ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 360อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 361อ่านอรรถกถา 26 / 362อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สัตตกนิบาต
๑. สุนทรสมุททเถรคาถา

               เถรคาถา สัตตกนิบาต               
               อรรถกถาสุนทรสมุทรเถรคาถาที่ ๑               
               ในสัตตกนิบาต มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               คาถาของท่านพระสุนทรสมุทรเถระ มีคำเริ่มต้นว่า อลงฺกตา ดังนี้.
               เรื่องนี้มีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ ในพระพุทธเจ้าปางก่อนทั้งหลาย สั่งสมบุญทั้งหลายไว้ในภพนั้นๆ ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดเป็นบุตรของเศรษฐีผู้มีทรัพย์สมบัติมากคนหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์ ได้มีชื่อว่าสมุทร. แต่ปรากฏชื่อว่าสุนทรสมุทร เพราะมีรูปสมบัติ.
               ท่านดำรงอยู่ในปฐมวัย ได้เห็นพุทธานุภาพในคราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้ากรุงราชคฤห์ ถึงได้ศรัทธา เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยในการสลัดออก (จากทุกข์) จึงบวช ได้อุปสมบทแล้วสมาทานธุดงค์ จากกรุงราชคฤห์ไปยังกรุงสาวัตถี เรียนวิปัสสนาในสำนักของภิกษุผู้เป็นกัลยาณมิตร บำเพ็ญเพียรกรรมฐานอยู่.
               ในวันมีมหรสพในกรุงราชคฤห์ มารดาของท่านได้เห็นลูกเศรษฐีอื่นๆ พร้อมภรรยา พากันตกแต่งประดับประดา เล่นมหรสพอยู่ หวนระลึกถึงบุตรจึงร้องไห้.
               หญิงคณิกาคนหนึ่งเห็นดังนั้นจึงถามถึงเหตุที่ร้องไห้ นางจึงบอกเหตุนั้นแก่หญิงคณิกาคนนั้น. หญิงคณิกาได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า ดิฉันจักนำเธอมา เบื้องต้นท่านจงเห็นแก่ความเป็นลูกผู้หญิงของดิฉันก่อน.
               นางจึงสัญญาว่า ถ้าเมื่อเป็นอย่างนั้น เราจักกระทำเจ้าเท่านั้นให้เป็นภรรยาเขาแล้วตั้งให้เป็นเจ้าของตระกูลนี้ ดังนี้แล้วให้ทรัพย์เป็นอันมากแล้วส่งไป.
               นางจึงไปยังกรุงสาวัตถี ด้วยบริวารเป็นอันมากแล้วพักอยู่ในเรือนหลังหนึ่ง ใกล้ที่เที่ยวบิณฑบาตของพระเถระ ใช้ให้คนอื่นๆ ถวายบิณฑบาตแก่พระเถระโดยเคารพ และ (ตนเอง) ตกแต่งประดับประดา สวมรองเท้าทอง แสดงตนให้ (พระเถระเห็น).
               ครั้นวันหนึ่ง นางเห็นพระเถระกำลังเดินไปทางประตูเรือน จึงถอดรองเท้าทอง ประคองอัญชลีเดินไปข้างหน้า เชื้อเชิญพระเถระด้วยการเชื้อเชิญด้วยกามมีประการต่างๆ.
               พระเถระได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า ธรรมดาจิตของปุถุชนมักหวั่นไหว ถ้ากระไร เราพึงทำความอุตสาหะพยายามในบัดนี้แหละ ยืนอยู่ในที่นั้นนั่นเอง บำเพ็ญภาวนาก็ได้อภิญญา ๖ ซึ่งท่านหมายกล่าวไว้ว่า
                                   หญิงแพศยาผู้ประดับร่างกาย นุ่งห่มผ้าใหม่อันงาม
                         ทัดทรงดอกไม้ ลูบไล้ด้วยเครื่องหอม เท้าย้อมด้วยสีแดง
                         สวมรองเท้าทอง นางถอดรองเท้ายืนประคองอัญชลีอยู่
                         ข้างหน้า กล่าวกะเราผู้เคยยำเกรง ด้วยถ้อยคำอันอ่อน
                         หวานว่า
                                   ท่านเป็นบรรพชิตหนุ่ม ขอจงเชื่อฟังคำของดิฉัน ขอ
                         เชิญท่านสึกออกมาบริโภคกามอันเป็นของมนุษย์เถิด ดิฉัน
                         ขอให้สัตย์ปฏิญาณแก่ท่าน หรือดิฉันจะนำเอาไฟมาทำสบถ
                         ก็ได้. เมื่อใด เราทั้งสองแก่เฒ่าจนถึงถือไม้เท้า เมื่อนั้นเรา
                         ทั้งสองจึงค่อยบวช เราทั้งสองถือเอาชัยในโลกทั้งสองก่อน
                         เถิด.
                                   เราเห็นหญิงแพศยาคนนั้น ผู้ตกแต่งร่างกาย นุ่งห่ม
                         ผ้าใหม่อันงามดี มาทำอัญชลีอ้อนวอนเรา เหมือนกับบ่วง
                         มัจจุราช อันธรรมชาติดักไว้. ลำดับนั้น โยนิโสมนสิการ
                         เกิดขึ้นแก่เรา เราได้เห็นโทษของสังขารแล้ว เกิดความ
                         เบื่อหน่าย.
                                   ลำดับนั้น จิตของเราก็หลุดพ้นจากกิเลส ขอท่านจง
                         เห็นคุณวิเศษของพระธรรมอย่างนี้เถิด บัดนี้ เราได้บรรลุ
                         วิชชา ๓ แล้ว ได้ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาลธารี ได้แก่ ทัดทรงระเบียบดอกไม้ คือประดับพวงดอกไม้.
               บทว่า วิภูสิตา ได้แก่ ตกแต่งกายด้วยดอกไม้และลูบไล้ด้วยเครื่องหอมเป็นต้น โดยการทำที่พร่องให้เต็ม.
               ด้วยบทว่า อลงฺกตา นี้ ท่านประสงค์เอาการประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งหลาย มีสร้อยข้อมือและสร้อยคอเป็นต้น.
               บทว่า อลตฺตกกตาปาทา ได้แก่ ผู้มีเท้าทั้งคู่ย้อมด้วยน้ำครั่ง อันมีสีดังดอกชัยพฤกษ์และดอกคำแก่จัด.
               จริงอยู่ บทว่า อลตฺตกกตาปาทา นี้ เป็นบทสมาส (วิธีย่อศัพท์ทางภาษาบาลี) ควรจะกล่าวว่า อลตฺตกกตปาทา แต่ท่านทำให้เป็นทีฆะ เพื่อสะดวกในการแต่งคาถา. แต่ในเมื่อไม่เป็นบทสมาส จะต้องเข้าใจคำที่เหลือ (ซึ่งจะต้องเติมเข้ามา) ว่า ตสฺสา.
               ในบทว่า ปาทุการุยฺห เวสิกา นี้ พึงเติมคำที่เหลือเข้ามาว่า หญิงคนหนึ่งผู้อาศัยรูปเลี้ยงชีพ มีเพศตามที่กล่าวแล้ว สวมรองเท้าทองยืนอยู่.
               บทว่า ปาทุกา โอรุหิตฺวาน แปลว่า ลงจากรองเท้า. อธิบายว่า ถอดรองเท้าทอง.
               บทว่า ปญฺชลีกตา ความว่า นางคือหญิงแพศยา ประคองอัญชลี กล่าวกะเรา.
               อีกอย่างหนึ่ง เว้นคำอื่นๆ ที่เนื่องกันมาเสีย นางได้กล่าวเองคือด้วยตนเองทีเดียว.
               บทว่า สณฺเหน ได้แก่ กลมเกลี้ยง.
               บทว่า มุทุนา แปลว่า อ่อนหวาน. แม้จะไม่กล่าวคำว่า วจเนน ก็ย่อมเป็นอันกล่าว เพราะกล่าวคำว่า อภาสถ ไว้.
               ด้วยบทว่า ยุวาสิ ตฺวํ ปพฺพชิโต นี้ ท่านแสดงความว่า ท่านเมื่อบวชก็เป็นคนหนุ่มแน่นบวช เมื่อจะบวชควรบวชในเมื่ออายุถึง ๗๐ ปีมิใช่หรือ.
               บทว่า ติฏฺฐาหิ มม สาสเน ความว่า ท่านจงตั้งอยู่ในถ้อยคำของเราเถิด.
               เพื่อจะหลีกเลี่ยงคำถามว่า ก็คำนั้นเป็นอย่างไร?
               นางจึงกล่าวว่า จงบริโภคกามอันเป็นของมนุษย์เถิด.
               บุคคลผู้ประสงค์จะบริโภคกาม ต้องปรารถนารูปสมบัติ วัยสมบัติ บริขารสมบัติและโภคสมบัติ. ในสมบัติเหล่านั้น พระเถระจึงกล่าวว่า เราจักมีโภคสมบัติมาแต่ไหน เพราะเหตุนั้น นางจึงกล่าวว่า ดิฉันจะให้ทรัพย์อันเป็นเครื่องปลื้มใจแก่ท่าน.
               พระเถระจะพึงสำคัญว่า คำนี้นั้นจะพึงเชื่อได้อย่างไร เพราะเหตุนั้น นางเมื่อจะให้พระเถระนั้นเชื่อถือจึงกล่าวว่า ดิฉันขอทำสัตย์ปฏิญาณแก่ท่าน หรือว่าดิฉันจะนำเอาไฟมาทำสบถก็ได้. อธิบายว่า คำใดที่ดิฉันปฏิญาณไว้ว่า ท่านจงบริโภคกามอันเป็นของมนุษย์เถิด ดิฉันจะให้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแก่ท่าน คำนั้นดิฉันขอให้สัตย์ปฏิญาณไว้อย่างเด็ดขาด ถ้าท่านยังไม่ตกลงใจแก่ดิฉัน ดิฉันจะนำเอาไฟมาทำสบถก็ได้ คือดิฉันจะนำเอาไฟมาแล้วกระทำสบถต่อหน้าไฟ.
               บทว่า อุภยตฺถ กฏคฺคโห ความว่า การที่เราทั้งสองบวชในเวลาแก่เฒ่า เป็นการถือชัยชนะในโลกทั้งสองไว้ได้ อธิบายว่า ข้อที่เราทั้งสอง ใช้สอยโภคะไปจนตราบเท่าถือไม้เท้านั้น ชื่อว่าไม่เสื่อมจากโภคะแม้ในโลกนี้ ข้อที่เราทั้งสองจักบวชในภายหลังนั้น ชื่อว่าไม่เสื่อมจากโภคะแม้ในโลกหน้า.
               บทว่า ตโต แปลว่า เหตุนั้น คือเหตุแห่งคำที่หญิงแพศยานั้น ผู้เชื้อเชิญด้วยกามทั้งหลาย กล่าวด้วยคำมีอาทิว่า ท่านยังเป็นหนุ่ม และด้วยคำมีอาทิว่า เมื่อใด เราทั้งสองแก่เฒ่า ดังนี้.
               จริงอยู่ พระเถระกระทำคำนั้นให้เป็นดุจขอสับ กระทำสมณธรรม ได้ทำประโยชน์ของตนให้บริบูรณ์แล้ว.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังแล.

               จบอรรถกถาสุนทรสมุทรเถรคาถาที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สัตตกนิบาต ๑. สุนทรสมุททเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 360อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 361อ่านอรรถกถา 26 / 362อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6709&Z=6727
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=3130
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=3130
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :