ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 83อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 84อ่านอรรถกถา 26 / 85อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ สุนิกขิตวรรคที่ ๗
๑๐. เสริสสกวิมาน

               อรรถกถาเสรีสกวิมาน               
               เสรีสกวิมาน มีคาถาว่า สุโณถ ยกฺขสฺส จ วาณิชาน จ เป็นต้น.
               เสรีสกวิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร?
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านพระกุมารกัสสปะพร้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปไปถึงเสตัพยนคร ได้เปลื้องพระยาปายาสิผู้เข้าไปหาตนในนครนั้น จากมิจฉาทิฏฐิ ให้ดำรงอยู่ในสัมมาทิฏฐิ.
               จำเดิมแต่นั้นมา พระยาปายาสิเป็นผู้ขวนขวายในบุญ เมื่อถวายทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ได้ถวายทานโดยไม่เคารพ เพราะมิได้เคยสร้างสมในทานนั้น ในเวลาต่อมาทำกาลกิริยาตายไปบังเกิดในเสรีสกวิมาน [ใกล้ต้นซึก] ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช.
               เล่ากันมาว่า ในอดีตกาล ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ.
               พระเถระขีณาสพองค์หนึ่งเที่ยวบิณฑบาตในบ้านแห่งหนึ่งแล้ว ได้ทำภัตกิจที่สวนแห่งหนึ่งนอกบ้านทุกวัน คนเลี้ยงโคคนหนึ่งเห็นดังนั้น คิดว่า พระผู้เป็นเจ้าลำบากเพราะแสงแดด มีจิตเลื่อมใสได้เอาเสาไม้ซึก ๔ ต้นกระทำมณฑปกิ่งไม้ถวาย. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ปลูกต้นซึกใกล้มณฑป ดังนี้ก็มี.
               เขาทำกาละตายไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช ด้วยบุญกรรมนั้นเอง ที่ประตูวิมานได้บังเกิดสวนไม้ซึกซึ่งมีดอกพรั่งพร้อมด้วยสีและกลิ่นงดงามอยู่ทุกเวลา ส่องถึงกรรมเก่าของเขา ด้วยเหตุนั้น วิมานนั้นจึงรู้กันทั่วว่าเสรีสกะ.
               อนึ่ง เทพบุตรนั้นเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตลอดพุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ เป็นพระควัมปติ ในคฤหัสถ์ ๔ คนมีวิมลเป็นต้นซึ่งเป็นสหายของพระยสเถระ ตั้งอยู่ในพระอรหัตด้วยพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เห็นวิมานว่างนั้น จึงไปพักกลางวันอยู่เนืองๆ ด้วยอำนาจบุญกรรมที่สั่งสมไว้ในกาลก่อน.
               ต่อมา พระควัมปติเถระพบปายาสิเทพบุตรในที่นั้น ถามว่า ผู้มีอายุ ท่านเป็นใคร.
               เมื่อปายาสิเทพบุตรตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าคือพระยาปายาสิ มาเกิดในที่นี้ จึงกล่าวว่า ท่านเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีทัศนะวิปริตมิใช่หรือ มาเกิดในที่นี้ได้อย่างไร.
               ครั้งนั้น ปายาสิเทพบุตรกล่าวกะพระเถระว่า พระผู้เป็นเจ้ากุมารกัสสปเถระเปลื้องข้าพเจ้าจากมิจฉาทิฏฐิ แต่ข้าพเจ้าบังเกิดในวิมานว่างก็ด้วยบุญกิริยาที่กระทำโดยไม่เคารพ ดีแล้วเจ้าข้า เวลาท่านกลับไปมนุษยโลก ขอท่านโปรดบอกกล่าวแก่ชนบริวารของข้าพเจ้าว่า พระยาปายาสิถวายทานโดยไม่เคารพมาเกิดในวิมานไม้ซึกซึ่งเป็นวิมานว่าง ท่านทั้งหลายจงทำบุญโดยเคารพ จงตั้งใจให้แน่วแน่ เพื่อมาเกิดในวิมานนั้น.
               พระเถระก็ได้กระทำอย่างว่านั้น เพื่ออนุเคราะห์เทพบุตรนั้น. แม้พวกชนบริวารเหล่านั้นฟังคำของพระเถระแล้ว ตั้งใจทำบุญอย่างนั้น ได้บังเกิดในเสรีสกวิมานไม้ซึก.
               ท้าวมหาราชเวสวัณได้แต่งตั้งเสรีสกเทพบุตรให้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้อารักขามรรคา เพื่อจะปลดเปลื้องอันตรายแต่อมนุษย์ แก่พวกมนุษย์ที่เดินทางในทางที่ขาดร่มเงาและน้ำ ณ พื้นที่ทะเลทราย.
               สมัยต่อมา พวกพ่อค้าชาวอังคะและมคธ เอาสินค้าบรรทุกเกวียนเต็มพันเล่ม เดินทางไปสินธุประเทศและโสวีระประเทศ ในทางทะเลทราย ไม่เดินทางในกลางวัน เพราะกลัวร้อน เดินทางในกลางคืน เพราะใช้ดวงดาวเป็นสัญญาณเครื่องกำหนดหมาย พวกเขาพากันเดินหลงทางไปยังทิศทางอื่น.
               ในระหว่างพ่อค้าเหล่านั้น มีอุบาสกคนหนึ่งเป็นคนมีศรัทธาเลื่อมใส สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัยที่จะได้บรรลุพระอรหัต ไปค้าขายเพื่อบำรุงเลี้ยงบิดามารดา.
               เมื่อจะอนุเคราะห์อุบาสกนั้น เสรีสกเทพบุตรจึงแสดงองค์พร้อมด้วยวิมาน และครั้นแสดงแล้วได้ถามว่า เหตุไร พวกท่านจึงเดินทางสายนี้ ซึ่งไม่มีร่มเงาและน้ำ ทั้งยังเป็นทะเลทราย.
               พวกเขาได้บอกถึงเรื่องที่พวกตนมาในที่นั้นแก่เทพบุตรนั้น.
               การแสดงข้อความนั้นเป็นคาถารวบรวมคำกล่าวคำโต้ตอบของเทพบุตรและของพ่อค้าทั้งหลายไว้. เพื่อแสดงความสัมพันธ์ของคาถาเหล่านั้น พระธรรมสังคากาจารย์ทั้งหลายได้เริ่มตั้งคาถาต้นไว้สองคาถาว่า
               ขอท่านทั้งหลายจงฟังคำของเทวดา และของพวกพ่อค้าในทางทะเลทรายที่ได้มาพบกันในเวลานั้น และฟังถ้อยคำที่เทวดาและพวกพ่อค้าโต้ตอบกันโดยประการใด ขอท่านทั้งปวงจงฟังคำนั้นโดยประการนั้นเถิด ยังมีพระยานามว่าปายาสิ มียศ ถึงความเป็นสหายของภุมเทวดา บันเทิงอยู่ในวิมานของตนเป็นเทวดา ได้มาสนทนากะพวกมนุษย์.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุโณถ เป็นคำบังคับให้ฟัง ความว่า ท่านทั้งหลายจงฟังคำที่พวกเรากล่าวอยู่ในบัดนี้.
               บทว่า ยกฺขสฺส ได้แก่ เทวดา. ด้วยว่าเทวดา ท่านเรียกว่ายักษ์ เพราะเป็นผู้ควรบูชาของพวกมนุษย์และของเทวดาบางพวก.
               อนึ่ง ท้าวสักกะก็ดี ท้าวจาตุมหาราชก็ดี บริษัทของท้าวเวสวัณก็ดี บุรุษก็ดี ท่านก็เรียกว่า ยักษ์.
               จริงอย่างนั้น ท้าวสักกะ ท่านเรียกว่า ยักษ์ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า อติพาฬฺหํ โข อยํ ยกฺโข ปมตฺโต วิหรติ ยนฺนูนาหํ อิมํ ยกฺขํ สํเวเชยฺยํ ท้าวสักกะนี้อยู่อย่างประมาทหนักหนา อย่ากระนั้นเลย เราพึงยังท้าวสักกะนี้ให้สังเวช.
               ท้าวมหาราชทั้งหลาย ท่านเรียกว่า ยักษ์ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า จตฺตาโร ยกฺขา ขคฺหตฺถา ท้าวมหาราชทั้งสี่ถือพระขรรค์.
               บริษัทของท้าวเวสวัณ ท่านเรียกว่า ยักษ์ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า สนฺติ หิ ภนฺเต อุฬารา ยกฺขา ภควโต อปฺปสนฺนา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีบริษัทของท้าวเวสวัณเป็นอันมาก ไม่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บุรุษ ท่านเรียกว่า ยักษ์ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า เอตฺตาวตา ยกฺขสฺส สุทฺธิ เพียงเท่านี้ก็เป็นความสุทธิ์ของบุรุษ.
               แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาบริษัทของท้าวเวสวัณ.
               บทว่า วาณิชาน จ ท่านกล่าวลบนิคหิต เพื่อสะดวกในการผูกคาถา.
               บทว่า สมาคโม แปลว่า มาพบกัน.
               บทว่า ยตฺถ ได้แก่ ในทะเลทรายใด.
               บทว่า ตทา ได้แก่ ในเวลาที่หลงทางไปนั้น.
               บทว่า อิตริตเรน จาปิ ได้แก่ กันและกัน.
               บทนี้ พึงประกอบกับบท ยถา ในข้อนี้มีเนื้อความดังต่อไปนี้
               เสรีสกเทพบุตรและพวกพ่อค้าได้พบกัน ณ ที่ใด [ทางทะเลทราย] ในคราวนั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยคำที่พูดกันดี เจรจากันไพเราะ ที่เสรีสกเทพบุตรและพวกพ่อค้าเหล่านั้นให้เป็นไปแล้วโดยเรื่องใด ขอท่านทั้งปวงจงตั้งใจฟังเรื่องนั้น.
               บทว่า ภุมฺมานํ ได้แก่ เหล่าภุมเทวดา.
               บัดนี้ เป็นคาถาถามของเทพบุตร ว่า
               ดูก่อนมนุษย์ทั้งหลาย พวกท่านกลัวทางคดเคี้ยว ใจเสียอยู่ในที่น่าสงสัยว่ามีภัยในป่า ในถิ่นอมนุษย์ในทางกันดาร ไม่มีน้ำ ไม่มีอาหาร เดินไปได้แสนยาก กลางทะเลทราย ในทะเลทรายนี้ไม่มีผลไม้ ไม่มีเผือกมัน ไม่มีเชื้อไฟ ในที่นี้จะมีอาหารแต่ที่ไหน นอกจากฝุ่นและทราย ที่แดดแผดเผาทั้งร้อนทั้งทารุณ เป็นที่ดอน ร้อนดังแผ่นเหล็กเผาไฟ หาความสุขมิได้ เทียบเท่านรก [ในปรโลก] เป็นที่อยู่ของพวกมนุษย์หยาบช้า ยุคโบราณ เป็นภูมิประเทศ เหมือนถูกสาปไว้ เออก็พวกท่านหวังอะไร เพราะเหตุไรจึงไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน ตามกันเข้ามายังประเทศถิ่นนี้พร้อมกัน เพราะความโลภ ความกลัวหรือเพราะหลงทาง.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วงฺเก ได้แก่ ที่น่าสงสัย ซึ่งผู้เข้าไปแล้วมีความสงสัยในชีวิตว่า จักเป็น จักตายหนอ ในป่าเช่นนั้น.
               บทว่า อมนุสฺสฏฺฐาเน ได้แก่ เป็นที่สัญจรของพวกอมนุษย์มีปิศาจเป็นต้น หรือไม่ใช่เป็นทางโคจรของพวกมนุษย์.
               บทว่า กนฺตาเร ได้แก่ ทุ่งที่ไม่มีน้ำ ภูมิประเทศชื่อว่ากันดาร เพราะอรรถว่าเป็นที่ให้ข้ามน้ำนำน้ำไปด้วย ได้แก่ที่ที่ต้องถือเอาน้ำข้ามไป ด้วยเหตุนั้น เทพบุตรจึงกล่าวว่า อปฺโปทเก ไม่มีน้ำ.
               อปฺป ศัพท์ในที่นี้มีความว่าไม่มี เหมือนในประโยคเป็นต้นว่า อปฺปิจฺโฉ [ไม่] มีความปรารถนา. อปฺปนิคโฆโส ไม่มีเสียงอึกทึก.
               บทว่า วณฺณุปถสฺส มชฺเฌ ความว่า ท่ามกลางทะเลทราย.
               บทว่า วงฺกมฺภยา แปลว่า กลัวแต่ทางคดเคี้ยว เมื่อควรจะกล่าวว่า วงกภยา เพราะอรรถว่าพวกเขามีแต่ความกลัวแต่ทางคดเคี้ยว กล่าวเสียว่า วงฺกมฺภยา ลงนิคหิต (แล้วแปลงเป็น ) เพื่อสะดวกในการผูกคาถา และบทนี้ ท่านกล่าวหมายถึงภัยที่เกิดขึ้นแก่พวกเขา ก่อนที่จะเข้าไปในทะเลทราย.
               บทว่า นฏฺฐมนา ได้แก่ มีใจเสีย เพราะจำทางไม่ได้. อธิบายว่า หลงทาง.
               บทว่า มนุสฺสา เป็นคำเรียกพ่อค้าเหล่านั้น [อาลปนะ].
               บทว่า อิธ ได้แก่ ในทะเลทรายนี้.
               บทว่า ผลา ประกอบความว่า ไม่มีผลไม้ทั้งหลายมีมะม่วง ชมพู่ ตาลและมะพร้าวเป็นต้น.
               บทว่า มูลมยา จ ความว่า เหง้านั่นแหละ ชื่อว่าสำเร็จแต่เหง้า ท่านกล่าวหมายเอาเหง้าที่เกิดแต่ไม้เถาเป็นต้น.
               บทว่า อุปาทานํ นตฺถิ ความว่า ไม่มีอาหารอะไรๆ. อีกอย่างหนึ่ง เชื้อชื่อว่าอุปาทาน แม้เพียงเชื้อไฟก็ไม่มีแล้ว จะมีอาหารในทะเลทรายนี้แต่ไหน คือเพราะเหตุไร ดังนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านกล่าวคำเป็นต้นว่า อญฺญตร ปํสูหิ ดังนี้ ก็เพื่อแสดงสิ่งที่มีอยู่ในทะเลทรายนั้น.
               บทว่า อุชฺชงฺคลํ ความว่า ภูมิประเทศเศร้าหมองสีเทามอๆ ไม่มีน้ำ เรียกว่าชังคละ ที่ดอน. ก็ที่ตรงนั้นเป็นที่ดอนมากกว่าที่ดอนทั่วไป ดังนั้น เทพบุตรจึงกล่าวว่า อุชฺชงฺคลํ.
               ด้วยเหตุนั้น เทพบุตรจึงกล่าวว่า ตตฺตมิวํ กปาลํ ความว่า เหมือนแผ่นเหล็กถูกไฟเผา และในที่นี้ท่านกล่าวลงนิคหิต เพื่อสะดวกในการผูกคาถา พึงทราบว่า ตตฺตมิว นั่นเอง.
               บทว่า อนายสํ ความว่า ชื่อว่าอนายะ เพราะอรรถว่าเป็นที่ไม่มีอายะคือความสุข ชื่ออนายสะ เพราะอรรถว่าเสื่อมชีวิต คือให้ชีวิตพินาศ เพราะไม่มีความสุขนั้นแหละ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่ออนายสะ เพราะไม่เป็นสุข.
               บทว่า ปรโลเกน ได้แก่ เปรียบด้วยนรก.
               จริงอยู่ นรกเป็นโลกปรปักษ์ คือเป็นข้าศึกของสัตว์ทั้งหลาย เพราะทำความพินาศให้โดยส่วนเดียว ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าปรโลก เป็นพิเศษ.
               อนึ่ง นรกนี้ ชื่อว่าอายสะ เพราะทำด้วยเหล็กโดยรอบ. ส่วนที่ดอนนี้ ชื่อว่าอนายสะ เพราะไม่มีเหล็กนั้น. เทพบุตรแสดงว่า คล้ายนรก เพราะเป็นที่เกิดทุกข์มาก. บางพวกกล่าวว่า อนสฺสยํ ความว่า ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความสุข.
               บทว่า ลุทฺทานมาวาสมิทํ ปุราณํ ความว่า ที่นี้ ตั้งนานมาแล้วเป็นที่อยู่ของพวกมนุษย์หยาบช้าทารุณมีปิศาจเป็นต้น.
               บทว่า อภิสตฺตรูโน ความว่า เหมือนถูกสาป เช่นที่พวกฤาษีโบราณสาปว่า จงเศร้าหมอง มีอาการเลวร้ายอย่างนี้.
               บทว่า เกน วณฺเณน ได้แก่ เพราะเหตุไร.
               บทว่า กิมาสมานา แปลว่า หวังอะไร.
               บทว่า หิ เป็นเพียงนิบาต. บางท่านกล่าว ปเทสมฺปิ ความว่า ประเทศแม้ชื่อนี้.
               บทว่า สหสา สเมจฺจ ความว่า ไม่พิจารณาถึงโทษและคุณ ตามกันเข้าไป คือเข้าไปพร้อมกัน.
               บทว่า โลภา ภยา ความว่า ถูกผู้ไม่หวังดีบางคนล่อลวงเข้าไปเพราะความโลภ หรือถูกอมนุษย์เป็นต้นบางคนทำให้ตกใจ เข้าไปเพราะความกลัว.
               บทว่า อถ วา สมฺปมุฬฺหา ได้แก่ เพราะไปผิดทาง. ประกอบความว่า เข้าไปเรื่อยๆ ถึงประเทศถิ่นนี้.
               บัดนี้ พวกพ่อค้ากล่าวว่า
               พวกข้าพเจ้าเป็นนายกองเกวียนอยู่ในแคว้นมคธและแคว้นอังคะ บรรทุกสินค้ามาก ต้องการทรัพย์ ปรารถนากำไร จะพากันไปยังสินธุประเทศและโสวีระประเทศ เวลากลางวัน ข้าพเจ้าทุกคนทนความระหายน้ำไม่ได้ ทั้งมุ่งหมายจะอนุเคราะห์สัตว์พาหนะ รีบเดินทางมาในกลางคืนซึ่งเป็นเวลาวิกาล ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงได้พลาดทาง ไปผิดทาง หลงทางไม่รู้ทิศ เดินเข้าไปในป่าที่ไปได้แสนยากกลางทะเลทราย วุ่นวายเหมือนคนตาบอด. ข้าแต่ท่านเทวะผู้ควรบูชา พวกข้าพเจ้าได้พบวิมานอันประเสริฐและตัวท่านนี้ซึ่งไม่เคยพบมาก่อน จึงหวังจะรอดชีวิตยิ่งกว่าแต่ก่อน เพราะพบกัน พวกข้าพเจ้าจึงพากันร่าเริงดีใจและปลื้มใจ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มคเธสุ องฺเคสุ จ สตฺถวาหา ความว่า เป็นทั้งนายกองเกวียน เป็นทั้งเจ้าของกองเกวียน นำสินค้ามาแลกเปลี่ยนสินค้า เป็นผู้เกิดเติบโตในแคว้นมคธและในแคว้นอังคะ เป็นชาวแคว้นนั้น.
               บทว่า ปณิยํ แปลว่า สินค้า.
               บทว่า เต ได้แก่ พวกข้าพเจ้านั้น.
               บทว่า ยามเส แปลว่า พากันไป.
               บทว่า สินฺธุโสวีรภูมึ ได้แก่ สินธุประเทศและโสวีระประเทศ.
               บทว่า อุทฺทยํ ได้แก่ ผลประโยชน์เป็นรายได้ส่วนเกิน [กำไร].
               บทว่า อนธิวาสยนฺตา แปลว่า ทนไม่ได้.
               บทว่า โยคฺคานุกมฺปํ ได้แก่ อนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลายมีโคเป็นต้น.
               บทว่า เอเตน เวเคน ได้แก่ ด้วยความเร็วที่เป็นเหตุให้พวกข้าพเจ้าพากันมา คือเป็นผู้มาก่อนพบท่าน.
               บทว่า รตฺตึ มคฺคํ ปฏิปนฺนา ความว่า เดินทางกลางคืน.
               บทว่า วิกาเล ได้แก่ ไม่ถูกกาล ไม่ถูกเวลา.
               บทว่า ทุปฺปยาตา ได้แก่ ไปได้โดยยาก คือไปไม่ถูกทาง เพราะไปไม่ถูกทางนั้นนั่นแหละจึงชื่อว่าพลาดทาง.
               บทว่า อนฺธาคุลา ความว่า ชื่อว่าบอด เพราะไม่มีจักษุคือปัญญาที่สามารถรู้ทาง จึงวุ่นวายเหมือนคนตาบอด เพราะบอดนั้นแหละจึงชื่อว่าวุ่นวาย และที่ชื่อว่าไปผิดทาง เพราะเป็นผู้หลงทาง.
               บทว่า ทิสํ ได้แก่ ทิศที่ควรจะไป คือทิศที่สินธุประเทศและโสวีระประเทศตั้งอยู่.
               บทว่า ปมุฬฺหจิตฺตา ได้แก่ มีจิตหลงสนิทโดยไม่สงสัยทิศ.
               บทว่า ตฺวญฺจ แปลว่า ซึ่งท่านด้วย.
               บทว่า ยกฺข เป็นคำร้องเรียก [อาลปนะ].
               บทว่า ตตุตฺตรึ ชีวิตมาสมานา ความว่า ความสงสัยในชีวิตอันใดเกิดขึ้นว่า ต่อแต่นี้ พวกเราคงไม่รอดชีวิตกันละ มาบัดนี้ พวกเราก็หวังจะรอดชีวิตแม้ยิ่งกว่าความสงสัยในชีวิตอันนั้น.
               บทว่า ทิสฺวา แปลว่า เพราะเหตุที่พบ.
               บทว่า ปตีตา แปลว่า ร่าเริง.
               บทว่า สุมนา แปลว่า ถึงโสมนัส [ดีใจ].
               บทว่า อุทคฺคา แปลว่า ปลื้มใจด้วยปีติที่ฟูขึ้น.
               เมื่อพวกพ่อค้าเล่าความเป็นไปของตนอย่างนี้แล้ว เทพบุตรได้ถามด้วยคาถาสองคาถาอีกว่า
               ดูก่อนพ่อทั้งหลาย พวกท่านไปทะเลทรายทั้งฝั่งโน้นทั้งฝั่งนี้ และไปทางที่มีเชิงหวายและหลักตอ ไปหลายทิศที่ไปได้ยาก คือมีแม่น้ำและที่ขรุขระของภูเขา เพราะโภคทรัพย์เป็นต้นเหตุ พวกท่านไปยังแว่นแคว้นของพระราชาอื่นๆ ได้เห็นพวกมนุษย์ชาวต่างประเทศ เราขอฟังสิ่งอัศจรรย์ที่พวกท่านได้ฟังหรือได้เห็นมา ในสำนักของพวกท่าน.
               เนื้อความของสองคาถานั้น ดังต่อไปนี้
               บทว่า ปารํ สมุทฺทสฺส เป็นต้น ความว่า ไปทะเลทราย คือหนทางที่ประกอบด้วยทรายทั้งฝั่งโน้น ฝั่งนี้ ชื่อว่าทางที่มีเชิงหวาย เพราะเถาหวายพันกันจะต้องไปให้ดี สู่ทางที่มีหลักตอ เพราะจะต้องก่อนหลักตอทั้งหลายแล้วจึงไปได้ ทิศเป็นอันมากที่ไปได้ยาก อย่างนี้คือแม่น้ำมีแม่น้ำจันทรภาคาเป็นต้น และประเทศที่ไม่เรียบราบของภูเขาทั้งหลาย เพราะโภคทรัพย์เป็นเหตุ และพวกท่าน เมื่อไปอย่างนี้ก็โลดแล่นเข้าไปถึงแว่นแคว้นของพระราชาอื่นๆ เห็นพวกมนุษย์ชาวต่างประเทศ คือผู้อยู่ต่างถิ่นในแว่นแคว้นนั้น สิ่งอัศจรรย์คือควรยกนิ้วให้อันใดที่พวกท่าน คือท่านทั้งหลายผู้เป็นอย่างนี้ ได้ฟังหรือได้เห็น.
               ดูก่อนพ่อค้าทั้งหลาย เราขอฟังสิ่งอัศจรรย์อันนั้น ในสำนักของพวกท่าน.
               เทพบุตรประสงค์จะให้พ่อค้าเหล่านั้นกล่าวถึงความอัศจรรย์แห่งวิมานของตน จึงถามด้วยประการฉะนี้.
               ถูกเทพบุตรถามอย่างนี้แล้ว พวกพ่อค้ากล่าวว่า
               ข้าแต่พ่อกุมาร สมบัติของมนุษย์ที่แล้วๆ มาทั้งหมด พวกข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นอัศจรรย์กว่าวิมานของท่านนี้เลย พวกข้าพเจ้าดูวิมานของท่านอันมีรัศมีไม่ทรามแล้วไม่อิ่มเลย สระโบกขรณีเลื่อนลอยไปในอากาศ มีสวนป่าไม้มาก มีบุณฑริกบัวขาวมาก มีต้นไม้ออกผลเป็นนิจ โชยกลิ่นหอมตลบไป เสาวิมานเหล่านี้เป็นเสาแก้วไพฑูรย์ สูงร้อยศอก ส่วนยาวประดับด้วยศิลาแก้วประพาฬ แก้วลายและแก้วทับทิม มีรัศมีโชติช่วง
               วิมานงามของท่านนี้มีเสาพันหนึ่ง มีอานุภาพหาที่เปรียบมิได้ อยู่บนเสาเหล่านั้น ประกอบด้วยรัตนะภายใน ภายนอกล้อมด้วยไพทีทอง และกำบังอย่างดีด้วยแผ่นทอง.
               วิมานของท่านนี้สว่างด้วยทองชมพูนุท ส่วนนั้นๆ เกลี้ยงเกลาประกอบด้วยบันไดและแผ่นกระดานของปราสาท มั่นคงงดงาม ส่วนประกอบเข้ากันสนิท ชวนพิศอย่างยิ่ง น่าลิงโลดใจ ภายในวิมานรัตน์มีข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์.
               ตัวท่านอันหมู่เทพอัปสรห้อมล้อมเอิกอึง ด้วยเสียงตะโพน เปิงมางและดนตรี อันทวยเทพกราบไหว้ด้วยการสดุดีและวันทนา ท่านนั้นตื่นอยู่ด้วยหมู่เทพนารี บันเทิงอยู่ในวิมานปราสาทอันประเสริฐน่ารื่นรมย์ใจ มีอานุภาพเป็นอจินไตย ประกอบไปด้วยคุณทุกอย่าง ดังท้าวเวสวัณในนลินีสถานมีดอกบัว ท่านเป็นเทวดาหรือเป็นยักษ์ หรือเป็นท้าวสักกะจอมเทพ หรือเป็นมนุษย์. พวกพ่อค้าเกวียนถามท่าน ขอท่านโปรดบอกทีเถิด ท่านเป็นเทวดาชื่อไร.
               บรรดาบทเหล่านั้น ท่านเรียกเทพบุตรด้วยบทว่า กุมาร เพราะอยู่ในปฐมวัย.
               บทว่า สพฺพํ ท่านกล่าวหมายเอาเทพบุตรและสิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยวิมานของเทพบุตรนั้น.
               บทว่า โปกฺขรญฺโญ แปลว่า สระโบกขรณี.
               บทว่า สตมุสฺสิตาเส แปลว่า สูงร้อยศอก.
               บทว่า สิลาปวาฬสฺส แปลว่า ด้วยศิลาและแก้วประพาฬ ความว่า สำเร็จด้วยศิลา สำเร็จด้วยแก้วประพาฬ.
               บทว่า อายตํสา แปลว่า ส่วนยาว. อีกอย่างหนึ่ง ความว่า กว้างออกไป ๘ ส่วน ๑๖ ส่วนและ ๓๒ ส่วนเป็นต้น.
               บทว่า เตสูปริ ได้แก่ เบื้องบนเสาเหล่านั้น.
               บทว่า สาธุมิทํ ความว่า วิมานของท่านนี้งาม.
               บทว่า รตนนุตรํ ได้แก่ มีรัตนะภายในภายนอกประกอบด้วยรัตนะอื่นๆ มีหลายอย่าง ที่ฝาเสาและบันไดเป็นต้น.
               บทว่า กญฺจนเวทิมิสฺสํ ความว่า ประกอบคือล้อมด้วยไฟที่ทำด้วยทอง.
               บทว่า ตปฺปนียปฏฺเฏหิ จ สาธุฉนฺนํ ความว่า กำบังอย่างดีในที่นั้นๆ ด้วยเครื่องกำบังที่สำเร็จด้วยทอง และที่สำเร็จด้วยรัตนะมิใช่น้อย.
               บทว่า ชมฺโพนทุตฺตตฺตมิทํ ความว่า วิมานของท่านนี้ มีแสงทองชมพูนุทส่องสว่างโดยมาก.
               บทว่า สุมฏฺโฐ ปาสาทโสปานผลูปปนฺโน ความว่า ส่วนนั้นๆ ของวิมานนั้น เกลี้ยงดีคือขัดไว้อย่างดี และประกอบด้วยปราสาทติดๆ กันนั้นๆ มีบันไดวิเศษและแผ่นกระดานที่น่ารื่นรมย์.
               บทว่า ทฬฺโห แปลว่า มั่นคง.
               บทว่า วคฺคุ แปลว่า งดงามสูงเด่น.
               บทว่า สุสงฺคโต ได้แก่ มีส่วนประกอบเข้ากันได้ดี มีส่วนประกอบปราสาทเหมาะกันและกัน.
               บทว่า อตีว นิชฺฌานขโม ความว่า ทนต่อการพินิจอย่างเหลือเกิน เพราะความเป็นของผุดผ่อง.
               บทว่า มนุญฺโญ แปลว่า เป็นที่รื่นรมย์ใจ.
               บทว่า รตนนฺตรสฺมึ ความว่า สำเร็จด้วยรัตนะ คือภายในวิมานเป็นรัตนะหรือเป็นสาระ.
               บทว่า พหุอนฺนปานํ ความว่า ข้าวและน้ำที่น่ารักเป็นอันมาก ก็มี คือหาได้.
               บทว่า มุรชอาลมฺพรตูริยสงฺฆุฏฺโฐ ความว่า เอิกอึงอยู่เป็นนิจด้วยเสียงตะโพน เปิงมางและดนตรีอื่นๆ.
               บทว่า อภิวนฺทิโตสิ ความว่า เป็นผู้อันหมู่ทวยเทพนมัสการแล้ว หรือชมเชยแล้ว เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ถุติวนฺทนาย ดังนี้.
               บทว่า อจินฺตโย ได้แก่ มีอานุภาพเป็นอจินไตยไม่ควรคิด.
               บทว่า นลินฺยา ประกอบความว่า ท่านบันเทิงอยู่เหมือนท้าวเวสวัณมหาราชบันเทิงอยู่ในสถานที่เล่นซึ่งมีชื่ออย่างนี้ว่า นลินี.
               บทว่า อาสิ ได้แก่ อสิ ภวสิ แปลว่า ท่านเป็น.
               บทว่า เทวินฺโท ได้แก่ ท้าวสักกเทวราช.
               บทว่า มนุสฺสภูโต ได้แก่ เกิดในหมู่มนุษย์ คือเป็นชาติมนุษย์ พ่อค้าทั้งหลายแม้จะถามความเป็นเทวะเป็นต้น แต่ยังสงสัยความเป็นยักษ์อยู่ จึงกล่าวว่า ยกฺโข.
               บัดนี้ เทพบุตรนั้นเมื่อจะให้พวกพ่อค้ารู้จักตน จึงกล่าวคาถาว่า
               ข้าพเจ้าเป็นเทวดาชื่อเสรีสกะ เป็นผู้รักษาทางกันดาร คุ้มครองทะเลทราย ทำตามเทวบัญชาคำสั่งของท้าวเวสวัณ จึงดูแลรักษาประเทศถิ่นนี้อยู่.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่ อหมฺหิ ยกฺโข ความว่า ข้าพเจ้าเป็นเทวดา.
               บทว่า กนฺตาริโย ได้แก่ เป็นเจ้าพนักงานในทางกันดารคอยอารักขา.
               บทว่า คุตฺโต แปลว่า คุ้มครอง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อภิปาลยมิ ดูแลรักษา.
               บัดนี้ พวกพ่อค้าเมื่อถามถึงกรรมเป็นต้นของเทพบุตรนั้น กล่าวว่า
               วิมานนี้ท่านได้มาเอง หรือเกิดโดยความเปลี่ยนแปลง ท่านทำเองหรือเทวดาทั้งหลายให้. พ่อค้าเกวียนทั้งหลายถามท่าน วิมานที่น่าภูมิใจนี้ ท่านได้มาอย่างไร.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อธิจฺจลทฺธํ ได้แก่ เกิดขึ้นเอง. อธิบายว่า ได้อย่างที่ต้องการ.
               บทว่า ปริณามชํ เต ได้แก่ เปลี่ยนแปลงด้วยโชคและสังคม ความเกี่ยวข้อง หรือเปลี่ยนแปลงไปตามกาล.
               บทว่า สยํกตํ ความว่า ท่านทำเอง. อธิบายว่า ท่านใช้เทพฤทธิ์ให้บังเกิดขึ้นเอง.
               บทว่า อุทาหุ เทเวหิ ทินฺนํ ความว่า เทวดาทั้งหลายที่ท่านทำให้ยินดี สละให้ด้วยอำนาจความเลื่อมใส.
               บัดนี้ เทพบุตรเมื่อจะปฏิเสธประการทั้ง ๔ (ที่ถาม) แล้วอ้างบุญเท่านั้น ได้กล่าวคาถาว่า
               วิมานนี้ มิใช่ข้าพเจ้าได้มาเอง มิใช่เกิดโดยการเปลี่ยนแปลง มิใช่ข้าพเจ้าทำเอง มิใช่เทวดาทั้งหลายให้ วิมานที่น่าภูมิใจนี้ ข้าพเจ้าได้มาด้วยบุญกรรมที่มิใช่บาปของตน.
               พวกพ่อค้าได้ฟังดังนั้นแล้ว ยกหลัก ๔ ประการเหล่านั้น ในคาถาว่า นาธิจฺจลทฺธํ เป็นต้นว่า เป็นบุญญาธิการทีเดียว และถามสรูปบุญอีกว่า
               อะไรเป็นวัตรและเป็นพรหมจรรย์ของท่าน นี้เป็นวิบากแห่งบุญอะไรที่ท่านสั่งสมไว้ดีแล้ว พ่อค้าเกวียนทั้งหลายถามท่าน วิมานนี้ท่านได้มาอย่างไร.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วตํ ได้แก่ สมาทานวัตร.
               บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ ความประพฤติประเสริฐที่สุด.
               เทพบุตรปฏิเสธคำถามเหล่านั้นอีก เมื่อจะแสดงตนและบุญตามที่ได้สั่งสมไว้ กล่าวว่า
               ข้าพเจ้ามีนามว่าปายาสิ เมื่อครั้งรับราชการ [เป็นเจ้าเมืองเสตัพยะ] แคว้นโกศล ข้าพเจ้าเป็นนัตถิกทิฏฐิ (มีความเห็นผิดว่าไม่มีบุญบาป) เป็นคนตระหนี่ มีธรรมอันลามก มีปกติกล่าวว่าขาดสูญ ได้มีสมณะนามว่ากุมารกัสสปะ ผู้โอฬาร เป็นพหูสูต กล่าวธรรมได้วิจิตร ท่านได้แสดงธรรมกถาโปรดข้าพเจ้าในครั้งนั้น ได้บรรเทาทิฏฐิที่เป็นข้าศึกใจ [มิจฉาทิฏฐิ] ของข้าพเจ้าได้ ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมกถาของท่านนั้นแล้ว ได้ปฏิญาณตนเป็นอุบาสก งดเว้นจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทานในโลก ไม่ดื่มน้ำเมา และไม่กล่าวมุสา ยินดีด้วยภริยาของตน ข้อนั้นเป็นวัตรและเป็นพรหมจรรย์ของข้าพเจ้า นี้เป็นวิบากแห่งบุญที่ข้าพเจ้าสั่งสมไว้ดีแล้ว วิมานนี้ ข้าพเจ้าได้มาด้วยบุญกรรมที่มิใช่บาปเหล่านั้นแหละ.
               ข้อนั้น เข้าใจง่ายทั้งนั้น.
               ลำดับนั้น พวกพ่อค้าได้เห็นเทพบุตรและวิมานของเทพบุตรนั้นชัดแจ้ง จึงเชื่อผลแห่งกรรม เมื่อประกาศความเชื่อในผลแห่งกรรมของตน ได้กล่าวสองคาถาว่า
               ได้ยินว่า คนทั้งหลายที่มีปัญญา พูดแต่คำจริงคำของบัณฑิตทั้งหลาย จึงไม่แปรปรวนกลับกลายเป็นอย่างอื่น คนทำบุญจะไปในที่ใดๆ ย่อมมีแต่ของที่น่ารักน่าใคร่ บันเทิงอยู่ในที่นั้นๆ ความโศกความร่ำไห้ การฆ่า การจองจำและเหตุเกิดเรื่องเลวร้าย มีอยู่ในที่ใดๆ คนทำบาปก็ย่อมไปในที่นั้นๆ ย่อมไม่พ้นทุคติไปได้ไม่ว่าในกาลไร.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โสกปริทฺทโว แปลว่า ความโศกและความร่ำไห้ เหตุเกิดความพินาศ ท่านเรียกว่า ปริกิเลส.
               เมื่อพวกเขากำลังพูดกันอยู่อย่างนี้แล เปลือกฝักซึกที่แก่จัด ขั้วหลุดเพราะความแก่จัด ก็หล่นจากต้นซึก ใกล้ประตูวิมาน ด้วยเหตุนั้น เทพบุตรพร้อมด้วยเทพบริวารก็โทมนัสเสียใจ.
               พวกพ่อค้าเห็นดังนั้น จึงกล่าวคาถาว่า
               พ่อกุมาร เพราะเหตุอะไรหนอ เทพบริวารจึงกลายเป็นผู้ฟั่นเฟือนในชั่วครู่นี้ เหมือนน้ำถูกกวนให้ขุ่น โทมนัสความเสียใจ จึงได้มีแก่เทพบริวารนี้และตัวท่าน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺมุฬฺหรูโปว ความว่า เหมือนผู้มีสภาพหลงไปหมด เพราะความโศก.
               บทว่า ชโน ได้แก่ ชนคือเทวดา.
               บทว่า อสฺมึ มุหุตฺเต ได้แก่ ในชั่วครู่นี้.
               บทว่า กลลีกโต ได้แก่ ถูกทำให้เป็นเหมือนเปือกตม. อธิบายว่า ขุ่นเหมือนน้ำที่อยู่กับเปือกตม.
               บทว่า ชฺนสสิมสฺส ตุยฺหญฺจ ได้แก่ แก่เทพผู้เป็นบริวารของท่านนี้และแก่ตัวท่าน.
               บทว่า อปฺปจฺจโย ได้แก่ ความโทมนัส.
               เทพบุตรได้ฟังดังนั้นแล้ว กล่าวว่า
               ดูก่อนพ่อค้าทั้งหลาย กลิ่นหอมทิพย์เหล่านี้หอมฟุ้งจากป่าไม้ซึก หอมตลบอบอวลทั่ววิมานนี้ กำจัดความมืดได้ทั้งกลางวันกลางคืน ล่วงไปร้อยปี เปลือกฝักของต้นซึกเหล่านี้จะแตกออกเป็นฝักๆ เป็นอันรู้ว่า ร้อยปีของมนุษย์ล่วงไปแล้ว.
               ดูก่อนพ่อค้าทั้งหลาย ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดในเทวดาหมู่นี้ดำรงอยู่ในวิมานนี้ ๕๐๐ ปีทิพย์แล้วจึงจุติ เพราะสิ้นบุญ เพราะสิ้นอายุ เพราะความโศกนั้นนั่นแล ข้าพเจ้าจึงซบเซา.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิรีสวนา ได้แก่ จากป่าไม้ซึก.
               เทพบุตรเรียกพวกพ่อค้าว่า ตาตา กลิ่นหอมทิพย์เหล่านี้ คือที่ประจักษ์แก่พวกท่านและข้าพเจ้า มีกลิ่นหอมเหลือเกินทีเดียว ย่อมฟุ้งคือตลบไปโดยรอบ กลิ่นทิพย์เหล่านั้น เมื่อฟุ้งไปอย่างนี้ ย่อมฟุ้งตลบอบอวลทั่ววิมานนี้ ให้รับกลิ่นได้อย่างดีทีเดียว มิใช่แต่หอมตลบอย่างเดียวเท่านั้น ที่จริงยังกำจัดความมืดด้วยรัศมีของตนอีกด้วย ด้วยเหตุนั้น เทพบุตรจึงกล่าวว่า ทิวา จ รตฺโต จ ตมํ นิหนฺตวา ดังนี้.
               บทว่า อิเมสํ ได้แก่ ต้นซึกทั้งหลาย.
               บทว่า สิปาฏิกา ได้แก่ เปลือกฝักผลซึก.
               บทว่า ผลติ ความว่า สุกแล้วหล่นจากขั้ว หรือว่าฝักแตกแล้ว ก็ร่วงไป.
               บทว่า มานุสฺสกํ วสฺสสตํ อตีตํ ความว่า เพราะล่วงไปร้อยปี เปลือกฝักต้นซึกนี้จะแตก และที่แตกแล้วก็มี ฉะนั้น ร้อยปีมนุษย์ของข้าพเจ้าจึงล่วงไปแล้ว ตั้งแต่คือจำเดิมแต่ข้าพเจ้าเข้าถึงคือบังเกิด ในหมู่นี้คือในเทพหมู่นี้ ข้าพเจ้ามีอายุ ๕๐๐ ปีทิพย์ เพราะฉะนั้น อายุของข้าพเจ้ากำลังสิ้น ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงซบเซาเพราะความโศกดังนี้. เทพบุตรชี้แจงดังกล่าวมาฉะนี้ ด้วยเหตุนั้น เทพบุตรจึงกล่าวว่า ทิพฺพานหํ วสฺสสตานิ ปญฺจ ฯเปฯ เตเนว โสเกน ปมุจฺฉิโตสฺมิ ดังนี้.
               ลำดับนั้น พวกพ่อค้าพากันพูดปลอบโยนเทพบุตรนั้นว่า
               ท่านได้วิมานซึ่งหาที่เปรียบมิได้เป็นเวลานาน ท่านเป็นเช่นนั้น จะเศร้าโศกไปทำไมเล่า ผู้มีบุญน้อยเข้าอยู่วิมานชั่วเวลาสั้นๆ ควรเศร้าโศกแท้.
               ในคาถานั้น อธิบายว่า ใครๆ ก็ตามที่มีอายุน้อยมีบุญน้อย ควรจะเศร้าโศกเพราะอาศัยความตาย แต่เทพบุตรเช่นท่านพรั่งพร้อมด้วยภาพทิพย์ มีอายุถึง ๙ ล้านปีอย่างนี้ จะเศร้าโศกไปทำไมเล่า คือไม่ควรเศร้าโศกทีเดียว เทพบุตรสบายใจด้วยคำปลอบโยนเพียงเท่านั้นเอง รับคำพวกพ่อค้าเหล่านั้น และเมื่อชี้แจงแก่พ่อค้าเหล่านั้นกล่าวคาถาว่า
               ดูก่อนพ่อค้าทั้งหลาย ข้อที่ท่านทั้งหลายกล่าววาจาน่ารักตักเตือนข้าพเจ้านั้น สมควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะต้องคุ้มครองพวกท่าน ขอท่านทั้งหลายจงไปยังที่ที่พวกท่านปรารถนาโดยสวัสดีเถิด.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุจฺฉวึ ได้แก่ สมควร คือการกล่าวตักเตือนของพวกท่านนั่นแล สมควร.
               บทว่า โอวทิยญฺจ เม ตํ ความว่า คำนั้นอันพวกท่านกล่าวอยู่ คือพึงกล่าวเป็นโอวาท แก่ข้าพเจ้า. ประกอบความว่า เพราะท่านทั้งหลายกล่าววาจาน่ารัก คือคำเป็นที่รัก ด้วยคำว่า กถํ นุ โสเจยฺย เป็นต้นกะข้าพเจ้าคือแก่ข้าพเจ้าใด.
               อีกอย่างหนึ่ง การพูด การกล่าวด้วยวาจาน่ารักใด การกล่าวนั้นของพวกท่านนั่นแหละสมควร อีกอย่างหนึ่ง เพราะท่านทั้งหลายกล่าววาจาน่ารักใด ฉะนั้น การกล่าววาจาน่ารักของท่านทั้งหลายนั้น เป็นอันท่านทั้งหลายตักเตือนคือพึงกล่าวสอนด้วย ข้าพเจ้าควรกระทำให้เหมาะแก่โอวาทด้วย สมควรแก่ข้าพเจ้า อันข้าพเจ้ากระทำแล้ว เพื่อจะตอบคำถามที่จะมีขึ้นว่า ทำข้อนั้นอย่างไร ดังนั้น เทพบุตรจึงกล่าวว่า ตุมฺเห จ โข ตาตา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มยานุคุตตา ความว่า ข้าพเจ้าจะตามคุ้มครองรักษาพวกท่าน จนกว่าพวกท่านจะล่วงพ้นทางกันดาร ในทะเลทรายที่พวกอมนุษย์ยึดครองนี้ ไปคือถึงที่ที่ปรารถนาคือตามชอบใจ สู่ความสวัสดีคือโดยปลอดภัย.
               ลำดับนั้น พวกพ่อค้าเมื่อจะประกาศความเป็นผู้กตัญญู ได้กล่าวคาถาว่า
               ข้าพเจ้าทั้งหลายมีความต้องการทรัพย์ ปรารถนากำไร จึงพากันไปยังสินธุประเทศและโสวีระประเทศ พวกข้าพเจ้าจักประกอบกรรมตามสมควร จักเสียสละอย่างบริบูรณ์ กระทำการฉลองเสรีสกเทพบุตรอย่างโอฬาร.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถาปโยคา ได้แก่ ประกอบกรรมตามสมควรแก่ปฏิญญาที่ทำไว้ในบัดนี้.
               บทว่า ปริปุณฺณจาคา แปลว่า มีจาคะบริบูรณ์ คือบริจาคของที่น่าใคร่เพื่องานฉลองอย่างโอฬาร.
               บทว่า มหํ ได้แก่ การฉลองเป็นการบูชา (บูชาด้วยการฉลอง).
               เทพบุตรปฏิเสธงานฉลองและชักชวนพ่อค้าเหล่านั้นในสิ่งที่ควรทำอีก กล่าวคาถาว่า
               ท่านทั้งหลายอย่าได้ทำการบูชาเสรีสกเทพบุตรเลย สิ่งที่พวกท่านพูดถึงทั้งหมดจักมีแก่พวกท่าน ท่านทั้งหลายจงงดเว้นการกระทำที่เป็นบาป และจงตั้งใจประกอบตามซึ่งธรรมเถิด.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ วเทถ ความว่า ท่านทั้งหลายหวังเดินทางถึงสินธุประเทศและโสวีระประเทศโดยปลอดภัย และหวังกำไรรายได้อันไพบูลย์ในประเทศนั้น กล่าวคำเป็นต้นว่า คนฺตฺวา มยํ ดังนี้ใด ข้อนั้นทั้งหมดจักมีแก่พวกท่าน คือแก่ท่านทั้งหลายอย่างนั้นทีเดียว ท่านทั้งหลายจงอย่าสงสัยในเรื่องนั้น แต่จำเดิมแต่นี้ไป ท่านทั้งหลายต้องงดเว้นการกระทำที่เป็นบาปมีปาณาติบาตเป็นต้น.
               บทว่า ธมฺมานุโยคํ ได้แก่ ประกอบเนืองๆ ซึ่งกุศลธรรมมีให้ทานเป็นต้น.
               บทว่า อธิฏฺฐหาถ ได้แก่ จงตามศึกษา นี้เป็นการฉลองเสรีสกเทพบุตร.
               เสรีสกเทพบุตรชี้แจงดังกล่าวมาฉะนี้.
               เทพบุตรเมื่อจะอนุเคราะห์อุบาสกผู้ใด ก็ประสงค์จะรักษาและป้องกันพ่อค้าเหล่านั้นไว้ เมื่อเทพบุตรระบุเกียรติคุณของอุบาสกผู้นั้นแล้ว แนะนำอุบาสกผู้นั้นแก่พ่อค้าเหล่านั้น ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
               ในหมู่พ่อค้าเกวียนนี้ มีอุบาสกผู้เป็นพหูสูต สมบูรณ์ด้วยศีลและวัตร มีศรัทธา มีจาคะ มีความละมุนละไม มีปัญญาประจักษ์ เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้มีความรู้ ไม่พูดเท็จทั้งรู้ ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกกัน พูดแต่วาจาอ่อนหวานน่ารัก มีความเคารพ มีความยำเกรง มีวินัย ไม่เป็นคนเลว เป็นผู้บริสุทธิ์ในอธิศีล เป็นคนเลี้ยงบิดามารดาโดยธรรม มีความประพฤติประเสริฐ.
               เขาแสวงหาโภคะทั้งหลายเพื่อเลี้ยงบิดามารดา มิใช่เพื่อตน เมื่อบิดามารดาล่วงลับแล้ว เป็นผู้น้อมไปในเนกขัมมะ จักประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนตรง ไม่คดโกง ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ไม่พูดมีเลศนัย.
               เขาเป็นผู้ทำแต่กรรมดี ตั้งอยู่ในธรรมเช่นนี้ จะพึงได้ความทุกข์อย่างไรเล่า เพราะอุบาสกนั้นเป็นเหตุ ข้าพเจ้าจึงได้ปรากฏตัว.
               ดูก่อนพ่อค้าทั้งหลายเอ๋ย เพราะฉะนั้น พวกท่านจงเห็นธรรมเถิด เพราะเว้นจากอุบาสกนั้นเสียแล้ว ท่านทั้งหลายจะวุ่นวาย เหมือนคนบอดหลงเข้าไปในป่า เป็นเถ้าถ่านไป อันคนอื่นทอดทิ้งสัตบุรุษ [อุบาสก] นั้น กระทำได้ง่าย การคบหาสัตบุรุษนำสุขมาให้หนอ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สงฺเฆ ได้แก่ หมู่พ่อค้าเกวียน.
               บทว่า วิจกฺขโณ ได้แก่ เป็นผู้ฉลาดในสิ่งที่จะพึงทำนั้นๆ.
               บทว่า สนฺตุสฺสิโต ได้แก่ เป็นผู้สันโดษ.
               บทว่า มุติมา ความว่า เป็นผู้มีความรู้ เพราะรู้ถึงประโยชน์โลกนี้และประโยชน์โลกหน้า ด้วยกัมมัสสกตาญาณเป็นต้น.
               บทว่า สญฺชานมาโน น มุสา ภเณยฺย ความว่า ไม่พูดเท็จทั้งที่รู้.
               บทว่า เวภูติกํ ความว่า ไม่พึงทำ คือไม่พึงกล่าวคำส่อเสียดที่ได้ชื่อว่าเวภูติกะ เพราะกระทำผู้ที่เกื้อกูลกันต้องพรากจากกัน.
               บทว่า สปฺปติสฺโส ได้แก่ มีความยำเกรง คือมีความสงบเสงี่ยม เพราะมีความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน ในบุคคลที่อยู่ในฐานะเป็นครู ชื่อว่าสัปปติสสะ เพราะอรรถว่าเป็นไปกับด้วยความยำเกรง.
               บทว่า อธิสีเล ได้แก่ ในอธิสีลสิกขาที่อุบาสกพึงรักษา.
               บทว่า อริยวุตฺติ ได้แก่ มีความประพฤติบริสุทธิ์.
               บทว่า เนกฺขมฺมโปโณ ได้แก่ น้อมไปในพระนิพพาน.
               บทว่า จริสฺสติ พฺรหฺมจริยํ ความว่า จักบวชประพฤติศาสนพรหมจรรย์.
               บทว่า เลสกปฺเปน ได้แก่ ใช้เลศที่เหมาะ.
               บทว่า น จ โวหเรยฺย ความว่า ไม่พึงเปล่งคำพูด ด้วยอำนาจมายาสาไถย.
               บทว่า ธมฺเม ฐิโต กินฺติ ลเภถ ทุกฺขํ ความว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม คือผู้ประพฤติธรรมประพฤติสม่ำเสมอ โดยนัยที่กล่าวแล้วอย่างนี้ จะพึงได้คือพึงถึงความทุกข์ อย่างไร คือด้วยประการไร.
               บทว่า ตํ การณา ได้แก่ อุบาสกนั้นเป็นนิมิต คือเพราะเหตุแห่งอุบาสกนั้น.
               บทว่า ปาตุกโตมฺหิ อตฺตนา ความว่า ข้าพเจ้าเองนี่แหละได้ปรากฏตัวแก่ท่านทั้งหลาย. ปาฐะว่า อตฺตานํ ก็มี ความว่า ข้าพเจ้าได้ทำตนของข้าพเจ้าให้ปรากฏแก่ท่านทั้งหลาย.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่ข้าพเจ้าประพฤติอ่อนน้อมซึ่งพระธรรม เมื่อรักษาพระธรรมนั้น ก็ชื่อว่ารักษาพวกท่านด้วย ฉะนั้น พวกท่านจงเห็นพระธรรม คือจงตรวจดูพระธรรมเท่านั้นว่าควรประพฤติ.
               บทว่า อญฺญตร เตนหิ ภสฺมิ ภเวถ ความว่า ถ้าท่านทั้งหลายเว้นอุบาสกนั้นพากันมา ก็จะกลายเป็นผู้ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย ถึงความเป็นเถ้าถ่านในทะเลทรายนี้.
               บทว่า ขิปฺปมาเนน ได้แก่ ทอดทิ้ง เย้ยหยัน บีบคั้นอยู่อย่างนี้.
               บทว่า ลหุํ แปลว่า ทำได้ง่าย.
               บทว่า ปเรน แปลว่า ยิ่ง.
               อีกอย่างหนึ่ง แปลว่า ผู้อื่น เพราะเหตุนั้น การคบสัตบุรุษจึงเป็นสุขแท้แล.
               อธิบายว่า ผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในขันติและโสรัจจะ ถึงถูกใครๆ ว่ากล่าวอะไรๆ ก็ไม่โต้ตอบ.
               พวกพ่อค้าประสงค์จะทราบว่า อุบาสกที่เทพบุตรกล่าวถึงทั่วไปอย่างนี้ [เป็นใคร] โดยสรูปเจาะจง จึงกล่าวคาถาว่า
               ข้าแต่เทวดา อุบาสกนั้นคือใคร ทำงานอะไร เขาชื่ออะไร เขาโคตรอะไร ท่านมาในที่นี้เพื่ออนุเคราะห์อุบาสกคนใด แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายก็ต้องการจะเห็นอุบาสกคนนั้น ท่านรักอุบาสกคนใดก็เป็นลาภของอุบาสกคนนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กินฺนาม โส ความว่า โดยชื่อสัตว์เกิด คือสัตว์ผู้นั้น คือใคร.
               บทว่า กิญฺจ กโรติ กมฺมํ ความว่า บรรดางานทั้งหลายมีกสิกรรมและวณิชยกรรมเป็นต้น เขาทำงานเช่นไร.
               บทว่า กึ นามเธยฺยํ ความว่า บรรดาชื่อมีติสสะ ผุสสะเป็นต้น ชื่อที่บิดามารดาตั้งให้เขาชื่ออะไร หรือบรรดาโคตรมีภัคควะ ภารทวาชะเป็นต้น เขาโคตรอะไร.
               บทว่า ยสฺส ตุวํ ปิเหสิ ความว่า ท่านรักอุบาสกคนใด.
               บัดนี้ เทพบุตรเมื่อแสดงอุบาสกนั้นโดยชื่อและโคตรเป็นต้น กล่าวว่า
               ผู้ใดเป็นกัลบกมีชื่อว่าสัมภวะ อาศัยการตัดผมเลี้ยงชีพ เขาเป็นคนรับใช้ของพวกท่าน ท่านทั้งหลายจงรู้ผู้นั้นว่าเป็นอุบาสก ท่านทั้งหลายอย่าได้ดูหมิ่นอุบาสกนั้น อุบาสกนั้นเป็นผู้ละมุนละไม [น่ารัก].
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กปฺปโก แปลว่า ช่างตัดผม.
               บทว่า สมฺภวนามเธยฺโย แปลว่า มีชื่ออย่างนี้ว่าสัมภวะ.
               บทว่า โกจฺฉผลูปชีวี แปลว่า ผู้อาศัยเก้าอี้หวายและผลเลี้ยงชีพ [ช่างตัดผม] ที่ชื่อว่าโกจฉะ ในบทว่า โกจฺฉผลูปชีวี นั้น ได้แก่ เครื่องสำเร็จการหวีผมเป็นต้นเพื่อจัดระเบียบทรงผมเป็นต้น.
               บทว่า เปสิโย ได้แก่ ผู้รับใช้ คือผู้ทำการขวนขวายช่วยเหลือ.
               บัดนี้ พ่อค้าทั้งหลายรู้จักอุบาสกนั้นแล้ว กล่าวว่า
               ข้าแต่เทวดา พวกข้าพเจ้ารู้จักช่างตัดผมคนที่ท่านพูดถึง แต่ไม่รู้ว่าเขาเป็นเช่นนี้เลย ข้าแต่เทวดา ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ฟังคำของท่านแล้ว จักบูชาอุบาสกนั้นอย่างโอฬาร.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชานามเส ความว่า พวกข้าพเจ้ารู้จักผู้ที่ท่านกล่าวถึงนั้นโดยเฉพาะ.
               บทว่า เอทิโส อธิบายว่า พวกเราไม่รู้เลยว่า อุบาสกนั้นเป็นเช่นนี้ อย่างที่ท่านประกาศเกียรติคุณ คือมิได้รู้อย่างที่ท่านประกาศ.
               บัดนี้ เพื่อจะยกพ่อค้าเหล่านั้นขึ้นสู่วิมานของตนแล้วสั่งสอน จึงกล่าวคาถาว่า
               มนุษย์ในกองเกวียนนี้ ไม่ว่าคนหนุ่ม คนแก่หรือคนปูนกลาง หมดทุกคนนั้นแหละจงขึ้นวิมาน พวกคนตระหนี่จงดูผลของบุญทั้งหลาย.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหนฺตา แปลว่า คนแก่.
               บทว่า อาลมฺพนฺตุ แปลว่า จงขึ้น.
               บทว่า กทริยา แปลว่า คนตระหนี่ คือคนมีปกติไม่บริจาค.
               บัดนี้ พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายกล่าวคาถาไว้ ๖ คาถาตอนจบเรื่องว่า
               พ่อค้าเหล่านั้นทั้งหมดในที่นั้น ต่างคนต่างเข้าห้อมล้อมกัลบกนั้น พากันขึ้นสู่วิมาน ดุจภพดาวดึงส์ของท้าววาสวะ [พระอินทร์] พ่อค้าเหล่านั้นทั้งหมดในที่นั้น ต่างคนต่างประกาศความเป็นอุบาสก ได้เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา และไม่กล่าวเท็จ ยินดีด้วยภรรยาของตน.
               พ่อค้าเหล่านั้นทั้งหมดในที่นั้น ครั้นต่างคนต่างประกาศความเป็นอุบาสกแล้ว บันเทิงอยู่ด้วยเทพฤทธิ์เนืองๆ ได้รับอนุญาตแล้ว หลีกไป.
               พ่อค้าเหล่านั้นมีความต้องการทรัพย์ ปรารถนากำไร ไปถึงสินธุประเทศและโสวีระประเทศ พยายามค้าขายตามปรารถนา มีลาภผลบริบูรณ์ กลับมาปาฏลิบุตรอย่างปลอดภัย พ่อค้าเหล่านั้นไปสู่เรือนของตน มีความสวัสดี พร้อมหน้าบุตรภรรยา มีความเพลิดเพลิน ปลาบปลื้ม ดีใจ ชื่นใจ ได้ทำการบูชาเสรีสกเทพบุตรอย่างโอฬาร ช่วยกันสร้างเทวาลัย ชื่อเสรีสกะ
               การคบสัตบุรุษสำเร็จประโยชน์เช่นนี้ การคบผู้มีคุณธรรม มีประโยชน์มาก เพื่อประโยชน์ของอุบาสกคนเดียว พ่อค้าทั้งหมดก็ได้ประสบความสุข.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อหํ ปุเร ความว่า ต่างชิงกันพูดว่า ฉันก่อนๆ.
               พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า เต ตตฺถ สพฺเพว พ่อค้าเหล่านั้นทั้งหมดในที่นั้น ดังนี้แล้วกล่าวคำว่า สพฺเพว เต พ่อค้าเหล่านั้นทั้งหมด ดังนี้อีก ก็เพื่อแสดงว่า พ่อค้าเหล่านั้นทั้งหมดมีความขะมักเขม้นในการขึ้นวิมานด้วยประการใด พ่อค้าทั้งหมดได้ขึ้นวิมานนั้นด้วยประการนั้น ไม่มีอันตรายในการขึ้นแก่ใครๆ.
               บทว่า มสกฺกสารํ ในบาทคาถาว่า มสกฺกสารํ วิย วาสวสฺส ท่านกล่าวหมายถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์.
               อีกอย่างหนึ่ง หมายถึงสวรรค์ทั้งหมด
               แต่ในที่นี้ พึงทราบว่า ภพท้าวสักกะ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มสกฺกสารํ วิย วาสวสฺส ดังนี้.
               ครั้งนั้น พ่อค้าเหล่านั้นเห็นวิมานแล้วมีจิตเลื่อมใส. ตั้งอยู่ในโอวาทของเทพบุตรนั้น ดำรงอยู่ในสรณคมน์และศีลห้า ได้ไปถึงประเทศที่ตนปรารถนา โดยความสวัสดี ด้วยอานุภาพของเทพบุตรนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เต ตตฺถ สพฺเพว เป็นต้น
               ในคาถานั้นประกอบความว่า พ่อค้าเกวียนบันเทิงอยู่ด้วยเทพฤทธิ์เนืองๆ ได้รับอนุญาตแล้ว หลีกไป.
               ถามว่า ใครเป็นผู้อนุญาต.
               ตอบว่า เทพบุตร ความปรากฏดังนี้แล.
               บทว่า ยถาปโยคา แปลว่า ทำความพยายามตามความมุ่งหมาย.
               บทว่า ปริปุณฺณลาภา แปลว่า มีลาภสำเร็จแล้ว.
               บทว่า อกฺขตํ ได้แก่ ถึงกรุงปาฏลิบุตรโดยไม่วุ่นวาย.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อกฺขตํ แปลว่า ไม่ป่วยไข้ ไม่ถูกเบียดเบียน. ความว่า โดยไม่มีอันตราย.
               บทว่า สงฺฆรํ แปลว่า เรือนของตน.
               บทว่า โสตฺถิวนฺโต ได้แก่ ประกอบด้วยความสวัสดี คือมีความปลอดภัย ด้วยบททั้ง ๔.
               บทว่า อานนฺที เป็นต้น ท่านกล่าวถึงความเป็นผู้มีความสบายใจทั้งนั้น.
               บทว่า เสรีสกํ เต ปริเวณํ มาปยึสุ ความว่า เพื่อตั้งอยู่ในความเป็นผู้กตัญญู หลุดพ้นปฏิสวะการรับคำ พวกพ่อค้าได้สร้างเทวาลัย คือที่อยู่ ชื่อว่าเสรีสกะ ตามชื่อของเทพบุตร พรั่งพร้อมด้วยปราสาทเรือนยอดและที่พักกลางคืนเป็นต้น ล้อมด้วยกำแพง ประกอบด้วยซุ้มประตู มีบริเวณโดยเพ่งพิจารณาโดยแบบแผนที่กำหนดไว้นั่นแหละ.
               บทว่า เอตาทิสา แปลว่า เป็นเช่นนี้ คือป้องกันสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และให้สำเร็จประโยชน์ได้อย่างนี้.
               บทว่า มหตฺถิกา แปลว่า มีประโยชน์ใหญ่ มีอานิสงส์มาก.
               บทว่า ธมฺมคุณานํ แปลว่า มีคุณความดีไม่ผิดเพี้ยน เพราะเพื่อสัตว์ผู้เดียว สัตว์ทั้งหมดคือสัตว์ที่นับเนื่องในกองเกวียนเหล่านั้นทั้งหมดทีเดียวในที่นั้น ก็พลอยมีความสุข ประสบความสุขถึงความเกษมสำราญ.
               ฝ่ายสัมภวอุบาสกเรียนคาถาประพันธ์ที่ดำเนินไปโดยคำกล่าวคำโต้ตอบของปายาสิเทพบุตรและพ่อค้าเหล่านั้น โดยทำนองที่ได้ฟังนั่นแหละ และบอกกล่าวแก่พระเถระทั้งหลาย. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ปายาสิเทพบุตรกล่าวแก่ท่านพระสัมภวเถระ.
               พระมหาเถระทั้งหลายมีพระยสเถระเป็นประมุข ได้ยกเรื่องนั้นขึ้นสู่สังคายนาในคราวสังคายนาครั้งที่สอง
               ฝ่ายสัมภวอุบาสกบวชเมื่อบิดามารดาล่วงลับไปแล้ว ได้ดำรงอยู่ในพระอรหัต.

               จบอรรถกถาเสรีสกวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ สุนิกขิตวรรคที่ ๗ ๑๐. เสริสสกวิมาน จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 83อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 84อ่านอรรถกถา 26 / 85อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=2771&Z=2939
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=8196
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=8196
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :