ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 127อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 128อ่านอรรถกถา 26 / 129อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔
๘. คูถขาทิกเปตวัตถุที่ ๑

               อรรถกถาปฐมคูถขาทกเปตวัตถุที่ ๘               
               เมื่อพระศาสดา ประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภคูถขาทกเปรตตนหนึ่ง จึงตรัสพระคาถานี้ มีคำเริ่มต้นว่า คูถกูปโต อุคฺคนฺตฺวา ดังนี้.
               ได้ยินว่า ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งไม่ไกลแต่กรุงสาวัตถีนัก ยังมีกฎุมพีผู้หนึ่งสร้างวิหารอุทิศถวายภิกษุผู้เป็นชีต้นของตน, ภิกษุทั้งหลายมาจากชนบทต่างๆ อยู่อาศัยในวิหารหลังนั้น. มนุษย์ทั้งหลายเห็นภิกษุเหล่านั้นแล้ว มีจิตเลื่อมใส อุปัฏฐากด้วยปัจจัยอันประณีต.
               ภิกษุชีต้นอดทนปัจจัยนั้นไม่ได้ เป็นผู้ถูกความริษยาครอบงำ เมื่อจะกล่าวโทษของภิกษุเหล่านั้น จึงยกโทษกะกฎุมพี. กฎุมพีข่มขี่บริภาษภิกษุเหล่านั้น และภิกษุผู้เป็นชีต้น.
               ลำดับนั้น ภิกษุผู้เป็นชีต้นทำกาละแล้ว บังเกิดเป็นเปรตในเวจจกุฏี ในวัดนั่นเอง.
               ฝ่ายกฎุมพีทำกาละแล้ว บังเกิดเป็นเปรตอยู่ข้างบนของพระเปรตนั้นนั่นแล.
               ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะพอเห็นเปรตนั้นแล้ว เมื่อจะถามจึงกล่าวคาถาว่า :-
               ท่านเป็นใครหนอ โผล่ขึ้นจากหลุมคูถให้เราเห็นเช่นนี้ ท่านร้องครวญครางอื้ออึงไป ทำไมเล่า ท่านมีการงานอันลามก โดยไม่ต้องสงสัย.
               เปรตได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงแสดงตนด้วยคาถาว่า :-
               ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นเปรตเสวยทุกข์ เกิดในยมโลก เพราะได้ทำกรรมอันลามกไว้ จึงจากโลกนี้ไปสู่เปตโลก.
               ลำดับนั้น พระเถระจึงถามกรรมที่เปรตนั้นกระทำกะเปรตนั้น ด้วยคาถาว่า :-
               ท่านทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกายวาจาใจ เพราะผลแห่งกรรมอะไร ท่านจึงได้ประสบทุกข์เช่นนี้.
               เปรตนั้นได้บอกกรรมที่ตนทำด้วยคาถา ๒ คาถาว่า :-
               เมื่อก่อน มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นเจ้าอาวาส อยู่ในอาวาสของข้าพเจ้า ท่านมีปกติริษยาตระหนี่ในตระกูล มีใจกระด้าง มักด่าบริภาษ ได้ยกโทษภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย ที่เรือนของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าฟังคำของภิกษุนั้นแล้ว ได้ด่าภิกษุทั้งหลาย เพราะผลแห่งกรรมนั้น ข้าพเจ้าจากโลกนี้แล้วไปสู่เปตโลก.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อหุ อาวาสิโก มยฺหํ ได้แก่ ภิกษุรูปหนึ่งผู้เป็นเจ้าอาวาส ได้อยู่ประจำในอาวาสของข้าพเจ้า คือในวัดที่ข้าพเจ้าได้สร้างไว้.
               บทว่า อชฺฌาสิโต มยฺหํ ฆเร ความว่า ท่านได้อยู่อาศัยในเรือนของข้าพเจ้าโดยความเป็นชีต้น ด้วยอำนาจการอยู่ด้วยตัณหา.
               บทว่า ตสฺส ได้แก่ ภิกษุผู้เป็นชีต้นนั้น.
               บทว่า ภิกฺขโว แปลว่า ซึ่งภิกษุทั้งหลาย.
               บทว่า ปริภาสิสํ แปลว่า ด่าแล้ว.
               บทว่า เปตโลกํ อิโต คโต ความว่า เข้าถึงกำเนิดเปรต คือเป็นเปรตด้วยอาการอย่างนี้.
               พระเถระได้ฟังดังนั้นแล้ว เมื่อจะถามถึงคติของเปรตนอกนี้จึงกล่าวคาถาว่า :-
               ภิกษุผู้ชีต้นของท่าน ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นแต่มิตรเทียม เป็นคนมีปัญญาทราม ทำลายขันธ์ ละไปแล้วไปสู่คติไหนหนอ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิตฺตวณฺเณน ได้แก่ ด้วยมิตรเทียม คือโดยความเทียมมิตร.
               เปรตเมื่อจะบอกเรื่องนั้นแก่พระเถระอีก จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
               ข้าพเจ้ายืนอยู่บนศีรษะของภิกษุผู้มีกรรมอันลามกนั้น ภิกษุผู้ชีต้นไปเกิดเป็นเปรตบริวารของข้าพเจ้า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ชนเหล่าอื่นถ่ายมูตรคูถลงในเวจกุฏีนี้ มูตรคูถนั้นเป็นอาหารของข้าพเจ้า และข้าพเจ้ากินมูตรคูถนั้นแล้ว ถ่ายมูตรคูถสิ่งใดลงไป เปรตผู้เป็นชีต้นนั้นก็เลี้ยงชีพด้วยมูตรและคูถนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺเสว ได้แก่ เปรตผู้เป็นภิกษุชีต้นในกาลก่อนของข้าพเจ้านั้นนั่นแล.
               บทว่า ปาปกมฺมสฺส ได้แก่ มีความประพฤติลามก.
               บทว่า สีเส ติฏฺฐามิ มตฺถเก ความว่า ข้าพเจ้ายืนอยู่บนศีรษะ และเมื่อยืน ยืนอยู่บนกระหม่อมนั้นเอง. อธิบายว่า ไม่ได้ยืนอยู่บนอากาศประมาณศีรษะ.
               บทว่า ปรวิสยํ ปตฺโต ได้แก่ อาศัยมนุษยโลกแล้วถึงเปตวิสัยอันเป็นแดนอื่น.
               บทว่า มเมว ความว่า บาลีที่เหลือ บัณฑิตพึงนำมาเชื่อมเข้าด้วยคำว่า ได้เป็นบริวารของข้าพเจ้าเอง.
               บทว่า ยํ ภทนฺเต หทนฺตญฺเญ ความว่า ข้าแต่พระมหาโมคคัลลานะผู้เจริญ ชนเหล่าอื่นย่อมถ่ายอุจจาระลงในเวจจกุฏีนั้น.
               บทว่า เอตํ เม โหติ โภชนํ ความว่า อุจจาระนั้น เป็นอาหารของข้าพเจ้าทุกๆ วัน.
               บทว่า ยํ หทามิ ความว่า ก็ข้าพเจ้าถ่ายอุจจาระที่ข้าพเจ้ากินเข้าไป.
               บทว่า เอตํ โส อุปชีวติ ความว่า เปรตผู้เป็นชีต้นนั้น เลี้ยงชีพ คือยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยการกินอุจจาระของข้าพเจ้านั้นทุกๆ วัน.
               ในคนเหล่านั้น กฎุมพีด่าภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักว่า การกินคูถของพวกท่านยังประเสริฐกว่าการบริโภคอาหารอย่างนี้. ส่วนภิกษุผู้เป็นชีต้นชักชวนกฎุมพีในการพูดเช่นนั้น ตนเองก็ได้ด่าเหมือนเช่นนั้น, ด้วยเหตุนั้น เปรตนั้นจึงมีการเลี้ยงชีพอันน่าติเตียน แม้กว่ากฎุมพีนั้น.
               ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ แล้วทรงแสดงโทษในการว่าร้ายแล้ว ทรงแสดงธรรมแก่บริษัทผู้ถึงพร้อมแล้ว. เทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชนฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาปฐมคูถขาทกเปตวัตถุที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔ ๘. คูถขาทิกเปตวัตถุที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 127อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 128อ่านอรรถกถา 26 / 129อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=4786&Z=4811
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=6341
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=6341
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :