ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 347อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 348อ่านอรรถกถา 26 / 349อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ฉักกนิบาต
๒. เตกิจฉกานิเถรคาถา

               อรรถกถาเตกิจฉการีเถรคาถาที่ ๒#-               
#-บาลีว่า เตกิจฉกานิเถระ

               คาถาของท่านพระเตกิจฉการีเถระ มีคำเริ่มต้นว่า อติหิตา วีหิ ดังนี้.
               เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               แม้พระเถระก็ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าปางก่อนทั้งหลาย สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี บังเกิดในเรือนของตระกูล รู้เดียงสาแล้วก็ได้สำเร็จเวชศาสตร์ ได้กระทำพระเถระนามว่าอโสกะ ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้าวิปัสสี ซึ่งอาพาธให้หายโรค และได้ปรุงยาให้แก่สัตว์เหล่าอื่นผู้ถูกโรคครอบงำ ด้วยความอนุเคราะห์.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ ชื่อว่าสุพุทธะ. ญาติทั้งหลายตั้งชื่อว่า เตกิจฉการี เพราะในเวลาที่เขาอยู่ในครรภ์ พวกหมอได้พากันบริบาลรักษาให้ปราศจากอันตราย.
               เขาศึกษาวิชาและศิลปอันสมควรแก่ตระกูลของตน จึงเจริญอยู่.
               ในกาลนั้น พราหมณ์จาณักกะได้เห็นความเฉียบแหลมแห่งปัญญา และความฉลาดในอุบายในการกระทำต่างๆ ของสุพุทธพราหมณ์ ถูกความริษยาครอบงำว่า สุพุทธะนี้ได้ที่พึ่งในราชสกุลนี้ จะพึงข่มขี่เรา จึงให้พระเจ้าจันทคุตต์จับเขาขังในเรือนจำ.
               นายเตกิจฉการีได้ฟังว่าบิดาถูกขังในเรือนจำก็กลัว จึงหนีไปยังสำนักของพระสาณวาสีเถระ เล่าเหตุการณ์อันน่าสลดใจของตนแก่พระเถระ แล้วบวชเรียนพระกัมมัฏฐาน เป็นผู้ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตรและถือการนั่งเป็นวัตรอยู่ ไม่ย่นย่อต่อความหนาวและความร้อน กระทำแต่สมณธรรมเท่านั้นโดยพิเศษ หมั่นประกอบพรหมวิหารภาวนา.
               มารผู้มีบาปเห็นดังนั้นจึงคิดว่า เราจักไม่ให้สมณะนี้ล่วงพ้นวิสัยของเราไปได้ ประสงค์จะทำให้ฟุ้งซ่าน ในเวลาเสร็จ (การทำ) ข้าวกล้า จึงแปลงเพศเป็นคนเฝ้านา เข้าไปหาพระเถระ เพื่อจะเยาะเย้ยท่าน จึงกล่าวว่า
                                   ข้าวเปลือกเขาเก็บเข้ายุ้งฉางเสียแล้ว ข้าวสาลีก็ยังอยู่
                         ในลาน เราไม่พึงได้แม้แต่ก้อนข้าว บัดนี้ จักทำอย่างไร.

               พระเถระได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า
                                   ท่านจงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้มีพระคุณหาประมาณ
                         มิได้ จักมีความเลื่อมใส เป็นผู้มีสรีระอันปีติถูกต้องแล้ว มีจิต
                         เบิกบานแล้วเนืองๆ ท่านจงระลึกถึงพระธรรมอันมีคุณหา
                         ประมาณมิได้ ... ฯลฯ ... ท่านจงระลึกถึงพระสงฆ์ผู้มีคุณอัน
                         หาประมาณมิได้ จักมีใจเลื่อมใส เป็นผู้มีสรีระอันปีติถูกต้อง
                         แล้ว มีจิตเบิกบานแล้วเนืองๆ.

               มารได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า
                                   ท่านอยู่ในที่แจ้ง ฤดูนี้เป็นฤดูหนาว ท่านอย่าถูก
                         ความหนาวครอบงำลำบากเลย นิมนต์ท่านเข้าไปยังที่อยู่
                         อันมีบานประตูและหน้าต่างมิดชิดเถิด.

               ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า
                                   เราจักเจริญอัปปมัญญา ๔ และจักมีความสุขอยู่ด้วย
                         อัปปมัญญา ๔ เหล่านั้น เราจักเป็นผู้ไม่หวั่นไหว ไม่ลำบาก
                         ด้วยความหนาว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อติหิตา วีหิ ความว่า ข้าวเปลือกที่เขานำไปเก็บไว้ยังยุ้งฉาง. อธิบายว่า เก็บงำไว้ในยุ้งฉางนั้น หรือนำจากลานมายังเรือน.
               ก็ในที่นี้ ท่านสงเคราะห์เอาธัญญาหารแม้อย่างอื่นด้วย วีหิ ศัพท์. ส่วนข้าวสาลีโดยมากสุกทีหลังข้าวเปลือก ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ข้าวสาลียังอยู่ในลาน.
               อธิบายว่า ไปสู่ลาน คือสถานที่เป็นที่นวดข้าว ได้แก่วางไว้ที่ลานนั้น โดยลอมเป็นกอง โดยการนวดและการเคลื่อนย้ายไปเป็นต้น.
               ท่านแสดงว่า ก็ในที่นี้ เพื่อจะแสดงความที่ข้าวเปลือกเป็นประธาน จึงถือเอาข้าวสาลีแยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก. แม้ด้วยข้าวทั้งสองนั้น ธัญชาติก็ตั้งอยู่เต็มทั้งในบ้านและภายนอกบ้าน.
               บทว่า น จ ลเภ ปิณฺฑํ ความว่า มารได้ทำการหัวเราะเยาะว่า ในเมื่อธัญญาหารหาได้ง่ายอย่างนี้ คือในเวลามีภิกษาดี แม้มาตรว่าก้อนข้าว เราก็จักไม่ได้ บัดนี้ เราจักกระทำอย่างไร. อธิบายว่า เราจักทำอย่างไร คือจักเลี้ยงชีพอยู่ได้อย่างไร.
               พระเถระได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า คนผู้น่าสงสารนี้ ประกาศประวัติของตนด้วยตนแก่เรา ส่วนเราควรโอวาทตนด้วยตนเอง ไม่ควรพูดอะไรๆ เมื่อจะแนะนำตนเข้าไปในการระลึกถึงวัตถุทั้ง ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงได้กล่าวคาถา ๓ คาถา โดยนัยมีอาทิว่า พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พุทฺธมปฺปเมยฺยํ อนุสฺสร ปสนฺโน ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าพุทธะ เพราะไปปราศเด็ดขาดจากความหลับคืออวิชชาพร้อมทั้งวาสนา และเพราะเบิกบานแล้วด้วยความรู้. ชื่อว่าผู้มีพระคุณหาประมาณมิได้ เพราะไม่มีกิเลสมีราคะเป็นต้นอันเป็นเครื่องกระทำประมาณ เพราะเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยพระคุณหาประมาณมิได้ และเพราะเป็นเนื้อนาบุญอันหาประมาณไม่ได้. มีความเลื่อมใส คือมีใจเลื่อมใสด้วยความเลื่อมใสยิ่งอันมีความเชื่อเป็นลักษณะ จงระลึกถึงคือจงยังสติอันมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ให้เป็นไปเนืองๆ โดยนัยมีอาทิว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ท่านจักเป็นผู้มีสรีระอันปีติถูกต้องแล้ว.
               บทว่า สตตมุทคฺโค ความว่า ท่านเมื่อระลึกถึงอยู่นั่นแล เป็นผู้มีสรีระอันปีติซึ่งมีลักษณะซาบซ่านถูกต้องแล้วเนืองๆ คือทุกๆ กาล คือเป็นผู้มีสรีระถูกท่วมทับด้วยรูปอันประณีตซึ่งมีปีติเป็นสมุฏฐาน พึงมีใจเบิกบานด้วยอุเพงคาปีติ และสามารถทำกายให้ลอยขึ้นสู่อากาศได้ พึงเสวยปีติและโสมนัสอันยิ่ง มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ด้วยพุทธานุสสติ อันเป็นเหตุจักไม่ให้แม้แต่ความหิวและความกระหายครอบงำได้ ประดุจความหนาวและร้อนครอบงำไม่ได้ฉะนั้น.
               บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ โลกุตรธรรมอันประเสริฐ.
               บทว่า สงฺฆํ ได้แก่ พระสงฆ์ผู้บรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งเป็นอริยสงฆ์.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวนั่นแล.
               ก็ในบทว่า อนุสฺสร นี้ พึงประกอบความว่า จงระลึกถึงพระธรรมโดยนัยมีอาทิว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว และระลึกถึงพระสงฆ์โดยนัยมีอาทิว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว.
               เมื่อพระเถระโอวาทตนด้วยการชักนำเข้าในการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยอย่างนี้แล้ว มารประสงค์จะให้พระเถระนั้นสงัดโดยการอยู่สงัดอีก เมื่อจะแสดงตนประหนึ่งว่าผู้หวังดี จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า จงอยู่ในที่แจ้งดังนี้.
               คาถานั้นมีเนื้อความว่า ภิกษุ ท่านจงอยู่ คือสำเร็จอิริยาบถอยู่ที่เนินกลางแจ้ง อันอะไรๆ ไม่ปิดบัง. ราตรีหนาวเย็นนี้ นับเนื่องในสมัยหิมะตกกำลังดำเนินไปอยู่ ชื่อว่าฤดูหนาว. เพราะฉะนั้น ท่านอย่าถูกความหนาวครอบงำลำบากเลย คืออย่าได้ความคับแค้น อย่าลำบาก. ท่านจงเข้าไปยังเสนาสนะอันมีบานประตูและบานหน้าต่างอันมิดชิด คือมีบานประตูหน้าต่างอันปิดแล้ว ท่านจักอยู่เป็นสุขด้วยประการอย่างนี้.
               พระเถระได้ฟังดังนั้น เมื่อจะแสดงว่า เราไม่มีประโยชน์ในการแสวงหาเสนาสนะ เฉพาะในที่นี้ เราก็อยู่สบาย จึงกล่าวคาถาที่ ๖ โดยนัยมีอาทิว่า เราจักเจริญ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ผุสิสฺสํ จตสฺโส อปฺปมญฺญาโย ความว่า เราจักเจริญ คือจักเข้าตามกาลอันควร ซึ่งพรหมวิหาร ๔ ที่ได้ชื่อว่าอัปปมัญญา เพราะมีอารมณ์หาประมาณมิได้.
               บทว่า ตาหิ จ สุขิโต วิหริสฺสํ ความว่า เราจักเป็นผู้มีความสุข คือเกิดสุขอยู่ คือสำเร็จอิริยาบถแม้ทั้ง ๔ อยู่ด้วยอัปปมัญญาเหล่านั้น. ด้วยเหตุนั้น เราจึงมีความสุขอย่างเดียวในทุกเวลา ความทุกข์ไม่มี.
               เพราะเราจักไม่ลำบากด้วยความหนาว คือเราจักไม่ลำบากด้วยความหนาว ในฤดูหิมะตก แม้อันมีถัดจากเดือนที่ ๘ เพราะฉะนั้น เราจักไม่หวั่นไหวอยู่ คือจักเป็นผู้มีความสุขอยู่ด้วยความสุขอันเกิดจากสมาบัตินั่นแหละ เพราะละได้เด็ดขาดซึ่งความพยาบาทเป็นต้น อันเป็นเหตุทำจิตให้หวั่นไหว และเพราะไม่มีความหวั่นไหวอันเกิดจากปัจจัย.
               พระเถระเมื่อกล่าวคาถานี้อย่างนี้ ได้เจริญวิปัสสนาทำให้แจ้งพระอรหัต.
               # ๑. ขุ. อ. ๓๒/ข้อ ๑๘๑.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เราเป็นหมอผู้ศึกษาดีแล้ว อยู่ในนครพันธุมดี เป็นผู้นำความสุขมาให้แก่มหาชนผู้มีทุกข์เดือดร้อน ในกาลนั้น เราเห็นพระสมณะผู้มีศีล ผู้รุ่งเรืองใหญ่ป่วยไข้ มีจิตเลื่อมใสมีใจโสมนัส ได้ถวายยาบำบัดไข้ พระสมณะผู้สำรวมอินทรีย์ เป็นอุปัฏฐากของพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า มีนามว่าพระอโสกะ หายจากโรคด้วยยานั้นแล
               ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ด้วยการที่เราได้ถวายยา เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายยา และในกัปที่ ๘ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสัพโพสธะ มีผลมาก สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ. เราเผากิเลสได้แล้ว ... ฯลฯ ... เรากระทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๑๘๑

               ก็ในที่นี้ พึงทราบว่า พระสังคีติกาจารย์ได้ร้อยกรองคาถาเหล่านี้ไว้ในคราวทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เพราะพระเถระนี้เกิดขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าพินทุสาร.

               จบอรรถกถาเตกิจฉการีเถรคาถาที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ฉักกนิบาต ๒. เตกิจฉกานิเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 347อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 348อ่านอรรถกถา 26 / 349อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6506&Z=6524
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=2159
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=2159
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :