ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 265อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 266อ่านอรรถกถา 26 / 267อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๑
๙. โคตมเถรคาถา

               อรรถกถาโคตมเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระโคตมเถระ เริ่มต้นว่า สุขํ สุปนฺติ.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี บรรลุความเป็นผู้รู้แล้ว วันหนึ่งเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า มีใจเลื่อมใส ได้ถวายผลอาโมทะ.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญแล้วท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่แต่ในสุคติภพเท่านั้น เกิดในตระกูลพราหมณ์ กรุงราชคฤห์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่าโคตมะ.
               ในเวลาที่มีอายุได้ ๗ ขวบทำเป็นคนตาพิการเที่ยวขอเงิน ได้ทรัพย์มาพันหนึ่ง เก็บทรัพย์นั้นไว้ในที่ๆ ปลอดภัย บำเพ็ญพรต ในเวลาที่มีอายุได้ ๑๖-๑๗ ปี ถูกมิตรชั่วแนะนำไปในกามารมณ์ ให้ของมีราคาหนึ่งพันนั้นแก่หญิงขายตัว (อาศัยรูปเลี้ยงชีพ) คนหนึ่ง สูญเสียพรหมจรรย์ และเมื่อหญิงนั้นแสดงอาการคลายกำหนัด เพราะเห็นรูปแห่งพรหมจารีของเขา เป็นผู้มีรูปอิดโรยเหนื่อยหน่าย ด้วยการร่วมหลับนอนเพียงคืนเดียวเท่านั้น นึกถึงความสูญเสียพรหมจรรย์ของตนและการเสียทรัพย์ ได้มีวิปฏิสารว่า เรากระทำกรรมอันไม่สมควรแล้ว.
               พระศาสดาทรงทราบเหตุสมบัติและความฟุ้งซ่านแห่งจิตของเขา จึงแสดงพระองค์ในที่ใกล้ๆ เขา. เขาเห็นพระศาสดาแล้ว มีใจเลื่อมใสเข้าไปเฝ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่เขาแล้ว เขาฟังธรรมแล้วได้เป็นผู้มีจิตศรัทธาบวช บรรลุพระอรหัต ในขณะที่ปลงผมเสร็จทีเดียว.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เราได้ถวายผลอาโมทะแด่พระสัมพุทธเจ้าผู้มีพระฉวีวรรณปานดังทองคำ ผู้สมควรรับเครื่องบูชา กำลังเสด็จดำเนินอยู่ในถนน.
               ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาลนั้น ด้วยการถวายผลไม้นั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๙๘

               ก็สหายผู้เป็นคฤหัสถ์คนหนึ่งเข้าไปหาพระเถระผู้บรรลุพระอรหัตแล้วยังเวลาให้ล่วงไปด้วยความสุขในฌาน ถามว่า อาวุโส ท่านเมื่อบวชได้ทำอย่างไรกะทรัพย์ ที่ได้มาเพราะขอเงิน.
               พระเถระฟังดังนั้นแล้วไม่ยอมบอกว่า เรากระทำกรรมชื่อนี้ ประกาศโทษในมาตุคาม เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตผลด้วยการชี้ถึงความที่ตนเป็นผู้มีราคะไปปราศแล้ว กล่าวคาถา ๒ คาถาความว่า
                         มุนีเหล่าใดย่อมไม่พัวพันในหญิงทั้งหลาย มุนีเหล่านั้น
                         ย่อมนอนหลับเป็นสุข สัจจะที่ได้ยากแสนยากในหญิง
                         เหล่าใด หญิงเหล่านั้นอันบุคคลต้องรักษาทุกเมื่อแท้
                         ดูก่อนกาม เราประพฤติพรหมจรรย์เพื่อฆ่าท่าน บัดนี้
                         เราไม่เป็นหนี้ท่านอีก บัดนี้ เราไปถึงนิพพาน อันเป็น
                         ที่บุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขํ สุปนฺติ มุนโย เย อิตฺถีสุ น พชฺฌเร ความว่า มุนีเหล่าใดไม่ผูกพันในหญิงทั้งหลายที่เกิดเป็นอารมณ์ หรือเกิดเป็นนิมิต ด้วยเครื่องผูกพันคือราคะ มุนีเหล่านั้นเป็นผู้มีตบะ มีอินทรีย์อันสำรวมแล้ว ย่อมหลับเป็นสุข คืออยู่เป็นสุข. อธิบายว่า ทุกข์ย่อมไม่มีแก่มุนีเหล่านั้น.
               ก็บทว่า สุปนฺติ นี้ เป็นเพียงตัวอย่าง.
               บทว่า สทา เว รกฺขิตพฺพาสุ ความว่า อันบุคคลพึงรักษาตลอดกาลทั้งปวงโดยส่วนเดียว.
               อธิบายว่า หญิงทั้งหลายแม้จะให้อยู่ในปราสาทชั้นบนที่ปราศจากบุรุษถึง ๗ ชั้น แม้จะเก็บรักษาไว้ภายใน (ห้อง) ก็ไม่สามารถจะรักษาไว้ได้ เพราะเหตุนั้น หญิงเหล่านั้นจึงเป็นผู้ที่จะต้องเฝ้ารักษาอยู่ตลอดเวลา ดุจแม่โคตัวกินข้าวกล้าเป็นอาหารฉะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง หญิงเหล่านั้นต้องเฝ้ารักษาตลอดเวลา เพราะความเป็นหญิงนอกใจสามี ด้วยการเพิ่มให้ผ้าและเครื่องประดับเป็นต้น เพราะความเป็นหญิงหลายใจ.
               หรือชื่อว่าต้องเฝ้ารักษา เพราะความเป็นหญิงที่ต้องคอยถนอมน้ำใจ โดยการปกปิดสภาพแห่งร่างกายด้วยระเบียบและของหอมเป็นต้น.
               บทว่า ยาสุ สจฺจํ สุทุลฺลภํ ความว่า คำสัตย์ไม่สามารถเพื่อจะหาได้ในหญิงเหล่าใด.
               อธิบายว่า ธรรมดาหญิงทั้งหลายจะเข้าไปสู่กองไฟก็ได้ จะดื่มยาพิษก็ได้ จะนำศาสตรามาก็ได้ จะผูกคอตายก็ได้ แต่ไม่สามารถจะตั้งอยู่ในสัจจะได้ เพราะฉะนั้น พระเถระจึงแสดงความว่า มุนีทั้งหลายเว้นหญิงเห็นปานนี้ แล้วดำรงอยู่ ย่อมเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความสุขหนอ ดังนี้.
               มุนีทั้งหลายยังผูกพันอยู่แม้ในหญิงทั้งหลายเห็นปานนี้ เพราะยังละกามใดไม่ได้
               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะแสดงถึงความที่แห่งกามนั้นอันตนละได้แล้วด้วยดี และความเป็นผู้ไม่มีความปรารถนาโดยส่วนเดียว จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ไว้.
               บทว่า วธํ จริมฺห เต กามา ความว่า ดูก่อนกามผู้เจริญ เราประพฤติพรหมจรรย์เพื่อฆ่าท่าน คือประพฤติถอนรากโดยส่วนเดียวด้วยอริยมรรค.
               ปาฐะว่า เอวํ จริมฺหเส ดังนี้ก็มี. ความก็ว่า เราได้ประพฤติมรรคพรหมจรรย์เพื่อฆ่า คือเพื่อประหาร.
               บทว่า อณนา ทานิ เต มยํ ความว่า ดูก่อนกาม บัดนี้ คือจำเดิมแต่เวลาที่เราได้บรรลุพระอรหัต เราไม่เป็นหนี้ท่าน คือเราไม่แบกหนี้ของท่าน (ต่อไป).
               อธิบายว่า ผู้ที่ยังไม่ปราศจากราคะย่อมเป็นดุจแบกหนี้ของกามไว้ เพราะยังเป็นไปในอำนาจของราคะ. ส่วนผู้ที่ปราศจากราคะ ก้าวล่วงกามนั้นได้แล้ว ประกอบไปด้วยความเป็นอิสระแห่งจิตใจอย่างสูง เพราะเหตุที่ไม่ได้เป็นหนี้นั่นแล.
               เราจึงชื่อว่าไปถึงพระนิพพานอันเป็นที่ๆ บุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก ได้แก่ไม่ต้องเศร้าโศก เพราะไม่มีเหตุแห่งความโศกเศร้าโดยประการทั้งปวงอันมีการไปในพระนิพพานเป็นเหตุ.
               อธิบายว่า บัดนี้ เราถึงคือถึงโดยลำดับซึ่งอนุปาทิเสสนิพพานนั้นนั่นแล.

               จบอรรถกถาโคตมเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๑ ๙. โคตมเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 265อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 266อ่านอรรถกถา 26 / 267อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5724&Z=5730
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=8786
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=8786
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :