ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 375อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 376อ่านอรรถกถา 26 / 377อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทสกนิบาต
๗. โคตมเถรคาถา

               อรรถกถาโคตมเถรคาถาที่ ๗               
               มีคาถาของท่านพระโคตมเถระอีกรูปหนึ่งว่า วิชาเนยฺย สกํ อตฺถํ ดังนี้เป็นต้น.
               เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               ท่านพระโคตมเถระรูปนี้ ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ในภพนั้นๆ ได้สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งวิวัฏฏะไว้ก่อนหน้าแต่กาลอุบัติขึ้นแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย (ท่าน) บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ชื่อว่าอุทิจจะ ในกรุงสาวัตถี พอเจริญวัยแล้วเป็นผู้เรียนจบไตรเพท ฝึกฝนวิธีการพูด เมื่อไม่ได้คนอื่นที่มีคำพูดที่เหนือกว่าคำพูดของตน จึงเที่ยวทำการพูด หาเรื่องทะเลาะกับคนเหล่านั้นๆ.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายอุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงแสดงพระธรรมจักรอันบวรให้เป็นไปแล้ว ทรงฝึกเวไนยสัตว์ทั้งหลายมียสกุลบุตรเป็นต้นโดยลำดับแล้ว ได้เสด็จเข้าไปยังกรุงสาวัตถี เพื่อฝึกอบรมอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในคราวที่มอบถวายพระเชตวันแด่พระศาสดา ท่านได้มีศรัทธาเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมแล้วทูลขอบรรพชา.
               พระศาสดาทรงบังคับรับสั่งให้ภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง ด้วยพระดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจงให้กุลบุตรผู้นี้บวชเถิด.
               ท่าน เมื่อภิกษุนั้นจะให้บรรพชา พอมีดโกนจรดเส้นผมเท่านั้นก็บรรลุพระอรหัต แล้วไปสู่โกศลชนบท อยู่ที่โกศลชนบทนั้นนานแล้ว กลับมายังกรุงสาวัตถีอีก. พวกญาติผู้เป็นพราหมณ์มหาศาลเป็นอันมากเข้าไปหาท่านพระโคตมเถระนั้นแล้ว เข้าไปนั่งใกล้ พากันถามว่า พวกสมณพราหมณ์เป็นอันมากในโลกนี้มีวาทะอันบริสุทธิ์ในสงสาร ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกไหนมีวาทะที่แน่นอน, ปฏิบัติอย่างไรจึงจะบริสุทธิ์จากสงสารได้ ดังนี้.
               พระเถระเมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นแก่ญาติเหล่านั้น จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
                                   บุคคลพึงรู้จักประโยชน์ของตน พึงตรวจตราดูคำ
                         สั่งสอนของพระศาสดา และพึงตรวจตราดูสิ่งที่สมควรแก่
                         กุลบุตรผู้เข้าถึงซึ่งความเป็นสมณะในพระศาสนานี้ การมี
                         มิตรดี การสมาทานสิกขาให้บริบูรณ์ การเชื่อฟังต่อครูทั้ง
                         หลาย ข้อนี้ล้วนแต่สมควรแก่สมณะในพระศาสนานี้
                                   ความเคารพในพระพุทธเจ้า ความยำเกรงในพระ
                         ธรรมและพระสงฆ์ ตามความเป็นจริง ข้อนี้ล้วนสมควรแก่
                         สมณะ การประกอบในอาจาระและโคจรอาชีพที่หมดจด
                         อันบัณฑิตไม่ติเตียน การตั้งจิตไว้ชอบนี้ล้วนแต่สมควรแก่
                         สมณะ จาริตศีลและวาริตศีล การเปลี่ยนอิริยาบถอันน่า
                         เลื่อมใสและการประกอบในอธิจิต ก็ล้วนแต่สมควรแก่
                         สมณะ เสนาสนะป่าอันสงัด ปราศจากเสียงอึกทึกอันมุนี
                         พึงคบหา นี้เป็นสิ่งสมควรแก่สมณะ
                                   จตุปาริสุทธศีล พาหุสัจจะ การเลือกเฟ้นธรรมตาม
                         ความเป็นจริง การตรัสรู้อริยสัจ นี้ก็ล้วนแต่สมควรแก่สมณะ
                                   ข้อที่บุคคลมาเจริญอนิจจสัญญา ในสังขารทั้งปวง
                         ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เจริญอนัตตสัญญาว่า ธรรมทั้ง
                         ปวงเป็นอนัตตา และเจริญอสุภสัญญาว่า กรัชกายนี้ไม่น่า
                         ยินดีในโลก นี้ก็ล้วนแต่สมควรแก่สมณะ
                         การที่บุคคลมาเจริญโพชฌงค์ ๗ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕
                         พละ ๕ และอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ล้วนแต่สมควรแก่สมณะ
                                   การที่บุคคลผู้เป็นมุนีมาละตัณหา ทำลายอาสวะ
                         พร้อมทั้งมูลราก เป็นผู้หลุดพ้นจากอาสวะกิเลสอยู่ ก็ล้วน
                         แต่สมควรแก่สมณะ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิชาเนยฺย สกํ อตฺถํ ความว่า บุรุษมีชาตินักรู้ พึงตรวจตราดูประโยชน์ของตนตามความเป็นจริงแล้ว พึงรู้. ก็เมื่อจะตรวจตรา พึงตรวจตราดูคำสั่งสอนของพระศาสดา คือคำสั่งสอนของพระศาสดา ที่สมณพราหมณ์ผู้เป็นปุถุชนทั้งหลาย และที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในโลกนี้ คือการจะตรัสรู้. ได้แก่พึงดู คือพึงเห็นด้วยปัญญาจักษุ ซึ่งผู้ที่จะนำออกไปจากสงสาร.
               จริงอยู่ สมณพราหมณ์ผู้เป็นเดียรถีย์ต่างๆ เหล่านี้เป็นผู้ยึดมั่นผิดซึ่งสังขารทั้งหลายที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ซึ่งสิ่งซึ่งไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน และซึ่งหนทางที่ไม่บริสุทธิ์ว่าเป็นหนทางที่บริสุทธิ์ และเป็นผู้มีวาทะแย้งกันและกันเอง. เพราะฉะนั้น วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจึงเป็นวาทะที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน.
               ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้ทั่วด้วยความรู้ยิ่งตามความเป็นจริง ด้วยพระสยัมภูญาณว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง, ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา, ความสงบคือพระนิพพานดังนี้ เพราะฉะนั้น วาทะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นจึงเป็นวาทะที่เที่ยงแท้แน่นอน.
               อธิบายว่า พึงตรวจตราดูคำสั่งสอนที่ยิ่งใหญ่ของพระศาสดาแล.
               บทว่า ยญฺเจตฺถ อสฺส ปฏิรูปํ สามญฺญํ อชฺฌูปคตสฺส ความว่า พึงเป็นผู้ตรวจตราดูสิ่งที่สมควร คือสิ่งที่เหมาะสมแก่กุลบุตรผู้เข้าถึงความเป็นสมณะ คือการบวชในพระศาสนานี้ หรือในความเป็นบรรพชิต.
               เพื่อจะหลีกเลี่ยงคำถามว่า ก็ข้อนั้นเป็นอย่างไร? ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า มิตฺตํ อิธ จ กลฺยาณํ การมีมิตรดี ดังนี้.
               มีวาจาประกอบความว่า การคบหากัลยาณมิตรในพระศาสนานี้ นับเป็นการสมควรแก่สมณะ.
               แม้นัยที่นอกจากนี้ ก็เช่นนี้.
               จริงอยู่ กุลบุตรย่อมละอกุศลย่อมเจริญกุศล ย่อมบริหารตนให้หมดจดสะอาดได้ ก็เพราะได้อาศัยกัลยาณมิตร.
               บทว่า สิกฺขา วิปุลํ สมาทานํ ได้แก่ การสมาทานสิกขาให้บริบูรณ์. อธิบายว่า ปฏิบัติในสิกขามีอธิศีลสิกขาเป็นต้น อันจะนำมาซึ่งคุณอันใหญ่ คือพระนิพพาน.
               บทว่า สุสฺสูสา จ ครูนํ ความว่า การเชื่อฟังและการประพฤติตามโอวาทของครูทั้งหลาย คือของกัลยาณมิตรทั้งหลายมีอาจารย์และอุปัชฌาย์เป็นต้น.
               บทว่า เอตํ ได้แก่ การคบหากัลยาณมิตรเป็นต้น.
               บทว่า พุทฺเธสุ สคารวตา ความว่า กระทำความเคารพยำเกรงในพระสัพพัญญูพุทธเจ้าว่า พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนี้.
               บทว่า ธมฺเม อปจิติ ยถาภูตํ ได้แก่ อ่อนน้อม คือบูชาโดยความเอื้อเฟื้อในพระอริยธรรม ตามความเป็นจริง.
               บทว่า สงฺเฆ ได้แก่ ในพระอริยสงฆ์.
               บทว่า จิตฺตีกาโร ได้แก่ สักการะ คือสัมมานะ.
               บทว่า เอตํ ได้แก่ กระทำความเคารพในพระรัตนตรัย.
               บทว่า อาจารโคจเร ยุตฺโต ความว่า การละอนาจาร คือการก้าวล่วงทางกายและทางวาจา และการละสถานที่อโคจรมีหญิงแพศยาเป็นต้น อันเป็นสถานที่ไม่สมควร เพื่อเข้าไปบิณฑบาตเป็นต้นแล้ว ประกอบคือถึงพร้อมด้วยอาจาระ คือการไม่ก้าวล่วงทางกายและทางวาจาและด้วยโคจรอันเป็นสถานที่สมควรเพื่อเข้าไปบิณฑบาตเป็นต้น, ชื่อว่าผู้มีอาจาระและโคจรสมบูรณ์.
               บทว่า อาชีโว โสธิโต ความว่า เมื่อภิกษุละอเนสนากรรม มีการขอไม้ไผ่เป็นต้น ที่พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจแล้ว เสพแต่ปัจจัยที่เกิดขึ้นไม่มีโทษ ชื่อว่าผู้มีอาชีพที่หมดจด คือบริสุทธิ์ด้วยดี เพราะความเป็นผู้มีอาชีพอันหมดจดนั่นเอง วิญญูชนทั้งหลายจึงไม่ติเตียน.
               บทว่า จิตฺตสฺส จ สณฺฐปนํ ความว่า การตั้งจิตไว้ชอบด้วยอำนาจรูปที่เห็นแล้ว และอารมณ์ที่ทราบแล้วเป็นต้น โดยที่ไม่ให้กิเลสมีอภิชฌาเป็นต้นเป็นไปในอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้น ทางทวารมีจักษุทวารเป็นต้น.
               บทว่า เอตํ ได้แก่ ความถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร อาชีพอันหมดจด และความมีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายดังนี้นั้น.
               บทว่า จาริตฺตํ ได้แก่ ศีลที่พึงประพฤติให้บริบูรณ์.
               บทว่า วาริตฺตํ ได้แก่ ศีลที่พึงให้บริบูรณ์ ด้วยการเว้นไม่ทำ.
               บทว่า อิริยาปถิยํ ปสาทนียํ ความว่า เพียบพร้อมด้วยอากัปกิริยา เป็นเครื่องหมายอันนำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยอิริยาบถมีความรู้ทั่วพร้อม.
               บทว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค ได้แก่ การประกอบ คือการเจริญในสมถะและวิปัสสนา.
               บทว่า อารญฺญกานิ ได้แก่ เสนาสนะอันนับเนื่องแล้วในป่า.
               บทว่า ปนฺตานิ แปลว่า สงัดแล้ว.
               บทว่า สีลํ ได้แก่ จตุปาริสุทธิศีล.
               จริงอยู่ ศีลที่ทำลายแล้ว ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลังในที่นี้ ท่านกล่าวถึงศีลที่ยังไม่ทำลาย.
               บทว่า พาหุสจฺจํ ได้แก่ ความเป็นผู้สดับตรับฟังมาก.
               จริงอยู่ พาหุสัจจะนั้นย่อมมีอุปการะมากแก่ผู้ประกอบการเจริญภาวนา, การประกอบสมถะวิปัสสนาย่อมสำเร็จแก่ผู้มากไปด้วยความใคร่ครวญโดยชอบ ในความเป็นผู้ฉลาดในโพชฌงค์ ความเย็นอย่างยอดเยี่ยมและความเป็นผู้ประกอบในอธิจิตเป็นต้น.
               บทว่า ธมฺมานํ ปวิจโย ยถาภูตํ ความว่า การไตร่ตรองโดยลักษณะที่ตรงกันข้ามจากรูปธรรมและอรูปธรรม และโดยสามัญญลักษณะ.
               ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวถึงอธิปัญญา ธรรมและวิปัสสนา.
               บทว่า สจฺจานํ อภิสมโย ได้แก่ การแทงตลอดด้วยอำนาจการตรัสรู้ คือการหยั่งรู้ถึงอริยสัจมีทุกข์เป็นต้น.
               การตรัสรู้แจ้งอริยสัจนี้นั้นย่อมมีโดยประการใด เพื่อจะแสดงอริยสัจนั้นโดยประการนั้น ท่านจึงกล่าวคำว่า ภาเวยฺย ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภาเวยฺย จ อนิจฺจํ ความว่า บุคคลพึงทำให้มี ให้เกิดขึ้นและให้เจริญอนิจจสัญญาในสังขารทั้งปวง โดยการไม่จำแนกว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ดังนี้เป็นต้น หรือโดยการจำแนกว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า อนตฺตสญฺญํ มีวาจาประกอบความว่า พึงเจริญอนัตตสัญญาที่เป็นไปแล้วว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาดังนี้. แม้ในบทที่เหลือทั้งหลายก็อย่างนี้.
               บทว่า อสุภสญฺญํ ความว่า สัญญาที่เป็นไปแล้วว่าไม่งาม เพราะสิ่งไม่สะอาดคือกิเลสในกรัชกาย หรือในสังขารอันเป็นไปในภูมิ ๓ แม้ทั้งหมดไหลออกรอบด้าน.
               จริงอยู่ อสุภสัญญานี้มีทุกขสัญญาเป็นบริวาร ก็ด้วยบทนั้นนั่นแหละ ถึงทุกขสัญญา ท่านก็สงเคราะห์ไว้ในอสุภสัญญานี้เอง, บัณฑิตพึงทราบดังว่ามานี้แล.
               บทว่า โลกมฺหิ จ อนภิรตึ ได้แก่ สัญญาในเพราะการไม่ยินดียิ่ง ในสังขารทั้งหลายที่เป็นไปในภูมิ ๓ ในโลกทั้งปวง, ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวถึงอาทีนวานุปัสสนาและนิพพิทานุปัสสนา.
               ก็พระเถระผู้ประกอบการเจริญวิปัสสนาอย่างนั้นแล้ว เมื่อจะให้หมู่ญาติเกิดความขวนขวาย คือเมื่อจะแสดงว่า พึงเจริญธรรมเหล่านี้ ดังนี้จึงกล่าวคาถาว่า ภาเวยฺย จ โพชฺฌงฺเค ดังนี้เป็นต้น.
               เนื้อความแห่งบาทคาถานั้นว่า :-
               ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะอรรถว่าเป็นองค์แห่งความพรั่งพร้อมของธรรม ๗ อย่างมีสติเป็นต้น เพื่อการตรัสรู้,
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะอรรถว่าเป็นองค์แห่งบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยธรรมนั้น เพื่อการตรัสรู้, คือธรรมทั้งหลายมีสติเป็นต้น.
               ธรรมเหล่านั้น โพชฌงค์ ๗ ประการมีสติเป็นต้น, อิทธิบาท ๔ มีฉันทะเป็นต้น, อินทรีย์ ๕ มีศรัทธาเป็นต้น, พละ ๕ มีศรัทธาเป็นต้นเหมือนกัน และอริยมรรคมีองค์ ๘ คือมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น.
               ด้วย ศัพท์ ท่านสงเคราะห์เอาสติปัฏฐานและสัมมัปปธานเข้าด้วย เพราะเหตุนั้น พึงทำให้มี พึงทำให้เกิดและพึงเจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประเภท แม้ทั้งหมดเถิด. ในข้อนั้น การทำโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประเภทเหล่านั้นให้เกิดขึ้นในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค และการเจริญในขณะแห่งอรหัตมรรค. ข้อนั้นเป็นการสมควรแก่สมณะ คือภิกษุแล.
               พระเถระชี้แจงโพธิปักขิยธรรมอย่างนั้น เมื่อจะแสดงว่า บุคคลจะตรัสรู้สมุทัยสัจ ก็ด้วยอำนาจการตรัสรู้ด้วยการละ, จะตรัสรู้นิโรธสัจ ก็ด้วยการตรัสรู้ด้วยการทำให้แจ้ง, เหมือนจะตรัสรู้มรรคสัจได้ ก็ด้วยอำนาจการตรัสรู้ด้วยการเจริญดังนี้ จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า ตณฺหํ ปชเหยฺย ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตณฺหํ ปชเหยฺย ความว่า พึงตัดตัณหาทั้งหมดมีประเภทเช่นกามตัณหาเป็นต้นโดยไม่ให้เหลือด้วยอริยมรรค, ญาณ ท่านเรียกว่าโมนะ ชื่อว่ามุนิ เพราะประกอบพร้อมด้วยญาณนั้น.
               บทว่า สมูลเก อาสเว ปทาเลยฺย ความว่า พึงทำลาย คือพึงตัดอาสวะแม้ทั้งหมดมีกามาสวะเป็นต้น พร้อมทั้งมูลราก มีกามราคานุสัยเป็นต้น.
               บทว่า วิหเรยฺย วิปฺปมุตฺโต ความว่า เพราะละกิเลสทั้งหลายได้โดยประการทั้งปวงอย่างนี้ จึงเป็นผู้หลุดพ้นในที่ทั้งปวง กระทำให้แจ้งซึ่งนิโรธ คือนิพพาน อันสละขาดซึ่งอุปธิกิเลสทั้งหมดได้อยู่.
               บทว่า เอตํ ความว่า ข้อที่การอยู่เช่นนั้น นับว่าเป็นการสมควรแก่สมณะ คือภิกษุผู้ลอยบาปได้แล้ว.
               พระเถระชี้แจงว่า พระศาสนาเป็นนิยยานิกะ โดยระบุถึงข้อปฏิบัติอันสมควรแก่สมณะ และชี้แจงว่า ลัทธิภายนอกเป็นอนิยยานิกะ เพราะย้อน (ทวน, ตรงกันข้าม) พระศาสนานั้น.
               พราหมณ์มหาศาลเหล่านั้นมีความเลื่อมใสยิ่งในพระศาสนา พากันดำรงอยู่ในสรณะเป็นต้นแล้ว.

               จบอรรถกถาโคตมเถรคาถาที่ ๗               
               จบอรรถกถาขุททกนิกาย เถรคาถา ทสกนิบาต               
               -----------------------------------------------------               

               ในทสกนิบาตนี้ พระเถระ ๗ องค์ คือ
                         พระกาฬุทายีเถระ ๑
                         พระเอกวิหาริยเถระ ๑
                         พระมหากัปปินเถระ ๑
                         พระจูฬปันถกเถระ ๑
                         พระกัปปเถระ ๑
                         พระอุปเสนวังคันตปุตตเถระ ๑
                         พระโคตมเถระ ๑
               ได้เปล่งอุทานคาถาองค์ละ ๑๐ คาถา รวมเป็น ๗๐ คาถา ฉะนี้แล..
               จบทสกนิบาต               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทสกนิบาต ๗. โคตมเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 375อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 376อ่านอรรถกถา 26 / 377อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=7059&Z=7087
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=5312
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=5312
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :