ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 328อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 329อ่านอรรถกถา 26 / 330อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา จตุกกนิบาต
๗. สัมภูตเถรคาถา

               อรรถกถาสัมภูตเถรคาถาที่ ๗               
               คาถาของท่านพระสัมภูตเถระ มีคำเริ่มต้นว่า โย ทนฺธกาเล ดังนี้
               เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               พระเถระแม้นี้ได้ทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน บำเพ็ญบุญในภพนั้นๆ เมื่อโลกว่างพระพุทธเจ้า บังเกิดในกำเนิดกินนร ที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา วันหนึ่งเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง มีจิตเลื่อมใส ไหว้แล้วกระทำอัญชลี ได้กระทำการบูชาด้วยดอกอัญชัน.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เธอท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในพุทธุปบาทกาลนี้ ฟังธรรมในสำนักของพระธรรมภัณฑาคาริกภายหลัง
               แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพาน ได้ศรัทธาบวชแล้วกระทำสมณธรรม เจริญวิปัสสนาบรรลุพระอรหันต์.
               ด้วยเหตุนั้นจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               ครั้งนั้น เราเป็นกินนร อยู่ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา ได้เห็นพระสยัมภูพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี มีความเลื่อมใส โสมนัสเกิดความปราโมทย์ ประนมอัญชลีแล้ว ถือเอาดอกรกฟ้าขาวมาบูชาพระสยัมภู ด้วยกรรมที่เราทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยการตั้งเจตจำนงไว้ เราละร่างกินนรแล้วได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์.
               เราได้เป็นจอมเทพเสวยราชสมบัติในเทวโลก ๓๖ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเสวยราชสมบัติอันใหญ่ ๑๐ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณนานับมิได้
               พืชอันหว่านในเนื้อนาอันดีคือพระสยัมภู ได้สำเร็จผลเป็นอันดีแก่เราแล้ว กุศลของเรามีอยู่ เราบวชเป็นบรรพชิต ทุกวันนี้ เราควรแก่การบูชาในศาสนาของพระศากยบุตร เราเผากิเลสทั้งหลาย แล้ว ... ฯลฯ ... พุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๑๐๖

               ก็แลท่านครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว อยู่ด้วยสุขอันเกิดแต่วิมุตติ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี เมื่อภิกษุผู้เป็นบุตรแห่งเจ้าวัชชีชาวกรุงเวสาลี ยกย่องวัตถุ ๑๐ ประการ เมื่อพระขีณาสพ ๕๐๐ รูปผู้อันพระยสกากัณฑกบุตตรเถระกระตุ้นเตือนให้อาจหาญขึ้น ทำลายทิฏฐินั้น ยกย่องพระสัทธรรม กระทำสังคายนาพระธรรมวินัย เพราะความสังเวชในธรรมในการที่ภิกษุชาวเมืองวัชชีบุตรแสดงสัตถุศาสน์นอกธรรมนอกวินัย.
               พระเถระเมื่อจะกล่าวคาถาเหล่านี้พยากรณ์พระอรหัตผลว่า :-
                                   ผู้ใดรีบด่วนในเวลาที่ควรช้า แลช้าในเวลาที่ควรรีบด่วน
                         ผู้นั้นเป็นพาลย่อมประสพทุกข์ เพราะไม่จัดแจงโดยอุบายอัน
                         ชอบ ประโยชน์ของผู้นั้นย่อมเสื่อมไป เหมือนพระจันทร์ข้าง
                         แรม เขาย่อมถึงความเสื่อมยศ และแตกจากมิตรทั้งหลาย
                                   ผู้ใดช้าในเวลาที่ควรช้า รีบด่วนในเวลาที่ควรรีบด่วน
                         ผู้นั้นเป็นบัณฑิตถึงความสุข เพราะได้จัดแจงด้วยอุบายอัน
                         ชอบ ประโยชน์ของผู้นั้นย่อมบริบูรณ์ เหมือนพระจันทร์ข้าง
                         ขึ้น เขาย่อมได้ยศ ได้เกียรติคุณและไม่แตกจากมิตรทั้งหลาย.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โย ทนฺธกาเล ตรติ ความว่า เมื่อเกิดความสงสัยในพระวินัยในเพราะวัตถุไรๆ ที่ควรทำขึ้นว่า สิ่งนี้ควรหรือไม่ควรหนอ ดังนี้ ครั้นถามพระวินัยธรผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังบรรเทาความสงสัยนั้นไม่ได้เพียงใด ย่อมด่วนคือย่ำยีกระทำ แม้ก้าวล่วงในเวลาช้าคือในสมัยที่ไม่ได้จะพึงให้กิจนั้นช้า เพียงนั้น.
               บทว่า ตรณีเย จ ทนฺธเย ความว่า เมื่อกิจของคฤหัสถ์ มีสรณคมน์และการสมาทานศีลเป็นต้น และกิจของบรรพชิต มีการกระทำวัตรและปฏิวัตรเป็นต้น และการตามประกอบสมถะและวิปัสสนาที่ควรรีบ ด่วนมาถึงเข้า อย่ารีบประกอบกิจนั้น ควรให้ช้าด้วยคิดว่า เราจักกระทำในเดือนที่จะมาถึงหรือในวันปักษ์ เมื่อไม่ทำกิจนั้นเลย ชื่อว่าปล่อยให้กาลผ่านไป.
               บทว่า อโยนิสํวิธาเนน ความว่า บุคคลผู้เป็นพาลคือผู้มีปัญญาอ่อน เมื่อด่วนในเวลาที่ควรช้า และช้าในเวลาที่ควรรีบด่วน ย่อมประสพทุกข์ คือความพินาศ ในบัดเดี๋ยวนี้และในกาลต่อไป ด้วยการไม่จัดแจงอุบาย คือเพราะไม่มีการจัดแจงอุบาย.
               บทว่า ตสฺสตฺถา ปริหายนฺติ ความว่า ประโยชน์ทั้งหลายอันต่างด้วยประโยชน์ในปัจจุบันเป็นต้น ของบุคคลนั้นคือเห็นปานนั้น ย่อมเสื่อมไปเหมือนพระจันทร์ข้างแรม คือย่อมถึงความหมดสิ้นไปทุกวันๆ ได้แก่ย่อมถึงคือย่อมประสพความเสื่อมยศ คือซึ่งความเป็นผู้อันวิญญูชนพึงติเตียน โดยนัยมีอาทิว่า บุคคลโน้นเป็นผู้ไม่มีศรัทธาไม่มีความเลื่อมใส เกียจคร้านมีความเพียรเลว.
               บทว่า มิตฺเตหิ จ วิรุชฺฌติ ความว่า ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ไม่ยินดีด้วยการรับโอวาทว่า พวกเราไม่ควรถูกว่ากล่าว (ดูหมิ่น) จากกัลยาณมิตรผู้ให้โอวาทว่า ท่านจงปฏิบัติอย่างนี้ จงอย่าปฏิบัติอย่างนี้.
               พึงทราบความโดยปริยายตรงกันข้ามแห่งคาถาทั้งสองที่เหลือ.
               แต่ในที่นี้อาจารย์บางพวกยกเอาการยกย่อง และการข่มจิตอันประกอบด้วยภาวนาด้วยอัตภาพ (ความเป็นตัวตน) แห่งบทว่า ย่อมรีบด่วนในเวลาช้า คำนั้นย่อมควรในคาถาหลัง.
               จริงอยู่ ๒ คาถาต้น พระเถระกล่าวหมายเอาภิกษุวัชชีบุตรผู้ไม่กระทำสมณธรรมที่ควรประพฤติตั้งแต่บวช มาแสดงวัตถุ ๑๐ ประการ เพราะความที่ตนมีความสงสัยเป็นปกติ ถูกสงฆ์ขับไล่ให้ออกไป
               แต่ ๒ คาถาหลังกล่าวหมายเอาผู้ปฏิบัติเหมือนกับตน ยังประโยชน์ของตนให้สำเร็จแล้วดำรงอยู่ ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาสัมภูตเถรคาถาที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา จตุกกนิบาต ๗. สัมภูตเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 328อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 329อ่านอรรถกถา 26 / 330อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6260&Z=6268
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=452
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=452
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :