ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 31อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 32อ่านอรรถกถา 26 / 33อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปาริฉัตตกวรรคที่ ๓
๔. ลตาวิมาน

               อรรถกถาลดาวิมาน               
               ลตาวิมาน มีคาถาว่า ลตา จ สชฺชา ปวรา จ เทวตา ดังนี้เป็นต้น.
               ลตาวิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี.
               ก็สมัยนั้น ธิดาของอุบาสกคนหนึ่ง ชาวเมืองสาวัตถี ชื่อว่าลดา เป็นบัณฑิตฉลาด มีปัญญา ไปตระกูลสามี ประพฤติตนเป็นที่ชอบใจของสามีและแม่ผัวพ่อผัว พูดจาน่ารัก ฉลาดในการสงเคราะห์บริวารชน สามารถจัดทรัพย์สมบัติในเรือนได้เรียบร้อย ไม่มักโกรธ ถึงพร้อมด้วยศีลและมรรยาท ยินดีในการแจกจ่ายทาน ถือศีล ๕ ไม่ขาด ได้เป็นหญิงไม่ประมาทในการรักษาอุโบสถ.
               ครั้นต่อมา นางถึงแก่กรรม เกิดเป็นธิดาของท้าวเวสสวัณมหาราช มีชื่อว่านางลดาเทพธิดาเหมือนกัน. นางลดาเทพธิดาได้มีน้องสาวอื่นอีก ๔ นาง คือ นางสัชชาเทพธิดา นางปวราเทพธิดา นางอัจฉิมุตีเทพธิดาและนางสุดาเทพธิดา.
               ท้าวสักกเทวราชนำนางทั้ง ๕ นั้นมาตั้งไว้ในฐานะเป็นนางบำเรอโดยให้เป็นหญิงฟ้อนรำ. แต่นางลดาเทพธิดาได้เป็นที่โปรดปรานของท้าวสักกะมาก เพราะนางฉลาดในการฟ้อนรำขับร้อง.
               เมื่อนางเหล่านั้นมานั่งประชุมร่วมกันอย่างมีความสุข จึงเกิดถกเถียงกันเกี่ยวกับความสามารถในการสังคีต. นางทั้งหมดจึงไปเฝ้าท้าวเวสสวัณมหาราชถามว่า พ่อจ๋า บรรดาลูกๆ คนไหนฉลาดในการฟ้อนเป็นต้นจ้ะพ่อ. ท้าวเวสสวัณมหาราชตรัสอย่างนี้ว่า ลูกๆ จงไปที่ฝั่งสระอโนดาต ลูกๆ เล่นสังคีต ในเทวสมาคมเถิด ณ ที่นั้น จักปรากฏความวิเศษของพวกลูก.
               นางเหล่านั้นได้ทำตาม ณ เทวสมาคมนั้น เมื่อนางลดาฟ้อน พวกเทพบุตรไม่สามารถจะดำรงอยู่โดยสภาพของตนได้. พวกเทพบุตรพากันชื่นชมยินดี ไม่เคยมีความอัศจรรย์ใจมาก่อนเลย ต่างให้สาธุการไม่ขาดสาย โห่ร้องด้วยความยินดี ยกผืนผ้าโบกไปมา ได้เกิดโกลาหลยกใหญ่ดุจทำป่าหิมพานต์ให้สะท้านหวั่นไหว. ก็เมื่อนางนอกนั้นฟ้อน พวกเทพบุตรต่างนั่งนิ่งดุจนกดุเหว่าอยู่ในโพรง. ความวิเศษได้ปรากฏแก่นางลดาเทพธิดา ในการขับกล่อมนั้นด้วยประการฉะนี้.
               จึงบรรดาเทพธิดาเหล่านั้น ความสงสัยได้เกิดแก่นางสุดาเทพธิดาว่า พี่ลดานี้ทำกรรมอะไรไว้หนอจึงครอบงำพวกเราไว้ได้ทั้งวรรณะและยศ ถ้ากระไรเราจะต้องถามกรรมที่พี่ลดาทำไว้. นางสุดาเทพธิดาจึงได้ถามนางลดาเทพธิดา. แม้นางลดาเทพธิดาก็ได้ตอบให้นางสุดาเทพธิดาทราบ.
               ท้าวเวสสวัณมหาราชได้บอกความทั้งหมดนี้แก่ท่านมหาโมคคัลลานเถระผู้จาริกไปยังเทวโลก.
               พระเถระเมื่อจะกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าตั้งแต่มูลเหตุของคำถาม จึงกราบทูลว่า
               คำถามของนางสุดาเทพธิดาว่าเทพนารี ๕ องค์มีความรุ่งเรือง มีปัญญางามด้วยคุณธรรม เป็นธิดาของท้าวเวสสวัณมหาราช คือ นางลดาเทพธิดา ๑ นางสัชชาเทพธิดา ๑ นางปวราเทพธิดา ๑ นางอัจฉิมุตีเทพธิดา ๑ นางสุดาเทพธิดา ๑ ต่างเป็นนางบำเรอของท้าวสักกเทวราชผู้ประเสริฐ ผู้มีสิริ ได้พากันไปยังแม่น้ำอันไหลมาจากสระอโนดาตมีน้ำเย็น มีดอกบัวน่ารื่นรมย์ ในป่าหิมพานต์ เพื่อสรงสนาน ครั้นสรงสนานฟ้อนรำขับร้อง รื่นเริงในแม่น้ำนั้นแล้ว.
               นางสุดาเทพธิดาได้ถามนางลดาเทพธิดาว่า
               พี่จ๋า ผู้ทรงพวงมาลัยดอกบัว มีพวงมาลัยประดับเศียร มีผิวงามเปล่งปลั่งดังทองคำ มีดวงตาเหลืองปนแดง มีอวัยวะทุกส่วนงามผ่องใสดุจท้องฟ้า ปราศจากเมฆหมอก มีอายุยืน น้องขอถามเจ้าพี่ เจ้าพี่ทำบุญอะไรไว้จึงมียศ ทั้งเป็นที่รักของพระสวามี มีรูปงามสะสวยยิ่งนัก ทั้งฉลาดในการฟ้อนรำขับร้องและบรรเลงเป็นเยี่ยมจนเทพบุตรเทพธิดาไต่ถามถึงเสมอๆ ขอเจ้าพี่โปรดบอกแก่น้องด้วยเถิด.
               นางลดาเทพธิดาตอบว่า
               พี่เป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์ ได้เป็นสะใภ้ในตระกูลมีสมบัติมาก พี่เป็นผู้ไม่โกรธ พี่ประพฤติตามอำนาจของสามี ไม่ประมาทในวันอุโบสถ เมื่อพี่ยังเป็นสาว พี่ไม่นอกใจสามี มีจิตเลื่อมใส เป็นที่โปรดปรานของสามี พร้อมทั้งพี่น้อง บิดามารดาของสามี ตลอดคนใช้ชายหญิง พี่จึงได้ยศอันบุญกรรมจัดมาให้ถึงอย่างนี้ เพราะกุศลกรรมนั้น พี่จึงได้วิเศษกว่านางฟ้าพวกอื่นในฐานะ ๔ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ได้เสวยความดีมิใช่น้อย.
               เมื่อนางสุดาเทพธิดาได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงได้พูดกับเจ้าพี่ทั้ง ๓ ว่า
               ข้าแต่เจ้าพี่ทั้ง ๓ เจ้าพี่ลดาได้บอกถ้อยคำน่าฟังมากมิใช่หรือ น้องถามถึงเรื่องที่พวกเราสงสัยกันมาก ก็บอกได้อย่างไม่ผิดพลาด เจ้าพี่ลดาควรเป็นตัวอย่างอันดี สำหรับพวกเราทั้ง ๔ และนารีทั้งหลาย พวกเราทั้งหมดพึงประพฤติในสามี เหมือนอย่างสตรีที่ดีประพฤติยำเกรงสามีฉะนั้น ครั้นเราทั้งหลายปฏิบัติธรรม คือการอนุเคราะห์ต่อสามีด้วยฐานะทั้ง ๕ อย่างแล้ว ก็จะได้สมบัติอย่างที่เจ้าพี่ลดาพูดถึงอยู่เดี๋ยวนี้
               พญาราชสีห์ตัวสัญจรไปตามราวป่าใกล้เชิงเขา อาศัยอยู่บนภูเขา แล้วก็เที่ยวตะครุบจับสัตว์ ๔ เท้าใหญ่น้อยทุกๆ ชนิดกัดกินเป็นอาหารได้ฉันใด สตรีที่มีศรัทธาเป็นอริยสาวิกาในศาสนานี้ก็ฉันนั้น เมื่อยังอาศัยสามีอยู่ ควรประพฤติยำเกรงสามี ฆ่าความโกรธเสีย กำจัดความตระหนี่เสียได้แล้ว เขาผู้ประพฤติธรรมโดยชอบจึงรื่นเริงบันเทิงใจอยู่บนสวรรค์.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ลตา จ สชฺชา ปวรา อจฺฉิมุตี สุตา เป็นชื่อของเทพธิดาเหล่านั้น.
               บทว่า ราชวรสฺส ได้แก่ ท้าวเทวราชผู้ประเสริฐ คือประเสริฐที่สุดกว่ามหาราช ๔. อธิบายว่า เป็นบริจาริกาของท้าวสักกะ.
               บทว่า รญฺโญ ได้แก่ มหาราช. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เวสฺสวณสฺส ธีตา ธิดาของท้าวเวสสวัณ. บทนี้ประกอบเป็นเอกพจน์ เป็นคำคลาดเคลื่อน ที่ถูกควรเป็น ธีตโร ธิดาทั้งหลาย.
               ชื่อว่า ราชี เพราะรุ่งเรืองคือรุ่งโรจน์.
               บทว่า ราชี ได้แก่ มีความรู้มีปัญญา มีความรุ่งเรือง. บทนี้เป็นวิเสสนะของเทพนารีทั้งหมดเหล่านั้น. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทนี้เป็นชื่อของเทพธิดานี้. ตามมติของอาจารย์บางพวกเหล่านั้น
               บทว่า ปวรา เป็นวิเสสนะของเทพนารีเหล่านั้น.
               บทว่า ธมฺมคุเณหิ ได้แก่ ด้วยคุณอันประกอบด้วยธรรม คือไม่ปราศจากธรรม. อธิบายว่า ด้วยคุณตามความเป็นจริง.
               บทว่า โสภิตา ได้แก่ รุ่งเรือง.
               บทว่า ปญฺเจตฺถ นาริโย ได้แก่ เทพธิดามีชื่อตามที่กล่าวแล้ว ๕ องค์ในหิมวันตประเทศนี้.
               บทว่า สีโตทกํ อุปฺปลินึ สิวํ นทึ ท่านกล่าวหมายถึงปากน้ำอันไหลมาจากสระอโนดาต.
               บทว่า นจฺจิตฺวา คายิตฺวา ท่านกล่าวด้วยสามารถการฟ้อนรำขับร้องที่เทพธิดาเหล่านั้นกระทำแล้วในเทวสมาคมตามคำสั่งของท้าวเวสสวัณผู้เป็นพระบิดา.
               บทว่า สุตา ลตํ พรวิ ได้แก่ นางสุดาเทพธิดาบอกกับนางลดาเทพธิดาพี่สาวของตน. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า สุตา ลตํ พรวุํ ดังนี้ก็มี ความว่า นางสุดาเทพธิดา ธิดาของท้าวเวสสวัณมหาราชบอกกับนางลดาเทพธิดา.
               บทว่า ติมิรตมพกขิ ได้แก่ มีดวงตาประกอบด้วยสีแดงคล้ายเกสรดอกจิก.
               บทว่า นเภว สโภเณ ได้แก่ งามเหมือนท้องฟ้า. อธิบายว่า สดใสเพราะอวัยวะน้อยใหญ่บริสุทธิ์ดุจท้องฟ้าพ้นจากส่วนเล็กน้อย ที่เกิดขึ้นมีหมอกเมฆเป็นต้นในสรทสมัยงดงามอยู่ฉะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า นเภว ตัดบทเป็น นเภ เอว บนท้องฟ้านั่นเอง.
               เอวศัพท์เป็นสมุจจยัตถะ (ความรวม). อธิบายว่า งามในทุกแห่งคือในวิมานอันตั้งอยู่บนอากาศ และในที่อันเนื่องกับพื้นดินมีภูเขาหิมวันต์ และเขายุคนธรเป็นต้น.
               บทว่า เกน กโต ได้แก่ เกิดขึ้นด้วยบุญอะไร คือเช่นไร.
               บทว่า ยโส ได้แก่ บริวารสมบัติ และชื่อเสียง. อนึ่ง คุณทั้งหลายอันเป็นเหตุให้มีชื่อเสียงท่านใช้ด้วยศัพท์ว่า กิตฺติสทฺท.
               บทว่า ปติโน ปิยตรา ได้แก่ เป็นที่รักของสามี คือเป็นที่โปรดปรานของสามี. ท่านแสดงถึงความงามของนางลดาเทพธิดานั้นด้วยบทว่า ปติโน ปิยตรา นั้น.
               บทว่า วิสิฏฺฐกลฺยาณิตรสฺสุ รูปโต ได้แก่ วิเศษสุด งามยิ่ง ดียิ่ง ด้วยรูปสมบัติ.
               บทว่า อสฺสุ เป็นเพียงนิบาต.
               อนึ่ง อาจารย์บางพวกกล่าวว่า วิสิฏฺฐกลฺยาณิตราสิ รูปโต มีรูปร่างสะสวยยิ่งนัก.
               บทว่า ปทกฺขิณา ได้แก่ ฉลาดทุกอย่างและวิเศษด้วย.
               บทว่า นจฺจน ในบทว่า นจฺจนคีตวาทิเต นี้ ได้ลบวิภัตติทิ้ง. ควรเป็น นจฺเจ จ คีเต จ วาทิเต จ ในการฟ้อนรำ ในการขับร้อง และในการบรรเลง.
               บทว่า นรนาริปุจฺฉิตา ได้แก่ เทพบุตรเทพธิดาถามว่า นางลดาเทพธิดาไปไหน นางทำอะไร ดังนี้ เพื่อเห็นรูปและเพื่อดูศิลปะ.
               ชื่อ เทวร เพราะยินดีดุจเทวดาเพราะไม่คลุกคลีทางกายเป็นนิจ หรือเพราะเป็นญาติผู้ใหญ่.
               ชื่อว่าสเทวร เพราะพี่น้องของสามีพร้อมด้วยญาติผู้ใหญ่.
               แม่ผัวพ่อผัวชื่อว่าสสุระ พร้อมด้วยพ่อผัวแม่ผัวจึงชื่อว่าสัสสสุระ. พร้อมด้วยทาสชายและหญิงชื่อว่าสทาสก เชื่อมด้วยบทว่า ปติมาภิราธยึ เป็นที่โปรดปรานของสามี.
               บทว่า ตมฺหิ กโต คือ ในตระกูลนั้น. อธิบายว่า ได้มีบริวารยศอันบุญกรรมจัดมาให้ในขณะเป็นสะใภ้ ด้วยการเกิดแห่งบุญที่ได้ทำไว้ในขณะที่เกิดนั้น.
               บทว่า มม นี้เปลี่ยนเป็น มยา ไม่เพ่งถึงบทว่า กโต.
               บทว่า จตุพฺภิ ฐาเนหิ ได้แก่ ด้วยเหตุ ๔ อย่างหรือเป็นนิมิตในฐานะ ๔ อย่าง.
               บทว่า วิเสสมชฺฌคา ได้แก่ ถึงความเป็นผู้วิเศษกว่านางฟ้าพวกอื่น.
               แสดงโดยสรุปของคำที่กล่าวว่า ด้วยฐานะ ๔ อย่างคือ อายุ วรรณะ สุขะและพละ.
               อนึ่ง ท่านกล่าวว่า อายุเป็นต้นของนางลดาเทพธิดานั้นชื่อว่าวิเศษ เพราะมีสภาพวิเศษที่สุดกว่าเทพธิดาเหล่าอื่น
               อนึ่ง ชื่อว่าเป็นฐานะ เพราะความเป็นเหตุที่นางลดาเทพธิดานั้นควรถือเป็นแบบอย่างด้วยการยกย่อง คือได้ถึงความเป็นผู้วิเศษ.
               โยชนาว่า อายุ วรรณะ สุขะและพละ เป็นเช่นไร.
               บทว่า สุตํ นุ ตํ ภาสติ ยํ อยํ ลตา ความว่า นางสุดาเทพธิดาถามเจ้าพี่ทั้ง ๓ นอกนี้ว่า เจ้าพี่ลดานี้เป็นพี่สาวของพวกเรากล่าวคำใดไว้ พวกพี่ก็ได้ยินคำนั้นแล้วมิใช่หรือ หรือไม่ได้ยิน.
               บทว่า ยํ โน ได้แก่ คำใดที่พวกเราสงสัย.
               บทว่า โน เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า โน อีกคำหนึ่ง คือของพวกเรา. หรือลงในอวธารณะดุจในประโยคมีอาทิว่า น โน สมํ อตฺถิ ความว่า ไม่เหมือนพวกเรา. ด้วยเหตุนั้น เจ้าพี่พยากรณ์ไม่ผิดพลาด. อธิบายว่า พยากรณ์ไม่วิปริต.
               บทว่า ปติโน กิรมฺหากํ วิสิฏฺฐา นารีนํ คติ จ ตาสํ ปวรา จ เทวตา ความว่า เจ้าพี่เป็นตัวอย่างอันดีเยี่ยมของพวกเราและของนารีทั้งหลาย และเป็นที่พึ่งของนารีเหล่านั้น ธรรมดาสามีชื่อว่าเป็นเจ้าของ เพราะคุ้มครองจากความพินาศ และเป็นเทวดาผู้ประเสริฐสูงสุด เพราะเป็นที่พึ่งของแม่บ้านทั้งหลายเหล่านั้น ทำให้เกิดความยินดีโดยชอบ เป็นผู้นำประโยชน์สุขมาให้ทั้งเดี๋ยวนี้และต่อไป.
               บทว่า ปตีสุ ธมฺมํ ปริจราม สพฺพา ความว่า พวกเราทั้งหมดจงประพฤติสิ่งที่ควรประพฤติมีการตื่นก่อนเป็นต้น ในสามีของตนๆ.
               บทว่า ยตฺถ ได้แก่ นิมิตใด. หรือเมื่อประพฤติสิ่งที่ควรประพฤติในสามีทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นหญิงยำเกรงสามี.
               บทว่า ลจฺฉามเส ภาสติ ยํ อยํ ลตา ความว่า พวกเราประพฤติธรรมในสามีทั้งหลาย จักได้สมบัติอย่างที่เจ้าพี่ลดาพูดว่าจะได้ในบัดนี้.
               บทว่า ปพฺพตสานุโคจโร ได้แก่ พญาราชสีห์ตัวเที่ยวไปตามราวป่า ใกล้ภูเขา.
               บทว่า มหินฺธรํ ปพฺพตมาวสิตวา ความว่า อาศัยอยู่บนภูเขาชื่อว่ามหินธร เพราะทรงแผ่นดินไว้ ไม่หวั่นไหว. ในบทนั้นความว่า อาศัยอยู่.
               ก็บทว่า มหินฺธรํ ปพฺพตมาวสิตฺวา นี้ เป็นทุติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติเพราะไม่เพ่งถึงบทว่า อาวสิตฺวา.
               บทว่า ปสยฺห แปลว่า ข่มขู่.
               บทว่า ขุทฺเท ความว่า พญาราชสีห์นั้นฆ่าสัตว์มีช้างเป็นต้นน้อยใหญ่โดยประมาณด้วยกำลัง.
               บทว่า ตเถว ความว่า นี้เป็นการอธิบายความพร้อมด้วยข้อเปรียบเทียบเชิงอุปมาด้วยคาถา เหมือนอย่างว่า สีหะอาศัยอยู่บนภูเขาอันเป็นที่อยู่ และที่หาอาหารของตนย่อมสำเร็จประโยชน์ตามที่ตนต้องการฉันใด
               สตรีที่มีศรัทธาเลื่อมใสเป็นอริยสาวิกาก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาศัยอยู่กับสามีผู้เป็นใหญ่เป็นภัสดา เพราะหาเลี้ยงหาใช้ด้วยของกินและเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น ประพฤติยำเกรงสามีด้วยปฏิบัติเกื้อกูลสามีในทุกๆ อย่าง ฆ่าคือละความโกรธอันเกิดขึ้นในเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง กำจัดคือครอบงำไม่ให้เกิดความตระหนี่อันเกิดขึ้นในของที่ครอบครองไว้ ชื่อว่าเป็นหญิงประพฤติธรรม เพราะประพฤติธรรมคือความยำเกรงสามีและธรรมของอุบาสิกาโดยชอบ สตรีนั้นย่อมรื่นเริงคือย่อมถึงความบันเทิงในสวรรค์ คือเทวโลก.
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               จบอรรถกถาลดาวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปาริฉัตตกวรรคที่ ๓ ๔. ลตาวิมาน จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 31อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 32อ่านอรรถกถา 26 / 33อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=910&Z=951
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=3158
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=3158
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :