ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 259อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 260อ่านอรรถกถา 26 / 261อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๑
๓. วัลลิยเถรคาถา

               อรรถกถาวัลลิยเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระวัลลิยเถระ เริ่มต้นว่า มกฺกโฏ ปญฺจทฺวารายํ.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญมากหลายไว้ในภพนั้นๆ บังเกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกัปที่ ๓๑ นับแต่ภัทรกัปนี้ บรรลุความเป็นผู้รู้แล้ว วันหนึ่งเข้าไปสู่ป่าด้วยกรณียกิจบางอย่าง เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่านารทะ อยู่ที่โคนต้นไม้ในป่านั้น เป็นผู้มีใจเลื่อมใส ทำศาลาด้วยไม้อ้อมุงบังด้วยหญ้าถวาย และแผ้วถางที่สำหรับเดินจงกรมของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เกลี่ยทรายลง (จนเรียบ) ถวาย.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาล ในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า วัลลิยะ.
               เขาเจริญวัยแล้ว ถึงความเป็นหนุ่มโดยลำดับ เป็นผู้ตกอยู่ใต้อำนาจของอินทรีย์ ท่องเที่ยวไป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยการแนะนำของกัลยาณมิตร ฟังธรรมแล้ว ได้เป็นผู้มีจิตศรัทธาบวชแล้วเริ่มตั้งวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมวันต์มีภูเขาลูกหนึ่ง ชื่อหารินะ ครั้งนั้นพระสยัมภูพุทธเจ้านามว่า "นารทะ" อยู่ใกล้ต้นไม้ เราทำเรือนไม้อ้อมุงด้วยหญ้า เราได้แผ้วถางทางจงกรม ถวายพระสยัมภู ด้วยกรรมที่เราทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้ เราละร่างมนุษย์แล้วได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น
               วิมานของเราสูง ๖๐ โยชน์ กว้าง ๓๐ โยชน์ อันบุญกรรมเนรมิตขึ้นอย่างสวยงาม เพราะผลแห่งการสร้างกุฎีไม้อ้อ เรารื่นรมย์อยู่ในเทวโลก ๑๔ กัป ได้เสวยสมบัติในเทวโลก ๗๑ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๔ ครั้งและได้เป็นเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณานับไม่ถ้วน
               เราขึ้นสู่ปราสาทคือธรรมแล้ว เข้าถึงซึ่งอมตธรรมอันประเสริฐด้วยอาการทั้งปวง อยู่ในศาสนาของพระศากยบุตร ตามปรารถนา.
               ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ทำกรรมใดไว้ในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งกุฏิไม้อ้อ. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๘๙

               ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เพราะเหตุที่จิตของตนในเวลาที่เป็นปุถุชนเป็นไปตามความใคร่ในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปารมณ์เป็นต้น บัดนี้ เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตผลโดยประกาศถึงความที่แห่งอารมณ์มีรูปเป็นต้น อันตนข่มไว้ได้แล้วด้วยพระอริยมรรค จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาความว่า
                         วานรเข้าไปในกระท่อม มีประตู ๕ ประตู พยายามเวียน
                         เข้าออกทางประตูนั้นเนืองๆ จงหยุดนิ่งนะเจ้าลิง อย่าวิ่ง
                         ไปดังกาลก่อนเลย เราจับเจ้าไว้ได้ด้วยปัญญาแล้ว เจ้าจัก
                         ไปไกลไม่ได้ละ ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฆฏฺฏยนฺโต ความว่า พระโยคาวจรละอารมณ์อย่างหนึ่งแล้วไปยึดอารมณ์อีกอย่างหนึ่ง ในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นด้วยจักษุทวารเป็นต้นนั้นๆ ไม่พอใจเพื่อจะอยู่นิ่งๆ ด้วยสามารถแห่งการยึดมั่นของจิตสันดาน จึงพยายาม คือทำอารมณ์ให้ไหวอยู่เนืองๆ ย่อมไหวไปตาม คือเที่ยวไปตามความใคร่ ในอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นนั้นแล ดุจลิงเข้าไปหาผลไม้กิน ยังต้นไม้ให้ไหวในที่นั้นหลายครั้ง เพราะละกิ่งไม้กิ่งหนึ่งแล้วไปเกาะกิ่งไม้อีกกิ่งหนึ่ง เพราะความหลุกหลิกของตนฉะนั้น.
               ก็ในคาถานี้ ท่านกล่าวความเป็นปัจจุบัน เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้กับสิ่งที่ดำเนินไปอยู่ ก็เมื่อลิง (คือจิต) วิ่งวนไปมาอยู่อย่างนี้ พระเถระจึงปรามว่า จงหยุดนะเจ้าลิง อย่าวิ่งไป หมายความว่า ดูก่อนลิงคือจิต บัดนี้ เจ้าจงหยุด อย่าวิ่งไป คือจำเดิมแต่นี้ไป เจ้าไม่สามารถจะวิ่งต่อไปได้ เพราะเหตุที่เรือนคืออัตภาพนั้น เจ้าจะเข้าไปคบหาไม่ได้ดังกาลก่อน เพราะปิดประตูเรือนแล้ว ฉะนั้น เจ้าอย่าวิ่งไปดังกาลก่อนเลย
               เพราะเหตุไร?
               เพราะเราจับเจ้าได้แล้วด้วยปัญญา คือเจ้าถูกข่มไว้เรียบร้อยแล้ว ด้วยการตัดอุปาทาน ๕ กล่าวคือกิเลสมารและอภิสังขารมาร ด้วยมรรคปัญญาในบัดนี้.
               เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงแสดงว่า เจ้าจักไปไกลไม่ได้ คือเจ้าจะไปสู่อัตภาพที่สองเป็นต้น ซึ่งไกลกว่าอัตภาพนี้ไม่ได้ ได้แก่การไปของเจ้าจะมีได้เพียงแค่จริมกจิตเท่านั้น.
               ปาฐะว่า เนโต ทูรํ ดังนี้ก็มี. ความหมายก็อันนั้น.

               จบอรรถกถาวัลลิยเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๑ ๓. วัลลิยเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 259อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 260อ่านอรรถกถา 26 / 261อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5690&Z=5694
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=8489
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=8489
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :