ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 389อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 390อ่านอรรถกถา 26 / 391อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา วีสตินิบาต
๖. เสลเถรคาถา

               อรรถกถาเสลเถรคาถาที่ ๖               
               คาถาของท่านพระเสลเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ปริปุณฺณกาโย สุรุจิ ดังนี้.
               เรื่องนี้มีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระ พระเถระนี้บังเกิดในเรือนมีตระกูล พอรู้เดียงสาได้เป็นหัวหน้าคณะ ชักชวนบุรุษ ๓๐๐ คน พร้อมกับพวกบุรุษเหล่านั้น ให้สร้างพระคันธกุฎีถวายพระศาสดา เมื่อสร้างพระคันธกุฎีเสร็จแล้ว บำเพ็ญมหาทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ ให้พระศาสดาและภิกษุทั้งหลายครองไตรจีวร.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาอยู่แต่ในเทวโลกเท่านั้น ตลอดพุทธันดรหนึ่ง จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพราหมณคามชื่ออาปณะ ในอังคุตตราปะชนบท ได้นามว่าเสละ.
               เขาเจริญวัยแล้วเรียนสำเร็จไตรเพทและศิลปของพราหมณ์ทั้งหลาย บอกมนต์แก่มาณพ ๓๐๐ คน อยู่อาศัยในพราหมณคาม ชื่ออาปณะ.
               ก็สมัยนั้น พระศาสดาเสด็จจากเมืองสาวัตถี เสด็จจาริกไปในอังคุตตราปะ พร้อมกับภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป ทรงเห็นความแก่กล้าแห่งญาณของเสละกับพวกอันเตวาสิก จึงประทับอยู่ในไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง.
               ครั้งนั้น ชฎิลชื่อเกนิยะ๑- ได้สดับว่าพระศาสดาเสด็จมา จึงไปในไพรสณฑ์นั้น นิมนต์พระศาสดาพร้อมกับภิกษุสงฆ์ เพื่อเสวยในวันรุ่งขึ้น แล้วจัดแจงของเคี้ยวของฉันมากมายในอาศรมของตน.
____________________________
๑- ใน ขุ. สุ. เสลสูตร เป็นเกณิยชฎิล.

               ก็สมัยนั้น เสลพราหมณ์กับมาณพ ๓๐๐ คนเดินเที่ยวพักผ่อนไปโดยลำดับ ได้เข้าไปยังอาศรมของเกนิยชฎิล เห็นชฎิลทั้งหลายตระเตรียมอุปกรณ์ทาน ด้วยกิจมีการผ่าฟืนและก่อเตาไฟเป็นต้น จึงถามด้วยคำมีอาทิว่า ท่านเกนิยะ มหายัญปรากฏเฉพาะแก่ท่านหรือ?
               เมื่อเกนิยชฎิลนั้นกล่าวว่า ข้าพเจ้านิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้ามาเสวยในวันพรุ่งนี้.
               พอได้ฟังคำว่า พุทโธ เท่านั้นเป็นผู้ร่าเริงดีใจ เกิดปิติโสมนัส ในทันใดนั้นได้เข้าเฝ้าพระศาสดาพร้อมกับมาณพทั้งหลายได้รับการปฏิสันถารแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการในพระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงคิดว่า
               ผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือเป็นพระพุทธเจ้าผู้มีกิเลสเพียงดังหลังคาเปิดแล้วในโลก ก็ท่านผู้นี้เป็นนักบวช และเราก็ไม่รู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ แต่เราก็ได้สดับมาจากพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์บอกเล่าไว้ว่า ท่านผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมกระทำตนให้ปรากฏในวรรณะของตนซึ่งสำรวมอยู่ เพราะว่า ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถูกคนยืนอยู่ตรงหน้าชมเชยด้วยพุทธคุณทั้งหลายอยู่ ย่อมขลาดกลัว ถึงความเก้อเขิน เพราะความเป็นผู้ถึงความไม่กล้าหาญ (และ) เพราะความเป็นผู้ไม่อดทนต่อการย้อนถาม. ถ้ากระไร เราพึงชมเชยพระสมณโคดมต่อหน้า ด้วยคาถาทั้งหลายอันเหมาะสม.
               ก็ครั้นคิดอย่างนี้แล้วจึงได้ชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถา ๖ คาถาความว่า
                         ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ผู้มีพระวิริยภาพ
               มีพระสรีรกายสมบูรณ์ มีพระรัศมีงดงามชวนให้น่าดูยิ่งนัก
               พระฉวีวรรณก็ผุดผ่องดังทองคำ พระเขี้ยวแก้วทั้งซ้ายขวา
               ก็สุกใส
                         ด้วยว่าลักษณะแห่งมหาบุรุษเหล่าใดย่อมมีปรากฏ
               แก่พระอริยเจ้า หรือแก่พระบรมจักรพรรดิ ผู้เป็นนระเกิด
               แล้วโดยชอบ ลักษณะแห่งมหาบุรุษเหล่านั้นย่อมมีปรากฏ
               ในพระกายของพระองค์ครบทุกสิ่ง
                         พระองค์มีดวงพระเนตรแจ่มใส พระพักตร์ผุดผ่อง
               พระวรกายทั้งสูงทั้งใหญ่และตั้งตรง มีพระเดชรุ่งโรจน์ อยู่
               ในท่ามกลางแห่งหมู่พระสมณะ ปานดังดวงอาทิตย์ฉะนั้น
               พระองค์ทรงเป็นภิกษุที่มีคุณสมบัติงดงามน่าชม มีพระฉวี
               วรรณผุดผ่อง งดงามดังทองคำ พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วย
               พระวรรณะ และพระลักษณะอันอุดมถึงอย่างนี้ จะมัวมา
               เป็นสมณะอยู่ทำไมกัน พระองค์ควรจะเป็นพระราชาจักร
               พรรดิผู้ประเสริฐ ทรงปราบไพรีชนะแล้ว เสด็จผ่านพิภพ
               เป็นบรมเอกราชในสากลชมพูทวีป มีสมุทรสาครสี่เป็น
               ขอบเขต
                         ข้าแต่พระโคดม ขอเชิญพระองค์เสด็จขึ้นผ่านราช
               สมบัติเป็นองค์ราชาธิราชจอมมนุษย์นิกรตามพระราช
               ประเพณีของกษัตราธิราช โดยพระชาติที่ได้เสวยราชย์
               อันมีหมู่เสวกามาตย์โดยเสด็จเถิด.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปริปุณฺณกาโย ความว่า ชื่อว่ามีพระสรีระบริบูรณ์ เพราะมีมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการอันปรากฏชัดบริบูรณ์ และเพราะมีอวัยวะน้อยใหญ่ไม่ต่ำทราม.
               บทว่า สุรุจิ ได้แก่ มีรัศมีแห่งพระสรีระงาม.
               บทว่า สุชาโต ได้แก่ ชื่อว่าบังเกิดดีแล้ว เพราะถึงพร้อมด้วยความสูงและความใหญ่ และเพราะถึงพร้อมด้วยทรวดทรง.
               บทว่า จารุทสฺสโน ความว่า ชื่อว่ามีพระทัศนะการเห็นงาม เพราะมีพระทัศนะงามน่ารื่นรมย์ใจ ไม่น่าเกลียด ทำให้เกิดไม่อิ่มแก่ผู้ที่ดูอยู่แม้เป็นเวลานาน.
               แต่บางอาจารย์กล่าวว่า บทว่า จารุทสฺสโน แปลว่า มีพระเนตรงาม.
               บทว่า สุวณฺณวณฺโณ แปลว่า มีพระวรรณะดุจทองคำ.
               บทว่า อสิ แปลว่า ได้มีแล้ว, ก็บทนี้พึงประกอบกับทุกบท โดยนัยมีอาทิว่า ปริปุณฺณกาโย อสิ ได้มีกายบริบูรณ์.
               บทว่า สุสุกฺกทาโฐ ได้แก่ มีพระเขี้ยวแก้วสุกใสดี.
               จริงอยู่ พระรัศมีขาวดุจแสงจันทร์เปล่งออกจากพระเขี้ยวแก้วทั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทว่า วีริยวา ได้แก่ ทรงประกอบด้วยความดียิ่งแห่งความบริบูรณ์ของพระวิริยบารมี และความถึงพร้อมแห่งสัมมัปปธานความเพียรชอบ ๔ ประการ โดยทรงอธิษฐานความเพียรอันประกอบด้วยองค์ ๔.
               บทว่า นรสฺส หิ สุชาตสฺส ได้แก่ ผู้เป็นนระเกิดแล้วโดยชอบด้วยดี เพราะความบริบูรณ์แห่งพระบารมี ๓๐ ถ้วน หรือจักรพรรดิวัตรอันประเสริฐ. อธิบายว่า ผู้เป็นมหาบุรุษ.
               บทว่า สพฺเพ เต ความว่า คุณของพระรูปใด กล่าวคือมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการมีความที่ทรงมีพระบาทประดิษฐานอยู่ด้วยดีเป็นต้น ซึ่งได้โวหารว่าพยัญชนะ เพราะทำความเป็นมหาบุรุษ คือความเป็นบุคคลผู้เลิศในโลกให้ปรากฏ และกล่าวคืออนุพยัญชนะ ๘๐ มีความที่ทรงมีพระนขาแดงและพระนขานูนยาวเป็นต้น คุณแห่งพระรูปนั้นทั้งหมดไม่มีเหลือ มีอยู่ในพระกายของพระองค์ ดังนี้ เป็นคำที่เหลือ.
               ด้วยบทว่า มหาปุริสลกฺขณา นี้ เสลพราหมณ์กล่าวซ้ำตามระหว่างคำของพยัญชนะทั้งหลายที่กล่าวแล้วในเบื้องต้นนั้นเอง.
               บัดนี้ เมื่อจะกล่าวชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยพระลักษณะที่ตนชอบใจ เฉพาะในบรรดาพระลักษณะเหล่านั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปสนฺนเนตฺโต ดังนี้.
               จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าชื่อว่ามีพระเนตรผ่องใส เพราะถึงพร้อมด้วยความใสแห่งวรรณะ ๕. ชื่อว่ามีพระพักตร์ผุดผ่อง เพราะทรงมีพระพักตร์ดุจพระจันทร์เต็มดวง. ชื่อว่ามีพระกายสูงใหญ่ เพราะสมบูรณ์ด้วยส่วนสูงและส่วนใหญ่. ชื่อว่ามีพระกายตรง เพราะมีพระวรกายตรง ดุจกายพระพรหม. ชื่อว่ามีพระเดชรุ่งโรจน์ เพราะทรงมีความโชติช่วง.
               บัดนี้ เมื่อจะประกาศถึงความมีพระเดชรุ่งโรจน์นั้นนั่นแหละ ด้วยการเปรียบด้วยพระอาทิตย์ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า มชฺเฌ สมณสงฺฆสฺส ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาทิจฺโจว วิโรจสิ ความว่า พระอาทิตย์เมื่อขึ้นย่อมขจัดความมืดทั้งปวง กระทำความสว่างไพโรจน์อยู่ฉันใด แม้พระองค์ก็ฉันนั้น ย่อมขจัดความมืดคืออวิชชาทั้งปวงทั้งภายในและภายนอก กระทำแสงสว่างคือญาณรุ่งโรจน์อยู่.
               ชื่อว่าทรงมีคุณสมบัติงามน่าดู เพราะนำมาซึ่งทัศนสมบัติ สมบัติแห่งการน่าดูอันมีอยู่ในพระองค์ เพราะทรงมีพระรูปน่าดู และเพราะประกอบด้วยการเห็นที่ดี ๕ ประการ.
               บทว่า อุตฺตมวณฺณิโน ได้แก่ ทรงสมบูรณ์ด้วยพระวรรณะอันอุดม.
               บทว่า จกฺกวตฺตี ความว่า ชื่อว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เพราะยังจักรรัตนะให้เป็นไป. เพราะประพฤติด้วยจักรสมบัติ ๔ ประการและยังคนอื่นให้ประพฤติจักรสมบัติ ๔ ประการนั้น (และ) เพราะทรงมีวัตรแห่งจักรคืออิริยาบถ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนอื่น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เพราะทรงมีวัตรแห่งอาณาจักรที่คนเหล่าอื่นครอบงำไม่ได้ เพราะประกอบด้วยอัจฉริยธรรม ๔ และสังคหวัตถุ ๔ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า รเถสโภ ได้แก่ เป็นบุรุษผู้องอาจชาติอาชาไนยในทหารรถทั้งหลาย. อธิบายว่า เป็นทหารรถผู้ใหญ่.
               บทว่า จาตุรนฺโต ได้แก่ เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นที่สุด.
               บทว่า วิชิตาวี แปลว่า ชัยชนะของผู้ชนะ.
               บทว่า ชมฺพุสณฺฑสฺส ได้แก่ ชมพูทวีป.
               จริงอยู่ พราหมณ์เมื่อจะแสดงความเป็นใหญ่ทั้งหลายตามที่ปรากฏ จึงกล่าวอย่างนั้น.
               ก็พระเจ้าจักรพรรดิย่อมเป็นใหญ่ในมหาทวีปทั้ง ๔ พร้อมทั้งทวีปน้อย.
               บทว่า ขตฺติยา ได้แก่ กษัตริย์โดยชาติ.
               บทว่า ราชาโน ได้แก่ ราชาเหล่าใดเหล่าหนึ่งผู้ครองราชย์.
               บทว่า อนุยนฺตา ได้แก่ เหล่าเสวกผู้ตามเสด็จ.
               บทว่า ราชาภิราชา ได้แก่ เป็นพระราชาที่พระราชาทั้งหลายบูชา. อธิบายว่า เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ.
               บทว่า มนุชินฺโท ได้แก่ ผู้เป็นใหญ่ในมนุษย์. อธิบายว่า ผู้เป็นใหญ่ยิ่งแห่งพวกมนุษย์.
               เมื่อเสลพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงกระทำให้บริบูรณ์ซึ่งมโนรถ ของเสลพราหมณ์นี้ที่ว่า ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เมื่อใครๆ กล่าวคุณของตน ย่อมกระทำตนให้ปรากฏ จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
                         ดูก่อนเสลพราหมณ์ เราเป็นพระราชาอยู่แล้ว คือ
                         เป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม เราจักยังธรรมจักร
                         ซึ่งใครๆ ให้เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไป.

               ในพระคาถานั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้ :-
               ดูก่อนเสลพราหมณ์ ในข้อที่ท่านอ้อนวอนเราว่า ควรเป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้น เราเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย เราเป็นพระราชา เมื่อความเป็นราชามีอยู่ คนอื่นแม้เป็นพระราชาย่อมปกครองไปได้ร้อยโยชน์บ้าง สองร้อย สามร้อย สี่ร้อย ห้าร้อยโยชน์บ้าง แม้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ก็ปกครองเพียงทวีปทั้ง ๔ เป็นที่สุดฉันใด เราเป็นผู้มีวิสัยคือเขตแดนอันกำหนดไว้ฉันนั้น หามิได้.
               ก็เราเป็นธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม ย่อมสั่งสอนโลกธาตุหาประมาณมิได้ โดยขวาง จากภวัคคพรหมถึงอเวจีเป็นที่สุด. ก็สัตว์ทั้งหลายชนิดที่ไม่มีเท้าเป็นต้นมีประมาณเพียงใด เราเป็นผู้เลิศแห่งสัตว์ทั้งหลายมีประมาณเพียงนั้น. ก็ใครๆ ผู้แม้นเหมือนกับเราด้วยศีล ฯลฯ หรือด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ ย่อมไม่มี ผู้ยิ่งกว่าเราจักมีมาแต่ไหน.
               เรานั้นเป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยมอย่างนี้ ย่อมยังจักรให้เป็นไปโดยธรรม กล่าวคือโพธิปักขิยธรรมอันต่างด้วยสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้นอันยอดเยี่ยมทีเดียว คือย่อมยังอาณาจักรให้เป็นไป โดยนัยมีอาทิว่า ท่านจงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่ หรือยังธรรมจักรนั่นแหละให้เป็นไปโดยปริยัติธรรมมีอาทิว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็นี้แลทุกขอริยสัจ.
               บทว่า จกฺกํ อปฺปติวตฺติยํ ความว่า จักรใดอันสมณะ ฯลฯ หรือใครๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้.
               เสลพราหมณ์เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศพระองค์ออกมาอย่างนี้ เกิดปิติโสมนัส เพื่อจะกระทำให้แน่นเข้า จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
                                   ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงปฏิญาณว่า เป็นพระ
                         สัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม ทั้งยัง
                         ตรัสยืนยันว่า ทรงยังจักรให้เป็นไปโดยธรรม ใครหนอ
                         เป็นเสนาบดีของพระองค์ เป็นสาวกผู้ประพฤติตามพระ
                         องค์ผู้เป็นศาสดา ใครจะประกาศธรรมจักรนี้ ที่พระองค์
                         ทรงประกาศแล้ว ให้เป็นไปตามได้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โก นุ เสนาปติ ความว่า พราหมณ์ถามว่า ใครหนอเป็นเสนาบดีของพระธรรมราชาผู้เจริญ ผู้ประกาศตามซึ่งจักรที่ทรงประกาศแล้วโดยธรรม.
               ก็สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งอยู่ ณ พระปรัศว์เบื้องขวาของพระผู้มีพระภาคเจ้า งดงามด้วยสิริ ดุจแท่งทองคำ. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงพระสารีบุตรนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
                         ดูก่อนเสลพราหมณ์ สารีบุตรผู้อนุชาตบุตรของเราตถาคต
                         จะประกาศตามธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ที่เราประกาศแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุชาโต ตถาคตํ ความว่า ผู้เป็นอนุชาตบุตรของตถาคต, อธิบายว่า เกิดในอริยชาติโดยพระตถาคตเป็นเหตุ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ปัญหาที่เสลพราหมณ์ถามว่า ใครหนอเป็นเสนาบดีของพระองค์ ดังนี้อย่างนี้แล้ว มีพระประสงค์จะทรงกระทำเสลพราหมณ์ให้หมดสงสัย ในข้อที่ถามว่า พระองค์ทรงปฏิญญาว่าเป็นพระสัมพุทธเจ้านั้น เพื่อจะให้เขารู้ว่า เราย่อมไม่ปฏิญญาด้วยสักแต่ว่าปฏิญญาเท่านั้น เราเป็นพระพุทธเจ้า แม้เพราะเหตุนี้ ดังนี้ จึงตรัสพระคาถาว่า
                                   เรารู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง เจริญธรรมที่ควรเจริญ
                         ละธรรมที่ควรละ เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นพระพุทธ
                         เจ้า นะพราหมณ์.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิญฺเญยฺยํ ได้แก่ สัจจะ ๔ คือ อริยสัจ ๔.
               จริงอยู่ คำว่า อภิญฺเญยฺยํ นั่นเป็นศัพท์สามัญทั่วไปแก่สัจจะ ๔ และอริยสัจ ๔.
               บรรดาอริยสัจเหล่านั้น มรรคสัจใดควรเจริญ และสมุทัยสัจใดควรละ แม้นิโรธสัจและทุกขสัจอันเป็นตัวผลของมรรคสัจและสมุทัยสัจนั้นก็ย่อมเป็นอันถือเอาด้วยศัพท์ทั้งสองนั้น เพราะผลสำเร็จได้ด้วยศัพท์อันเป็นเหตุเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น แม้คำนี้ว่า เราทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง เรากำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ดังนี้ ก็เป็นอันกล่าวไว้แน่นอนในคาถานั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ก็คำว่า เรารู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่งนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศความเป็นผู้ตรัสรู้พร้อม ในการรู้ยิ่งซึ่งไญยธรรมแม้ทั้งปวง โดยอุเทศ เมื่อจะทรงแสดงเอกเทศส่วนหนึ่งแห่งความเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมนั้น โดยนิเทศ จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า และเราเจริญแล้วซึ่งธรรมที่ควรเจริญ ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยคำว่า เราเจริญธรรมที่ควรเจริญ ละธรรมที่ควรละ นี้ย่อมเป็นอันระบุพระพุทธคุณแม้ทั้งสิ้น เพราะมีการเจริญ และการละนั้นเป็นมูล โดยมุขคือการระบุถึงญาณสัมปทาและปหานสัมปทาของพระองค์ เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า นะพราหมณ์.
               จริงอยู่ เพราะถือเอาวิชชาและวิมุตติโดยทุกประการ ด้วยศัพท์ว่า อภิญฺเญยฺยํ อภิญฺญาตํ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงความเป็นสัจจะทั้ง ๔ ซึ่งเป็นไปกับด้วยผลพร้อมทั้งเหตุสมบัติ จึงทรงประกาศความที่พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าโดยถูกต้องของพระองค์โดยญาณ โดยเหตุว่า เรารู้สิ่งทั้งปวงที่ควรรู้ จึงได้เป็นพระพุทธเจ้า.
               ครั้นทรงกระทำพระองค์ให้ปรากฏโดยตรงอย่างนี้แล้ว เพื่อจะให้ข้ามพ้นความเคลือบแคลงในพระองค์ เมื่อจะทรงทำพราหมณ์ให้เกิดความอุตสาหะ จึงได้ตรัสพระคาถา ๓ คาถาว่า
                         ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงนำความเคลือบแคลงในเรา
               ออกเสีย จงน้อมใจเชื่อเถิด เพราะการเห็นพระสัมมาสัมพุทธ
               เจ้าเนืองๆ ที่ปรากฏขึ้นในโลก เป็นการหาได้ยาก.
                         ดูก่อนพราหมณ์ เราเป็นพระพุทธเจ้า เป็นหมอผ่าตัด
               ลูกศรคือกิเลสชั้นเยี่ยม เราเป็นดังพรหม ล่วงพ้นการชั่งตวง
               เป็นผู้ย่ำยีมารและเสนามาร ทำผู้ที่มิใช่มิตรทุกจำพวกไว้ใน
               อำนาจได้ ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ เบิกบานอยู่.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วินยสฺสุ ได้แก่ ท่านจงนำออกเสีย คือจงตัดเสีย.
               บทว่า กงฺขํ ได้แก่ ความลังเลใจ.
               บทว่า อธิมุจฺจสฺสุ ความว่า ท่านจงทำความน้อมใจเชื่อ คือจงเชื่อว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า ทุลฺลภํ ทสฺสนํ โหติ สมฺพุทฺธานํ ความว่า เพราะโลกย่อมว่างจากพระพุทธเจ้าตั้งอสงไขยกัป.
               บทว่า สลฺลกตฺโต ได้แก่ เป็นผู้ผ่าตัดลูกศร คือกิเลสมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า พฺรหฺมภูโต แปลว่า เป็นผู้ประเสริฐสุด.
               บทว่า อติตุโล แปลว่า ล่วงพ้นการชั่งตวง คือไม่มีผู้เปรียบเทียบ.
               บทว่า มารเสนปฺปมทฺทโน ได้แก่ เป็นผู้ย่ำยีมารและเสนามารซึ่งมีที่มาอย่างนี้ว่า กามทั้งหลายเหล่านั้น เป็นเสนาที่หนึ่ง ดังนี้.
               บทว่า สพฺพามิตฺเต ได้แก่ ข้าศึกทั้งปวง กล่าวคือขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมารและเทวปุตตมาร.
               บทว่า วเส กตฺวา ได้แก่ ทำไว้ในอำนาจของตน.
               บทว่า โมทามิ อกุโตภโย ความว่า เราไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ เบิกบานอยู่ด้วยสุขอันเกิดจากสมาธิ และสุขในผลและนิพพาน.
               เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว เสลพราหมณ์เกิดความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า ในขณะนั้นเอง เป็นผู้มุ่งต่อการบรรพชา ผู้ประดุจถูก อุปนิสัยสมบัติอันถึงความแก่กล้ากระตุ้นเตือน จึงกล่าวคาถา ๓ คาถาว่า
                         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระองค์ทรงสดับคำของ
               ข้าพระองค์นี้ก่อน พระตถาคตผู้มีพระจักษุ เป็นแพทย์ผ่าตัด
               ลูกศร ทรงมีความเพียรยิ่งใหญ่ ได้ตรัสพระวาจาเหมือนราชสีห์
               บันลือสีหนาทในป่า ใครได้เห็นพระองค์ผู้ประเสริฐ ผู้ล่วงพ้น
               การชั่งตวง ทรงย่ำยีมารและเสนามารแล้ว จะไม่พึงเลื่อมใสเล่า
               แม้ชนผู้เกิดในเหล่ากอคนดำ ก็ย่อมเลื่อมใส
                         ผู้ใดจะตามฉันมา ก็เชิญตามมา หรือผู้ใดไม่ปรารถนา
               ก็จงกลับไปเถิด แต่ตัวฉันจะบวชในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้
               มีพระปัญญาประเสริฐนี้ละ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กณฺหาภิชาติโก ได้แก่ ผู้มีชาติต่ำ คือผู้ดำรงอยู่ในภาวะมืดมาแล้วมืดไปภายหน้า.
               ลำดับนั้น มาณพแม้เหล่านั้นก็เป็นผู้มุ่งต่อการบรรพชาในที่นั้นเหมือนกัน เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยเหตุ เหมือนกุลบุตรผู้ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้กับเสลพราหมณ์นั้น จึงกล่าวคาถาว่า
                         ถ้าท่านอาจารย์ชอบใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
               แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายก็จะพากันบวชในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้
               มีพระปัญญาประเสริฐ.

               ลำดับนั้น เสลพราหมณ์มีจิตยินดีในมาณพเหล่านั้น เมื่อจะแสดงมาณพเหล่านั้นและทูลขอบรรพชา จึงกล่าวคาถาว่า
                         ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พราหมณ์ ๓๐๐ คนนี้
               พากันประณมมืออัญชลีทูลขอบรรพชาว่า ข้าพระองค์
               ทั้งหลายจักประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระองค์.

               ลำดับนั้น เพราะเหตุเสลพราหมณ์เป็นหัวหน้าคณะของบุรุษ ๓๐๐ คนเหล่านั้นนั่นแหละ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระ โดยนัยดังกล่าวไว้ในหนหลัง ได้ปลูกมูลคือกุศลไว้ บัดนี้ แม้ในปัจฉิมภพก็บังเกิดเป็นอาจารย์ของบุรุษเหล่านั้นแหละ ก็ญาณของเสลพราหมณ์และมาณพเหล่านั้นก็แก่กล้า ทั้งอุปนิสัยแห่งความเป็นเอหิภิกขุก็มีอยู่ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงให้คนเหล่านั้นทั้งหมดบวช โดยการบวชด้วยความเป็นเอหิภิกขุ จึงตรัสพระคาถาว่า
                         พรหมจรรย์เรากล่าวดีแล้ว อันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง
               ไม่ประกอบด้วยกาล เพราะการบวชในศาสนานี้ไม่ไร้ผล
               แก่บุคคลผู้ไม่ประมาท ศึกษาอยู่.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺทิฏฺฐิกํ แปลว่า เห็นประจักษ์.
               บทว่า อกาลิกํ ได้แก่ ไม่พึงบรรลุผลในกาลอื่น เพราะเกิดผลในลำดับมรรค.
               บทว่า ยตฺถ แปลว่า เพราะพรหมจรรย์ใดเป็นนิมิต.
               จริงอยู่ บรรพชาอันมีมรรคพรหมจรรย์เป็นนิมิต ไม่เป็นหมัน คือไม่ไร้ผล.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ยตฺถ ความว่า ผู้ไม่ประมาท คือผู้เว้นจากการอยู่ปราศจากสติ ศึกษาอยู่ในสิกขา ๓ ในศาสนาใด.
               ก็ครั้นตรัสอย่างนี้แล้วจึงได้ตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด. ในขณะนั้นเอง คนทั้งหมดนั้นเป็นผู้ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ เป็นประดุจพระเถระ ๖๐ พรรษา ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแวดล้อมอยู่.
               เสลพราหมณ์นั้นครั้นบวชแล้ว บำเพ็ญวิปัสสนา ในวันที่ ๗ พร้อมทั้งบริษัทได้บรรลุพระอรหัต.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               ข้าพระองค์เป็นเจ้าของถนน อยู่ในนครหังสวดี ได้ประชุมบรรดาญาติของข้าพระองค์แล้ว ได้กล่าวดังนี้ว่า
               พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก เป็นบุญเขตอันสูงสุด พระองค์เป็นผู้สมควรรับเครื่องบูชาของโลกทั้งปวง กษัตริย์ก็ดี ชาวนิคมก็ดี พราหมณมหาศาลก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใสโสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก พลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า ล้วนมีจิตเลื่อมใสโสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก คนครึ่งชาติ พ่อเป็นกษัตริย์แม่เป็นศูทรก็ดี ราชบุตรก็ดี พ่อค้าก็ดี พราหมณ์ก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใสโสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก พ่อค้าก็ดี คนรับจ้างก็ดี คนรับใช้อาบน้ำก็ดี ช่างกรองดอกไม้ก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใสโสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก ช่างย้อมก็ดี ช่างหูกก็ดี ช่างเย็บผ้าก็ดี ช่างกัลบกก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใสโสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก ช่างศรก็ดี ช่างกลึงก็ดี ช่างหนังก็ดี ช่างถากก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใสโสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก ช่างเหล็กก็ดี ช่างทองก็ดี ช่างดีบุกและช่างทองแดงก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใสโสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก ลูกจ้างก็ดี ช่างซักรีดก็ดี ทาสและกรรมกรก็ดี เป็นอันมากได้พากันประพฤติธรรมตามกำลังของตนๆ คนตักน้ำขายก็ดี คนขนไม้ก็ดี ชาวนาก็ดี คนเกี่ยวหญ้าก็ดี ได้พากันประพฤติธรรมตามกำลังของตนๆ. คนขายดอกไม้ คนขายพวงมาลัย คนขายใบไม้และคนขายผลไม้ ได้พากันประพฤติธรรมตามกำลังของตนๆ. หญิงแพศยา นางกุมภทาสี คนขายขนมและคนขายปลา ได้พากันประพฤติธรรมตามกำลังของตนๆ. เราทั้งหมดนี้มาประชุมร่วมเป็นพวกเดียวกัน ทำบุญกุศลในพระพุทธเจ้าผู้เป็นเขตบุญอย่างยอดเยี่ยม
               ญาติเหล่านั้นฟังคำของข้าพระองค์แล้ว รวมกันเป็นคณะในขณะนั้น แล้วกล่าวว่า พวกเราควรให้สร้างโรงอันทำอย่างสวยงาม ถวายแก่ภิกษุสงฆ์. ข้าพระองค์ให้สร้างโรงฉันนั้นสำเร็จแล้ว มีใจเบิกบานยินดี แวดล้อมด้วยญาติทั้งหมดนั้น เข้าไปเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า ครั้นเข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าผู้เป็นนาถะของโลก ผู้ประเสริฐกว่านระ ถวายบังคมแทบพระบาทของพระศาสดาแล้ว ได้กราบทูลคำนี้ว่า
               ข้าแต่พระวีรมุนี บุรุษประมาณ ๓๐๐ คนนี้ร่วมกันเป็นคณะ ขอมอบถวายโรงฉันอันสร้างอย่างสวยงามแด่พระองค์ ขอพระองค์ผู้มีจักษุ ผู้เป็นประธานของภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับเถิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัส พระคาถาเหล่านี้ต่อหน้าบุรุษ ๓๐๐ คนว่า บุรุษทั้ง ๓๐๐ คนและผู้เป็นหัวหน้าร่วมกันประพฤติ ท่านทั้งปวงพากันทำแล้ว จักได้เสวยสมบัติเมื่อถึงภพหลังสุด ท่านทั้งหลายจักเห็นนิพพานอันเป็นภาวะเย็นอย่างยอดเยี่ยม ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นแดนเกษม.
               พระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยมกว่าผู้รู้ธรรมทั้งปวง ทรงพยากรณ์อย่างนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังพระพุทธพจน์แล้วได้เสวยโสมนัส ข้าพระองค์รื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓ หมื่นกัป เป็นใหญ่กว่าเทวดาเสวยรัชสมบัติอยู่ในเทวโลก ๕๐๐ กัป ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ๑,๐๐๐ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณนานับมิได้ในรัชสมบัติ ในมนุษย์นี้มีพวกญาติเป็นบริษัท ในภพอันเป็นที่สุดที่ถึงนี้ ข้าพระองค์เป็นบุตรพราหมณ์ชื่อว่าเสฏฐะ ผู้สั่งสมสมบัติไว้ประมาณ ๘๐ โกฏิ ข้าพระองค์มีชื่อว่าเสละ ถึงที่สุดในองค์ ๖ แวดล้อมด้วยศิษย์ของตน เดินเที่ยวไปสู่วิหาร ได้เห็นดาบสชื่อเกนิยะ ผู้เต็มไปด้วยภาระคือชฎา จัดแจงเครื่องบูชา จึงได้ถามดังนี้ว่า ท่านจักทำอาวาหมงคล วิวาหมงคล หรือท่านเชื้อเชิญพระราชา.
               เกนิยะดาบสตอบว่า
               เราใคร่จะบวงสรวงบูชาพราหมณ์ที่สมมติกันว่าประเสริฐ เราไม่ได้เชื้อเชิญพระราชา ไม่มีการบวงสรวง อาวาหมงคลของเราไม่มีและวิวาหมงคลของเราก็ไม่มี พระพุทธเจ้าผู้ให้เกิดความยินดีแก่ศากยะทั้งหลาย ประเสริฐที่สุดในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ทรงทำประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกทั้งปวง ทรงนำสุขมาให้แก่สรรพสัตว์ วันนี้เรานิมนต์พระองค์ เราจัดแจงเครื่องบูชานี้เพื่อพระองค์ พระพุทธเจ้ามีรัศมีดุจสีมะพลับ มีพระคุณหาประมาณมิได้ ไม่มีผู้เปรียบ ไม่มีใครเสมอด้วยพระรูป เรานิมนต์เพื่อเสวย ณ วันพรุ่งนี้
               และพระองค์มีพระพักตร์ร่าเริงดังปากเบ้า สุกใสเช่นกับถ่านเพลิงไม้ตะเคียนเปรียบด้วยสายฟ้า เป็นมหาวีระ เป็นนาถะของโลก เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเปรียบเหมือนไฟบนยอดภูเขา ดังพระจันทร์วันเพ็ญ เช่นกับสีแห่งไฟไหม้ไม้อ้อ เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้ไม่ทรงครั่นคร้าม ล่วงภัยได้แล้ว ทรงทำให้เป็นผู้เจริญ เป็นมุนีเปรียบด้วยสีหะ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงฉลาดในธรรมของผู้ตรัสรู้ ผู้อื่นข่มขี่ไม่ได้ เปรียบด้วยช้างตัวประเสริฐ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงฉลาดในฝั่งคือสัทธรรม เป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ไม่มีใครเปรียบอุปมาดังโคอุสภราช เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นมีวรรณะไม่สุด มียศนับมิได้ มีลักษณะทั้งปวงวิจิตร เปรียบด้วยท้าวสักกะ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงมีความชำนาญ เป็นผู้นำหมู่ มีตบะ มีเดช คร่าได้ยาก เปรียบด้วยพรหม เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นมีธรรมเลิศน่าบูชา เป็นพระทศพล ถึงที่สุดกำลัง ล่วงกำลัง เปรียบด้วยแผ่นดิน เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงเกลื่อนกล่นด้วยศีลและปัญญา มากด้วยการทรงรู้แจ้งธรรม เปรียบด้วยทะเล เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นยากที่จะคร่าไปได้ ยากที่จะข่มขี่ให้หวั่นไหว เลิศกว่าพรหม เปรียบด้วยเขาสุเมรุ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น มีพระญาณไม่สิ้นสุด ไม่มีผู้เสมอ ไม่มีผู้เทียบเท่า ถึงความเป็นยอด เปรียบด้วยท้องฟ้า เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว.
               พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นที่พึ่งของบรรดาผู้กลัวภัย เป็นที่ต้านทานของบรรดาผู้ถึงสรณะ เป็นที่เบาใจ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นที่อาศัยแห่งมนต์คือความรู้ เป็นบุญเขตของผู้แสวงหาสุข เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นผู้ให้เบาใจ เป็นผู้ทำให้ประเสริฐ เป็นผู้ประทานสามัญผล เปรียบด้วยเมฆ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นมหาวีระที่เขายกย่องในโลก เป็นผู้บรรเทาความมืดทั้งปวง เปรียบด้วยพระอาทิตย์ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงแสดงสภาพในอารมณ์และวิมุตติ เป็นมุนี เปรียบด้วยพระจันทร์ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสรู้แล้ว เขายกย่องในโลก ประดับด้วยลักษณะทั้งหลายหาประมาณมิได้ เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นมีพระญาณหาประมาณมิได้ มีศีลไม่มีเครื่องเปรียบ มีวิมุตติไม่มีอะไรเทียมทัน เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นมีธิติไม่มีอะไรเหมือน มีกำลังอันไม่ควรคิด มีความบากบั่นอันประเสริฐ เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงถอนราคะ โทสะ โมหะและยาพิษทั้งปวงแล้ว เปรียบด้วยยา เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว. พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงบรรเทาพยาธิคือกิเลสและทุกข์เป็นอันมากเปรียบเหมือนโอสถ เปรียบเหมือนสายฟ้า เป็นมหาวีระ เรานิมนต์แล้ว.
               เกนิยพราหมณ์กล่าวประกาศว่า พุทโธ เสียงประกาศนั้นข้าพระองค์ได้โดยแสนยาก เพราะได้ฟังเสียงประกาศว่า พุทโธ ปิติย่อมเกิดแก่ข้าพระองค์ ปิติของข้าพระองค์ไม่จับอยู่ภายในเท่านั้น แผ่ซ่านออกภายนอก ข้าพระองค์มีใจปิติได้กล่าวดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นผู้เป็นเชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านระ ประทับอยู่ที่ไหน เราจักไปนมัสการพระองค์ผู้ประทานสามัญผล ณ ที่นั้น ขอท่านผู้เกิดโสมนัสประณมกรอัญชลี โปรดยกหัตถ์เบื้องขวาขึ้นชี้บอกพระธรรมราชาผู้บรรเทาลูกศรคือความโศกเศร้าแก่ข้าพเจ้าเถิด.
               ท่านย่อมเห็นป่าใหญ่อันเขียวขจี ดังมหาเมฆที่ขึ้นลอยอยู่ เสมอด้วยดอกอัญชัน ปรากฏดุจสาคร พระพุทธเจ้าผู้ฝึกบุคคลที่ยังไม่ได้ฝึก เป็นมุนี ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ให้ตรัสรู้โพธิปักขิยธรรม พระองค์นั้นประทับอยู่ที่นั่น ข้าพระองค์ค้นหาพระชินเจ้า เปรียบเหมือนคนกระหายน้ำค้นหาน้ำ คนหิวข้าวค้นหาข้าว ปานดังแม่โครักลูกค้นหาลูกฉะนั้น
               ข้าพระองค์ผู้รู้อาจาระและอุปจาระ สำรวมตามสมควรแก่ธรรม ให้พวกศิษย์ของตนผู้จะไปยังสำนักของพระชินเจ้า ศึกษาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ใครๆ คร่าได้โดยยาก เสด็จเที่ยวอยู่พระองค์เดียว เปรียบเหมือนราชสีห์
               ท่านมาณพทั้งหลายควรเดินเรียงลำดับกันมา พระพุทธเจ้าทั้งหลายยากที่ใครๆ จะคร่าไป เปรียบเหมือนอสรพิษร้าย ดุจไกรสรมฤคราช ดังช้างกุญชรที่ฝึกแล้วตกมันฉะนั้น ท่านมาณพทั้งหลายจงอย่าจามและไอ เดินเรียงลำดับกันมา เข้าไปสู่สำนักของพระพุทธเจ้าเถิด พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเป็นผู้หนักในการอยู่ในที่เร้น ชอบเงียบเสียง ยากที่จะคร่าไปได้ ยากที่จะเข้าเฝ้า เป็นครูในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก
               เราทูลถามปัญหาใด หรือได้ปราศรัยโต้ตอบอยู่ ขณะนั้น ท่านทั้งหลายจงเงียบเสียงหยุดนิ่งอยู่ พระองค์ทรงแสดงพระสัทธรรมอันเป็นแดนเกษม เพื่อบรรลุพระนิพพาน ท่านทั้งหลายจงใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมนั้น เพราะการฟังพระสัทธรรมเป็นความงาม
               ข้าพระองค์ได้เข้าไปเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า ได้ปราศรัยกับพระมุนี ครั้นผ่านการปราศรัยไปแล้ว จึงตรวจดูพระลักษณะทั้งหลาย ไม่เห็นพระลักษณะ ๒ ประการ เห็นแต่พระลักษณะ ๓๐ ประการ พระมุนีทรงแสดงพระคุหยฐานอันเร้นลับอยู่ในฝัก ด้วยฤทธิ์ และพระชินเจ้าทรงแสดงพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณและพระนาสิก ทรงแผ่พระชิวหาปกปิดถึงที่สุดพระนลาตทั้งสิ้น ข้าพระองค์ได้เห็นพระลักษณะของพระองค์ บริบูรณ์พร้อมด้วยพยัญชนะ จึงลงความสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธเจ้าแน่ แล้วบวชพร้อมด้วยพวกศิษย์
               ข้าพระองค์พร้อมด้วยศิษย์ ๓๐๐ คนออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายบวชแล้วยังไม่ถึงกึ่งเดือน ได้บรรลุถึงความดับทุกข์ทั้งหมด ข้าพระองค์ทั้งหลายร่วมกันทำกรรม ในบุญเขตอันยอดเยี่ยม ท่องเที่ยวไปร่วมกัน คลายกิเลสได้ร่วมกัน เพราะได้ถวายไม้กลอนทั้งหลาย ข้าพระองค์จึงอยู่ในธรรมเป็นอันมาก เพราะกุศลที่ได้ทำแล้วนั้น
               ข้าพระองค์ย่อมได้เหตุ ๘ ประการ คือข้าพระองค์เป็นผู้อันเขาบูชาในทิศทั้งหลาย ๑ โภคสมบัติของข้าพระองค์นับไม่ถ้วน ๑ ข้าพระองค์เป็นที่พึ่งของคนทั้งปวง ๑ ความสะดุ้งหวาดเสียวไม่มีแก่ข้าพระองค์ ๑ ความป่วยไข้ไม่มีแก่ข้าพระองค์ ๑ ข้าพระองค์ย่อมรักษาอายุได้ยืนนาน ๑ ข้าพระองค์เป็นผู้มีผิวพรรณละเอียดอ่อน เมื่ออยู่ในที่ฝนตก ๑ เพราะได้ถวายไม้กลอน ๘ อันข้าพระองค์จึงได้อยู่ในหมวดธรรม อีกข้อหนึ่งคือปฏิสัมภิทาและอรหัต นี้เป็นข้อที่ ๘ ของข้าพระองค์.
               ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพระองค์มีธรรมเครื่องอยู่อันอยู่จบหมดแล้ว ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ เป็นบุตรของพระองค์ชื่อว่าอัฏฐโคปานสี. เพราะได้ถวายเสา ๕ ต้น ข้าพระองค์จึงอยู่ในธรรมเป็นอันมาก ด้วยกุศลกรรมที่ทำแล้วนั้น
               ข้าพระองค์ย่อมได้เหตุ ๕ ประการ คือข้าพระองค์เป็นผู้ไม่หวั่นไหวด้วยเมตตา ๑ มีโภคสมบัติไม่รู้จักพร่อง ๑ มีถ้อยคำควรเชื่อถือได้ โดยที่ข้าพระองค์ไม่ต้องกำจัด ๑ จิตของข้าพระองค์ไม่หวาดกลัว ๑ ข้าพระองค์ไม่เป็นเสี้ยนหนามต่อใครๆ ๑ ด้วยกุศลธรรมที่ทำแล้วนั้น ข้าพระองค์จึงเป็นผู้ปราศจากมลทินในพระศาสนา.
               ข้าแต่พระมหามุนีวีรเจ้า ภิกษุสาวกของพระองค์มีความเคารพ มีความยำเกรง ได้ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ ถวายบังคมพระองค์ ข้าพระองค์ได้ทำบัลลังก์อันทำอย่างสวยงามแล้ว จัดตั้งไว้ในศาลา ด้วยกุศลกรรมที่ทำไว้นั้น ข้าพระองค์ย่อมได้เหตุ ๕ ประการ คือย่อมเกิดในสกุลสูง มีโภคสมบัติมาก ๑ เป็นผู้มี สมบัติทั้งปวง ๑ ไม่มีความตระหนี่ ๑ เมื่อข้าพระองค์ปรารถนาจะไป บัลลังก์ก็ย่อมตั้งรออยู่ ๑ ย่อมไปสู่ที่ปรารถนาพร้อมด้วยบัลลังก์อันประเสริฐ ๑ เพราะการถวายบัลลังก์นั้น ข้าพระองค์กำจัดความมืดได้ทั้งหมด
               ข้าแต่พระมหามุนี พระเถระผู้บรรลุอภิญญาและพละทั้งปวง ถวายบังคมพระองค์ ข้าพระองค์ทำกิจทั้งปวงอันเป็นกิจของผู้อื่นและของตนเสร็จแล้ว ด้วยกุศลกรรมที่ทำแล้วนั้น ข้าพระองค์ได้เข้าไปสู่บุรีอันไม่มีภัย. ข้าพระองค์ได้ถวายเครื่องบริโภคในศาลาที่สร้างสำเร็จแล้ว ด้วยกุศลกรรมที่ทำแล้วนั้น ข้าพระองค์ได้เข้าถึงความเป็นผู้ประเสริฐ.
               ผู้ฝึกเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลก ผู้ฝึกเหล่านั้นย่อมฝึกช้างและม้า ย่อมให้ทำเหตุต่างๆ นานาแล้วฝึกด้วยความทารุณ ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า พระองค์หาได้ฝึกชายและหญิงเหมือนอย่างนั้นไม่ พระองค์ทรงฝึกในวิธีฝึกอันสูงสุด โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ใช้ศาสตรา พระมุนีทรงสรรเสริญคุณแห่งทาน ทรงฉลาดในเทศนาและพระมุนีตรัสปัญหาข้อเดียว ยังคน ๓๐๐ คนให้ตรัสรู้ได้ ข้าพระองค์ทั้งหลายอันพระองค์ผู้เป็นสารถีฝึกแล้ว พ้นวิเศษแล้ว ไม่มีอาสวะ บรรลุอภิญญาและพละทั้งปวง ดับแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ.
               ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ ข้าพระองค์ได้ถวายทานใดในกาลใด ด้วยทานนั้น ภัยทั้งปวงล่วงพ้นไปแล้ว นี้เป็นผลแห่งการถวายศาลา ข้าพระองค์ได้เผากิเลสทั้งหลายแล้ว ...ฯลฯ ... พระพุทธศาสนา ข้าพระองค์ได้ทำเสร็จแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๓๙๔

               ก็ท่านพระเสลเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดา เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตผล จึงกล่าวคาถาว่า
                                   ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระจักษุ นับแต่วันที่
                         ข้าพระองค์ทั้งหลายถึงสรณคมน์ ล่วงไปแล้วได้ ๗ วัน
                         ครบ ๘ วันเข้าวันนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นผู้มีอินทรีย์
                         อันฝึกแล้ว ในศาสนาของพระองค์ ดังนี้.

               คำอันเป็นคาถานั้นมีความว่า
               ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระจักษุด้วยจักษุ ๕ เพราะเหตุที่ในวันที่ ๘ อันผ่านไปแล้วจากวันนี้ พวกข้าพระองค์ได้ถึงสรณะนั้น เพราะฉะนั้น พวกข้าพระองค์ได้เป็นผู้ฝึกแล้วด้วยการฝึกในศาสนาของพระองค์ได้ ๗ วัน น่าอัศจรรย์ อานุภาพแห่งสรณคมน์ของพระองค์.
               เบื้องหน้าแต่นั้นไปได้ชมเชย (พระศาสดา) ด้วยคาถา ๒ คาถานี้ว่า
                                   พระองค์เป็นผู้ตื่นแล้ว และทรงปลุกผู้อื่นให้ตื่นอีกด้วย
                         พระองค์เป็นครูผู้สั่งสอนทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย เป็น
                         จอมปราชญ์ ทรงครอบงำมารและเสนามาร ทรงตัดอนุสัยได้
                         แล้วทรงข้ามห้วงแห่งสังสารวัฏได้แล้ว ยังทรงทำให้หมู่สัตว์
                         ข้ามห้วงแห่งสังสารวัฏได้ด้วย ทรงก้าวล่วงอุปธิได้แล้ว ทรง
                         ทำลายอาสวะทั้งหลายได้แล้ว ทรงเป็นผู้ไม่มีความยึดมั่น
                         ทรงละความขลาดกลัวต่อภัยได้แล้ว ดุจราชสีห์ไม่ครั่นคร้าม
                         ต่อหมู่เนื้อฉะนั้น.

               ในคาถาสุดท้าย ได้ทูลขอถวายบังคมพระศาสดาว่า
                                   ภิกษุ ๓๐๐ รูปนี้ พากันมายืนประณมอัญชลีอยู่พร้อม
                         หน้า ขอพระองค์โปรดทรงเหยียดฝ่าพระบาททั้งสองมาเถิด
                         ภิกษุผู้ประเสริฐทั้งหลายจะขอถวายบังคมพระองค์ผู้เป็น
                         ศาสดา.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตุวํ พุทฺโธ ความว่า พระองค์เท่านั้นเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าในโลกนี้. พระองค์เท่านั้นชื่อว่าเป็นพระศาสดา เพราะทรงสั่งสอนสัตว์ทั้งหลายด้วยประโยชน์ปัจจุบันเป็นต้น. ชื่อว่าเป็นผู้ครอบงำมาร เพราะทรงครอบงำพวกมารทั้งปวง. ชื่อว่าเป็นมุนี เพราะความเป็นผู้รู้.
               บทว่า อนุสเย เฉตฺวา ได้แก่ ตัดอนุสัยมีกามราคะเป็นต้น ด้วยศาสตราคือพระอริยมรรค.
               บทว่า ติณฺโณ ความว่า พระองค์เองทรงข้ามโอฆะใหญ่ คือสงสารได้แล้ว ยังทรงให้เหล่าสัตว์นี้ข้ามไปด้วยหัตถ์คือเทศนา.
               บทว่า อุปธิ ได้แก่ อุปธิทั้งปวงมีขันธูปธิเป็นต้น.
               บทว่า อนุปาทาโน ได้แก่ ทรงละกามุปาทานเป็นต้นได้ทั้งหมด.
               พระเถระครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว พร้อมทั้งบริษัทได้ถวายบังคมพระศาสดาฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาเสลเถรคาถาที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา วีสตินิบาต ๖. เสลเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 389อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 390อ่านอรรถกถา 26 / 391อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=7645&Z=7721
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=7744
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=7744
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :