ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 182อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 183อ่านอรรถกถา 26 / 184อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๕
๖. สมิทธิเถรคาถา

               อรรถกถาสมิทธิเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระสมิทธิเถระ เริ่มต้นว่า สทฺธายาหํ ปพฺพชิโต.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ ท่านเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าสิทธัตถะ เป็นผู้มีใจเลื่อมใสแล้ว ถือเอาดอกไม้พร้อมทั้งขั้วผูกให้เป็นช่อบูชาแล้ว.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาเกิดในเทวโลก กระทำบุญเป็นอันมาก ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่แต่ในสุคติภพ เกิดในเรือนมีตระกูล ในพุทธุปบาทกาลนี้.
               จำเดิมแต่เขาเกิดแล้ว ตระกูลนั้นก็เจริญมั่งคั่ง ด้วยทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นต้น และอัตภาพของเขาก็สวยงาม น่าดู มีคุณสมบัติ. เพราะฉะนั้น เขาจึงมีนามปรากฏว่า "สมิทธิ" เพราะเจริญรุ่งเรืองด้วยทรัพย์สมบัติ และสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ.
               เขาเห็นพุทธานุภาพ ในสมาคมของพระเจ้าพิมพิสาร ได้มีศรัทธาบวชแล้ว หมั่นขวนขวายในภาวนาอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในตโปทาราม.
               วันหนึ่ง ท่านคิดอย่างนี้ว่าเป็นลาภแล้วหนอ พระศาสดาของเราเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และเราก็บวชในพระธรรมวินัยที่พระองค์ตรัสดีแล้ว ทั้งเพื่อนสพรหมจารีของเราก็เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม.
               เมื่อท่านคิดอยู่อย่างนี้ ก็เกิดปีติโสมนัสเป็นล้นพ้น. มารผู้ลามกไม่พอใจ จึงส่งเสียงร้องดังน่ากลัวในที่ไม่ห่างพระเถระ ได้เป็นประหนึ่งว่าแผ่นดินจะถล่ม.
               พระเถระกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มารจงใจทำลวงตาเธอ ไปเถิดภิกษุ เธอไม่ต้องคิดในข้อนั้น จงอยู่ไปเถิด.
               พระเถระไปในที่นั้น แล้วอยู่ขวนขวายวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว ต่อกาลไม่นานนัก.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
               เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าสิทธัตถะ เป็นสารถีฝึกนระ ผู้โชติช่วงดังดอกกรรณิการ์ ประทับนั่งในระหว่างภูเขา ยังทิศทั้งปวงให้สว่างอยู่ ในกาลนั้น เราเอาธนูพาดสายแล้วยิงลูกธนูไป ตัดดอกไม้พร้อมทั้งขั้ว บูชาแด่พระพุทธเจ้า ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา.
               ในกัปที่ ๕๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าชุตินธระ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
               ส่วนมารไม่รู้ว่าพระเถระผู้อยู่ในที่นั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เป็นพระขีณาสพ ก็ได้ส่งเสียงร้องดังน่ากลัว โดยนัยก่อนนั่นแหละ.
               พระเถระฟังเสียงนั้นแล้วไม่สะดุ้งกลัว ไม่หวาดเสียว กล่าวว่า มารเช่นท่านตั้งร้อยตั้งพัน ก็ไม่ทำให้แม้ขนของเราหวั่นไหวได้ ดังนี้แล้ว เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตผลได้ภาษิตคาถาว่า
                                   เราออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา มีสติและ
                         ปัญญาเจริญ มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ดูก่อนมาร ถึงท่านจัก
                         บันดาลรูปต่างๆ ที่น่ากลัวให้เกิดขึ้น แต่ก็ไม่อาจทำ
                         เราให้สะดุ้งกลัวได้เลย ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สทฺธาย ความว่า ด้วยความเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม และด้วยความเชื่อในพระรัตนตรัย อันมีความพอใจในธรรมเป็นสมุฏฐาน.
               พระเถระเรียก (แสดง) ตนเอง ด้วยบทว่า อหํ.
               บทว่า ปพฺพชิโต ความว่า เข้าถึง (บรรพชา).
               บทว่า อคารสฺมา ความว่า จากเรือน หรือจากการอยู่ครองเรือน.
               บทว่า อนคาริยํ ได้แก่ บรรพชา.
               ก็บรรพชานั้น ท่านเรียกว่าอนคาริยะ เพราะไม่มีกสิกรรมแลพาณิชยกรรมเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นประโยชน์ต่อการครองเรือน ซึ่งเป็นเหตุให้ชื่อว่า "อคาริยะ".
               ด้วยบทว่า สติ ปญฺญา จ เม วุฑฺฒา นี้ พระเถระแสดงว่า จำเดิมแต่ขณะแห่งวิปัสสนาจนถึงพระอรหัตตามลำดับมรรค ธรรมเหล่านี้คือสติที่มีการระลึกได้เป็นลักษณะ ปัญญาที่มีการรู้ทั่วเป็นลักษณะ เจริญแล้วคืองอกงามแล้วแก่เรา บัดนี้จะมีธรรมที่ต้องเจริญ (อีก) ก็หามิได้ สติปัญญาของเราถึงความไพบูลย์แล้ว ดังนี้.
               ด้วยบทว่า จิตฺตญฺจ สุสมาหิตํ นี้ พระเถระแสดงว่า จิตของเราตั้งมั่นดีแล้ว ด้วยสามารถแห่งสมาบัติ ๘ และด้วยสามารถแห่งโลกุตรสมาธิ บัดนี้ไม่มีกิจที่จะต้องทำจิตนั้นให้ตั้งมั่น (เพราะ) สมาธิถึงความไพบูลย์แล้ว.
               บทว่า กามํ กรสฺสุ รูปานิ ความว่า ดูก่อนมารผู้ลามก เพราะฉะนั้น ท่านมากระทำอาการที่น่ารังเกียจอย่างใดอย่างหนึ่ง หลอกเราตามชอบใจ แต่อาการที่น่ารังเกียจเหล่านั้น ไม่อาจทำให้เราสะดุ้งกลัวได้เลย คือไม่สามารถจะกระทำ แม้เพียงความหวั่นไหวแห่งร่างกายของเราได้เลย ที่ไหนจักทำจิตให้เป็นอย่างอื่นไปได้.
               พระเถระคุกคามมารว่า เพราะฉะนั้น กิริยานั้นจะมีผลเพียงทำความคับแค้นแก่จิตของท่านเท่านั้น.
               มารฟังดังนั้นแล้วคิดว่า พระเถระรู้ทันเรา แล้วหายไปในที่นั้นเอง.

               จบอรรถกถาสมิทธิเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๕ ๖. สมิทธิเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 182อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 183อ่านอรรถกถา 26 / 184อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5252&Z=5256
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=4074
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=4074
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :