ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 325อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 326อ่านอรรถกถา 26 / 327อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา จตุกกนิบาต
๔. นันทกเถรคาถา

               อรรถกถานันทกเถรคาถาที่ ๔               
               คาถาแห่งพระนันทกเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ธีรตฺถุ ดังนี้.
               เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร?
               ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ พระเถระแม้นี้เป็นเศรษฐีมีสมบัติมากในหังสวดีนคร กำลังฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศแห่งภิกษุผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย ปรารถนาตำแหน่งนั้น จึงบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยผ้ามีราคา ๑๐๐,๐๐๐ แล้วได้ตั้งความปรารถนาไว้และให้การบูชาด้วยประทีป ณ โพธิพฤกษ์แด่พระศาสดา.
               จำเดิมแต่นั้นมา ท่านท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากกุสันธะ ได้เป็นนกการเวกส่งเสียงกึกก้องไพเราะ กระทำประทักษิณพระศาสดา, ภายหลังเป็นนกยูง มีจิตเลื่อมใส วันหนึ่งร้องเสียงอันไพเราะขึ้น ๓ ครั้งอยู่ที่ประตูถ้ำอันเป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทำบุญในที่นั้นๆ ด้วยอาการอย่างนี้
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย บังเกิดในเรือนมีตระกูลในกรุงสาวัตถี ได้นามว่านันทกะ เจริญวัยแล้ว ฟังธรรมในสำนักพระศาสดา ได้ศรัทธาบรรพชาเจริญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัต.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เราเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ได้ชูคบเพลิงไว้ ๓ ดวงที่ไม้โพธิพฤกษ์ของพระพุทธเจ้าพระนามปทุมุตระ ซึ่งเป็นไม้สูงสุดกว่าไม้ทั้งหลาย.
               ในแสนกัปแต่ภัทรกัปนี้ เราได้บูชาคบเพลิงใด ด้วยการบูชาคบเพลิงนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลของการให้คบเพลิงเป็นทาน. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... ฯลฯ ... พระพุทธศาสนา เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๔๔

               ก็แลท่านเป็นพระอรหันต์ ยับยั้งอยู่ด้วยสุขอันเกิดแต่วิมุตติ ถูกพระศาสดาทรงสั่งให้โอวาทภิกษุทั้งหลาย ในอุโบสถวันหนึ่ง ได้ให้ภิกษุณี ๕๐๐ บรรลุพระอรหัตโดยโอวาทครั้งเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทนางภิกษุณี.
               ภายหลังวันหนึ่ง หญิงผู้เป็นภรรยาเก่าคนหนึ่งแลดูพระเถระผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ด้วยอำนาจแห่งกิเลสแล้วหัวเราะ. พระเถระเห็นกิริยานั้นของหญิงนั้น เมื่อจะกล่าวธรรม โดยยกเอาการประกาศความเป็นของปฏิกูลแห่งสรีระ จึงได้กล่าวคาถาว่า
                         เราติเตียนร่างกายอันเต็มไปด้วยของน่าเกลียด มีกลิ่นเหม็น
                         เป็นฝักฝ่ายแห่งมาร ชุ่มไปด้วยกิเลส มีช่อง ๙ ช่องเป็นที่ไหล
                         ออกแห่งของไม่สะอาดเป็นนิตย์ ท่านอย่าคิดถึงเรื่องเก่า อย่า
                         มาเล้าโลมอริยสาวกผู้บรรลุอริยสัจธรรม ให้ยินดีด้วยอำนาจ
                         กิเลส เพราะพระอริยสาวกของตถาคตเหล่านั้นย่อมไม่ยินดีใน
                         กามคุณแม้ในสวรรค์ จะป่วยกล่าวไปไยถึงกามคุณอันเป็นของ
                         มนุษย์เล่า ก็ชนเหล่าใดแลเป็นพาล มีปัญญาทราม มีความคิด
                         ชั่ว ถูกโมหะหุ้มห่อไว้แล้ว ชนเหล่านั้นจะกำหนัดยินดี ใน
                         เครื่องผูกที่มารดักไว้ ชนเหล่าใดคายราคะ โทสะและอวิชชา
                         ได้แล้ว ชนเหล่านั้นเป็นผู้คงที่ เป็นผู้ตัดเส้นด้าย คือตัณหา
                         เครื่องนำไปสู่ภพขาดแล้ว ไม่มีเครื่องผูกพัน ย่อมไม่กำหนัด
                         ยินดีในบ่วงมารนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น ศัพท์ว่า ธิ เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่า น่าติเตียน
                อักษร ในบทว่า รตฺถุ กระทำการเชื่อมบท. อธิบายว่า น่าติเตียน คือขอติเตียนร่างกายนั้นอันเต็มไปด้วยของน่าเกลียด จงเป็นการติเตียนท่านเถิด.
               บทว่า ปุเร เป็นต้น เป็นไวพจน์แห่งการร้องเรียก อันแสดงภาวะที่พึงติเตียนหญิงนั้น.
               บทว่า ปุเร ได้แก่ ในร่างกายอันเต็มไปด้วยของอันน่าเกลียดอย่างยิ่ง คือซากศพนานาชนิด ได้แก่ด้วยของอันไม่สะอาดมีอย่างต่างๆ.
               บทว่า ทุคฺคนฺเธ ได้แก่ มีสภาวะมีกลิ่นเหม็น เพราะเต็มไปด้วยซากศพนั่นเอง.
               บทว่า มารปกฺเข ความว่า เพราะเหตุที่วัตถุอันวิสภาค (ที่เป็นข้าศึกกัน) ย่อมยังกิเลสมารให้เจริญ เพราะปุถุชนคนบอด มีการใส่ใจโดยไม่แยบคายเป็นนิมิต และย่อมให้โอกาสแก่เทวบุตรมารเข้าไป. เพราะฉะนั้น จึงเป็นฝักฝ่ายแห่งมาร. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มารปกฺเข ดังนี้.
               บทว่า อวสฺสุเต ความว่า อันชุ่มไปด้วยการไหลออกแห่งกิเลสและด้วยการไหลออกแห่งของอันไม่สะอาด ในที่นั้นๆ ตลอดกาลทั้งปวง.
               บัดนี้ ท่านแสดงถึงฐานะเป็นที่ไหลออกแห่งของอันไม่สะอาดของหญิงนั้น ที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยว่า ขี้ตาไหลออกจากตาเป็นต้น.
               ก็หญิงนั้น เมื่อรู้ตามความเป็นจริงซึ่งกายอันมีช่อง ๙ ช่องเต็มไปด้วยของอันไม่สะอาด ไหลออกเป็นนิจด้วยอาการอย่างนี้ อย่าสำคัญการหัวเราะการเจรจาการเล่นอันเป็นไปในการไม่รู้ถึงเรื่องเก่าว่า อย่าคิดสำคัญถึงเรื่องเก่า คืออย่าคิดว่า แม้บัดนี้ เธอจักปฏิบัติอย่างนี้.
               บทว่า มาสาเทสิ ตถาคเต ความว่า ท่านอย่าเข้าประเล้าประโลมด้วยความดูหมิ่น และด้วยอำนาจกิเลสซึ่งพระอริยสาวกผู้ดำเนินไปอย่างนั้นด้วยมีมรรคผลเป็นที่มา เป็นอย่างนั้นคือโดยประการนั้น เหมือนปกติสัตว์ให้ยินดีว่า พุทธสาวกในปางก่อน มาด้วยความถึงพร้อมด้วยธรรมอันเป็นอุปนิสัยฉันใด หรือว่าพุทธสาวกเหล่านั้นไปคือดำเนินไปด้วยการปฏิบัติชอบฉันใด อนึ่งมาถึง คือบรรลุ ได้แก่หยั่งรู้ลักษณะอันถ่องแท้แห่งรูปธรรมและนามธรรม และธรรมอันถ่องแท้คืออริยสัจฉันใด แม้ชนเหล่านี้ก็ฉันนั้น.
               ท่านกล่าวเหตุแห่งความเป็นผู้ไม่ประเล้าประโลมยินดีว่า พระอริยสาวกย่อมไม่กำหนัดยินดีแม้ในสวรรค์ จะป่วยกล่าวไปไยถึงพวกมนุษย์เล่า ดังนี้.
               อธิบายว่า พุทธสาวกเหล่านั้นย่อมไม่กำหนัดยินดีในสุข แม้อันพระสัพพัญญูพุทธเจ้าไม่สามารถให้สิ้นลงได้ด้วยการบอกทางก็ดี ในสวรรค์ก็ดี คือย่อมยังราคะให้เกิด เพราะเห็นโทษในสังขารทั้งหลายดีแล้ว จะป่วยกล่าวไปไยถึงกามคุณอันเป็นของมนุษย์ อันเป็นเสมือนกองคูถ คือไม่จำต้องกล่าวถึงเลยว่า ไม่กำหนัดยินดีในกามคุณนั้น.
               บทว่า เย จ โข ความว่า ก็ชนเหล่าใด ชื่อว่าเป็นพาล เพราะประกอบด้วยความเป็นพาล. ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาทราม เพราะไม่มีปัญญาอันมีโอชะเกิดแต่ธรรม. ชื่อว่าผู้มีความคิดชั่ว เพราะครุ่นคิดแต่สิ่งที่ชั่วโดยตามเห็นในสิ่งที่ไม่งามว่างาม. ชื่อว่าถูกโมหะครอบงำ เพราะเป็นผู้มีจิตถูกโมหะ คือความไม่รู้ปิดบังไว้โดยประการทั้งปวง.
               ปุถุชนคนบอดก็เช่นนั้นคือเห็นปานนั้น ย่อมกำหนัดยินดีในเครื่องผูกพันอันสำคัญว่าเป็นหญิง อันมารซัดไปคืออันมารดักไว้ ได้แก่บ่วงมารนั้นๆ ได้แก่กำหนัด ติดอยู่ ข้องอยู่ สยบ หมกอยู่.
               บทว่า วิราชิตา ความว่า ก็ชนเหล่าใดคือพระขีณาสพคาย คือละได้ตัดขาด ราคะอันมีสภาวะเปลื้องได้ยาก เหมือนเครื่องย้อมที่หยอดด้วยน้ำมัน โทสะมีสภาวะประทุษร้าย เหมือนข้าศึกได้โอกาส และอวิชชามีสภาวะไม่รู้ ด้วยการคายด้วยอริยมรรคโดยประการทั้งปวง ชนเหล่านี้ก็เช่นนั้น ผู้มีตัณหาดุจเส้นด้ายเครื่องนำสัตว์ไปสู่ภพอันตัดได้แล้ว ด้วยศัสตราคืออรหัตมรรค ชื่อว่าผู้ไม่มีกิเลสดุจเครื่องผูก เพราะไม่มีเครื่องผูกแม้ในที่ไหนๆ นั้นนั่นเอง ย่อมคายบ่วงของมารตามที่กล่าวแล้วนั้น พระเถระแสดงธรรมแก่หญิงนั้นแล้วไปด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถานันทกเถรคาถาที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา จตุกกนิบาต ๔. นันทกเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 325อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 326อ่านอรรถกถา 26 / 327อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6228&Z=6240
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=231
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=231
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :