ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 184อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 185อ่านอรรถกถา 26 / 186อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๕
๘. สัญชยเถรคาถา

               อรรถกถาสัญชยเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระสัญชยเถระ เริ่มต้นว่า ยโต อหํ.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้ท่านก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี ได้รวบรวมสิ่งของที่เรี่ยราดกระจัดกระจายอยู่ในที่ประชุมใหญ่ๆ กระทำบุญอุทิศพระรัตนตรัย ตัวเองเป็นคนจนจึงได้เป็นผู้ขวนขวายในการบำเพ็ญบุญของหมู่คณะเป็นต้นเหล่านั้น
               ท่านเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามกาลเวลา ถวายบังคมแล้ว มีจิตเลื่อมใสได้ทำหน้าที่ไวยาวัจกรต่างๆ ต่อภิกษุทั้งหลาย ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านไปบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญไว้มาก ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในสุคติภพเท่านั้น.
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ ผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติ ในพระนครราชคฤห์ โดยนามมีชื่อว่า สัญชัย.
               เขาเจริญวัยแล้ว เห็นพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียงมีพรหมายุพราหมณ์และโปกขรสาติพราหมณ์เป็นต้นเลื่อมใสในพระศาสนา ก็บังเกิดความเลื่อมใส เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา.
               พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เขาแล้ว เขาฟังธรรมแล้วได้เป็นพระโสดาบัน แล้วบรรพชาในเวลาต่อมา ก็และเมื่อบรรพชา พอปลายมีดจดเท่านั้นก็ได้อภิญญา ๖.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
               ได้มีการประชุมใหญ่ (มหาสันนิบาต) แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี เราได้เป็นไวยาวัจกรผู้รับใช้ในกิจทุกอย่าง ก็ไทยธรรมที่จะถวายแด่พระสุคตเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ของเราไม่มี เรามีจิตผ่องใสได้ถวายบังคมพระบาทของพระศาสดา
               ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้กระทำไวยาวัจกร ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการทำหน้าที่ไวยาวัจกร และในกัปที่ ๘ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดินามว่าสุจินติตะ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
               ท่านเป็นผู้มีอภิญญา ๖ เมื่อพยากรณ์พระอรหัตผล ได้กล่าวคาถาว่า
                         ตั้งแต่เราออกบวชเป็นบรรพชิต เราไม่รู้สึกถึง
                         ความดำริอันไม่ประเสริฐ ประกอบด้วยโทษเลย ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยโต อหํ ปพฺพชิโต ความว่า จำเดิมแต่ คือนับแต่เราได้บวชแล้ว.
               (อธิบายว่า) จำเดิมแต่เวลาที่เราบวชแล้ว เราไม่รู้จักความดำริอันไม่ประเสริฐ ประกอบด้วยโทษเลย โดยความหมายก็ว่า เราไม่รู้จักความดำริที่ประกอบด้วยโทษมีราคะเป็นต้น เพราะเหตุนั้นแล จึงชื่อว่าไม่ประเสริฐ คือเลว.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าไม่ใช่ของพระอริยเจ้า เพราะพระอริยะเจ้าทั้งหลายไม่ประพฤติ และเพราะผู้ที่ไม่ใช่พระอริยประพฤติ คือเป็นของลามก ได้แก่มิจฉาวิตกมีกามวิตกเป็นต้น อันได้นามว่าสังกัปปะ เพราะดำริถึงคุณที่ไม่มีจริงเป็นต้นในอารมณ์อันตนให้เกิดแล้ว.
               พระเถระพยากรณ์พระอรหัตผลว่า เราบรรลุพระอรหัตแล้ว ในเวลาที่ปลายมีดโกนจดเท่านั้น.

               จบอรรถกถาสัญชยเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๕ ๘. สัญชยเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 184อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 185อ่านอรรถกถา 26 / 186อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5262&Z=5265
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=4166
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=4166
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :