ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 444อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 445อ่านอรรถกถา 26 / 446อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ปัญจกนิบาต
๗. สกุลาเถรีคาถา

               ๗. อรรถกถาสกุลาเถรีคาถา               
               คาถาว่า อคารสฺมึ วสนฺตีหํ เป็นต้นเป็นคาถาของพระเถรีชื่อสกุลา.
               ได้ยินว่า พระเถรีชื่อสกุลาองค์นี้เกิดเป็นราชธิดาของพระเจ้าอานันทราช ในพระนครหังสวดี ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ เป็นภคินีต่างพระมารดาของพระศาสดา มีนามว่านันทา.
               เธอรู้ความแล้ว วันหนึ่งฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุณีองค์หนึ่งในตำแหน่งเป็นเลิศของภิกษุณีผู้มีตาทิพย์ เกิดอุตสาหะกระทำกรรมคือการกระทำที่ยิ่ง ได้กระทำปณิธานปรารถนาตำแหน่งนั้นแม้เอง เธอกระทำกุศลกรรมโอฬารมาก ตลอดชีวิตในอัตภาพนั้นเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในสุคติภูมิทั้งหลายนั่นแล.
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ บวชเป็นปริพาชก ถือลัทธิเที่ยวไปผู้เดียวเที่ยวไปอยู่ วันหนึ่งเที่ยวภิกขาน้ำมัน ได้น้ำมันแล้วเอาน้ำมันนั้นทำการบูชาด้วยประทีป ตลอดคืนยังรุ่งที่เจดีย์ของพระศาสดา. เธอจุติจากอัตภาพนั้นแล้วเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นผู้มีทิพยจักษุบริสุทธิ์ดี ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกเท่านั้นตลอดพุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปปาทกาลนี้ เกิดในตระกูลพราหมณ์ กรุงสาวัตถี มีนามว่าสกุลา.
               นางสกุลานั้นรู้ความแล้ว ได้ศรัทธาเป็นอุบาสิกาในคราวพระศาสดา ทรงรับพระวิหารเชตวัน เวลาต่อมาได้ฟังธรรมในสำนักของพระเถระขีณาสพองค์หนึ่ง เกิดสังเวช บวชแล้วเริ่มเจริญวิปัสสนา เพียรพยายามอยู่ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า
               ในกัปที่หนึ่งแสนแต่ภัทรกัปนี้ พระพิชิตมารพระนามปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้จบธรรมทั้งปวง ทรงเป็นนายกของโลก เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว พระองค์เป็นบุรุษอาชาไนย ประเสริฐกว่าบัณฑิตทั้งหลาย ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง ในโลกกับทั้งเทวโลก พระองค์ทรงยศอันเลิศ มีพระสิริ ทรงมีเกียรติคุณฟุ้งเฟื่อง บูชากันทั่วโลก มีพระคุณปรากฏไปทุกทิศ.
               พระองค์ทรงข้ามพ้นความสงสัย ทรงล่วงเลยความเคลือบแคลง มีความดำริในพระหทัยสมบูรณ์ ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุด ทรงทำมรรคาที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงเป็นนระที่สูงสุด ตรัสบอกมรรคาที่ยังไม่มีใครบอก ทรงยังธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิด พระองค์ทรงเป็นนระผู้องอาจ ทรงรู้แจ้งมรรคา ตรัสบอกมรรคา เป็นพระศาสดาผู้ฉลาดในมรรคา ทรงเป็นผู้ฝึกที่ประเสริฐสุดกว่านายสารถีทั้งหลาย ทรงเป็นนาถะประกอบด้วยพระมหากรุณา เป็นนายกของโลก ทรงแสดงธรรมถอนเหล่าสัตว์ผู้จมอยู่ในเปือกตมคือกาม.
               ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดเป็นเจ้าหญิงนันทนา ในพระนครหังสวดี มีรูปสวย รวยทรัพย์ เป็นที่พึงใจ มีสิริ เป็นราชธิดาของพระราชาผู้ใหญ่พระนามว่าอานันทะ เป็นผู้งดงามอย่างยิ่ง เป็นพระภคินีต่างพระมารดาแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ห้อมล้อมด้วยราชกัญญาทั้งหลาย ประดับด้วยสรรพาภรณ์เข้าไปเฝ้าพระมหาวีรเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนา.
               ครั้งนั้น พระผู้รู้แจ้งโลกพระองค์นั้นทรงตั้งภิกษุณีผู้มีทิพยจักษุไว้ในตำแหน่งอันเลิศ ในท่ามกลางบริษัทสี่ ข้าพเจ้าได้ฟังพระพุทธดำรัสนั้นแล้ว มีความร่าเริง ถวายทานแด่พระศาสดา และบูชาพระสัมพุทธเจ้าแล้วปรารถนาทิพยจักษุ.
               ทันใดนั้น พระศาสดาได้ตรัสกะข้าพเจ้าว่า แน่ะนันทา เธอจักได้ตำแหน่งที่เธอปรารถนา.
               ในกัปที่หนึ่งแสนแต่ภัทรกัปนี้ พระศาสดาพระนามว่าโคตมะ มีพระสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักมีในโลก เธอจักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นพระโอรสอันธรรมเนรมิต จักเป็นสาวิกาของพระศาสดา มีนามว่าสกุลา.
               ด้วยกุศลกรรมที่ได้ทำไว้นั้นและด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ ข้าพเจ้าละร่างกายมนุษย์แล้วได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์.
               ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พราหมณ์ มียศมาก ประเสริฐกว่าบัณฑิตทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว.
               ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นปริพาชิกา ถือลัทธิเที่ยวไปผู้เดียว เที่ยวภิกขาจาร ได้น้ำมันมาน้อยหนึ่ง มีใจผ่องใสเอาน้ำมันนั้นตามประทีปบูชาพระเจดีย์ชื่อ สัพพสังวรแห่งพระพุทธเจ้าผู้เป็นเลิศ ของสัตว์สองเท้า ด้วยกุศลกรรมที่ได้ทำไว้นั้นและด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ ข้าพเจ้าละร่างกายมนุษย์แล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยอำนาจบุญกรรมนั้น
               ข้าพเจ้าเกิดในที่ใดๆ ประทีปเป็นอันมากก็สว่างไสวแก่ข้าพเจ้าผู้ไปในที่นั้นๆ ข้าพเจ้าย่อมเห็นสิ่งที่ปรารถนาที่อยู่นอกฝา นอกภูเขาศิลาได้ทะลุปรุโปร่ง นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป.
               ข้าพเจ้ามีนัยน์ตาแจ่มใส รุ่งเรืองด้วยยศ มีศรัทธาและมีปัญญา นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป.
               ในภพหลังครั้งนี้ ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลพราหมณ์ที่มีทรัพย์และข้าวเปลือกมากมาย มหาชนยินดี พระราชาทรงบูชา ข้าพเจ้าสมบูรณ์ด้วยองคสมบัติทั้งปวง ประดับด้วยสรรพาภรณ์ ยืนอยู่ที่หน้าต่าง ได้เห็นพระสุคตเสด็จเข้าไปในเมือง ทรงรุ่งเรืองด้วยยศ เทวดาและมนุษย์สักการะบูชา ทรงสมบูรณ์ด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ ประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มีจิตเลื่อมใสโสมนัสพอใจบรรพชา.
               ครั้นได้บรรพชาไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต เป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์และทิพโสตธาตุ รู้วาระจิตของผู้อื่น เป็นผู้ปฏิบัติตามสัตถุศาสน์ รู้ปุพเพนิวาสญาณชำระทิพยจักษุให้หมดจดวิเศษ ให้อาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์หมดมลทินดีแล้ว ข้าพเจ้าบำรุงพระศาสดาแล้ว ได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ปลงภาระอันหนักลงได้แล้ว ถอนตัณหาอันนำไปสู่ภพขึ้นได้แล้ว กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์อันนั้นคือธรรมเป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งปวง ข้าพเจ้าบรรลุแล้ว.
               แต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงพระมหากรุณาเป็นนระสูงสุด ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า สกุลาภิกษุณีเป็นเลิศของภิกษุณีผู้มีทิพยจักษุทั้งหลาย.
               ข้าพเจ้าเผากิเลสแล้ว ถอนภพทั้งหลายได้หมดแล้ว ตัดเครื่องผูกพันเหมือนช้างพังตัดเชือก เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ การมาเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐของข้าพเจ้า เป็นการมาดีแล้วหนอ.
               ข้าพเจ้าบรรลุวิชชา ๓ แล้ว ได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ อภิญญา ๖ ข้าพเจ้าทำให้แจ้งแล้ว ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๑๖๔ สกุลาเถรีอปทาน

               ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว ได้เป็นผู้สั่งสมความชำนาญในทิพยจักษุญาณ เพราะความเป็นผู้สร้างสมบุญบารมีไว้แล้ว เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงทรงตั้งพระเถรีนั้นไว้ในตำแหน่งเป็นเลิศของภิกษุณีผู้มีทิพยจักษุทั้งหลาย
               พระเถรีนั้นพิจารณาการปฏิบัติของตน เกิดปิติโสมนัสได้กล่าวคาถาเหล่านี้เป็นอุทานว่า
                         เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในเรือน ฟังธรรมของภิกษุแล้ว ได้
               เห็นพระนิพพานซึ่งเป็นธรรมปราศจากธุลี เป็นเครื่องถึง
               ความสุข ไม่จุติ ข้าพเจ้าจึงละบุตรธิดา ทรัพย์และข้าว
               เปลือก โกนผมบวชเป็นบรรพชิต
                         ข้าพเจ้าศึกษาอยู่ เจริญมรรคเบื้องบน จึงละราคะ
               โทสะและอาสวะทั้งหลาย ที่ตั้งอยู่ร่วมกับราคะโทสะนั้น
               ได้
                         ข้าพเจ้าอุปสมบทเป็นภิกษุณีแล้ว ระลึกชาติก่อนได้
               ชำระทิพยจักษุให้บริสุทธิ์ หมดมลทิน อบรมแล้วอย่างดี
                         ข้าพเจ้าเห็นสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา เป็นของ
               เกิดแต่เหตุ มีอันทรุดโทรมไปเป็นสภาพ แล้วละอาสวะ
               ทั้งปวง เป็นผู้มีความเย็น ดับสนิทแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อคารสฺมึ วสนฺตีหํ ธมฺมํ สุตฺวาน ภิกฺขุโน ความว่า
               เมื่อก่อน ข้าพเจ้าอยู่ท่ามกลางเรือน ฟังธรรมกถาที่บรรลุอริยสัจ ๔ ในสำนักของภิกษุผู้ทำลายกิเลสแล้วองค์หนึ่ง.
               บทว่า อทฺทสํ วิรชํ ธมฺมํ นิพฺพานํ ปทมจฺจุตํ ความว่า ได้เห็นคือเห็นแล้วซึ่งธรรม กล่าวคือที่ได้ชื่อว่าวิรชะ ปราศจากธุลี เพราะไม่มีธุลีคือราคะเป็นต้น. ว่านิพพานะ ไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด เพราะเป็นธรรมออกจากวานะกิเลสเครื่องร้อยรัด. ว่าปทะ เป็นเครื่องถึง เพราะเป็นเหตุให้บรรลุความสุข. ว่าอัจจุตะ ไม่จุติ เพราะไม่มีการเคลื่อน ด้วยธรรมจักษุกล่าวคือทัสสนะที่ประดับด้วยนัยตั้งพัน.
               บทว่า สาหํ ความว่า ข้าพเจ้านั้นเป็นพระโสดาบันโดยประการดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า สิกฺขมานา อหํ สนฺตี ความว่า ข้าพเจ้ายังเป็นสิกขมานาอยู่นั่นแล บวชเมื่ออายุยังไม่ครบ.
               บทว่า ภาเวนฺตี มคฺคมญฺชสํ ความว่า ยังทางคือมรรคเบื้องบนให้เกิดขึ้นแต่การปฏิบัติมัชฌิมาปฏิปทา.
               บทว่า ตเทกฏฺเฐ จ อาสเว ความว่า ได้ละคือตัดขาดซึ่งอาสวะทั้งหลายที่ตั้งอยู่ร่วมกันโดยเกิดพร้อมกับราคะและโทสะทั้งหลาย และที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับการละซึ่งจะต้องทำลายด้วยอนาคามิมรรค.
               บทว่า ภิกฺขุนี อุปสมฺปชฺช ความว่า เมื่ออายุครบแล้วอุปสมบทเป็นภิกษุณี.
               บทว่า วิมลํ ได้แก่ มีมลทินไปปราศแล้ว เพราะหลุดพ้นจากอุปกิเลสทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้น.
               บทว่า สาธุ ได้แก่ อบรมแล้วโดยเคารพ คือโดยชอบนั่นแล.
               อีกอย่างหนึ่ง เชื่อมความว่า ชำระทิพยจักษุที่สัตบุรุษทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นอบรมแล้ว คือให้เกิดแล้ว.
               บทว่า สงฺขาเร ได้แก่ สังขารที่เป็นไปในภูมิ ๓.
               บทว่า ปรโต ได้แก่ โดยเป็นอนัตตา.
               บทว่า เหตุชาเต ได้แก่ เกิดขึ้นเฉพาะหน้า.
               บทว่า ปโลกิเต ความว่า เห็นสังขารทั้งหลายมีอันทรุดโทรมไป เป็นสภาพเปื่อยเน่า ด้วยปัญญาจักษุ.
               บทว่า ปหาสึ อาสเว สพฺเพ ความว่า ข้าพเจ้าละอาสวะทั้งหมดที่ยังเหลือ คือทำให้สิ้นไปด้วยอรหัตมรรค.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วแล.

               จบอรรถกถาสกุลาเถรีคาถาที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ปัญจกนิบาต ๗. สกุลาเถรีคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 444อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 445อ่านอรรถกถา 26 / 446อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=9208&Z=9218
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=2478
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=2478
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :