ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 382อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 383อ่านอรรถกถา 26 / 384อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา โสฬสกนิบาต
๑. อัญญโกณฑัญญเถรคาถา

               อรรถกถาเถรคาถา โสฬสกนิบาต               
               อรรถกถาอัญญาโกณฑัญญเถรคาถาที่ ๑               
               ในโสฬสกนิบาต คาถาของท่านพระอัญญาโกณฑัญญเถระ มีคำเริ่มต้นว่า เอส ภิญฺโญ ปสีทามิ ดังนี้.
               เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นเป็นอย่างไร?
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ พระเถระแม้นี้บังเกิดในตระกูลคฤหบดีมหาศาล ในหังสวดีนคร ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว วันหนึ่งฟังธรรมในสำนักพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศแห่งภิกษุผู้รัตตัญญูในธรรมที่ตนได้ครั้งแรกในพระศาสนา แม้ตนเองก็ปรารถนาตำแหน่งนั้น บำเพ็ญมหาทานให้เป็นไปตลอด ๗ วันแด่พระศาสดาผู้มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูปเป็นบริวารแล้วตั้งความปรารถนาไว้.
               ฝ่ายพระศาสดาทรงเห็นความที่เธอไม่มีอันตราย จึงพยากรณ์สมบัติอันเป็นเครื่องเจริญ. ท่านบำเพ็ญบุญจนตลอดชีวิต เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว เมื่อให้สร้างเจดีย์ สร้างเรือนแก้วไว้ในภายในเจดีย์ และให้สร้างเรือนไฟแก้วมีราคา ๑,๐๐๐ กหาปณะล้อมเจดีย์.
               ท่านทำบุญอย่างนี้แล้ว จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า วิปัสสี เป็นกุฎุมพี นามว่ามหากาล จัดแจงข้าวปายาสด้วยน้ำนมไม่ผสมน้ำ ด้วยข้าวสารแห่งข้าวสาลีที่ตนฉีกท้องข้าวสาลีในที่นาประมาณ ๘ กรีส จึงใส่น้ำผึ้ง เนยใส น้ำตาลกรวดเป็นต้นในข้าวปายาสนั้น แล้วได้ถวายสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข. ที่ๆ ตนฉีกท้องข้าวสาลีถือแล้วๆ ได้เต็มอีก,
               ในกาลที่ข้าวเป็นข้าวเม่า ได้ถวายชื่อภัตอันเลิศคือข้าวเม่า ในกาลเป็นที่เก็บเกี่ยวข้าว ได้ถวายภัตอันเลิศในกาลเก็บเกี่ยว ในกาลทำเขน็ด ได้ถวายภัตอันเลิศในกาลทำเขน็ด ในกาลกระทำฟ่อนเป็นต้น ได้ถวายภัตอันเลิศในการทำฟ่อน ถวายภัตอันเลิศในกาลทำลาน เลิศในกาลทำเป็นสิ่งของขายเลิศในกาลนับ เลิศในกาลนำเข้าฉาง รวมความว่า ท่านได้ถวายชื่อทานอันเลิศ ๙ ครั้ง ในกาลข้าวกล้าครั้งเดียวข้าวแม้นั้นได้สมบูรณ์อย่างเหลือเกิน.
               ท่านบำเพ็ญบุญตลอดชีวิตด้วยอาการอย่างนี้ จุติจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในพราหมณคาม ชื่อว่าโทณวัตถุ ไม่ไกลกรุงกบิลพัสดุ์ ก่อนแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายทรงอุบัตินั่นแล. ท่านได้มีนามตามโคตรว่าโกณฑัญญะ, ท่านเจริญวัยแล้ว เรียนเวท ๓ ได้ถึงฝั่งในมนต์สำหรับทายลักษณะ.
               สมัยนั้น พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายจุติจากดุสิตบุรี บังเกิดในพระตำหนักของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ในกรุงกบิลพัสดุ์ ในวันขนานพระนามพระองค์ เมื่อพราหมณ์ ๑๐๘ คนถูกเรียกให้เข้าไปเฝ้า ท่านเป็นผู้ใหม่กว่าเขาทั้งหมดในบรรดาพราหมณ์ ๘ คนที่ให้นำเข้าไปยังพื้นใหญ่เพื่อกำหนดลักษณะ เห็นความสำเร็จพระลักษณะของพระมหาบุรุษ จึงถึงความตกลงว่า ผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้าโดยส่วนเดียว จึงได้เที่ยวมองเห็นการออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระมหาสัตว์.
               ฝ่ายพระมหาสัตว์แลเจริญด้วยบริขารมาก ถึงความเจริญโดยลำดับ ถึงความแก่กล้าแห่งพระญาณ ในปีที่ ๒๙ ก็เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ บรรพชาที่ฝั่งแม่น้ำอโนมานที เสด็จไปอุรุเวลาประเทศโดยลำดับ แล้วเริ่มตั้งความเพียร.
               ในกาลนั้น โกณฑัญญมาณพทราบว่าพระมหาสัตว์บวชแล้ว พร้อมกับวัปปมาณพเป็นต้นผู้บุตรของพราหมณ์ผู้กำหนดพระลักษณะ มีตนเป็นที่ ๕ บวชแล้วเข้าไปยังสำนักพระโพธิสัตว์โดยลำดับ อุปัฏฐากพระองค์อยู่ ๖ พรรษา เบื่อหน่ายเพราะการที่พระองค์บริโภคอาหารหยาบ จึงได้หลีกไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน.
               ครั้งนั้นแล พระโพธิสัตว์ได้กำลังกายเพราะบริโภคอาหารหยาบ ประทับนั่งบนอปราชิตบัลลังก์ ณ ควงแห่งโพธิพฤกษ์ ในวันวิสาขบูรณมี ทรงย่ำยีที่สุดแห่งมาร ๓ ได้เป็นผู้ตรัสรู้ยิ่งเอง ปล่อยให้ ๗ สัปดาห์ล่วงไป ณ โพธิมัณฑ์นั่นเอง ทรงทราบความแก่กล้าแห่งญาณของภิกษุปัญจวัคคีย์ จึงเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในวันอาสาฬหบูรณมี แล้วทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ในเวลาจบเทศนา พระโกณฑัญญเถระดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลพร้อมด้วยพรหม ๑๘ โกฏิ.
               ลำดับนั้น พระอัญญาโกณฑัญญเถระก็ได้กระทำให้แจ้งพระอรหัตผลด้วยอนัตตลักขณสูตร ในดิถีที่ ๕ แห่งปักษ์.
               ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เราได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ เชษฐบุรุษของโลก เป็นนายกอย่างวิเศษ บรรลุพุทธภูมิแล้ว เป็นครั้งแรก เทวดาประมาณเท่าไรมาประชุมกันที่ควงไม้โพธิทั้งหมด แวดล้อมพระสัมพุทธเจ้า ประณมกรอัญชลีไหว้อยู่ เทวดาทั้งปวงมีใจยินดี เที่ยวประกาศ ไปในอากาศว่า พระพุทธเจ้านี้ทรงบรรเทาความมืดมนอนธการแล้ว ทรงบรรลุแล้ว
               เสียงบันลือลั่นของเทวดาผู้ประกอบด้วยความร่าเริงเหล่านั้นได้เป็นไปว่า เราจักเผากิเลสทั้งหลาย ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรารู้ (ได้ฟัง) เสียงอันเทวดาเปล่งแล้วด้วยวาจา ร่าเริงแล้วมีจิตยินดี ได้ถวายภิกษาก่อน.
               พระศาสดาผู้สูงสุดในโลกทรงทราบความดำริของเรา แล้วประทับนั่ง ณ ท่ามกลางหมู่เทวดา ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
               เราออกบวชได้ ๗ วันแล้วจึงได้บรรลุพระโพธิญาณ ภัตอันเป็นปฐมของเรานี้ เป็นเครื่องยังชีวิตให้เป็นไปของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เทพบุตรได้จากดุสิตมา ณ ที่นี้ได้ถวายภิกษาแก่เรา เราจักพยากรณ์เทพบุตรนั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว
               ผู้นั้นจักเสวยเทวราชสมบัติอยู่ประมาณ ๓ หมื่นกัป จักครอบครองไตรทิพย์ ครอบงำเทวดาทั้งหมด เคลื่อนจากเทวโลกแล้ว จักถึงความเป็นมนุษย์ จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เสวยราชสมบัติในมนุษยโลกนั้นพันครั้ง.
               ในแสนกัป พระศาสดาพระนามว่าโคดม โดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นั้นเคลื่อนจากไตรทศแล้วจักถึงความเป็นมนุษย์ จักออกบวชเป็นบรรพชิตอยู่ ๖ ปี แต่นั้นในปีที่ ๗ พระพุทธเจ้าจักตรัสจตุราริยสัจ ภิกษุมีนามชื่อว่าโกณฑัญญะจักทำให้แจ้งเป็นปฐม.
               เมื่อเราออกบวชได้บวชตามพระโพธิสัตว์ ความเพียรเราทำดีแล้ว เราบวชเป็นบรรพชิตเพื่อต้องการจะเผากิเลส พระสัพพัญญูพุทธเจ้าเสด็จมา ตีกลองอมฤตในโลกพร้อมทั้งเทวโลกในป่าใหญ่กับด้วยเราได้ บัดนี้ เราบรรลุอมตบทอันสงบระงับ อันยอดเยี่ยมนั้นแล้ว เรากำหนดรู้ อาสวะทั้งปวงแล้ว ไม่มีอาสวะอยู่ คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล.
               อารมณ์อันวิจิตรมีอยู่ในโลกเป็นอันมาก ชะรอยจะย่ำยีบุคคลผู้คิดถึงอารมณ์ว่างาม อันประกอบด้วยราคะในปฐพีมณฑลนี้ ฝนตกลงมาในฤดูฝน พึงระงับธุลีที่ถูกลมพัดไปได้ฉันใด เมื่อใดพระอริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญา เมื่อนั้น ความดำริของพระอริยสาวกนั้นย่อมระงับไปฉันนั้น.
____________________________
๑- ขุ. เถร. เล่ม ๓๒/ข้อ ๙

               ครั้นกาลต่อมา พระศาสดาประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่เขาจัดไว้ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ในเชตวันมหาวิหาร เมื่อจะทรงแสดงภาวะที่เธอได้เป็นครั้งแรก จึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้รัตตัญญู อัญญาโกณฑัญญะเป็นเลิศ.
               ท่านประสงค์จะหลีกเลี่ยงความเคารพอย่างยิ่ง ที่พระอัครสาวกทั้งสองกระทำในตนและการอยู่เกลื่อนกล่นในเสนาสนะใกล้บ้าน และประสงค์จะอยู่ด้วยความยินดียิ่งในวิเวก สำคัญการเนิ่นช้าอันเป็นการกระทำปฏิสันถารต่อบรรพชิตและคฤหัสถ์ผู้มายังสำนักตน จึงทูลลาพระศาสดาเข้าไปยังป่าหิมวันต์ อันช้างชื่อว่าฉัททันตะอุปัฏฐากอยู่ จึงได้อยู่ที่ฝั่งสระฉัททันตะสิ้น ๑๒ ปี.
               วันหนึ่ง ท้าวสักกเทวราชเสด็จเข้าไปหาพระเถระผู้อยู่ในที่นั้นด้วยอาการอย่างนั้น ทรงบังคมแล้วประทับยืนอยู่ จึงตรัสอย่างนี้ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดีละ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า.
               พระเถระแสดงธรรมด้วยพุทธลีลา อันมีห้องคือสัจจะ ๔ อันลักษณะ ๓ กระทบแล้ว อันเกี่ยวด้วยภาวะที่ว่างเปล่า วิจิตรด้วยนัยต่างๆ อันหยั่งลงในอมตธรรม.
               ท้าวสักกเทวราชทรงสดับดังนั้นแล้ว เมื่อจะทรงประกาศความเลื่อมใสของตน จึงตรัสคาถาที่ ๑ ว่า
                         ข้าพเจ้านั้นได้ฟังธรรมมีรสอันประเสริฐ จึงเกิดความ
                         เลื่อมใสอย่างยิ่ง ธรรมอันคลายความกำหนัด เพราะ
                         ไม่ยึดถือมั่น โดยประการทั้งปวง พระผู้มีพระภาคเจ้า
                         ได้แสดงไว้แล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอส ภิยฺโย ปสีทามิ สุตฺวา ธมฺมํ มหารสํ ความว่า แม้ถ้าเราฟังธรรมในสำนักพระศาสดาหลายครั้ง แล้วเลื่อมใสยิ่งในธรรมนั้น ก็บัดนี้ เรานั้นฟังธรรมที่ท่านแสดงแล้วมีรสมาก เพราะวิจิตรด้วยนัยต่างๆ และเพราะมีการเสพคุ้นโดยมาก จึงเลื่อมใสอย่างยิ่งกว่านั้น.
               บทว่า วิราโค เทสิโต ธมฺโม อนุปาทาย สพฺพโส ความว่า
               ชื่อว่าผู้ปราศจากราคะ เพราะคลายจากสังกิเลสทั้งปวง และสังขารทั้งปวงได้แก่ ยังวิราคธรรมให้เกิด. เพราะเหตุนั้นนั่นแล ชื่อว่าแสดงธรรม เพราะไม่ยึดมั่นโดยประการทั้งปวง เพราะไม่ยึดมั่น คือไม่ยึดถือธรรมอะไรๆ ในบรรดาธรรมมีรูปเป็นต้น แล้วเป็นไปด้วยสามารถยังวิมุตติให้สำเร็จเป็นต้น.
               ท้าวสักกเทวราช ครั้นทรงชมเชยเทศนาของพระเถระอย่างนี้แล้ว ทรงอภิวาทพระเถระ แล้วเสด็จไปสู่ที่ประทับของพระองค์ตามเดิม.
               ภายหลังวันหนึ่ง พระเถระเห็นวาระแห่งจิตของปุถุชนบางพวกผู้ถูกมิจฉาวิตกครอบงำ ระลึกถึงลำดับของจิตนั้นอันเป็นปฏิปักษ์ต่อมิจฉาวิตกนั้น และนึกถึงความที่ตนมีจิตพ้นจากมิจฉาวิตกนั้นโดยประการทั้งปวง จึงแสดงความนั้นแล้วกล่าว ๒ คาถาว่า
                                   อารมณ์วิจิตรมีอยู่ในโลกเป็นอันมาก ชะรอยจะย่ำยี
                         บุคคลผู้คิดถึงอารมณ์ว่างาม อันประกอบด้วยราคะในปฐพี
                         มณฑลนี้ ฝนตกลงมาในฤดูฝน พึงระงับธุลีที่ถูกลมพัดไป
                         ได้ฉันใด เมื่อใดพระอริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญา
                         เมื่อนั้นความดำริของพระอริยสาวกนั้น ย่อมระงับไปฉันนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหูนิ โลเก จิตฺรานิ ความว่า อารมณ์อันวิจิตรด้วยจิตมีอยู่ในโลกเป็นอันมากด้วยสามารถแห่งรูปารมณ์เป็นต้น ด้วยอำนาจสีเขียว สีเหลืองเป็นต้นแม้ในอารมณ์นั้น และด้วยสามารถแห่งหญิงและชายเป็นต้น.
               ด้วยบทว่า อสฺมึ ปฐวิมณฺฑเล นี้ ท่านกล่าวหมายเอามนุษยโลกอันปรากฏชัด.
               บทว่า มเถนฺติ มญฺเญ สงฺกปฺปํ ความว่า มิจฉาสังกัปปะ ความดำริผิดอันตบแต่งด้วยอโยนิโสมนสิการ ชะรอยว่าจะย่ำยีคือตั้งอยู่ เหมือนย่ำยีอารมณ์อันเกิดแต่จิตนั้นคืออารมณ์อันประกอบด้วยความเพียรของบุรุษ เหมือนไฟประกอบด้วยไม้สีไฟฉะนั้น.
               เหมือนอะไร? เหมือนอารมณ์ว่างาม อันประกอบด้วยราคะ.
               อธิบายว่า กามวิตก. ก็กามวิตกนั้นท่านเรียกว่างาม เพราะถือเอาอาการว่างาม.
               ศัพท์ว่า ในบทว่า รชมุหตญฺจ วาเตน นี้ เป็นเพียงนิบาต.
               มหาเมฆ (ฝนใหญ่) ตกลง พึงระงับคือพึงสงบระงับธุลีที่ลมพัดไป คือให้ตั้งขึ้นในเดือนสุดท้ายแห่งคิมหันตฤดูฉันใด ความดำริย่อมระงับฉันนั้น.
               บทว่า ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ ความว่า เมื่อใดพระอริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริง ซึ่งอารมณ์เหล่านั้นอันวิจิตรในโลก โดยการเกิด โดยไม่ยินดี โดยเป็นโทษและโดยเป็นที่สลัดออก เมื่อนั้นมิจฉาสังกัปปะแม้ทั้งหมดย่อมระงับไป เหมือนเมฆฝนระงับธุลีที่ลมพัดไปฉะนั้น. เพราะเมื่อสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว มิจฉาสังกัปปะทั้งหลายก็ไม่ได้ที่พึ่ง แต่เมื่อแสดงโดยประการที่ตนเห็นด้วยปัญญา
               จึงกล่าวคาถา ๓ คาถาว่า
                                   เมื่อใด พระอริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
                         สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้นพระอริยสาวกนั้นย่อมหน่าย
                         ในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความหมดจด เมื่อใดพระอริยสาวก
                         พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อนั้น
                         พระอริยสาวกย่อมหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความหมด
                         จด เมื่อใดพระอริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรม
                         ทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นพระอริยสาวกนั้นย่อมหน่ายใน
                         ทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความหมดจด.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺเพ สงฺขารา ได้แก่ ขันธ์ทั้ง ๕ อันเป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมดอันสงเคราะห์ด้วยอารมณ์ ๖.
               บทว่า อนิจฺจา ความว่า เมื่อใดพระอริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งหลายชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะมีเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด เพราะมีความไม่เที่ยงเป็นที่สุด เพราะเป็นไปในกาลชั่วคราว เพราะแตกไปในที่นั้นๆ.
               บทว่า อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข ความว่า เมื่อนั้นพระอริยสาวกนั้นย่อมเบื่อหน่ายในวัฏทุกข์ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมแทงตลอดสัจจะ โดยวิธีกำหนดรู้ทุกข์เป็นต้น.
               บทว่า เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา ความว่า วิปัสสนาวิธีที่กล่าวแล้วนั้น ย่อมเป็นทางคือเป็นอุบายเครื่องบรรลุญาณทัสสนวิสุทธิและอัจจันตวิสุทธิ ความหมดจดโดยส่วนเดียว.
               บทว่า ทุกฺขา ความว่า ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นไปกับด้วยภัยเกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะถูกความเกิดขึ้นและดับไปบีบคั้นเสมอ เพราะทนได้ยาก และเพราะขัดต่อสุข.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ความว่า ธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔ แม้ทั้งหมดเป็นอนัตตา แต่ในที่นี้ควรถือเอาเฉพาะธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓
               จริงอยู่ ธรรมเหล่านั้นพึงพิจารณาเห็นว่าเป็นสุญญตะ ว่างเปล่า เพราะไม่มีแก่นสาร เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ และชื่อว่าเป็นอนัตตา เพราะปฏิเสธอัตตา.
               คำที่เหลือเช่นกับคำมีในก่อนนั่นแล.
               ครั้นแสดงวิปัสสนาวิธีอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงกิจที่ตนทำด้วยวิธีนั้น ทำตนให้เหมือนผู้อื่น จึงกล่าว ๒ คาถาว่า
                                   พระอัญญาโกณฑัญญเถระใด เป็นผู้ตรัสรู้ตาม
                         พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีความบากบั่นอย่างแรงกล้า ละ
                         ความเกิดและความตายได้แล้ว เป็นผู้บริบูรณ์ด้วย
                         พรหมจรรย์
                                   พระอัญญาโกณฑัญญเถระนั้น ได้ตัดบ่วงคือ
                         โอฆะ ถอนตะปูตรึงจิตอันมั่นคง และทำลายภูเขา
                         ที่ได้ยากแล้ว ข้ามไปถึงฝั่งคือนิพพาน เป็นผู้เพ่ง
                         ฌาน หลุดพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พุทฺธานุพุทฺโธ ได้แก่ ผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               อธิบายว่า ตรัสรู้สัจจะ ๔ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ตามกระแสเทศนาแห่งพระพุทธเจ้าเหล่านั้น.
               ชื่อว่าเถระ เพราะประกอบด้วยสาระมีศีลสาระเป็นต้นอันเป็นอเสกขะ มั่นคง.
               บทว่า โกณฺฑญฺโญ ได้แก่ การระบุถึงโคตร.
               บทว่า ติพฺพนิกฺกโม ได้แก่ ผู้มีความเพียรอันมั่นคง คือมีความบากบั่นมั่นคง. ชื่อว่าผู้มีชาติและมรณะอันละแล้ว เพราะเหตุแห่งชาติและมรณะอันละได้แล้ว.
               บทว่า พฺรหฺมจริยสฺส เกวลี ความว่า มรรคพรหมจรรย์ไม่มีส่วนเหลือ หรือมรรคพรหมจรรย์บริบูรณ์โดยไม่มีส่วนเหลือ.
               อีกอย่างหนึ่ง มรรคญาณและผลญาณ ชื่อว่าเกวลี เพราะไม่เจือด้วยกิเลส มรรคญาณและผลญาณนั้น มีอยู่ในมรรคพรหมจรรย์นี้ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าเกวลี
               ก็เพราะเหตุที่มรรคญาณและผลญาณทั้งสองอย่างนั้น ย่อมมีอยู่ในมรรคพรหมจรรย์นี้ เพราะเหตุนั้น มรรคพรหมจรรย์นี้จึงชื่อว่า เกวลี. และเพราะมรรคญาณและผลญาณแม้ทั้งสองนั้น ย่อมมีด้วยอำนาจของมรรคพรหมจรรย์ หามีโดยประการอื่นไม่.
               เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พฺรหฺมจริยสฺส เกวลี ดังนี้.
               โอฆะ ๔ ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า โอฆะคือกาม โอฆะคือภพ โอฆะคือทิฏฐิ โอฆะคืออวิชชา และบ่วงที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า บ่วงที่เที่ยวไปในอากาศคือมานัส, ตะปูตรึงจิต ๕ อย่างอันมั่นคงที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ย่อมสงสัยในพระศาสดา ย่อมสงสัยในพระธรรม ย่อมสงสัยในพระสงฆ์ ย่อมสงสัยในสิกขา เป็นผู้วุ่นวายในพระสงฆ์ ไม่มีใจเป็นของๆ ตน มีจิตถูกอารมณ์กระทบแล้ว เป็นดังเสาเขื่อน ความไม่รู้ในทุกข์เป็นต้นที่ทำลายได้ยาก เพราะชนผู้เจริญไม่สามารถจะทำลายได้ เพราะเหตุนั้นนั่นแล จึงถึงการนับว่า ปพฺพโต เพราะเป็นเสมือนภูเขา และประเภทแห่งการไม่มีญาณ (ปัญญา) ที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า ความไม่รู้ในทุกข์.
               ผู้ใดใช้ดาบคืออริยมรรคญาณตัดตะปูตรึงจิตและบ่วงในธรรม คือสังกิเลส ๔ อย่างนี้ที่ท่านกล่าวไว้ว่า เฉตฺวา ขิลญฺจ ปาสญฺจ ทั้งหมดนี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า เสลํ เภตฺวา น ทุพฺภิทํ ความว่า ใช้ญาณอันเปรียบด้วยเพชรตัดภูเขาอันล้วนแล้วแต่หินคือความไม่รู้ อันใครๆ ไม่สามารถจะตัดได้ด้วยญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วข้ามโอฆะทั้ง ๔ ชื่อว่าข้ามได้แล้ว คือถึงฝั่งแล้ว เพราะตั้งอยู่ในพระนิพพานอันเป็นฝั่งโน้นแห่งโอฆะทั้ง ๔ นั้น ชื่อว่าผู้เพ่งฌานด้วยฌานทั้งสอง คือฌานเข้าไปเพ่งอารมณ์เป็นลักษณะ ๑ ฌานเข้าไปเพ่งลักษณะเป็นลักษณะ ๑.
               บทว่า ปุตฺโต โส มารพนฺธนา ความว่า พระขีณาสพนั้นคือเห็นปานนั้น พ้นแล้ว พ้นขาดแล้ว ปราศจากแล้ว จากเครื่องผูกคือกิเลสมารแม้ทั้งหมด เพราะเหตุนั้น พระเถระกล่าวหมายเอาตนนั่นเอง.
               ภายหลังวันหนึ่ง พระเถระเห็นภิกษุรูปหนึ่งผู้สัทธิวิหาริกของตนเป็นคนเกียจคร้าน มีความเพียรเลว มีจิตฟุ้งซ่าน มีจิตดังไม้อ้ออันยกขึ้นอยู่ด้วยการคลุกคลีด้วยบุคคลผู้ไม่เป็นกัลยาณมิตร จึงไปในที่นั้นด้วยฤทธิ์แล้วโอวาทภิกษุนั้นว่า อย่ากระทำอย่างนี้เลยอาวุโส จงละบุคคลผู้ไม่เป็นกัลยาณมิตร คบหาบุคคลผู้เป็นกัลยาณมิตรทั้งหลาย.
               ภิกษุนั้นไม่เอื้อเฟื้อคำของพระเถระ.
               พระเถระถึงธรรมสังเวชด้วยการไม่เอื้อเฟื้อของภิกษุนั้น จึงติเตียนการปฏิบัติผิด ด้วยถ้อยคำเป็นบุคลาธิษฐาน
               เมื่อจะสรรเสริญการปฏิบัติชอบและการอยู่ด้วยความสงัด จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
                                   ภิกษุมีใจฟุ้งซ่าน กลับกลอก คบหาแต่มิตรที่เลวทราม
                         ถูกคลื่นซัดให้จมอยู่ในห้วงน้ำคือสงสาร ส่วนภิกษุผู้มีใจไม่
                         ฟุ้งซ่าน ไม่กลับกลอก มีปัญญารักษาตัวรอดสำรวมอินทรีย์
                         คบหากัลยาณมิตร เป็นนักปราชญ์ พึงทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
                                   นรชนผู้ซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดังเถา
                         หญ้านาง เป็นผู้รู้จักประมาณในข้าวและน้ำ มีใจไม่ย่อท้อ
                         ถูกเหลือบยุงทั้งหลายกัดอยู่ในป่าใหญ่ ย่อมมีสติอดกลั้น
                         ด้อยู่ในป่านั้น เหมือนช้างที่อดทนต่อศาตราวุธในยุทธ
                         สงครามฉะนั้น
                                   เราไม่ยินดีความตาย ไม่เพลิดเพลินความเป็นอยู่
                         เรารอเวลาตาย เหมือนลูกจ้างรอให้หมดเวลาทำงานฉะนั้น
                         เราไม่ยินดีความตาย ไม่เพลิดเพลินความเป็นอยู่ แต่เรามี
                         สติสัมปชัญญะรอเวลาตาย
                                   พระศาสดาเราได้คุ้นเคยแล้ว เราทำคำสั่งสอนของ
                         พระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหา
                         เครื่องนำไปสู่ภพขึ้นแล้ว ได้บรรลุถึงประโยชน์ที่กุลบุตรทั้ง
                         หลาย ผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตต้องการแล้ว เพราะฉะนั้นจะ
                         มีประโยชน์อะไร ด้วยสัทธิวิหาริกผู้ว่ายากแก่เรา.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทฺธโต ความว่า ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน คือมีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตฟุ้งซ่าน.
               บทว่า จปโล ความว่า ประกอบด้วยความโยกโคลงมีการตบแต่งบาตรและจีวรเป็นต้น คือเป็นผู้มีจิตโลเลเป็นปกติ.
               บทว่า มิตฺเต อาคมฺม ปาปเก ความว่า อาศัยบุคคลไม่เป็นกัลยาณมิตรแล้วไม่กระทำสมณธรรม.
               บทว่า สํสีทติ มโหฆสฺมึ อูมิยา ปฏิกุชฺชิโต ความว่า บุรุษผู้ตกไปในมหาสมุทรอันคลื่นในมหาสมุทรท่วมทับ เมื่อไม่สามารถจะยกศีรษะขึ้นได้ ก็จมไปในมหาสมุทรนั่นเองฉันใด
               บุคคลผู้วนเวียนอยู่ในโอฆะใหญ่ในสงสารก็ฉันนั้น ถูกคลื่นคือโกธะและอุปายาสครอบงำ คือท่วมทับ เมื่อไม่สามารถเพื่อจะยกศีรษะคือปัญญาขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา จึงจมลงไปในโอฆะใหญ่คือสงสารนั้นนั่นเอง.
               บทว่า นิปโก ได้แก่ ผู้ละเอียดอ่อน คือเป็นผู้ฉลาดในประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น.
               บทว่า สํวุตินฺทฺริโย ความว่า ผู้มีอินทรีย์อันปิดแล้ว ด้วยการปิดอินทรีย์มีใจเป็นที่ ๖.
               บทว่า กลฺยาณมิตฺโต ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยกัลยาณมิตรทั้งหลาย.
               บทว่า เมธาวี ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยปัญญา มีโอชะอันเกิดแต่ธรรม.
               บทว่า ทุกฺขสฺสนฺตกโร สิยา ความว่า บุคคลเช่นนั้น พึงกระทำที่สุดแห่งวัฏทุกข์ทั้งสิ้น.
               บทว่า กาลปพฺพงฺคสงฺกาโส เป็นต้น เป็นบทระบุถึงความยินดีในวิเวก.
               ส่วนบทว่า นาภินนฺทามิ เป็นต้น เป็นบทแสดงภาวะแห่งกิจที่ทำเสร็จแล้ว.
               คำทั้งหมดมีอรรถดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               ก็ในที่สุด ท่านกล่าวหมายเอาสัทธิวิหาริกของตนด้วยคำว่า กึ เม สทฺธิวิหารินา. เพราะฉะนั้น จะประโยชน์อะไรแก่เรา ด้วยสัทธิวิหาริกผู้ว่ายาก ผู้ไม่เอื้อเฟื้อเช่นนั้น.
               อธิบายว่า เราชอบใจการอยู่โดดเดี่ยวเท่านั้น.
               ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วได้ไปสู่สระฉันทันตะนั่นแล.
               ท่านอยู่ในที่นั้นสิ้น ๑๒ ปี เมื่อจวนปรินิพพาน จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแล้ว จึงไปปรินิพพานในที่นั้นนั่นเอง.

               จบอรรถกถาอัญญาโกณฑัญญเถรคาถาที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา โสฬสกนิบาต ๑. อัญญโกณฑัญญเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 382อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 383อ่านอรรถกถา 26 / 384อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=7278&Z=7326
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=6346
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=6346
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :