ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 385อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 386อ่านอรรถกถา 26 / 387อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา วีสตินิบาต
๒. ปาราสริยเถรคาถา

               อรรถกถาปาราปริยเถรคาถาที่ ๒#-               
#- บาลีเป็น ปาราสริยเถรคาถา.

               คาถาของท่านพระปาราปริยเถระ มีคำเริ่มต้นว่า สมณสฺส อหุ จินฺตา ดังนี้.
               เรื่องนี้มีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลาย ได้สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ ท่องเที่ยวไปเฉพาะในสุคติเท่านั้น ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาลคนหนึ่ง ในกรุงสาวัตถี เมื่อเขาเจริญวัย ได้มีชื่อว่าปาราปริยะ ตามโคตร.
               เขาเรียนไตรเพทถึงความสำเร็จในศิลปะทั้งหลายของพราหมณ์ วันหนึ่งในเวลาพระศาสดาทรงแสดงธรรม ได้ไปยังพระเชตวันวิหารแล้วนั่งอยู่ท้ายบริษัท.
               พระศาสดาทรงตรวจดูอัธยาศัยของเขาแล้วทรงแสดงอินทริยภาวนาสูตร เขาได้ฟังแล้วได้ศรัทธาแล้วบวช เรียนเอาพระสูตรนั้นแล้ว คิดเนืองๆ ถึงเนื้อความแห่งพระสูตรนั้น.
               ก็เนื้อความนี้นั้นจักมีแจ้งเฉพาะในคาถาทั้งหลาย โดยประการที่ท่านคิดอยู่เนืองๆ. ท่านเมื่อคิดค้นอยู่โดยประการนั้น จึงเริ่มตั้งวิปัสสนาโดยเอาอายตนะเป็นประธาน ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต.
               กาลต่อมา เมื่อจะประกาศอาการที่ตนคิด จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ความว่า
                         ความคิดได้มีแล้วแก่ภิกษุชื่อว่าปาราปริยะ ผู้สมณะ
               นั่งอยู่ผู้เดียว มีจิตสงบ เพ่งฌาน. บุรุษพึงทำอะไรโดยลำดับ
               พึงประพฤติวัตรอย่างไร ประพฤติมารยาทอย่างไร จึงชื่อว่า
               เป็นผู้ทำกิจของตน และชื่อว่าไม่เบียดเบียนใครๆ.
                         อินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมมีเพื่อประโยชน์และมิใช่
               ประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลาย อินทรีย์ที่ไม่รักษาย่อมไม่เป็น
               ไปเพื่อประโยชน์ อินทรีย์ที่รักษาย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์.
                         บุรุษผู้รักษาและคุ้มครองอินทรีย์นั่นแหละ จึงชื่อว่า
               เป็นผู้กระทำกิจของตน และชื่อว่าไม่เบียดเบียนใครๆ.
                         ถ้าผู้ใดไม่ห้ามจักขุนทรีย์อันเป็นไปในรูปทั้งหลาย
               เป็นผู้ยังไม่เห็นโทษ ผู้นั้นย่อมไม่พ้นจากทุกข์ได้เลย. อนึ่ง
               ผู้ใดไม่ห้ามโสตินทรีย์อันเป็นไปในเสียงทั้งหลาย ยังไม่เห็น
               โทษ ผู้นั้นย่อมไม่พ้นจากทุกข์ได้เลย.
                         ถ้าผู้ใดไม่เห็นอุบายเครื่องสลัดออก ซ่องเสพในกลิ่น
               ผู้นั้นเป็นผู้หมกมุ่นอยู่ในกลิ่น ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์.
                         ผู้ใดมัวแต่คำนึงถึงรสเปรี้ยว รสหวานและรสขม เป็น
               ผู้กำหนัดยินดีด้วยตัณหาในรส ไม่รู้สึกถึงความคิดในใจ (อัน
               เกิดขึ้นในขณะบรรพชาว่าจักทำที่สุดทุกข์) ผู้นั้นย่อมไม่พ้น
               ไปจากทุกข์.
                         ผู้ใดมัวนึกถึงโผฏฐัพพะอันสวยงาม ไม่ปฏิกูล ยินดี
               แล้ว ผู้นั้นย่อมได้ประสบทุกข์มีประการต่างๆ อันมีราคะเป็น
               เหตุ.
                         ก็ผู้ใดไม่อาจรักษาใจจากธรรมเหล่านี้ เพราะการไม่
               รักษาใจนั้น ทุกข์จากอารมณ์ทั้ง ๕นั้น ย่อมติดตามผู้นั้นไป.
                         ร่างกายนี้เต็มไปด้วยหนอง เลือดและซากศพ เป็นอัน
               มาก เป็นดุจสมุกอันนายช่างผู้ฉลาดทำไว้ เป็นของเกลี้ยง
               เกลาวิจิตรงดงาม.
                         คนพาลย่อมไม่รู้สึกว่าร่างกายนี้เป็นของเผ็ดร้อน มีรส
               หวานชื่นใจ ผูกพันด้วยความรัก เป็นทุกข์ ฉาบไล้ไว้ด้วยสิ่งที่
               น่าชื่นใจ เหมือนมีดโกนอันทาด้วยน้ำผึ้งฉะนั้น.
                         บุคคลผู้กำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รสและโผฏฐัพพะ
               ของหญิงย่อมประสบทุกข์มีประการต่างๆ. กระแสตัณหาใน
               หญิงทั้งปวงย่อมไหลไปในทวารทั้ง ๕ ของบุรุษ.
                         ผู้ใดมีความเพียรสามารถป้องกันกระแสตัณหาเหล่านั้น
               ได้ ผู้นั้นตั้งอยู่ในอรรถ ตั้งอยู่ในธรรม เป็นผู้ขยัน มีปัญญา
               เครื่องพิจารณา แม้จะยังยินดีในการครองเรือน ก็พึงทำกิจอัน
               ประกอบด้วยอรรถและธรรม.
                         ถ้าประโยชน์ (ปัจจุบัน) ที่ประกอบแล้ว ทำให้จมลง ก็
               พึงเว้นกิจอันไร้ประโยชน์เสีย เมื่อรู้ว่าสิ่งนั้นไม่ควรทำ พึงเป็น
               ผู้ไม่ประมาท มีปัญญาสอดส่องในสิ่งนั้น. บุคคลพึงยึดเอาแต่
               กิจที่ประกอบด้วยประโยชน์และความยินดีอันประกอบด้วย
               ธรรม แล้วพึงประพฤติ เพราะว่าความยินดีในธรรมนั่นแล เป็น
               ความยินดีสูงสุด.
                         ผู้ใดปรารถนาจะชิงเอาสิ่งของของผู้อื่น ด้วยอุบายใหญ่
               น้อย ฆ่าผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่น ทำผู้อื่นให้เศร้าโศก ฉกชิงเอา
               สิ่งของของคนอื่น ด้วยความทารุณร้ายกาจ การกระทำของผู้นั้น
               เป็นการกระทำอันประกอบด้วยความฉิบหาย.
                         บุคคลผู้มีกำลัง เมื่อผ่าไม้ย่อมตอกลิ่มด้วยลิ่มฉันใด ภิกษุ
               ผู้ฉลาดย่อมกำจัดอินทรีย์ด้วยอินทรีย์ฉันนั้น.
                         บุคคลผู้อบรมศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา กำจัด
               อินทรีย์ ๕ ด้วยอินทรีย์ ๕ แล้ว เป็นพราหมณ์ผู้ไม่มีทุกข์ไป.
                         บุคคลนั้นเป็นผู้รู้ในอรรถ ตั้งอยู่ในธรรม ทำตามคำสอน
               ของพระพุทธเจ้า โดยประการทั้งปวง ย่อมได้รับความสุข.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมณสฺส ได้แก่ ผู้เป็นบรรพชิต.
               บทว่า อหุ แปลว่า ได้เป็นแล้ว.
               บทว่า จินฺตา ได้แก่ ความคิดในธรรม คือการพิจารณาธรรม.
               บทว่า ปาราปริยสฺส ได้แก่ ผู้มีโคตรสืบๆ มา. บางอาจารย์กล่าวว่า ปาราจริยสฺส ดังนี้ก็มี.
               บทว่า ภิกฺขุโน ได้แก่ ผู้มีปกติเห็นภัยในสงสาร.
               บทว่า เอกกสฺส แปลว่า ไม่มีเพื่อน.
               พระเถระแสดงกายวิเวกด้วย บทว่า เอกกสฺส นี้.
               บทว่า ปวิวิตฺตสฺส ได้แก่ ผู้ปรารภความสงัดด้วยการข่มกิเลสอันมีความสงัดเป็นเหตุ. พระเถระแสดงจิตตวิเวกด้วยบทว่า ปวิวิตฺตสฺส นี้. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ฌายิโน ดังนี้.
               บทว่า ฌายิโน ได้แก่ ผู้มีการเพ่งเป็นปกติ. อธิบายว่า ผู้ประกอบในโยนิโสมนสิการ.
               พระเถระกล่าวข้อนั้นทั้งหมดกระทำตนให้เป็นเหมือนคนอื่น.
               ด้วยบทว่า กิมานุปุพฺพํ เป็นต้น ท่านแสดงถึงความคิดนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยคาถาต้นในคาถาเหล่านั้นก่อน.
               บทว่า กิมานุปุพฺพํ ได้แก่ อนุปุพฺพํ คือตามลำดับ.
               อธิบายว่า ในวัตรและสมาจารที่จะกล่าวตามลำดับนั่นแล มีลำดับอย่างไร วัตรและสมาจารเหล่านั้น พึงปฏิบัติตามลำดับอะไร.
               บทว่า ปุริโส กึ วตํ กึ สมาจารํ ความว่า บุรุษผู้ใคร่ประโยชน์ เมื่อประพฤติศีลสมาจารเช่นไร ซึ่งได้นามว่าวัตร เพราะอรรถว่าพึงสมาทาน ชื่อว่าพึงเป็นผู้มีปกติทำกิจของตน คือพึงเป็นผู้มักทำกิจที่ควรทำ และไม่พึงเบียดเบียน คือไม่พึงทำสัตว์ไรๆ ให้ลำบาก.
               สมณธรรมชื่อว่ากิจของตน โดยสังเขปได้แก่ ศีล สมาธิและปัญญา, เมื่อบุคคลบำเพ็ญสมณธรรมนั้น แม้แต่เลศในการเบียดเบียนผู้อื่นย่อมไม่มี เพราะเมื่อมีการเบียดเบียนผู้อื่น ความเป็นสมณะก็มีไม่ได้.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   ผู้ฆ่าสัตว์อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
                         ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ ดังนี้.

               ก็ในที่นี้ ท่านถือเอาวาริตศีลด้วยวตศัพท์, ถือเอาฌานและวิปัสสนาเป็นต้นพร้อมกับจาริตศีล ด้วยสมาจารศัพท์ เพราะเป็นธรรมต้องประพฤติ. เพราะฉะนั้น วาริตศีลจึงเป็นใหญ่เป็นประธาน.
               ก็แม้ในข้อนั้น เพราะเหตุที่เมื่ออินทรีย์สังวรสำเร็จ ศีลทั้งปวงจึงเป็นอันรักษาดีแล้ว คุ้มครองดีแล้ว ฉะนั้น พระเถระประสงค์จะแสดงอินทรีย์สังวรก่อน เมื่อจะประกาศโทษในการไม่รักษาอินทรีย์ และอานิสงส์ในการรักษาอินทรีย์ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อินฺทฺริยานิ มนุสฺสานํ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อินฺทฺริยานิ เป็นบทแสดงไขถึงธรรมที่จะต้องรักษา เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอธิบายไว้ว่า อินทรีย์ ๖ มีจักขุนทรีย์เป็นต้น.
               บทว่า มนุสฺสานํ เป็นบทแสดงไขถึงบุคคลผู้ประกอบในการรักษา.
               บทว่า หิตาย แปลว่า เพื่อประโยชน์.
               บทว่า อหิตาย แปลว่า เพื่อมิใช่ประโยชน์.
               คำที่เหลือว่า โหนฺติ ควรนำมาเชื่อมเข้า.
               เพื่อจะหลีกเลี่ยงคำถามว่า ก็อินทรีย์เหล่านั้นนั่นแล ย่อมมีประโยชน์และไม่มีประโยชน์อย่างไร?
               พระเถระจึงกล่าวคำมีอาทิว่า รกฺขิตานิ รักษาแล้วดังนี้.
               คำนั้นมีอธิบายว่า
               อินทรีย์ทั้งหลายมีจักษุเป็นต้น บุคคลใดไม่ปิดด้วยประตูคือสติ ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายแก่บุคคลนั้น โดยความเป็นประตูให้บาปธรรมมีอภิชฌาเป็นต้น เป็นไปในอารมณ์มีรูปเป็นต้นที่ปิดแล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพราะไม่มีอภิชฌาเป็นต้นนั้น.
               บทว่า อินฺทฺริยาเนว สารกฺขํ ความว่า พระเถระเมื่อจะแสดงว่า เพราะเหตุที่อินทริยสังวรบริบูรณ์ ย่อมทำศีลสัมปทาให้บริบูรณ์, ศีลสัมปทาบริบูรณ์ ย่อมทำสมาธิสัมปทาให้บริบูรณ์, สมาธิสัมปทาบริบูรณ์ ย่อมทำปัญญาสัมปทาให้บริบูรณ์ เพราะฉะนั้น การรักษาอินทรีย์ จึงเป็นมูลรากแห่งการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนแท้ ดังนี้ จึงกล่าวว่ารักษาอินทรีย์เท่านั้น.
               อธิบายว่า รักษาด้วยการอารักขามีสติเป็นเบื้องหน้า คืออันดับแรก รักษาโดยชอบซึ่งอินทรีย์ทั้งหลาย ด้วยโยนิโสมนสิการ ปิดกั้นอินทรีย์เหล่านั้นไว้ โดยประการที่โจรคืออกุศล ไม่เข้าทางทวารนั้นๆ ปล้นทรัพย์คือกุศลในจิตสันดาน.
               ก็บทว่า สารกฺขํ ท่านกล่าว สํ ศัพท์กระทำให้เป็น สา เหมือนในประโยคว่า สาราโค เป็นต้น. บาลีว่า สํรกฺขํ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า อินฺทฺริยานิ จ โคปยํ เป็นคำไวพจน์ของบทว่า อินฺทฺริยาเนว สารกฺขํ นั้นนั่นแหละ, ประโยชน์ในคำไวพจน์พึงทราบโดยนัยดังกล่าวในอรรถกถาเนตติปกรณ์นั่นเทอญ.
               ด้วยบทว่า อตฺตโน กิจฺจการีสฺส นี้ ท่านแสดงถึงการปฏิบัติประโยชน์ตน,
               ด้วยบทว่า น จ กิญฺจิ วิเหฐเย นี้ แสดงถึงอาการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น,
               อีกอย่างหนึ่ง แม้ด้วยบททั้งสอง ท่านแสดงถึงการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนเท่านั้น เพราะถึงการไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน.
               อีกอย่างหนึ่ง แม้ด้วยบททั้งสอง ท่านแสดงถึงการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน เพราะการที่ปุถุชนและพระเสกขะปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ก็เป็นการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน.
               ครั้นท่านแสดงฝ่ายข้างบริสุทธิ์ผุดผ่องโดยสังเขปว่า อินทรีย์ที่รักษาแล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลอย่างนี้แล้ว แต่เมื่อจะจำแนกแสดงฝ่ายข้างเศร้าหมองว่า อินทรีย์ที่ไม่รักษาย่อมไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล จึงกล่าวคำมีอาทิว่า จกฺขุนฺทฺริยํ เจ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จกฺขุนฺทฺริยํ เจ รูเปสุ คจฺฉนฺตํ อนิวารยํ อนาทีนวทสฺสาวี ความว่า
               หากบุคคลใดไม่ห้ามจักขุนทรีย์ที่ไป คือดำเนินไปตามชอบใจในรูปายตนะที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ชนิดรูปายตนะเขียว เหลืองเป็นต้น เป็นผู้ไม่เห็นโทษในการเป็นไปอย่างนั้น คือถ้าหากไม่เห็นอาทีนพโทษที่เป็นไปในปัจจุบัน และเป็นไปในในสัมปรายภพ.
               บาลีว่า คจฺฉนฺตํ นิวารเย อนิสฺสรณทสฺสาวี ดังนี้ก็มี.
               ในบาลีที่ว่านั้น บุคคลใดดำรงในอาการเพียงสักว่าเห็น โดยวิธีที่กล่าวไว้ว่า เมื่อเห็นจักเป็นเพียงสักว่าเห็น ยังจักขุนทรีย์ให้เป็นไปในรูปายตนะด้วยสติสัมปชัญญะ ชื่อว่าเป็นผู้มีปกติเห็นการสลัดออกในรูปายตนะนั้น โดยปริยายตรงกันข้ามจากที่กล่าวแล้ว พึงเห็นว่าเป็นผู้มีปกติไม่เห็นการสลัดออก.
               บทว่า โส ทุกฺขา น หิ มุจฺจติ ความว่า บุคคลนั้นคือเห็นปานนั้น ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากวัฏทุกข์ได้เลย.
               ก็ความเป็นไปโดยประการที่บาปธรรมมีอภิชฌาเป็นต้น ซ่านไปทางทวารนั้น ชื่อว่าการไม่ห้ามจักขุนทรีย์ในที่นี้ ก็การไม่ห้ามจักขุนทรีย์นั้น โดยใจความ พึงเห็นว่าเป็นการไม่ตั้งขึ้นแห่งสติสัมปชัญญะ.
               แม้ในอินทรีย์ที่เหลือก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า อธิมุจฺฉิโต ได้แก่ ถึงความสยบด้วยตัณหาอันนอนเนื่องอยู่.
               บทว่า อมฺพิลํ แปลว่า รสเปรี้ยว.
               บทว่า มธุรคฺคํ ได้แก่ โกฏฐาสแห่งรสหวาน.
               อนึ่ง บทว่า ติตฺตกคฺคํ อนุสฺสรํ ได้แก่ หวนระลึกถึงรสนั้นๆ ด้วยอำนาจความชอบใจ.
               บทว่า คนฺถิโต ได้แก่ ผูกพันอยู่ในรสนั้นๆ. บางอาจารย์กล่าวว่า คธิโต ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า ถึงความกำหนัด.
               บทว่า หทยํ นาวพุชฺฌติ ความว่า ย่อมไม่รู้ คือไม่กำหนดเอาความคิดที่เกิดขึ้นในขณะบรรพชาเป็นต้นว่า จักทำที่สุดทุกข์.
               อธิบายว่า เป็นผู้กำหนัดด้วยตัณหาในรสอันเป็นเหตุย่ำยีธรรมที่ไม่มีโทษ จึงไม่รู้สึกคือไม่รู้ ได้แก่ไม่ปฏิบัติใจ คือส่วนภายในแห่งพระศาสนา.
               บทว่า สุภานิ แปลว่า งาม.
               บทว่า อปฺปฏิกูลานิ ได้แก่ เป็นที่รื่นรมย์ใจ คือน่าปรารถนา.
               บทว่า โผฏฺฐพฺพานิ ได้แก่ ผัสสะ ชนิดที่มีใจครองและไม่มีใจครอง.
               บทว่า รตฺโต ได้แก่ กำหนัดด้วยราคะอันมีความกำหนัดเป็นสภาวะ.
               บทว่า ราคาธิกรณํ แปลว่า มีราคะเป็นเหตุ.
               บทว่า วิวิธํ วินฺทเต ทุขํ ความว่า ย่อมได้เฉพาะทุกข์อันเป็นปัจจุบันด้วยความเร่าร้อน เพราะราคะเป็นต้น และทุกข์อันเป็นไปในสัมปรายภพด้วยการเดือดร้อนในนรกเป็นต้น.
               บทว่า มนํ เจเตหิ ได้แก่ (ไม่อาจรักษา) ใจ จากธรรมเหล่านั้นมีรูปารมณ์เป็นต้น และมีธรรมารมณ์เป็นประเภท.
               บทว่า นํ ได้แก่ บุคคล.
               บทว่า สพฺเพหิ ได้แก่ ทั้งหมดคือแม้ทั้ง ๕.
               ท่านอธิบายไว้ว่า ไม่อาจรักษาคือคุ้มครองใจได้แก่มโนทวาร จากธรรม ๕ ประการ มีรูปเป็นต้นตามที่กล่าวแล้วนั้น และจากประเภทแห่งธรรมารมณ์ ด้วยการห้ามบาปกรรมที่เป็นไปในธรรมเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นคือเพราะไม่รักษาใจนั้น ทุกข์อันมีการไม่รักษาใจนั้นเป็นเหตุ ย่อมติดตามคือไปตามบุคคลนั้น และเมื่อติดตามไป ย่อมติดตามไปด้วยธรรมแม้ทั้ง ๕ นี้มีรูปารมณ์เป็นต้น กับอารมณ์ที่ ๖ (ธรรมารมณ์) แม้ทั้งหมดเป็นอารัมมณปัจจัย.
               ก็ในอธิการนี้ ท่านกล่าวจักขุนทรีย์และโสตินทรีย์ว่า ไม่ห้ามจักขุนทรีย์และโสตินทรีย์ที่ไปอยู่ เพราะเป็นอินทรีย์ที่ยึดเอาอารมณ์ที่ยังไม่ประจวบเข้า, อินทรีย์นอกจากนี้ ท่านกล่าวว่า เป็นอินทรีย์ที่ยึดถือเอาอารมณ์ที่ประจวบเข้า เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า หากว่าซ่องเสพกลิ่น ดังนี้.
               ก็แม้ในข้อนั้นก็พึงเห็นว่า
               ตัณหาในรสและตัณหาในโผฏฐัพพะยังหนาแน่นแก่สัตว์ทั้งหลายโดยพิเศษ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ผู้กำหนัดในรส หวนระลึกถึงโผฏฐัพพะทั้งหลาย ดังนี้.
               พระเถระครั้นแสดงทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่คุ้มครองทวาร อันมีความไม่สำรวมในอารมณ์ทั้ง ๖ โดยทวารทั้ง ๖ ด้วยประการอย่างนี้แล้ว เมื่อจะวิจัยสภาวะแห่งสรีระอันเป็นเหตุให้ความไม่สำรวมนี้นั้นเกิดขึ้นเพราะการไม่รู้สภาวะแห่งสรีระ จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาโดยนัยมีอาทิดังนี้ว่า ปุพฺพโลหิตสมฺปุณฺณํ เต็มด้วยหนองและเลือด.
               คำแห่งคาถาทั้งสองนั้นมีความว่า
               ชื่อว่าสรีระนี้บริบูรณ์ คือเต็มด้วยหนองและเลือด และซากศพอย่างอื่นเป็นอันมากมีดีและเสมหะเป็นต้น สรีระนี้นั้นอันช่างผู้ฉลาดคือศิลปาจารย์ผู้ฉลาดในหมู่ชนกระทำไว้เกลี้ยงเกลา วิจิตรงดงามด้วยประพรมด้วยน้ำครั่งเป็นต้น แต่ภายในเต็มด้วยของไม่สะอาดมีคูถเป็นต้น เป็นดุจสมุกน่ารื่นรมย์ใจแต่เพียงผิว เป็นที่ลุ่มหลงแห่งพาลชน. ชื่อว่าเผ็ดร้อน เพราะมีทุกข์เป็นสภาวะ และเพราะความเร่าร้อนด้วยทุกข์มีนรกเป็นต้น. ชื่อว่ามีรสหวานชื่นใจ เพราะเป็นของอร่อยด้วยเหตุสักว่าความชอบใจ อันไม่มีมูลเหตุอันเกิดจากความดำริ. ชื่อว่าเกี่ยวพันด้วยความรัก เพราะผูกพันด้วยภาวะที่น่ารักนั้นนั่นแหละ. ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะทนได้ยากและเพราะมีความชื่นใจน้อย, ชาวโลกผู้ไม่รู้จักทุกข์อันใหญ่หลวงที่ตนได้เสวยอยู่ เพราะความโลภด้วยอำนาจความพอใจในสรีระเช่นนี้ เป็นผู้ติดในรสอร่อย พึงเห็นเสมือนคนเลียคมมีดโกนฉะนั้น.
               บัดนี้พระเถระเมื่อจะแสดงว่า ธรรมมีรูปเป็นต้นเหล่านี้เป็นอารมณ์ของจักษุเป็นต้นที่กล่าวแล้วนั้น โดยพิเศษ เนื่องในหญิงที่บุรุษจะพึงใคร่ เพราะเหตุนั้น พึงทำการสำรวมในรูปเป็นต้นนั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อิตฺถิรูเป ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิตฺถิรูเป ได้แก่ ในวรรณรูปกล่าวคือรูปายตนะอันเกิดจากสมุฏฐาน ๔ ของหญิง.
               อีกอย่างหนึ่ง วรรณะอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งเครื่องประดับที่ประดับแล้ว หรือแห่งกลิ่นและสีเป็นต้น หรือแห่งเครื่องประดับและระเบียบดอกไม้ของหญิงที่เนื่องด้วยกาย ย่อมสำเร็จโดยเป็นอารมณ์แห่งจักษุวิญญาณของบุรุษ ทั้งหมดนั้นพึงทราบว่าอิตถีรูป เหมือนกัน
               บทว่า อิตฺถิสเร ได้แก่ เสียงขับร้อง เสียงพูด เสียงหัวเราะและเสียงร้องไห้ของหญิง.
               อีกอย่างหนึ่ง เสียงผ้าที่หญิงก็ดี เสียงเครื่องประดับที่หญิงประดับก็ดี เสียงขลุ่ย พิณ สังข์และบัณเฑาะว์เป็นต้นที่สำเร็จด้วยประโยคของหญิงก็ดี ในที่นี้ พึงทราบว่าท่านสงเคราะห์ด้วย อิตถิสร ศัพท์ ศัพท์ว่า เสียงหญิง. เสียงแม้ทั้งหมดนั่น พึงทราบว่าฉุดคร่าเอาจิตของบุรุษมา.
               ส่วนในบาลีว่า อิตฺถิรเส ในรสแห่งหญิง ท่านกล่าวด้วยอำนาจรสายตนะอันเกิดจากสมุฏฐาน ๔. อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า กิจคือการรับคำด้วยการจัดการงานเป็นต้น และกิจคือการบริโภคของหญิง ชื่อว่าเป็นอิตถีรส.
               รสมีน้ำลายที่เปื้อนเนื้อริมฝีปากหญิง และรสข้าวยาคูแลภัตเป็นต้นที่หญิงนั้นให้แก่บุรุษทั้งหมดนั่น พึงทราบว่า อิตถีรสเหมือนกัน.
               และแม้ในโผฏฐัพพะ กายสัมผัสของหญิงและผัสสะแห่งผ้า เครื่องประดับและดอกไม้เป็นต้นที่อยู่ในร่างกายหญิง พึงทราบว่าอิตถีโผฏฐัพพะเหมือนกัน.
               ก็ในบทว่า โผฏฺฐพฺเพปิ นี้ พึงเห็นว่าสงเคราะห์เอาอิตถีรส ด้วยอปิศัพท์ ของอาจารย์พวกหนึ่งที่อ้างบาลีว่า อิตฺถิรูเป อิตฺถิสเร นั้น.
               บทว่า อิตฺถิคนฺเธสุ ได้แก่ ในคันธายตนะอันเกิดแต่สมุฏฐาน ๔ ของหญิง.
               ธรรมดาว่า กลิ่นร่างกายของหญิงเป็นกลิ่นเหม็น.
               จริงอยู่ หญิงบางพวกมีกลิ่นคล้ายกลิ่นม้า บางพวกมีกลิ่นคล้ายกลิ่นแพะ บางพวกมีกลิ่นคล้ายกลิ่นเหงื่อ บางพวกมีกลิ่นคล้ายกลิ่นเลือด, แม้ถึงอย่างนั้น คนผู้บอดเขลาก็ยังยินดีในหญิงเหล่านั้นอยู่นั่นแหละ.
               ส่วนนางแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ มีกลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากกาย กลิ่นอุบลฟุ้งออกจากปาก กลิ่นดังกล่าวมานี้ย่อมไม่มีแก่หญิงทั่วไป เพราะเหตุนั้น กลิ่นเครื่องลูบไล้ที่จัดหามาเสริมเข้าในร่างกายหญิง พึงทราบว่า อิตถีคันธะ กลิ่นหญิง.
               บทว่า สารตฺโต ได้แก่ กำหนัดนักแล้ว คือยินดี สยบแล้ว.
               ก็บทว่า สารตฺโต นี้ พึงประกอบแม้ในบทว่า อิตฺถิรูเป เป็นต้นไป.
               บทว่า วิวิธํ วินฺทเต ทุขํ ความว่า ย่อมได้เฉพาะทุกข์มีประการต่างๆ ที่เป็นไปในปัจจุบัน ด้วยการฆ่าและการจองจำเป็นต้น ที่เป็นไปในภายภาคหน้าด้วยเครื่องจองจำครบ ๕ ประการเป็นต้น ซึ่งมีความกำหนัดนักในรูปหญิงเป็นต้นเป็นเหตุ.
               บทว่า อิตฺถิโสตานิ สพฺพานิ ความว่า กระแสตัณหา ๕ ประการทั้งหมดคือไม่เหลือ มีรูปเป็นต้นของหญิงเป็นอารมณ์ ย่อมไหลไป.
               บทว่า ปญฺจสุ ได้แก่ ในทวารทั้ง ๕ ของบุรุษ.
               บทว่า เตสํ ได้แก่ กระแสทั้ง ๕ เหล่านั้น.
               บทว่า อาวรณํ ได้แก่ การปิดกั้น.
               อธิบายว่า บุคคลผู้สามารถเพื่อตั้งสติสัมปชัญญะแล้วยังความสำรวมให้ดำเนินไป โดยประการที่ความไม่สำรวมจะเกิดขึ้นไม่ได้นั้นเป็นผู้มีความเพียร คือเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมแล้วยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม.
               พระเถระ ครั้นแสดงข้อปฏิบัติของบรรพชิตในอารมณ์มีรูปเป็นต้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะแสดงข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า โส อตฺถวา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส อตฺถวา โส ธมฺมฏฺโฐ โส ทกฺโข โส วิจกฺขโณ ความว่า
               บุคคลนั้นเป็นผู้รู้อรรถ คือเป็นผู้มีความรู้ ตั้งอยู่ในธรรม ขยันในธรรม คือฉลาดหรือไม่เกียจคร้านในธรรม มีปัญญาเครื่องพิจารณาในโลกนี้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในความเป็นกิจที่จะพึงกระทำ.
               บทว่า กเรยฺย รมมาโนปิ กิจฺจํ ธมฺมตฺถสํหิตํ ความว่า
               แม้ผู้ยินดีในการครองเรือน ก็พึงกระทำกิจที่พึงกระทำนั้นอันประกอบด้วยธรรมและอรรถ คือไม่ปราศจากธรรมและอรรถ คือพึงทำโภคะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น พึงกระทำรักษาและใช้สอยโภคะที่เกิดขึ้นแล้ว.
               อธิบายว่า พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งประโยชน์แก่คน สัตว์และวัตถุทั้ง ๓ หมู่ โดยไม่โกรธเคืองกันแลกัน (และ) โดยไม่เบียดเบียนกันแลกัน.
               ก็นัยนี้ ของชนเหล่าใดย่อมเป็นไปด้วยอำนาจประโยชน์ของคนทั้ง ๓ เหล่าโดยไม่ผิดจากสัมมาปฏิบัติ เหมือนดังพระเจ้าพิมพิสารมหาราชเป็นต้น ท่านก็กล่าวไว้ด้วยอำนาจของชนเหล่านั้น พึงเห็นว่า ท่านไม่กล่าวไว้ด้วยอำนาจคนบางพวก.
               บทว่า อโถ สีทติ สญฺญุตฺตํ ความว่า ถ้ากำหนดถือเอาประโยชน์ปัจจุบันซึ่งประกอบดีแล้วในโลกนี้ดำรงอยู่.
               บทว่า วชฺเช กิจฺจํ นิรตฺถกํ ความว่า แม้ถ้าว่าพึงสละ คือละกิจอันประกอบด้วยความฉิบหาย ซึ่งเหินห่างจากประโยชน์ชาติหน้า.
               บทว่า น ตํ กิจฺจนฺติ มญฺญิตฺวา อปฺปมตฺโต วิจกฺขโณ ความว่า เป็นผู้ไม่ประมาทด้วยการไม่อยู่ปราศจากสติ มีปัญญาเครื่องพิจารณาโดยเกิดจากวิจารณปัญญา รู้ว่ากิจนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เราไม่ควรทำดังนี้แล้วพึงงดเว้นเสีย.
               ก็ครั้นงดเว้นแล้วพึงยึดถือสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ และความยินดีอันประกอบด้วยธรรม แล้วพึงประพฤติ.
               อธิบายว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งอันประกอบด้วยประโยชน์เกื้อกูล อันต่างด้วยทิฏฐธัมมิกประโยชน์และสัมปรายิกัตถประโยชน์ คือเป็นเหตุนำประโยชน์เกื้อกูลทั้งสองประเภทนั้นมา และความยินดีอันประกอบด้วยกุศลอันยิ่ง คือที่ประกอบด้วยสมถะและวิปัสสนา พึงยึดถือเอาให้ดี คือทำการยึดถือเอาสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์และความยินดีอันประกอบด้วยธรรมนั้นแล้วประพฤติ.
               ก็เพราะพระบาลีว่า ความยินดีในธรรมย่อมชนะความยินดีทั้งปวง ความยินดีนั้นจึงชื่อว่าความยินดีชั้นสูงสุด เพราะให้บรรลุประโยชน์สูงสุดโดยส่วนเดียว.
               ก็เพื่อจะแสดงความยินดีในคำที่กล่าวไว้ว่า กิจอันประกอบด้วยความยินดีในกาม ไม่มีประโยชน์ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อุจฺจาวเจหิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านี้ บทว่า อุจฺจาวเจหิ ได้แก่ ใหญ่และเล็ก.
               บทว่า อุปาเยหิ แปลว่า ด้วยนัยทั้งหลาย.
               บทว่า ปเรสมภิชิคีสติ ความว่า บุคคลใดปรารถนาเพื่อจะชิงเอาสิ่งของของคนอื่น หรือทำคนอื่นให้เสื่อมโดยประการทั้งปวง ปล้น ฆ่าหรือทำคนอื่นให้เศร้าโศก ปล้นเอาของคนอื่นโดยทารุณ.
               ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า
               บุคคลใดปล้น ฆ่า ทำผู้อื่นให้เศร้าโศกเพราะเหตุแห่งกาม พยายามลักของคนอื่นด้วยอุบายต่างๆ มีการตัดช่อง ปีนหน้าต่าง และกรรโชกชิงเอาเป็นต้น กระทำการทารุณ ปล้น ชิงเอา ทำคนอื่นให้เสื่อมเสียทรัพย์สมบัติ กิจนั้นของบุคคลนั้นประกอบด้วยความยินดีในกาม ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เป็นกิจเลวทรามโดยส่วนเดียว.
               โดยนัยตรงกันข้ามกับกิจที่ไม่มีประโยชน์นั้น ท่านจึงประกาศความที่ความยินดีในธรรม เป็นความยินดีอย่างสูงสุด โดยส่วนเดียวแท้จริง.
               บัดนี้ เมื่อจะประกาศการปิดกั้นอินทรีย์ที่ท่านกล่าวไว้ว่า บุคคลใดสามารถทำการปิดกั้นอินทรีย์เหล่านั้น ดังนี้พร้อมด้วยอุบาย จึงกล่าวคำมีอาทิว่า บุคคลผู้มีกำลัง เมื่อจะผ่าไม้ย่อมตอกลิ่มด้วยลิ่มฉันใด ดังนี้.
               ช่างถากไม้ผู้มีกำลัง คือผู้ประกอบด้วยกำลังกายและกำลังความรู้ ประสงค์จะเอาลิ่มที่ติดอยู่ในท่อนไม้ออก จึงตอกลิ่มที่แข็งกว่าลิ่มนั้น จึงจะนำออกจากท่อนไม้นั้นได้ฉันใด ภิกษุผู้ฉลาดก็ฉันนั้น ประสงค์จะสกัดอินทรีย์มีจักษุเป็นต้นด้วยกำลังแห่งวิปัสสนา ก็ย่อมสกัดด้วยอินทรีย์นั่นเอง.
               เพื่อจะหลีกเลี่ยงคำถามว่า สกัดด้วยอินทรีย์เหล่าไหน?
               จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สทฺธํ อินทรีย์คือศรัทธา ดังนี้.
               คำนั้นมีอธิบายว่า
               ภิกษุอบรมคือเจริญอินทรีย์ ๕ อันเป็นเครื่องบ่มวิมุตติแม้นี้ คือศรัทธามีลักษณะน้อมใจเชื่อ, ความเพียรมีลักษณะประคองไว้, สมาธิมีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน, สติมีลักษณะปรากฏ, ปัญญามีลักษณะเห็น จึงกำจัดอินทรีย์มีจักษุเป็นต้นด้วยอินทรีย์ ๕ เหล่านี้ โดยกำจัดความเป็นทวารแห่งการเกิดกิเลส มีความยินดีและความขัดเคืองเป็นต้น แล้วตัดได้เด็ดขาดซึ่งกิเลสทั้งหลายอันเป็นที่อาศัยแห่งอินทรีย์นั้นด้วยอริยมรรค แต่นั้นนั่นแลเป็นพราหมณ์ผู้ไม่มีทุกข์ คือหมดทุกข์ย่อมเข้าถึงอนุปาทิเสสปรินิพพานทีเดียว.
               บทว่า โส อตฺถวา ความว่า บุคคลนั้นเป็นพราหมณ์ตามที่กล่าวแล้ว ชื่อว่าผู้รู้อรรถเพราะประกอบด้วยอรรถอันสูงสุด ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรมเพราะตั้งอยู่ในธรรมอันยังอรรถนั้นให้ถึงพร้อม กระทำตามอนุสาสนีอันเป็นพระดำรัส คือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยประการทั้งปวง คืออย่างสิ้นเชิงทุกวิธีแล้วดำรงอยู่ แต่นั้นแล นระคือบุรุษผู้สูงสุดนั้นย่อมถึงคือพอกพูน ทำสุขคือพระนิพพานให้เจริญ.
               ก็เพราะพระเถระประกาศข้อปฏิบัติ โดยการประกาศอาการคิดของตนอย่างนี้ การประกาศความคิดนี้แหละ พึงเห็นว่าเป็นการพยากรณ์พระอรหัตผลของพระเถระนั้น.

               จบอรรถกถาปาราปริยเถรคาถาที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา วีสตินิบาต ๒. ปาราสริยเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 385อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 386อ่านอรรถกถา 26 / 387อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=7417&Z=7460
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=6896
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=6896
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :