ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 276อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 277อ่านอรรถกถา 26 / 278อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๒
๑๐. สิริมาเถรคาถา

               อรรถกถาสิริมาเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระสิริมาเถระ เริ่มต้นว่า ปเร จ นํ ปสํสนฺติ.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญทั้งหลายไว้ในภพนั้นๆ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงบำเพ็ญบารมี แล้วประทับอยู่ในภพชั้นดุสิต บรรลุนิติภาวะแล้ว เรียนจบไตรเพท เป็นผู้ชำนาญในบทแห่งพระเวท ของสนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ สักขรศาสตร์ ปเภทศาสตร์ มีอิติหาสศาสตร์เป็นที่ ๕ รู้แจ่มแจ้ง เข้าใจในโลกายศาสตร์และมหาปุริสลักขณศาสตร์ไม่บกพร่อง ละกามทั้งหลายแล้วบวชเป็นดาบส เพราะความเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปในเนกขัมมะ อันหมู่ดาบสประมาณ ๘๔,๐๐๐ แวดล้อมแล้วยังฌานและอภิญญาให้เกิดแล้วอยู่ในอาศรมอันเทวดาเนรมิตให้ ระลึกถึงพระพุทธคุณ เพราะความเป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ และเพราะมีแนวทางอันแน่นอนที่มาแล้วในลักษณะแห่งมนต์ทั้งหลาย ก่อพระเจดีย์ทรายที่คุ้งน้ำอันมีน้ำไหลวนแห่งหนึ่ง อุทิศพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต ได้เป็นผู้มีความยินดียิ่งในบูชาและสักการะ.
               ดาบสทั้งหลายเห็นดังนั้นจึงถามว่า บูชาสักการะนี้ท่านกระทำเจาะจงใคร.
               เขานำมนต์สำหรับดูลักษณะมาแจกแจงลักษณะของมหาบุรุษเท่าที่มีมาในพระคัมภีร์ แจ้งแก่ดาบสเหล่านั้น แล้วตั้งอยู่ในกำลังญาณของตน ประกาศคุณของพระพุทธเจ้าตามแบบฉบับแห่งตำราดูมหาปุริสลักษณะ
               แม้ดาบสเหล่านั้นฟังดังนั้นแล้ว เป็นผู้มีใจเลื่อมใส จำเดิมแต่นั้นก็พากันบูชาพระสถูป มุ่งเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่.
               ก็โดยสมัยนั้น พระโพธิสัตว์พระนามว่าปทุมุตตระ จุติจากหมู่เทพในสวรรค์ชั้นดุสิต ก้าวลงสู่ครรภ์พระมารดา. พุทธนิมิต ๓๒ ประการในภพสุดท้ายปรากฏแล้ว และพุทธนิมิตทั้งปวงเป็นอัพภูตธรรมที่น่าอัศจรรย์.
               ดาบสแสดงพระพุทธนิมิตเหล่านั้นแก่อันเตวาสิกทั้งหลาย เพิ่มพูนความเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายแก่ดาบสเหล่านั้นเหลือประมาณ กระทำกาละแล้ว บังเกิดในพรหมโลก.
               เมื่อดาบสเหล่านั้นกำลังทำการบูชาสรีระของตนอยู่ ก็มาปรากฏร่าง แล้วกล่าวว่า เราคืออาจารย์ของท่านทั้งหลาย ไปบังเกิดในพรหมโลก ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาท หมั่นประกอบการบูชาพระเจดีย์ทราย และจงหมั่นขวนขวายในการเจริญภาวนา ดังนี้แล้ว กลับไปสู่พรหมโลก.
               เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายอยู่อย่างนี้ เกิดในตระกูลคฤหบดี พระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ เพราะเหตุที่เขาเจริญด้วยสิริสมบัติในตระกูลนั้น นับจำเดิมแต่วันที่เกิดแล้ว คนทั้งหลายจึงตั้งชื่อเขาว่าสิริมา ดังนี้.
               ในเวลาที่เขาเดินได้ น้องชายก็เกิด คนทั้งหลายก็ตั้งชื่อน้องชายว่าสิริวัฑฒ์ โดยกล่าวว่า เด็กคนนี้ยังสิริให้เจริญเกิดแล้ว. แม้ทารกทั้งสองนั้นก็เห็นพุทธานุภาพในคราวที่พระองค์ทรงรับพระวิหารชื่อว่าเชตวัน เป็นผู้มีจิตศรัทธาบวชแล้ว.
               ในพระเถระ ๒ รูปนั้น พระสิริวัฑฒเถระยังไม่ได้บรรลุอุตริมนุสธรรมก่อน แต่เป็นผู้ได้ปัจจัย ๔ เป็นปกติ เป็นผู้อันคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายสักการะเคารพแล้ว.
               ส่วนพระสิริมาเถระ จำเดิมแต่เวลาที่บวชแล้ว เป็นผู้มีลาภน้อย เพราะมีกรรมมาตัดรอนเช่นนั้น แต่เป็นผู้อันชนส่วนใหญ่ยกย่องนับถือ กระทำกรรมในสมถะและวิปัสสนาทั้งหลาย แล้วเป็นผู้มีอภิญญา ๖ ต่อกาลไม่นานนัก.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เราเป็นดาบสชื่อว่าเทวละ อาศัยอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์ ที่จงกรมของเราเป็นที่อันเทวดาเนรมิตให้ ณ ภูเขานั้น. ครั้งนั้น เรามุ่นมวยผม สะพายคนโทน้ำ เมื่อจะแสวงหาประโยชน์อันสูงสุด ได้ออกจากป่าใหญ่ไป.
               ครั้งนั้น ศิษย์ ๘๔,๐๐๐ คนอุปัฏฐากเรา เขาทั้งหลายขวนขวายเฉพาะกรรมของตน อยู่ในป่าใหญ่ เราออกจากอาศรม ก่อพระเจดีย์ทรายแล้ว รวบรวมเอาดอกไม้นานาชนิดมาบูชาพระเจดีย์นั้น เรายังจิตให้เลื่อมใสในพระเจดีย์นั้นแล้วเข้าสู่อาศรม.
               พวกศิษย์ได้มาประชุมพร้อมกันทุกคนแล้ว ถามถึงข้อความนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ สถูปที่ท่านนมัสการก่อด้วยทราย แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายก็อยากจะรู้ ท่านอันข้าพเจ้าทั้งหลายถามแล้ว ขอจงบอกแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย.
               เราตอบว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มีพระจักษุ มียศใหญ่ ท่านทั้งหลายได้พบแล้วในบทมนต์ของเรามิใช่หรือ เรานมัสการพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดมียศใหญ่เหล่านั้น.
               ศิษย์เหล่านั้นได้ถามอีกว่า พระพุทธเจ้าผู้มีความเพียรใหญ่ รู้เญยยธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำโลกเหล่านั้น เป็นเช่นไร มีคุณเป็นอย่างไร มีศีลเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าผู้มียศใหญ่เหล่านั้นมีศีลเป็นดังฤา.
               เราได้ตอบว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการมีพระทนต์ครบ ๔๐ ทัศ มีดวงพระเนตรดังตาแห่งโค และเหมือนผลมะกล่ำ.
               อนึ่ง พระพุทธเจ้าเหล่านั้น เมื่อเสด็จดำเนินไป ก็ย่อมทอดพระเนตรดูเพียงชั่วแอก พระชานุของพระองค์ไม่ลั่น ใครๆ ไม่ได้ยินเสียงที่ต่อ.
               อนึ่ง พระสุคตทั้งหลาย เมื่อเสด็จดำเนินไป ย่อมไม่รีบร้อนเสด็จดำเนินไป ทรงก้าวพระบาทเบื้องขวาก่อน นี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และพระพุทธเจ้าเหล่านั้นเป็นผู้ไม่หวาดกลัว เปรียบเหมือนกรสรมฤคราชฉะนั้น
               พระพุทธเจ้าเหล่านั้นไม่ทรงยกพระองค์ และไม่ทรงข่มขี่สัตว์ทั้งหลาย ทรงหลุดพ้นจากการถือตัวและดูหมิ่น ทรงเป็นผู้มีพระองค์เสมอในสัตว์ทั้งปวง พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ไม่ทรงยกพระองค์ นี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
               และพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อเสด็จอุบัติขึ้น พระองค์ทรงแสดงแสงสว่าง ทรงประกาศวิการ ๖ ทั่วพื้นแผ่นดินนี้ทั้งสิ้น ทั้งพระองค์ทรงเห็นนรกด้วย ครั้งนั้นไฟนรกดับ มหาเมฆยังฝนให้ตก นี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
               พระพุทธเจ้าผู้มหานาถะเหล่านั้นเป็นเช่นนี้ พระพุทธเจ้าผู้มียศใหญ่เหล่านั้น ไม่มีใครเทียบเท่า พระตถาคตทั้งหลายเป็นผู้มี พระคุณหาประมาณมิได้ ใครๆ ไม่เกินพระองค์โดยเกียรติคุณ.
               ศิษย์ทุกคนเป็นผู้มีความเคารพ ชื่นชมถ้อยคำของเรา ต่างได้ปฏิบัติเช่นนั้นตามสติกำลัง พวกเขามีความเพลิดเพลินในกรรมของตน เชื่อฟังถ้อยคำของเรา มีฉันทะอัธยาศัย น้อมไปในความเป็นพระพุทธเจ้า พากันบูชาพระเจดีย์ทราย.
               ในกาลนั้น เทพบุตรผู้มียศใหญ่จุติจากชั้นดุสิต บังเกิดในพระครรภ์ของพระมารดา หมื่นโลกธาตุหวั่นไหว เรายืนอยู่ในที่จงกรมไม่ไกลอาศรม. ศิษย์ทุกคนได้มาประชุมพร้อมกันในสำนักของเรา ถามว่า แผ่นดินบันลือลั่นดุจโคอุสภะ คำรนดุจมฤคราช ร้องดุจจระเข้ จักมีผลเป็นอย่างไร?
               เราตอบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดที่เราประกาศ ณ ที่ใกล้พระสถูปคือกองทราย บัดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีโชค เป็น ศาสดาพระองค์นั้น เสด็จลงสู่พระครรภ์พระมารดาแล้ว.
               เราแสดงธรรมแก่พวกศิษย์เหล่านั้นแล้ว กล่าวสดุดีพระมหามุนี ส่งศิษย์ของตนไปแล้ว นั่งขัดสมาธิและกำลังของเราก็สิ้นไปด้วยความเจ็บไข้อย่างหนัก เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดพระองค์นั้น ทำกาลกิริยา ณ ที่นั้นเอง.
               ครั้งนั้น ศิษย์ทุกคนพร้อมกันทำเชิงตะกอนแล้ว ยกซากศพของเราขึ้นเชิงตะกอน พวกเขาล้อมเชิงตะกอน ประนมอัญชลีเหนือเศียรอันลูกศรคือความโศกครอบงำ พากันมาคร่ำครวญ
               เมื่อศิษย์เหล่านั้นพิไรรำพันอยู่ เราได้ไปใกล้เชิงตะกอน สั่งสอนพวกเขาว่า เราคืออาจารย์ของท่าน ดูก่อนท่านผู้มีปัญญาดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้เศร้าโศกเลย ท่านทั้งหลายไม่ควรเป็นผู้เกียจคร้าน ควรพยายามในประโยชน์ของตน ทั้งกลางคืนและกลางวัน ท่านทั้งหลายอย่าได้ประมาท ควรทำขณะเวลาให้ถึงเฉพาะ
               เราพร่ำสอนศิษย์ของตนแล้วกลับไปยังเทวโลก
               เราได้อยู่ในเทวโลกถึง ๑๘ กัป ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ครั้งและได้เสวยสมบัติในเทวโลกเกิน ๕๐๐ ครั้ง ในกัปที่เหลือเราได้ท่องเที่ยวไปอย่างสับสน แต่ก็ไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการก่อเจดีย์ทราย
               ในเดือนที่ดอกโกมุทบาน ต้นไม้เป็นอันมากต่างก็ออกดอกบานฉันใด เราเป็นผู้อันพระศาสดาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ให้บานแล้วในสมัยฉันนั้นเหมือนกัน ความเพียรของเรานำธุระน้อยใหญ่ไป นำมาซึ่งธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ เราตัดกิเลสเครื่องผูก ดังช้างตัดเชือกแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่.
               ในกัปที่แสน แต่ภัทรกัปนี้ เราได้สรรเสริญพระพุทธเจ้าใด ด้วยการสรรเสริญนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการสรรเสริญ. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๗๗

               ก็ภิกษุและสามเณรทั้งหลายผู้เป็นปุถุชน ไม่รู้ว่าท่านพระสิริมาเถระผู้มีอภิญญา ๖ เป็นพระอริยะจึงไม่ยกย่อง จะพูดคุยอะไรกันก็พากันตำหนิ เพราะความที่ท่านเป็นผู้มีลาภน้อยโดยที่ชาวโลกไม่สนใจ. แต่เมื่อจะยกย่องก็พากันสรรเสริญพระสิริวัฑฒเถระ เพราะความที่ท่านเป็นผู้อันชาวโลกเคารพนับถือ โดยความที่ท่านเป็นผู้มีปัจจัยลาภ.
               พระเถระคิดว่า ธรรมดาผู้ที่ควรตำหนิกลับมีผู้กล่าวสรรเสริญ และผู้ที่ควรสรรเสริญกลับถูกกล่าวตำหนิ นี้พึงเป็นโทษของความเป็นปุถุชน ดังนี้
               เมื่อจะตำหนิความเป็นปุถุชน จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาความว่า
                         ถ้าตนมีจิตไม่ตั้งมั่น ถึงชนเหล่าอื่นจะสรรเสริญ
                         ชนเหล่าอื่นก็สรรเสริญเปล่า เพราะตนมีจิตไม่ตั้งมั่น
                         ถ้าตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ถึงชนเหล่าอื่นจะติเตียน
                         ชนเหล่าอื่นก็ติเตียนเปล่า เพราะตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปเร ความว่า คนอื่นจากตน ชื่อว่าคนอื่น.
               ก็คนพาลทั้งหลายที่นอกจากบัณฑิต ท่านประสงค์เอาว่า เป็นคนอื่นในคาถานี้. อธิบายว่า แม้จะสรรเสริญก็เหมือนตำหนิไม่เป็นประมาณ เพราะคนเหล่านั้นกล่าวโดยไม่รู้ คือโดยไม่ตรึกตรอง.
               บทว่า นํ แปลว่า ซึ่งบุคคลนั้น.
               บทว่า ปสํสนฺติ ความว่า อีกอย่างหนึ่ง คนเหล่าอื่นชมเชยบุคคลผู้ไม่มีจริง ไม่เป็นจริงนั่นแหละ โดยยกย่องคุณที่ไม่มีจริงไม่เป็นจริง ว่าภิกษุชื่อโน้นเป็นผู้ได้ฌานหรือว่าเป็นพระอริยะ เพราะความไม่รู้ หรือเพราะความเป็นผู้มีตัณหาวิบัติ.
               ก็ ศัพท์ที่มีอยู่ในคาถานี้นั้น มีการน้อมเข้ามาในตนเป็นอรรถ.
               ด้วย ศัพท์นั้น ท่านแสดงความนี้ว่า ก็คนเหล่าอื่นย่อมสรรเสริญบุคคลนั้น ก็แลการสรรเสริญนั้น เป็นเพียงการสรรเสริญของคนเหล่านั้น แต่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความสรรเสริญในบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นนั้น.
               บทว่า อตฺตา เจ อสมาหิโต ความว่า บุคคลเหล่าอื่นย่อมสรรเสริญบุคคลใด ถ้าบุคคลนั้นคือตนนี้ มีจิตไม่ตั้งมั่น คือไม่ประกอบไปด้วยมรรคสมาธิ ผลสมาธิ หรือเพียงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิเท่านั้น.
               อธิบายว่า ถ้าตนเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน คือมีจิตหมุนไปผิด เพราะความที่กิเลสทั้งหลาย อันเป็นปฏิปักษ์ต่อความตั้งใจมั่น อันตนยังละไม่ได้. ก็พระเถระแสดงความไม่มีคุณ คือสมาธินิมิต ด้วยบทว่า อสมาหิโต นี้.
               บทว่า โมฆํ แสดงถึงภาวะของนปุงสกลิงค์ ดุจในประโยคมีอาทิว่า วิสมํ จนฺทิมสุริยา ปริวตฺตนฺติ พระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมหมุนไป ไม่เสมอกัน.
               บทว่า ปเร ปสํสนฺติ ความว่า คนเหล่าใดย่อมสรรเสริญบุคคลนั้น คือคนที่มีจิตไม่ตั้งมั่น คนเหล่านั้นย่อมสรรเสริญเป็นโมฆะ คือเปล่า ได้แก่หามูลมิได้.
               เพราะเหตุไร? เพราะตนมีจิตไม่ตั้งมั่น.
               อธิบายว่า เพราะเหตุที่จิตของบุคคลนั้นไม่ตั้งมั่น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่สองดังต่อไปนี้
               บทว่า ครหนฺติ ความว่า ย่อมติเตียน คือนินทา ได้แก่กล่าวโทษพระอริยเจ้าและบุคคลผู้ได้ฌาน เพราะความไม่รู้ของตน หรือเพราะความมุ่งร้าย โดยการชี้แจงถึงความเป็นผู้ไม่ประพฤติปฏิบัติ หรือโดยมุ่งทำลายคุณ โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุชื่อโน้นไม่หมั่นประกอบความเพียร โดยที่สุดแม้เพียงชั่วเวลารีดนมโค มากไปด้วยการปรนเปรอร่างกาย ยินดีในการนอนหลับ ยินดีในการพูดสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ยินดีด้วยการคลุกคลีด้วยหมู่คณะอยู่ ดังนี้.
               คำที่เหลือพึงทราบโดยปริยายที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในคาถาที่ ๑.
               เมื่อพระเถระประกาศความที่ตนเป็นผู้หมดกิเลส และความที่พระสิริวัฑฒเถระยังมีกิเลส ด้วยคาถาเหล่านี้อย่างนี้แล้ว
               พระสิริวัฑฒเถระฟังคำเป็นคาถานั้นแล้ว เกิดความสลดใจ เริ่มตั้งวิปัสสนา ยังประโยชน์ตนให้บริบูรณ์แล้วต่อกาลไม่นานนัก และบุคคลผู้ติเตียนทั้งหลายก็ยังพระเถระให้อดโทษแล้ว.

               จบอรรถกถาสิริมาเถรคาถา               
               จบวรรควรรณนาที่ ๒               
               ในอรรถกถาเถรคาถา ชื่อว่าปรมัตถทีปนี               
               -----------------------------------------------------               

               ในวรรคนี้ รวมพระเถระได้ ๑๐ องค์ คือ
                         ๑. พระมหาจุนทเถระ
                         ๒. พระโชติทาสเถระ
                         ๓. พระเหรัญญิกานิเถระ
                         ๔. พระโสมมิตตเถระ
                         ๕. พระสัพพมิตตเถระ
                         ๖. พระมหากาลเถระ
                         ๗. พระติสสเถระ
                         ๘. พระกิมพิลเถระ
                         ๙. พระนันทเถระ
                         ๑๐. พระสิริมาเถระ
               จบวรรคที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๒ ๑๐. สิริมาเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 276อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 277อ่านอรรถกถา 26 / 278อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5806&Z=5819
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=9602
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=9602
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :