ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 197อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 198อ่านอรรถกถา 26 / 199อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๗
๑. วัปปเถรคาถา

               วรรควรรณนาที่ ๗               
               อรรถกถาวัปปเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระวัปปเถระ เริ่มต้นว่า ปสฺสติ ปสฺโส.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านบังเกิดในเรือนมีตระกูลในพระนครหงสาวดี ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว ฟังคำชมเชยว่า พระเถระรูปโน้นและรูปโน้นได้เป็นผู้รับพระธรรมของพระศาสดาเป็นปฐมดังนี้ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในอนาคตกาล ขอให้ข้าพระองค์พึงเป็นภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง บรรดาภิกษุผู้รับพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นพระองค์เป็นปฐม ดังนี้ แล้วประกาศการถึงสรณคมน์ในสำนักของพระศาสดา.
               ท่านทำบุญจนตลอดชีวิต จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนั่นแล เกิดเป็นบุตรพราหมณ์นามว่า "วาเสฏฐะ" ในกรุงกบิลพัสดุ์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านได้มีนามว่า วัปปะ.
               วัปปพราหมณ์ (เมื่อ) อสิตฤษีพยากรณ์ว่า สิทธัตถกุมารจักเป็นพระสัพพัญญู จึงพร้อมด้วยบุตรของพราหมณ์ มีพราหมณ์ชื่อว่าโกณฑัญญะเป็นประมุข ละฆราวาสวิสัย ออกบวชเป็นดาบส คิดว่า เมื่อสิทธัตถกุมารนั้นบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว เราฟังธรรมในสำนักของพระองค์ แล้วจักบรรลุอมตธรรม จึงเข้าไปอุปัฏฐากพระมหาสัตว์ผู้ประทับอยู่ในอุรุเวลานิคม บำเพ็ญเพียรอยู่ตลอด ๖ ปี เกิดเบื่อหน่าย โดยเหตุที่พระมหาสัตว์กลับเสวยอาหารหยาบ จึง (หลีก) ไปสู่ป่าอิสิปตนะ.
               เมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้ (สัมมาสัมโพธิญาณ) แล้วทรงยังเวลาให้ผ่านไปตลอด ๗ สัปดาห์ แล้วจึงเสด็จไปสู่ป่าอิสิปตนะ ทรงแสดงธรรมจักร.
               ท่านวัปปดาบสตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ในวันปาฏิบท แล้วบรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยอัญญาโกณฑัญญพราหมณ์เป็นต้น ในดิถีที่ ๕ แห่งปักษ์.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
               สงครามปรากฏแก่ท้าวเทวราชทั้งสอง (พระยายักษ์) กองทัพประชิดกันเป็นหมู่ๆ เสียงอันดังกึกก้องได้เป็นไป พระศาสดาทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงรู้แจ้งโลก สมควรรับเครื่องบูชา ทรงยังมหาชนให้เกิดสังเวช เทวดาทั้งปวงมีใจยินดี ต่างวางเกราะและอาวุธ ถวายบังคมพระสัมพุทธเจ้า รวมเป็นอันเดียวกันได้ในขณะนั้น.
               พระศาสดาผู้ทรงอนุเคราะห์ ทรงรู้แจ้งโลก ทรงทราบความดำริของเราแล้ว ทรงเปล่งวาจาสัตบุรุษ ทรงยังมหาชนให้เย็นใจว่า ผู้เกิดเป็นมนุษย์มีจิตประทุษร้ายเบียดเบียนสัตว์เพียงตัวเดียว จะต้องเข้าถึงอบาย เพราะจิตประทุษร้ายนั้น เปรียบเหมือนช้างในค่ายสงคราม เบียดเบียนสัตว์เป็นอันมาก ท่านทั้งหลายจงยังจิตของตนให้เยือกเย็น อย่าเดือดร้อนบ่อยๆ เลย.
               แม้พวกเสนาของพระยายักษ์ทั้งสองได้ประชุมกัน นับถือพระโลกเชษฐ์ผู้คงที่เป็นอันดี เป็นสรณะ.
               ส่วนพระศาสดาผู้มีจักษุทรงยังหมู่ชนให้ยินยอมแล้ว ทรงเพ่งดูในเบื้องบนจากเทวดาทั้งหลาย บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุดร เสด็จกลับไป เราได้นับถือพระองค์ผู้จอมประชาผู้คงที่เป็นสรณะก่อนใครๆ เราไม่ได้เข้าถึงทุคติเลยตลอดแสนกัป.
               ในกัปที่สามหมื่นแต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ พระองค์มีพระนามว่ามหาทุนทุภิ และพระนามว่ารเถสภะ. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
               ก็พระวัปปเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว พิจารณาถึงความที่พระคุณของพระศาสดาเป็นของยิ่งใหญ่ โดยมุขคือการพิจารณาถึงสมบัติที่ตนได้แล้ว.
               เมื่อจะแสดงว่า เราร้องเรียกพระศาสดา ผู้ (มีพระคุณ) เช่นนี้ด้วยวาทะว่า เวียนไปเพื่อความเป็นคนมักมาก โอ ขึ้นชื่อว่าความเป็นปุถุชนกระทำให้เป็นคนมืดมน กระทำให้เป็นคนไม่มีแวว ความเป็นพระอริยเจ้าเท่านั้นกระทำให้เกิดดวงตา (เห็นธรรม) ดังนี้ ได้กล่าวคาถาว่า
                         บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ ย่อมเห็นคนอันธพาล
                         ผู้เห็นอยู่ด้วย ย่อมเห็นคนอันธพาลผู้ไม่เห็นอยู่ด้วย
                         ส่วนคนอันธพาลผู้ไม่สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ ย่อมไม่
                         เห็นคนอันธพาลผู้ไม่เห็น และคนอันธพาลผู้เห็น
                         ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปสฺสติ ปสฺโส ความว่า บุคคล ชื่อว่าปัสสะ เพราะเห็น คือรู้ ได้แก่ตรัสรู้ธรรมทั้งหลายได้ ไม่ผิดพลาดด้วยสัมมาทิฏฐิ หมายถึงพระอริยบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ. พระอริยบุคคลนั้นย่อมเห็นคนอันธพาลผู้เห็นอยู่ คือเห็นโดยไม่ผิดพลาด ว่าผู้นี้มีปกติเห็นธรรมไม่ผิดพลาด คือย่อมรู้ธรรมสมควรแก่ธรรมด้วยปัญญาจักษุตามความเป็นจริง มิใช่เห็นเฉพาะคนอันธพาลผู้เห็นอยู่อย่างเดียวเท่านั้น โดยที่แท้แล้วย่อมเห็นคนอันธพาลผู้ไม่เห็นอยู่ด้วย คือผู้ใดปราศจากปัญญาจักษุ ไม่เห็นธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง ย่อมเห็นปุถุชนผู้ไม่เห็นอยู่แม้นั้น ด้วยปัญญาจักษุของตนว่า ผู้นี้เป็นคนมืดมน เป็นคนไม่มีดวงตา (เห็นธรรม) ดังนี้.
               บทว่า อปสฺสนฺโต อปสฺสนฺตํ ปสฺสนฺตญฺจ น ปสฺสติ ความว่า ส่วนคนอันธพาลผู้ปราศจากปัญญาจักษุ ผู้ไม่เห็นอยู่ ย่อมไม่เห็นคนอันธพาลผู้เช่นนั้น ผู้ไม่เห็นอยู่ว่า ผู้นี้ไม่เห็นธรรมและอธรรมตามความเป็นจริง คือไม่รู้อยู่ ฉันใด ผู้ที่ไม่เห็นคือไม่รู้ธรรมและอธรรมด้วยปัญญาจักษุของตน และบัณฑิตผู้เห็นอยู่ตามความเป็นจริงว่า ผู้นี้เป็นอย่างนั้นก็ฉันนั้น
               เพราะฉะนั้น พระเถระจึงแสดงข้อปฏิบัติอันไม่วิปริตของตน ในบุคคลที่ควรคบและไม่ควรคบว่า แม้เราผู้ปราศจากทัสสนะในกาลก่อน ไม่เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงเห็นอยู่ซึ่งไญยธรรมทั้งสิ้น เหมือนเห็นมะขามป้อมในมือ (และ) ศาสดาทั้ง ๖ มีปูรณกัสสปะเป็นต้นผู้ไม่เห็น (ธรรม) อยู่ ตามความเป็นจริงดังนี้.

               จบอรรถกถาวัปปเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๗ ๑. วัปปเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 197อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 198อ่านอรรถกถา 26 / 199อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5330&Z=5336
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=4847
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=4847
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :