ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 180อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 181อ่านอรรถกถา 26 / 182อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๕
๔. สานุเถรคาถา

               อรรถกถาสานุเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระสานุเถระ เริ่มต้นว่า มตํ วา อมฺม โรทนฺติ.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้พระสานุเถระก็มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เข้าไปสั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ เขานำน้ำเข้าไปถวายเพื่อประโยชน์แก่การล้างพระหัตถ์ ล้างพระบาท และบ้วนพระโอฐของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ ในเวลาจะเสวย พระศาสดามีพระประสงค์จะทรงล้างพระหัตถ์และล้างพระบาท. เขาคอยกำหนดอาการของพระศาสดา แล้วนำน้ำเข้าไปถวาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงล้างพระหัตถ์และพระบาทแล้ว ทรงเสวย ได้มีพุทธประสงค์จะบ้วนพระโอฐ. ท่านก็รู้แม้พระอาการนั้น เข้าไปถวายน้ำล้างพระโอฐ พระศาสดาทรงล้างพระโอฐแล้ว ทำการชำระพระโอฐเสร็จแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยความอนุเคราะห์จึงทรงยินดีไวยาวัจกิจที่เขาจัดถวายด้วยอาการอย่างนี้.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญ แล้วท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถือปฏิสนธิในเรือนของอุบาสกคนหนึ่ง ในพระนครสาวัตถี เมื่อเขาอยู่ในท้องมารดา บิดาก็จากไป (อยู่ที่อื่น) พอครบ ๑๐ เดือน อุบาสิกาก็คลอดบุตร ตั้งชื่อเขาว่า สานุ.
               เมื่อสานุกุมารเติบโตขึ้นโดยลำดับ อุบาสิกาก็จัดให้สานุกุมารผู้มีอายุได้ ๗ ขวบเท่านั้นบรรพชาในสำนักของภิกษุทั้งหลาย ด้วยคิดว่า สานุกุมารนี้จักเป็นผู้ไม่มีอันตราย เจริญเติบโต มีความสุขโดยส่วนเดียว ด้วยอุบายอย่างนี้.
               เขามีนามปรากฏว่า สานุสามเณร เป็นผู้มีปัญญา สมบูรณ์ด้วยวัตรเป็นพหูสูต เป็นพระธรรมกถึก เป็นผู้มีอัธยาศัยประกอบด้วยเมตตาในสัตว์ทั้งหลาย ได้เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้
               เรื่องราวทั้งหมด พึงทราบ (อย่างพิสดาร) โดยนัยที่มาแล้วในสานุสูตรนั่นแล.
               ในอดีตชาติ มารดาของสานุสามเณรนั้นเกิดในกำเนิดแห่งยักษ์. ยักษ์ทั้งหลายซึ่งเป็นผู้มากไปด้วยความเคารพ ยำเกรง ย่อมนับถือนาง ด้วยคิดว่า หญิงนี้เป็นมารดาของพระสานุเถระ เมื่อกาลเวลาผ่านไปอย่างนี้ จิตคิดอยากจะสึกก็เกิดขึ้นแก่สานุสามเณรผู้ฟุ้งซ่านอยู่ เพราะไม่มีโยนิโสมนสิการ ดุจประกาศโทษของความเป็นปุถุชน.
               ยักษิณีผู้เป็นมารดาของสานุสามเณร รู้เหตุนั้น จึงบอกแก่มารดาผู้เป็นมนุษย์ว่า สานุสามเณรผู้เป็นบุตรของท่าน เกิดความคิดว่า เราจะสึก. เพราะฉะนั้น ท่านจงไปกล่าวอย่างนี้ว่า
                         ท่านพึงบอกสานุสามเณรผู้ฟื้นขึ้นแล้ว ยักษ์สั่งคำนี้ไว้ว่า
                         ท่านอย่าได้กระทำกรรมอันลามก ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ
                         ถ้าท่านจะกระทำหรือกำลัง กระทำกรรมอันลามกไซร้
                         ถึงท่านจะเหาะหนีไป ก็ไม่พ้นจากทุกข์ ดังนี้.

               ก็และครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นางยักษิณีผู้เป็นมารดาก็อันตรธานไปในที่นั้นเอง. ส่วนมารดาผู้เป็นมนุษย์ฟังคำนั้นแล้ว ถึงความปริเทวนาการและความเศร้าโศก ได้เป็นผู้มีใจเต็มไปด้วยความทุกข์.
               ครั้นในเวลาเช้า สานุสามเณรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังสำนักของมารดา เห็นมารดาร้องไห้อยู่ จึงกล่าวว่า แม่จ๋า แม่ร้องไห้เพราะอาศัยอะไร และมารดาตอบว่า เพราะอาศัยเจ้า จึงได้กล่าวคาถาแก่มารดาว่า
                         แม่จ๋า คนทั้งหลาย เขาพากันร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้ว
                         ร้องไห้ถึงคนที่ยังเป็นอยู่ แต่หายหน้าจากไป ส่วนฉัน
                         ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งปรากฏตัวอยู่ เหตุไรแม่จึงมาร้องไห้ถึง
                         ฉันเล่า?

               คาถานั้นมีใจความดังนี้
               แม่จ๋า ธรรมดาญาติหรือมิตรผู้ร้องไห้ก็ย่อมร้องไห้ถึงญาติหรือมิตรของตนผู้ตายไปแล้ว เพราะล่วงลับไปสู่ปรโลกแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง ญาติก็ดี มิตรก็ดี คนใดยังมีชีวิตอยู่ ไม่ปรากฏเพราะเดินทางไปประเทศอื่น ก็ย่อมร้องไห้ถึงญาติหรือมิตรผู้นั้น
               ก็เหตุแม้ทั้งสองอย่างนี้ไม่มีในฉัน เมื่อเป็นเช่นนั้น แม่เห็นฉันผู้ยังมีชีวิตอยู่ ทรงร่างอยู่ยืนอยู่ข้างหน้า จะร้องไห้ไปทำไมเล่าแม่จ๋า คือการที่แม่ร้องไห้ถึงฉัน ไม่มีเหตุ (อันควร) เลย ดังนี้.
               มารดาของสานุสามเณร ฟังคำนั้นแล้ว เมื่อจะแสดงว่าการสึกจัดเป็นมรณะในวินัยของพระอริยเจ้า โดยทำนองแห่งสุตบทที่ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุใดลาสิกขาเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว นั่นเป็นมรณะของเธอ ดังนี้
               จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาความว่า
                         ลูกเอ๋ย ญาติและมิตรทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงคน
                         ที่ตายแล้ว หรือยังเป็นอยู่แต่หายไป แต่คนใด
                         ละกามทั้งหลายแล้ว จะกลับมาในกามนี้อีก
                         ลูกรัก ญาติและมิตรทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงคน
                         นั้น เพราะเขาเป็นอยู่ต่อไปอีกก็เหมือนตายแล้ว
                         แน่ะพ่อ เรายกเจ้าขึ้นจากเถ้ารึงที่ยังร้อนระอุ
                         แล้ว ท่านอยากจะตกลงไปสู่เถ้ารึงอีกหรือ ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเม จชิตฺวาน ความว่า ละวัตถุกามทั้งหลายโดยมีอัธยาศัยน้อมไปในเนกขัมมะ ก็การละวัตถุกามนั้น พึงทราบด้วยสามารถแห่งการละกิเลสกามด้วยองค์แห่งมรรคนั้น.
               ก็บรรพชา ท่านประสงค์เอาว่าเป็นการสละกาม ในคาถานี้.
               บทว่า ปุนราคจฺฉเต อิธ ความว่า กลับมาในเรือนนี้อีกนั่นเอง. ท่านกล่าวหมายถึง การเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว.
               บทว่า ตํ วาปิ ความว่า บุคคลใดบวชแล้วสึก พวกเราย่อมร้องไห้ถึงบุคคลแม้นั้นแหละ ซึ่งเป็นดุจตายแล้ว.
               ถ้าจะมีคำถามขึ้นว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะถึงเขาจะเป็นอยู่ต่อไปอีก ก็เหมือนคนตายแล้ว คือ ผู้ใดหลังจากสึกไป ยังมีชีวิตอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าตายแล้วจากประโยชน์ทีเดียว เพราะตายจากคุณธรรม.
               บัดนี้เพื่อจะให้สานุสามเณรนั้นเกิดความสลดใจยิ่งขึ้น มารดาจึงกล่าวคำมีอาทิว่า กุกฺกุฬา ดังนี้.
               ใจความของคาถานั้นก็ว่า
               ภาวะของคฤหัสถ์ชื่อว่าเป็นดุจเถ้ารึง เพราะคล้ายกับนรกชื่อว่ากุกกุฬะ ด้วยอรรถว่าเผาไหม้ เพราะดุจถูกไฟเผาแล้วทั้งกลางวันและกลางคืน อันเราผู้มีความอนุเคราะห์ยกขึ้นแล้ว คือถอนขึ้นแล้ว ดูก่อนพ่อสานุ ท่านยังปรารถนาเพื่อจะตกไปสู่เถ้ารึง คือประสงค์จะตกไปสู่เถ้ารึงหรือ ดังนี้.
               สานุสามเณรฟังคำนั้นแล้ว เกิดความสลดใจ เริ่มวิปัสสนา แล้วบรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
               เราเห็นพระสมณะผู้ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว กำลังเสวยอยู่ ได้เอาน้ำในหม้อถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ วันนี้ เราเป็นผู้ไม่เศร้าหมอง ปราศจากมลทิน สิ้นสงสัย ผลย่อมเกิดแก่เราในภพที่เกิดอยู่ ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายน้ำในกาลนั้น ด้วยการถวายน้ำนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายน้ำ.
               ในกัปที่ ๖๑ แต่ภัทรกัปนี้ ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าวิมละ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
               ก็พระเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้วคิดว่า การเริ่มเจริญวิปัสสนาและการบรรลุพระอรหัตเกิดแก่เราด้วยสามารถแห่งคาถานี้ ดังนี้ แล้วจึงได้ยกคาถานั้นแหละโดยเป็นคาถาอุทาน.

               จบอรรถกถาสานุเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๕ ๔. สานุเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 180อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 181อ่านอรรถกถา 26 / 182อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5243&Z=5246
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=3942
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=3942
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :