ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 136อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 137อ่านอรรถกถา 26 / 138อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต
ปฐมวรรค ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในเอกกนิบาต วรรคที่ ๑

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               นิทานกถาวรรณนา               
               ก็ในเถรคาถาและเถรีคาถาเหล่านี้ ซึ่งมีจำนวนตามที่กำหนดไว้แล้วอย่างนี้ เถรคาถาเป็นคาถาต้น. แม้ในบรรดาเถรคาถาเหล่านั้น คาถาที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้เพื่อชมเชยพระเถระเหล่านั้น ในคราวทำปฐมสังคายนานี้ว่า
                                   ขอท่านทั้งหลายจงฟังคาถาอันน้อมเข้าไปสู่
                         ประโยชน์ ของพระเถระทั้งหลาย ผู้มีตนอันอบรม
                         แล้วบันลืออยู่ ดุจการบันลือแห่งสีหะทั้งหลาย ซึ่ง
                         เป็นสัตว์ประเสริฐกว่าเหล่าสัตว์ที่มีเขี้ยวทั้งหลาย ที่
                         ใกล้ถ้ำภูเขา ฉะนั้น ดังนี้ เป็นคาถาแรก.

               ศัพท์ว่า สีหะ ในบทว่า สีหานํ ในคาถานั้นมาแล้ว ในความหมายว่าพญาเนื้อ ดังในประโยคว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ราชสีห์เป็นพญาเนื้อ. มาในความหมายว่าบัญญัติ ดังในประโยคว่า ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยที่ซึ่งพระองค์เสด็จประทับอยู่. มาในความหมายว่าตถาคต ดังในประโยคว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า สีหะ นี้เป็นชื่อของเราผู้ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               ในความหมาย ๓ อย่างนั้น ในความหมายว่าตถาคต สีหศัพท์มาแล้วในความหมายว่าคล้ายกันฉันใด แม้ในคาถานี้ก็ฉันนั้น สีหศัพท์พึงทราบว่า มาแล้วด้วยสามารถแห่งความหมายว่าคล้ายกัน.
               เพราะฉะนั้น บทว่า สีหานํ ว จึงตัดบทเป็น สีหานํ อิว (แปลว่า ดุจราชสีห์) ลบสระเสียด้วยอำนาจสนธิ ดังในประโยคเป็นต้นว่า เอวํ ส เต ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิว เป็นบทนิบาต.
               บทว่า สุณาถ เป็นบทอาขยาต นอกนี้เป็นบทนาม และบทว่า สีหานํว ในเวลาเชื่อมความใช้เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ก็และการเชื่อมความในบทว่า สีหานํว นี้ ถึงท่านจะไม่ได้กล่าวไว้โดยสรุปก็จริง แต่โดยอรรถ ย่อมชื่อว่าเป็นอันท่านกล่าวไว้แล้วทีเดียว. เพราะเหมือนอย่าง เมื่อพูดว่า โอฏฺฐสฺเสว มุขํ เอตสฺส ดังนี้ ก็เท่ากับพูดความนี้ว่า หน้าของเขาเหมือนหน้าอูฐฉันใด แม้ในข้อนี้ก็ฉันนั้น เมื่อพูดว่า สีหานํว ก็เท่ากับพูดความนี้ว่า เหมือนการบันลือของสีหะ ฉะนั้น.
               ถ้าจะต่อศัพท์ว่า มุขะ เข้าในบทว่า โอฏฺฐสฺเสว ได้ไซร้ แม้ในบทว่า สีหานํว นี้ ก็ต่อบทว่า นทนฺตานํ เข้าได้ (เหมือนกัน) เพราะฉะนั้น บทว่า สีหานํ ว จึงเป็นบทตัวอย่างที่นำมาแสดงให้เห็น.
               บทว่า นทนฺตานํ แสดงถึงความเกี่ยวเนื่องกันของบทว่า สีหานํว นั้นโดยเป็นตัวอย่างที่นำมาแสดงให้เห็น.
               บทว่า ทาฐีนํ เป็นวิเสสนะของบทว่า สีหานํ.
               บทว่า คิริคพฺภเร แสดงถึงที่ซึ่งราชสีห์นั้นเที่ยวไป.
               บทว่า สุณาถ เป็นคำเชิญชวนในการฟัง.
               บทว่า ภาวิตตฺตานํ แสดงถึงมูลเค้าของสิ่งที่ควรฟัง.
               บทว่า คาถา ได้แก่ คำที่แสดงถึงเรื่องที่น่าฟัง.
               บทว่า อตฺถูปนายิกา เป็นวิเสสนะของบทว่า คาถา.
               แท้จริงคำว่า สีหานํ นทนฺตานํ ทาฐีนํ ในคาถานี้มาแล้ว โดยเป็นปุงลิงค์โดยแท้ แต่เปลี่ยนลิงค์เสียแล้ว พึงทราบความแม้โดยเป็นอิตถีลิงค์ว่า สีหีนํ เป็นต้น.
               อีกอย่าง โดยรูปเอกเสสสมาส ทั้งราชสีห์และนางราชสีห์ ชื่อว่าสีหะ.
               ก็บรรดาบทเหล่านั้น โดยบทมีอาทิว่า สีหานํ นิทานคาถาทั้ง ๓ คาถาเหล่านี้ใช้ได้ทั่วไปทั้งเถรคาถาและเถรีคาถา.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า สีหานํว นั้นต่อไป
               ชื่อว่าสีหะ เพราะอดทน และเพราะฆ่า. อธิบายว่า เปรียบเหมือนราชสีห์ที่เป็นพญามฤค ย่อมไม่มีอันตรายแม้จากสรภมฤคและช้างที่ตกมันแล้วเป็นต้น เพราะประกอบไปด้วยพลังพิเศษ แม้อันตรายจากลมและแดดเป็นต้น ราชสีห์ก็อดทนได้ทั้งนั้น แม้เมื่อออกหากินพบช้างตระกูลคันธะตกมันและกระบือป่าเป็นต้น ก็ไม่หวาดหวั่น ไม่พรั่นพรึงผจญได้ เพราะผยองในเดช และเมื่อผจญก็จะฆ่าสัตว์เหล่านั้นได้โดยแท้ แล้วกัดกินเนื้ออ่อนในที่นั้นๆ อยู่ได้อย่างสบายทีเดียวฉันใด
               พระมหาเถระทั้งหลายแม้เหล่านี้ก็ฉันนั้น ไม่หวาดหวั่น ไม่พรั่นพรึงแม้แต่ที่ไหนๆ เพราะมีความผยองในเดช โดยละอันตรายแม้ทั้งปวงเสียได้ เพราะประกอบไปด้วยคุณพิเศษอันเป็นกำลังของพระอริยะ เพราะครอบงำพลังแห่งสังกิเลสมีราคะเป็นต้น แล้วฆ่าเสียคือละได้ ย่อมอยู่โดยสุขมีสุขในฌานเป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าสีหะ เพราะเป็นประดุจราชสีห์ โดยอดทนและโดยการฆ่า.
               แต่โดยอรรถแห่งศัพท์ พึงทราบว่า ชื่อว่าสีหะ ด้วยอรรถว่าเบียดเบียน เหมือนอย่างสิ่งที่ชาวโลกเรียกกันว่าเปรียง ด้วยอรรถว่าเป็นที่ชอบใจ โดยย้ายอักษรข้างต้นมาไว้ข้างหลัง.
               แม้ที่ชื่อว่าราชสีห์ ด้วยอรรถว่าอดกลั้น ก็พึงทราบอย่างนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ไกรสรราชสีห์พญามฤคตัวเดียวเที่ยวไปอยู่เพราะความผยองในเดชของตน ไม่หวังเอาสัตว์ไรๆ เป็นสหายฉันใด แม้พระเถระเหล่านี้ก็ฉันนั้น ชื่อว่าสีหะ เพราะเป็นดุจสีหะ เพราะความเป็นผู้ยินดียิ่งในวิเวก และแม้เพราะอรรถว่าเป็นผู้เดียวเที่ยวไป เพราะเที่ยวไปแต่ผู้เดียว โดยความเป็นผู้สูงด้วยเดช.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สีหํเวกจรํ นาคํ (เป็นเหมือนราชสีห์และช้างใหญ่ เที่ยวไปโดดเดี่ยว) ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระมหาเถระเหล่านี้ ชื่อว่าสีหะ เพราะอรรถว่าเป็นดุจสีหะ เพราะประกอบไปด้วยคุณพิเศษ มีความไม่สะดุ้ง ว่องไวและความพยายามเป็นต้น.
               สมดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๒ จำพวกนี้ เมื่อฟ้าผ่าย่อมไม่สะดุ้ง ๒ จำพวกเป็นไฉน? คือ ภิกษุผู้ขีณาสพ ๑ สีหมฤคราช ๑
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๒ จำพวกนี้แล เมื่อฟ้าผ่าย่อมไม่สะดุ้ง ดังนี้
               แม้ความว่องไวของราชสีห์ก็ไม่สาธารณะทั่วไปกับสัตว์เหล่าอื่น แม้ความแกล้วกล้าก็เหมือนกัน (คือไม่เหมือนสัตว์อื่น).
               จริงอย่างนั้น ราชสีห์กระโดดไปได้ไกลถึง ๑๐๐ อุสภะตกลงในหมู่กระบือป่าเป็นต้น ถึงแม้จะเป็นลูกราชสีห์ก็ยังต่อสู้ช้างที่ตกมัน ซึ่งทำลายปลอกออกได้ เคี้ยวกินเนื้ออ่อนที่ติดโคนงาได้.
               ส่วนกำลังแห่งอริยมรรคและกำลังแห่งฤทธิ์ของพระมหาเถระเหล่านั้น ก็ไม่สาธารณะทั่วไปกับภิกษุเหล่าอื่น เป็นทั้งความเพียรในสัมมัปปธาน ๔ เป็นทั้งบุญอันประเสริฐยิ่ง.
               เพราะฉะนั้น บทว่า สีหานํว จึงได้ความว่า ดุจเหมือนราชสีห์.
               ก็ในข้อนี้ พึงทราบว่า ท่านอุปมาราชสีห์ไว้ต่ำๆ เพราะประโยชน์มีความอดกลั้นเป็นต้นอันเป็นคุณพิเศษล่วงส่วนได้ในพระเถระทั้งหลายเท่านั้น.
               บทว่า นทนฺตานํ ความว่า คำรามอยู่. อธิบายว่า ในเวลามุ่งหาอาหารและเวลายินดีเป็นต้น. ราชสีห์ทั้งหลายออกจากถ้ำของตนแล้ว บิดกายบันลือสีหนาท น่าเกรงขามฉันใด แม้พระมหาเถระเหล่านี้ก็ฉันนั้น จะบันลือลั่นน่าเกรงขาม ในเวลาพิจารณาอารมณ์อันเป็นไปในภายใน และเวลาอุทานเป็นต้น.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ดุจการบันลือของราชสีห์ทั้งหลาย ดังนี้.
               บทว่า ทาฐีนํ แปลว่า มีเขี้ยว. อธิบายว่า มีเขี้ยวประเสริฐ มีเขี้ยวงามยิ่ง. อธิบายว่า ราชสีห์ทั้งหลายข่มขวัญปรปักษ์ด้วยกำลังของเขี้ยวทั้ง ๔ ที่มั่นคงและกล้าแข็งอย่างยิ่ง แล้วยังมโนรถของตนให้ถึงที่สุดได้ฉันใด แม้พระมหาเถระเหล่านี้ก็ฉันนั้น ข่มกิเลสอันเป็นปรปักษ์ที่ตนยังครอบงำไม่ได้ในสงสาร ที่หาเบื้องต้นมิได้ ด้วยกำลังแห่งเขี้ยวคืออริยมรรคทั้ง ๔ ยังมโนรถของตนให้ถึงที่สุดได้.
               แม้ในอธิการนี้ พระอริยมรรคชื่อว่าเขี้ยว เพราะเป็นดุจเขี้ยว เพราะฉะนั้น พึงทราบความโดยความหมายที่คล้ายกันเท่านั้น.
               บทว่า คิริคพฺภเร แปลว่า ใกล้ถ้ำภูเขา. (บทว่า คิริคพฺภเร) เป็นสัตมีวิภัตติลงในอรรถว่าใกล้. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า คิริควฺหเร.
               ความว่า ที่ชัฎแห่งป่าคือไพรสณฑ์ ใกล้ภูเขา.
               ก็คำว่า คิริคพฺภเร นี้เป็นคำแสดงถึงสถานที่อันรุ่งโรจน์ และแสดงถึงภาคพื้นที่ควรบันลือสีหนาทของราชสีห์เหล่านั้น.
               ประกอบความว่า ของราชสีห์ทั้งหลายซึ่งบันลืออยู่ ที่ใกล้ถ้ำภูเขา ดังนี้.
               ก็ราชสีห์ทั้งหลาย เมื่ออยู่ที่ใกล้ถ้ำภูเขา คือในที่ซึ่งสงัดจากผู้คน เพราะราชสีห์เป็นสัตว์ที่คนและสัตว์อื่นเข้าใกล้ได้ยาก จะบันลือสีหนาทในเวลาไปหากิน เพื่อป้องกันความสะดุ้งกลัวของหมู่มฤคเล็กๆ ที่จะบังเกิดขึ้นเพราะเห็นตนฉันใด แม้พระมหาเถระเหล่านี้ เมื่ออยู่ในสุญญาคาร เช่นเดียวกับถ้ำภูเขา ที่คนเหล่าอื่นเข้าใกล้ได้ยากทีเดียว ก็บันลือ (สีหนาท) อย่างไม่เกรงใคร กล่าวคือคาถาที่กล่าวไว้ เพื่อหลีกเว้นความสะดุ้งหวาดเสียวเล็กๆ น้อยๆ ด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิของปุถุชนผู้ด้อยคุณธรรม.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สีหานํว นทนฺตานํ ทาฐีนํ คิริคพฺภเร (แปลว่า ดุจการบันลือของสีหะทั้งหลาย ซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐกว่าเหล่าสัตว์ที่มีเขี้ยวทั้งหลาย ที่ใกล้ถ้ำภูเขา) ดังนี้.
               บทว่า สุณาถ เป็นคำกล่าวบังคับให้ฟัง.
               พระอานนทเถระประสงค์จะให้เกิดความเป็นผู้ใคร่จะฟัง ให้เกิดความสนใจในการฟัง ปลุกให้เกิดความอุตสาหะ ให้เข้าไปตั้งไว้ซึ่งความเคารพและความนับถืออย่างมาก แก่บริษัทที่มาประชุมกัน (เพื่อฟัง) คาถาทั้งหลายที่พระเถระนั้นกล่าวอยู่.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบความแห่งบทว่า สีหานํ เป็นต้น ด้วยสามารถแห่งความสูงสุดอย่างเดียว โดยเว้นจากการกำหนดสัตว์ที่เสมอกัน.
               อธิบายว่า เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงฟังคาถาที่คล้ายกับการบันลือสีหนาทอย่างไม่หวั่นกลัวของพระเถระเหล่านั้น เหมือนการบันลือสีหนาทของราชสีห์ที่เป็นราชาของมฤคบันลืออยู่คือคำรามอยู่ แบบราชสีห์คำรามที่ใกล้ถ้ำภูเขา ของสัตว์ชื่อว่ามีเขี้ยวทั้งหลาย เพราะมีเขี้ยวประเสริฐ งดงาม โดยความเป็นเขี้ยวที่มั่นคงแหลมคม.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ท่านทั้งหลายจงฟังคาถาอันกระทำความสะดุ้งหวาดเสียวแก่ชนผู้ประมาทแล้ว ชื่อว่าเป็นการบันลืออย่างไม่หวั่นเกรง เพราะเหตุแห่งภัยทั้งหลาย ท่านละได้แล้วด้วยดี โดยประการทั้งปวง เช่นเดียวกับการบันลือสีหนาทของพระเถระทั้งหลาย ผู้มีตนอันอบรมแล้ว ผู้ไม่ประมาทแล้ว เหมือนการบันลืออย่างไม่หวั่นเกรงนั้น กระทำความหวาดเสียวแก่มฤคอื่นจากราชสีห์นั้น เพราะไม่มีภัยแม้แต่ที่ไหนๆ ของราชสีห์ที่เป็นราชาแห่งหมู่มฤค บันลือสีหนาทอยู่ ฉะนั้น.
               บทว่า ภาวิตตฺตานํ ได้แก่ ผู้มีจิตอันอบรมแล้ว.
               อธิบายว่า จิตท่านเรียกว่าตน ดังในประโยคมีอาทิว่า ได้ยินว่าตนแลฝึกได้ยาก ผู้ใดแลมีจิตตั้งมั่นแล้ว จะเป็นผู้ซื่อตรงดุจกระสวยทอผ้าฉะนั้น และดุจในประโยคมีอาทิว่า ตั้งใจไว้ชอบดังนี้.
               เพราะฉะนั้น จึงได้ความว่า ของพระอริยบุคคลผู้ยังจิตให้เจริญยิ่งแล้วด้วยสมถะและวิปัสสนา โดยการประกอบเนืองๆ ซึ่งอธิจิต คือท่านผู้ยังจิตให้ถึงที่สุด แห่งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา แล้วดำรงอยู่.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ภาวิตตฺตานํ ความว่า มีตนอันอบรมแล้วเป็นสภาพ.
               อธิบายว่า มีตนอันอบรมแล้วด้วยคุณมีศีลเป็นต้นอันเป็นแล้วตามสภาพ.
               ที่ชื่อว่าคาถา เพราะเป็นถ้อยคำอันท่านร้อยกรองไว้ ได้แก่ ถ้อยคำ ๔ บท หรือ ๖ บทที่ฤษีทั้งหลายประพันธ์ไว้โดยเป็นฉันท์มีอนุฏฐุภฉันท์เป็นต้น. เพราะเหตุที่ฉันท์แม้อื่นมีลักษณะคล้ายกับอนุฏฐุภฉันท์ ท่านจึงมีเรียกว่า คาถา (เหมือนกัน).
               คาถา ชื่อว่าอัตถูปนายิกา เพราะอรรถว่าน้อมเข้าไปซึ่งประโยชน์ทั้งหลายมีประโยชน์ตนเป็นต้น หรือเพราะน้อมตนเข้าไปในประโยชน์เหล่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ภาวิตตฺตานํ แปลว่า มีอัตภาพอันเจริญแล้ว.
               อธิบายว่า อัตภาพท่านเรียกว่าอัตตา เพราะเป็นที่ตั้งแห่งมานะว่า เป็น "เรา" ก็และอัตตานั้นอันอัตภาพเหล่านั้นอบรมแล้วด้วยอัปปมาทภาวนา (และ) อนวัชชภาวนา คือให้ถือเอากลิ่น แห่งคุณธรรมได้โดยชอบทีเดียว.
               พระอานนทเถรเจ้าแสดงความบริบูรณ์แห่งภาวนาแม้ทั้ง ๔ คือ กายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา ปัญญาภาวนาเหล่านั้น ไว้ด้วยบทว่า ภาวิตตฺตานํ นั้น. และทางดำเนินไปสู่พระสัมโพธิญาณ ในที่นี้ท่านประสงค์เอาว่าภาวนา.
               ก็การตรัสรู้ สัจจะนี้มี ๒ อย่าง คือ โดยการตรัสรู้ ๑ และโดยอรรถแห่งสัจจะนั้น ๑.
               ส่วนสัมโพธินั้นมี ๓ อย่าง คือ สัมมาสัมโพธิญาณ ๑ ปัจเจกสัมโพธิญาณ ๑ สาวกสัมโพธิญาณ ๑.
               ในบรรดาสัมโพธิ ๓ อย่างนั้น ชื่อว่า สัมมาสัมโพธิ เพราะรู้ คือตรัสรู้ธรรมทั้งปวง โดยชอบด้วยพระองค์เอง. มรรคญาณที่เป็นปทัฎฐานของสัพพัญญุตญาณ และสัพพัญญุตญาณที่เป็นปทัฏฐานของมรรคญาณ ท่านเรียกว่าสัมมาสัมโพธิญาณ
               ด้วยเหตุนั้น ท่านพระอานนทเถระจึงกล่าวว่า พระนามว่า พุทฺโธ ได้แก่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระสัพพัญญู ไม่มีอาจารย์ ตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งสัจจะทั้งหลายเอง ในธรรมทั้งหลายที่พระองค์ไม่เคยได้ยินมาในกาลก่อน เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมเหล่านั้น และถึงแล้วซึ่งความเป็นผู้ชำนาญในพลธรรมทั้งหลาย ดังนี้.
               แท้จริง ความเป็นผู้ชำนาญในพลธรรมทั้งหลาย มีการตรัสรู้ธรรมที่ควรตรัสรู้เป็นอรรถ. ชื่อว่าปัจเจกสัมโพธิ เพราะตรัสรู้ด้วยตนเองทีเดียวเป็นส่วนตัว. อธิบายว่า ไม่ได้ตรัสรู้ตามใคร ได้แก่ ตรัสรู้สัจจธรรมด้วยสยัมภูญาณ.
               ความจริง การตรัสรู้สัจจธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย แม้เป็นไปอยู่ด้วยพระองค์เองทีเดียว โดยเป็นสยัมภูญาณ ชื่อว่ามีผู้ตรัสรู้ตาม เพราะเป็นเหตุแห่งการตรัสรู้สัจจธรรมของสัตว์ทั้งหลายหาประมาณไม่ได้.
               ก็การบรรลุสัจจะนั้นของเหล่าสัตว์ผู้หาประมาณมิได้เหล่านี้ ย่อมไม่เป็นเหตุแห่งการตรัสรู้สัจจธรรมของสัตว์แม้คนเดียว. ชื่อว่าสาวก เพราะเกิดในที่สุดแห่งการฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา. การตรัสรู้สัจจธรรมของพระสาวกทั้งหลาย ชื่อว่า สาวกสัมโพธิ.
               ก็การตรัสรู้ ๓ อย่างแม้นี้ของพระโพธิสัตว์ ๓ จำพวก พึงทราบว่า ยังการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการมีสติปัฏฐานเป็นต้นให้บริบูรณ์ เพื่อถึงที่สุดแห่งปฏิปทาที่จะมาถึงตามลำดับของตน (รอความบริบูรณ์แห่งบารมีของตน) เพราะเว้นโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนั้น การตรัสรู้นอกนี้จะมีไม่ได้.
               อธิบายว่า เว้นการตรัสรู้ด้วยสัจฉิกิริยากิจเสียแล้ว การตรัสรู้ด้วยภาวนากิจจะเกิดไม่ได้เลย. และเมื่อมีการตรัสรู้ภาวนากิจ การตรัสรู้ด้วยปหานกิจ และการตรัสรู้ด้วยปริญญากิจ ย่อมชื่อว่าเป็นอันสำเร็จแล้วทีเดียว.
               ก็ในเวลาที่พระมหาโพธิสัตว์เจ้าบำเพ็ญโพธิสมภารเสร็จบริบูรณ์แล้วในภพสุดท้าย บำเพ็ญบุพกิจเสร็จสิ้นแล้ว เสด็จขึ้นสู่โพธิมณฑล ทรงตั้งปฏิญญาว่า เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้ จนกว่าจิตของเราจักหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น (ถือมั่น) ดังนี้แล้ว ประทับนั่งบนอปราชิตบัลลังก์ (บัลลังก์ที่พญามารมิอาจผจญได้) ยังไม่ทันถึงเวลาเย็น ก็ทรงกำจัดมารและพลแห่งมารเสียได้
               ทรงระลึกถึงขันธ์ที่พระองค์เคยอยู่อาศัยมาแล้วในก่อน ในโวการภพที่มีอาการมิใช่น้อย ด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ ในปุริมยาม (ยามต้น) ทรงบรรลุจตูปปาตญาณและอนาคตังสญาณด้วยการชำระทิพยจักษุให้บริสุทธิ์ ในมัชฌิมยาม (ยามกลาง) ทรงตั้งมั่นซึ่งวิปัสสนา โดยมุขคือปฏิจจสมุปบาท จำเดิมแต่ชราและมรณะ โดยนัยมีอาทิว่า สัตวโลกนี้ถึงความลำบากหนอย่อมเกิด แก่ ตาย จุติและอุปบัติ
               ก็และถึงอย่างนั้นก็ยังไม่รู้จัก (พระนิพพาน) อันเป็นเครื่องสลัดทุกข์นี้คือชราและมรณะ เป็นพระโลกนาถลับขวานคือพระญาณเพื่อจะตัดเสียซึ่งชัฎคือกิเลส ดุจลับขวานที่หินสำหรับลับ เพื่อจะตัดชัฏใหญ่ (ถางป่าใหญ่) ฉะนั้น ทรงยังวิปัสสนาให้ตั้งท้อง โดยการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เพราะเหตุสมบัติ คือความเป็นพระพุทธเจ้าถึงความแก่กล้า ทรงเข้าสมาบัติต่างๆ ในระหว่างๆ ทรงยกนามรูปตามที่ทรงกำหนดแล้วขึ้นสู่ไตรลักษณ์ พิจารณาสังขารในโวการภพมีอาการมิใช่น้อยด้วยสามารถแห่งการพิจารณาธรรมตามลำดับบท ยังสัมมสนวารให้พิสดารแล้วโดยมุขแห่งธรรม ๓๖ แสนโกฏิ.
               เมื่อวิปัสสนาญาณกล่าวคือมหาวชิรญาณ ในสัมมสนญาณนั้นแก่กล้า ผ่องใส เป็นไปโดยความเป็นวุฏฐานคามินี ทรงสืบต่อสัมมสนญาณนั้นด้วยมรรคได้ในเวลาใด ในเวลานั้นทรงยังกิเลส ๑,๕๐๐ ให้สิ้นไปโดยลำดับแห่งมรรค ชื่อว่าย่อมตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ในขณะแห่งมรรคอันเลิศ (อรหัตมรรค) จำเดิมแต่ขณะแห่งผลอันเลิศ (อรหัตผล) ชื่อว่าทรงบรรลุแล้วในปัจฉิมยาม (ยามสุดท้าย).
               ก็แม้ทศพลญาณและเวสารัชชญาณเป็นต้น ชื่อว่าย่อมอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระองค์ในเวลานั้น เพราะความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น ข้อนี้จึงจัดเป็นปฏิปทาแห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ โดยการตรัสรู้ก่อน ส่วนโดยใจความแห่งสัมมาสัมโพธิปฏิปทานั้น ได้แก่การเพิ่มพูนโพธิสมภารอันเป็นแล้วในระหว่างที่ทรงบังเกิดในดุสิตพิภพ จนถึงแสดงมหาภินิหาร. คำที่ควรกล่าวถึงในการเพิ่มพูนพระโพธิสมภารนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วสมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวงในอรรถกถาจริยาปิฎก เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงถือเอาโดยนัยที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในอรรถกถาแห่งจริยาปิฎกนั้นเทอญ.
               ฝ่ายพระปัจเจกโพธิสัตว์ทั้งหลายบำเพ็ญอภินิหารเพื่อเป็นพระปัจเจกโพธิ มีปัจเจกโพธิสมภารอันสร้างสมมาแล้วโดยลำดับ ดำรงอยู่ในอัตภาพสุดท้ายในเวลาเช่นนั้น ถือเอาสังเวคนิมิต อันปรากฎแล้วโดยความที่ญาณถึงความแก่กล้า เห็นโทษในภพเป็นต้น โดยไม่แปลกกัน กำหนดปวัตติกาลและเหตุแห่งปวัตติกาล นิวัตติกาลและเหตุแห่งนิวัตติกาลด้วยสยัมภูญาณ เพิ่มพูนจตุสัจจกัมมัฏฐานมีสัจจะ ๔ เป็นอารมณ์โดยนัยอันมาแล้ว มีอาทิว่า ท่านมนสิการอยู่โดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ ดังนี้. พิจารณาทบทวนสังขารทั้งหลายตามสมควรแก่อภินิหารของตน ขวนขวายวิปัสสนาโดยลำดับ บรรลุมรรคอันเลิศตามลำดับมรรค ชื่อว่าย่อมตรัสรู้ ปัจเจกสัมโพธิญาณ จำเดิมแต่ขณะแห่งผลอันเลิศ (อรหัตผล) ไป ชื่อว่าเป็นพระปัจเจกสัมพุทธะ ย่อมเป็นพระอรรคทักขิไณยบุคคลของโลก พร้อมทั้งเทวโลก.
               ส่วนสาวกหรือเพื่อนสพรหมจารีของพระศาสดา ฟังกัมมัฏฐานอันมีสัจจธรรมทั้ง ๔ เป็นอารมณ์ ดำรงตาม คือเพียรพยายามปฏิบัติ ข้อปฏิบัติเกิดแต่กัมมัฏฐานนั้น ขวนขวายวิปัสสนาหรือเมื่อปฏิปทา เจริญขึ้น แทงตลอดสัจจะทั้งหลาย ชื่อว่าย่อมบรรลุสาวกสัมโพธิญาณ ในภูมิแห่งอรรคสาวกที่สำเร็จตามสมควรแก่อภินิหารของตน หรือในขณะแห่งมรรคอันเลิศอย่างเดียว. ต่อแต่นั้นย่อมชื่อว่าเป็นการตรัสรู้ของสาวก เป็นอรรคทักขิไณยบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก. ปัจเจกสัมโพธิ และสาวกสัมโพธิ พึงทราบโดยการตรัสรู้ดังพรรณนามานี้ก่อน.
               แต่โดยความหมายแห่งสัมมาสัมโพธิญาณของพระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลายนั้น โดยกำหนดอย่างต่ำต้องปรารถนาการเพิ่มพูนโพธิสมภารตลอดเวลา ๔ อสงไขย (กำไร) แสนมหากัป. โดยกำหนดอย่างกลาง ต้องปรารถนาการเพิ่มพูนโพธิสมภารตลอดเวลา ๘ อสงไขย (กำไร) แสนมหากัป. โดยกำหนดอย่างสูง ต้องปรารถนาการเพิ่มพูนโพธิสมภารตลอดเวลาถึง ๑๖ อสงไขย (กำไร) แสนมหากัป.
               และข้อแตกต่างกันเหล่านี้ พึงทราบด้วยสามารถแห่งบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้ที่เป็นปัญญาธิกะ สัทธาธิกะและวิริยาธิกะ.
               อธิบายว่า ผู้ที่เป็นปัญญาธิกะ ย่อมมีศรัทธาอ่อน แต่มีปัญญากล้าแข็ง และต่อจากนั้นไปไม่นาน บารมีก็จะถึงความบริบูรณ์ เพราะความเป็นผู้ฉลาดในอุบาย เป็นภาวะผ่องใส และละเอียดอ่อน
               ผู้ที่เป็นสัทธาธิกะ ย่อมมีปัญญาปานกลาง เพราะฉะนั้น บารมีของพระโพธิสัตว์ผู้เป็นสัทธาธิกะเหล่านั้น จึงถึงความบริบูรณ์ไม่เร็วเกินไป และไม่ช้าเกินไป.
               ส่วนผู้ที่เป็นวิริยาธิกะ ย่อมมีปัญญาน้อย เพราะฉะนั้น บารมีของพระโพธิสัตว์ผู้วิริยาธิกะเหล่านั้น จึงถึงความบริบูรณ์โดยการเนิ่นนานทีเดียว.
               สำหรับพระปัจเจกโพธิสัตว์ไม่อย่างนั้น. อธิบายว่า ท่านเหล่านั้นแม้ถึงจะมีบารมีเป็นปัญญาธิกะ ก็ยังต้องปรารถนาการเพิ่มพูนโพธิสมภารตลอดเวลา ๒ อสงไขย (กำไร) แสนกัป (แต่) ไม่ต่ำกว่านั้น. แม้ท่านผู้เป็นสัทธาธิกะและวิริยาธิกะล่วงเลยกัปอื่นจากกำหนดที่กล่าวแล้วไปเล็กน้อยเท่านั้น ก็ย่อมบรรลุปัจเจกสัมโพธิญาณ แต่ไม่ถึงอสงไขยที่ ๓.
               สำหรับพระโพธิสัตว์ผู้เป็นสาวกบำเพ็ญอภินิหารเพื่อความเป็นอรรคสาวก ต้องปรารถนาการเพิ่มพูนโพธิสมภาร สิ้นเวลา ๑ อสงไขย (กำไร) แสนกัป.
               สำหรับผู้ที่เป็นมหาสาวก (บำเพ็ญอภินิหาร เพื่อความเป็นมหาสาวก) ต้องปรารถนาการเพิ่มพูนโพธิสัมภาร สิ้นเวลาแสนกัปเท่านั้น. ถึงพระพุทธมารดา พระพุทธบิดา พุทธอุปัฏฐากและพระพุทธชิโนรส ก็เหมือนกัน (คือใช้เวลาเพิ่มพูนโพธิสมภารแสนกัป).
               ในอธิการนั้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               เมื่อพระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้ตั้งปณิธานโดยรวบรวมธรรม ๘ ประการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า
                         เพราะประชุมแห่งธรรม ๘ ประการ
                         คือ ความเป็นมนุษย์ ๑ ความสมบูรณ์ด้วยเพศ ๑ เหตุ ๑
                         การพบพระศาสดา ๑ บรรพชา ๑ คุณสมบัติ ๑ อธิการ ๑
                         ความเป็นผู้มีฉันทะ ๑ อภินิหารจึงสำเร็จได้ ดังนี้.

               จำเดิมแต่บำเพ็ญมหาภินิหาร ขวนขวายแล้วๆ เล่าๆ ในทานเป็นต้นเป็นพิเศษถวายมหาทานเช่นกับทานของพระเวสสันดร ทุกๆวัน แม้สั่งสมอยู่ซึ่งบารมีธรรมทุกอย่าง มีศีลอันสมควรแก่มหาทานนั้นเป็นต้น ขึ้นชื่อว่าการบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า ย่อมไม่มีในระหว่างได้เลย เพราะยังไม่ถึงกำหนดเวลาตามที่กล่าวแล้ว.
               เพราะเหตุไร? เพราะพระญาณยังไม่สุกเต็มที่.
               อธิบายว่า พระญาณของพระพุทธเจ้าถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ตั้งท้อง ย่อมถึงความสุกงอม ดุจข้าวกล้าที่ให้สำเร็จแล้วในเวลาที่กำหนดฉันใด ดังนั้น การบรรลุปัจเจกสัมโพธิญาณและสาวกสัมโพธิญาณ ในระหว่างนั้นแหละโดยยังไม่ถึงกำหนดเวลาตามที่กล่าวแล้วในที่นั้นๆ ย่อมไม่มีแก่พระปัจเจกโพธิสัตว์ผู้กระทำอภินิหาร ประมวลธรรม ๕ ประการเหล่านี้ คือ
                         ความเป็นมนุษย์ ๑ ความสมบูรณ์ด้วยเพศ ๑
                         การเห็นท่านผู้ปราศจากอาสวะ ๑ อธิการ ๑
                         ความเป็นผู้มีฉันทะ ๑ เหล่านี้ รวมเป็นเหตุ
                         แห่งอภินิหาร.

               และแก่พระโพธิสัตว์ผู้เป็นสาวกผู้ตั้งปณิธานไว้ด้วยสามารถแห่งความปรารถนาอันประกอบแล้วด้วยองค์ ๒ คือ อธิการ ๑ ความเป็นผู้มีฉันทะ ๑ ก็ฉันนั้น
               เพราะเหตุใด ? เพราะญาณยังไม่สุกเต็มที่.
               อธิบายว่า ปัญญาบารมีที่ส่งเสริมเพิ่มเติมด้วยบารมีทั้งหลายมีทานบารมีเป็นต้น ของพระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลายแม้เหล่านี้ ย่อมตั้งท้อง ถึงความสุกงอม ยังพระพุทธญาณให้บริบูรณ์โดยลำดับฉันใด ปัญญาบารมีที่ส่งเสริมเพิ่มเติมด้วยบารมีทั้งหลายมีทานบารมีเป็นต้น (ของพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย) ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตั้งท้อง ถึงความสุกงอม ยังพระปัจเจกโพธิญาณและสาวกโพธิญาณให้บริบูรณ์ตามสมควรโดยลำดับ.
               แท้จริง โดยการสั่งสมทานไว้ ท่านเหล่านี้จึงเป็นผู้มีใจไม่ข้องอยู่ในกิเลสทั้งปวง เป็นผู้มีจิตไม่เพ่งเล็ง เพราะมีอัธยาศัยไม่ละโมบในภพนั้นๆ โดยการสั่งสมศีลไว้ จึงเป็นผู้มีกายวาจาและการงานบริสุทธิ์ด้วยดี เพราะมีกายวาจาสำรวมดีแล้ว มีอาชีพบริสุทธิ์ มีทวารอันคุ้มครองแล้ว ในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ย่อมตั้งจิตมั่นด้วยชาคริยานุโยค การประกอบความเพียรของท่านเหล่านั้น
               นี้พึงทราบด้วยสามารถแห่งปัจจาคติกวัตรที่ทำไว้แล้ว.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต ปฐมวรรค ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในเอกกนิบาต วรรคที่ ๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 136อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 137อ่านอรรถกถา 26 / 138อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=4962&Z=4973
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :