ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 452อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 453อ่านอรรถกถา 26 / 454อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ฉักกนิบาต
๓. เขมาเถรีคาถา

               ๓. อรรถกถาเขมาเถรีคาถา               
               คาถาว่า ทหรา ตุวํ รูปวตี ดังนี้เป็นต้นเป็นคาถาของพระเขมาเถรี.
               พระเถรีรูปนี้ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ อาศัยคนอื่นเลี้ยงชีพ เป็นทาสีหญิงรับใช้ของคนอื่นๆ อยู่ในกรุงหังสวดี นางเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ด้วยการช่วยขวนขวายงานของคนเหล่าอื่น.
               วันหนึ่งได้เห็นพระสุชาตเถระ อัครสาวกของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังเที่ยวบิณฑบาตได้ถวายขนมสามก้อน วันเดียวกันนั้นก็ได้สละผมของตนถวายเป็นทานแก่พระเถระ ทำความปรารถนาว่า ข้าพเจ้าพึงเป็นพุทธสาวิกาผู้มีปัญญามากในอนาคต ไม่ประมาทในกุศลธรรมตลอดชีวิต เที่ยวเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นมเหสีของท้าวเทวราชแห่งทวยเทพฉกามาวจรมีท้าวสักกะเป็นต้นโดยลำดับ และแม้ในมนุษยโลกก็เป็นมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิและพระเจ้าปฐพีมณฑลหลายครั้ง เสวยมหาสมบัติแล้ว
               ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ก็เกิดในมนุษยโลก รู้เดียงสาแล้วฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ได้ความสังเวชใจ บวชประพฤติพรหมจรรย์อยู่ถึงหมื่นปี เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก ทำกรรมที่ให้เกิดปัญญาด้วยการกล่าวธรรมเป็นต้นแก่ชนเป็นอันมาก จุติจากภพนั้นแล้ว เที่ยวเวียนว่ายอยู่ในสุคติฝ่ายเดียว.
               ในกัปนี้ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ และพระนามว่าโกนาคมนะ ก็บังเกิดในครอบครัวที่สมบูรณ์ด้วยสมบัติ รู้เดียงสาแล้ว สร้างสังฆารามใหญ่ ได้มอบถวายแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข.
               ส่วนครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปทสพล เป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่พระนามว่าสมณี ของพระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกิ ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาแล้วได้ความสังเวชใจ ดำรงอยู่ในพระราชมณเฑียรอย่างเดียวประพฤติโกมาริพรหมจรรย์อยู่ถึงสองหมื่นปี ให้สร้างบริเวณอันน่ารื่นรมย์พร้อมด้วยพระกนิษฐภคินีทั้งหลายของพระองค์ มีพระนางสมณคุตตาเป็นต้น เสร็จแล้วได้มอบถวายแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข.
               นางได้ทำบุญอันยิ่งใหญ่ติดต่อกันมาในภพนั้นๆ ด้วยอาการอย่างนี้ เที่ยวเวียนว่ายอยู่ในสุคติเท่านั้น ในพุทธุปบาทกาลนี้ ก็บังเกิดในราชสกุล กรุงสาคละ แคว้นมัททะ มีพระนามว่าพระนางเขมา ทรงมีพรรณะดั่งทอง มีพระฉวีเสมือนทอง. พระนางเจริญวัยเป็นราชกุมารีแล้ว ก็ไปเป็นพระเทวีของพระเจ้าพิมพิสาร.
               ครั้งเมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันก็ยังเป็นผู้มัวเมาในพระรูปพระโฉม ทรงเกรงว่าพระศาสดาจะทรงแสดงโทษในรูป จึงไม่เสด็จไปเฝ้าพระศาสดา.
               พระราชาโปรดสั่งให้ผู้คนทั้งหลายเที่ยวประกาศพรรณนาพระเวฬุวัน ทำให้พระเทวีทรงเกิดความคิดที่จะไปชมพระวิหาร เมื่อพระเทวีทรงดำริว่า จำเราจักชมพระวิหาร ก็ทรงสอบถามพระราชา. พระราชาตรัสว่า เธอไปพระวิหารไม่พบพระศาสดาก็อย่าได้กลับมา แล้วทรงให้สัญญาแก่พวกราชบุรุษว่า พวกท่านจงให้พระเทวีเฝ้าพระทศพล โดยพลการให้จงได้. พระเทวีเสด็จไปวิหาร เวลาล่วงไปครึ่งวัน ไม่ทรงพบพระศาสดาเริ่มเสด็จกลับ. ลำดับนั้น ราชบุรุษทั้งหลายนำพระเทวีแม้ไม่ทรงปรารถนา เข้าไปเฝ้าพระศาสดาจนได้.
               พระศาสดาทรงเห็นพระเทวีนั้นกำลังเสด็จมา ทรงเนรมิตหญิงคล้ายนางเทพอัปสรด้วยฤทธิ์ ทำให้ถือพัดใบตาลถวายงานพัดอยู่. พระนางเขมาเทวีทรงเห็นหญิงนั้น ทรงดำริว่า หญิงชื่อเห็นปานนี้มีส่วนเปรียบด้วยนางเทพอัปสร ยืนอยู่ไม่ห่างพระผู้มีพระภาคเจ้า เราไม่พอที่แม้แต่จะเป็นหญิงรับใช้ของหญิงเหล่านั้นได้เลย เราต้องเสียหายด้วยอำนาจจิตชั่ว เพราะเหตุเล็กๆ น้อยๆ ทรงถือเอานิมิตประทับยืนมองดูหญิงนั้นคนเดียว เมื่อพระนางกำลังทอดพระเนตรดูอยู่ หญิงนั่นก็ล่วงปฐมวัย มัชฌิมวัย ถึงปัจฉิมวัยแล้ว ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยว ล้มกลิ้งลงพร้อมกับพัดใบตาล ด้วยพระกำลังอธิษฐานของพระศาสดา จากนั้น เพราะเหตุที่ทรงบำเพ็ญบารมีไว้ พระนางเขมาทอดพระเนตรเห็นเหตุนั้นแล้วทรงพระดำริว่า สรีระแม้อย่างนี้ยังถึงความวิบัติเช่นนี้ สรีระของเราก็จักมีคติอย่างนี้เหมือนกัน.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบวาระจิตของพระนางแล้ว ก็ตรัสพระคาถาว่า
                         ชนเหล่าใด กำหนัดอยู่ด้วยราคะ ย่อมตกไปสู่
               กระแสตัณหา เหมือนแมงมุมตกไปยังใยที่ตัวเองทำ
               ไว้ฉะนั้น ชนเหล่านั้นตัดกระแสตัณหานั้นเสียได้แล้ว
               เป็นผู้หมดอาลัยละกามสุขได้ ย่อมงดเว้นกิจคฤหัสถ์
               [บวช] อยู่.

               คำที่มาในอรรถกถาว่า จบคาถา พระนางเขมานั้นบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา. ส่วนคำที่มาในอปทานว่า ฟังคาถานี้แล้วตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ทรงขอให้พระราชาทรงอนุญาตแล้ว ทรงผนวชแล้วบรรลุพระอรหัต ในข้อนั้นมีบาลีในคัมภีร์อปทานดังนี้.
               ในแสนกัปนับแต่กัปนี้ไป พระชินพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้มีพระจักษุเห็นในสรรพธรรม ทรงเป็นผู้นำ เสด็จอุบัติแล้ว
               ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลเศรษฐีที่รุ่งเรืองด้วยรัตนะต่างๆ ในกรุงหังสวดี เป็นผู้เพียบพร้อมไปด้วยความสุขเป็นอันมาก ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระพุทธมหาวีระพระองค์นั้น แล้วได้ฟังธรรมเทศนา เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ได้ถึงพระองค์เป็นสรณะ.
               ข้าพเจ้าขออนุญาตมารดาบิดาได้แล้วนิมนต์พระพุทธเจ้าผู้นำพิเศษ ให้เสวยอาหารพร้อมด้วยพระสาวกสงฆ์ตลอดสัปดาห์หนึ่ง เมื่อสัปดาห์หนึ่งล่วงไปแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นสารถีฝึกนระทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศของภิกษุณีผู้มีปัญญามาก ข้าพเจ้าได้ฟังเรื่องนั้นแล้ว มีความยินดีทำสักการะแด่พระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณใหญ่พระองค์นั้นอีก แล้วหมอบลงปรารถนาตำแหน่งนั้น.
               ในทันใดนั้น พระชินพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสกะข้าพเจ้าว่า ความปรารถนาของท่านจงสำเร็จ สักการะที่ท่านทำแล้วแก่เราพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มีผลนับไม่ได้ ในแสนกัปนับแต่กัปนี้ไป พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ทรงสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเป็นศาสดาในโลก หญิงผู้นี้จักได้เป็นภิกษุณีชื่อเขมา ผู้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นโอรสอันธรรมเนรมิต จักได้ตำแหน่งเอตทัคคะ.
               ด้วยกรรมที่ทำดีแล้วนั้นและด้วยการตั้งใจไว้ชอบ ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้วได้เข้าถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้วไปชั้นยามา จุติจากชั้นยามาแล้วไปชั้นดุสิต จุติจากชั้นดุสิตแล้วไปชั้นนิมมานรดี จุติจากชั้นนิมมานรดีแล้วไปชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เพราะอำนาจบุญกรรมนั้น ข้าพเจ้าเกิดในภพใดๆ ก็ได้เป็นพระอัครมเหสีของพระราชาในภพนั้นๆ ข้าพเจ้าจุติจากภพนั้น แล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ ได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ และเป็นมเหสีของพระเจ้าเอกราชเหนือปฐพีมณฑล เสวยทิพยสมบัติและมนุษย์สมบัติ มีความสุขทุกภพ ท่องเที่ยวไปหลายกัป.
               ในกัปที่ ๙๑ นับแต่กัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เป็นผู้นำโลก ทรงงดงามน่าชม ทรงเห็นแจ่มแจ้งในสรรพธรรม เสด็จอุบัติแล้ว.
               ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้นำโลก ทรงฝึกคนที่ควรฝึกพระองค์นั้น ได้ฟังธรรมอันประณีตแล้ว ออกบวชไม่มีเรือน ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนาของพระพุทธวีระพระองค์นั้นอยู่หมื่นปี ประกอบความเพียร เป็นพหูสูตฉลาดในปัจจยาการ แกล้วกล้าในจตุราริยสัจ มีปัญญาละเอียด แสดงธรรมได้วิจิตร ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า.
               ด้วยผลแห่งพรหมจรรย์ ข้าพเจ้าจุติจากภพนั้นแล้ว เข้าถึงสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นผู้มียศ เสวยสมบัติในภพนั้นและภพอื่น ข้าพเจ้าเกิดในภพไรๆ ก็เป็นผู้มีสมบัติมาก มีทรัพย์มาก มีปัญญา มีรูปงาม มีบริวารก็ว่าง่าย ด้วยบุญกรรมและความเพียรในศาสนาของพระชินพุทธเจ้านั้น สมบัติทุกอย่างข้าพเจ้าหาได้ง่าย ใจรัก ด้วยผลแห่งความปฏิบัติของข้าพเจ้า. เมื่อข้าพเจ้าเดินไป ณ ที่ใดๆ ภัสดาของข้าพเจ้าและใครๆ ย่อมไม่ดูหมิ่นข้าพเจ้า.
               ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมน์ เป็นพราหมณ์ มีพระยศมาก เป็นยอดของพระศาสดาผู้สอน เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ในครั้งนั้นแหละ กุลธิดาที่มั่งคั่งดีในกรุงพาราณสี ชื่อธนัญชานี ๑ สุเมธา ๑ ข้าพเจ้า ๑ รวม ๓ คนด้วยกันได้ถวายสังฆารามแก่พระมุนีหลายพัน และได้สร้างวิหารอุทิศถวายแก่พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระสาวกสงฆ์ เราทั้งหมดด้วยกันจุติจากภพนั้นแล้ว ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศกว่าเทพธิดาและกุลธิดาในมนุษย์
               ในภัทรกัปนี้แหละ พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เป็นพราหมณ์ มีพระยศมาก เป็นยอดของศาสดาผู้สอน เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ในครั้งนั้น พระเจ้ากาสีจอมนรชนพระนามว่ากิกิ กรุงพาราณสี ราชธานีแคว้นกาสี ทรงเป็นอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้าเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของท้าวเธอ มีนามปรากฏว่าสมณี ได้ฟังธรรมของพระชินพุทธเจ้าผู้เลิศแล้ว ชอบกิจบรรพชา แต่พระชนกนาถไม่ทรงอนุญาตแก่เราทั้งหลาย.
               ครั้งนั้น เราทั้งหลายไม่เกียจคร้าน ประพฤติโกมาริพรหมจรรย์อยู่ในพระราชมณเฑียร ดำรงอยู่ในสุขสมบัติสองหมื่นปี เป็นพระราชธิดาที่บันเทิงใจ ยินดียิ่งนักในการบำรุงพระพุทธเจ้า พระราชธิดาทั้ง ๗ พระองค์นั้น คือ สมณี ๑ สมณคุตตา ๑ ภิกขุนี ๑ นางภิกขุทาสิกา ๑ ธรรมา ๑ สุธรรมา ๑ และสังฆทาสิกาเป็นที่ครบ ๗. บัดนี้คือข้าพเจ้า อุบลวรรณา ปฏาจารา กุณฑลเกสา กิสาโคตมี ธรรมทินนาและวิสาขาเป็นที่ครบ ๗
               บางครั้ง พระพุทธเจ้าผู้เป็นดั่งดวงอาทิตย์ของนรชนพระองค์นั้น ทรงแสดงธรรมคือมหานิทานสูตรอันอัศจรรย์ ข้าพเจ้าฟังแล้วก็เรียนพระสูตรนั้น.
               ด้วยกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้นและด้วยการตั้งใจไว้ชอบ ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้วได้ไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บัดนี้ภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเป็นราชธิดาที่โปรดปราน เอ็นดู สุดสวาทของพระเจ้ามัททราชในกรุงสาคลราชธานี พร้อมกับข้าพเจ้าเกิด พระนครนั้นได้มีความเกษมสุข.
               โดยคุณนิรมิตนั้นชื่อข้าพเจ้าปรากฏว่าเขมา สมัยที่ข้าพเจ้าเจริญวัยเติบโตเป็นสาวมีรูปโฉมและผิวพรรณงาม พระราชบิดาก็ถวายข้าพเจ้าแก่พระเจ้าพิมพิสาร ข้าพเจ้าเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ ยินดีแต่ในการบำรุงรูป ไม่พอใจคนที่กล่าวโทษรูปเป็นอันมาก.
               ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารโปรดให้นักขับร้องขับเพลงพรรณนาพระวิหารเวฬุวันกะข้าพเจ้า ด้วยพระประสงค์จะทรงอนุเคราะห์ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสำคัญว่าพระเวฬุวันวิหารอันเป็นที่ประทับแห่งพระสุคต เป็นที่รื่นรมย์ ผู้ใดยังมิได้เห็นก็เท่ากับว่าผู้นั้นยังไม่เห็นนันทวัน พระวิหารเวฬุวันเป็นดังว่านันทวันอันเป็นที่เพลิดเพลินของนรชน ผู้ใดได้เห็นแล้วเท่ากับว่าผู้นั้นเห็นนันทวันอันเป็นที่เพลิดเพลินดีของท้าวอมรินทร์เทวราช ทวยเทพละนันทวันนั้นแล้วลงมายังพื้นดิน เห็นพระวิหารเวฬุวันอันน่ารื่นรมย์เข้าแล้วก็อัศจรรย์ใจดูไม่อิ่ม พระวิหารเวฬุวันเกิดขึ้นเพราะบุญของพระราชาอันบุญของพระพุทธเจ้าตกแต่งแล้ว ใครเล่าจะกล่าวกองคุณของพระเวฬุวันนั้นมิให้เหลือได้.
               ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังความสมบูรณ์แห่งพระวิหารเวฬุวัน เป็นที่ซึ้งโสตและจับใจแล้วอยากจะชมพระเวฬุวันนั้น จึงกราบทูลพระราชา
               ครั้งนั้นพระมหิบดีจึงโปรดส่งข้าพเจ้าพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมากเพื่อชมพระเวฬุวันนั้น ที่น่าขวนขวายชม ด้วยพระดำรัสว่า ดูก่อนพระนางผู้มีสมบัติมาก เชิญเสด็จไปชมพระมหาเวฬุวันให้เป็นขวัญตาซึ่งฉาบด้วยพระรัศมีแห่งพระสุคตงามด้วยพระสิริทุกสมัย
               ข้าพเจ้าทูลว่า เมื่อใดพระพุทธมุนีเสด็จเข้ามาทรงบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ราชธานี เมื่อนั้นหม่อมฉันจะเข้าไปชมพระวิหารเวฬุวัน
               เวลานั้นพระวิหารเวฬุวันนั้นมีดอกไม้บานสะพรั่งมีภมรนานาชนิดบินเวียนว่อนส่งเสียงร้องประกอบด้วยเพลงขับกล่อมของนกดุเหว่าอีก เหล่านกก็ร่ายรำแพนเงียบเสียงไม่พลุกพล่านประดับด้วยที่จงกรมต่างๆ สร้างด้วยกุฏิและมณฑป อร่ามด้วยพระผู้พากเพียรที่ประเสริฐ เมื่อข้าพเจ้าเที่ยวไปได้รู้สึกว่าเป็นกำไรนัยน์ตาของข้าพเจ้าแท้ๆ.
               แม้ในพระเวฬุวันนั้น ข้าพเจ้าก็ได้เห็นภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งบำเพ็ญเพียรอยู่แล้วคิดไปว่าภิกษุรูปนี้ยังอยู่ในวัยหนุ่มแน่นมีรูปร่างน่ารัก ปฏิบัติดีอยู่ในพระเวฬุวันที่น่ารื่นรมย์เช่นนี้ เหมือนฤดูใบไม้ผลิ ภิกษุนี้ศีรษะโล้น ห่มผ้าสองชั้น นั่งอยู่ที่โคนไม้ ละความยินดีที่เกิดแต่อารมณ์ เจริญฌานอยู่ ธรรมดาคฤหัสถ์ควรจะบริโภคกามตามความสุข ต่อแก่จึงควรประพฤติธรรมอันเจริญงอกงามนี้ในภายหลัง
               ข้าพเจ้าสำคัญว่าพระคันธกุฎีที่ประทับแห่งพระชินเจ้าดังดวงอาทิตย์อุทัย ประทับนั่งทรงสำราญพระองค์เดียว มีสาวสวยถวายงานพัดอยู่ ครั้นแล้วจึงดำริอย่างนี้ว่า สมณะปอนรูปนี้มิใช่องค์พระนราสภ หญิงสาวคนนั้นมีผิวพรรณเปล่งปลั่งดังทอง มีดวงตางามดังดอกบัว ริมฝีปากแดงดังผลมะพลับสุก ชำเลืองแต่น้อยเป็นที่ซาบซึ้งตรึงใจและนัยน์ตา แขนแกว่งดั่งชิงช้าทอง ดวงหน้างาม ถันทั้งคู่เต่งตั่งดังดอกบัวตูม มีเอวองค์กลมกลึงตะโพกผึ่งผาย ลำขาน่ายินดี มีเครื่องแต่งกายสวย เครื่องประดับสีแดงแวววาว นุ่งผ้าเนื้อเกลี้ยงสีเขียว มีรูปสมบัติชมไม่รู้อิ่ม ประดับด้วยสรรพาภรณ์
               ข้าพเจ้าเห็นหญิงสาวนั้นแล้วก็คิดอย่างนี้ว่า โอ หญิงสาวคนนี้รูปงามเหลือเกิน ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นด้วยนัยน์ตานี้ ไม่ว่าในครั้งไหนๆ เลย
               ทันใดนั้น หญิงสาวคนนั้นถูกชราย่ำยี มีผิวพรรณแปลกไป หน้าเหี่ยว ฟันหัก ผมหงอก น้ำลายไหล หน้าไม่สะอาด ใบหูย่น กระด้าง นัยน์ตาขาว นมยานไม่งาม ตกกระทั่วตัว เรือนร่างสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น ตัวค้อมลงใช้ไม้เท้าเป็นเพื่อน ร่างกายซูบผอมลีบไป สั่นงั่นงก ล้มลงแล้วหายใจถี่ๆ
               ลำดับนั้น ความสังเวชอันไม่เคยเป็นทำให้ขนลุกชูชันได้มีแก่ข้าพเจ้าว่า น่าตำหนิรูปอันไม่สะอาดที่พวกคนเขลาพากันยินดี.
               ขณะนั้น พระพุทธเจ้าผู้ทรงพระกรุณามากมีพระทัยปิติโสมนัส ทรงเห็นข้าพเจ้าผู้มีใจสังเวชแล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
                         ดูก่อนเขมา จงดูร่างกายอันกระสับกระส่ายไม่สะอาด
                         เน่าเปื่อย ไหลเข้าไหลออกที่พวกพาลชนยินดีกันนัก
                         จงอบรมจิตให้เป็นสมาธิมีอารมณ์เดียวด้วยอสุภารมณ์
                         เถิด จงมีกายคตาสติ มีความเบื่อหน่ายมากๆ ไว้เถิด
                                   รูปหญิงนี้ฉันใด รูปของเธอนั้นก็ฉันนั้น
                                   รูปของเธอฉันใด รูปหญิงนี้ก็เป็นฉันนั้น
                         เธอจงคลายความพอใจในกายทั้งภายในภายนอกเสีย
                         เถิด จงอบรมอนิมิตตวิโมกข์ จงละมานานุสัยเสีย เธอ
                         จักเป็นผู้สงบ จาริกไปเพราะละมานานุสัยนั้นได้.
                         ชนเหล่าใดกำหนัดอยู่ด้วยราคะ ย่อมตกไปสู่กระแส
                         ตัณหา เหมือนแมงมุมตกไปยังใยที่ตัวเองทำไว้ฉะนั้น
                         ชนเหล่านั้นตัดกระแสตัณหานั้นเสียได้แล้ว เป็นผู้หมด
                         อาลัย ละกามสุขได้ย่อมงดเว้นกิจคฤหัสถ์ [บวช] อยู่
               ขณะนั้น พระบรมศาสดาผู้เป็นสารถีฝึกนรชนทรงทราบว่าข้าพเจ้ามีจิตควรแล้ว จึงทรงแสดงมหานิทานสูตรเพื่อทรงแนะนำข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ฟังสูตรอันประเสริฐนั้นแล้วระลึกถึงสัญญาในกาลก่อนได้ดำรงอยู่ในสัญญานั้นแล้ว ชำระธรรมจักษุให้หมดจด ทันใดนั้น ข้าพเจ้าหมอบลงแทบพระบาทยุคลแห่งพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่เพื่อประสงค์จะแสดงโทษ [ขอขมา] จึงได้กราบทูลว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวง ข้าพระองค์ขอถวายมนัสการแด่พระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระกรุณาเป็นที่อยู่ ข้าพระองค์ขอถวายนมัสการแด่พระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เสด็จข้ามสงสารแล้ว ข้าพระองค์ขอถวายนมัสการแด่พระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ประทานอมตธรรม ข้าพระองค์ขอถวายนมัสการแด่พระองค์ ข้าพระองค์แล่นไปแล้วสู่ชัฏคือทิฏฐิ ลุ่มหลงเพราะกามราคะ พระองค์ทรงแนะนำด้วยอุบายที่ชอบ เป็นผู้ยินดีแล้วในอุบายที่ทรงแนะนำสัตว์ทั้งหลาย คงตั้งอยู่ [อย่างนั้น] เพราะไม่เห็นพระผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่เช่นพระองค์ จึงเสวยทุกข์เป็นอันมาก ในสาครคือสังสารวัฏ
               เมื่อใด ข้าพระองค์ยังมิได้มาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงเป็นสรณะแห่งสัตว์โลก ไม่เป็นศัตรูแก่สัตว์โลก ทรงถึงที่สุดแห่งมรณะ ผู้มีอรรถรสอันไพเราะ ข้าพระองค์ขอแสดงโทษนั้น ข้าพระองค์ยินดีเป็นนิตย์ในรูป ระแวงว่าพระองค์ไม่ทรงเกื้อกูล จึงมิได้มาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงเกื้อกูลมาก ผู้ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ ข้าพเจ้าขอแสดงโทษนั้น
               ครั้งนั้น พระองค์ผู้ทรงเป็นพุทธชินะทรงพระมหากรุณาประกาศกังวานกระแสธรรมอันไพเราะ เมื่อทรงเอาน้ำอมฤตรดข้าพเจ้าได้ตรัสว่า หยุดเถิดเขมา.
               ครั้งนั้น ข้าพเจ้าประนมนมัสการด้วยเศียรเกล้าทำประทักษิณพระองค์แล้ว กลับไปเฝ้าพระนรบดีราชสวามีแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงข่มข้าศึก น่าอัศจรรย์ พระองค์ทรงดำริอุบายอันนี้ไว้ชอบแท้หนอ หม่อมฉันผู้ปรารถนาจะชมพระเวฬุวัน ก็ได้ชมพระมุนีผู้ปราศจากกิเลสเหมือนป่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ถ้าพระองค์จะทรงชอบพระราชหฤทัยไซร้ หม่อมฉันผู้เบื่อหน่ายในรูปตามที่พระพุทธมุนีตรัสสอน จักบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้า ผู้คงที่พระองค์นั้น.
               ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นทรงประคองอัญชลีตรัสว่า ดูก่อนพระน้องนาง พี่อนุญาตแก่พระน้องนาง บรรพชาจงสำเร็จแก่พระน้องนางเถิด.
               ครั้งนั้น ข้าพเจ้าบวชมาแล้วได้ ๗ เดือนเห็นความเกิดและดับของประทีป มีใจสังเวชเบื่อหน่ายในสรรพสังขาร ฉลาดในปัจจยาการ ก้าวล่วงจตุรโอฆะแล้วก็บรรลุพระอรหัตเป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ ในทิพโสตธาตุและเจโตปริยญาณ รู้ชัดปุพเพนิวาสญาณ ชำระทิพยจักษุให้บริสุทธิ์ มีอาสวะทั้งปวงหมดสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี ญาณอันบริสุทธิ์ของข้าพเจ้าในอรรถะ ธรรมะ นิรุตติและปฏิภาณเกิดขึ้นแล้วในพระพุทธศาสนา
               ข้าพเจ้าเป็นผู้ฉลาดในวิสุทธิทั้งหลาย แกล้วกล้าในกถาวัตถุ รู้จักนัยแห่งอภิธรรม ถึงความชำนาญในศาสนา ภายหลังพระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามปัญหาละเอียดในโตรณวัตถุ ข้าพเจ้าก็ถวายวิสัชนาตามความเป็นจริง
               ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าเฝ้าพระสุคตแล้ว ทูลสอบถามปัญหาเหล่านั้น พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์เหมือนอย่างที่ข้าพเจ้าถวายวิสัชนาแด่พระองค์ พระชินพุทธเจ้ายอดนรชนทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น จึงทรงสถาปนาข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นเลิศของภิกษุณีผู้มีปัญญามาก
               ข้าพเจ้าเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ พระพุทธศาสนา ข้าพเจ้าได้ทำเสร็จแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๑๕๘ เขมาเถรีอปทาน

               พระเถรีนี้บรรลุพระอรหัตแล้วอยู่ด้วยผลสุข นิพพานสุข ก็ปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญญามาก เพราะเมื่อพระขีณาสวเถรีรูปอื่นๆ เกิดปัญญาไพบูลย์ แต่ท่านก็บำเพ็ญบารมีมาแล้วในข้อนั้น.
               จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งท่ามกลางหมู่พระอริยะ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กำลังทรงสถาปนาภิกษุณีทั้งหลายไว้ในตำแหน่งตามลำดับ ก็ทรงสถาปนาพระเถรีนั้นไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เพราะเป็นผู้มีปัญญามากกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เขมาเป็นเลิศของภิกษุณีสาวิกาของเราผู้มีปัญญามาก.
               วันหนึ่ง พระเถรีนั้นนั่งพักกลางวันอยู่โคนไม้ต้นหนึ่ง มารผู้มีบาปแปลงกายเป็นชายหนุ่มเข้าไปหา เมื่อประเล้าประโลมด้วยกามทั้งหลายก็กล่าวคาถาว่า
                         แม่นางเขมาเอย เจ้าก็สาวสะคราญ เราก็หนุ่มแน่น
                         มาสิ เรามาร่วมอภิรมย์กัน ด้วยดนตรีเครื่อง ๕ นะ
                         แม่นาง.
               คาถานั้นมีความว่า แม่นางเขมาเอย เจ้าก็เป็นสาว อยู่ในวัยรุ่น รูปร่างก็สะสวย ถึงเราก็หนุ่มวัยรุ่น เพราะฉะนั้น เราทั้งสองอย่าให้ความหนุ่มสาวเสียไปเปล่า ดนตรีเครื่อง ๕ มีอยู่ มาสิเรามาอภิรมย์เล่นกัน ด้วยความยินดีในการเล่นที่น่ารักเถิด.
               นางเขมาเถรีนั้นฟังคำนั้นแล้ว เมื่อประกาศความที่ตนหมดความกำหนัด ในกามทั้งปวง ๑ ความที่ผู้นั้นเป็นมาร ๑ ความไม่เลื่อมใสที่มีกำลังของตนในเหล่าสัตว์ผู้ยึดมั่นในอัตตา ๑ และความที่ตนทำกิจเสร็จแล้ว ๑ จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
                                   เราอึดอัดเอือมระอาด้วยกายอันเปื่อยเน่า
                         กระสับกระส่าย มีอันจะแตกพังไปนี้อยู่ เราถอน
                         กามตัณหาได้แล้ว กามทั้งหลายมีอุปมาด้วยหอก
                         และหลาว มีขันธ์ทั้งหลายเป็นเขียงรองสับ บัดนี้
                         ความยินดีในกามที่ท่านพูดถึงไม่มีแก่เราแล้ว
                                   เรากำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวง
                         แล้วทำลายกองแห่งความมืด [อวิชชา] เสียแล้ว
                         ดูก่อนมารใจบาป ท่านจงรู้อย่างนี้ ตัวท่านถูกเรา
                         กำจัดแล้ว
                                   พวกคนเขลาไม่รู้ตามความเป็นจริง พากัน
                         นอบน้อมดวงดาวทั้งหลาย บำเรอไฟอยู่ในป่าคือ
                         ลัทธิ สำคัญว่าเป็นความบริสุทธิ์ ส่วนเราแลนอบ
                         น้อมเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุรุษ
                         จึงพ้นแล้วจากทุกข์ทั้งปวง ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอน
                         ของพระศาสดา.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อคฺคึ ปริจรึ วเน ได้แก่ เที่ยวบูชาไฟอยู่ในป่าคือตบะ.
               บทว่า ยถาภุจฺจมชานนฺตา ได้แก่ ไม่รู้เรื่องราวตามเป็นจริง.
               คำที่เหลือในที่นี้ง่ายทั้งนั้น เพราะมีนัยอันกล่าวมาแล้วในหนหลัง.

               จบอรรถกถาเขมาเถรีคาถาที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ฉักกนิบาต ๓. เขมาเถรีคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 452อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 453อ่านอรรถกถา 26 / 454อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=9309&Z=9323
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=3445
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=3445
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :