ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 98อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 99อ่านอรรถกถา 26 / 100อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุพพรีวรรคที่ ๒
๒. สารีปุตตเถรมาตุเปติวัตถุ

               อรรถกถาสารีปุตตเถรมาตุเปติวัตถุที่ ๒               
               พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงปรารภนางเปรตผู้มารดาของท่านพระสารีบุตรเถระ โดยชาติที่ ๕ แต่ปัจจุบันชาตินี้ จึงตรัสคาถานี้มีคำเริ่มต้นว่า นคฺคา ทุพฺพณฺรูปาสิ ดังนี้.
               วันหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระอนุรุทธะและท่านพระกัปปินะ ได้อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง ไม่ไกลแต่กรุงราชคฤห์.
               ก็สมัยนั้นแล ในกรุงพาราณสีมีพราหมณ์คนหนึ่งเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เป็นดุจบ่อที่ดื่มกินของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกและยาจก ได้ให้สิ่งของมีข้าว น้ำ ผ้าและที่นอนเป็นต้น และเมื่อจะให้ ย่อมปฏิบัติตามความพอใจทุกอย่าง ตามลำดับของการให้มีน้ำล้างเท้าและผ้าเช็ดเท้าเป็นต้น ตามเวลาและตามความเหมาะสมแก่คนผู้มาถึงแล้วๆ.
               ในเวลาก่อนอาหารได้อังคาสภิกษุทั้งหลายด้วยข้าวและน้ำเป็นต้นโดยเคารพ. เธอเมื่อจะไปถิ่นอื่นจึงกล่าวกะภรรยาว่า นางผู้เจริญ เธออย่าได้ทำทานวิธีนี้ตามที่บัญญัติให้เสื่อมเสีย จงหมั่นดำรงไว้โดยเคารพ.
               ภรรยารับคำแล้ว พอสามีหลีกไปเท่านั้น ก็ตัดขาดวิธีที่บัญญัติไว้เพื่อภิกษุทั้งหลาย เป็นอันดับแรก แต่เมื่อคนเดินทางเข้าไปเพื่ออยู่อาศัย ก็แสดงศาลาที่เก่าที่ทอดทิ้งไว้หลังเรือนด้วยคำว่า พวกท่านจงอยู่ที่ศาลานี้. เมื่อคนเดินทางมาในที่นั้นเพื่อต้องการข้าวและน้ำเป็นต้น จึงกล่าวว่า จงกินคูถ ดื่มมูตร ดื่มโลหิต กินมันสมองของมารดาท่าน แล้วจึงระบุชื่อของสิ่งที่ไม่สะอาด น่าเกลียด แล้วถ่มน้ำลาย.
               สมัยต่อมา นางทำกาละแล้ว อันอานุภาพกรรมซัดไป บังเกิดในกำเนิดเปรต เสวยทุกข์อันเหมาะสมแก่วจีทุจริตของตน หวนระลึกถึงความสัมพันธ์กันในชาติก่อน มีความประสงค์จะมายังสำนักของท่านพระสารีบุตร จึงถึงประตูวิหาร.
               เทวดาผู้สิงอยู่ที่ประตูวิหารของท่านพระสารีบุตรนั้น ห้ามเข้าวิหาร.
               ได้ยินว่า นางเปรตนั้นได้เคยเป็นมารดาของพระเถระ ในชาติที่ ๕ แต่ปัจจุบันชาตินี้. เพราะฉะนั้น เธอจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดิฉันเป็นมารดาของพระผู้เป็นเจ้าสารีบุตรเถระ ในชาติที่ ๕ แต่ปัจจุบันชาติ ขอท่านจงให้ดิฉันเข้าประตู เพื่อเยี่ยมพระเถระ.
               เทวดาได้ฟังดังนั้นจึงอนุญาตให้นางเข้าไป นางครั้นเข้าไปแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สุดที่จงกรมแสดงตนแก่พระเถระ.
               พระเถระครั้นได้เห็นนางเปรตนั้น เป็นผู้มีใจอันความกรุณาตักเตือนจึงถามด้วยคาถาว่า
               ท่านเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียด ซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูก่อนนางผู้ซูบผอม มีแต่ซี่โครง ท่านเป็นใครหรือ จึงมายืนอยู่ในที่นี้.
               นางเปรตนั้นถูกพระเถระถาม เมื่อจะให้คำตอบจึงได้กล่าวคาถา ๕ คาถาความว่า
               เมื่อก่อนดิฉันเป็นมารดาของท่าน ในชาติอื่นๆ ดิฉันเข้าถึงเปตวิสัย เพียบพร้อมไปด้วยความหิวและความกระหาย เมื่อถูกความหิวครอบงำ ย่อมกินน้ำลาย น้ำมูก เสมหะที่เขาถ่มทิ้ง และกินมันเหลวของซากศพที่เขาเผาที่เชิงตะกอน กินโลหิตของพวกหญิงที่คลอดบุตร และโลหิตของพวกบุรุษที่ถูกตัดมือ เท้าและศีรษะที่เป็นแผล กินเนื้อ เอ็นและข้อมือข้อเท้าเป็นต้นของชายหญิง. กินหนองและเลือดของปศุสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ไม่มีที่เร้น ไม่มีที่อยู่อาศัย นอนบนเตียงของคนตายที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
               ลูกเอ๋ย ขอลูกจงให้ทานแล้วอุทิศส่วนบุญแก่เราบ้าง ไฉนหนอแม่จึงจะพ้นจากการกินหนองและเลือด.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อหํ เต สกิยา มาตา ความว่า เราเองเป็นมารดาของท่านโดยกำเนิด.
               ด้วยคำว่า ปุพฺเพ อญฺญาสุ ชาตีสุ นี้พึงเห็นว่า เราไม่ใช่จะเป็นมารดาแม้แต่ในชาตินี้ โดยที่แท้ในชาติก่อน คือในชาติอื่นๆ เราก็ได้เป็นมารดาในชาติที่ ๕ แต่ชาติปัจจุบันนี้.
               บทว่า อุปปนฺนา เปตฺติวิสยํ ความว่า เข้าถึงเปตโลกโดยปฏิสนธิ.
               บทว่า ขุปฺปิปาสสมปฺปิตา แปลว่า ถูกความหิวและความกระหายครอบงำ. อธิบายว่า ถูกความหิวและความกระหายครอบงำอยู่ไม่ขาดระยะ.
               บทว่า ฉฑฺฑิตํ ได้แก่ เป็นเดน. อธิบายว่า อันเขาคายแล้ว.
               บทว่า ขิปิตํ ได้แก่ มลทินที่ออกจากปากพร้อมกับอาหารที่เขาทิ้ง.
               บทว่า เขฬํ แปลว่า การถ่มน้ำลาย.
               บทว่า สงฺฆาณิกํ ได้แก่ มลทินที่ไหลออกจากสมอง แล้วไหลออกทางจมูก.
               บทว่า สิเลสุมํ ได้แก่ เสมหะ.
               บทว่า วสญฺจ ฑยฺหมานานํ ได้แก่ น้ำมันเหลวของซากศพที่ถูกเผาบนเชิงตะกอน.
               บทว่า วิชาตานญฺจ โลหิตํ ได้แก่ โลหิตของหญิงผู้คลอด มลทินครรภ์ท่านสงเคราะห์ด้วย ศัพท์.
               บทว่า วณิกานํ ได้แก่ แผลที่เกิดขึ้นเอง.
               บทว่า ยํ เชื่อมด้วยบทว่า ยํ โลหิตํ.
               บทว่า ฆานสีสจฺฉินฺนานํ ได้แก่ โลหิตใดของผู้ถูกตัดจมูกและถูกตัดศีรษะ. มีวาจาประกอบความว่า เรากินซึ่งโลหิตนั้น.
               บทว่า ฆานสีสจฺฉินฺนานํ นี้ เป็นหัวข้อแห่งเทศนา ด้วยบทว่า ฆานสีสจฺฉินฺนานํ นี้พึงเห็นว่า เพราะเหตุที่โลหิต แม้ของคนที่ถูกตัดมือและเท้าเป็นต้น เราก็กินเหมือนกัน.
               อนึ่ง ด้วยบทว่า วณิกานํ นี้พึงเห็นว่า ท่านสงเคราะห์เอาโลหิตของคนที่ถูกตัดมือและเท้าเป็นต้นแม้เหล่านั้น.
               บทว่า ขุทาปเรตา ได้แก่ เป็นผู้ถูกความหิวครอบงำ.
               ด้วยบทว่า อิตฺถีปุริสนิสฺสิตํ นี้ ท่านแสดงว่า เราจะกินหนัง เนื้อ เอ็นและหนองเป็นต้นที่อาศัยร่างกายของสตรีและบุรุษ และอย่างอื่นตามที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า ปสูนํ ได้แก่ แห่งแพะ โคและกระบือเป็นต้น.
               บทว่า อเลณา แปลว่า ไม่มีที่พึ่ง. บทว่า อนคารา แปลว่า ไม่มีที่อยู่.
               บทว่า นีลมญฺจปรายนา ได้แก่ นอนบนเตียงที่สกปรกที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า.
               อีกอย่างหนึ่ง พื้นที่ป่าช้าที่มากไปด้วยเถ้าและถ่านเพลิง ท่านประสงค์เอาว่า นีล, อธิบายว่า นอนทับพื้นที่ป่าช้านั้นนั่นแหละ เหมือนนอนทับบนเตียง.
               บทว่า อนฺวาทิสาหิ เม ความว่า ท่านจงให้ปัตติทานอุทิศ โดยประการที่ส่วนบุญที่ให้แล้วจะสำเร็จแก่เราได้.
               บทว่า อปฺเปว นาม มุจฺเจยฺยํ ปุพฺพโลหิตโภชนา ความว่า ไฉนหนอ เราพึงพ้นจากชีวิตเปรตอันมีหนองและเลือดเป็นอาหาร นั่นเพราะการอุทิศของท่าน.
               ท่านพระสารีบุตรเถระได้สดับดังนั้นแล้ว ในวันที่สองจึงเรียกพระเถระ ๓ รูปมีท่านพระมหาโมคคัลลานเถระเป็นต้นมา พร้อมด้วยพระเถระเหล่านั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้ไปถึงพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร.
               พระราชาเห็นพระเถระแล้ว จึงถามถึงเหตุแห่งการมาว่า ท่านขอรับ ท่านมาทำไม?
               ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้ทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา
               พระราชาตรัสว่า โยมรู้แล้ว แล้วจึงละพระเถระ รับสั่งให้เรียกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการ ทรงพระบัญชาว่า เธอจงสร้างกุฎี ๔ หลังในที่นี้อันสมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำอันวิจิตรไม่ไกลแต่เมือง และในภายในพระราชวังให้แบ่งเป็น ๓ ส่วน โดยที่มีความพิเศษเพียงพอแล้วให้รับกุฎี ๔ หลัง. และพระองค์เองก็ได้เสด็จไปในที่นั้น ได้ทรงกระทำพระราชกรณียกิจที่ควรทำ.
               เมื่อกุฎีสำเร็จแล้วจึงให้ตระเตรียมพลีกรรมทั้งหมด เข้าไปตั้งข้าวน้ำและผ้าเป็นต้นและเครื่องบริขารทุกอย่างที่สมควรแก่ภิกษุสงฆ์ที่มาจากทิศทั้ง ๔ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วมอบถวายสิ่งทั้งหมดนั้นแด่ท่านพระสารีบุตรเถระ.
               ลำดับนั้น พระเถระได้ถวายสิ่งทั้งหมดนั้นแด่ภิกษุสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน อุทิศแก่นางเปรตนั้น.
               นางเปรตนั้นได้อนุโมทนาส่วนบุญนั้นแล้วบังเกิดในเทวโลก เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง. ในวันต่อมาก็ได้เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ไหว้แล้วยืนอยู่.
               พระเถระสอบถามนางเปรตนั้น.
               นางเปรตนั้นได้แจ้งเหตุที่ตนเข้าถึงความเป็นเปรต และเข้าถึงความเป็นเทวดาอีก.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า :-
               ท่านพระสารีบุตรเถระผู้มีจิตอนุเคราะห์ได้ฟังคำของมารดาแล้ว จึงปรึกษากับท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ท่านพระอนุรุทธะและท่านพระกัปปินะ แล้วให้สร้างกุฎี ๔ หลัง ถวายกุฎีทั้งข้าวและน้ำแด่พระสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ อุทิศส่วนกุศลไปให้แก่มารดา.
               ในทันใดนั้นเอง วิบากคือ ข้าวน้ำและผ้าก็เกิดขึ้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา ภายหลังนางมีร่างกายบริสุทธิ์สะอาด นุ่งห่มผ้าอันมีค่า ยิ่งกว่าผ้าแคว้นกาสี ประดับด้วยวัตถาภรณ์อันวิจิตร เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สงฺเฆ จาตุทฺทิเส อทา ความว่า ได้ถวาย คือมอบถวายแก่สงฆ์ผู้มาแต่ทิศทั้ง ๔.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามนางเปรตนั้นว่า
               ดูก่อนนางเทพธิดา ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก ส่องสว่างไสวไปทุกทิศ สถิตอยู่ ดุจดาวประกายพรึก. ท่านมีวรรณะเช่นนี้ เพราะกรรมอะไร อิฐผลย่อมสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้ เพราะกรรมอะไร และโภคะทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นที่พอใจ ย่อมบังเกิดแก่ท่าน เพราะกรรมอะไร.
               ดูก่อนนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมภาพขอถามท่าน เมื่อท่านเป็นมนุษย์ ได้ทำบุญอะไรไว้ อนึ่ง ท่านมีอานุภาพรุ่งเรืองและมีรัศมีกายสว่างไสวไปทุกทิศอย่างนี้ เพราะบุญอะไร.
               ลำดับนั้น นางเปรตจึงตอบโดยนัยมีอาทิว่า ดิฉันเป็นมารดาของท่านพระสารีบุตร.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุแล้ว ทรงแสดงธรรมแก่บริษัทผู้เข้าถึงพร้อมแล้ว. เทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชนฉะนั้นแล.

               จบอรรถกถาสารีปุตตเถรมาตุเปติวัตถุที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุพพรีวรรคที่ ๒ ๒. สารีปุตตเถรมาตุเปติวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 98อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 99อ่านอรรถกถา 26 / 100อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=3319&Z=3362
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=1849
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=1849
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :