ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 30อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 31อ่านอรรถกถา 26 / 32อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปาริฉัตตกวรรคที่ ๓
๓. ปัลลังกวิมาน

               อรรถกถาปัลลังกวิมาน               
               ปัลลังกวิมาน มีคาถาว่า ปลฺลงฺกเสฏฺเฐ มณิโสวณฺณจิตฺเต ดังนี้เป็นต้น.
               ปัลลังกวิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี.
               ก็สมัยนั้น ธิดาของอุบาสิกาคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี มารดาบิดายกให้กุลบุตรคนหนึ่งในกรุงสาวัตถีนั้นเอง เสมอกันทางตระกูลและประเทศเป็นต้น.
               ธิดานั้นเป็นหญิงไม่โกรธ ถึงพร้อมด้วยศีลและมารยาท นับถือสามีดุจเทวดา สมาทานศีล ๕ และในวันอุโบสถรักษาศีลอุโบสถโดยเคร่งครัด.
               ต่อมา นางถึงแก่กรรมเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์.
               ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระไปเหมือนอย่างที่กล่าวมาแล้วในหนหลัง ถามเทพธิดานั้นว่า
               ดูก่อนเทวีผู้มีอานุภาพมาก ท่านแผลงฤทธิ์ได้ต่างๆ อยู่บนที่นอนอันโอฬาร เป็นบัลลังก์ประเสริฐ วิจิตรด้วยแก้วมณีและทองคำ ลาดด้วยดอกไม้. นางอัปสรเหล่านี้ฟ้อนรำขับร้อง ให้ความบันเทิงแก่ท่านโดยรอบ.
               เทวีผู้มีอานุภาพมาก ท่านเป็นผู้สำเร็จฤทธิ์ เมื่อเป็นมนุษย์ท่านได้ทำบุญอะไรไว้ ท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ ผิวพรรณของท่านสว่างไปทั่วทิศด้วยธรรมอะไร ดังนี้.
               แม้เทพธิดานั้นก็ได้ตอบด้วยคาถาทั้งหลายเหล่านี้ว่า
                         ดีฉันเป็นมนุษย์ในหมู่มนุษย์ ได้เป็นสะใภ้
               ในตระกูลมั่งคั่ง. ดีฉันไม่โกรธ อยู่ในอำนาจของสามี
               ในวันอุโบสถก็มิได้ประมาท. ดีฉันเป็นมนุษย์วัยสาว
               มิได้เหลวไหล มีจิตเลื่อมใสให้สามีโปรดปรานเป็น
               ที่ยิ่ง เมื่อก่อนดีฉันได้เป็นหญิงมีศีล มีความประพฤติ
               เป็นที่พอใจ.
                         ดีฉันเว้นฆ่าสัตว์ เว้นลักทรัพย์ มีกายบริสุทธิ์
               เป็นพรหมจารินีที่สะอาด ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่พูดเท็จ
               ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาบททั้งหลาย.
                         ดีฉันมีใจเลื่อมใส ประพฤติตามธรรม มีใจ
               ปลาบปลื้ม เข้ารักษาอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘
               ประการ ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำและวัน ๘ ค่ำแห่ง
               ปักษ์ และตลอดปาฏิหาริยปักษ์ ครั้นดีฉันสมาทาน
               กุศลอันประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นอริยะนี้ มีความสุข
               เป็นกำไรแล้ว ชาติก่อนดีฉันได้เป็นสาวิกาของพระ
               สุคต ได้อยู่ในอำนาจของสามีเป็นอย่างดี ครั้นดีฉัน
               ทำกุศลกรรมเช่นนี้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นผู้มี
               ส่วนแห่งภพอันวิเศษ เมื่อถึงแก่กรรมลง ดีฉันได้เป็น
               เทพธิดาผู้มีฤทธิ์ ในอภิสัมปรายภพ มาสู่สวรรค์
               หมู่เทพซึ่งมีรัศมีซ่านออกจากกายตน ห้อมล้อมด้วย
               หมู่นางอัปสร ในวิมานมีปราสาทอันประเสริฐ น่ารื่น
               รมย์ พากันชื่นชมดีฉันผู้มีอายุยืนมาสู่เทพวิมาน.

               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปลฺลงฺกเสฏฺเฐ ได้แก่ บัลลังก์อันประเสริฐ คือบัลลังก์อันสูงสุด เพื่อแสดงความที่ที่นอนนั้นประเสริฐที่สุดจึงกล่าวว่า มณิโสวณฺณจิตฺเต วิจิตรด้วยแก้วมณีและทองคำ.
               บนที่นอนเป็นบัลลังก์อันประเสริฐที่ท่านกล่าวว่า ตตฺถ ในที่นั้น และ สยเน บนที่นอนอันวิจิตรด้วยแก้วมณีรุ่งเรืองด้วยตาข่ายรัศมีแก้วหลายอย่าง. ชื่อว่าบัลลังก์ประเสริฐที่สุดเป็นที่ที่ควรนอน.
               บทว่า เต คือ โดยรอบตัวท่าน. ควรเปลี่ยนวิภัตติเป็น ตํ เพราะเพ่งถึงบทว่า ปโมทยนฺติ.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปโมทยนฺติ ได้แก่ ทำความบันเทิง. อธิบายว่า ยังความบันเทิงให้เกิดแก่ท่าน.
               บทว่า ทหรา อปาปิกา ได้แก่ แม้เป็นสาวก็ไม่เป็นคนเหลวไหล.
               ปาฐะว่า ทหรา สุปาปิกา ดังนี้บ้าง. ความอย่างเดียวกัน คือไม่นอกใจในสามีหนุ่ม. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ทหรสฺสา ปาปิกา ดังนี้บ้าง ได้แก่ ไม่นอกใจสามีหนุ่ม.
               อธิบายว่า เป็นหญิงดีด้วยการปรนนิบัติโดยเคารพและด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปสนฺนจิตฺตา มีจิตเลื่อมใสแล้ว.
               บทว่า อภิราธยึ คือ ให้ยินดี.
               บทว่า รตฺโต คือ ในกลางคืน.
               บทว่า อโจริกา คือ เว้นจากการลักทรัพย์. อธิบายว่า เว้นจากการถือเอาของที่เขาไม่ให้.
               ปาฐะว่า วิรตา จ โจริยา ดังนี้บ้าง. อธิบายว่า เว้นจากความเป็นขโมย.
               บทว่า สํสุทฺธกายา ได้แก่ มีกายบริสุทธิ์ด้วยดี เพราะทำการงานทางกายบริสุทธิ์. จากนั้นเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างสะอาด เพราะไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในผู้อื่นนอกจากสามี.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         พวกเราไม่นอกใจภรรยา แม้ภรรยาก็ไม่นอกใจพวกเรา
                         พวกเราประพฤติพรหมจรรย์ ยกเว้นภรรยาเหล่านั้น
                         เพราะฉะนั้นแล พวกเราจึงไม่ตายตอนยังเป็นหนุ่มสาว ดังนี้.

               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สุพฺรหฺมจารินี ได้แก่ เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์สะอาด ด้วยสามารถแห่งมรรคพรหมจรรย์ คืออุโบสถศีลอันสะอาดบริสุทธิ์ประเสริฐ ประเสริฐที่สุด หรือพรหมจรรย์อันเป็นส่วนเบื้องต้นตามสมควร.
               บทว่า อนุธมฺมจารินี ได้แก่ มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมของพระอริยะทั้งหลาย.
               โยชนาแก้ไว้ว่า ข้าพเจ้าเข้ารักษาอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐเป็นอริยะ เพราะไม่มีโทษดังที่ท่านกล่าวแล้วตามลำดับนี้ หรือเพราะเป็นอริยะด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐเป็นอริยะดังที่กล่าวแล้ว ชื่อว่าเป็นกุศลธรรม เพราะอรรถว่าไม่เศร้าหมอง และเพราะอรรถว่าไม่มีโทษ ชื่อว่ามีสุขเป็นกำไร เพราะมีสุขเป็นวิบาก และเพราะมีสุขเป็นอานิสงส์.
               บทว่า วิเสสภาคินี ได้แก่ เป็นผู้มีส่วนแห่งสมบัติภพอันวิเศษ คือเป็นทิพย์.
               บทว่า สุคติมฺหิ อาคตา ได้แก่ มาคือเข้าถึงสวรรค์ หรือมาในสุคติสวรรค์ คือทิพยสมบัติ.
               ปาฐะว่า สุคตึ หิ อาคตา มาสู่สวรรค์ดังนี้บ้าง.
               บทว่า หิ ในบทนั้นเป็นเพียงนิบาต หรือมีความเป็นเหตุ.
               โยชนาแก้ว่า เพราะมาสู่สุคติ ฉะนั้น จึงเป็นผู้มีส่วนแห่งภพวิเศษ.
               บทว่า วิมานปาสาทวเร ได้แก่ ในปราสาทอันสูงสุดในวิมานทั้งหลาย หรือในปราสาทอันเลิศกล่าวคือวิมาน หรือดีฉัน อันหมู่นาง อัปสรแวดล้อมแล้วในวิมาน อันเป็นปราสาทประเสริฐใหญ่หาประมาณมิได้ คำนวณไม่ได้ มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเองบันเทิงอยู่.
               อีกอย่างหนึ่ง ควรนำบทว่า อมฺหิ มาประกอบด้วย.
               บทว่า ทีฆายุกึ โยชนาแก้ว่า หมู่เทพพากันยินดีกับข้าพเจ้าผู้มีอายุยืน เพราะมีอายุยืนกว่าพวกเทพชั้นต่ำ และเพราะมีอายุไม่น้อยกว่าพวกเทพที่เกิดในวิมานนั้น ผู้มาคือเข้าถึงเทพวิมานตามที่กล่าวแล้ว.
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               จบอรรถกถาปัลลังกวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปาริฉัตตกวรรคที่ ๓ ๓. ปัลลังกวิมาน จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 30อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 31อ่านอรรถกถา 26 / 32อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=878&Z=909
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=3067
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=3067
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :