ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 394อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 395อ่านอรรถกถา 26 / 396อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติงสนิบาต
๑. ปุสสเถรคาถา

               อรรถกถาเถรคาถา ติงสนิบาต               
               อรรถกถาปุสสเถรคาถาที่ ๑               
               ในติงสนิบาต คาถาของท่านพระปุสสเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ปาสาทิเก พหู ทิสฺวา ดังนี้.
               เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               ท่านพระปุสสเถระแม้นี้ เป็นผู้ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้แล้วในภพนั้นๆ ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามัณฑลิกะ มีนามว่าปุสสะ.
               เขาถึงความเจริญวัยแล้ว สำเร็จการศึกษาในชั้นที่พวกขัตติยกุมารจะพึงได้รับการศึกษา เพราะเขาเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย จึงไม่มีใจเกี่ยวข้องในกามคุณทั้งหลาย ได้ฟังธรรมในสำนักของพระมหาเถระรูปหนึ่งแล้วได้มีศรัทธา จึงบวชแล้วเรียนกัมมัฏฐานอันเหมาะสมแก่ความประพฤติ บำเพ็ญภาวนาอยู่เนืองๆ ทำฌานให้บังเกิดขึ้น เริ่มตั้งวิปัสสนามีฌานเป็นบาท ไม่นานนักก็ได้อภิญญา ๖.
               ต่อมาวันหนึ่ง ดาบสคนหนึ่งชื่อว่าปัณฑรโคตร นั่งฟังธรรมในสำนักของพระมหาเถระแล้ว มองเห็นภิกษุหลายรูปผู้สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร มีอินทรีย์อันสำรวมด้วยดีแล้ว มีกายอันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว จึงมีจิตเลื่อมใส คิดว่า ดีจริงหนอ ข้อปฏิบัตินี้พึงตั้งอยู่ในโลกได้นาน ดังนี้ จึงถามพระเถระว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อปฏิบัติจักมีแก่ภิกษุทั้งหลายในอนาคตกาลได้อย่างไรหนอแล.
               เพื่อจะแสดงเนื้อความนั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงได้ตั้งคาถาไว้แต่เบื้องต้นว่า.
                         ฤาษีผู้มีชื่อตามโคตรว่าปัณฑรสะ ได้เห็นภิกษุเป็นอัน
                         มากที่น่าเลื่อมใส มีตนอันอบรมแล้ว สำรวมด้วยดี จึง
                         ได้ถามพระปุสสเถระแล.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาสาทิเก ได้แก่ ผู้สมควรแก่ความเลื่อมใสด้วยข้อปฏิบัติของตน.
               บทว่า พหู ได้แก่ มีจำนวนมากมาย.
               บทว่า ภาวิตตฺเต ได้แก่ มีจิตอันตนอบรมแล้วด้วยสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา.
               บทว่า สุสํวุเต ได้แก่ มีอินทรีย์อันสำรวมแล้วด้วยดี.
               บทว่า อิสิ แปลว่า ดาบส.
               บทว่า ปณฺฑรสโคตฺโต ได้แก่ ผู้มีโคตรเสมอด้วยฤาษีนั้น เพราะเกิดในวงศ์แห่งฤาษีชื่อว่าปัณฑระ.
               บทว่า ปุสฺสสวฺหยํ ได้แก่ อันบุคคลพึงเรียกด้วยเสียงว่าปุสสะ. อธิบายว่า มีชื่อว่าปุสสะ.
               คาถาที่เป็นคำถามของฤาษีนั้นมีดังนี้ :-
                         ในอนาคตกาล ภิกษุทั้งหลายในพระศาสนานี้ จักมี
                         ความพอใจอย่างไร มีความประสงค์อย่างไร กระผม
                         ถามแล้ว ขอจงบอกความข้อนั้นแก่กระผมเถิด.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กึ ฉนฺทา ความว่า ในอนาคตกาล ภิกษุทั้งหลายในพระศาสนานี้จักมีความพอใจเช่นไร คือจักมีความหลุดพ้นเช่นไร จักมีความหลุดพ้นชนิดเลว หรือว่าจักมีความหลุดพ้นชนิดประณีต.
               บทว่า กิมธิปฺปายา ความว่า จักมีความประสงค์เช่นไร คือจักมีอัธยาศัยเช่นไร จักมีอัธยาศัยเศร้าหมองอย่างไร หรือว่าจักมีอัธยาศัยอันผ่องแผ้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง ความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำ ชื่อว่าฉันทะ เพราะฉะนั้นจึงมีอธิบายว่า ความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำของพวกฤาษีเหล่านั้น เป็นเช่นไร. ความประสงค์ก็คืออัธยาศัยนั่นเอง.
               บทว่า กิมากปฺปา คือจักมีความพอใจเช่นไร.
               ก็บทว่า อากปฺปา ความว่า มีวาริตศีลและจาริตศีล ด้วยการถือเอาเพศเป็นต้น.
               บทว่า ภวิสฺสเร แปลว่า จักมี.
               บทว่า ตํ เม ความว่า ดาบสเชื้อเชิญพระเถระว่า ท่านเป็นผู้อันเราถามถึงประเภทแห่งความประสงค์ ความพอใจของภิกษุทั้งหลาย ในอนาคตกาล ขอจงบอก คือจงกล่าวเนื้อความนั้นแก่เราเถิด.
               พระเถระเมื่อจะบอกเนื้อความนั้นแก่ดาบสนั้น เพื่อจะชักชวนในการฟังโดยเคารพก่อน จึงกล่าวคาถาว่า :-
                         ดูก่อนปัณฑรสฤาษี ขอเชิญฟังคำของอาตมา จงจำคำ
                         ของอาตมาให้ดี อาตมาจะบอกซึ่งข้อความที่ท่านถาม
                         ถึงอนาคตกาล.

               เนื้อความแห่งบทคาถานั้นว่า
               ฤาษีชื่อปัณฑรสะผู้เจริญ ท่านถามเรื่องใดกะเรา เราจักกล่าวเรื่องนั้นที่เป็นอนาคตกาลแก่ท่าน แต่ท่านจงฟังคำของเราผู้กำลังกล่าว คือจงใคร่ครวญโดยเคารพ จากการแสดงเนื้อความในอนาคตกาล และจากอันนำมาซึ่งความสังเวชเถิด.
               ลำดับนั้น พระเถระมองเห็นตามความเป็นจริง ซึ่งความเป็นไปของพวกภิกษุ และพวกนางภิกษุณีอย่างแจ่มแจ้งด้วยอนาคตังสญาณแล้ว.
               เมื่อจะบอกแก่ดาบสนั้น จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
                         ในกาลข้างหน้า ภิกษุเป็นอันมาก จักเป็นคนมักโกรธ
               มักผูกโกรธไว้ ลบหลู่คุณท่าน หัวดื้อ โอ้อวด ริษยา มีวาทะ
               ต่างๆ กัน จักเป็นผู้มีมานะในธรรมที่ยังไม่รู้ทั่วถึง คิดว่าตื้น
               ในธรรมที่ลึกซึ้ง เป็นคนเบา ไม่เคารพธรรม ไม่มีความเคารพ
               กันและกัน
                         ในกาลข้างหน้า โทษเป็นอันมากจักเกิดขึ้นในหมู่
               สัตวโลก ก็เพราะภิกษุทั้งหลายผู้ไร้ปัญญา จักทำธรรมที่พระ
               ศาสดาทรงแสดงแล้วนี้ให้เศร้าหมอง ทั้งพวกภิกษุที่มีคุณอัน
               เลว โวหารจัด แกล้วกล้า มีกำลังมาก ปากกล้า ไม่ได้ศึกษา
               เล่าเรียน ก็จักมีขึ้นในสังฆมณฑล
                         ภิกษุทั้งหลายในสังฆมณฑล แม้ที่มีคุณความดี มีโวหาร
               โดยสมควรแก่เนื้อความ มีความละอายบาป ไม่ต้องการอะไรๆ
               ก็จักมีกำลังน้อย
                         ภิกษุทั้งหลายในอนาคตที่ทรามปัญญาก็จะพากันยินดี
               เงินทอง ไร่นา ที่ดิน แพะ แกะและคนใช้หญิงชาย จักเป็นคน
               โง่มุ่งแต่จะยกโทษผู้อื่น ไม่ดำรงมั่นอยู่ในศีล ถือตัว โหดร้าย
               เที่ยวยินดีแต่การทะเลาะวิวาท จักมีใจฟุ้งซ่าน นุ่งห่มแต่จีวร
               ที่ย้อมสีเขียวแดง เป็นคนลวงโลก กระด้าง เป็นผู้แส่หาแต่ลาภ
               ผล เที่ยวชูเขาคือมานะ ทำตนดังพระอริยเจ้าท่องเที่ยวไปอยู่
               เป็นผู้แต่งผมด้วยน้ำมัน ทำให้มีเส้นละเอียด เหลาะแหละ ใช้
               ยาหยอดและทาตา มีร่างกายคลุมด้วยจีวรที่ย้อมด้วยสีงาสัญจร
               ไปตามตรอกน้อยใหญ่ จักพากันเกลียดชังผ้าอันย้อมด้วยน้ำ
               ฝาดเป็นของไม่น่าเกลียด พระอริยเจ้าทั้งหลายผู้หลุดพ้นแล้ว
               ยินดียิ่งนักเป็นธงชัยของพระอรหันต์ พอใจแต่ในผ้าขาวๆ จัก
               เป็นผู้มุ่งแต่ลาภผล เป็นคนเกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม
               เห็นการอยู่ป่าอันสงัดเป็นความลำบาก จักใคร่อยู่ในเสนาสนะ
               ที่ใกล้บ้าน
                         ภิกษุเหล่าใดยินดีมิจฉาชีพจักได้ลาภเสมอๆ จักพากัน
               ประพฤติตามภิกษุเหล่านั้น (เที่ยวคบหาราชสกุลเป็นต้น เพื่อ
               ให้เกิดลาภแก่ตน) ไม่สำรวมอินทรีย์เที่ยวไป
                         อนึ่ง ในอนาคตกาล ภิกษุทั้งหลายจะไม่บูชาพวกภิกษุ
               ที่มีลาภน้อย จักไม่สมคบภิกษุที่เป็นนักปราชญ์ มีศีลเป็นที่รัก
               จักทรงผ้าสีแดงที่ชนชาวมิลักขะชอบย้อมใช้ พากันติเตียนผ้า
               อันเป็นธงชัยของตนเสีย บางพวกก็นุ่งห่มผ้าสีขาวอันเป็นธง
               ของพวกเดียรถีย์
                         อนึ่ง ในอนาคตกาล ภิกษุเหล่านั้นจักไม่เคารพในผ้า
               กาสาวะ จักไม่พิจารณาในอุบายอันแยบคาย บริโภคผ้ากาสาวะ
               เมื่อทุกข์ครอบงำถูกลูกศรแทงเข้าแล้ว ก็ไม่พิจารณาโดยแยบ
               คาย แสดงอาการยุ่งยากในใจออกมา มีแต่เสียงโอดครวญอย่าง
               ใหญ่หลวง
                         เปรียบเหมือนช้างฉัททันต์ได้เห็นผ้ากาสาวะอันเป็น
               ธงชัยของพระอรหันต์ที่นายโสณุตระพรานนุ่งห่มไปในคราว
               นั้น ก็ไม่กล้าทำร้าย ได้กล่าวคาถาอันประกอบด้วยประโยชน์
               มากมายว่า
                         ผู้ใดยังมีกิเลสดุจน้ำฝาด ปราศจากทมะและสัจจะจักนุ่ง
               ผ้ากาสาวะ ผู้นั้นย่อมไม่ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ ส่วนผู้ใดคาย
               กิเลสดุจน้ำฝาดออกแล้ว ตั้งมั่นอยู่ในศีลอย่างมั่นคง ประกอบ
               ด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นจึงสมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะโดยแท้
                         ผู้ใดมีศีลวิบัติ มีปัญญาทราม ไม่สำรวมอินทรีย์ กระทำ
               ตามความใคร่อย่างเดียว มีจิตฟุ้งซ่าน ไม่ขวนขวายในทางที่
               ควร ผู้นั้นไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ ส่วนผู้ใดสมบูรณ์ด้วย
               ศีล ปราศจากราคะ มีใจตั้งมั่น มีความดำริในใจอันผ่องใส ผู้
               นั้นสมควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะโดยแท้
                         ผู้ใดไม่มีศีล ผู้นั้นเป็นคนพาล มีจิตใจฟุ้งซ่าน มีมานะ
               ฟูขึ้น เหมือนไม้อ้อ ย่อมสมควรจะนุ่งห่มแต่ผ้าขาวเท่านั้น
               จักควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะอย่างไร
                         อนึ่ง ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลายในอนาคตจักเป็นผู้มีจิต
               ใจชั่วร้าย ไม่เอื้อเฟื้อ จักข่มขี่ภิกษุทั้งหลายผู้คงที่มีเมตตาจิต
               แม้ภิกษุทั้งหลายที่เป็นคนโง่เขลา มีปัญญาทราม ไม่สำรวม
               อินทรีย์ กระทำตามความใคร่
                         ถึงพระเถระให้ศึกษาการใช้สอยผ้าจีวรก็ไม่เชื่อฟัง พวก
               ภิกษุที่โง่เขลาเหล่านั้นอันพระเถระทั้งหลายให้การศึกษาแล้ว
               เหมือนอย่างนั้น จักไม่เคารพกันและกัน ไม่เอื้อเฟื้อในพระ
               อุปัชฌายาจารย์ จักเป็นเหมือนม้าพิการ ไม่เอื้อเฟื้อนายสารถี
               ฉะนั้น
                         ในกาลภายหลังแต่ตติยสังคายนา ภิกษุและภิกษุณีทั้ง
               หลายในอนาคต จักปฏิบัติอย่างนี้. ภัยอย่างใหญ่หลวงที่จะทำ
               อันตรายต่อข้อปฏิบัติ ย่อมมาในอนาคตอย่างนี้ก่อน
                         ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ว่าง่าย จงพูดแต่ถ้อยคำที่สละ
               สลวย มีความเคารพกันและกัน มีจิตเมตตากรุณาต่อกัน จง
               สำรวมในศีล ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว บากบั่นอย่าง
               มั่นเป็นนิตย์ ขอท่านทั้งหลายจงเห็นความประมาทโดยความ
               เป็นภัย และจงเห็นความไม่ประมาทโดยความเป็นของปลอด
               ภัย แล้วจงอบรมอัฏฐังคิกมรรค เมื่อทำได้ดังนี้แล้วย่อมจะบรรลุ
               พระนิพพานอันเป็นทางไม่เกิดไม่ตาย.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกธนา แปลว่า เป็นผู้มีความโกรธเป็นปกติ.
               พึงทราบความสัมพันธ์ในบทว่า ภวิสฺสนฺติ อนาคเต ดังต่อไปนี้ :-
               ถามว่า เรื่องอย่างนั้น ไม่ได้มีแล้วในกาลแห่งพระเถระหรือ?
               ตอบว่า ไม่ได้มีแล้ว หามิได้ ก็ในกาลนั้น เพราะพวกท่านเป็นผู้มากไปด้วยกัลยาณมิตร จึงมีผู้กล่าวสอน ผู้ฉลาดในการสอนมากมายในสพรหมจารี เมื่อกิเลสทั้งหลายมีกำลัง เพราะท่านมากไปด้วยการไตร่ตรองพิจารณา พวกภิกษุโดยมากจึงไม่ได้มีความโกรธ; ความโกรธอย่างยิ่งจักมีในปริยายที่ตรงกันข้ามในกาลต่อไป เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวคำว่า อนาคเต เป็นต้นไว้.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้แล.
               บทว่า อุปนาหี ได้แก่ ผู้มีปกติเข้าไปผูกความอาฆาต ในเพราะอาฆาตวัตถุ, หรือชื่อว่า อุปนาหี เพราะเป็นแดนเกิดแห่งการผูกความอาฆาต.
               พึงทราบอรรถในข้อนั้นดังนี้ :-
               พยาบาทที่มีมาในกาลก่อน ชื่อว่าความโกรธ, พยาบาทที่มีในกาลต่อๆ ไป ชื่อว่าความผูกโกรธ.
               อีกอย่างหนึ่ง โทสะที่เป็นไปแล้วครั้งเดียว ชื่อว่าความโกรธ, ที่เป็นไปแล้วหลายครั้ง ชื่อว่าความผูกโกรธไว้. ชื่อว่าผู้มีความลบหลู่ เพราะลบหลู่คือล้างผลาญคุณความดีที่มีอยู่แก่ชนเหล่าอื่นเสีย, หรือชื่อว่าผู้มีความลบหลู่ เพราะลบหลู่คือล้างผลาญคุณความดีเหล่านั้นที่มีอยู่แก่ชนเหล่านั้นเสียหมด ดุจการลบหลู่น้ำด้วยการเช็ดถูน้ำฉะนั้น.
               ชื่อว่า ถมฺภี เพราะคนเหล่านั้นเป็นคนหัวดื้อมีความถือตัวจัดเป็นลักษณะ.
               บทว่า สฐา ได้แก่ ผู้ประกอบพร้อมด้วยความโอ้อวดมีการประกาศคุณที่ไม่มีอยู่ในตัวเป็นลักษณะ.
               บทว่า อิสฺสุกี ได้แก่ ผู้ประกอบพร้อมด้วยความริษยาอันมีการทำลายสมบัติของผู้อื่นเป็นลักษณะ.
               บทว่า นานาวาทา ความว่า มีวาทะที่ทำลายกันและกัน มีทิฏฐิที่ทำลายกันและกัน และทำการทะเลาะกันและกัน.
               บทว่า อญฺญาตมานิโน ธมฺเม คมฺภีเร ตีรโคจรา ความว่า เป็นผู้มีมานะอย่างนี้ในพระสัทธรรมที่ลึกซึ้ง ส่องได้ยากที่ตนเองยังไม่รู้ทั่วถึง ว่าตนเองรู้แล้ว ว่าตนเองเห็นแล้ว, ต่อจากนั้นนั่นเองก็มีความคิดว่าตื้นต่ำต้อย เพราะพระสัทธรรมนั้นเป็นไปในส่วนที่ต่ำต้อย.
               บทว่า ลหุกา ได้แก่ เป็นคนหวั่นไหว เพราะมีความเบาเป็นสภาวะ.
               บทว่า อครู ธมฺเม ได้แก่ ปราศจากความเคารพในพระสัทธรรม.
               บทว่า อญฺญมญฺญมคารวา ได้แก่ ไม่มีความยำเกรงในกันและกัน คือปราศจากความเคารพที่หนักแน่นในพระสงฆ์และในหมู่เพื่อนสพรหมจารี.
               บทว่า พหู อาทีนวา ได้แก่ มีประการดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว และโทษเป็นอเนกมากมายที่กล่าวอยู่ จักเกิดเป็นอันตราย.
               บทว่า โลเก ได้แก่ ในสัตวโลก.
               บทว่า อุปฺปชฺชิสฺสนฺตฺยนาคเต ความว่า จักปรากฏมีในอนาคตกาล.
               บทว่า สุเทสิตํ อิมํ ธมฺมํ ความว่า จักทำปริยัติสัทธรรมนี้อันไม่วิปริตด้วยดีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วโดยประการที่งดงามมีงามในเบื้องต้นเป็นอาทิ.
               บทว่า กิเลสิสฺสนฺติ ความว่า จักทำให้เศร้าหมอง ให้ถูกกิเลสประทุษร้ายอยู่ คือจักทำรูปธรรมและอรูปธรรมอันละเอียดสุขุมให้ปะปนด้วยอสัทธรรมที่เป็นทุจริตและสังกิเลส โดยนัยเป็นต้นว่า ที่เป็นอาบัติว่าไม่เป็นอาบัติ, ที่เป็นครุกาบัติว่าเป็นลหุกาบัติ ดังนี้, ได้แก่จักทำให้เศร้าหมอง คือจักทำให้หม่นหมองด้วยสังกิเลสคือตัณหา แม้ยิ่งกว่าทิฏฐิและสังกิเลสทั้งสองอย่าง.
               บทว่า ทุมฺมติ ได้แก่ ผู้ไร้ปัญญา.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักมีในอนาคตกาลอันยาวนาน ฯลฯ เมื่อจะบอกอภิธรรมกถา เวทัลลกถา หยั่งลงสู่ธรรมฝ่ายดำอยู่ จักไม่รู้ได้เลย ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า คุณหีนา ได้แก่ ผู้ทุศีลปราศจากคุณมีศีลเป็นต้นและไม่มีความละอาย.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า คุณหีนา ได้แก่ ผู้ทราบจากคุณมีพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามแล้วเป็นต้น คือไม่มีความกตัญญูในพระธรรมวินัย.
               บทว่า สงฺฆมฺหิ แปลว่า ในท่ามกลางสงฆ์.
               บทว่า โวหรนฺตา ได้แก่ กล่าวอยู่ คือพูดอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยถ้อยคำที่จัดจ้านอยู่ในท่ามกลางสงฆ์.
               บทว่า วิสารทา ได้แก่ ไม่กลัว คึกคะนอง.
               บทว่า พลวนฺโต ได้แก่ มีกำลังมาก โดยกำลังที่เป็นฝ่ายตรงข้าม.
               บทว่า มุขรา ได้แก่ มีปากกล้า มีวาทะแข็งกระด้าง.
               บทว่า อสฺสุตาวิโน ได้แก่ ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน คือเป็นผู้ทรงคุณ โดยอาศัยลาภสักการะและความสรรเสริญอย่างเดียว จักเป็นผู้มีกำลังตั้งมั่นในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อประโยชน์ที่ตนต้องการอย่างนี้ว่า สิ่งที่เป็นธรรมว่าเป็นอธรรม และสิ่งที่เป็นอธรรมว่าเป็นธรรม, สิ่งที่เป็นวินัยว่าไม่ใช่วินัย และสิ่งที่ไม่ใช่วินัยว่าเป็นวินัย ดังนี้.
               บทว่า คุณวนฺโต ได้แก่ ผู้สมบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น.
               บทว่า โวหรนฺตา ยถาตฺถโต ได้แก่ แสดงโดยสมควรแก่เนื้อความ คือไม่ยอมให้เนื้อความวิปริตอย่างนี้ว่า สิ่งที่เป็นธรรมก็ว่าเป็นธรรม, สิ่งที่เป็นอธรรมก็ว่าเป็นอธรรม, สิ่งที่เป็นวินัยก็ว่าเป็นวินัย, สิ่งที่ไม่ใช่วินัยก็ว่าไม่ใช่วินัย ดังนี้.
                         ทุพฺพลา เต ภวิสฺสนฺตีติ ปริสายํ อลชฺชุสฺสนฺนตาย
               พลวิรหิตา เต ภวิสฺสนฺติ เตสํ วจนํ น ติฏฺฐิสฺสติ ฯ
                         หิรีมนา อนตฺถิกาติ หิรีมนฺโต เกนจิ อนตฺถิกา ฯ เต
               หิ ธมฺเมน วตฺตุํ สมตฺถาปิ ปาปชิคุจฺฉตาย อปฺปกิจฺจตาย
               จ เกหิจิ วิโรธํ อกโรนฺตา อตฺตโน วาทํ ปติฏฺฐาเปตุํ น
               วายมนฺตา ทิฏฺฐาวิกมฺมํ วา อธิฏฺฐานํ วา อกตฺวา ตุณฺหี
               โหนฺติ ฯ

               บทว่า ทุพฺพลา เต ภวิสฺสนฺติ ความว่า ภิกษุเหล่านั้นจักเป็นผู้ปราศจากกำลัง เพราะค่าที่พวกตนหนาไปด้วยความไม่ละอาย ในท่ามกลางบริษัท, ถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้น จักไม่ตั้งอยู่ได้.
               บทว่า หิรีมนา อนตฺถิกา ได้แก่ มีความละอาย ไม่ต้องการด้วยอะไรๆ.
               จริงอยู่ ภิกษุเหล่านั้นแม้สามารถเพื่อจะกล่าวด้วยธรรม ไม่กระทำความทำร้ายด้วยเหตุบางอย่าง เพราะค่าที่ตนเป็นผู้รังเกียจบาป และเพราะค่าที่ตนเป็นผู้มีกิจน้อย ไม่ทำความพยายามเพื่อจะยึดมั่นวาทะของตน พากันนิ่งเสีย ไม่ยอมทำการเปิดเผย หรือความตั้งใจแน่วแน่.
               บทว่า รชตํ ได้แก่ รูปิยะ.
               แม้กหาปณะ โลหะและมาสกเป็นต้น ก็พึงเห็นว่าท่านสงเคราะห์ด้วยรูปิยะนั้น.
               บทว่า ชาตรูปํ ได้แก่ ทอง.
               แม้แก้วมณีและแก้วมุกดาเป็นต้น ก็พึงเห็นว่า ท่านสงเคราะห์ด้วยทองนั้น.
               วา ศัพท์ เป็นสมุจจยัตถะ ดุจในประโยคเป็นต้นว่า อปทา วา ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง บาลีว่า รชตชาตรูปญฺจ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า เขตฺตํ ได้แก่ ปุพพัณชาติและอปรัณชาติ ย่อมงอกงามในที่ใด ที่นั้นชื่อว่านา, ภูมิภาคที่มิได้กระทำเพื่อประโยชน์อย่างนั้น ชื่อว่าสวน.
               บทว่า อเชฬกํ ได้แก่ แพะเท่านั้น ชื่อว่าเอฬกา, เว้นแพะและแกะเหล่านั้นเสีย สัตว์เลี้ยงที่เหลือ ชื่อว่าอชา.
               จริงอยู่ ในที่นี้ แม้โคและกระบือเป็นต้น ท่านก็ทำการสงเคราะห์ด้วยอเชฬกศัพท์เหมือนกัน.
               บทว่า ทาสิทาสญฺจ ได้แก่ ทาสหญิงและทาสชาย.
               บทว่า ทุมฺเมธา ได้แก่ ผู้ไม่รู้ คือเมื่อไม่รู้จักสิ่งที่ควรและไม่ควร สิ่งที่เหมาะและไม่เหมาะ (มุ่ง) เพื่อประโยชน์ตน.
               บทว่า สาทิยิสฺสนฺติ แปลว่า จักรับ.
               บทว่า อุชฺฌานสญฺญิโน ได้แก่ คิดแต่จะมองดูผู้อื่นอยู่หลังตน หรือมีปกติยกโทษแม้ในที่ที่ไม่ควรจะยกโทษ.
               บทว่า พาลา ได้แก่ ประกอบพร้อมแล้วด้วยพาลลักษณะ โดยมีความคิดแต่เรื่องที่คิดชั่วเป็นต้น. ต่อแต่นั้นก็ไม่ดำรงมั่นอยู่ในศีล คือมีจิตไม่ตั้งมั่นในจตุปาริสุทธิศีล.
               บทว่า อุนฺนฬา ได้แก่ ยกตัวถือตัว.
               บทว่า วิจริสฺสนฺติ ความว่า จักยกธงคือมานะ เที่ยวไป.
               บทว่า กลหาภิรตา มคา ความว่า เพราะตนเป็นผู้มากไปด้วยสารัมภะ จึงเป็นผู้ขวนขวายในคำกล่าวโต้ตอบ เที่ยวยินดีแต่ในการทะเลาะวิวาทอย่างเดียว มุ่งแต่ประโยชน์ตน ยินดีแต่ในการแสวงหาอาหาร ชอบเบียดเบียนแต่ผู้อื่นที่อ่อนแอ ราวกะมิคะฉะนั้น.
               บทว่า อุทฺธตา ได้แก่ ประกอบพร้อมแล้วด้วยจิตที่ฟุ้งซ่าน คือปราศจากจิตที่เป็นเอกัคคตา.
               บทว่า นีลจีวรปารุตา ได้แก่ นุ่งห่มแต่จีวรสีเขียว ปนสีแดงเพราะย้อมไม่สมควร คือเที่ยวนุ่งและห่มจีวรเช่นนั้น.
               บทว่า กุหา ได้แก่ เป็นคนลวงโลกด้วยวัตถุเครื่องล่อลวงมีการร่ายมนต์เป็นต้น คือทำการล่อลวง เพื่อปรารถนาจะยกย่องคุณที่ไม่มีอยู่ ให้ปรากฏเป็นสิ่งประหลาดแก่ชนเหล่าอื่น.
               บทว่า ถทฺธา ได้แก่ มีใจกระด้าง คือมีใจกักขฬะด้วยความโกรธและมานะ.
               บทว่า ลปา ได้แก่ เป็นผู้มักเจรจา คือเป็นผู้มีความประพฤติล่อลวงโลก.
               อธิบายว่า เป็นผู้ใช้วาทะชักชวนพวกผู้ถวายปัจจัย กับพวกมนุษย์ผู้มีใจเลื่อมใส ให้พูดว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้ามีความต้องการด้วยสิ่งใด, หรือเป็นผู้ล่อลวงเพื่อต้องการปัจจัย ด้วยอำนาจการใช้วาจาที่วางแผนมาแล้ว และด้วยอำนาจกลอุบายโกง.
               บทว่า สิงฺคี ได้แก่ เขาสัตว์ ในข้อนั้นเป็นไฉน เขาสัตว์มีอธิบายว่า ผู้ที่ประกอบพร้อมด้วยกิเลสอันปรากฏชัด เช่นกับเขาสัตว์ ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ความรักใคร่ ความเฉียบแหลม ความฉลาด ความตระเตรียม ความไตร่ตรองรอบด้าน ดังนี้ เที่ยวชูเขาไป.
               คำว่า อริยา วิย นี้ เป็นคำแสดงถึงเนื้อความแห่งบทว่า กุหา นั้นนั่นเอง.
               ก็พระเถระ เมื่อจะแสดงว่าพวกภิกษุผู้ลวงโลกตั้งตนดังพระอริยเจ้า จึงกล่าวว่า ทำตนดังพระอริยเจ้าท่องเที่ยวไปอยู่ ดังนี้.
               บทว่า เตลสณฺเฐหิ ได้แก่ เป็นผู้แต่งเส้นผมด้วยน้ำมัน ขี้ผึ้งหรือด้วยน้ำมันชนิดน้ำ.
               บทว่า จปลา ได้แก่ ประกอบด้วยความกลับกลอกมีการแต่งกายและแต่งบริขารเป็นต้น.
               บทว่า อญฺชนกฺขิกา ได้แก่ มีนัยน์ตาอันหยอดแล้วด้วยการหยอดเพื่อประดับตกแต่ง.
               บทว่า รถิยาย คมิสฺสนฺติ ความว่า สัญจรไปข้างโน้นข้างนี้ ตามถิ่นที่จะเข้าไปสู่สกุลที่เป็นตรอกน้อยใหญ่ เพื่อภิกษาจาร.
               บทว่า ทนฺตวณฺณิกปารุตา ได้แก่ มีร่างกายอันคลุมด้วยจีวรที่ย้อมด้วยสีงา.
               บทว่า อเชคุจฺฉํ ได้แก่ พึงพากันเกลียดชัง.
               บทว่า วิมุตฺเตหิ ได้แก่ พระอริยเจ้าทั้งหลาย.
               บทว่า สุรตฺตํ ความว่า จักพากันเกลียดชังผ้ากาสาวะอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ที่ย้อมแล้วด้วยดี ด้วยเครื่องย้อมอันสมควร เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเคยประพฤติมาแล้ว.
               เพราะเหตุไร? เพราะพอใจแต่ในผ้าขาวๆ คือถึงความพอใจยินดี.
               จริงอยู่ คำนี้เป็นเหตุของการคลุมร่างกายด้วยผ้าสีงา.
               ก็ภิกษุเหล่านั้น เมื่อพากันยินดีพอใจผ้าสีขาว ย่อมนุ่งห่มผ้าสีงา เป็นเหตุให้รู้ว่า เมื่อยึดถือผ้าสีขาวตลอดกาล ก็เป็นเพียงดังสละเพศฉะนั้น.
               บทว่า ลาภกามา ได้แก่ มีความยินดีแต่ในลาภผล. ชื่อว่าเป็นคนเกียจคร้าน เพราะประกอบแต่ความเกียจคร้าน แม้ในการประพฤติเที่ยวไปเพื่อภิกษา.
               ชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียรเลวทราม เพราะไม่มีจิตคิดอุตสาหะเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม.
               บทว่า กิจฺฉนฺตา ได้แก่ มีความลำบาก. อธิบายว่า ลำบาก คือลำบากใจเพื่อจะอยู่ในป่าอันสงัด.
               บทว่า คามนฺเตสุ ได้แก่ ในเสนาสนะท้ายหมู่บ้าน คือในเสนาสนะที่ใกล้หมู่บ้าน หรือในเสนาสนะใกล้ๆ ประตูบ้าน.
               บทว่า วสิสฺสเร แปลว่า จักอยู่.
               บทว่า เต เตว อนุสิกฺขนฺตา ความว่า ภิกษุเหล่าใดๆ ได้ลาภด้วยการประกอบมิจฉาชีพ ภิกษุเหล่านั้นๆ นั่นแหละจักกลับตัวศึกษาตามคนทั้งหลาย.
               บทว่า ภมิสฺสนฺติ ความว่า แม้ตนเองก็จักกลับตัวคบหาราชสกุลเป็นต้น เพื่อให้เกิดลาภ โดยมิจฉาชีพ เหมือนภิกษุเหล่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บาลีว่า ภชิสฺสนฺติ ดังนี้ก็มี, ความว่า จักคบหา.
               บทว่า อสํยตา ได้แก่ ปราศจากการสำรวมในศีล.
               บทว่า เย เย อลาภิโน ลาภํ ความว่า ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ไม่ได้ลาภ ไม่ได้ปัจจัย เพราะเว้นจากมิจฉาชีพ และเพราะตนเป็นผู้มีบุญน้อย ภิกษุเหล่านั้นจะได้รับการนอบน้อม คือบูชา สรรเสริญ จักไม่มีในกาลนั้น คือในอนาคตกาลเลย.
               บทว่า สุเปสเลปิ เต ธีเร ความว่า จักไม่คบภิกษุเหล่านั้นผู้เป็นนักปราชญ์เพราะสมบูรณ์ด้วยปัญญา แม้มีศีลเป็นที่รักด้วยดี คือในอนาคตกาล ภิกษุทั้งหลายผู้มีลาภก็ย่อมมุ่งแต่ลาภอย่างเดียวเท่านั้น.
               บทว่า มิลกฺขุรชนํ รตฺตํ ได้แก่ ย้อมแล้ว ย้อมด้วยผลมะเดื่อกลายเป็นสีดำ.
               จริงอยู่ บทนี้เป็นบทสมาส, ท่านแสดงถึงการเปล่งเสียงที่ออกทางจมูก เพื่อสะดวกแก่การกล่าวคาถา.
               บทว่า ครหนฺตา สกํ ธชํ ได้แก่ พากันติเตียนผ้ากาสาวะอันเป็นธงชัยของตนเสีย.
               จริงอยู่ ผ้ากาสาวะ ชื่อว่าเป็นธงชัยของพวกบรรพชิตในพระศาสนา.
               บทว่า ติตฺถิยานํ ธชํ เกจิ ความว่า บางพวกรู้ว่าเป็นสมณศากยบุตรอยู่นั่นแล แต่ก็จักนุ่งห่มผ้าขาวอันเป็นธงชัยของพวกเดียรถีย์ผู้มีผ้านุ่งสีขาว.
               บทว่า อคารโว จ กาสาเว ความว่า ความไม่เคารพ คือความไม่นับถือผ้ากาสาวะ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ จักมีแก่ภิกษุเหล่านั้นในอนาคตกาล.
               บทว่า ปฏิสงฺขา จ กาสาเว ความว่า จักไม่มีการใช้สอยผ้ากาสาวะ แม้เพียงการพิจารณา โดยนัยเป็นต้นว่า เราพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงใช้สอยจีวร ดังนี้.
               พระเถระ เมื่อจะชักเอาฉัททันตชาดก๑- ขึ้นเป็นอุทาหรณ์ ในตอนที่ช้างฉัททันต์ทำความเคารพผ้ากาสาวะด้วยคิดว่า ผู้ใช้สอยผ้ากาสาวะ มีความเคารพนับถือผ้ากาสาวะมาก พึงงดเว้นจากทุจริตได้ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า อภิภูตสฺส ทุกฺเขน ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๓๒๗

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สลฺลวิทฺธสฺส ได้แก่ ถูกลูกศรอันอาบด้วยยาพิษอย่างหนาแทงเข้าแล้ว, ต่อแต่นั้นนั่นแล ก็ถูกความทุกข์อย่างใหญ่หลวงครอบงำ.
               บทว่า รุปฺปโต ได้แก่ เพราะถึงความวิการแห่งสรีระ.
               บทว่า มหาโฆรา ความว่า ความกลัว พิจารณาแล้วมากไปด้วยความเคารพ จนไม่ห่วงใยในร่างกายและชีวิต คือไม่อาจจะให้ความคิดเป็นไปในทางอื่นได้ ได้มีแล้วแก่พระยาช้างฉัททันต์.
               ก็พระโพธิสัตว์ในกาลที่เสวยพระชาติเป็นพระยาช้างฉัททันต์ ถูกนายโสณุระพรานผู้ยืนหลบในที่ซ่อนตัว ยิงด้วยลูกศรที่กำซาบด้วยยาพิษแล้ว ถูกทุกข์อย่างใหญ่หลวงครอบงำ จึงจับเขาแล้ว ครั้นพอเห็นผ้ากาสาวะที่คลุมกายเขาเข้า จึงคิดว่าผู้นี้คลุมกายด้วยผ้ากาสาวะ อันเป็นธงชัยของพระอริยเจ้า เราไม่พึงเบียดเบียนเลย ดังนี้แล้วจึงเข้าไปตั้งไว้เฉพาะซึ่งเมตตาจิตในนายพรานนั้นแล้ว แสดงธรรมเป็นเบื้องแรก เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า :-
                         พระยาช้าง ผู้มีจิตไม่ประทุษร้าย ถูกยิงด้วยลูกศร
               อับกำซาบหนาด้วยยาพิษ ได้กล่าวกะนายพรานว่า แน่ะ
               สหายเอ๋ย เพื่อประโยชน์อะไร หรือเพื่อสิ่งใด จึงมุ่งฆ่า
               เรา หรือว่าความพยายามนี้ ท่านทำเพื่อใคร ดังนี้เป็นต้น.

               พระเถระเมื่อจะแสดงเนื้อความนี้จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ฉทฺทนฺโต หิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุรตฺตํ อรหทฺธชํ นี้ ท่านกล่าวหมายถึงผ้ากาสาวะที่นายโสณุระพราน คลุมร่างกายแล้ว.
               บทว่า อภณิ แปลว่า ได้กล่าวแล้ว.
               บทว่า คาถา แปลว่า ซึ่งคาถาทั้งหลาย.
               บทว่า คโช แปลว่า พระยาช้างฉัททันต์.
               บทว่า อตฺโถปสํหิตา ชื่อว่าหิตะ เพราะอิงอาศัยประโยชน์.
               อธิบายว่า ประกอบแล้วด้วยประโยชน์.
               บทว่า อนิกฺกสาโว ในคาถาที่พระยาช้างฉัททันต์กล่าวแล้ว ได้แก่ ชื่อว่ากสาวะ เพราะมีกิเลสดุจน้ำฝาดมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า ปริทหิสฺสติ ความว่า จักใช้สอยด้วยการนุ่งห่มและปูลาด.
               อีกอย่างหนึ่ง บาลีว่า ปริธสฺสติ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า อเปโต ทมสจฺเจน ความว่า ปราศจาก พรากจาก คือสละจากการข่มอินทรีย์และวจีสัจจะที่เป็นฝักฝ่ายแห่งปรมัตถสัจจะ.
               บทว่า น โส ความว่า บุคคลนั้น คือผู้เห็นปานนั้นย่อมไม่ควรเพื่อจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ.
               บทว่า วนฺตกสาวสฺส ความว่า พึงเป็นผู้มีกิเลสดุจน้ำฝาดคายออกแล้ว ทิ้งแล้ว คือละได้แล้วด้วยมรรค ๔.
               บทว่า สีเลสุ คือ ในปาริสุทธิศีล ๔.
               บทว่า สุสมาหิโต แปลว่า ตั้งมั่นแล้วด้วยดี.
               บทว่า อุเปโต ได้แก่ เข้าไปประกอบพร้อมแล้วด้วยการข่มอินทรีย์และด้วยสัจจะมีประการดังที่กล่าวไว้แล้ว.
               บทว่า ส เว ความว่า บุคคลนั้น คือผู้เห็นปานนั้นย่อมควร (เพื่อจะนุ่งห่ม) ผ้ากาสาวะอันมีกลิ่นหอมนั้นโดยส่วนเดียวแท้.
               บทว่า วิปนฺนสีโล คือ ผู้มีศีลขาดแล้ว.
               บทว่า ทุมฺเมโธ ได้แก่ ไม่มีปัญญา คือปราศจากปัญญาเป็นเครื่องที่จะชำระศีล (ให้บริสุทธิ์).
               บทว่า ปากโฏ ได้แก่ ปรากฏ คือประกาศว่า ผู้นี้เป็นคนทุศีล หรือปรากฏคือมีอินทรีย์อันปรากฏแล้ว เพราะเหตุที่ตนมีอินทรีย์อันฟุ้งซ่านแล้ว.
               บทว่า กามการิโย ได้แก่ เพราะขาดจากความสำรวมจึงเป็นผู้ทำตามใจปรารถนา, หรือกระทำตามความใคร่ของกามและของมาร.
               บทว่า วิพฺภนฺตจิตฺโต ได้แก่ ผู้มีจิตฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ มีรูปารมณ์เป็นต้น.
               บทว่า นิสฺสุกฺโก ได้แก่ ไม่ขวนขวาย คือปราศจากธรรมฝ่ายขาว เว้นจากหิริโอตตัปปะ หรือปราศจากการขวนขวายในการบำเพ็ญกุศลธรรมให้ถึงพร้อม.
               บทว่า วีตราโค คือ มีฉันทราคะไปปราศแล้ว.
               บทว่า โอทาตมนสงฺกปฺโป ได้แก่ มีความตรึกในใจสะอาดและบริสุทธิ์ หรือมีความดำริอันไม่ขุ่นมัว.
               บทว่า กาสาวํ กึ กริสฺสติ ความว่า ผู้ใดไม่มีศีล. ผ้ากาสาวะจักสำเร็จประโยชน์แก่ผู้นั้นได้อย่างไรเล่า คือเพศบรรพชิตของเขาจะเป็นเช่นกับถูกแต่งให้วิจิตรภายนอกฉะนั้น.
               บทว่า ทุฏฺฐิจิตฺตา ได้แก่ ผู้มีจิตถูกโทษแห่งกิเลสมีราคะเป็นต้นประทุษร้ายแล้ว.
               บทว่า อนาทรา ได้แก่ จักเป็นผู้ปราศจากความเอื้อเฟื้อ คือไม่มีความเคารพในพระศาสดา ในพระธรรมและในกันและกัน (ในพระสงฆ์).
               บทว่า ตาทีนํ เมตฺตจิตฺตานํ ความว่า ผู้มีหัวใจประกอบพร้อมแล้วด้วยเมตตาภาวนา บรรลุถึงความเป็นผู้คงที่ในอารมณ์มีอิฏฐารมณ์เป็นต้น มีคุณอันโอฬาร เพราะบรรลุพระอรหัตนั้นนั่นแล.
               ก็คำทั้งสองนี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ใช้ลงในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ.
               บทว่า นิคฺคณฺหิสฺสนฺติ ความว่า ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นถูกเบียดเบียนแล้ว ก็จักหลีกไปโดยประการใด จักถูกเบียดเบียนโดยประการนั้น ด้วยความไม่เคารพและความกลัวในตนว่า ภิกษุทั้งหลายเห็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นต้นแล้ว เมื่อจะทำการยกย่อง จักไม่สำคัญพวกเราผู้มีศีลวิบัติเป็นอันมาก.
               บทว่า สิกฺขาเปนฺตาปิ ได้แก่ แม้ให้ศึกษาอยู่.
               จริงอยู่ บัดนี้ ท่านแสดงเป็นกัตตุวาจก ลงในกรรมวาจก.
               บทว่า เถเรหิ ได้แก่ อันพระอาจารย์และอุปัชฌาย์ของตน.
               บทว่า จีวรธารณํ นี้ เป็นเพียงแสดงถึงข้อปฏิบัติของสมณะ ความว่า เพราะฉะนั้น จึงให้ศึกษาอยู่ โดยนัยเป็นต้นว่า เธอพึงก้าวไปอย่างนี้, เธอพึงถอยกลับอย่างนี้ ดังนี้.
               บทว่า น สุณิสฺสนฺติ ความว่า จักไม่ยอมรับฟังโอวาท.
               บทว่า เต ตถา สิกฺขิตา พาลา ความว่า ภิกษุพวกที่โง่เขลาเหล่านั้น แม้อาจารย์และพระอุปัชฌาย์ให้ศึกษาอยู่ก็ไม่ยอมศึกษา เพราะไม่มีความเอื้อเฟื้อ.
               บทว่า นาทิยิสฺสนฺตุปชฺฌาเย ความว่า ไม่ยอมทำความเอื้อเฟื้อในพระอุปัชฌาย์และในพระอาจารย์ คือไม่ดำรงในคำสั่งสอนของพระอุปัชฌาย์เป็นต้นเหล่านั้น.
               ถามว่า เปรียบเหมือนอะไร?
               เปรียบเหมือนม้าพิการ ไม่เอื้อเฟื้อนายสารถีฉะนั้น.
               ความว่า ภิกษุแม้เหล่านั้นย่อมไม่กลัว คือไม่ยินดีในพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ เปรียบเหมือนม้าพิการคือม้าโกง ย่อมไม่เอื้อเฟื้อต่อนายสารถีผู้ฝึกม้า คือไม่ตั้งอยู่ในคำสั่งสอนของนายสารถีนั้นฉะนั้น.
               คำว่า เอวํ เป็นต้นเป็นคำลงท้ายของเรื่องที่กล่าวไว้แล้วนั่นแล.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ แปลว่า โดยประการดังกล่าวไว้แล้ว.
               บทว่า อนาคตทฺธานํ ได้แก่ ในกาลที่ยังไม่มาถึง คือในอนาคตกาล.
               พระเถระเมื่อจะแสดงถึงกาลนั้นนั่นแหละโดยสรุป จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ปตฺเต กาลมฺหิ ปจฺฉิเม ในกาลภายหลังแต่ตติยสังคายนา ดังนี้.
               ก็ปัจฉิมกาลในคำนั้นเป็นไฉน?
               อาจารย์บางพวกตอบว่า ตั้งแต่ตติยสังคายนามา จัดเป็นปัจฉิมกาล, อาจารย์บางพวกไม่รู้คำนั้นเลย
               จริงอยู่ ยุคแห่งพระศาสนามี ๕ ยุค คือวิมุตติยุค สมาธิยุค ศีลยุค สุตยุคและทานยุค.
               บรรดายุคเหล่านั้น ยุคแรกจัดเป็นวิมุตติยุค, เมื่อวิมุตติยุคนั้นอันตรธานแล้ว สมาธิยุคก็เป็นไป, แม้เมื่อสมาธิยุคนั้นอันตรธานแล้ว ศีลยุคก็เป็นไป, แม้เมื่อศีลยุคนั้นอันตรธานแล้ว สุตยุคก็เป็นไปทีเดียว.
               ก็ผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ ประคับประคองปริยัตติธรรมและพาหุสัจจะให้ดำรงอยู่ได้ โดยอย่างเดียวหรือสองอย่าง เพราะค่าที่ตนมุ่งถึงลาภเป็นต้น.
               ก็ในคราวใด ปริยัตติธรรมมีมาติกาเป็นที่สุดย่อมอันตรธานไปทั้งหมด ตั้งแต่นั้นมาจักเหลือก็เพียงเพศเท่านั้น ในคราวนั้นคน ทั้งหลายจะพากันรวบรวมเอาทรัพย์ตามมีตามได้แล้ว เสียสละโดยมุ่งให้ทาน,
               เล่ากันว่า การปฏิบัตินั้นจัดเป็นสัมมาปฏิบัติครั้งสุดท้ายของคนเหล่านั้น. บรรดายุคเหล่านั้น ตั้งแต่สุตยุคมาจัดเป็นปัจฉิมกาล, อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า ตั้งแต่ศีลยุคมาจึงจัดเป็นปัจฉิมกาลก็มี.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุรา อาคจฺฉเต เอตํ ความว่า ภัยอย่างใหญ่หลวงที่จะทำอันตรายต่อข้อปฏิบัติที่เรากล่าวแล้วแก่พวกท่านทั้งหลายนั้น ย่อมมาในอนาคตอย่างนี้ก่อน คือจักมาจนถึงในกาลนั้นนั่นแล.
               บทว่า สุพฺพจา ได้แก่ เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ คือประกอบพร้อมด้วยธรรมอันกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย. อธิบายว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในคำสั่งสอนของครูทั้งหลาย คือมีปกติรับโอวาทเบื้องขวา.
               บทว่า สขิลา ได้แก่ มีใจอ่อนโยน.
               บทว่า เมตฺตจิตฺตา ได้แก่ มีจิตประกอบพร้อมด้วยเมตตามีอันนำประโยชน์เข้าไปให้สัตว์ทั้งปวงเป็นลักษณะ.
               บทว่า การุณิกา ได้แก่ ประกอบแล้วด้วยกรุณา คือประกอบพร้อมแล้วด้วยความกรุณา มีการประพฤติปลดเปลื้องทุกข์ของสัตว์เหล่าอื่น.
               บทว่า อารทฺธวีริยา ได้แก่ มีความเพียร เพื่ออันละเสียซึ่งอกุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อม.
               บทว่า ปหิตตฺตา ได้แก่ มีจิตอันส่งตรงไปเฉพาะพระนิพพาน.
               บทว่า นิจฺจํ ได้แก่ ตลอดกาลทั้งปวง.
               บทว่า ทฬฺหปรกฺกมา ได้แก่ มีความเพียรมั่นคง.
               บทว่า ปมาทํ ได้แก่ ความประมาท คือการไม่ตั้งไว้ซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย.
               สมดังที่ตรัสไว้ว่า :-๒-
                         ในข้อนั้น ความประมาทเป็นไฉน, การปล่อยจิตไป
               การตามเพิ่มให้ซึ่งความปล่อยจิตในกายทุจริต วจีทุจริต
               มโนทุจริต หรือในกามคุณ ๕ หรือการทำการบำเพ็ญ
               กุศลธรรมโดยไม่เคารพ ดังนี้เป็นต้น.

____________________________
๒- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๘๖๓

               บทว่า อปฺปมาทํ ได้แก่ ความไม่ประมาท, ความไม่ประมาทนั้น บัณฑิตพึงทราบโดยตรงกันข้ามจากความประมาทเถิด. ก็โดยความหมาย ชื่อว่าความไม่ประมาท ก็คือการไม่อยู่ปราศจากสติ, และคำนั้นเป็นชื่อของการเข้าไปตั้งสติไว้มั่นคง.
               จริงอยู่ ในข้อนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้
               เพราะสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ทั้งหมดมีความประมาทเป็นมูล และสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งหมดมีความไม่ประมาทเป็นมูล
               ฉะนั้น ท่านทั้งหลายพึงเห็นความประมาทโดยความเป็นภัย คือโดยความเป็นอุปัทวะแล้ว และพึงเห็นความไม่ประมาทโดยความปลอดภัย คือโดยไม่มีอุปัทวะแล้ว พึงเจริญอัฏฐังคิกมรรค คืออริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้นที่สงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓ มีศีลขันธ์เป็นต้นอันเป็นยอดแห่งข้อปฏิบัติ ด้วยความไม่ประมาทเถิด, ท่านจะถูกต้อง คือกระทำให้แจ้ง ซึ่งอมตธรรมได้แก่พระนิพพานให้เกิดขึ้นในสันดานของตนได้, ครั้นเข้าถึงทัสสนมรรค (โสดาปัตติมรรค) แล้วก็เจริญด้วยการทำมรรค ๓ เบื้องบนให้บังเกิดขึ้นอีก ท่านบำเพ็ญภาวนาจักถึงที่สุดยอดได้ก็ด้วยความไม่ประมาทด้วยประการฉะนี้แล.
               พระเถระกล่าวสั่งสอนบริษัทที่ถึงพร้อมแล้วอย่างนี้แล.
               ก็คาถาพยากรณ์ความเป็นพระอรหัตเหล่านี้ทั้งหมดได้มีแล้วแก่พระเถระนี้แล.

               จบอรรถกถาปุสสเถรคาถาที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติงสนิบาต ๑. ปุสสเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 394อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 395อ่านอรรถกถา 26 / 396อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=7980&Z=8048
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=9091
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=9091
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :