ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 132อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 133อ่านอรรถกถา 26 / 134อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔
๑๓. อักขรุกขเปตวัตถุ

               อรรถกถาอักขรุกขเปตวัตถุที่ ๑๓               
               เรื่องอักขทายกเปรตนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยํ ททาติ น ตํ โหติ ดังนี้.
               เรื่องนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี มีอุบาสกชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่งเอาเกวียนหลายเล่มบรรทุกสินค้าไปขายต่างประเทศ ขายสินค้าของตนในประเทศนั้นแล้ว ก็ซื้อเอาสินค้าต่างประเทศกลับมา เดินทางมุ่งไปกรุงสาวัตถี.
               เมื่ออุบาสกนั้นกำลังเดินทางเพลาเกวียนเล่มหนึ่งหักในดง. ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งได้เอาผึ่งและขวานเพื่อจะตัดไม้ออกจากบ้านตน เที่ยวไปในป่าถึงที่นั้น พบอุบาสกนั้นผู้ถึงความโทมนัส เพราะเพลาเกวียนหัก จึงคิดว่า พ่อค้านี้มาลำบากในดง เพราะเพลาเกวียนหัก อาศัยความอนุเคราะห์ จึงตัดท่อนไม้มาดามเพลาเกวียนให้มั่นคงแล้วประกอบเกวียนให้ไป.
               สมัยต่อมา บุรุษนั้นทำกาละแล้ว บังเกิดเป็นภุมมเทวดาอยู่ในดงนั้นนั่นแหละ พิจารณาถึงกรรมของตน ในเวลาราตรีจึงไปเรือนของอุบาสกนั้น ยืนอยู่ที่ประตูเรือนกล่าวคาถาว่า :-
               บุคคลให้สิ่งใด สิ่งนั้นย่อมไม่มี แต่ผลอย่างอื่นที่น่าปรารถนา น่าใคร่มีมาก เพราะฉะนั้น ท่านจงให้ทานแล้ว ท่านจักพ้นจากทุกข์และความฉิบหาย ทั้งจักได้ประสบสุขอันเป็นไปในปัจจุบันและสัมปรายภพ เพราะทานนั้น ขอท่านจงตื่นเถิด อย่าประมาทเลย.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ ททาติ น ตํ โหติ ความว่า ทายกย่อมให้ไทยธรรมใด ไทยธรรมนั้นแหละย่อมไม่มีโดยความเป็นผลแห่งทานนั้นในปรโลก, โดยที่แท้ นามอย่างอื่นที่มีผลน่าปรารถนา น่าใคร่ ก็มีอยู่มากทีเดียว เพราะฉะนั้น พวกท่านจงให้ทานนั่นแหละ คือจงให้ทานโดยประการใดประการหนึ่งทีเดียว.
               ภุมมเทวดากล่าวเหตุในข้อนั้นว่า ครั้นให้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์และความฉิบหายทั้งสอง, อธิบายว่า ครั้นให้ทานแล้ว ย่อมพ้นทุกข์และความพินาศ ทั้งปัจจุบัน ทั้งสัมปรายภพ.
               ในข้อว่า อุภยํ เตน ทาเนน คจฺฉติ นี้ พึงประกอบความดังนี้ว่า เพราะการให้นั้น เขาย่อมเข้าถึง คือย่อมประสบสุขทั้ง ๒ คือ สุขในปัจจุบันและสุขในสัมปรายภพ ทั้งย่อมประสบด้วยอำนาจหิตสุขทั้งแก่ตนและสังคม.
               บทว่า ชาครถ มา ปมชฺชถ ความว่า จงตื่นเพื่อยังทานอันห้ามอนัตถะทั้งสอง ยังประโยชน์ทั้งสองให้สำเร็จอย่างนี้ และจงจัดเตรียมอุปกรณ์ แล้วจงอย่าประมาทในทานนั้น.
               ก็ในที่นี้เพื่อจะแสดงถึงความเอื้อเฟื้อ ท่านจึงกล่าวซ้ำ.
               พ่อค้าพิจารณาถึงกิจของตนแล้วกลับถึงกรุงสาวัตถี โดยลำดับ ในวันที่ ๒ จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระศาสดาทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ แล้วทรงแสดงธรรมแก่บริษัทผู้ถึงพร้อมแล้ว. เทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชน ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาอักขรุกขเปตวัตถุที่ ๑๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔ ๑๓. อักขรุกขเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 132อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 133อ่านอรรถกถา 26 / 134อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=4895&Z=4902
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=6600
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=6600
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :