ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 212อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 213อ่านอรรถกถา 26 / 214อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๘
๖. ปิยัญชหเถรคาถา

               อรรถกถาปิยัญชหเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระปิยัญชหเถระ เริ่มต้นว่า อุปฺปตนฺเตสุ นิปเต.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้พระเถระนั้นก็มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ (เกิด) เป็นรุกขเทวดาอยู่ในป่าหิมวันต์ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ (อาศัย) อยู่ในซอกเขา ในคราวประชุมเทวดา ยืนอยู่ท้ายบริษัท เพราะความเป็นผู้มีอานุภาพน้อย ฟังธรรมแล้วได้มีศรัทธาจิตในพระศาสดา.
               วันหนึ่ง เห็นเนินทรายในแม่น้ำคงคาใสสะอาดบริสุทธิ์ น่ารื่นรมย์ ระลึกถึงคุณของพระศาสดาว่า คุณของพระศาสดาสะอาดบริสุทธิ์ (ยิ่งกว่า) เนินทรายนี้ เป็นพระคุณหาที่สุดมิได้ หาประมาณมิได้ดังนี้
               เทวดานั้นปรารภถึงคุณของพระศาสดาอย่างนี้แล้ว ยังจิตให้เลื่อมใส ด้วยบุญกรรมนั้น ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บังเกิดในตระกูลแห่งเจ้าลิจฉวี ในพระนครไพศาลี เจริญวัยแล้ว เป็นนักรบไม่เคยพ่ายแพ้ในสงคราม ปรากฏพระนามว่าปิยัญชโห เพราะเป็นที่เกรงขามของศัตรูทั้งหลาย.
               ในคราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปพระนครไพศาลี ท้าวเธอได้มีจิตศรัทธาบวชแล้ว อยู่ในป่าเจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
               เราอยู่ในระหว่างภูเขาใกล้ภูเขาหิมวันต์ ได้เห็นกองทรายอันงามแล้ว ระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ไม่มีอะไรเปรียบได้ในพระญาณ สงครามไม่มีแก่พระศาสดา พระศาสดาทรงรู้ทั่วถึงธรรมทั้งปวงแล้ว ทรงน้อมไปด้วยญาณ ขอนอบน้อมแด่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ขอนอบน้อมแด่พระองค์ผู้อุดมบุรุษ ไม่มีผู้เสมอด้วยพระญาณของพระองค์โดยที่ทรงมีพระญาณอันสูงสุด.
               เรายังจิตให้เลื่อมใสในพระญาณแล้ว บันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอดกัป ในกัปทั้งหลายที่เหลือเราทำกุศล ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้สัญญาใดในกาลนั้น ด้วยสัญญานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งสัญญาในพระญาณ.
               ในกัปที่ ๗๐ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งมีนามว่าปุลินปุปผิยะ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
               ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตผลด้วยสามารถแห่งการแสดงความนี้ว่า ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้าทั้งหลาย แยกกันกับข้อปฏิบัติของอันธพาลปุถุชน ได้กล่าวคาถาว่า
                         เมื่อผู้อื่นยกตน ควรถ่อมตน เมื่อผู้อื่นตกต่ำ ควรยกตนขึ้น
                         เมื่อผู้อื่นไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ควรประพฤติพรหมจรรย์
                         เมื่อผู้อื่นยินดีในกามคุณ ไม่ควรยินดีในกามคุณ ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปฺปตนฺเตสุ ได้แก่ ยกตนให้สูง คือเมื่อสัตว์ทั้งหลายไม่เข้าไปสงบแล้ว โดยยกตนขึ้น ด้วยกิเลสมีมานะ อุทธัจจะ ถัมภะและสารัมภะเป็นต้น.
               บทว่า นิปเต ได้แก่ พึงน้อมตนลง คือพึงเป็นผู้มีความประพฤตินอบน้อม โดยเว้นบาปธรรมเหล่านั้นเสียทุกอย่าง.
               บทว่า นิปตนฺเตสุ ได้แก่ ตกต่ำ คือเมื่อสัตว์ทั้งหลายเสื่อมจากคุณ เพราะกระทำอธิมุตติให้ต่ำ และเพราะความเกียจคร้าน.
               บทว่า อุปฺปเต ได้แก่ พึงยกขึ้น คือพึงสนับสนุนขวนขวายโดยคุณ เพราะกระทำให้มีอธิมุตติประณีต และเพราะการปรารภความเพียร.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อุปฺปตนฺเตสุ ได้แก่ โอหัง คือยกศีรษะขึ้น (ชูคอ) ด้วยสามารถแห่งความกลุ้มรุมของกิเลสทั้งหลาย.
               บทว่า นิปเต ความว่า พึงถ่อมตนด้วยการพิจารณาอันสมควรโดยประการที่กิเลสเหล่านั้น จะไม่เกิดขึ้นด้วยกำลังแห่งการพิจารณา.
               บทว่า นิปตนฺเตสุ ความว่า ตกไปโดยรอบ คือ เมื่อความเพียรและความพยายามอ่อน ในเพราะกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย หรือเมื่อธรรมคือสมถะและวิปัสสนา ตามที่ปรารภแล้วเสื่อมไป.
               บทว่า อุปฺปเต ความว่า พึงยังคนเหล่านั้นให้เข้าไปตั้งไว้ คือให้เกิดและพึงให้เจริญ ด้วยโยนิโสมนสิการ และด้วยการถึงพร้อมแห่งวิริยารัมภะ (ปรารภความเพียร).
               บทว่า วเส อวสมาเนสุ ความว่า เมื่อสัตว์ทั้งหลายไม่อยู่อย่างผู้ประพฤติมรรคพรหมจรรย์ และอยู่อย่างพระอริยเจ้า ตนเองพึงอยู่แบบมรรคพรหมจรรย์ และแบบพระอริยะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง หมายความว่า เมื่อพระอริยเจ้าทั้งหลายไม่อยู่อย่างผู้มีกิเลส คือไม่อยู่อย่างผู้มีคู่ (มีบุตรมีภรรยา) คนเหล่านั้น ชื่อว่าย่อมอยู่อย่างผู้มีกิเลส (ส่วน) ตนเองต้องอยู่อย่างพระอริยเจ้านั้น
               บทว่า รมมาเนสุ โน รเม ความว่า เมื่อสัตว์ทั้งหลายยินดีอยู่ด้วยความยินดีในกามคุณ (และ) ด้วยความยินดีในกิเลส ตนเองไม่พึงยินดี คือไม่พึงพอใจอย่างนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพระอริยเจ้าทั้งหลายยินดีอยู่ด้วยความยินดีในฌานเป็นต้นที่ปราศจากอามิส แม้ตนเองก็พึงยินดีอย่างนั้น. แต่ไม่พึงยินดี คือไม่พึงอภิรมย์ โดยประการอื่นจากความยินดีในฌานเป็นต้นนั้น แม้ในบางครั้งบางคราว.
               จบอรรถกถาปิยัญชหเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๘ ๖. ปิยัญชหเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 212อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 213อ่านอรรถกถา 26 / 214อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5418&Z=5422
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=5844
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=5844
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :