ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 102อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 103อ่านอรรถกถา 26 / 104อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุพพรีวรรคที่ ๒
๖. กัณหเปตวัตถุ

               อรรถกถากัณหเปตวัตถุที่ ๖               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอุบาสกคนหนึ่งลูกตาย จึงตรัสพระคาถานี้ มีคำเริ่มต้น ว่า อุฏฺเฐหิ กณฺห กึ เสสิ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ในกรุงสาวัตถี ยังมีบุตรของอุบาสกคนหนึ่งทำกาละแล้ว. อุบาสกนั้นเพียบพร้อมไปด้วยลูกศรคือความเศร้าโศก เพราะการตายของลูกนั้น ไม่อาบน้ำ ไม่กินข้าว ไม่จัดแจงการงาน ไม่ไปยังที่อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า บ่นเพ้ออย่างเดียว พลางกล่าวว่า พ่อ เป็นลูกที่รัก เจ้าละทิ้งพ่อไปไหนเสียก่อน.
               ในเวลาใกล้รุ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลก ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของอุบาสกนั้น รุ่งขึ้นแวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ทรงเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว จึงทรงส่งภิกษุทั้งหลายไป ส่วนพระองค์มีพระอานนทเถระเป็นปัจฉาสมณะ ได้เสด็จไปยังประตูเรือนของอุบาสกนั้น.
               คนทั้งหลายจึงได้แจ้งแก่อุบาสกว่า พระศาสดาเสด็จมาถึงแล้ว.
               ลำดับนั้น คนในเรือนของอุบาสกนั้นจึงพากันตบแต่งเสนาสนะที่ประตูเรือน แล้วนิมนต์พระศาสดาให้ประทับนั่ง ประคองอุบาสกพาเข้าไปเฝ้าพระศาสดา.
               พระศาสดาทรงเห็นเธอนั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง จึงตรัสถามว่า อุบาสก ท่านเสียใจอะไรหรือ? เมื่ออุบาสกกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า อุบาสก โบราณกบัณฑิตทั้งหลายฟังถ้อยคำของบัณฑิตทั้งหลายแล้ว ไม่เศร้าโศกถึงบุตรที่ตายไป ดังนี้แล้วอันอุบาสกนั้นทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาว่า :-
               ในอดีตกาล ในกรุงทวารวดี มีพระราชาพี่น้องกัน ๑๐ คน คือพระเจ้าวาสุเทพ พลเทพ จันทเทพ สุริยเทพ อัคคิเทพ วรุณเทพ อัชชุนเทพ ปัชชุนเทพ ฆฏบัณฑิตเทพและอังกุรเทพ.
               ในเจ้าเหล่านั้น โอรสผู้เป็นที่รักของวาสุเทพมหาราช ได้ทิวงคตลง. เพราะเหตุนั้น พระราชาจึงถูกความเศร้าโศกครอบงำ ทรงละพระราชกรณียกิจทุกอย่าง ยึดแม่แคร่เตียง ทรงบรรทมบ่นเพ้อไป.
               ในเวลานั้น ฆฏบัณฑิตเทพทรงพระดำริว่า เว้นเราเสียคนอื่น ใครเล่าที่ชื่อว่าสามารถจะหลีกเลี่ยงความเศร้าโศกพี่ชายเรา ย่อมไม่มี เราจะขจัดความเศร้าโศกของพี่ชายเราด้วยอุบาย.
               ท่านฆฏบัณฑิตจึงแปลงเพศเป็นคนบ้า แหงนดูอากาศ เที่ยวไปทั่วพระนครพลางกล่าวว่า ท่านจงให้กระต่ายแก่เรา ท่านจงให้กระต่ายแก่เราเถิด.
               ชาวพระนครทั้งสิ้นพากันแตกตื่นว่า ฆฏบัณฑิตเป็นบ้าเสียแล้ว.
               เวลานั้น อำมาตย์ชื่อว่าโรหิไณย ไปเฝ้าพระเจ้าวาสุเทพ.
               เมื่อจะสั่งสนทนากับพระเจ้าวาสุเทพ จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
               ข้าแต่พระองค์ผู้กัณหโคตร ขอพระองค์จงลุกขึ้นเถิด จักมัวบรรทมอยู่ทำไม จะมีประโยชน์อะไรแก่พระองค์ ด้วยการบรรทมอยู่เล่า
               ข้าแต่พระเกสวะ บัดนี้ พระภาดาร่วมอุทรของพระองค์ผู้เป็นดุจพระทัย และนัยน์เนตรเบื้องขวาของพระองค์ มีลมกำเริบคลั่งเพ้อถึงกระต่าย.
               บรรดาบทเหล่านั้น อำมาตย์เรียกพระเจ้าวาสุเทพ โดยพระโคตรว่ากัณหะ.
               บทว่า โก อตฺโถ สุปเนน เต ได้แก่ ความเจริญอะไรจะมีแก่พระองค์ด้วยการบรรทม.
               บทว่า สโก ภาตา ได้แก่ พระภาดาร่วมอุทร.
               บทว่า หทยํ จกฺขุ จ ทกฺขิณํ ความว่า เสมือนกับดวงหทัย และพระเนตรเบื้องขวา.
               บทว่า ตสฺส วาตา พลียนฺติ ความว่า ลมบ้าหมูเกิดแก่พระภาดาร่ำไป มีกำลังแรงกำเริบครอบงำ.
               บทว่า สสํ ชปฺปติ ความว่า บ่นเพ้อว่า จงให้กระต่ายแก่เราเถิด.
               ด้วยบทว่า เกสวะ ได้ยินว่า ฆฏบัณฑิตนั้น เขาเรียกว่าเกสวะ เพราะมีผมงาม เพราะเหตุนั้น เขาจึงเรียกพระองค์โดยพระนาม.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงแสดงความที่พระเจ้าวาสุเทพได้สดับคำของอำมาตย์นั้นแล้ว เสด็จลุกขึ้นจากที่บรรทม.
               พระองค์เป็นผู้ตรัสรู้ยิ่งจึงตรัสคาถานี้ว่า :-
               พระเจ้าเกสวะได้สดับคำของโรหิไณยอำมาตย์นั้นแล้ว ผู้ถูกความเศร้าโศกถึงพระภาดาครอบงำ ก็รีบเสด็จลุกขึ้นทันที.
               พระราชาเสด็จลุกขึ้นแล้ว รีบลงจากปราสาท แล้วเสด็จไปหาฆฏบัณฑิต จับมือทั้ง ๒ ของฆฏบัณฑิตไว้มั่น

               เมื่อจะเจรจากับท่าน จึงกล่าวคาถา ๓ คาถาว่า :-
               เหตุไรหนอ เธอจึงทำตัวเหมือนคนบ้า เที่ยวไปทั่วนครทวารกะนี้ บ่นเพ้อว่า กระต่าย กระต่าย เธอปรารถนากระต่ายเช่นไร ฉันจะให้นายช่างทำกระต่ายทองคำ กระต่ายแก้วมณี กระต่ายโลหะ กระต่ายเงิน กระต่ายสังข์ กระต่ายสิลา กระต่ายแก้วประพาฬให้แก่เธอ หรือกระต่ายอื่นที่เที่ยวหากินอยู่ในป่าก็มีอยู่ ฉันจะให้เขานำกระต่ายเหล่านั้นมาให้แก่เธอ เธอปรารถนากระต่ายเช่นไรเล่า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุมฺมตฺตรูโปว แปลว่า เป็นเหมือนคนบ้า.
               บทว่า เกวลํ แปลว่า ทั้งสิ้น.
               บทว่า ทฺวารกํ ได้แก่ เที่ยวไปตลอดทวารวดีนคร.
               บทว่า สโส สโสติ ลปสิ ความว่า บ่นเพ้อว่า กระต่าย กระต่าย.
               บทว่า โสวณฺณมยํ แปลว่า สำเร็จด้วยทองคำ.
               บทว่า โลหมยํ แปลว่า สำเร็จด้วยโลหะทองแดง.
               บทว่า รูปิยมยํ แปลว่า สำเร็จด้วยเงิน.
               ท่านปรารถนาสิ่งใดก็จงบอกมาเถอะ. เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอเศร้าโศกเพราะอะไร. พระเจ้าวาสุเทพเชื้อเชิญฆฏบัณฑิตด้วยกระต่ายว่า กระต่ายแม้เหล่าอื่นที่เที่ยวหากินอยู่ในป่าก็มีอยู่ในป่า เราจักนำกระต่ายนั้นมาให้แก่เธอ เจ้าผู้มีหน้าอันเจริญ เธอปรารถนากระต่ายเช่นไรก็จงบอกมาเถอะดังนี้ ด้วยความประสงค์ว่าฆฏบัณฑิตต้องการกระต่าย.

               ฆฏบัณฑิตได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาว่า :-
                                   ข้าพระองค์ไม่ปรารถนากระต่ายที่อาศัยอยู่บน
                         แผ่นดิน ข้าพระองค์ปรารถนากระต่ายจากดวงจันทร์
                         ข้าแต่พระเจ้าเกสวะ ขอพระองค์โปรดนำกระต่ายนั้น
                         มาประทานแก่ข้าพระองค์เถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอหร แปลว่า โปรดให้นำลงมา.

               พระราชาครั้นทรงสดับดังนั้นจึงถึงความโทมนัสว่า พระภาดาของเราเป็นบ้าเสียแล้วโดยมิต้องสงสัย จึงตรัสคาถาว่า :-
                                   ดูก่อนพระญาติ เธอจักละชีวิตอันสดชื่นไปเสีย
                         เป็นแน่ เพราะเธอปรารถนากระต่ายจากดวงจันทร์
                         ชื่อว่าปรารถนาสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา.

               พระเจ้าเกสวะตรัสเรียกน้องชายว่า ญาติ ในพระคาถานั้น.
               ในพระคาถานี้มีอธิบายดังนี้ว่า :-
               ญาติกันเป็นที่รักของเราผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เห็นจะละชีวิตอันน่ารื่นรมย์ยิ่งของตนเสียเป็นแน่.
               ฆฏบัณฑิตได้ฟังพระดำรัสของพระราชาก็ได้ยืนนิ่งเสีย เมื่อจะแสดงความนี้ว่า ข้าแต่พี่ชาย พระองค์เมื่อรู้ว่าหม่อมฉันปรารถนากระต่ายจากดวงจันทร์ ครั้นไม่ได้กระต่ายนั้นจักสิ้นชีวิต เพราะเหตุไร พระองค์ไม่ได้โอรสที่ตายไปแล้วจึงเศร้าโศกถึง จึงกล่าวคาถาว่า
                                   ข้าแต่พระองค์ผู้กัณหโคตร ถ้าพระองค์ทรง
                         พร่ำสอนผู้อื่นอย่างที่ทรงทราบไซร้ เพราะเหตุไร
                         แม้ทุกวันนี้ พระองค์ก็ยังทรงเศร้าโศกถึงบุตรที่
                         ตายแล้ว ในกาลก่อนเล่า.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ เจ กณฺห ชานาสิ ความว่า ข้าแต่ท้าวกัณหมหาราชผู้พี่ชาย ผิว่า พระองค์ทรงทราบอย่างนี้ว่า ชื่อว่าวัตถุที่ไม่พึงได้ ก็ไม่พึงปรารถนา.
               บทว่า ยถญฺญํ ความว่า ท่านพอรู้อย่างนี้ อย่าได้กระทำโดยประการที่ท่านพร่ำสอนผู้อื่น.
               บทว่า กสฺมา ปุเร มตํ ปุตฺตํ ความว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร แม้ในวันนี้ ท่านก็ยังเศร้าโศกถึงบุตรที่ตายไป ในที่สุด ๔ เดือนแต่เดือนนี้.
               ฆฏบัณฑิตยืนอยู่ที่ระหว่างถนนอย่างนั้นแลทูลว่า อันดับแรก หม่อมฉันปรารถนาสิ่งที่ปรากฏอยู่อย่างนี้ ส่วนพระองค์เศร้าโศกเพื่อต้องการสิ่งที่ไม่ปรากฏ.
               เมื่อจะแสดงธรรมแก่พระราชาจึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
                                   ก็มนุษย์หรืออมนุษย์ไม่พึงได้ตามปรารถนา
                         ว่า ขอบุตรของเราที่เกิดมาจงอย่าตายเลย พระองค์
                         จะพึงได้โอรสที่ทิวงคตแล้ว ที่ไม่ควรได้แต่ที่ไหน.
                         ข้าแต่พระองค์ผู้กัณหะโคตร พระองค์ทรงกันแสง
                         ถึงโอรสที่ทิวงคตแล้ว ซึ่งไม่สามารถจะนำคืนมา
                         ด้วยมนต์ รากยา โอสถหรือทรัพย์ได้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ ความว่า ดูก่อนพี่ชาย มนุษย์หรือว่าเทวดา ไม่พึงได้ คือไม่อาจได้ตามที่พระองค์ปรารถนาว่า ขอบุตรของเราผู้เกิดมาอย่างนี้แล้วอย่าตายไปเลย. อธิบายว่า ก็ความปรารถนานั้น ท่านจะได้แต่ที่ไหน คือท่านอาจจะได้ด้วยเหตุไร เพราะเหตุที่ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่ไม่ควรได้นี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะได้.
               บทว่า มนฺตา แปลว่า ด้วยการประกอบมนต์.
               บทว่า มูลเภสชฺชา แปลว่า ด้วยรากยา.
               บทว่า โอสเธหิ ได้แก่ โอสถนานาชนิด.
               บทว่า ธเนน วา ได้แก่ แม้ด้วยทรัพย์นับได้ร้อยโกฏิ,
               ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า ใครๆ ไม่อาจจะนำโอรสผู้ละไปแล้วที่พระองค์ทรงเศร้าโศกถึงนั้นมา ด้วยการประกอบมนต์เป็นต้นอย่างนั้น.
               ฆฏบัณฑิต เมื่อจะแสดงอีกว่า ข้าแต่พี่ชาย ขึ้นชื่อว่าความตายนี้ ใครๆ ไม่อาจจะห้ามได้ ด้วยทรัพย์ ด้วยชาติ ด้วยวิชชาด้วยศีล หรือด้วยภาวนาได้ จึงแสดงธรรมแด่พระราชาด้วยคาถา ๕ คาถาว่า :-
                                   กษัตริย์ทั้งหลาย แม้จะมีแว่นแคว้น มีทรัพย์
                         มาก มีโภคะมาก มีทรัพย์และธัญญาหารมาก จะไม่
                         ทรงชรา จะไม่ทรงสวรรคต ไม่มีเลย.
                                   กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล
                         และคนเทหยากเยื่อ และคนอื่นๆ จะไม่แก่ จะไม่
                         ตาย เพราะชาติของตน ก็ไม่มีเลย
                                   ชนเหล่าใด ร่ายมนต์อันประกอบด้วยองค์ ๖
                         อันพราหมณ์คิดไว้แล้ว ชนเหล่านั้นและชนเหล่าอื่น
                         จะไม่แก่ และไม่ตาย เพราะวิชาของตน ก็ไม่มีเลย.
                                   แม้พวกฤาษีเหล่าใด เป็นผู้สงบ มีตนสำรวม
                         แล้ว มีตปะ แม้พวกฤาษีผู้มีตปะเหล่านั้นย่อมละร่าง
                         กายไปตามกาล
                                   พระอรหันต์ทั้งหลาย มีตนอันอบรมแล้ว ทำ
                         กิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ สิ้นบุญและบาป ยังทอดทิ้ง
                         ร่างกายนี้ไว้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหทฺธนา ได้แก่ ชื่อว่าผู้มีทรัพย์มาก เพราะมีทรัพย์ที่ฝังไว้นั่นแหละมาก.
               บทว่า มหาโภคา ได้แก่ ประกอบด้วยโภคสมบัติมาก เช่นกับโภคสมบัติของเทพ.
               บทว่า รฏฐวนฺโต แปลว่า มีแว่นแคว้นมาก.
               บทว่า ปหูตธนธญฺญาเส ได้แก่ ผู้มีทรัพย์และธัญญาหารหาที่สุดมิได้ โดยทรัพย์และธัญญาหารซึ่งจะต้องใช้จ่ายเป็นประจำที่เก็บฝังไว้เพื่อใช้ได้ถึง ๓ ปีหรือ ๔ ปี.
               บทว่า เตปิ โน อชรามรา ความว่า กษัตริย์มีพระเจ้ามันธาตุและพระเจ้ามหาสุทัสสนะเป็นต้น ผู้มีสมบัติมากถึงอย่างนั้น จะเป็นผู้ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่มีเลย คือตั้งอยู่ใกล้ปากมรณะโดยแท้ทีเดียว.
               บทว่า เอเต ได้แก่ กษัตริย์ตามที่กล่าวแล้วเป็นต้น.
               บทว่า อญฺเญ ได้แก่ ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอัมพัฏฐะมาณพเป็นต้นผู้เป็นอยู่อย่างนั้น.
               บทว่า ชาติยา ความว่า เป็นผู้ไม่แก่ไม่ตาย ไม่มีเลย เพราะชาติของตนเป็นเหตุ.
               บทว่า มนฺตํ ได้แก่เวท.
               บทว่า ปริวตฺเตนฺติ แปลว่า ย่อมสาธยายและย่อมบอก,
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปริวตฺเตนฺติ ได้แก่ ร่ายเวททำการบูชาเพลิง พร้อมพร่ำมนต์ไปด้วย.
               บทว่า ฉฬงฺคํ ได้แก่ ออกเสียงอ่านถูกจังหวะ คล่องและไพเราะ.
               กัปปะ ได้แก่รู้จักแบบแผนทำกิจวิธีต่างๆ. นิรุตติ ได้แก่รู้จักมูลศัพท์และคำแปลศัพท์. ไวยากรณ์ ได้แก่รู้จักตำราภาษา. โชติศาสตร์ ได้แก่รู้จักดาวหาฤกษ์และผูกดวงชะตา. ฉันโทวิจิติ ได้แก่รู้จักคณะฉันท์และแต่งได้.
               บทว่า พฺรหฺมจินฺติตํ ได้แก่ พรหมคิดคือกล่าวเพื่อประโยชน์แก่พวกพราหมณ์.
               บทว่า วิชฺชาย ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยวิชาเสมือนพรหม, อธิบายว่า แม้ท่านเหล่านั้นจะไม่แก่ไม่ตาย ไม่มีเลย.
               บทว่า อิสโย ความว่า ชื่อว่าฤาษี เพราะอรรถว่าแสวงหาพรตที่ประพฤติประจำ และพรตที่ประพฤติตามกาลกำหนดเป็นต้นและปฏิกูลสัญญาเป็นต้น.
               บทว่า สนฺตา ได้แก่ สงบกายวาจาเป็นสภาวะ.
               บทว่า สญฺญตตฺตา ได้แก่ มีจิตสำรวม ด้วยการสำรวมกิเลสมีราคะเป็นต้น.
               ชื่อว่าตปัสสี เพราะมีตปะ กล่าวคือทำกายให้เร่าร้อน.
               อนึ่ง บทว่า ตปสฺสิโน แปลว่า ผู้สำรวม.
               ด้วยคำว่า ตปสฺสิโน นั้น ท่านแสดงว่า เป็นผู้อาศัยตปะอย่างนั้น และเป็นผู้ปรารถนา เพื่อจะหลุดพ้นจากสรีระ ก็เป็นผู้สำรวม ย่อมละสรีระได้ทีเดียว.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อิสโย ชื่อว่าอิสยะ เพราะอรรถว่าแสวงหาอธิสีลสิกขาเป็นต้น, ชื่อว่าผู้สงบ เพราะเข้าไปสงบบาปธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่ออธิสีลสิกขานั้น ก็เพื่อประโยชน์แก่อธิสีลสิกขานั้น. ชื่อว่ามีตนสำรวมแล้ว เพราะสำรวมจิตไว้ในอารมณ์อันเดียวกัน. ชื่อว่าตปัสสี เพราะมีความเพียรเครื่องเผาบาปโดยประกอบความเพียรชอบ. บัณฑิตพึงประกอบความว่า ผู้ที่มีความเพียรเป็นเครื่องประกอบ ชื่อว่าตปัสสี เพราะทำกิเลสมีราคะเป็นต้น ให้เร่าร้อน.
               บทว่า ภาวิตตฺตา ได้แก่ ผู้มีจิตอันอบรมแล้วด้วยกัมมัฏฐานภาวนาอันมีสัจจะ ๔ เป็นอารมณ์.
               เมื่อฆฏบัณฑิตกล่าวธรรมอย่างนี้ พระราชาได้ทรงสดับดังนั้นเป็นผู้ปราศจากลูกศรคือความโศก มีใจเลื่อมใส.
               เมื่อจะสรรเสริญฆฏบัณฑิต จึงได้กล่าวคาถาที่เหลือว่า
                                   เธอดับความกระวนกระวายทั้งปวงของเราผู้
                         เร่าร้อนให้หายไป เหมือนบุคคลเอาน้ำดับไฟที่ราด
                         ด้วยน้ำมัน ฉะนั้น เธอบรรเทาความโศกถึงบุตรของ
                         เรา ผู้ถูกความโศกครอบงำ ได้ถอนขึ้นแล้วหนอ ซึ่ง
                         ลูกศรคือความโศกอันเสียบแทงที่หทัยของเรา เรา
                         เป็นผู้มีลูกศรคือความโศกอันถอนขึ้นแล้ว เป็นผู้เย็น
                         สงบแล้ว เราจะไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้อีก เพราะได้
                         ฟังคำของเธอ
                                   ชนเหล่าใดผู้มีปัญญา ผู้อนุเคราะห์กันและกัน
                         ชนเหล่านั้นย่อมทำอย่างนี้ ย่อมยังกันและกันให้หาย
                         โศก เหมือนเจ้าชายฆฏบัณฑิตทำพระเชษฐาให้หาย
                         โศกฉะนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฆโฏ เชฏฺฐํ ว ภาตรํ ความว่า เหมือนฆฏบัณฑิตทำพระเชษฐาของตน ผู้ถูกความเศร้าโศก เพราะบุตรตายไปครอบงำ ให้พ้นจากความเศร้าโศกเพราะบุตรนั้น ด้วยความที่ตนเป็นผู้ฉลาดในอุบาย และด้วยธรรมกถาฉันใด แม้ผู้อื่นผู้มีปัญญา มีความอนุเคราะห์ก็ฉันนั้น ย่อมกระทำอุปการะแก่ญาติทั้งหลาย.
               บทว่า ยสฺส เอตาทิสา โหนฺติ นี้ เป็นคาถาแห่งพระองค์ผู้ตรัสรู้ยิ่ง.
               คำแห่งคาถานั้น มีอธิบายดังต่อไปนี้
               ฆฏบัณฑิตย่อมไปตามคือติดตามพระเจ้าวาสุเทพ ผู้อันความเศร้าโศก เพราะบุตรครอบงำ ด้วยคำอันเป็นสุภาษิต เพื่อกำจัดความเศร้าโศกด้วยประการใด คือด้วยเหตุใด. อำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิตก็เช่นนั้นอันผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงได้. ความเศร้าโศกของท่านจักมีแต่ที่ไหนฉะนี้แล.
               คาถาที่เหลือมีอรรถดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงตรัสว่า อย่างนั้น อุบาสก โบราณกบัณฑิตทั้งหลายฟังถ้อยคำของบัณฑิตทั้งหลายแล้ว ขจัดความเศร้าโศกเพราะบุตรเสียได้ ดังนี้แล้วจึงประกาศสัจจะประชุมชาดก.
               ในที่สุดสัจจะ อุบาสกดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล.
               จบอรรถกถากัณหเปตวัตถุที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุพพรีวรรคที่ ๒ ๖. กัณหเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 102อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 103อ่านอรรถกถา 26 / 104อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=3513&Z=3567
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=2233
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=2233
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :