ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 105อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 106อ่านอรรถกถา 26 / 107อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุพพรีวรรคที่ ๒
๙. อังกุรเปตวัตถุ

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               บัดนี้ โสนกะบุรุษ เมื่อจะตั้งประโยชน์เฉพาะที่วิญญูชนสรรเสริญ จึงกล่าวคาถาว่า บัณฑิตไม่สรรเสริญการไม่ให้ทานและการให้ทานเกินควรเป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อทานมติทานญฺจ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายคือผู้รู้ ได้แก่ผู้มีปัญญา ย่อมไม่สรรเสริญ ย่อมไม่ชมเชยการไม่ให้ ภิกษาทัพที่หนึ่งก็ดี ข้าวสารหยิบมือหนึ่งก็ดีโดยประการทั้งปวง และการให้เกินควร กล่าวคือการบริจาคเกินประมาณ.
               จริงอยู่ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้เหินห่างจากประโยชน์ ในสัมปรายภพเพราะไม่ให้ทานโดยประการทั้งปวง. ประเพณีในปัจจุบันย่อมไม่เป็นไป เพราะการให้ทานเกินควร.
               บทว่า สเมน วตฺเตยฺย ความว่า บุคคลผู้เป็นนักปราชญ์สมบูรณ์ด้วยธรรม ควรประพฤติด้วยญาณอันเป็นสายกลาง อันมั่นคง เหมาะแก่ทางโลก เป็นไปสม่ำเสมอ.
               ด้วยคำว่า ส ธีรธมฺโม ท่านแสดงว่า ความเป็นไปแห่งการให้และการไม่ให้ ตามที่กล่าวแล้วอันใด อันนั้นจัดเป็นธรรมคือ เป็นทางที่นักปราชญ์ผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาผู้ฉลาดในนิตินัยดำเนินไปแล้ว
               อังกุระพาณิชได้ฟังดังนั้นแล้ว เมื่อจะเปลี่ยนแปลงความประสงค์ของโสนกบุรุษนั้น จึงประกาศวิธีที่ตนจะพึงปฏิบัติด้วย ๔ คาถาว่า :-
               ดูก่อนชาวเราทั้งหลายเอ๋ย ดีหนอ เราพึงให้ทานแล ด้วยว่าสัตบุรุษผู้สงบระงับ พึงคบหาเรา เราพึงยังความประสงค์ของวณิพกทั้งปวงให้เต็ม เลี้ยงดูให้อิ่มหนำ เปรียบเหมือนฝนที่ยังที่ลุ่มทั้งหลายให้เต็ม ฉะนั้น
               สีหน้าของบุคคลใดย่อมผ่องใส เพราะเห็นพวกยาจก บุคคลนั้น ครั้นให้ทานแล้ว มีใจเบิกบาน ข้อนั้นเป็นความสุขของบุคคลผู้อยู่ครองเรือน
               สีหน้าของบุคคลใดย่อมผ่องใส เพราะเห็นพวกยาจก บุคคลนั้น ครั้นให้ทานแล้ว ย่อมปลาบปลื้มใจ นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ.
               ก่อนแต่ให้ก็มีใจเบิกบาน เมื่อกำลังให้ก็ยังจิตให้เลื่อมใส ครั้นให้แล้วก็มีใจเบิกบาน นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโห วต แปลว่า ดีหนอ.
               บทว่า เร เป็นอาลปนะ.
               บทว่า อหเมว ทชฺชํ แก้เป็น อหํ ทชฺชเมว แปลว่า เราพึงให้ทีเดียว.
               จริงอยู่ ในข้อนี้มีความสังเขปดังต่อไปนี้ว่า
               ดูก่อนมาณพ ถ้าว่า วาทะของผู้ฉลาดในนิติศาสตร์นี้จงมีแก่ท่านว่า ทรัพย์เท่านั้นดีกว่าทานก็จริง ถึงอย่างนั้น เราก็พึงให้โดยแท้.
               บทว่า สนฺโต จ มํ สปฺปุริสา ภเชยฺยุํ ความว่า สัตบุรุษคือคนดีทั้งหลาย ผู้สงบคือผู้มีกายสมาจาร วจีสมาจารและมโนสมาจารสงบ พึงคบคือพึงเข้าถึงเรา ในเพราะทานนั้น.
               บทว่า เมโฆว นินฺนานิ ปริปูรยนฺโต ความว่า น่าอัศจรรย์จริง เราเมื่อยังความประสงค์ของวณิพกทั้งปวงให้เต็ม ชื่อว่าพึงยังวณิพกเหล่านั้น ให้เดือดร้อน เหมือนมหาเมฆ เมื่อยังฝนให้ตก ชื่อว่ายังที่ลุ่มคือที่ต่ำ ให้เต็มฉะนั้น.
               บทว่า ยสฺส ยาจนเก ทิสฺวา ความว่า เมื่อบุคคลใดคือผู้ครองเรือน เห็นยาจกทั้งหลาย เกิดศรัทธาขึ้นว่า บุญเขตปรากฏแก่เราหนอ เป็นอันดับแรก สีหน้าย่อมผ่องใส ครั้นให้ทานแก่ยาจกเหล่านั้นตามสมบัติแล้ว ย่อมเบิกบานใจ คือย่อมมีใจอันปีติและโสมนัสจับแล้ว.
               บทว่า ตํ ความว่า เป็นการเห็นยาจกในกาลใดและเห็นยาจกเหล่านั้นแล้ว จิตย่อมเลื่อมใส และครั้นให้ทานตามสมควรแล้ว ย่อมเบิกบานใจ.
               บทว่า เอสา ยญฺญสฺส สมฺปทา ความว่า นั้นเป็นความถึงพร้อม คือความบริบูรณ์ ได้แก่ความสำเร็จแห่งยัญญ์.
               บทว่า ปุพฺเพว นานา สุมโน ความว่า บุคคลพึงเป็นผู้มีใจดีคือเกิดโสมนัส ตั้งแต่จัดแจงอุปกรณ์ทาน ก่อนแต่มุญจนเจตนาว่า เราจักฝังขุมทรัพย์อันเป็นเหตุติดตามตนไปได้.
               บทว่า ททํ จิตฺตํ ปสาทเย ความว่า เมื่อให้ คือ เมื่อยังไทยธรรม ให้ตั้งอยู่ในมือของพระทักขิไณยบุคคล พึงยังจิตของตนให้เลื่อมใสว่า เราจะยึดถือเอาสิ่งที่เป็นสาระ จากทรัพย์อันหาสาระมิได้.
               บทว่า ทตฺวา อตฺตมโน โหติ ความว่า ครั้นบริจาคไทยธรรม แก่พระทักขิไณยบุคคลแล้ว ย่อมเป็นผู้มีใจดี คือมีความเบิกบานใจ ได้แก่ย่อมเกิดปีติและโสมนัส ขึ้นว่า ขึ้นชื่อว่าทานที่บัณฑิตบัญญัติแล้ว เราก็ได้ดำเนินตามแล้ว, โอ ช่างดีจริงหนอ.
               บทว่า เอสา ยญฺญสฺส สมฺปทา ความว่า ความบริบูรณ์แห่งเจตนาทั้ง ๓ อันโสมนัสกำกับแล้ว ซึ่งไปตามความเชื่อกรรมและผลแห่งกรรมนี้คือ ปุพพเจตนา มุญจนเจตนาและอปรเจตนานี้ใด นั้นเป็นสัมปทาแห่งยัญญ์ คือ ความถึงพร้อมแห่งทาน. อธิบายว่า ไม่ใช่เป็นไปโดยประการอื่นจากสัมปทานี้.
               อังกุระพาณิช ครั้นประกาศวิธีปฏิบัติของตนอย่างนี้แล้ว เป็นผู้มีอัธยาศัยในทานเจริญยิ่งขึ้น บำเพ็ญมหาทานทุกๆ วัน ให้เป็นไปโดยประมาณยิ่ง. เพราะเหตุนั้น ในกาลนั้น เมื่อทำรัชชสมบัติทั้งปวงให้เป็นดุจที่ดอนแล้ว ให้มหาทานเป็นไป มนุษย์ทั้งหลายได้อุปกรณ์แห่งทานทั้งปวงแล้ว ละการงานของตนๆ เที่ยวไปตามความสุข. เพราะเหตุนั้น เรือนคลังของพระราชาทั้งหลายจึงได้ถึงความสิ้นไป.
               ลำดับนั้น พระราชาทั้งหลายจึงได้ส่งทูตไปถึงอังกุระพาณิชว่า ท่านผู้เจริญ เพราะอาศัยทาน ความเจริญของพวกเราจึงได้พินาศไป. เรือนคลังทั้งหลายจึงถึงความสิ้นไป พวกเราควรรู้เหตุอันสมควรในข้อนั้น ดังนี้แล.
               อังกุระพาณิชได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงไปยังทักขิณาปถชนบท ให้ช่วยกันสร้างโรงทานมากมายขนาดใหญ่ ในที่ไม่ไกลแต่มหาสมุทร ในที่อยู่ของพวกทมิฬ เมื่อให้มหาทานเป็นไปอยู่ ดำรงอยู่จนสิ้นอายุ เบื้องหน้าแต่กายแตกตายไป จึงบังเกิดในภพชั้นดาวดึงส์.
               พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย เมื่อแสดงสมบัติแห่งทานและการเข้าถึงสวรรค์ของอังกุระพาณิชนั้น จึงกล่าวคาถาทั้งหลายว่า :-
               ในเรือนของอังกุระพาณิชผู้มุ่งบุญ โภชนะอันเขาให้แก่หมู่ชนวันละ ๖๐,๐๐๐ เล่มเกวียนเป็นนิตย์ พ่อครัว ๓,๐๐๐ คนประดับด้วยต่างหูอันวิจิตร ด้วยมุกดาและแก้วมณี เป็นผู้ขวนขวายในการให้ทาน พากันเข้าไปอาศัยอังกุระพาณิชเลี้ยงชีวิต. มาณพ ๖๐,๐๐๐ คนประดับด้วยต่างหูอันวิจิตรด้วยแก้วมุกดาและแก้วมณี ช่วยกันผ่าฟืนสำหรับหุงอาหาร.
               ในมหาทานของอังกุระพาณิชนั้น พวกนารี ๑๖,๐๐๐ คนประดับด้วยอลังการทั้งปวง ช่วยกันบดเครื่องเทศสำหรับปรุงอาหาร ในมหาทานของอังกุระพาณิชนั้น นารีอีก ๑๖,๐๐๐ คนประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงถือทัพพีข้าว ยืนคอยรับใช้ในมหาทานของอังกุระพาณิชนั้น.
               อังกุระพาณิชนั้นได้ให้ของเป็นอันมากแก่มหาชนโดยประการต่างๆ ได้ทำความเคารพและความยำเกรงในกษัตริย์ ด้วยมือของตนเองบ่อยๆ ให้ทานโดยประการต่างๆ สิ้นกาลนาน.
               อังกุระพาณิชยังมหาทานให้เป็นไปแล้ว สิ้นเดือน สิ้นปักษ์ สิ้นฤดูและปีเป็นอันมากตลอดกาลนาน อังกุระพาณิชได้ให้ทานและทำการบูชาแล้วอย่างนี้ ตลอดกาลนาน ละร่างกายมนุษย์แล้วได้ไปบังเกิดในภพดาวดึงส์.
               มีวาจาประกอบความว่า บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สฏฺฐิ วาหสทสฺสานิ ความว่า ในเรือนของอังกุระพาณิช ผู้มุ่งบุญ คือผู้มีอัธยาศัยในทาน ได้แก่ ผู้มีใจน้อมไปในทาน โภชนะอันเขาให้แก่หมู่ชน วันละ ๖๐,๐๐๐ เล่มเกวียน คือ ๖๐,๐๐๐ เล่มเกวียนที่บรรทุกของหอม ข้าวสาลีเป็นต้น เป็นนิตย์.
               บทว่า ติสหสฺสานิ สูทา หิ ความว่า พ่อครัว คือคนทำครัวประมาณ ๓,๐๐๐ คน ก็แลพ่อครัวเหล่านั้น ท่านประสงค์เอาว่าผู้เป็นประธาน.
               ในบรรดาพ่อครัวเหล่านั้น บุคคลผู้กระทำตามคำของพ่อครัวแต่ละคน พึงทราบว่า มากมาย. บาลีว่า ติสหสฺสานิ สูทานํ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า อามุตฺตมณิกุณฺฑลา ได้แก่ ผู้ทรงไว้ซึ่งต่างหูอันวิจิตรด้วยแก้วมณีต่างๆ.
               ก็บทว่า อามุตฺตมณิกุณฺฑลา นี้ เป็นเพียงอุทาหรณ์, พ่อครัวเหล่านั้นได้มีเครื่องอาภรณ์ เช่นแก้วมุกดา และสายรัดเอวที่ทำด้วยทองคำเป็นต้น.
               บทว่า องฺกุรํ อุปชีวนฺติ ความว่า เข้าไปอาศัยอังกุระพาณิช เลี้ยงชีพ. อธิบายว่า ผู้มีชีวิตเนื่องด้วยอังกุระพาณิชนั้น.
               บทว่า ทาเน ยญฺญสฺส ปาวฏา ความว่า เป็นผู้ขวนขวาย คือถึงความขวนขวายในการประกอบทานแห่งยัญญ์ อันรู้กันว่าการบูชาใหญ่.
               บทว่า กฏฺฐํ ผาเลนฺติ มาณวา ความว่า พวกมนุษย์หนุ่มๆ ผู้ประดับตกแต่งแล้ว ช่วยกันผ่าคือช่วยกันตัดฟืน เพื่อหุงต้มอาหารพิเศษมีของเคี้ยวและของบริโภคเป็นต้นมีประการต่างๆ.
               บทว่า วิธา ได้แก่ เครื่องเผ็ดร้อนสำหรับปรุงอาหารที่จะพึงจัดแจง.
               บทว่า ปิณฺเฑนฺติ ได้แก่ ย่อมประกอบด้วยการบด.
               บทว่า ทพฺพิคาหา แปลว่า ผู้ถือทัพพี.
               บทว่า อุปฏฺฐิตา ความว่า เข้าไปยืนคอยรับใช้ยังสถานที่รับใช้.
               บทว่า พหุํ แปลว่า มาก คือเพียงพอ.
               บทว่า พหูนํ แปลว่า มากมาย.
               บทว่า ปาทาสิ แปลว่า ได้ให้โดยประการทั้งหลาย.
               บทว่า จิรํ แปลว่า ตลอดกาลนาน.
               จริงอยู่ เขาเกิดในหมู่มนุษย์ผู้มีอายุ ๒๐,๐๐๐ ปี และเมื่อเขาให้ทานเป็นอันมากแก่ชนเป็นอันมากตลอดกาลนาน เพื่อจะแสดงประการที่เขาให้ทานจึงกล่าวว่า สกฺกจฺจญฺจ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สกฺกจฺจํ คือ มีความเอื้อเฟื้อ ได้แก่ไม่ได้ทอดทิ้ง คือไม่ดูหมิ่น.
               บทว่า สหตฺถา แปลว่า ด้วยมือของตน ไม่ใช่ถูกบังคับ.
               บทว่า จิตฺตีกตฺวา ความว่า กระทำคือบูชาด้วยจิตอันประกอบด้วยความเคารพและความนับถือมาก.
               บทว่า ปุนปฺปุนํ ได้แก่ โดยส่วนมาก คือไม่ใช่คราวเดียว.
               มีวาจาประกอบความว่า ไม่ได้กระทำ ๒-๓ วาระได้ให้ตั้งหลายวาระ.
               บัดนี้ เพื่อจะประกาศการกระทำบ่อยๆ นั้นนั่นแล พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาว่า พหู มาเส จ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหู มาเส ได้แก่ สิ้นหลายเดือนมีเดือนจิตตะเป็นต้น.
               บทว่า ปกฺเข ได้แก่ สิ้นปักษ์เป็นอันมากต่างด้วยกัณหปักษ์และสุกกปักษ์.
               บทว่า อุตุสํวจฺฉรานิ จ ความว่า สิ้นฤดูและปีเป็นอันมาก เช่นฤดูวสันต์และคิมหันต์เป็นต้น.
               บทว่า อุตุสํวจฺฉรานิ นี้เป็นทุติยาวิภัตติ ใช้ในอรรถอัจจันตสังโยคะ.
               บทว่า ทีฆมนฺตรํ แปลว่า สิ้นระยะกาลนาน.
               ก็ในข้อนี้ เพื่อจะกล่าวถึงความที่ทานเป็นไปตลอดกาลนานว่า ท่านได้ให้ตลอดกาลนานแล้วจึงแสดงว่า ทานนั้นเป็นไปไม่ขาดระยะทีเดียวอีก พึงเห็นว่า ท่านกล่าวว่า พหู มาเส ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า เอวํ แปลว่า โดยประการดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า ทตฺวา ยชิตฺวา จ โดยเนื้อความก็เป็นบทเดียวกันนั่นแหละ. อธิบายว่า ได้ให้ด้วยอำนาจการบริจาคไทยธรรมบางอย่างแก่พระทักขิไณยบุคคลบางพวก และเมื่อให้ตามกำลังแก่ชนทั้งปวงผู้มีความต้องการ โดยนัยดังกล่าวแล้วว่า ได้ให้สิ่งของเป็นอันมากแก่ชนเป็นอันมาก บูชาด้วยอำนาจการบูชาอย่างใหญ่.
               บทว่า โส หิตฺวา มานุสํ เทหํ ตาวตึสูปโค อหุ ความว่า ในเวลาสิ้นอายุ อังกุระพาณิชนั้นละอัตภาพมนุษย์ไปบังเกิดเป็นเทพนิกาย ในภพชั้นดาวดึงส์ โดยการถือปฏิสนธิ.
               เมื่ออังกุระเทพบุตรนั้นบังเกิดในภพชั้นดาวดึงส์ เสวยทิพยสมบัติอย่างนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย อินทกะมาณพ เมื่อท่านพระอนุรุทธเถระเที่ยวบิณฑบาต มีจิตเลื่อมใส ได้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง.
               สมัยต่อมา เขาทำกาละแล้วบังเกิดเป็นเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ในภพชั้นดาวดึงส์ ด้วยอานุภาพแห่งบุญอันเป็นเขต ไพโรจน์ล่วงครอบงำอังกุระเทพบุตร ด้วยฐานะ ๑๐ มีรูปเป็นต้นอันเป็นทิพย์.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า :-
                         อินทกะมาณพได้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่งแก่พระอนุรุทธเถระ
                         ละร่างกายมนุษย์แล้วได้ไปบังเกิดในภพดาวดึงส์ แต่อินทกะ
                         เทพบุตรรุ่งเรืองยิ่งกว่าอังกุระเทพบุตรโดยฐานะ ๑๐ อย่างคือ
                         รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอันน่ารื่นรมย์ใจ อายุ ยศ วรรณะ
                         สุขะ และความเป็นใหญ่.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รูเป ความว่าเป็นเหตุแห่งรูป คือเป็นนิมิตแห่งความเกิดขึ้นแห่งรูป.
               แม้ในบทว่า อายุนา แปลว่า ด้วยชีวิต.
               ก็ชีวิตของเทวดาทั้งหลาย ท่านกล่าวมีกำหนดเป็นประมาณมิใช่หรือ?
               ท่านกล่าวจริง แต่ชีวิตนั้นท่านกล่าวไว้โดยส่วนมาก.
               จริงอย่างนั้น เทวดาบางเหล่าย่อมมีการตายในระหว่างทีเดียว เพราะความวิบัติแห่งความพยายามเป็นต้น.
               ส่วนอินทกเทพบุตรยัง ๓ โกฏิ ๖ ล้านปีให้บริบูรณ์เท่านั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ย่อมไพโรจน์ล่วงด้วยอายุ.
               บทว่า ยสสา ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยบริวารใหญ่.
               บทว่า วณฺเณน ความว่า ด้วยความสมบูรณ์ด้วยทรวดทรง แต่ความสมบูรณ์ด้วยวรรณธาตุ ท่านกล่าวไว้ด้วยบทว่า รูเป ดังนี้นั่นเอง.
               บทว่า อาธิปจฺเจน แปลว่า ด้วยความเป็นใหญ่.
               เมื่ออังกุรเทพบุตรและอินทกเทพบุตร บังเกิดในภพชั้นดาวดึงส์ เสวยทิพยสมบัติ พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ ณ โคนแห่งคัณฑามพฤกษ์ ที่ประตูแห่งกรุงสาวัตถี ในวันอาสาฬหปุณณมี ในปีที่ ๗ แต่กาลตรัสรู้ เสด็จไปยังภพชั้นดาวดึงส์ โดยย่างก้าวไป ๓ ก้าวโดยลำดับ ทรงครอบงำความรุ่งเรืองของเทวพรหมบริษัทผู้ประชุมกันด้วยโลกธาตุ ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่ควงต้นปาริฉัตตกะ ด้วยรัศมีพระสรีระของพระองค์ เหมือนพระสุริโยทัยทอแสงอ่อนๆ เหนือเขายุคนธรรุ่งเรืองอยู่ฉะนั้น ประทับนั่งแสดงอภิธรรม ทอดพระเนตรเห็นอินทกเทพบุตรผู้นั่งอยู่ในที่ไม่ไกล และอังกุรเทพบุตรผู้นั่งอยู่ในระยะ ๑๒ โยชน์ เพื่อจะประกาศความสมบูรณ์แห่งพระทักขิไณยบุคคล จึงตรัสพระคาถาว่า :-
                         ดูก่อนอังกุระ มหาทานท่านได้ให้แล้วสิ้นกาลนาน
                         ท่านมาในสำนักของเรา ไฉนจึงนั่งอยู่ไกลนัก.

               อังกุรเทพบุตรได้ฟังดังนั้นจึงทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า มหาทานอันข้าพระองค์บริจาคไทยธรรมเป็นอันมาก บำเพ็ญมาตลอดกาลนาน ก็ไม่ได้มีผลยิ่ง เพราะเว้นจากทักขิไณยสมบัติ เหมือนพืชที่หว่านลงในนาที่ไม่ดี ฉะนั้น แต่แม้การให้ภิกษาทัพพีหนึ่งของอินทกเทพบุตรยังมีผลมากยิ่งนัก เพราะสมบูรณ์ด้วยพระทักขิไณยบุคคล เหมือนพืชที่หว่านในนาดี.
               ฉะนั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย เมื่อจะแสดงความนั้น จึงได้กล่าวคาถาว่า :-
               ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุรุษประทับอยู่ที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ต้นปาริฉัตตกพฤกษ์ ณ ภพดาวดึงส์ ครั้งนั้น เทวดาในหมื่นโลกธาตุพากันมานั่งประชุมกันเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า ซึ่งประทับอยู่บนยอดเขา เทวดาไรๆ ไม่รุ่งโรจน์เกินกว่าพระสัมพุทธเจ้าด้วยรัศมี พระสัมพุทธเจ้าเท่านั้นย่อมรุ่งโรจน์ล่วงเทวดาทั้งปวง
               ครั้งนั้น อังกุรเทพบุตรนี้นั่งอยู่ไกล ๑๒ โยชน์จากที่พระพุทธเจ้าประทับ ส่วนอินทกเทพบุตรนั่งในที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า รุ่งเรืองกว่าอังกุรเทพบุตร
               พระสัมพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นอังกุรเทพบุตรกับอินทกเทพบุตรแล้ว เมื่อจะทรงประกาศทักขิไณยบุคคล จึงได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ความว่า
               ดูก่อนอังกุรเทพบุตร มหาทานท่านให้แล้วสิ้นกาลนาน ท่านมาสู่สำนักเรา ไฉนจึงนั่งอยู่ไกลนัก.
               อังกุรเทพบุตรอันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระองค์อันอบรมแล้ว ทรงตักเตือนแล้ว ได้กราบทูลว่า จะประสงค์อะไรด้วยทานของข้าพระองค์นั้นอันว่างเปล่าจากพระทักขิไณยบุคคล อินทกเทพบุตรนี้นั้นให้ทานนิดหน่อย รุ่งเรืองยิ่งกว่าข้าพระองค์ ดุจพระจันทร์ในหมู่ดาว ฉะนั้น.
               อังกุรเทพบุตรทูลว่า :-
                                   พืชแม้มากที่บุคคลหว่านแล้วในนาดอน
                         ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ทั้งไม่ยังชาวนาให้ปลื้มใจฉันใด
                         ทานมากมายอันบุคคลเข้าไปตั้งไว้ในบุคคลผู้ทุศีล
                         ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่มีผลไพบูลย์ ทั้งไม่ยัง
                         ทายกให้ปลื้มใจ
                                   พืชแม้น้อยอันบุคคลหว่านแล้วในนาดี เมื่อ
                         ฝนหลั่งสายน้ำโดยสม่ำเสมอ ผลย่อมยังชาวนาให้
                         ปลาบปลื้มใจแม้ฉันใด ทานแม้น้อยอันบุคคลบริจาค
                         แล้วในท่านผู้มีศีล ผู้มีคุณความดี ผู้คงที่ย่อมมีผลมาก
                         ฉันนั้นเหมือนกัน.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตาวตึเส ได้แก่ ในภพดาวดึงส์.
               มีวาจาประกอบความว่า บทว่า สิลายํ ปณฺฑุกมฺพเล ความว่า ในคราวที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุรุษ ประทับอยู่ ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์.
               บทว่า ทสสุ โลกธาตูสุ สนฺนิปติตฺวาน เทวตา ความว่า กามาวจรเทวดาและพรหมเทวดาในหมื่นจักรวาฬอันรู้กันว่าชาติเขต ได้พากันมาประชุมเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า และเพื่อฟังธรรม. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บทว่า พากันมาเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่บนยอดเขา. อธิบายว่า บนยอดเขาสิเนรุ.
               บทว่า โยชนานิ ทส เทฺว จ องฺกุโรยํ ตทา อหุ ความว่า ในกาลนั้น คือในเวลาพร้อมพระพักตร์พระศาสดา อังกุรเทพบุตรผู้มีจริตตามที่กล่าวแล้วนี้ ได้อยู่ระยะไกล ๑๒ โยชน์. อธิบายว่า ได้นั่งอยู่ในที่ระยะไกล ๑๒ โยชน์แต่ที่ที่พระศาสดาประทับ.
               บทว่า โจทิโต ภาวิตตฺเตน ความว่า ผู้อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระองค์อันอบรมแล้วด้วยอริยมรรคภาวนาที่ทรงอบรมไว้อย่างยอดเยี่ยม ตักเตือนแล้ว. คาถามีอาทิว่า จะประสงค์อะไรด้วยทานของข้าพระองค์ ดังนี้ เป็นคาถาที่อังกุรเทพบุตรทูลแด่พระศาสดา โดยเป็นคำโต้ตอบ.
               บทว่า ทกฺขิเณยฺเยน สุญฺญตํ ความว่า เพราะในกาลนั้น ทานของข้าพระองค์ว่างเปล่า คือเว้นจากพระทักขิไณยบุคคล ฉะนั้น อังกุรเทพบุตรจึงกล่าวดูแคลนบุญทานของตนว่า จะประสงค์อะไรด้วยทานของข้าพระองค์นั้น.
               บทว่า ยกฺโข ได้แก่ เทพบุตร.
               บทว่า ทชฺชา กล่าวว่า ให้แล้ว.
               บทว่า อติโรจติ อมฺเหหิ ความว่า ย่อมรุ่งเรืองยิ่งนักกว่าบุคคลผู้เช่นกับตน.
               อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า หิ เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า ย่อมรุ่งเรืองล่วง คือครอบงำเรา. เพื่อจะหลีกเลี่ยงคำถามว่า เหมือนอะไร อังกุรเทพบุตรจึงกล่าวว่า เหมือนพระจันทร์ในหมู่ดาว.
               บทว่า อุชฺชงฺคเล ได้แก่ ในภูมิภาคอันแข็งยิ่งนัก. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ในภูมิภาคอันสูง.
               บทว่า โรปิตํ แปลว่า อันเขาหว่านแล้ว คือหว่านหรือถอนแล้วปลูกอีก.
               บทว่า นปิ โตเสติ แปลว่า ย่อมไม่ปลาบปลื้มใจ หรือไม่ยังความยินดีให้เกิด เพราะมีผลน้อย.
               บทว่า ตเถว ความว่า พืชเป็นมากที่เขาหว่านไว้ในนาดอน ย่อมไม่ไม่ผลไพบูลย์ คือไม่มีผลมาก ทั้งไม่ยังชาวนาให้ปลาบปลื้มใจฉันใด ทานแม้เป็นอันมากก็ฉันนั้น ที่บุคคลตั้งไว้ในบุคคลทุศีล คือผู้เว้นจากศีล ย่อมไม่มีผลไพบูลย์คือไม่มีผลมาก ทั้งไม่ทำให้ทายกปลาบปลื้มใจ
               สองคาถาว่า ยถาปิ ภทฺทเก เป็นต้น พึงทราบอรรถโยชนาโดยปริยายตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สมฺมาธารํ ปเวจฺฉนฺเต ความว่า เมื่อฝนหลั่งสายน้ำโดยสม่ำเสมอ คือเมื่อฝนตกทุกกึ่งเดือน ทุก ๑๐ วัน ทุก ๕ วัน.
               บทว่า คุณวนฺเตสุ ได้แก่ ในบุคคลผู้ประกอบด้วยคุณมีฌานเป็นต้น.
               บทว่า ตาทิสุ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยลักษณะแห่งผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์เป็นต้น.
               บทว่า การํ ท่านกล่าวด้วยลิงควิปลาศ. อธิบายว่า อุปการะ. เพื่อจะหลีกเลี่ยงคำถามว่า อุปการะคืออะไร อังกุรเทพบุตรจึงกล่าวว่า คือบุญ.
               พระสังคีติกาจารย์ได้ตั้งคาถานี้ไว้ว่า :-
                                   บุคคลพึงเลือกให้ทานในเขตที่ให้แล้ว
                         มีผลมาก ทายกทั้งหลายครั้นเลือกให้ทานแล้ว
                         ย่อมไปสวรรค์ การเลือกให้ทานพระสุคตทรง
                         สรรเสริญ พระทักขิไณยบุคคลเหล่าใด มีอยู่ใน
                         ชีวโลกนี้ ทานที่ทายกให้แล้วในพระทักขิไณย-
                         บุคคลเหล่านั้น ย่อมมีผลมาก เหมือนพืชที่หว่าน
                         ไว้ในนาดี ฉะนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิเจยฺย แปลว่า พึงเลือก คือพึงใคร่ครวญถึงบุญเขตด้วยปัญญา.
               คำที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.
               เรื่องอังกุรเปรตนี้นั้น พระศาสดาทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง โดยนัยมีอาทิว่า มหาทานอันท่านให้แล้วดังนี้ เพื่อจะทรงประกาศความสมบูรณ์แห่งพระทักขิไณยบุคคลข้างหน้าแก่เทวดาในหมื่นจักรวาฬ ในภพดาวดึงส์ พระองค์ทรงแสดงพระอภิธรรมในภพดาวดึงส์นั้น ๓ เดือน ในวันมหาปวารณา ทรงแวดล้อมด้วยหมู่เทพ เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ เสด็จจากเทวโลกลงสู่สังกัสนคร เสด็จถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ ประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร เพื่อจะทรงประกาศความสมบูรณ์แห่งพระทักขิไณยบุคคล ในท่ามกลางบริษัท ๔ จึงทรงแสดงโดยพิสดาร โดยนัยมีอาทิว่า เราไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้ใด. จึงยึดเอายอดเทศนา คือจตุสัจจกถา.
               ในเวลาจบเทศนา สัตว์หลายพันโกฏิเหล่านั้นได้ตรัสรู้ธรรมแล้วแล.


               จบอรรถกถาอังกุรเปตวัตถุที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุพพรีวรรคที่ ๒ ๙. อังกุรเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 105อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 106อ่านอรรถกถา 26 / 107อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=3661&Z=3834
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=2662
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=2662
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :