ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 105อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 106อ่านอรรถกถา 26 / 107อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุพพรีวรรคที่ ๒
๙. อังกุรเปตวัตถุ

               อรรถกถาอังกุรเปตวัตถุที่ ๙               
               พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภอังกุรเปรต จึงตรัสพระคาถานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยสฺส อตฺถาย คจฺฉาม.
               ก็ในที่นี้ ไม่มีอังกุรเปรตก็จริง แต่เพราะความประพฤติของอังกุรเปรตนั้นเกี่ยวเนื่องด้วยเปรต ฉะนั้น ความประพฤติของอังกุรเปรตนั้น ท่านจึงกล่าวว่าอังกุรเปตวัตถุ.
               ในข้อนั้นมีสังเขปกถาดังต่อไปนี้ :-
               ยังมีกษัตริย์ ๑๑ พระองค์ คือพระนางอัญชนเทวี และน้องชาย ๑๐ พระองค์ คือวาสุเทพ พลเทพ จันทเทพ สุริยเทพ อัคคิเทพ วรุณเทพ อัชชุนะ ปัชชุนะ ฆฏบัณฑิต และอังกุระ อาศัยครรภ์ของพระนางเทวคัพภาผู้พระธิดาของพระเจ้ามหากังสะ ในอสิตัญชนนคร ซึ่งพระเจ้ากังสะปกครองในอุตตราปถชนบท เพราะอาศัยเจ้าอุปสาครผู้โอรสของพระเจ้ามหาสาครผู้เป็นใหญ่ในอุตตรมธุรชนบท.
               บรรดากษัตริย์เหล่านั้น กษัตริย์ผู้น้องชายมีวาสุเทพเป็นต้นใช้จักรปลงพระชนมชีพพระราชาทั้งหมด ๖๓,๐๐๐ นคร ทั่วชมพูทวีป นับตั้งต้นแต่อสิตัญชนนครจนถึงกรุงทวารวดีเป็นที่สุด แล้วประทับอยู่ในทวารวดีนคร แบ่งรัฐออกเป็น ๑๐ ส่วน แต่ไม่ได้นึกถึงพระนางอัญชนเทวี ผู้เป็นพระเชษฐภคินี แต่เมื่อระลึกขึ้นได้จึงกล่าวว่า เราจะแบ่งเป็น ๑๑ ส่วน.
               เจ้าอังกุระน้องชายคนสุดท้องของกษัตริย์เหล่านั้นกล่าวว่า ท่านจงแบ่งส่วนของหม่อมฉันให้แก่พระเชษฐภคินีเถิด หม่อมฉันจะทำการค้าขายเลี้ยงชีพ ท่านทั้งหลายจงสละส่วยในชนบทของตนๆ ให้แก่หม่อมฉัน.
               กษัตริย์เหล่านั้นรับพระดำรัสแล้วจึงเอาส่วนของเจ้าอังกุระให้แก่พระเชษฐภคินี. พระราชาทั้ง ๙ พระองค์ประทับอยู่ในกรุงทวารวดี. ส่วนอังกุรประกอบการค้า บำเพ็ญมหาทานเป็นนิตยกาล.
               ก็อังกุระนั้นมีทาสผู้หนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่คลังมุ่งหวังประโยชน์ ท่านอังกุระชอบใจ ได้ขอกุลธิดาคนหนึ่งมาให้เขา เมื่อตั้งครรภ์บุตรเท่านั้น เขาก็ตายไป เมื่อบุตรคนนั้นเกิดแล้ว ท่านอังกุระได้เอาค่าจ้างที่ได้ให้แก่บิดาของเขาให้แก่เขา ครั้นเมื่อเด็กนั้นเจริญวัยจึงเกิดการวินิจฉัยขึ้นในราชสกุลว่า เขาเป็นทาสหรือไม่. พระนางอัญชนเทวีได้สดับดังนั้นจึงตรัสเปรียบเทียบโดยแม่โคนม แล้วตรัสว่า แม้บุตรของมารดาผู้เป็นไทก็ต้องเป็นไทเท่านั้น ดังนี้แล้วจึงให้พ้นจากความเป็นทาสไป.
               แต่เพราะความอาย เด็กจึงไม่อาจอยู่ในที่นั้นได้ จึงได้ไปยังโรรุวนคร พาธิดาของช่างหูกคนหนึ่งในนครไป เลี้ยงชีพด้วยการทอผ้า.
               สมัยนั้น เขาได้เป็นมหาเศรษฐี ชื่อว่าอสัยหะ ในโรรุวนคร เขาได้ให้มหาทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกและยาจกทั้งหลาย. ช่างหูกนั้นเกิดปีติและโสมนัสเหยียดแขนขวาออกชี้ให้ดูนิเวศน์ของอสัยเศรษฐีแก่ชนผู้ไม่รู้จักเรือนของเศรษฐีว่า ขอคนทั้งหลายจงไปในที่นั่นแล้วจะได้สิ่งที่ควรได้.
               กรรมของเขามาแล้วในพระบาลีนั่นแล.
               สมัยต่อมา เขาทำกาละแล้วบังเกิดเป็นภุมเทพยดาที่ต้นไทรต้นหนึ่งในมรุภูมิ มือขวาของเขาได้ให้สิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง.
               ก็ในโรรุวนครนั้นนั่นเอง มีบุรุษคนหนึ่งเป็นคนขวนขวายในทานของอสัยหเศรษฐี แต่ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เอื้อเฟื้อต่อการบำเพ็ญบุญ ทำกาละแล้วบังเกิดเป็นเปรต ไม่ไกลแต่ที่อยู่ของเทพบุตรนั้น.
               ก็กรรมที่เขาทำมาแล้วในพระบาลีนั่นแล.
               ฝ่ายอสัยหมหาเศรษฐีทำกาละแล้ว เข้าถึงความเป็นสหายของท้าวสักกเทวราชในภพดาวดึงส์.
               ครั้นสมัยต่อมา เจ้าอังกุระบรรทุกสินค้าด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่มและพราหมณ์คนหนึ่งบรรทุกสินค้าด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม รวมความว่า ชนทั้ง ๒ คนบรรทุกสินค้าด้วยเกวียน ๑,๐๐๐ เล่มเดินไปตามทางมรุกันดาร พากันหลงทาง เที่ยวอยู่ในที่นั้นนั่นเองหลายวันจนหมดหญ้า น้ำและอาหาร. เจ้าอังกุระให้ทูตม้าแสวงหาน้ำดื่มทั้ง ๔ ทิศ.
               ลำดับนั้น เทพผู้มีมืออันให้สิ่งที่ต้องการองค์นั้น เห็นชนเหล่านั้นได้รับความวอดวายอันนั้น จึงคิดถึงอุปการะที่เจ้าอังกุระ ได้กระทำไว้แก่ตนในกาลก่อน จึงคิดว่าเอาเถอะ บัดนี้เราจักพึงเป็นที่พึ่งของเจ้าอังกุระนี้ ดังนี้แล้วจึงได้ชี้ให้ดูต้นไทรอันเป็นที่อยู่ของตน.
               ได้ยินว่า ต้นไทรนั้นสมบูรณ์ด้วยกิ่งและค่าคบ มีใบทึบ มีร่มเงาสนิท มีย่านหลายพันย่าน ว่าโดยความยาวกว้างและสูงประมาณ ๑ โยชน์.
               เจ้าอังกุระเห็นดังนั้นแล้ว เกิดความหรรษาร่าเริง ให้ตั้งข่ายภายใต้ต้นไทรนั้น. เทวดาเหยียดหัตถ์ขวาของตนออก ให้คนทั้งหมดอิ่มหนำด้วยน้ำดื่มเป็นอันดับแรกก่อน ต่อแต่นั้นจึงได้ให้สิ่งที่เขาปรารถนาแก่เขา.
               เมื่อมหาชนนั้นอิ่มหนำตามความต้องการด้วยข้าวและน้ำเป็นต้นนานาชนิดอย่างนี้. ภายหลัง เมื่ออันตรายในหนทางสงบลง พราหมณ์ผู้เป็นพ่อค้านั้นใส่ใจโดยไม่แยบคาย คิดอย่างนี้ว่า เราจากนี้ไปยังแคว้นกัมโพชะแล้ว จักกระทำอะไรเพื่อให้ได้ทรัพย์. แต่เราจะพาเทพนี้แหละไปด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นสู่ยานไปยังนครของเราเอง.
               ครั้นคิดอย่างนี้แล้ว เมื่อจะบอกความนั้นแก่เจ้าอังกุระ จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
                                   เราทั้งหลายเที่ยวหาทรัพย์ไปสู่แคว้นกัมโพชะ
                         เพื่อประโยชน์ใด เทพบุตรนี้เป็นผู้ให้สิ่งที่เราอยากได้
                         นั้น พวกเราจักนำเทพบุตรนี้ไป หรือจักจับเทพบุตรนี้
                         ข่มขี่เอา ด้วยการวิงวอนหรืออุ้มใส่ยานนำไปสู่ทวารก
                         นครโดยเร็ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺส อตฺถาย แปลว่า เพราะเหตุแห่งประโยชน์ใด.
               บทว่า กมฺโพชํ ได้แก่ แคว้นกัมโพชะ.
               บทว่า ธนหารกา ได้แก่ ผู้หาทรัพย์ที่ได้มาด้วยการค้าขายสินค้า.
               บทว่า กามทโท ได้แก่ ผู้ให้สิ่งที่ปรารถนาต้องการ.
               บทว่า ยกฺโข ได้แก่ เทพบุตร.
               บทว่า นยามเส ได้แก่ จักนำไป.
               บทว่า สาธุเกน แปลว่า ด้วยการอ้อนวอน.
               บทว่า ปสยฺห ได้แก่ ข่มขี่เอาตามอำเภอใจ.
               บทว่า ยานํ ได้แก่ ยานอันนำมาซึ่งความสุขสบาย.
               บทว่า ทฺวารกํ ได้แก่ ทวารวดีนคร.
               ข้ออธิบายในหนหลัง มีดังต่อไปนี้
               พวกเราปรารถนาจะจากที่นี้ไปยังแคว้นกัมโพชะเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่จะพึงให้สำเร็จด้วยการไปนั้น ย่อมสำเร็จในที่นี้เอง. เพราะเทพบุตรนี้เป็นผู้ให้สมบัติที่น่าใคร่ เพราะฉะนั้น เราจึงขออ้อนวอนเทพบุตรนี้ แล้วอุ้มเทพบุตรนี้ขึ้นสู่ยาน ตามอนุมัติของเทพบุตรนั้น หรือถ้าไม่ไปตามที่ตกลงกันไว้ จะข่มขี่เอาตามพลการแล้วจับเทพบุตรนั้นมัดแขนไพล่หลังไว้ในยาน ออกจากที่นี้แล รีบไปยังทวารวดีนคร.
               ฝ่ายเจ้าอังกุระอันพราหมณ์พูดอย่างนี้แล้ว ตั้งอยู่ในสัปปุริสธรรม เมื่อจะปฏิเสธคำจึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
                                   บุคคลอาศัยนั่งนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด
                         ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะการ
                         ประทุษร้ายมิตร เป็นความเลวทราม.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ภญฺเชยฺย แปลว่า ไม่พึงตัด.
               บทว่า มิตฺตทุพฺโภ ได้แก่ การประทุษร้ายมิตร คือนำความพินาศให้เกิดแก่มิตรเหล่านั้น.
               บทว่า ปาปโก ได้แก่ คนไม่ดี คือคนมักประทุษร้ายต่อมิตร.
               จริงอยู่ ต้นไม้ที่มีร่มเงาเยือกเย็นอันใด ย่อมบรรเทาความกระวนกระวายของคนผู้ถูกความร้อนแผดเผา ใครๆ ไม่ควรคิดร้ายต่อต้นไม้นั้น ก็จะป่วยกล่าวไปใยถึงหมู่สัตว์เล่า. ท่านแสดงว่า เทพบุตรนี้เป็นสัตบุรุษ เป็นบุรพการีบุคคล ผู้บรรเทาทุกข์ ผู้มีอุปการะมากแก่เราทั้งหลาย เราไม่ควรคิดร้ายอะไรๆ ต่อเทพบุตรนั้น โดยที่แท้เทพบุตรนั้น เราควรบูชาทีเดียว.
               พราหมณ์ได้ฟังดังนั้นคิดว่า มูลเหตุของประโยชน์ เป็นเหตุกำจัดความคดโกง ดังนี้แล้ว อาศัยทางอันเป็นแบบแผน ตั้งอยู่ในฝ่ายขัดแย้งต่อเจ้าอังกุระ จึงกล่าวคาถาว่า :-
                                   บุคคลอาศัยนั่งนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด
                         พึงตัดแม้ลำต้นของต้นไม้นั้นได้ ถ้ามีความต้อง
                         การเช่นนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺโถ เจ ตาทิโส สิยา ความว่า ถ้าพึงมีความต้องการด้วยทัพพสัมภาระเช่นนั้น. อธิบายว่า แม้ลำต้นของต้นไม้นั้นก็ควรตัด จะป่วยกล่าวไปใยถึงกิ่งเป็นต้นเล่า.
               เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว เจ้าอังกุระเมื่อจะประคองเฉพาะสัปปุริสธรรม จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
                                   บุคคลอาศัยนั่งนอน ที่ร่มเงาของต้นไม้ใด
                         ไม่พึงทำลายแม้ใบของต้นไม้นั้น เพราะการ
                         ประทุษร้ายต่อมิตร เป็นความเลวทราม.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ตสฺส ปตฺตํ ภินฺเทยฺย ความว่า ไม่พึงทำแม้เพียงใบใบหนึ่งของต้นไม้นั้นให้ตกไป จะป่วยกล่าวไปใยถึงกิ่งเป็นต้นเล่า.
               พราหมณ์เมื่อจะประคองวาทะของตนแม้อีก จึงกล่าวคาถาว่า :-
                                   บุคคลอาศัยนั่งนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด
                         พึงถอนต้นไม้นั้นพร้อมทั้งรากได้ ถ้าพึงประสงค์
                         เช่นนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมูลมฺปิ ตํ อพฺพุเห ความว่า พึงถอน คือพึงรื้อขึ้นซึ่งต้นไม้นั้นพร้อมทั้งราก คือพร้อมด้วยรากในที่นั้น.
               เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว เจ้าอังกุระมีความประสงค์จะทำแบบแผนนั้นให้ไร้ประโยชน์อีก จึงได้กล่าวคาถา ๓ คาถาเหล่านี้ว่า :-
               ก็บุรุษพึงพักอยู่ในเรือนของบุคคลใดตลอดราตรีหนึ่ง หรือพึงได้ข้าวน้ำในที่ใด ไม่ควรมีจิตคิดร้ายต่อบุคคลนั้น.
               ความเป็นผู้กตัญญูอันสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว บุคคลพึงพักอาศัยในเรือนของบุคคลใดแม้เพียงคืนเดียว พึงได้รับการบำรุงด้วยข้าวและน้ำ ไม่ควรมีจิตคิดประทุษร้ายต่อบุคคลนั้น บุคคลมีมือไม่เบียดเบียน ย่อมแผดเผาบุคคลผู้ประทุษร้ายมิตร
               บุคคลใดทำความดีไว้ในปางก่อน ภายหลังเบียดเบียนด้วยความชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าเป็นคนอกตัญญู ย่อมไม่พบเห็นความเจริญทั้งหลาย.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺส แปลว่า ต่อบุคคลใด.
               บทว่า เอกรตฺติมฺปิ ความว่า พึงอยู่อาศัยในเรือนอย่างเดียว แม้เพียงราตรีเดียว.
               บทว่า ยตฺถนฺนปานํ ปุริโส ลเภถ ความว่า บุรุษบางคนพึงได้โภชนะอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือน้ำ ในสำนักของผู้ใด.
               บทว่า น ตสฺส ปาปํ มนสาปิ จินฺตเย ความว่า บุคคลไม่พึงมีจิตคิดร้ายต่อสิ่งที่ไม่ดี คือสิ่งที่ไร้ประโยชน์ต่อบุคคลนั้น ได้แก่เป็นผู้ไม่รักใคร่ จะป่วยกล่าวไปใยถึงกายและวาจาเล่า.
               หากมีคำถามว่า ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะความเป็นผู้กตัญญูอันสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว. อธิบายว่า ขึ้นชื่อว่าความเป็นผู้กตัญญูอันบุรุษผู้สูงสุดมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว.
               บทว่า อุปฏฺฐิโต แปลว่า พึงให้เข้าไปนั่งใกล้ คือพึงอุปัฏฐากด้วยข้าวและน้ำเป็นต้นว่า ท่านจงรับสิ่งนี้ ท่านจงบริโภคสิ่งนี้.
               บทว่า อทุพฺภปาณี ได้แก่ ผู้มีมือไม่เบียดเบียน คือผู้สำรวมมือ.
               บทว่า ทหเต มิตฺตทุพฺภึ ความว่า ย่อมแผดเผาคือย่อมทำบุคคลผู้มักประทุษร้ายต่อมิตรนั้นให้พินาศ ว่าโดยอรรถ ชื่อว่าย่อมแผดเผา ย่อมแผดเผาบุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายผู้อันคนอื่นกระทำความผิดในบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอัธยาศัยที่เป็นประโยชน์ผู้ไม่ประทุษร้าย คือนำมาซึ่งความพินาศแก่บุคคลนั้นนั่นแล โดยไม่แปลกกัน.
               ทหเต มิตฺตทุพฺภินฺติ ตํ มิตฺตทุพฺภึ ปุคฺคลํ ทหติ
วินาเสติ อปฺปทุฏฺเฐ หิตชฺฌาสยสมฺปนฺเน ปุคฺคเล ปเรน กโต
อปราโธ อวิเสเสน ตสฺเสว อนตฺถาวโห อปฺปทุฏฺโฐ ปุคฺคโล
อตฺถโต ตํ ทหติ นาม ฯ

               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า :-
                                   ผู้ใด ประทุษร้ายต่อนรชนผู้ไม่ประทุษร้าย
                         ผู้เป็นคนบริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ความชั่ว
                         ย่อมกลับมาถึงผู้นั้นซึ่งเป็นคนพาลแน่แท้ เหมือน
                         ธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลมฉะนั้น.

               บทว่า โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ ความว่า บุคคลใดมีความดีอันบุคคลดีบางคน กระทำให้ คือกระทำอุปการะให้.
               บทว่า ปจฺฉา ปาเปน หึสติ ความว่า ต่อมาภายหลัง เบียดเบียนบุคคลนั้นผู้กระทำอุปการะก่อน ด้วยกรรมชั่วคือกรรมไม่ดี ได้แก่ด้วยกรรมที่ไร้ประโยชน์.
               บทว่า อลฺลปาณิหโต โปโส ความว่า ผู้มีฝ่ามืออันชุ่ม คือผู้มีฝ่ามืออันเปียก ได้แก่มีฝ่ามืออันล้างสะอาดแล้ว เป็นผู้กระทำอุปการะก่อน เพราะกระทำอุปการะ เบียดเบียนคือบีบคั้น โดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง.
               อีกอย่างหนึ่ง ถูกเบียดเบียนด้วยการเบียดเบียนบุคคลผู้กระทำอุปการะก่อนนั้น ชื่อว่าผู้มีฝ่ามืออันเปียกเบียดเบียน ได้แก่คนอกตัญญู.
               บทว่า น โส ภทฺรานิ ปสฺสติ ความว่า บุคคลนั้น คือบุคคลตามที่กล่าวแล้ว ย่อมไม่เห็น ย่อมไม่ประสบ คือย่อมไม่ได้ในโลกนี้ และในบัดนี้.
               พราหมณ์นั้นถูกเจ้าอังกุระผู้ยกย่องสัปปุริสธรรม กล่าวข่มขู่อย่างนี้ ได้เป็นผู้นิ่งเงียบ.
               ฝ่ายเทพบุตรฟังคำและคำโต้ตอบของคนทั้ง ๒ นั้น แม้จะโกรธต่อพราหมณ์ ก็คิดเสียว่า ช่างเถอะ ภายหลังเราจักรู้กรรมที่ควรทำแก่พราหมณ์ผู้ประทุษร้ายนี้
               เมื่อจะแสดงภาวะที่ตนอันใครๆ ข่มขู่มิได้เป็นอันดับแรก จึงกล่าวคาถาว่า :-
                                   ไม่เคยมีเทวดา หรือมนุษย์ หรืออิสรชน
                         คนใด จะมาข่มขู่เราได้โดยง่าย เราเป็นเทพเจ้า
                         ผู้มีอิทธิฤทธิ์อย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้ไปได้ไกล
                         สมบูรณ์ด้วยรัศมีและกำลัง.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เทเวน วา ได้แก่ จะเป็นเทพองค์ใดองค์หนึ่งก็ตามที.
               แม้ในบทว่า มนุสฺเสน วา นี้ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อิสฺสริเยน วา ความว่า อันผู้เป็นใหญ่ในหมู่เทพก็ดี อันผู้เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์ก็ดี.
               ในความเป็นใหญ่ ๒ อย่างนั้น ชื่อว่าความเป็นใหญ่ในหมู่เทพ ได้แก่เทวฤทธิ์ของท้าวจาตุมหาราช ท้าวสักกะและท้าวสุยามะเป็นต้น. ชื่อว่าความเป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์ ได้แก่บุญฤทธิ์ของพระเจ้าจักรพรรดิ์เป็นต้น. เพราะฉะนั้น ท่านจึงสงเคราะห์เอาเทวดาและมนุษย์ผู้มีอานุภาพมากด้วยอิสริยศักดิ์.
               จริงอยู่ เทพแม้ผู้มีอานุภาพมาก เมื่อไม่มีมนุษย์ผู้อันผลแห่งบุญสนับสนุนตน ย่อมไม่อาจเพื่อจะครอบงำความวิบัติ ในการประกอบความเพียร จะป่วยกล่าวไปใยถึงบุคคลนอกนี้เล่า.
               ศัพท์ว่า หํ เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่า อดทนไม่ได้.
               บทว่า น สุปฺปสยฺโห แปลว่า อันใครๆ กำจัดไม่ได้.
               บทว่า ยกฺโขหมสฺมิ ปรมิทฺธิปตฺโต ความว่า เพราะผลแห่งบุญของตนเราจึงเข้าถึงความเป็นเทพบุตร คือเราเป็นเทพบุตรแท้ๆ ไม่ใช่เทพบุตรเทียม. โดยที่แท้ เรามีฤทธิ์อย่างยิ่ง คือประกอบด้วยฤทธิ์ของเทพบุตรอันสูงยิ่ง.
               บทว่า ทูรงฺคโม ได้แก่ สามารถเพื่อจะไปยังที่ไกลโดยทันทีทันใด.
               ด้วยคำว่า วณฺณพลูปปนฺโน นี้ เทพบุตรแสดงเฉพาะภาวะที่ตนไม่ถูกใครๆ ข่มขู่ด้วยการประกอบมนต์เป็นต้น ด้วยบททั้ง ๓ ว่า เข้าถึงคือประกอบด้วยรูปสมบัติและด้วยพลังกาย.
               จริงอยู่ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยรูป เป็นผู้อันบุคคลเหล่าอื่นนับถือมาก. เพราะอาศัยรูปสมบัติ จึงไม่ถูกวัตถุที่เป็นข้าศึกต่อกัน ฉุดคร่าไปได้เลย เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าววรรณสมบัติว่า เป็นเหตุที่ใครๆ ข่มขู่ไม่ได้.
               เบื้องหน้าแต่นี้ไป อังกุระพ่อค้าและเทพบุตรได้ทำถ้อยคำและการโต้ตอบกันว่า :-
               ฝ่ามือของท่านมีสีดังทองคำทั่วไป ทรงไว้ซึ่งวัตถุที่บุคคลอื่นปรารถนา ด้วยนิ้วทั้ง ๕ เป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย วัตถุมีรสต่างๆ ย่อมไหลออกจากฝ่ามือของท่าน ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ท่านเป็นท้าวสักกะ
               รุกขเทวดาตอบว่า :-
               เราไม่ใช่เทพเจ้า ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าวสักกะปุรินททะ ดูก่อนเจ้าอังกุระ ท่านจงทราบว่า เราเป็นเปรต จุติจากโรรุวนคร มาอยู่ที่ต้นไทรนี้.
               อังกุระพ่อค้าถามว่า :-
               เมื่อก่อน ท่านอยู่ในโรรุวนคร ท่านมีปกติอย่างไร มีความประพฤติอย่างไร ผลบุญสำเร็จที่ฝ่ามือของท่าน เพราะพรหมจรรย์อะไร
               รุกขเทวดาตอบว่า :-
               เมื่อก่อน เราเป็นช่างหูกอยู่ในโรรุวนคร เป็นคนกำพร้า เลี้ยงชีพโดยความลำบากนัก เราไม่มีอะไรจะให้ทาน เรือนของเราอยู่ใกล้เรือนของอสัยหเศรษฐี ซึ่งเป็นคนมีศรัทธา เป็นทานบดีมีบุญอันทำแล้ว เป็นผู้ละอายต่อบาป พวกยาจกวณิพกมีนามและโคตรต่างๆ กัน ไปบ้านของเรานั้น พากันถามถึงเรือนของอสัยหเศรษฐีกะเราว่า ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย พวกเราจะไปทางไหน ทานเขาให้กันที่ไหน
               เราถูกพวกยาจกวณิพกถามแล้ว ได้ยกมือเบื้องขวาชี้บอกเรือนอสัยหเศรษฐีแก่ยาจกวณิพกเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลายจงไปทางนี้ ความเจริญจักมีแก่ท่านทั้งหลาย ทานเขาให้อยู่ที่นั่น เพราะเหตุนั้น ฝ่ามือของเราจึงให้สิ่งที่น่าปรารถนา เป็นที่ไหลออก แห่งวัตถุมีรสอร่อย ผลบุญย่อมสำเร็จที่ฝ่ามือของเรา เพราะพรหมจรรย์นั่น.
               อังกุระพ่อค้าถามว่า :-
               ได้ยินว่า ท่านไม่ได้ให้ทานแก่ใครๆ ด้วยมือทั้งสองของตน เป็นแต่เพียงอนุโมทนาทานของคนอื่น ยกมือชี้บอกทางให้ เพราะเหตุนั้น ฝ่ามือของท่านจึงให้สิ่งที่น่าใคร่ เป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย ผลบุญย่อมสำเร็จที่ฝ่ามือของท่าน เพราะพรหมจรรย์นั้น.
               ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อสัยหเศรษฐีผู้เลื่อมใสได้ให้ทานด้วยมือทั้งสองของตน ละร่างกายมนุษย์แล้ว ไปทางทิศไหนหนอ.
               รุกขเทวดาตอบว่า :-
               เราไม่รู้ทางไปหรือทางมาของอสัยหเศรษฐี ผู้เป็นเจ้าของแห่งทาน ผู้มีรัศมีซ่านออกจากตน แต่เราได้ฟังมาในสำนักของท้าวเวสวัณว่า อสัยหเศรษฐีถึงความเป็นสหายแห่งท้าวสักกะ
               อังกุระพ่อค้ากล่าวว่า :-
               บุคคลควรทำความดีแท้ ควรให้ทานตามสมควร ใครได้เห็นฝ่ามืออันให้สิ่งที่น่าใคร่แล้ว จักไม่ทำบุญเล่า เราไปจากที่นี้ถึงทวารกะนครแล้ว จักรีบให้ทานอันจักนำความสุขมาให้แก่เราแน่แท้ เราจักให้ข้าวน้ำ ผ้า เสนาสนะ บ่อน้ำและสะพานในที่เดินไปได้ยาก เป็นทานดังนี้.
               รวมเป็นคาถากล่าวและกล่าวโต้ตอบกันมีอยู่ ๑๕ คาถา.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาณิ เต ได้แก่ ฝ่ามือขวาของท่าน.
               บทว่า สพฺพโส วณฺโณ ได้แก่ มีวรรณะดุจทองคำทั้งหมด.
               บทว่า ปญฺจธาโร ความว่า ชื่อว่าปัญจธาระ เพราะมีการทรงไว้ซึ่งวัตถุอันบุคคลเหล่าอื่นปรารถนาด้วยนิ้วทั้ง ๕.
               บทว่า มธุสฺสโว แปลว่า เป็นที่หลั่งออกซึ่งรสอันอร่อย.
               ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงกล่าวว่า นานารสา ปคฺฆรนฺติ ความว่า เป็นที่ไหลออกแห่งรสต่างๆ ต่างด้วยรสมีรสหวาน รสขมและรสฝาดเป็นต้น.
               จริงอยู่ ท่านกล่าวไว้ว่า รสมีรสหวานเป็นต้นย่อมไหลออกจากมือ ที่หลั่งซึ่งของเคี้ยวและของบริโภคต่างๆ อันสมบูรณ์ด้วยรสมีรสหวานเป็นต้นอันให้ซึ่งความปรารถนาของเทพบุตร.
               บทว่า มญฺเญหํ ตํ ปุรินฺททํ ความว่า ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ท่านเป็นท้าวสักกะ. อธิบายว่า ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ท่านเป็นท้าวสักกะเทวราชผู้มีอานุภาพมากอย่างนี้
               บทว่า นามฺหิ เทโว ความว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่เทพเจ้าที่ปรากฏมีท้าวเวสวัณเป็นต้น.
               บทว่า น คนฺธพฺโพ ความว่า ทั้งไม่ใช่ ข้าพเจ้าเป็นคนธรรพ์.
               บทว่า นาปิ สกฺโก ปุรินฺทโท ความว่า ทั้งไม่ใช่ ข้าพเจ้าเป็นท้าวสักกะเทวราชอันใด นามว่าปุรินททะ เพราะได้เริ่มตั้งทาน ในอัตตภาพก่อน คือในกาลก่อน. เพื่อจะหลีกเลี่ยงคำถามว่า ก็ท่านเป็นอะไร. รุกขเทวดาจึงกล่าวคำมีอาทิว่า ดูก่อนอังกุระ ท่านจงทราบว่า เราเป็นเปรต. ดูก่อนอังกุระ ท่านจงรู้ว่า ข้าพเจ้าตกอยู่ในหมู่เปรต คือท่านจงทรงจำข้าพเจ้าว่า เป็นเปรตผู้มีฤทธิ์มากตนหนึ่ง.
               บทว่า โรรุวมฺหา อิธาคตํ ความว่า ข้าพเจ้าจุติจากโรรุวนครแล้วมาในที่นี้ คือที่ต้นไทรนี้ ในทางทรายกันดารด้วยการอุบัติ คือบังเกิดในที่นี้.
               บทว่า กึ สีโล กึ สมาจาโร โรรุวสฺมึ ปุเร ตฺวํ ความว่า เมื่อก่อนคือในอัตตภาพก่อน ท่านอยู่ที่โรรุวนคร เป็นผู้มีปกติอย่างไร มีความประพฤติอย่างไร คือท่านสมาทานศีลเช่นไร ซึ่งมีลักษณะให้กลับจากบาป มีความประพฤติเช่นไร ด้วยการประพฤติมีลักษณะบำเพ็ญบุญที่ให้เป็นไปแล้ว. อธิบายว่า ท่านเป็นผู้ประพฤติเช่นไร ในการบำเพ็ญกุศลมีทานเป็นต้น.
               บทว่า เกน เต พฺรหฺมจริเยน ปุญฺญํ ปาณิมฺหิ อิชฺฌติ ความว่า ผลบุญในฝ่ามือของท่านนี้ คือเห็นปานนี้ ย่อมสำเร็จ คือย่อมเผล็ดผลในบัดนี้ เพราะความประพฤติประเสริฐเช่นไร ท่านจงบอกเรื่องนั้น.
               จริงอยู่ ผลบุญ ท่านประสงค์เอาว่า บุญในที่นี้ ด้วยการลบบทเบื้องหลัง.
               จริงอยู่ ต่อแต่นั้นผลบุญนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บุญ ในประโยคมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุญนี้ย่อมเจริญอย่างนี้ เพราะเหตุแห่งการสมาทานกุศลธรรม.
               บทว่า ตุนฺนวาโย แปลว่า เราเป็นนายช่างหูก.
               บทว่า สุกิจฺฉวุตฺตี ได้แก่ เป็นผู้เลี้ยงชีพโดยความลำบากนัก คือเป็นผู้เลี้ยงชีพโดยความลำบากอย่างยิ่ง.
               บทว่า กปโณ แปลว่า เป็นคนกำพร้า อธิบายว่า เป็นคนยากไร้.
               บทว่า น เม วิชฺชติ ทาตเว ความว่า เราไม่มีอะไรที่ควรจะพึงให้ เพื่อจะให้แก่สมณะพราหมณ์ผู้เดินทาง แต่เรามีความคิดที่จะให้ทาน.
               บทว่า นิเวสนํ แปลว่า เรือน, หรือ ศาลาพักทำการงาน.
               บทว่า อสยฺหสฺส อุปนฺติเก ได้แก่ ใกล้เรือนของมหาเศรษฐีชื่อว่า อสัยหะ.
               บทว่า สทฺธสฺส ความว่า ประกอบด้วยความเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม.
               บทว่า ทานปติโน ความว่า เป็นผู้เป็นใหญ่ในทาน ด้วยสมบัติเป็นเหตุบริจาคไม่ขาดระยะ และด้วยการครอบงำความโลภ.
               บทว่า กตปุญฺญสฺส ได้แก่ ผู้มีสุจริตกรรมที่ทำไว้ในกาลก่อน.
               บทว่า ลชฺชิโน ได้แก่ ผู้มีความละอายต่อบาปเป็นสภาพ.
               บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในเรือนของเรานั้น.
               บทว่า ยาจนกา ยนฺติ ความว่า คนยาจก ปรารถนาจะขออะไรๆ กะอสัยหเศรษฐี จึงพากันมา.
               บทว่า นานาโคตฺตา ได้แก่ ผู้แสดงอ้างถึงโคตรต่างๆ.
               บทว่า วณิพฺพกา ได้แก่ พวกวณิพก. ชนเหล่าใดเที่ยวประกาศถึงผลบุญเป็นต้นของทายก และความที่ตนมีความต้องการโดยมุ่งถึงเกียรติคุณเป็นต้น.
               บทว่า ตตฺถ ในบทว่า เต จ มํ ตตฺถ ปุจฺฉนฺติ นั้น เป็นเพียงนิบาต. คนยาจกเป็นต้นเหล่านั้นพากันถามถึงเรือนของอสัยหเศรษฐีกะเรา.
               จริงอยู่ ท่านผู้คิดอักษรย่อมปรารถนากรรมทั้ง ๒ อย่าง ในฐานะเช่นนี้.
               บทว่า กตฺถ คจฺฉาม ภทฺทํ โว กตฺถ ทานํ ปทียติ เป็นบทแสดงถึงอาการถามของยาจกเหล่านั้น.
               จริงอยู่ ในที่นี้มีอธิบายดังนี้ว่า :-
               ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย พวกเราได้ยินว่า อสัยหเศรษฐีย่อมให้ทาน ดังนี้จึงพากันมา เขาให้ทานกันที่ไหน หรือว่าเราจะไปทางไหน ผู้ที่ไปทางไหนสามารถจะได้ทาน.
               บทว่า เตสาหํ ปุฏฺโฐ อกฺขามิ ความว่า ถูกพวกคนเดินทางเหล่านั้นถามถึงฐานะที่จะได้อย่างนี้ จึงให้เกิดความคารวะขึ้นว่า เราเป็นผู้ไม่สามารถเพื่อจะให้อะไรๆ แก่คนเช่นนี้ในบัดนี้ได้ เพราะไม่เคยทำบุญไว้ในปางก่อน แต่เราจะแสดงโรงทานแก่คนเหล่านี้ให้เกิดปีติขึ้น ด้วยการบอกอุบายแห่งการได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ก็จะประสบบุญเป็นอันมากได้ จึงเหยียดแขนขวาออกชี้บอกเรือนอสัยหเศรษฐีแก่คนเหล่านั้น.
               ด้วยเหตุนั้น รุกขเทวดาจึงกล่าวว่า ท่านจงประคองแขนขวา ดังนี้เป็นต้น
               บทว่า เตน ปาณิ กามทโท ความว่า ด้วยเหตุเพียงการอนุโมทนาทานที่คนอื่นทำแล้ว โดยการประกาศทานของคนอื่นนั้นโดยเคารพ บัดนี้ ฝ่ามือของเราเป็นเสมือนต้นกัลปพฤกษ์ และเป็นเหมือนต้นทิพยพฤกษ์ ให้สิ่งที่น่าใคร่ คือให้สิ่งที่ต้องการที่ปรารถนา ชื่อว่าให้สิ่งที่น่าใคร่และน่าปรารถนา. ก็เพราะเหตุนั้น ฝ่ามือของท่านจึงให้สิ่งที่น่าปรารถนา เป็นที่หลั่งไหลออกแห่งรสอันอร่อย คือเป็นที่สละออกซึ่งวัตถุที่น่าปรารถนา.
               ศัพท์ว่า กิร ในบทว่า น กิร ตฺวํ อทา ทานํ นี้เป็นนิบาต ลงในอรรถแห่งอนุสสวนัตถะ.
               ได้ยินว่า ท่านไม่สละสิ่งของของตน คือท่านไม่ได้ให้ทานอะไรๆ แก่ผู้ใดผู้หนึ่งหรือแก่สมณะ ด้วยฝ่ามือของตน คือพร้อมด้วยมือของตน.
               บทว่า ปรสฺส ทานํ อนุโมทนาโน ความว่า ท่านเมื่ออนุโมทนาทานของคนอื่นที่คนอื่นกระทำอย่างเดียว เท่านั้นอยู่ว่า โอ ทานเราให้เป็นไปแล้ว.
               บทว่า เตน ปาณิ กามทโท ความว่า เพราะเหตุนั้น ฝ่ามือของท่านจึงให้สิ่งที่น่าใคร่อย่างนี้ อธิบายว่า โอ น่าอัศจรรย์จริงหนอ คติ แห่งบุญทั้งหลาย.
               บทว่า โย โส ทานมทา ภนฺเต ปสนฺโน สกปาณิภิ นี้ รุกขเทวดาเรียกเทพบุตร ด้วยความเคารพว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อสัยหเศรษฐีผู้มีความเลื่อมใส ได้ให้ทานด้วยฝ่ามือของตน. อธิบายว่า อันดับแรก ผลเช่นนี้คือ อานุภาพเช่นนี้ของท่าน ผู้อนุโมทนาทานที่บุคคลอื่นทำไว้แล้ว แต่อสัยหมหาเศรษฐีนั้นได้ให้มหาทาน คือเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส ให้มหาทานเป็นไปในกาลนั้น ด้วยทรัพย์หลายพัน.
               บทว่า โส หิตฺวา มานุสํ เทหํ ความว่า ท่านละอัตภาพมนุษย์ในที่นี้.
               บทว่า กึ ได้แก่ ทางทิศไหน.
               ศัพท์ว่า นุ ในคำว่า นุ โส นี้เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า ทิสตํ คโต แปลว่า ไปสู่ทิศคือที่.
               รุกขเทวดาถามถึงอภิสัมปรายภพของอสัยหเศรษฐีว่า คติคือความสำเร็จของท่านเศรษฐีนั้นเป็นอย่างไร.
               บทว่า อสยฺหสาหิโน ความว่า ชื่อว่าอสัยหเศรษฐี เพราะอดกลั้นธุระของสัตบุรุษผู้จำแนกการบริจาคเป็นต้นซึ่งคนเหล่าอื่นผู้มีความตระหนี่คือผู้อันความโลภครอบงำ ไม่สามารถเพื่อจะอดกลั้นได้.
               บทว่า องฺคีรสสฺส ผู้มีรัศมีซ่านออกจากตน.
               จริงอยู่ บทว่า รโส เป็นชื่อของความโชติช่วง.
               ได้ยินว่า ปีติและโสมนัสอย่างยิ่ง ย่อมเกิดขึ้นแก่อสัยหเศรษฐีนั้น เพราะเห็นพวกยาจกกำลังเดินมา คือสีหน้าย่อมผ่องใส. รุกขเทวดานั้นกล่าวอย่างนี้ เพราะทำเขาให้ประจักษ์แก่ตน.
               บทว่า คตึ อาคตึ วา ความว่า หรือว่า คติของอสัยหเศรษฐีนั้นว่า เขาจากโลกนี้แล้วไปสู่คติชื่อโน้น เราไม่เข้าใจการมาว่า ก็หรือว่า เขาจากที่นั้นแล้วจักมาในที่นี้ในกาลชื่อโน้น. นี้ไม่ใช่วิสัยของเรา.
               บทว่า สุตญฺจ เม เวสฺสวณสฺส สนฺติเก ความว่า แต่เราได้ฟังข้อนี้มาในสำนักของท้าวเวสวัณมหาราชผู้ไปสู่ที่อุปัฏฐาก.
               บทว่า สกฺกสฺส สหพฺยตํ คโต อสยฺโห ความว่า อสัยหเศรษฐีถึงความเป็นสหายของท้าวสักกะจอมเทพ. อธิบายว่า บังเกิดในภพชั้นดาวดึงส์.
               บทว่า อลเมว กาตุํ กลฺยาณํ ความว่า คุณงามความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง คือบุญกุศลสมควรคือเหมาะสมที่จะต้องทำแท้ทีเดียว.
               ก็ในคุณงามความดีนั้น สิ่งที่ทั่วไปแก่คนทั้งปวง ควรทำดีกว่า เพื่อจะแสดงสิ่งนั้น อังกุระพ่อค้าจึงกล่าวว่า ควรจะให้ทานตามสมควร. ควรแท้ที่จะให้ทานอันเหมาะสมแก่สมบัติและกำลังของตน.
               ท่านกล่าวเหตุในข้อนั้นไว้ว่า เห็นฝ่ามืออันให้สิ่งที่น่าปรารถนา. เพราะเห็นมือนี้ที่เห็นว่า ให้สิ่งที่น่าปรารถนา ด้วยเหตุมีการอนุโมทนาส่วนบุญที่คนอื่นทำแล้วเป็นเบื้องต้น และด้วยเหตุเพียงการบอกหนทางเป็นที่เข้าไปสู่เรือนแห่งท่านทานบดี.
               บทว่า โก ปุญฺญํ น กริสฺสติ ความว่า ขึ้นชื่อว่าใครเสมือนกับเราจักไม่ทำบุญอันเป็นที่พึ่งของตน.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุพพรีวรรคที่ ๒ ๙. อังกุรเปตวัตถุ
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 105อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 106อ่านอรรถกถา 26 / 107อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=3661&Z=3834
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=2662
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=2662
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :