ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 222อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 223อ่านอรรถกถา 26 / 224อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๙
๖. นาคิตเถรคาถา

               อรรถกถานาคิตเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระนาคิตเถระ เริ่มต้นว่า อิโต พหิทฺธา ปุถุอญฺญวาทินํ.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระเถระนี้เป็นพราหมณ์ชื่อว่า นารทะ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ. วันหนึ่งนั่งอยู่ในโรง เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าอันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้วเสด็จไป มีใจเลื่อมใส ชมเชยด้วยคาถา ๓ คาถา.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญแล้วท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดในตระกูลแห่งเจ้าศากยะ ในพระนครกบิลพัสดุ์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่านาคิตะ.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระนครกบิลพัสดุ์ เขาฟังมธุปิณฑิกสูตร ได้มีศรัทธาจิตบวชแล้ว เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เรานั่งอยู่ในโรงอันกว้างใหญ่ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้เป็นนายกของโลก ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ผู้บรรลุพลธรรม แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์.
               ภิกษุสงฆ์ประมาณหนึ่งแสนผู้บรรลุวิชชา ๓ ได้อภิญญา ๖ มีฤทธิ์มาก แวดล้อมพระพุทธเจ้า ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส ในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก ไม่มีอะไรเปรียบในพระญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ใครได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้มีพระญาณไม่สิ้นสุดแล้ว จะไม่เลื่อมใสเล่า ชนทั้งหลายไม่สามารถเพื่อกำจัดพระสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้ทรงแสดงธรรมกาย และผู้เป็นบ่อเกิดแห่งพระรัตนตรัยอย่างเดียวได้ ใครเล่าเห็นพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล้วจะไม่เลื่อมใส
               พราหมณ์นามว่านารทะ ผู้มีใจภักดี ชมเชยพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ไม่พ่ายแพ้ ด้วยคาถาทั้ง ๓ เหล่านี้ด้วยจิตที่เลื่อมใสและด้วยการกล่าวชมเชยพระสัมพุทธเจ้านั้น เราไม่เข้าถึงทุคติตลอดแสนกัป
               ในกัปที่ ๓,๐๐๐ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมกษัตริย์พระนามว่าสุมิตตะ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก.
               เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๑๓๙

               ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว อาศัยความที่เทศนาของพระศาสดาเป็นของจริง และความที่พระธรรมกระทำสัตว์ให้พ้นทุกข์ เป็นผู้มีปีติและโสมนัสเกิดแล้ว.
               เมื่อจะเปล่งอุทานอันแผ่ซ่านไปด้วยกำลังแห่งปีติ ได้กล่าวคาถาว่า
                         ในลัทธิแห่งเดียรถีย์ ภายนอกพระศาสนานี้ ย่อมไม่มี
                         ทางไปสู่พระนิพพาน เหมือนอริยอัฏฐังคิกมรรคนี้เลย
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระบรมครูทรงพร่ำสอนภิกษุ
                         สงฆ์ด้วยพระองค์เอง เหมือนดังทรงแสดงผลมะขามป้อม
                         ในฝ่าพระหัตถ์ฉะนั้น ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิโต พหิทฺธา ความว่า ในศาสนาอื่นจากพระพุทธศาสนานี้. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า (ในลัทธิ) แห่งเดียรถีย์ภายนอก. อธิบายว่า ได้แก่เดียรถีย์ต่างๆ.
               บทว่า มคฺโค น นิพฺพานคโม ยถา อยํ ความว่า ทางอันประกอบด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐนี้ ชื่อว่าเป็นทางไปสู่พระนิพพาน คือยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน เพราะเป็นทางที่ไปพระนิพพานได้ทางเดียวฉันใด มรรคที่จะให้ถึงพระนิพพานก็ฉันนั้น ย่อมไม่มีในลัทธินอกพระพุทธศาสนา เพราะเป็นมรรคที่เจ้าลัทธิอื่น ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะมีในพระธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ ก็มีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะผู้รู้ ดังนี้.
               บทว่า อิติ แปลว่า อย่างนี้.
               บทว่า อสฺสุ เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า สงฺฆํ ได้แก่ ภิกษุสงฆ์ นี้เป็นการแสดงอย่างอุกฤษฏ์ เหมือนอย่างในประโยคว่า สตฺถา เทวมนุสสานํ (เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย).
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สงฺฆํ เป็นสมูหนาม (ชื่อที่กล่าวรวม). อธิบายว่า ได้แก่ชนที่เป็นเวไนยสัตว์.
               บทว่า ภควา ความว่า ชื่อว่าภควา ด้วยเหตุทั้งหลายมีความเป็นผู้มีโชคเป็นต้น.
               นี้เป็นความสังเขปในบทว่า ภควา นี้. ส่วนความพิสดาร พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในอรรถกถาอิติวุตตกะ ชื่อว่าปรมัตถทีปนี.
               บทว่า สตฺถา ความว่า ชื่อว่าศาสดา ด้วยอรรถว่าทรงสั่งสอนด้วยประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในสัมปรายิกภพ และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ตามสมควร.
               บทว่า สยํ แปลว่า ด้วยพระองค์เองทีเดียว.
               ก็ในคาถานี้มีอธิบายว่า
               พระศาสดาคือพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ทรงบันลือพระสีหนาทว่า
               อริยมรรคอันจะยังสัตว์ให้ไปสู่พระนิพพาน มีองค์ ๘ ด้วยสามารถแห่งองค์ทั้งหลาย ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น สงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓ มีศีลขันธ์เป็นต้นมีอยู่ในศาสนาของเราฉันใด ขึ้นชื่อว่ามรรค ย่อมไม่มีในลัทธิภายนอกฉันนั้น ดังนี้
               เป็นผู้รู้ด้วยพระสยัมภูญาณเองทีเดียว หรือเป็นผู้อันพระมหากรุณาตักเตือนแล้วเองทีเดียว ย่อมทรงพร่ำสอน คือกล่าวสอนภิกษุสงฆ์คือชุมนุมแห่งเวไนยสัตว์ ด้วยสมบัติคือการยักย้ายพระธรรมเทศนาของพระองค์ ดุจทรงแสดงมะขามป้อมในฝ่าพระหัตถ์ฉะนั้น ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถานาคิตเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๙ ๖. นาคิตเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 222อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 223อ่านอรรถกถา 26 / 224อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5475&Z=5480
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=6340
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=6340
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :