ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 225อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 226อ่านอรรถกถา 26 / 227อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๙
๙. เทวสภเถรคาถา

               อรรถกถาเทวสภเถรคาถา (ที่ ๑)               
               คาถาของท่านพระเทวสภเถระ เริ่มต้นว่า อุตฺติณฺณา ปงฺกปลิปา.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้พระเถระนั้นก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ เกิดในกำเนิดแห่งพรานผู้ฆ่าสัตว์ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าสิขี.
               วันหนึ่งเห็นพระศาสดาแล้ว เป็นผู้มีใจเลื่อมใส ได้น้อมผลมะหาดไปถวาย. เพื่อจะเจริญศรัทธาปสาทะของเขา พระศาสดาจึงทรงเสวยผลมะหาดนั้น. เขาเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสเกินประมาณด้วยการเสวยผลมะหาดนั้น เข้าไปเฝ้าตามกาลเวลา ทำจิตให้เลื่อมใสแล้ว.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาเกิดในเทวโลก กระทำบุญไว้มาก ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นโอรสของพระราชาทรงพระนามว่ามณฑลิกะ องค์หนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ ดำรงอยู่ในราชสมบัติแต่ในเวลาที่ยังทรงพระเยาว์ทีเดียว เสวยความสุขในราชสมบัติ ทรงพระชราภาพ เข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้ว.
               พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่ท้าวเธอ.
               พระองค์ฟังธรรมแล้วได้มีศรัทธาจิต เกิดความสลดพระทัย สละราชสมบัติ ทรงผนวช แล้วเจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               ในกาลนั้น เราเป็นพรานเที่ยวฆ่าสัตว์อื่นเป็นอันมาก สำเร็จการนอนอยู่ที่เงื้อมเขาไม่ไกลพระศาสดาพระนามว่าสิขี เราเห็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นอัครนายกของโลก ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ก็เราไม่มีไทยธรรมสำหรับถวายแด่ศาสดาผู้จอมประชา ผู้คงที่ เราได้ถือเอาผลมะหาดไปสู่สำนักพระพุทธเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เชษฐบุรุษของโลกผู้ประเสริฐกว่านระ ทรงรับ.
               ต่อแต่นั้น เราได้ถือเอาผลมะหาดไปบำเรอพระองค์ซึ่งเป็นผู้นำที่วิเศษ ด้วยจิตอันเลื่อมใสนั้น เราได้ทำกาลกิริยา ณ ที่นั้นเอง ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลมะหาดใด ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้. ในกัปที่ ๑๕ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ พระองค์มีพระนามว่าปิยาลิน สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้วดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๑๔๒

               ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว บังเกิดความโสมนัสด้วยสามารถแห่งการพิจารณาถึงกิเลสที่ละแล้ว.
               เมื่อจะเปล่งอุทานได้กล่าวคาถาว่า
                         กามราคะเพียงดังเปลือกตม และฉันทราคะเพียงดังหล่ม
                         เราข้ามพ้นแล้ว เราเว้นทิฏฐิราคะเพียงดังบาดาลแล้ว เรา
                         พ้นจากโอฆะและกิเลสเครื่องร้อยรัด ทั้งกำจัดมานะหมด
                         สิ้นแล้ว ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุตฺติณฺณา ความว่า ก้าวล่วงพ้นไปแล้ว.
               บทว่า ปงฺกปลิปา ได้แก่ ทั้งเปลือกตมและทั้งหล่ม.
               เปลือกตมโดยปกติ ท่านเรียกว่าปังกะ เปลือกตมใหญ่ทั้งลึกทั้งกว้าง ท่านเรียกว่าปลิปะ.
               แต่ในคาถานี้ หมายเอาสภาพที่ชื่อว่าปังกะ เพราะเป็นดุจเปลือกตม ได้แก่กามราคะ เพราะจิตถูกฉาบทาด้วยการเพิ่มให้ซึ่งความไม่สะอาด (และหมายเอา) สภาพที่ชื่อว่าปลิปะ เพราะเป็นประดุจถูกลูบไล้ ได้แก่ฉันทราคะที่หนาแน่นมีลูกเมียเป็นต้นเป็นอารมณ์ เพราะถูกฉาบทาด้วยของไม่สะอาด และเพราะข้ามพ้นได้ยาก โดยนัยดังกล่าวแล้ว
               ฉันทราคะเป็นต้นเหล่านั้น เราก้าวล่วงแล้วโดยประการทั้งปวงด้วยพระอนาคามิมรรค เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า กามราคะเพียงดังเปลือกตม และฉันทราคะเพียงดังหล่ม เราข้ามพ้นแล้วดังนี้.
               บทว่า ปาตาลา ความว่า ที่ชื่อว่าปาตาลา เพราะเป็นเหมือนเมืองบาดาล ได้แก่ประเทศที่ต่อเนื่องกันในมหาสมุทร. ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวนาคพิภพว่า บาดาล.
               แต่ในคาถานี้หมายเอาสภาพที่ชื่อว่าบาดาล เพราะเป็นเหมือนเมืองบาดาล ด้วยอรรถว่าจับต้องไม่ได้ ทำให้เกิดแตกหมู่คณะ และข้ามได้โดยยาก ได้แก่ทิฏฐิทั้งหลาย.
               ก็ทิฏฐิเหล่านั้นอันเราเว้นแล้วคือตัดขาดแล้วโดยประการทั้งปวง โดยการได้บรรลุปฐมมรรคนั่นเทียว เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า เราเว้นทิฏฐิราคะเพียงดังบาดาลแล้ว ดังนี้.
               บทว่า มุตฺโต โอฆา จ คนฺถา จ ความว่า เราพ้นแล้ว คือพ้นรอบแล้วจากโอฆะมีโอฆะคือกามเป็นต้น และจากเครื่องร้อยรัดมีเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌาเป็นต้น ด้วยมรรคนั้นๆ.
               อธิบายว่า ก้าวล่วงแล้วโดยไม่มีกิเลสเครื่องวุ่นวายและกิเลสเครื่องร้อยรัดอีก.
               บทว่า สพฺเพ มานา สํวิหิตา ความว่า กิเลสแม้ทั้ง ๙ อย่างถึงการฆ่าคือความพินาศ คือถูกถอนขึ้นโดยพิเศษด้วยการบรรลุมรรคชั้นสูง. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า มานวิธาหตา (มานะบางอย่างถูกฆ่าแล้ว).
               อธิบายว่า ได้แก่ มานะบางส่วนถูกทำลาย. อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า มานวิสา (มีมานะเป็นพิษ) ก็บัณฑิตพึงเข้าใจความหมายของอาจารย์เหล่านั้นว่า ชื่อว่ามีมานะเป็นพิษเพราะผลแห่งทุกข์ ที่มีมานะเป็นพิษ.

               จบอรรถกถาเทวสภเถรคาถา (ที่ ๑)               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๙ ๙. เทวสภเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 225อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 226อ่านอรรถกถา 26 / 227อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5490&Z=5494
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=6485
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=6485
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :