เต อิทฺธมิชฺฌติ ความว่า ผลสุจริตอันโอฬารที่ท่านได้มาในบัดนี้ ย่อมสำเร็จเสร็จสรรพแก่ท่านในสถานที่นี้ ด้วยบุญอันดียิ่งอะไร.
               บทว่า อุปฺปชฺชนฺติ แปลว่า บังเกิด. อธิบายว่า เป็นไปสูงเป็นชั้นๆ [ซ้อนกัน] โดยไม่ขาดสาย.
               บทว่า โภคา ได้แก่ อุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันวิเศษมีพัสตราภรณ์ [เครื่องประดับคือผ้า] เป็นต้น ที่ได้ชื่อว่าโภคะ เพราะอรรถว่าเป็นของพึงใช้สอย.
               ศัพท์ว่า เย แสดงความไม่แน่นอน โดยสามัญ.
               ศัพท์ว่า เกจิ แสดงความไม่แน่นอน ถือเอาความต่างเป็นอย่างๆ ไป ด้วยศัพท์แม้ทั้งสอง ย่อมรวบรวมโภคะเช่นนั้น ที่ได้ในที่นั้น อันต่างโดยประณีตและประณีตกว่าเป็นต้น ครอบคลุมโดยไม่เหลือเลย. จริงอยู่ นิเทศนี้ครอบคลุมความไว้ไม่เหลือ เหมือนที่ว่า เยเกจิ สงฺขารา สังขารทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง [ทุกอย่าง].
               บทว่า มนโส ปิยา ได้แก่ ที่ใจพึงรัก. อธิบายว่า น่าพอใจ.
               ก็ในข้อนี้ ด้วยบทว่า เอตาทิโส วณฺโณ นี้ พระเถระแสดงวัณณสัมปทา ความถึงพร้อมแห่งวรรณะ อันนับเนื่องในอัตภาพของเทวดานั้น ซึ่งมีความวิเศษที่กล่าวไว้แล้วในหนหลัง.
               ด้วยบทว่า โภคา นี้ พระเถระแสดงความถึงพร้อมแห่งกามคุณ อันต่างโดยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอันเป็นทิพย์ ซึ่งเป็นวัตถุเครื่องอุปโภคและบริโภค.
               ด้วยบทว่า มนโส ปิยา นี้ พระเถระแสดงความที่อารมณ์มีรูปเป็นต้นเหล่านั้น เป็นของน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ.
               แต่ด้วยบทว่า อิธมิชฺฌติ นี้ พระเถระแสดงความถึงพร้อมแห่งอายุ วรรณะ ยศ สุขและอธิปไตยอันเป็นทิพย์
               ด้วยบทว่า เยเกจิ มนโส ปิยา นี้ ฐานะอันใด ๑๐ ประการที่มาในพระสูตรว่า ผู้นั้นย่อมยึดไว้ได้ซึ่งเทพเหล่าอื่นด้วยฐานะ ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ ยศทิพย์ สุขทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์ พึงทราบว่า พระเถระแสดงการรวบรวมฐานะอันนั้นไว้ในที่นี้ โดยไม่เหลือเลย.
               บทว่า ปุจฺฉามิ ได้แก่ ทำปัญหา. อธิบายว่า ประสงค์จะรู้.
               รู้กันว่า พระเถระกล่าว ๓ คาถาว่า เกน เต ตาทิโส วณฺโณ เกน เต อิทฺธมิชฺฌติ กิมกาสิ ปุญฺญํ เกนาสิ เอวญฺชลิตานุภาวา โดยถือเอากึศัพท์อย่างเดียว ด้วยอำนาจปุจฉาเพราะไม่มีข้อความอื่น ก็จริง ถึงกระนั้น ท่านก็กล่าวว่า ปุจฺฉามิ ขอถาม ก็เพื่อให้รู้ว่าเป็นปุจฉาพิเศษ.
               จริงอยู่ ปุจฉานี้มิใช่อทิฏฐโชตนาปุจฉา เพราะเนื้อความเช่นนี้ ไม่มีสิ่งที่พระมหาเถระไม่เห็น ทั้งมิใช่วิมติเฉทนาปุจฉา เพราะพระเถระเพิกความสงสัยได้โดยประการทั้งปวงแล้ว ทั้งมิใช่อนุมัตติปุจฉา เพราะคำถามนั้นมิได้ เป็นไปโดยอาการถือเอาด้วยอนุมัติคล้อยตามเหมือนในบาลีเป็นต้นว่า ตํ กึ มญฺญสิ ราชญฺญ ดูก่อนท่านพระยา ท่านจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร. ทั้งมิใช่กเถตุกามยตาปุจฉา เพราะพระเถระมิได้ถาม โดยที่เทวดานั้นต้องการจะตอบเอง. แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปุจฉานั้นพึงทราบว่าเป็นทิฏฐสังสันทนาปุจฉา ถามเทียบเคียงสิ่งที่เห็นๆ กันแล้ว. เนื้อความนี้นั้น กล่าวไว้ชัดแจ้งแล้วในอัตถุปปัตติกถา เหตุเกิดเรื่องในหนหลัง โดยนัยเป็นต้นว่า เถโร กิญฺจาปิ.
               บทว่า ตํ แปลว่า ท่าน. คำนี้นั้นเพ่งคำต้นและคำหลัง. เป็นทุติยาวิภัตติเอกวจนะ เพราะเพ่งคำต้น แต่พึงเห็นว่าเป็นปฐมาวิภัตติเอกวจนะ เพราะเพ่งคำหลัง.
               เทวศัพท์ในคำว่า เทวี นี้มาโดยอำนาจสมมติเทพ ได้ในบาลีทั้งหลาย เป็นต้นว่า อิมานิ เต เทว จตุราสีตินครสหสฺสานิ กุสาวตีราชธานิปมุขานิ ข้าแต่สมมติเทพ ๘๔,๐๐๐ พระนครของพระองค์เหล่านี้ มีกรุงกุสาวดีราชธานีเป็นประมุข และว่า เอตฺถ เทว ฉนฺทํ กโรหิ ชีวิเต อเปกฺขํ ข้าแต่สมมติเทพ ในเรื่องนี้ ขอพระองค์โปรดทรงทำความพอพระทัย ความเยื่อใย ในพระชนม์ชีพเถิด ดังนี้.
               มาโดยอำนาจวิสุทธิเทพ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า ตสฺส เทวาติเทวสฺส สาสนํ สพฺพทสฺสิโน พระผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพพระองค์นั้น ทรงเห็นทุกอย่างซึ่งคำสอน.
               จริงอยู่ บรรดาวิสุทธิเทพทั้งหลาย เมื่อกล่าวกันถึงความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นอติเทพ ก็เป็นอันกล่าวถึงความที่ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าวิสุทธิเทพนอกนี้ด้วย.
               มาโดยอำนาจอุปัตติเทพ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า จาตุมฺมหาราชิกา เทวา ทีฆายุกา วณฺณวนฺโต สุขพหุลา เหล่าเทพชั้นจาตุมหาราชมีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยสุขดังนี้.
               แม้ในที่นี้ เทวศัพท์พึงทราบว่า มาโดยอำนาจอุปัตติเทพอย่างเดียว. แต่เมื่อกล่าวโดยอรรถแห่งบท เทวดาย่อมเล่น ย่อมระเริง ย่อมรักด้วยบุญฤทธิ์ของตน ย่อมยินดีด้วยกามคุณ ๕.
               อีกนัยหนึ่ง เทวดาองค์ใดย่อมส่องสว่าง โดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลัง และไปได้ด้วยวิมานทางอากาศ เหตุนั้น เทวดาองค์นั้นจึงชื่อว่า เทวี.
               ก็คำว่า ตฺวํ เทวิ นี้ เป็นเอกวจนะ ใช้ในอรรถว่า สัมโพธนะ [อาลปนะ].
               บทว่า มหานุภาเว ได้แก่ ผู้มีประภาพ [อำนาจ, รัศมี] อันโอฬาร. ก็อานุภาพของเทวดานั้นพระเถระแสดงไว้ด้วย ๒ คาถาหลังแล้ว.
               ในบทว่า มนุสฺสภูตา นี้ ชื่อว่ามนุษย์ เพราะใจสูง คือมีใจอันสร้างสมโดยคุณคือสติ ความกล้า ความประพฤติอย่างประเสริฐ [พรหมจรรย์] ความเพียร ความมั่นคง มีจิตประกอบด้วยคุณอันอุกฤษฏ์.
               ก็มนุษย์เหล่านั้น คือใครเล่า.
               คือ เหล่าสัตว์วิเศษ ชาวชมพูทวีป.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวชมพูทวีป ย่อมชนะมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีป และเทพชั้นดาวดึงส์ ด้วยฐานะ ๓ อย่าง ฐานะ ๓ อย่างคืออะไร คือ เป็นผู้กล้า เป็นผู้มีสติ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยนี้.
               จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระมหาสาวก พระเจ้าจักรพรรดิ และสัตว์ผู้มีอานุภาพเหล่าอื่น ย่อมเกิดในชมพูทวีปนั้นแห่งเดียว.
               อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า แม้ชาวทวีปใหญ่พวกนี้กับชาวทวีปน้อย ก็รู้กันแล้วว่าเป็นมนุษย์เหมือนกัน เพราะมีรูปเป็นต้นเสมอกับชาวชมพูทวีปเหล่านั้น. ส่วนอาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า ชื่อว่ามนุษย์ ก็เพราะใจที่ประกอบด้วยโลภะเป็นต้น และอโลภะเป็นต้นหนาแน่น.
               จริงอยู่ สัตว์เหล่าใดเกิดเป็นมนุษย์ ในสัตว์เหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่าสัตว์ที่มีโลภะเป็นต้นและอโลภะเป็นต้นหนาแน่น ย่อมทำทางอบายให้เต็ม เพราะเป็นผู้มีโลภะเป็นต้นหนาแน่น และทำทางสุคติและทางไปพระนิพพานให้เต็ม เพราะเป็นผู้มีอโลภะเป็นต้นแน่นหนา เพราะฉะนั้น สัตว์วิเศษชาวทวีปใหญ่ทั้ง ๔ กับชาวทวีปน้อยทั้งหลาย เรียกกันว่า มนุษย์ เพราะใจที่ประกอบด้วยโลภะเป็นต้นและอโลภะเป็นต้นหนาแน่นแล.
               ฝ่ายชาวโลกกล่าวว่า ชื่อว่ามนุษย์ เพราะเป็นเหล่ากอของพระมนู มนุษย์กัปแรกที่เป็นต้นแห่งการยึดครองโลก จัดประโยชน์และมิใช่ประโยชน์อยู่ในฐานะเป็นบิดาของสัตว์ทั้งหลายที่ในพระศาสนาเรียกว่าพระเจ้ามหาสมมต ชื่อว่าพระมนู. และเหล่าสัตว์ที่ตั้งอยู่ในโอวาทานุสาสนีของพระมนูนั้น สืบๆ ต่อกันมาโดยประจักษ์ ก็เลยเรียกกันว่ามนุษย์ เพราะเป็นเสมือนบุตร. ก็เพราะเหตุนั้นนั่นเอง สัตว์เหล่านั้น เขาจึงเรียกว่า มาณพและมนุษย์ ผู้เป็นแล้ว เกิดแล้ว หรือถึงความเป็นมนุษย์ในหมู่มนุษย์ เหตุนั้น จึงชื่อว่า มนุสฺสภูตา ผู้เกิดเป็นมนุษย์.
               บทว่า กิมกาสิ ปุญฺญํ ความว่า ท่านใดทำสั่งสมก่อสร้างสุจริตกุศลกรรมอะไร คือเช่นไร ในกุศลกรรมทั้งหลายที่ต่างโดยทานศีลเป็นต้น ซึ่งได้ชื่อว่าบุญ เพราะทำให้บังเกิดผลคือความที่น่าบูชา และเพราะชำระชะล้างสันดานที่ตนเองเกิดให้หมดจด.
               บทว่า ชลิตานุภาวา ได้แก่ โชติช่วงไปทั่ว คือมีบุญฤทธิ์.
               ถามว่าในเรื่องนี้ เหตุไร พระเถระจึงกล่าวว่า ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ท่านได้ทำบุญอะไร ในคติอื่นๆ ไม่มีการทำบุญกันหรือ.
               ตอบว่า ไม่มีการทำบุญหามิได้. เพราะเหตุที่ความเกิดแห่งกุศลจิตฝ่ายกามาวจรยังได้ [มี] ในบางคราว แม้แต่ในคตินรก ก็จะป่วยกล่าวไปไยในคติอื่นๆ ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วมิใช่หรือว่า เป็นทิฏฐสังสันทนาปุจฉา ถามเทียบถึงสิ่งที่เห็นๆ กันอยู่แล้ว ฉะนั้น พระมหาเถระเห็นเทวดาองค์นั้นซึ่งครั้งดำรงอยู่ในอัตภาพเป็นมนุษย์กระทำบุญกรรมเกิดขึ้นแล้ว เมื่อจะถามโดยเนื้อความที่เป็นอยู่แล้ว จึงกล่าวว่า ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ท่านได้ทำบุญอะไร.
               อีกอย่างหนึ่ง ในคติอื่นๆ เพราะเป็นผู้มีสุขโดยส่วนเดียว เพราะเป็นผู้มีทุกข์โดยส่วนเดียว และเพราะเป็นผู้มากไปด้วยทุกข์ โอกาสที่จะทำบุญไม่ใช่หาได้ง่ายๆ เพราะความพรั่งพร้อมแห่งปัจจัยมีการพึ่งพาอาศัยสัตบุรุษเป็นต้น หาได้แสนยาก บางคราวแม้เกิดขึ้นมา ก็มิใช่โอฬารไพบูลย์ เพราะเหตุตามที่กล่าวมาแล้ว. ส่วนในคติแห่งมนุษย์ เพราะเป็นผู้มากไปด้วยสุข โอกาสทำบุญจึงหาได้ง่าย เพราะความพรั่งพร้อมแห่งปัจจัยมีการพึ่งพาอาศัยสัตบุรุษเป็นต้นโดยมาก หาได้ง่าย.
               อนึ่งเล่า ทุกข์อันใดเกิดขึ้นในคติแห่งมนุษย์นั้น ทุกข์แม้อันนั้นก็เป็นอุปนิสัยเหตุแห่งการทำทำบุญโดยพิเศษ.
               จริงอยู่ มนุษย์ทั้งหลายมีทุกข์เป็นเหตุ จึงมีศรัทธาแล เปรียบเหมือนเมื่อมีด ช่างทำสำเร็จจากก้อนเหล็ก การเผาไฟก็ดี การเอาน้ำรดก็ดี มิใช่ปัจจัยพิเศษโดยส่วนเดียวของมีดนั้น เพราะสามารถทำการเชือดเฉือนได้ แต่การเผาแล้วเอาน้ำรด โดยความพยายามพอประมาณต่างหากเป็นปัจจัยพิเศษของการทำการเชือดเฉือนนั้นฉันใด ความที่สันดานสัตว์เพรียบพร้อมไปด้วยทุกข์โดยส่วนเดียว ความเป็นผู้มากไปด้วยทุกข์และความเป็นผู้พรั่งพร้อมไปด้วยสุข มิใช่ปัจจัยพิเศษของการทำบุญ แต่เมื่อมีความเร่าร้อนด้วยทุกข์และความพอกพูนด้วยสุข โดยความพยายามพอประมาณ การทำบุญที่ได้เหตุแล้วจึงเกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นก็รุ่งเรืองแผ่ไพศาล ทั้งสามารถเชือดเฉือนปฏิปักษ์คือบาปได้ด้วย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ความเป็นมนุษย์จึงเป็นปัจจัยพิเศษของการทำบุญ.
               ด้วยเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ท่านได้ทำบุญอะไร.
               คำที่เหลือ รู้ได้ง่ายทั้งนั้น.
               ก็พระเถระถามอย่างนี้แล้ว เทวดาองค์นั้นก็ตอบปัญหา. เพื่อแสดงความนั้น ท่านจึงกล่าวคาถาว่า สา เทวตา อตฺตมนา เทวดาองค์นั้นดีใจ ดังนี้เป็นต้น.
               ก็คาถานี้ใครกล่าว. พระธรรมสังคาหกเถระผู้ร่วมทำสังคายนากล่าว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สา ได้แก่ เทวดาองค์ที่พระเถระกล่าวว่า ดูก่อนเทพีผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามท่านก่อน.
               เทพบุตรก็ดี พรหมก็ดี เทพธิดาก็ดี ท่านเรียกว่าเทวดา.
               จริงอยู่ เทพบุตร ท่านเรียกว่าเทวดา เทวะก็เหมือนกัน เรียกว่าเทวดา ได้ในบาลีเป็นต้นว่า อถโข อญฺญตรา เทวตา อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา อภิกฺกนฺตวณฺณา ครั้งนั้น เทวดาองค์หนึ่งเมื่อราตรีปฐมยามล่วงไปแล้ว มีวรรณะงาม.
               พรหมท่านก็เรียกว่าเทวดาเหมือนกัน ได้ในบาลีเป็นต้นว่า ตา เทวตา สตฺตสตา อุฬารา พฺรหฺมวิมานา อภินิกฺมิตฺวา เทวดา ๗๐๐ องค์เหล่านั้นโอฬารออกจากวิมานพรหม.
               เทพธิดาก็เรียกว่าเทวดา ได้ในบาลีเป็นต้นว่า
                         อภิกฺกนฺเตน วณฺเณน ยา ตฺวํ ติฏฺฐสิ เทวเต
                         โอภาเสนฺตี ทิสา สพฺพา โอสธิ วิย ตารกา

                         ดูก่อนเทวดา ท่านมีวรรณะงาม ส่องสว่างไป
                         ทุกทิศ ดังดาวประกายพรึก.

               แม้ในที่นี้ ก็พึงเห็นว่าเป็นเทพธิดาอย่างเดียว.
               บทว่า อตฺตมนา ได้แก่ มีใจยินดีแล้ว มีใจถูกปีติและโสมนัสจับแล้ว.
               จริงอยู่ จิตอันไปกับปีติและโสมนัส ก็เป็นเหมือนถูกปีติและโสมนัสนั้นจับไว้เป็นของตน เพราะโทมนัสไม่มีโอกาส.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อตฺตมนา ได้แก่ มีใจเป็นของตน.
               จริงอยู่ จิตอันประกอบด้วยปีติและโสมนัสอันไม่มีโทษ ได้รับการที่กล่าวว่า เป็นของตนในบัดนี้คือปัจจุบัน และยังจะได้รับการที่จะกล่าวว่าเป็นของตน เพราะนำประโยชน์เกื้อกูลและสุขมาให้แก่ผู้พร้อมด้วยปีติและโสมนัสนั้น ในเวลาต่อไปคืออนาคต. จิตนอกนี้หาได้ไม่.
               บทว่า โมคฺคลฺลาเนน ความว่า พระมหาเถระองค์นั้นรู้จักกันว่าโมคคัลลานะโดยโคตร เพราะท่านเป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาลโมคคัลลานโคตร. อันท่านโมคคัลลานะรูปนั้น [ถามแล้ว].
               บทว่า ปุจฺฉิตา ได้แก่ ถามโดยทิฏฐสังสันทนาปุจฉา คือถามเทียบถึงสิ่งที่เห็นๆ กันอยู่แล้ว. ประกอบความว่า เทวดาองค์นั้นดีใจตอบปัญหา.
               ก็เทวดาองค์นั้นดีใจว่า กรรมแม้ประมาณเล็กน้อยชื่อนั้น ยังเป็นเหตุแห่งทิพยสมบัติใหญ่โตถึงเพียงนี้. แม้แต่ก่อน เทวดาองค์นั้นอาศัยบุญของตน ก็เสวยโสมนัสในระหว่างๆ. แต่บัดนี้ การทำความนอบน้อมซึ่งเทวดาองค์นั้นแม้กระทำแก่พระเถระรูปหนึ่ง ยังมีผลอันโอฬารอย่างนี้. ก็ท่านพระโมคคัลลานะรูปนี้เป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้า มีคุณอันโอฬาร มีอานุภาพมาก.
               ปีติจึงเกิดด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ เราได้พบท่านพระโมคคัลลานะรูปนี้และทำความเคารพนบนอบ และท่านจะทำการถามปัญหาที่เกี่ยวด้วยผลบุญของเราเท่านั้น.
               เทวดาองค์นั้นมีปีติและโสมนัสอย่างแรงเกิดขึ้นอย่างนี้ รับคำของพระเถระด้วยเศียรเกล้า จึงพยากรณ์คือตอบปัญหาโดยอาการที่ท่านถามแล้ว.
               บทว่า ปญฺหํ ได้แก่ พยากรณ์กล่าวตอบความนั้นที่ท่านต้องการรู้.
               ก็พยากรณ์อย่างไรเล่า.
               บทว่า ปุฏฺฐา ได้แก่ โดยอาการที่ท่านถาม. อธิบายว่า โดยอาการแห่งปัญหาที่ท่านถามแล้วนั่นแล. แท้จริง ในคำนี้ ท่านกล่าวว่า ปุจฺฉิตา ถามแล้วกล่าวย้ำว่า ปุฏฺฐา โดยอาการที่ท่านถามแล้ว พึงเห็นว่าเป็นการกล่าวแน่นอนถึงข้อความโดยเฉพาะ.
               ก็ความเฉพาะนั้นคืออะไร.
               คือความที่คำพยากรณ์ [คำตอบ] พอเหมาะแก่คำถาม.
               จริงอยู่ ท่านแสดงผลกรรมอันใด ก็ถามถึงกรรมอันเป็นตัวเหตุแห่งผลกรรมนั้น เป็นการประกาศความที่คำถามและคำตอบทั้งสองนั้น พอเหมาะแก่กันและกัน.
               คำถามดำเนินไปโดยอาการใด ไม่ว่าจะโดยอรรถและโดยพยัญชนะ ความที่คำพยากรณ์ที่มีอาการนั้น พอเหมาะแก่คำถาม และคำตอบก็ดำเนินไปโดยอาการนั้น.
               คำที่ท่านกล่าวว่า ปุจฺฉิตา แล้วกล่าวว่า ปุฏฺฐา อีกก็เพื่อให้รู้ความเฉพาะอันนี้ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ปุจฺฉิตา เป็นคำระบุถึงเหตุที่เทวดานั้นถูกถาม โดยมุขคือความวิเสส [ขยายความ] และคำพยากรณ์ตอบปัญหา.
               ท่านอธิบายไว้ดังนี้ว่า ถามว่า พระเถระถามโดยนัยเป็นต้นว่า เพราะบุญอะไร ท่านจึงมีวรรณะเช่นนี้. เทวดาถูกพระเถระให้ตอบปัญหานั้น จึงบอกกรรมที่เทวดานั้นกระทำมาแล้ว เหตุนั้น คำถามนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เทวตา ปุจฺฉิตา เทวดาถูกถาม. เพราะเหตุที่เทวดาถูกถาม ถูกให้ตอบถึงกรรมที่ถูกพระเถระถาม ฉะนั้น จึงชื่อว่าถูกถามปัญหา และเพราะเหตุที่เทวดาถูกถามอีก มีสภาพที่จะต้องบอกถึงกรรมที่ถูกถาม ฉะนั้น จึงชื่อว่าพยากรณ์ปัญหา.
               คำว่า นี้เป็นผลของกรรมใด นี้เป็นคำแสดงสรูปความที่พระเถระกล่าวว่าปัญหา. ก็ในคำนี้มีความดังนี้ว่า นี้เป็นผลบุญของกรรมใดที่ประจักษ์แก่พระเถระผู้ถาม และเทวดาที่ถูกถามมีในลำดับชาติ [มนุษย์] มีประการดังกล่าวแล้ว เทวดาก็พยากรณ์บุญกรรมที่พระเถระกล่าวว่าปัญหา เพราะท่านต้องการรู้กรรมนั้น.
               คำว่า อหํ มนุสฺเสสุ เป็นต้นเป็นอาการพยากรณ์ [ตอบ] ปัญหา. ในคำนั้น เทวดาแสดงองค์ด้วยคำว่า อหํ. เทวดากล่าวว่า มนุสฺเสสุ ในหมู่มนุษย์แล้วกล่าวย้ำว่า มนุสฺสภูตา ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ก็เพื่อแสดงว่า ในครั้งนั้น คุณของมนุษย์ทั้งหลายมีอยู่ในตน.
               จริงอยู่ ผู้ใดเกิดเป็นมนุษย์กระทำกรรมที่ไม่ควรมีฆ่าสัตว์เป็นต้น ก็สมควรรับโทษ เมื่อต้องโทษมีการตัดมือเป็นต้นจากพระราชาเป็นอาทิในที่นั้นๆ ย่อมเสวยทุกข์เป็นอันมาก ผู้นี้ชื่อว่ามนุษย์นรก.
               อีกคนหนึ่งเกิดเป็นมนุษย์ไม่ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่ม เพราะกรรมที่ตนทำไว้แต่ก่อน ต้องกระหายหิวโหย มากไปด้วยทุกข์ เมื่อไม่ได้หลักแหล่งก็เร่ร่อนไป ผู้นี้ชื่อว่ามนุษย์เปรต.
               อีกคนหนึ่งเกิดเป็นมนุษย์อาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ ต้องทำงานหนักให้เขา หรือเป็นคนขาดมรรยาท ประพฤติแต่อนาจาร ถูกเขาข่มขู่ กลัวตายก็ไปอาศัยป่ารก มากไปด้วยทุกข์ ต้องซอกซอนไป ไม่รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ได้แต่บรรเทาทุกข์คือความหิวโหย ด้วยการนอนเป็นต้นเป็นเบื้องหน้า ผู้นี้ชื่อว่ามนุษย์ดิรัจฉาน.
               ส่วนผู้ใดรู้จักประโยชน์มิใช่ประโยชน์ของตน เชื่อผลแห่งกรรม มีหิริ ละอายบาป โอตตัปปะ เกรงกลัวบาป สมบูรณ์พรั่งพร้อมด้วยความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง มากไปด้วยความสลดใจ งดเว้นอกุศลกรรมบถ ประพฤติเอื้อเฟื้อในกุศลกรรมบถ บำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุทั้งหลาย ผู้นี้ตั้งอยู่ในมนุษยธรรม ชื่อว่ามนุษย์โดยปรมัตถ์. แม้เทวดาองค์นี้ก็เป็นเช่นนั้น ด้วยเหตุนั้น เทวดาจึงกล่าวว่า มนุสฺเสสุ มนุสฺสภูตา ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ในหมู่มนุษย์. อธิบายว่า ดีฉันถึงความเป็นมนุษย์ในหมู่สัตว์ที่เป็นมนุษย์ และไม่ละมนุษยธรรมดำรงอยู่.
               บทว่า อพฺภาคตานํ แปลว่า ผู้มาถึงเข้าแล้ว. อธิบายว่า อาคันตุกะที่มาถึงแล้ว.
               จริงอยู่ อาคันตุกะมี ๒ คือ อติถิ แขก และอัพภาคตะ ผู้มาถึง.
               บรรดาอาคันตุกะ ๒ อย่างนั้น อาคันตุกะผู้คุ้นเคยกันอยู่แล้ว ชื่อว่าอติถิ แขก. อาคันตุกะผู้ไม่คุ้นเคยกัน ชื่อว่าอัพภาคตะ ผู้มาถึง.
               ผู้มาถึงก่อน ทั้งผู้ที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว หรือผู้ไม่คุ้นเคยกัน ชื่อว่าอติถิ แขก. ผู้ที่มาปรากฏตัวเวลากินอาหารมาถึงเดี๋ยวนี้เอง ชื่อว่าอัพภาคตะ.
               อีกนัยหนึ่ง ผู้ที่เขาเชิญมากินอาหาร ชื่อว่าอติถิ ผู้ที่เขาไม่ได้เชิญมา ชื่อว่าอัพภาคตะ.
               ก็ภิกษุรูปนี้เป็นผู้มิได้คุ้นเคยกันมาก่อน เป็นผู้ที่เขาไม่ได้นิมนต์ และมาถึงบัดนี้. เทวดาหมายถึงภิกษุรูปนั้น จึงกล่าวว่า อพฺภาคตานํ ผู้มาถึงแล้ว.
               แต่ในคาถานั้น เทวดากล่าวคำเป็นพหุวจนะ ก็ด้วยความเคารพ.
               บุคคลย่อมนั่งจ่อมลงในสิ่งใด เหตุนั้น สิ่งนั้นชื่อว่าอาสนะ สิ่งที่นั่ง ได้แก่สิ่งที่ประกอบเป็นที่นั่งหรือควรนั่งได้อย่างใดอย่างหนึ่ง. แต่ในที่นี้ประสงค์เอา ปีฐะ ตั่ง. เทวดากล่าวว่า อาสนกํ ที่นั่ง เพราะตั่งนั้นเป็นของเล็ก และเป็นของไม่โอฬาร [ไม่ใหญ่].
               บทว่า อทาสึ ความว่า เทวดาเกิดโสมนัสว่า ทานที่ถวายแก่พระเถระรูปนั้นนี้จักมีผลมาก อานิสงส์มากแก่เรา ดังนี้แล้ว เชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ได้ถวายเพื่อพระเถระรูปนั้นจะได้ใช้สอย. อธิบายว่า บริจาคโดยบริจาค ไม่มุ่งผล.
               บทว่า อภิวาทยึ ได้แก่ ได้กระทำการอภิวาทกราบไหว้.
               อธิบายว่า ไหว้พระทักขิไณยบุคคลด้วยเบญจางคประดิษฐ์.
               จริงอยู่ เทวดาเมื่อไหว้ โดยใจความชื่อว่ากล่าวอวยพรกะผู้ไหว้นั้นนั่นแหละ โดยนัยเป็นต้นว่า ขอท่านจงมีสุข จงไม่มีโรค.
               บทว่า อญฺชลิกํ อกาสึ ความว่า ดีฉันประคองเหนือเศียรเกล้าซึ่งอัญชลีที่รุ่งเรืองด้วยทศนัขสโมธาน [ชุมนุม ๑๐ นิ้ว] ได้กระทำความยำเกรงต่อท่านผู้มีคุณอันประเสริฐทั้งหลาย.
               บทว่า ยถานุภาวํ ได้แก่ ตามกำลัง. อธิบายว่า ตามสมควรแก่ทรัพย์สมบัติของดีฉัน ซึ่งมีอยู่ในเวลานั้น.
               บทว่า อทาสิ ทานํ ได้แก่ ดีฉันนิมนต์พระทักขิไณยบุคคลให้ฉัน ด้วยการบริจาคไทยธรรมมีข้าวน้ำเป็นต้น ก็ประสบบุญที่สำเร็จด้วยทาน.
               ก็ในคาถานั้น คำว่า อหํ ดีฉัน นี้เป็นคำแสดงความสัมพันธ์ด้วยการเห็นกรรมและผลว่าตกสืบต่อเป็นสายเดียวกัน.
               คำว่า มนุสฺเสสุ มนุสฺสภูตา ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ในหมู่มนุษย์ นี้เป็นคำแสดงความวิเศษแห่งการสืบต่ออันเป็นที่ตั้งการบุญกิริยานั้น.
               คำว่า อพฺภาคตานํ (แก่ภิกษุผู้มาถึงเรือนแล้ว) นี้ เป็นคำแสดงเจตนาสมบัติ และแสดงเขตสมบัติ เพราะแสดงว่า การรับ [ของพระทักขิไณยบุคคล] ก็เหมือนการให้ [ของทายกทายิกา] เป็นไปไม่มุ่งผลอะไรเลย.
               คำว่า อาสนกํ อทาสึ ยถานุภาวญฺจ อทาสิ ทานํ ดีฉันได้ถวายอาสนะและได้ถวายทานตามกำลัง นี้เป็นคำแสดงการถวายสาระทางโภคะ [โภคสาระ].
               คำว่า อภิวาทยึ อญฺชลิกํ อกาสึ ดีฉันกราบไหว้ ได้กระทำอัญชลีประนมมือ นี้เป็นคำแสดงการถวายสาระทางกาย [กายสาระ].
               บทว่า เตน ได้แก่ เพราะบุญตามที่กล่าวแล้วนั้นเป็นเหตุ.
               เมศัพท์ในบทว่า เม นี้มาในอรรถตติยาวิภัตติ. อธิบายว่า มยา แปลว่า อันเรา ได้ในบาลีเป็นต้นว่า กิจฺเฉน เม อธิคตํ หลนฺทานิ ปกาสิตุํ พระนิพพานอันเราบรรลุแล้วด้วยความยาก ไม่ควรประกาศในบัดนี้.
               มาในอรรถจตุตถีวิภัตติ อธิบายว่า มยฺหํ แปลว่า แก่เรา ได้ในบาลีเป็นต้นว่า สาธุ เม ภควา สงฺขิตฺเตน ธมฺมํ เทเสตุ สาธุ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงแสดงธรรมโดยสังเขปแก่ข้าพระองค์เถิด.
               มาในอรรถฉัฏฐีวิภัตติ ได้ในบาลีเป็นต้นว่า ปุพฺเพว เม ภิกฺขเว สมฺโพธา อนภิสมฺพุทฺธสฺส โพธิสตฺตสฺเสว สโต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก่อนแต่การตรัสรู้ของเราผู้เป็นพระโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้.
               แม้ในที่นี้ เมศัพท์ มาในอรรถฉัฏฐีวิภัตติอย่างเดียว. อธิบายว่า มม แปลว่า ของเรา.
               เมศัพท์นี้นั้นพึงสัมพันธ์ความในข้อความทั้งสองว่า เพราะบุญของเรานั้น และว่าวรรณะของเราจึงเป็นเช่นนี้.
               คำที่เหลือมีนัยกล่าวไว้แล้วทั้งนั้น.
               ครั้นเทวดาองค์นั้นพยากรณ์ปัญหาอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็แสดงธรรมโดยพิสดาร เทศนานั้นเป็นประโยชน์แก่เทวดาองค์นั้นพร้อมกับบริวาร.
               พระเถระจากเทวโลกนั้น กลับมาสู่มนุษยโลก กราบทูลเรื่องนั้นถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าทุกประการ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่องแล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดบริษัทที่มาประชุมกัน.
               แต่คาถาอย่างเดียว ท่านพระธรรมสังคากาจารย์ยกขึ้นสู่สังคายนาแล.

               จบอรรถกถาปฐมปีฐวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปิฐวรรคที่ ๑ ๑. ปิฐวิมานที่ ๑ จบ.
อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 26 / 2อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=1&Z=26
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :