ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 301อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 302อ่านอรรถกถา 26 / 303อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๕
๕. วิสาขปัญจาลีปุตตเถรคาถา

               อรรถกถาวิสาขปัญจาลปุตตเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระวิสาขปัญจาลบุตรเถระ เริ่มต้นว่า น อุกฺขิเป โน จ ปริกฺขิเป ปเร.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ทั้งหลาย สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ เกิดในตระกูลที่ยากจนในปัจจันตคาม ในพุทธกัปต่อแต่นี้ บรรลุนิติภาวะแล้ว วันหนึ่งไปป่าพร้อมกับคนทั้งหลายในปัจจันตคาม ผู้เที่ยวหาผลไม้ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งในป่านั้น มีใจเลื่อมใส ได้ถวายผลวัลลิ.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดในตระกูลของพระเจ้ามัณฑลิกะ แคว้นมคธ ในพุทธุปบาทกาลนี้ได้มีนามว่าวิสาขะ ภายหลังปรากฏนามว่าปัญจาลปุตตะ เพราะความเป็นพระโอรสแห่งราชธิดาของพระเจ้าปัญจาละ. เมื่อพระชนกสวรรคตแล้ว เขาก็เสวยราชสมบัติ.
               เมื่อพระศาสดาเสด็จมาใกล้วังของพระองค์ ก็ไปสู่สำนักของพระศาสดา ฟังธรรมแล้วได้มีจิตศรัทธา บวชแล้วไปสู่พระนครสาวัตถีกับพระศาสดา เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้ว ได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖ ต่อกาลไม่นานนัก.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               ในกาลนั้น ชนทั้งปวงชักชวนกันมาสู่ป่า เขาเหล่านั้นแสวงหาผลไม้ ก็หาผลไม้ได้ในกาลนั้น ในป่านั้น เราได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าผู้สยัมภูผู้ไม่เคยพ่ายแพ้ เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ได้ถวายผลวัลลิ.
               ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาลนั้น ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๓๘๘

               ก็พระเถระเป็นผู้มีอภิญญา ๖ แล้วได้กลับไปภูมิลำเนาเดิมเพื่ออนุเคราะห์หมู่ญาติ มนุษย์ทั้งหลายในที่นั้นเข้าไปหาพระเถระแล้ว ฟังธรรมตามกาลตามโอกาส.
               วันหนึ่งถามพระเถระถึงลักษณะของพระธรรมกถึกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์คุณเท่าไรหนอแล จึงจะเป็นพระธรรมกถึกได้.
               พระเถระเมื่อจะบอกลักษณะของพระธรรมกถึกแก่เขาเหล่านั้น ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาความว่า
                         พระธรรมกถึกประกอบด้วยองค์ดังนี้ คือไม่พึงยกตน ๑
                         ไม่พึงข่มบุคคลเหล่าอื่น ๑ ไม่พึงกระทบกระทั่งบุคคล
                         เหล่าอื่น ๑ ไม่กล่าวคุณความดีของตนในที่ชุมนุมชน
                         เพื่อมุ่งลาภผล ๑ ไม่มีจิตฟุ้งซ่าน กล่าวแต่พอประมาณ
                         มีวัตร ๑ ภิกษุผู้เป็นธรรมกถึกพึงเป็นผู้มีปกติ เห็นเนื้อ
                         ความอันสุขุมละเอียด มีปัญญาเฉลียวฉลาด ประพฤติ
                         อ่อนน้อม มีศีลตามเยี่ยงอย่างของพระพุทธเจ้านั้น พึง
                         ได้นิพพานไม่ยากเลย ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น อุกฺขิเป ความว่า ไม่พึงยกขึ้นซึ่งตน คือไม่พึงทำการยกตน ด้วยตระกูลมีชาติเป็นต้น และด้วยคุณสมบัติมีพาหุสัจจะเป็นต้น.
               บทว่า โน จ ปริกฺขิเป ปเร ความว่า ไม่พึงข่มผู้อื่นคือบุคคลอื่น ด้วยชาติเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแล คือไม่พึงกดผู้อื่นโดยปกปิดคุณ หรือไม่พึงกดผู้อื่นด้วยสามารถแห่งการทำลายคุณความดี.
               พึงเชื่อมความอย่างนี้ว่า ไม่พึงกระทบกระทั่งบุคคลเหล่าอื่น คือไม่กระทบกระทั่งบุคคลอื่นด้วยสามารถแห่งการเพ่งโทษ ได้แก่ไม่พึงมองผู้อื่นอย่างเหยียดหยาม. อธิบายว่า น อุกฺขิเป ความก็อย่างนั้นแหละ.
               บทว่า ปารคตํ ความว่า ไม่พึงกระทบกระทั่ง คือไม่พึงห้าม ไม่พึงเสียดสี ได้แก่ไม่พึงดูหมิ่นซึ่งพระขีณาสพผู้ถึงฝั่งแห่งวิชชา ดุจถึงฝั่งแห่งสงสาร ผู้มีวิชชา ๓ หรือมีอภิญญา ๖.
               บทว่า น จตฺตวณฺณํ ปริสาสุ พฺยาหเร ความว่า ผู้มุ่งลาภสักการะและความสรรเสริญ ไม่พึงกล่าวสรรเสริญคุณของตนในบริษัทของกษัตริย์เป็นต้น.
               บทว่า อนุทฺธโต ความว่า เว้นจากความฟุ้งซ่าน. อธิบายว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ยินดีด้วยคำของผู้ที่ฟุ้งซ่าน.
               บทว่า สมฺมิตภาณี ความว่า กล่าวด้วยคำพอประมาณ โดยชอบนั่นเทียว. อธิบายว่า มีปกติกล่าวถ้อยคำที่ประกอบไปด้วยประโยชน์เท่านั้น มีที่อ้างอิง มีที่สุด ตามกาล. ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวนอกเหนือไปจากนี้ ย่อมไม่เป็นที่เชื่อถือ.
               บทว่า สุพฺพโต ผู้มีวัตรอันงาม คือสมบูรณ์ด้วยศีล. พึงนำบทกิริยาว่า สิยา มาประกอบเข้าด้วย.
               พระเถระกล่าวลักษณะของพระธรรมกถึกโดยสังเขปเท่านั้นอย่างนี้แล้ว น้อมใจนึกถึงความที่คุณเหล่านั้นเป็นเหตุให้ตนได้รับความยกย่องนับถือรู้ว่า มหาชนมีความเลื่อมใสจนเกินประมาณ เมื่อจะแสดงความว่า พระนิพพานไม่เป็นคุณอันพระธรรมกถึกผู้มีลักษณะอย่างนี้ อาศัยวิมุตตายตนะแล้วจะพึงได้โดยยาก คือหาได้ง่ายโดยแท้แล จึงกล่าวคาถาที่ ๒ มีอาทิว่า สุสุขุมนิปุณตฺถทสฺสินา ดังนี้.
               ความแห่งคาถาที่สองนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในหนหลังแล้วทั้งนั้น.

               จบอรรถกถาวิสาขปัญจาลปุตตเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๕ ๕. วิสาขปัญจาลีปุตตเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 301อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 302อ่านอรรถกถา 26 / 303อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6008&Z=6015
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=11419
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=11419
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :