ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 135อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 136อ่านอรรถกถา 26 / 137อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔
๑๖. สัฏฐีกูฏสหัสสเปตวัตถุ

               อรรถกถาสัฏฐิกูฏเปตวัตถุที่ ๑๖               
               พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภเปรตตนหนึ่ง จึงตรัสพระคาถานี้มีคำเริ่มต้นว่า กึ นุ อุมฺมตฺตรูโปว ดังนี้.
               ได้ยินว่า ในอดีตกาล ในกรุงพาราณสี ยังมีบุรุษเปลี้ยคนหนึ่งเป็นผู้ฉลาดในการประกอบการดีดกรวด เขาถึงความสำเร็จในศิลปการดีดกรวดนั้น นั่งอยู่ที่โคนต้นไทรใกล้ประตูพระนคร แสดงรูปช้าง ม้า มนุษย์ รถ เรือนยอด ธงและหม้อน้ำเต็มเป็นต้นที่ใบไทรด้วยการดีดกรวด.
               พวกเด็กในพระนครให้ทรัพย์หนึ่งมาสกและกึ่งมาสก เพื่อประโยชน์แก่การเล่นของตน ให้เขาแสดงศิลปเหล่านั้นตามความชอบใจ
               ภายหลังวันหนึ่ง พระเจ้าพาราณสีเสด็จออกจากพระนครเข้าไปยังโคนต้นไทรนั้น เห็นการจำแนกรูปต่างๆ โดยเป็นรูปช้างเป็นต้นที่แนบสนิทอยู่ที่ใบไทร จึงตรัสถามพวกมนุษย์ว่า ใครหนอกระทำการจำแนกรูปต่างๆ อย่างนี้ที่ใบไทรเหล่านี้.
               พวกมนุษย์ชี้ให้ทอดพระเนตรบุรุษเปลี้ยนั้นแล้วทูลว่า บุรุษเปลี้ยนี้กระทำพระเจ้าข้า.
               พระราชารับสั่งให้เรียกบุรุษเปลี้ยนั้นมาแล้วตรัสอย่างนี้ว่า แน่ะพนาย เธออาจเพื่อจะเอามูลแพะใส่ให้เต็มท้องของบุรุษคนหนึ่งผู้ที่เราชี้ให้ ผู้กล่าวอยู่กะพระราชานั้นนั่นแหละ ได้ไหมหนอ.
               บุรุษเปลี้ยทูลว่า ได้พระเจ้าข้า.
               พระราชาจึงนำบุรุษเปลี้ยนั้นเข้าไปยังพระราชวังของพระองค์ ทรงเบื่อหน่ายปุโรหิตผู้พูดมาก จึงรับสั่งให้เรียกตัวปุโรหิตมา นั่งปรึกษากันในโอกาสที่สงัดกับปุโรหิตนั้น อันแวดล้อมด้วยกำแพงคือม่าน จึงรับสั่งให้เรียกบุรุษเปลี้ยมา.
               บุรุษเปลี้ยถือเอามูลแพะประมาณทะนานหนึ่งมา รู้อาการของพระราชา นั่งบ่ายหน้าตรงปุโรหิต เมื่อปุโรหิตนั้นอ้าปาก ได้ดีดมูลแพะทีละก้อนลงที่โคนลำคอของปุโรหิตนั้น ตามช่องกำแพงคือม่าน.
               เขาไม่สามารถจะคายออกเพราะความละอาย จึงกลืนลงทั้งหมด.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงปล่อยให้ปุโรหิตนั้นผู้มีท้องเต็มด้วยมูลแพะไป ด้วยรับสั่งว่า ไปเถอะพราหมณ์ ท่านได้ผลแห่งความเป็นผู้พูดมากแล้ว ท่านจงดื่มน้ำที่ปรุงด้วยผลและเปลือกประยงค์ที่ขยำเป็นต้นแล้วจงถ่ายออก ด้วยอาการอย่างนี้ เธอก็จะมีความสวัสดี.
               ก็ด้วยการกระทำของบุรุษเปลี้ยนั้น พระองค์ทรงพอพระทัยได้พระราชทานบ้านส่วย ๑๔ ตำบล.
               เธอครั้นได้บ้านส่วย ๑๔ ตำบลแล้ว ทำตนให้คนมีความสุขอิ่มหนำ ทั้งให้คนปริวารชนได้รับความสุขอิ่มหนำ ให้อะไรๆ อันสมควรแก่สมณพราหมณ์เป็นต้น ไม่ทำให้ประโยชน์ปัจจุบันและอนาคตเสื่อมไป เลี้ยงชีพโดยความสุขทีเดียว ทั้งให้บำเหน็จรางวัลแก่คนผู้มายังสำนักตนศึกษาศิลปอยู่.
               ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งเข้าไปยังสำนักเขากล่าวอย่างนี้ว่า ดีละอาจารย์ ขอท่านอาจารย์ให้ผมศึกษาศิลปนี้บ้าง กระผมพอแล้วด้วยบำเหน็จและรางวัล.
               บุรุษเปลี้ยนั้นให้บุรุษนั้นศึกษาศิลปนั้น.
               บุรุษนั้นศึกษาศิลปได้แล้ว ประสงค์จะทดลองศิลป จึงเดินไป เอาเครื่องพิฆาตคือก้อนกรวดทำลายศีรษะของพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่าสุเนตตะผู้นั่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา พระปัจเจกพุทธเจ้าปรินิพพานที่ฝั่งแม่น้ำคงคานั้นนั่นเอง.
               พวกมนุษย์รู้เรื่องเข้าจึงเอาก้อนดินเป็นต้น ตีบุรุษนั้นให้สิ้นชีวิตในที่นั้นนั่นเอง.
               เขาทำกาละแล้วบังเกิดในอเวจีมหานรก ไหม้อยู่ในนรกหลายพันปี ด้วยเศษแห่งวิบากกรรมนั้นนั่นเอง ในพุทธุปบาทกาลนี้ จึงบังเกิดเป็นเปรตไม่ไกลแต่กรุงราชคฤห์. อันวิบากที่พึงเห็นสมกับกรรมนั้นพึงมี เพราะเหตุนั้น ค้อนเหล็กประมาณหกหมื่นที่กำลังแห่งกรรมซัดขึ้น กระหน่ำบนกระหม่อมทั้งเวลาเช้า เวลาเที่ยงและเวลาเย็น.
               เปรตนั้นมีศีรษะฉีกขาด ได้รับเวทนาแสนสาหัส ล้มลงที่ภาคพื้น แต่เมื่อพอค้อนเหล็กปราศไป มันก็มีศีรษะตั้งอยู่ตามปกติ.
               ภายหลังวันหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะลงจากเขาคิชฌกูฏ เห็นเปรตนั้นจึงสอบถามด้วยคาถานี้ว่า :-
                                   ทำไมหนอ ท่านจึงวิ่งพล่านไปเหมือนคนบ้า
                         เหมือนเนื้อผู้ระแวงภัย ท่านมาร้องอื้ออึงไปทำไม
                         ท่านคงทำบาปกรรมไว้เป็นแน่.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุมฺมตฺตรูโปว ความว่า ท่านเป็นเหมือนมีสภาวะแห่งคนบ้า คือเป็นเหมือนคนถึงความเป็นบ้า.
               บทว่า มิโค ภนฺโตว ธาวสิ ความว่า ท่านวิ่งพล่านไปข้างโน้นข้างนี้ เหมือนเนื้อระแวงภัย.
               จริงอยู่ เมื่อค้อนเหล็กเหล่านั้นกระหน่ำอยู่ เขาไม่เห็นสิ่งที่ต้านทาน จึงวิ่งไปข้างโน้นข้างนี้ด้วยคิดว่า การประหารเช่นนี้จะไม่พึงมีหรือหนอ. ก็ค้อนเหล็กเหล่านั้นถูกกำลังกรรมซัดไป จึงกระหน่ำลงเฉพาะบนศีรษะของเปรตนั้นผู้ยืนอยู่ที่ใดที่หนึ่ง.
               บทว่า กึ นุ สทฺทายเส ตุวํ ความว่า ท่านร้องไปทำไมหนอ คือท่านเที่ยวร้องขรมไปเหลือเกิน.
               เปรตได้ฟังดังนั้นจึงให้คำตอบด้วยคาถา ๒ คาถาว่า :-
                                   ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นเปรตเสวยทุกข์
                         เกิดในยมโลก เพราะกระทำบาปกรรมไว้ จึงจาก
                         มนุษยโลกนี้ไปสู่เปตโลก ค้อนเหล็กหกหมื่น
                         ครบบริบูรณ์ โดยประการทั้งปวง กระหน่ำบน
                         ศีรษะและต่อยศีรษะข้าพเจ้า.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สฏฺฐิ กูฏสหสฺสานิ แปลว่า ค้อนเหล็กประมาณหกหมื่น.
               บทว่า ปริปุณฺณานิ แปลว่า ไม่หย่อน.
               บทว่า สพฺพโส คือ โดยส่วนทั้งปวง.
               ได้ยินว่า ศีรษะของเปรตนั้นประมาณยอดเขาใหญ่ บังเกิดเพียงพอที่จะให้ค้อนเหล็กหกหมื่นกระหน่ำ. ค้อนเหล็กเหล่านั้นตกลงกระหน่ำศีรษะของเปรตนั้น ไม่เหลือสถานที่เพียงจดที่สุดปลายขนทรายลงได้ เพราะเหตุนั้น เปรตนั้นจึงกระทำเสียงร้องรบกวนอยู่. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ค้อนเหล็กเหล่านั้นกระหน่ำและทุบศีรษะของข้าพเจ้าโดยประการทั้งปวง.
               ลำดับนั้น พระเถระเมื่อจะถามกรรมที่เขาทำกะเปรตนั้น จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
                                   ท่านกระทำกรรมชั่วอะไรไว้ ด้วยกายวาจาใจ
                         เพราะผลแห่งกรรมอะไร ท่านจึงได้รับทุกข์เช่นนี้
                         อนึ่ง ค้อนเหล็กหกหมื่นครบบริบูรณ์โดยประการ
                         ทั้งปวงกระหน่ำบนศีรษะ และต่อยศีรษะของท่าน
                         เพราะผลกรรมอะไร.

               เปรตเมื่อจะบอกกรรมที่ตนทำแก่พระเถระนั้น จึงได้กล่าวคาถา ๓ คาถาว่า :-
                                   ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง
                         นามว่าสุเนตตะ มีอินทรีย์อันอบรมแล้ว ผู้หาภัยแต่ที่ไหนมิได้
                         นั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้ ข้าพเจ้าได้ต่อยศีรษะของท่านแตก
                         ด้วยการดีดก้อนกรวด เพราะผลแห่งกรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงได้รับ
                         ทุกข์เช่นนี้ ค้อนเหล็กหกหมื่นครบบริบูรณ์ โดยประการทั้งปวง
                         จึงตกลงบนศีรษะข้าพเจ้า และต่อยศีรษะข้าพเจ้า.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺพุทฺธํได้แก่ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า สุเนตฺตํ ได้แก่ ผู้มีชื่ออย่างนี้.
               บทว่า ภาวิตินฺทฺริยํ ได้แก่ ผู้มีอินทรีย์มีสัทธินทรีย์เป็นต้น อันอบรมแล้วด้วยอริยมรรคภาวนา.
               บทว่า สาลิตฺตกปฺปหาเรน ความว่า ประกอบการดีดกรวดด้วยธนู หรือด้วยนิ้วมือนั่นแหละ ที่ท่านเรียก สาลิตตกะ.
               จริงอย่างนั้น บาลีว่า สกฺขราย ปหาเรน ดังนี้ก็มี.
               บทว่า ภินฺทิสฺสํ แปลว่า ทุบแล้ว.
               พระเถระครั้นได้ฟังดังนั้นแล้ว เมื่อจะแสดงว่า บัดนี้ เธอได้รับผลนี้แห่งกรรมเก่าอันสมควรแก่กรรมที่ตนกระทำนั่นเอง จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า :-
                                   แน่ะบุรุษชั่ว ค้อนเหล็กหกหมื่น ครบบริบูรณ์โดย
                         ประการทั้งปวง กระหน่ำบนศีรษะและต่อยศีรษะของท่าน
                         เพราะเหตุอันสมควรแก่ท่านแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺเมน แปลว่า ด้วยเหตุอันสมควร.
               บทว่า เต ได้แก่ ท่าน.
               ท่านแสดงไว้ว่า ผลนี้สมควรแท้แก่บาปกรรมที่ท่านผู้ผิดในพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น กระทำแล้ว น้อมนำเข้าไปหาท่าน เพราะฉะนั้น ผลแห่งบาปกรรมนั่นแหละอันใครๆ จะเป็นเทวดา มาร พรหม หรือแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตาม จะพึงป้องกันมิได้เลย.
               ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จากนั้นจึงเที่ยวไปบิณฑบาตในพระนคร กระทำภัตตกิจเสร็จแล้ว ในเวลาเย็นจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่บริษัทผู้ถึงพร้อมแล้ว จึงทรงประกาศคุณานุภาพแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้า และความไม่ดูหมิ่นกรรม. มหาชนเกิดความสังเวชละบาปกรรมแล้ว ได้เป็นผู้ยินดีในบุญมีทานเป็นต้นฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาสัฏฐิกูฏเปตวัตถุที่ ๑๖               
               -----------------------------------------------------               

               จบปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔ ประดับด้วยเรื่อง ๑๖ เรื่องด้วยประการฉะนี้

               กถาสรุปท้าย               
                                   ก็ด้วยลำดับคำมีประมาณเท่านี้
                                   อรรถสังวรรณนาอันประกาศผลอันเผ็ดร้อนลามก
                         ของกรรมอันเป็นเหตุให้สัตว์ผู้กระทำชั่ว บังเกิดเป็นเปรต
                         โดยประจักษ์ โดยการปุจฉาวิสัชนา และโดยนิยามแห่ง
                         เทศนา ทำความสลดใจให้เกิดแก่สัตบุรุษทั้งหลาย
                                   ข้าพเจ้าอาศัยนัยแห่งอรรถกถาเก่า ริเริ่มไว้ เพื่อจะ
                         ประกาศเนื้อความของเรื่องที่ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
                         ผู้ฉลาดในเรื่องถ้อยคำ กำหนดรู้เรื่องได้อย่างดี ร้อยกรอง
                         ไว้ โดยชื่อว่า เปตวัตถุ อันประกาศอรรถอย่างดีไว้ในเปต
                         วัตถุนั้น ตามสมควรในเรื่องนั้นๆ
                         โดยชื่อ ชื่อว่าปรมัตถทีปนี มีวินิจฉัยไม่สับสน จบบริบูรณ์
                         แล้ว โดยพระบาลีประมาณ ๑๕ ภาณวาร ดังนั้น บุญนั้น
                         โดยที่ข้าพเจ้าผู้แต่งปรมัตถทีปนีนั้น ได้ประสบแล้วด้วย
                         อานุภาพแห่งบุญนั้น ขอเหล่าสัตว์แม้ทั้งปวงจงหยั่งลงสู่
                         ศาสนาของพระโลกนาถ แล้วเป็นผู้มีส่วนแห่งวิมุติรส ด้วย
                         ข้อปฏิบัติมีศีลเป็นต้นอันบริสุทธิ์
                                   ขอศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงดำรงอยู่ใน
                         โลกตลอดกาลนาน ขอให้สัตว์ทุกหมู่เหล่าจงมีความเคารพ
                         ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นนิตย์
                         นิรันดร์ แม้ฝนก็จงหลั่งลงยังพื้นปฐพีดล โดยถูกต้องตาม
                         ฤดูกาล ขอท่านผู้ยินดีในพระสัทธรรมจงปกครองชาวโลก
                         โดยธรรม เทอญ.
               จบสังวรรณนาเปตวัตถุ อันท่านพระภัททันตาจาริยธรรมปาละผู้เป็นนักบวชผู้ประเสริฐในหมู่มุนี ผู้อยู่ในพทรติตถวิหารรจนา.
               จบบริบูรณ์               
               -----------------------------------------------------               

               รวมเรื่องที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
                         ๒. เสริสสกเปตวัตถุ
                         ๓. นันทิกาเปตวัตถุ
                         ๔. เรวดีเปตวัตถุ
                         ๕. อุจฉุเปตวัตถุ
                         ๖. กุมารเปตวัตถุ
                         ๗. ราชปุตตเปตวัตถุ
                         ๘. คูถขาทิกเปตวัตถุที่ ๑
                         ๙. คูถขาทิกเปตวัตถุที่ ๒
                         ๑๐. คณเปตวัตถุ
                         ๑๑. ปาฏลิปุตตเปตวัตถุ
                         ๑๒. อัมพวนเปตวัตถุ
                         ๑๓. อักขรุกขเปตวัตถุ
                         ๑๔. โภคสังหรเปตวัตถุ
                         ๑๕. เสฏฐิปุตตเปตวัตถุ
                         ๑๖. สัฏฐีกูฏสหัสสเปตวัตถุ
               จบมหาวรรคที่ ๔               
               เปตวัตถุจบบริบูรณ์               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔ ๑๖. สัฏฐีกูฏสหัสสเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 135อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 136อ่านอรรถกถา 26 / 137อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=4923&Z=4961
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=6736
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=6736
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :