ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 49อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 50อ่านอรรถกถา 26 / 51อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ มัญชิฏฐกวรรคที่ ๔
๑๒. รัชชุมาลาวิมาน

               อรรถกถารัชชุมาลาวิมาน               
               รัชชุมาลาวิมาน มีคาถาว่า อภิกฺกนฺเตน วณฺเณน เป็นต้น.
               รัชชุมาลาวิมานนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน กรุงสาวัตถี.
               สมัยนั้น พราหมณ์คนหนึ่งในหมู่บ้านคยา ได้ให้ธิดาแก่บุตรพราหมณ์คนหนึ่งในบ้านนั้นเอง นางไปมีสามีแล้ว ตั้งตนเป็นใหญ่ในเรือนนั้น.
               นางเห็นลูกสาวทาสีในเรือนนั้นแล้วไม่ชอบหน้า นับแต่เห็นมา นางก็แสดงอาการฮึดฮัดด่าว่าด้วยความโกรธ และชูกำหมัดแก่ลูกสาวทาสีนั้น เมื่อลูกสาวทาสีเติบโตขึ้นพอจะทำการงานได้ นางก็ใช้เข่า ศอก กำหมัดทุบตีเธอ เหมือนผูกอาฆาตกันมาในชาติก่อนๆ หลายชาติทีเดียว.
               เล่ากันมาว่า ทาสีนั้นได้เป็นนายของนาง ครั้งพระทศพลพระนามว่ากัสสปะ ส่วนนางเป็นทาสี เธอทุบต่อยทาสีนั้นด้วยก้อนดินและกำหมัดเป็นต้นเนืองๆ ทาสีเหนื่อยหน่ายเพราะการกระทำนั้น ได้กระทำบุญทั้งหลายมีให้ทานเป็นต้นตามกำลัง ตั้งความปรารถนาว่า ในอนาคตกาล ขอเราพึงเป็นนายมีความเป็นใหญ่เหนือหญิงนี้.
               ภายหลัง ทาสีนั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เวียนว่ายไปๆ มาๆ อยู่ ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในหมู่บ้านคยา ไปมีสามี ตามนัยดังกล่าวแล้ว. ส่วนหญิงอีกคนหนึ่งได้เป็นทาสีของนาง นางจึงเบียดเบียนเธอเพราะผูกอาฆาตกันไว้อย่างนั้น.
               เมื่อเบียดเบียนอยู่อย่างนี้โดยไม่มีเหตุที่สมควรเลย นางได้จิกผม ใช้ทั้งมือทั้งเท้าตบถีบอย่างเต็มที่. ทาสีนั้นไปศาลาอาบน้ำ โกนผมเสียเกลี้ยง. หญิงผู้เป็นนายกล่าวว่า เฮ้ย อีทาสีชั่ว เพียงโกนผมเกลี้ยง มึงจะพ้นหรือ แล้วเอาเชือกพันศีรษะ จับนางให้ก้มลงเฆี่ยนตรงนั้น และไม่ให้นางเอาเชือกนั้นออก. นางทาสีจึงได้ชื่อว่า รัชชุมาลา ตั้งแต่นั้นมา.
               ต่อมาวันหนึ่ง ตอนใกล้รุ่ง พระศาสดาเสด็จออกจากมหากรุณาสมาบัติ ทรงตรวจดูสัตวโลก ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของนางรัชชุมาลา และการดำรงอยู่ในสรณะและศีลของนางพราหมณีนั้น จึงเสด็จเข้าไปป่าประทับนั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ทรงเปล่งพระพุทธรัศมีมีพรรณะ ๖ ไป.
               ฝ่ายนางรัชชุมาลาเล่า ถูกเขาเบียดเบียนอยู่เช่นนั้นทุกๆ วัน คิดว่าจะมีประโยชน์อะไรด้วยชีวิตอันลำเค็ญเช่นนี้ของเราดังนี้ เกิดความเบื่อหน่ายในชีวิต ประสงค์จะตายเสีย จึงถือเอาหม้อน้ำออกจากเรือนไป ทำทีเดินไปท่าน้ำ เข้าไปตามลำดับ ผูกเชือกเข้าที่กิ่งไม้ต้นหนึ่ง ที่ไม่ไกลต้นไม้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ประสงค์จะทำเป็นบ่วงผูกคอตาย มองดูไปข้างโน้นข้างนี้ ก็เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งอยู่ ณ ที่นั้น ดูน่าพอใจ น่าเลื่อมใส ทรงบรรลุความฝึกและความสงบอย่างสูงสุด กำลังเปล่งพระพุทธรัศมีมีพรรณะ ๖ อยู่.
               ครั้นเห็นแล้วมีใจถูกความเคารพในพระพุทธเจ้าเหนี่ยวรั้งไว้จึงคิดว่า ทำไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงธรรมแม้แก่คนเช่นเรา ที่เราได้ฟังแล้วพึงพ้นจากชีวิตที่ลำเค็ญนี้ได้หนอ.
               ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูอาจาระความประพฤติทางจิตของนางแล้ว จึงตรัสเรียกว่า รัชชุมาลา.
               นางได้ยินพระดำรัสนั้นแล้วเป็นประหนึ่งว่า ถูกโสรจสรงด้วยน้ำอมฤต ได้ถูกปีติสัมผัสไม่ขาดสาย เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกถาว่าด้วยสัจจะ ๔ อันเป็นลำดับต่อจากอนุบุพพีกถาแก่นาง. นางก็ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. พระศาสดาทรงดำริว่า การอนุเคราะห์แก่นางรัชชุมาลาเพียงเท่านี้ก็พอแล้ว บัดนี้นางเกิดเป็นคนที่ใครๆ จะกำจัดไม่ได้แล้ว ดังนี้จึงเสด็จออกจากป่า ประทับนั่งที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่งไม่ไกลบ้าน.
               ฝ่ายนางรัชชุมาลา เพราะเหตุที่นางเป็นผู้ไม่ควรที่จะฆ่าตัวตาย และเพราะเหตุที่นางเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยขันติ เมตตาและความเอ็นดูแล้ว จึงคิดว่า นางพราหมณีจะฆ่าหรือจะเบียดเบียนเรา หรือจะทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามที ดังนี้ แล้วเอาหม้อตักน้ำกลับไปเรือน.
               สามียืนอยู่ที่ประตูเรือนเห็นนางแล้วจึงถามว่า วันนี้เธอไปท่าน้ำตั้งนานแล้วจึงมา และสีหน้าของเธอก็ดูผ่องใสยิ่งนัก เธอปรากฏโดยอาการเปลี่ยนไป (ไม่เหมือนเดิม) นี่อะไรกัน.
               นางจึงเล่าความเป็นไปนั้นแก่สามี.
               พราหมณ์ฟังคำของนางแล้วยินดีไปยังเรือน แล้วกล่าวแก่ลูกสะใภ้ต่อหน้านางรัชชุมาลาว่า เธอไม่ต้องทำอะไรดังนี้ แล้วมีใจยินดีรีบไปยังสำนักของพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว ทำปฏิสันถารด้วยความเอื้อเฟื้อ นิมนต์พระศาสดาแล้วนำมาสู่เรือนของตน อังคาสเลี้ยงดูด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีต.
               พอพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จ ชักพระหัตถ์ออกจากบาตร จึงเข้าไปเฝ้านั่ง ณ ที่ตรงส่วนข้างหนึ่ง. แม้สะใภ้ของพราหมณ์นั้นก็เข้าไปเฝ้าถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
               พวกพราหมณ์และคฤหบดี แม้ที่อยู่ในหมู่บ้านคยาคามได้ฟังเรื่องนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า บางพวกถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกก็เพียงแต่กล่าวทักทายปราศรัยแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
               พระศาสดาตรัสกรรมที่กระทำในชาติก่อนของนางรัชชุมาลาและของนางพราหมณีนั้นโดยพิสดาร แล้วทรงแสดงธรรมตามสมควรแก่บริษัทที่มาประชุมกัน.
               นางพราหมณีและมหาชนที่ประชุมกันในที่นั้น ฟังธรรมนั้นแล้วต่างดำรงอยู่ในสรณะและศีล.
               พระศาสดาเสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ได้เสด็จไปกรุงสาวัตถีตามเดิม.
               พราหมณ์ได้ตั้งนางรัชชุมาลาไว้ในตำแหน่งเป็นลูกสาว. ลูกสะใภ้ของพราหมณ์ก็มองดูนางรัชชุมาลาด้วยนัยน์ตาแสดงความรัก ปฏิบัติต่อกันด้วยความสิเนหาน่าพอใจทีเดียว ตราบเท่าชีวิตหาไม่.
               ต่อมา นางรัชชุมาลาตายไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นางมีอัปสรพันหนึ่งเป็นบริวาร. นางประดับองค์ด้วยเครื่องอาภรณ์อันเป็นทิพย์มีประมาณบรรทุกหกสิบเล่มเกวียน มีอัปสรพันหนึ่งห้อมล้อม เสวยทิพย์สมบัติอย่างใหญ่หลวง มีใจเบิกบานเที่ยวเตร่ไปในสวนนันทนวันเป็นต้น.
               ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะไปเที่ยวเทวจาริก เห็นนางรุ่งโรจน์อยู่ด้วยเทวานุภาพ ด้วยเทวฤทธิ์อันยิ่งใหญ่ จึงถามถึงกรรมที่นางได้กระทำไว้ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
               ดูก่อนเทวดา ท่านมีวรรณะงามยิ่ง กรีดกรายมือและเท้าฟ้อนรำได้เหมาะเจาะ ในเมื่อดนตรีบรรเลงอยู่อย่างไพเราะ เมื่อท่านนั้นร่ายรำอยู่ เสียงทิพย์อันน่าฟัง น่ารื่นรมย์ใจ ก็เปล่งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทั่วสรรพางค์ เมื่อท่านนั้นร่ายรำอยู่ กลิ่นทิพย์ที่มีกลิ่นอันหอมหวนน่ารื่นรมย์ใจ ก็ฟุ้งขจรไปจากอวัยวะน้อยใหญ่ทั่วสรรพางค์ เครื่องประดับที่มวยผมที่แกว่งไกวไปมาตามกาย ก็เปล่งเสียงกังวานให้ได้ยิน ปานประหนึ่งว่า ดนตรีเครื่อง ๕ เทริดที่ถูกลมกระพือพัดเคลื่อนไหวไปตามสายลม ก็เปล่งเสียงกังวานให้ได้ยิน ปานประหนึ่งว่า เสียงดนตรีเครื่อง ๕ เช่นกัน พวงมาลัยประดับเศียรของท่านมีกลิ่นหอมน่ารื่นรมย์ใจ ก็ส่งกลิ่นหอมฟุ้งตลบไปทุกทิศ ดังหนึ่งต้นมัญชูสกะ (เป็นชื่อต้นไม้ในสวรรค์ ว่ามีกลิ่นหอมยิ่งนัก) ท่านได้สูดดมกลิ่นหอมนั้น ทั้งได้เห็นรูปอันมิใช่ของมีอยู่ในมนุษย์
               ดูก่อนเทวดา อาตมาถามท่าน ขอท่านได้โปรดบอกว่า นี้เป็นผลของกรรมอะไร.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หตฺเถ ปาเท จ วิคฺคยฺห คือ ขยับมือและเท้าด้วยอาการหลายอย่าง.
               อธิบายว่า ขยับมือด้วยอาการหลายอย่างแปลกๆ กันออกไป ด้วยอำนาจการแสดงท่าร่ายรำต่างๆ อย่าง เป็นต้นว่า รำกำดอกไม้ รำประนมดอกไม้ และเยื้องย่างเท้าด้วยอาการหลายอย่างหลากๆ ท่าด้วยอำนาจการแสดงท่าแปลกๆ แห่งการยืนมีการวางเท้าเสมอกันเป็นต้น.
               ด้วย ศัพท์ท่านรวมเอาท่าร่ายรำไว้ด้วยกัน.
               บทว่า นจฺจสิ แปลว่า ร่ายรำ.
               บทว่า ยา ตฺวํ ความว่า ท่านใดกระทำการฟ้อนรำตามที่กล่าวมาแล้ว.
               บทว่า สุปฺปวาทิเต ความว่า เมื่อมีการบรรเลงที่เหมาะสม คือ เมื่อเครื่องดนตรีมีพิณ ซอ ตะโพนและฉิ่งเป็นต้นที่เขาบรรเลงอยู่ได้จังหวะกับการฟ้อนรำของท่าน ได้แก่ เมื่อดนตรีเครื่อง ๕ ที่เขาประโคมอยู่.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วในวิมานหนหลัง.
               เทวดาถูกพระเถระไต่ถามอย่างนี้แล้ว จึงได้พยากรณ์ชี้แจงถึงชาติก่อนเป็นต้น ของตนให้ท่านทราบด้วยคาถาเหล่านี้
               ในชาติก่อน ดีฉันเกิดเป็นทาสีในบ้านชื่อคยา ของพราหมณ์ มีบุญน้อย ไม่มีวาสนา คนทั้งหลายเรียกชื่อดีฉันว่า รัชชุมาลา ดีฉันเศร้าเสียใจมาก เพราะถูกขู่เข็ญของผู้ที่ด่าทอและโดนตี จึงถือเอาหม้อน้ำออกไปทำเป็นเหมือนจะไปตักน้ำ ครั้นแล้วได้วางหม้อน้ำไว้ข้างทางเข้าไปยังป่าชัฏ ด้วยคิดว่า เราจักตายในป่านี้แหละ จะมีประโยชน์อะไรเล่าด้วยการเป็นอยู่ของเราดังนี้ แล้วจึงผูกเชือกเป็นบ่วงให้แน่นแล้วเหวี่ยงไปยังต้นไม้
               ทีนั้นก็มองดูไปรอบทิศว่าจะมีใครไหมหนออาศัยอยู่ในป่าบ้าง ในที่นั้น ดีฉันได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นมุนีบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ประทับนั่งที่โคนต้นไม้ ทรงเพ่งพินิจอยู่ มิได้ทรงมีภัยแต่ที่ไหนๆ ความสังเวชใจทำให้เกิดขนพองสยองเกล้าอย่างไม่เคยมีได้มีแก่ดีฉันนั้นว่า
               ใครหนอแลมาอยู่ในป่านี้ เป็นเทวดาหรือมนุษย์กันแน่ ใจของดีฉันเลื่อมใสแล้ว เพราะได้เห็นพระองค์ผู้น่าเลื่อมใส ควรแก่ความเลื่อมใส เสด็จออกจากป่า (คือกิเลส) บรรลุถึงนิพพานอันปราศจากป่าแล้ว ท่านผู้นี้มิใช่คนธรรมดาสามัญเลย ท่านผู้นี้มีอินทรีย์อันคุ้มครองแล้ว ยินดีในฌาน มีใจไม่วอกแวกไปตามอารมณ์ภายนอก ทรงเกื้อกูลโลกทั้งมวล จักต้องเป็นพระพุทธเจ้าแน่ ท่านผู้นี้เป็นที่หวาดหวั่นของเหล่าผู้มิจฉาทิฏฐิ หาผู้เข้าใกล้ได้ยาก ดุจดังราชสีห์อาศัยอยู่ในถ้ำ. ท่านผู้นี้ยากที่จะได้เห็น เหมือนดอกมะเดื่อ พระตถาคตนั้นตรัสเรียกดีฉันด้วยพระดำรัสอันอ่อนหวานว่า นี่แน่ะรัชชุมาลา.
               พระองค์ท่านได้ตรัสกะดีฉันว่า เธอจงถึงตถาคตเป็นที่พึ่ง ดีฉันได้ฟังพระดำรัสอันปราศจากโทษ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นวาจาสะอาดนิ่มนวล อ่อนโยนไพเราะที่จะบรรเทาความโศกทั้งปวงได้นั้นแล้ว.
               พระตถาคตผู้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่โลกทั้งปวง ทรงทราบว่าดีฉันมีจิตอาจหาญดีแล้ว จึงทรงสั่งสอนดีฉันผู้เลื่อมใส มีใจใสสะอาดแล้ว. พระองค์ได้ตรัสกะดีฉันว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางตรงให้ถึงอมตะ.
               ดีฉันตั้งตนอยู่ในพระโอวาทของพระองค์ผู้ทรงเอ็นดู เฉลียวฉลาด จึงได้บรรลุทางนิพพานอันเป็นอมตะ สงบไม่มีการจุติ ดีฉันนั้นมีความรักตั้งอยู่มั่นคงแล้ว ไม่มีที่จะหวั่นไหวในเรื่องทัสสนะ เป็นธิดาผู้บังเกิดในพระอุระของพระพุทธองค์ด้วยศรัทธาที่หยั่งรากลงแล้ว.
               ดีฉันนั้นรื่นรมย์เที่ยวเล่นบันเทิงใจอยู่ ไม่มีสิ่งน่ากลัวแต่ที่ไหนๆ ทัดทรงพวงมาลัยทิพย์ ได้ดื่มน้ำหวานหอมที่ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า นางฟ้านักดนตรีนับได้หกหมื่นกระทำการขับกล่อมดีฉันอยู่ เหล่าเทพบุตรมีชื่อต่างๆ กันคือ ชื่ออาฬัมพะ ชื่อคัคคระ ชื่อภีมะ ชื่อสาธุวาที ชื่อสังสยะ ชื่อโปกขระ ชื่อสุผัสสะและเหล่านางอัปสรมีชื่อว่าวีณา ชื่อโมกขา ชื่อนันทา ชื่อสุนันทา ชื่อโสณทินนา ชื่อสุจิมหิตา ชื่ออลัมพุสา ชื่อมิสสเกสี ชื่อปุณฑรีกา ชื่ออติทารุณี ชื่อเอณิปัสสา ชื่อสุปัสสา ชื่อสุภัททา ชื่อมุทุกาวที เหล่านี้ล้วนแต่เลิศกว่านางอัปสรทั้งหลายในการขับกล่อม.
               เทวดาเหล่านั้นเข้าไปหาดีฉันตามเวลาแล้วกล่าวเชิญชวนว่า มาเถิด พวกเราจะฟ้อนรำ จะขับร้อง จะทำให้ท่านร่าเริง ที่นี้มิใช่ที่ของผู้มิได้ทำบุญไว้ แต่เป็นที่ของผู้ทำบุญไว้ สวนมหาวันของเทพยเจ้าทั้งหลายเป็นที่ไม่เศร้าโศก เป็นที่น่าบันเทิง น่ารื่นรมย์สำหรับผู้ที่มิได้ทำบุญไว้ สุขไม่มีในโลกนี้และโลกหน้า สุขในโลกนี้และโลกหน้าจะมีแก่คนทำบุญไว้ ผู้มีประสงค์จะอยู่ร่วมกับเทพเหล่านั้น ควรกระทำกุศลให้มากไว้ เพราะผู้มีบุญอันทำไว้แล้ว ย่อมพรั่งพร้อมด้วยโภคสมบัติ บันเทิงในสวรรค์.
               พระตถาคตทั้งหลายเป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เป็นบ่อเกิดแห่งบุญเขตของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมอุบัติขึ้นมาเพื่อประโยชน์แก่ชนหมู่มากจริงหนอ ที่ทายกกระทำบุญในท่านแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทาสี อหํ ปุเรอาสึ ได้แก่ ในชาติก่อนคือมีในปางก่อน ดีฉันได้เป็นนางทาสีในเรือนเบี้ย.
               ในบทนั้น นางกล่าวว่าของใคร.
               ตอบว่า ของพราหมณ์ในบ้านคยา. ของพราหมณ์คนหนึ่งในบ้าน อันมีชื่อว่าคยา.
               บทว่า หํ เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า อปฺปปุญฺญา คือ มีโชคน้อยไม่มีบุญ.
               บทว่า อลกฺขิกา คือ ปราศจากสิริ เป็นกาลกรรณี.
               บทว่า รชฺชุมาลาติ มํ วิทู คือ พวกมนุษย์เรียกชื่อดีฉันว่า รัชชุมาลา ก็เนื่องด้วยมีเชือกวงแหวนที่เขาผูกไว้แน่นแล้ววางไว้บนศีรษะ ในเมื่อเขาโกนศีรษะลำบากด้วยจับเส้นผมดึงมาดึงไป เพื่อเหตุนี้นี่เอง.
               บทว่า วธานํ แปลว่า เฆี่ยน.
               บทว่า ตชฺชนาย แปลว่า ด้วยการขู่ให้กลัว.
               บทว่า อุกฺคตา คือ เพราะการเกิดขึ้นแห่งโทมนัสอย่างเหลือล้น.
               บทว่า อุทหาริยา คือ จะไปตักน้ำมา. อธิบายว่า ทำเป็นเหมือนจะไปนำเอาน้ำมา
               บทว่า วิปเถ แปลว่า ในที่มิใช่ทางเดิน. ความว่า หลีกออกจากทาง.
               บทว่า กฺวตฺโถ ตัดบทเป็น โก อตโถ (ประโยชน์อะไร). อีกนัยหนึ่ง บาลีก็เป็นเช่นเดียวกัน.
               บทว่า ทฬฺหํ ปาสํ กริตฺวาน คือ กระทำบ่วงที่ผูกไว้ให้มั่นไม่ให้ขาดได้.
               บทว่า อาสุมฺภิตฺวาน ปาทเป คือ โยนไปที่ต้นไม้ด้วยทำให้คล้องไว้ที่คบไว้.
               บทว่า ตโต ทิสาวิโลเกสึ โก นุ โข วนมสฺสิโต อธิบายว่า จะมีใครบ้างไหมหนอที่อยู่โดยเข้าไปสู่ป่านี้ เพราะเหตุจะเป็นอันตรายแก่การตายของเรา.
               บทว่า สมฺพุทฺธํ เป็นต้น ท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจความเป็นเอง แม้เมื่อนางจะไม่มีความรู้สึกตระหนักแน่เช่นนั้น ในกาลนั้นก็ตาม.
               บทนั้นมีใจความว่า พึงทราบว่า
               ชื่อว่าเป็นสัมพุทธะ เพราะพระองค์ตรัสรู้ธรรมที่ควรตรัสรู้แม้ทั้งสิ้นด้วยพระองค์เองโดยแท้และโดยชอบด้วย. ชื่อว่าเป็นผู้เกื้อกูลแก่โลกทั้งมวล เพราะพระองค์มีประโยชน์เกื้อกูลโดยส่วนเดียวแก่โลกแม้ทั้งมวลที่แตกต่างกันโดยประเภทเป็นคนเลวเป็นต้น เพราะทรงประกอบด้วยพระมหากรุณา. ชื่อว่าเป็นมุนี เพราะทรงรู้โลกทั้งสอง. ชื่อว่าประทับนั่งแล้วด้วยอำนาจแห่งการประทับนั่งและด้วยไม่มีการเคลื่อนไปจากที่ด้วยอภิสังขารคือกิเลส. ชื่อว่าทรงเพ่งพินิจอยู่ด้วยอารัมมณูปนิชฌานและลักขณูปนิชฌาน. ชื่อว่าไม่ทรงมีภัยแต่ที่ไหนๆ เพราะไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ เพราะเหตุที่ภัยพระองค์ตัดขาดแล้วที่โคนต้นโพธิ์นั่นแล.
               ญาณประกอบด้วยโอตตัปปะ ชื่อว่าความสังเวช.
               ความสังเวชนั้นเกิดขึ้นแก่นางเพราะได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตสฺมา เม อหุ สํเวโค ดังนี้.
               บทว่า ปาสาทิกํ แปลว่า นำมาซึ่งความเลื่อมใส. อธิบายว่า เป็นผู้ทำความเลื่อมใสให้เจริญยิ่งขึ้น เพราะความถึงพร้อมด้วยความงามแห่งพระสรีระของพระองค์อันประดับประดาด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ พระอนุพยัญชนะ ๘๐ พระรัศมีข้างละวา และพระเกตุมาลาที่ก่อให้เกิดความเลื่อมใสทั่วไป เป็นของให้สำเร็จประโยชน์สำหรับชนผู้ขวนขวายจะดูพระรูปกาย.
               บทว่า ปาสาทนิยํ คือ ทรงประกอบด้วยพระธรรมกายสมบัติอันพรั่งพร้อมด้วยพระคุณอันหาประมาณมิได้ คือทศพลญาณ จตุเวสารัชชญาณ อสาธารณญาณ ๖ และเป็นแดนเกิดแห่งพระพุทธธรรมอันประเสริฐ ๑๘ ประการที่ชนผู้เห็นสมจะพึงเลื่อมใส. อธิบายว่า เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส.
               บทว่า วนา คือ หลีกออกจากป่าคือกิเลส.
               บทว่า นิพฺพนมาคตํ คือ เข้าถึง ได้แก่บรรลุธรรมที่ปราศจากตัณหา คือนิพพานนั่นเอง.
               บทว่า ยาทิสกีทิโส คือ คนธรรมดาสามัญ. อธิบายว่า คนทั่วๆ ไป.
               พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ามีพระอินทรีย์อันทรงคุ้มครองแล้ว เพราะพระอินทรีย์ทั้งหลายมีใจเป็นที่ ๖ พระองค์ทรงคุ้มครองได้แล้วด้วยมรรคอันยอดเยี่ยม. ทรงพระนามว่ายินดีในฌาน เพราะทรงยินดียิ่งในผลฌานอันเลิศ. ทรงพระนามว่ามีพระทัยไม่วอกแวกไปภายนอก เพราะทรงมีพระทัยหลีกออกจากอารมณ์มีรูปเป็นต้นอันเป็นภายนอก แล้วหยั่งลงในพระนิพพานอันเป็นอารมณ์ภายใน. ทรงพระนามว่าเป็นที่หวาดหวั่นของมิจฉาทิฏฐิกบุคคลผู้น่ากลัว เพราะอันมิจฉาทิฏฐิกบุคคลผู้มีความหลงผิดด้วยกลัวจะถูกปลดเปลื้องจากการถือผิด และเพราะให้เกิดความกลัวแก่เขาเหล่านั้น. ทรงพระนามว่าหาผู้เข้าใกล้ได้ยาก เพราะอันบุคคลผู้ประโยควิบัติและอาสยวิบัติเข้าถึงไม่ได้ และอันใครๆ จะพึงเข้าใกล้ไม่ได้.
               บทว่า ทุลฺลภายํ ตัดบทเป็น ทุลฺลโภ อยํ.
               บทว่า ทสฺสนาย คือ แม้เพื่ออันเห็น.
               บทว่า ปุปฺผํ อุทุมฺพรํ ยถา ความว่า ดอกที่มีในต้นมะเดื่อเป็นของเห็นได้ยาก บางคราวก็มี บางคราวก็ไม่มี ฉันใด การเห็นบุคคลผู้สูงสุดเช่นนี้ก็ฉันนั้น.
               พึงทราบโยชนาดังนี้ พระตถาคตนั้นทรงร้องเรียกคือตรัสเรียกดีฉันว่า รัชชุมาลา ด้วยพระวาจาอันอ่อนโยน คือด้วยพระวาจาอันละเอียดอ่อน แล้วได้ตรัสคือได้ทรงบอกดีฉันว่า ท่านจงถึงตถาคตที่กล่าวโดยนัยเป็นต้นว่า ผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ.
               บทว่า ตาหํ ตัดบทเป็น ตํ อหํ.
               บทว่า คิรํ แปลว่า วาจา.
               บทว่า เนลํ คือ ไม่มีโทษ.
               บทว่า อตฺถวตึ แปลว่า ประกอบด้วยประโยชน์ คือเป็นไปกับด้วยประโยชน์ หรือว่ามีประโยชน์โดยส่วนเดียว.
               วาจาชื่อว่าสะอาด เพราะเป็นวาจาที่มีความสะอาด. วาจาชื่อว่าละเอียดอ่อน เพราะเป็นวาจาไม่หยาบคาย. ชื่อว่าอ่อนโยน เพราะการทำเวไนยสัตว์ให้อ่อนโยน. ชื่อว่าไพเราะ เพราะความเป็นวาจาน่าฟัง.
               บทว่า สพฺพโสกาปนูทนํ พึงทราบสัมพันธ์ดังนี้ ดีฉันได้มีจิตเลื่อมใสแล้ว เพราะได้ฟังพระดำรัสอันบรรเทาความโศก ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุมีความพินาศแห่งญาติเป็นต้นได้หมดสิ้น.
               นางกล่าวหมายเอาอนุบุพพีกถาของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่เริ่มต้นแต่ทานกถานั้นทั้งหมด สืบต่อเป็นไปด้วยอำนาจแห่งการทำให้แจ้งซึ่งอานิสงส์ในเนกขัมมะ,
               เพราะเหตุนั้น นางจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า กลฺลจิตฺตญฺจ มํ ญตฺวา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กลฺลจิตฺตํ คือ มีจิตอันควรแก่การงาน. อธิบายว่า มีจิตเหมาะแก่การงานโดยเข้าถึงความเป็นภาชนะของธรรมเบื้องหน้าจากโทษแห่งจิตมีความไม่มีศรัทธาเป็นต้นด้วยเทศนาที่เป็นไปในหนหลัง คือมีจิตเหมาะสมแก่ภาวนากรรม. เพราะเหตุนั้น นางจึงกล่าวว่า ปสนฺนํ สุทฺธมานสํ.
               บรรดาบทเหล่านั้น นางกล่าวถึงการปราศจากความไม่มีศรัทธาด้วยบทนี้ว่า ปสนฺนํ.
               ด้วยบทนี้ว่า สุทฺธมานสํ นางแสดงถึงความที่จิตอ่อนและความที่จิตมีอารมณ์เลิศด้วยการปราศจากนิวรณ์มีกามฉันท์เป็นต้น.
               บทว่า อนุสาสิ แปลว่า ตรัสสอนแล้ว. อธิบายว่า ทรงยกขึ้นแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงแห่งความเป็นไปของธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงยกขึ้นแสดงเองพร้อมทั้งอุบาย เพราะเหตุนั้น นางจึงกล่าวว่า อิทํ ทุกฺขํ เป็นต้น. เพราะคำนี้เป็นคำแสดงถึงอาการที่ทรงพร่ำสอน.
               พึงทราบสัมพันธ์ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทํ ทุกฺขนฺติ มํ อโวจ ความว่า พระองค์ได้ตรัสแก่ดีฉันว่า ธรรมชาติอันเป็นไปในภูมิ ๓ มีตัณหาเป็นโทษนี้เป็นของต่ำช้า เพราะมีอันเบียดเบียนเป็นสภาพเป็นทุกขอริยสัจ เพราะเป็นของว่างเปล่าเป็นสภาพและเพราะเป็นของแท้.
               บทว่า อยํ ทุกฺขสฺสสมฺภโว ความว่า ตัณหาต่างชนิดมีกามตัณหาเป็นต้นนี้ เป็นแดนเกิด คือเป็นแดนมีขึ้น เป็นการอุบัติขึ้นเป็นเหตุ ชื่อว่าสมุทัยอริยสัจ.
               บทว่า ทุกฺขนิโรโธ มคฺโค ความว่า ความสงบระงับแห่งทุกข์ เป็นอสังขตธาตุ จัดเป็นนิโรธอริยสัจ. ชื่อว่าเป็นหนทาง เพราะเว้นเสียได้ซึ่งที่สุด ๒ อย่าง ชื่อว่าหยั่งลงสู่อมตะ เพราะเป็นปฏิปทามีปกติให้ถึงพระนิพพาน ชื่อว่ามรรคอริยสัจ พระองค์ได้ตรัสกะดีฉันดังนี้.
               บทว่า กุสลสฺส คือ ทรงฉลาดในการประทานพระโอวาทในการทรงฝึกฝนเวไนยสัตว์ ผู้ไม่มีโทษเพราะเป็นข้อปฏิบัติเพื่อความไม่ประมาท หรือเพราะเป็นเครื่องถึงธรรมอันสุดยอด.
               บทว่า โอวาทมฺหิ อหํ ฐิตา ความว่า ดีฉันตั้งมั่นแล้วในพระโอวาท คือในคำพร่ำสอนตามที่กล่าวแล้ว โดยการแทงตลอดซึ่งสัจจะด้วยการบำเพ็ญให้บริบูรณ์ในสิกขา ๓. เพราะเหตุนั้น นางจึงกล่าวว่า อชฺฌคา อมตํ สนฺตึ นิพฺพานํ ปทมจฺจุตํ คำนี้เป็นคำแสดงเหตุแห่งการตั้งอยู่ในพระโอวาท.
               นางได้บรรลุคือได้ถึงทางพระนิพพาน ชื่อว่าอมตะ เพราะไม่มีความตาย เหตุเป็นของเที่ยง. ชื่อว่าสงบระงับ เพราะเข้าไปสงบระงับทุกข์ทั้งปวง. ชื่อว่าอันไม่มีจุติ เพราะเป็นเหตุให้ผู้ได้บรรลุแล้วไม่จุติ. นางชื่อว่าตั้งอยู่ในพระโอวาทของพระศาสดาโดยส่วนเดียว.
               บทว่า อวฏฺฐิตา เปมา คือ มีความภักดีมั่นคง ได้แก่มีความเยื่อใยด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย.
               นางเป็นผู้ไม่หวั่นไหว คืออันใครให้หวั่นไหวมิได้ในความเห็นชอบนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมอันพระองค์ตรัสดีแล้ว พระสงฆ์ปฏิบัติดีแล้วดังนี้ เพราะเหตุที่นางชื่อว่าไม่หวั่นไหวในทัสสนะ.
               ก็การไม่หวั่นไหวนั้นมีได้เพราะอะไร เพราะเหตุนั้น นางจึงกล่าวว่า เพราะศรัทธาที่เกิดรากเหง้าขึ้นแล้ว. นางแสดงว่า ดีฉันมีปกติไม่หวั่นไหวเพราะศรัทธาที่เกิดรากเหง้าขึ้นแล้วด้วยรากเหง้า กล่าวคือการรู้แจ้งสัจจะในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยนัยเป็นต้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์ ในพระธรรมของพระองค์โดยนัยเป็นต้นว่า ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ในพระสงฆ์ของพระองค์โดยนัยเป็นต้นว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว.
               เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ นางจึงชื่อว่าเป็นธิดาผู้บังเกิดจากพระอุระของพระพุทธเจ้า คือเป็นบุตรีผู้เกิดจากพระอุระ เพราะเป็นผู้มีกำเนิดดีอันเกิดจากความพยายามที่พระอุระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า สาหํ รมามิ ความว่า ดีฉันนั้นมาเกิดเป็นเทพเจ้าในบัดนี้ เพราะการเกิดเป็นพระอริยเจ้าในครั้งนั้น จึงยินดีในมรรคและยินดีในผล ดีฉันเที่ยวเล่นอยู่ด้วยความยินดีในกามคุณ. ดีฉันบันเทิงอยู่แม้ด้วยความยินดีทั้งสอง.
               ชื่อว่าผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหน เพราะเป็นผู้มีภัยคือการติเตียนตนเป็นต้น ไปปราศแล้ว.
               บทว่า มธุมทฺทวํ คือ น้ำที่กระทำให้กระปรี้กระเปร่า, กระชุ่มกระชวย กล่าวคือน้ำผึ้ง นางกล่าวหมายเอาน้ำที่มีกลิ่นหอมที่นำมาซึ่งความกระปรี้กระเปร่าแห่งเนื้อตัวและสุ้มเสียง ในเวลาฟ้อนรำและขับร้อง.
               บางอาจารย์กล่าวว่า มธุมาทวํ ความว่า ดีฉันดื่มน้ำหวานที่ทำให้รื่นเริง เพียงเล่นสนุกสนานมีแต่เที่ยวสนุกไป.
               บทว่า ปุญฺญกฺเขตฺตานมากรา ความว่า พระตถาคตเป็นบ่อเกิดคือเป็นสถานที่เกิดขึ้นแห่งพระอริยะผู้ตั้งมั่นอยู่ในมรรคและผล ผู้เป็นบุญเขตของโลกพร้อมทั้งเทวโลก คือพระอริยสงฆ์.
               บทว่า ยตฺถ คือ ในบุญเขตใด.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ท่านพระมหาโมคคัลลานะฟังประวัตินี้แล้วกลับมามนุษยโลกกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นเหตุเกิดเรื่องแล้ว ทรงแสดงธรรมแก่บริษัทที่มาประชุมกัน. เทศนานั้นได้เป็นประโยชน์แก่มหาชนแล้วด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถารัชชุมาลาวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. มัญชิฏฐกวิมาน
                         ๒. ปภัสสรวิมาน
                         ๓. นาควิมาน
                         ๔. อโลมวิมาน
                         ๕. กัญชิกทายิกาวิมาน
                         ๖. วิหารวิมาน
                         ๗. จตุริตถีวิมาน
                         ๘. อัมพวิมาน
                         ๙. ปีตวิมาน
                         ๑๐. อุจฉุวิมาน
                         ๑๑. วันทนวิมาน
                         ๑๒. รัชชุมาลาวิมาน
               จบมัญชิฏฐกวรรคที่ ๔ ในอิตถีวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ มัญชิฏฐกวรรคที่ ๔ ๑๒. รัชชุมาลาวิมาน จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 49อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 50อ่านอรรถกถา 26 / 51อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=1725&Z=1802
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=5023
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=5023
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :