ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 395อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 396อ่านอรรถกถา 26 / 397อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติงสนิบาต
๒. สารีปุตตเถรคาถา

หน้าต่างที่ ๓ / ๔.

               พระสารีบุตรนั้นบรรลุถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณอย่างนั้นแล้วดำรงอยู่ในตำแหน่งพระธรรมเสนาบดี บำเพ็ญประโยชน์แก่ปวงสัตว์.
               วันหนึ่ง เมื่อจะพยากรณ์ความเป็นพระอรหัต โดยมุ่งจะแสดงความประพฤติของตนแก่เพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
                         ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล สงบระงับ มีสติ มีความดำริชอบ
               ไม่ประมาท ยินดีแต่เฉพาะกัมมัฏฐานภาวนาอันเป็นธรรม
               ภายใน มีใจมั่นคงอย่างยิ่ง อยู่ผู้เดียว ยินดีด้วยปัจจัยตามมี
               ตามได้ นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า ภิกษุ.
                         ภิกษุเมื่อบริโภคอาหารจะเป็นของสดหรือของแห้งก็
               ตาม ไม่ควรติดใจจนเกินไป ควรเป็นผู้มีท้องพร่อง มีอาหาร
               พอประมาณ มีสติอยู่ การบริโภคอาหารยังอีก ๔-๕ คำจะอิ่ม
               ควรงดเสียแล้วดื่มน้ำ เป็นการสมควรเพื่ออยู่สบาย
               ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว.
                         อนึ่ง การนุ่งห่มจีวรอันเป็นกัปปิยะ นับว่าเป็นประโยชน์
               จัดว่าพอเป็นการอยู่สบายของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว การนั่งขัด
               สมาธิ นับว่าพอเป็นการอยู่สบายของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว.
                         ภิกษุรูปใดพิจารณาเห็นความสุข โดยความเป็นทุกข์
               พิจารณาเห็นความทุกข์ โดยความเป็นลูกศรปักอยู่ที่ร่าง
               ความถือมั่นว่า เป็นตัวเป็นตนในอทุกขมสุขเวทนา ไม่ได้มี
               แก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นจะพึงติดอยู่ในโลกอย่างใด ด้วยกิเลส
               อะไร
                         ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามกเกียจคร้าน มีความเพียร
               เลวทราม ได้สดับน้อย ไม่เอื้อเฟื้อ อย่าได้มาในสำนักของเรา
               แม้ในกาลไหนๆ เลย จะมีประโยชน์อะไรด้วยการให้โอวาท
               บุคคลเช่นนั้น ในหมู่สัตว์โลกนี้.
                         อนึ่ง ขอให้ภิกษุผู้เป็นพหูสูต เป็นนักปราชญ์ ตั้งมั่นอยู่
               ในศีล ประกอบใจให้สงบระงับเป็นเนืองนิตย์ จงมาประดิษฐาน
               อยู่บนศีรษะของเราเถิด.
                         ภิกษุใดประกอบด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้า ยินดีในธรรม
               เครื่องเนิ่นช้า ภิกษุนั้นย่อมพลาดนิพพาน อันเป็นธรรมเกษม
               จากโยคะอย่างยอดเยี่ยม ส่วนภิกษุใดละธรรมเครื่องเนิ่นช้า
               ได้แล้ว ยินดีในอริยมรรค อันเป็นทางไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้า
               ภิกษุนั้นย่อมบรรลุนิพพานอันเป็นธรรมเกษมจากโยคะอย่าง
               ยอดเยี่ยม.
                         พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในสถานที่ใด เป็นบ้านหรือป่า
               ก็ตาม ที่ดอนหรือที่ลุ่มก็ตาม สถานที่นั้นเป็นภูมิสถานที่น่า
               รื่นรมย์ คนผู้แสวงหากาม ย่อมไม่ยินดีในป่าอันน่ารื่นรมย์
               เช่นใด ท่านผู้ปราศจากความกำหนัด จักยินดีในป่าอันน่า
               รื่นรมย์เช่นนั้น เพราะท่านเหล่านั้นไม่เป็นผู้แสวงหากาม.
                         บุคคลควรเห็นท่านผู้มีปัญญา ชี้โทษมีปกติกล่าวข่มขี่
               เหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้ ควรคบบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่า
               เมื่อคบกับบัณฑิตเช่นนั้นย่อมมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วเลย
               นักปราชญ์ก็ควรโอวาทสั่งสอน ควรห้ามผู้อื่นจากธรรมที่มิใช่
               ของสัตบุรุษ แต่บุคคลเห็นปานนั้น ย่อมเป็นที่รักใคร่ของสัต
               บุรุษเท่านั้น ไม่เป็นที่รักใคร่ของอสัตบุรุษ.
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว มีพระจักษุ ทรงแสดง
               ธรรมแก่ผู้อื่นอยู่ เมื่อพระองค์กำลังทรงแสดงธรรมอยู่ เราผู้
               มุ่งประโยชน์ตั้งใจฟัง การตั้งใจฟังของเรานั้นไม่ไร้ประโยชน์
               เราเป็นผู้หมดอาสวะ เป็นผู้หลุดพ้นพิเศษ
                         เราไม่ได้ตั้งความปรารถนาเพื่อปุพเพนิวาสญาณ ทิพย
               จักษุญาณ เจโตปริยญาณ อิทธิวิธี จุตูปปาตญาณ ทิพโสต
               ญาณอันเป็นธาตุบริสุทธิ์ มาแต่ปางก่อนเลย แต่คุณธรรมของ
               สาวกทั้งหมดได้มีขึ้นแก่เราพร้อมกับการบรรลุมรรคผล เหมือน
               คุณธรรมคือพระสัพพัญญุตญาณได้มีแก่พระพุทธเจ้าฉะนั้น
                         มียักษ์ตนหนึ่งมากล่าวว่า มีภิกษุหัวโล้นรูปหนึ่งชื่ออุปติส
               สะ เป็นพระเถระผู้อุดมด้วยปัญญา ห่มผ้าสังฆาฏินั่งเข้าฌานอยู่
               ที่โคนต้นไม้ สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้กำลังเข้าสมาบัติ
               อันไม่มีวิตก ในขณะถูกยักษ์ตีศีรษะ ก็ยังประกอบด้วยธรรมคือ
               ความนิ่งอย่างประเสริฐ
                         ภูเขาหินล้วนตั้งมั่นไม่หวั่นไหวฉันใด ภิกษุย่อมไม่หวั่น
               ไหวเหมือนภูเขา เพราะสิ้นโมหะก็ฉันนั้น ความชั่วช้าเพียงเท่า
               ปลายขนทราย ย่อมปรากฏเหมือนเท่าก้อนเมฆที่ลอยอยู่บน
               ท้องฟ้า แก่ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน แสวงหาความสะอาด
               เป็นนิตย์
                         เราไม่ยินดีต่อความตายและชีวิต เราเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ
               จักละทิ้งร่างกายนี้ไป ไม่ยินดีต่อความตายและชีวิต รอคอยเวลา
               ตายอยู่ เหมือนลูกจ้างรอให้หมดเวลาทำงานฉะนั้น.
                         ความตายนี้มีแน่นอนใน ๒ คราว คือในเวลาแก่หรือใน
               เวลาหนุ่ม ที่จะไม่ตายเลยย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลาย
               จงบำเพ็ญแต่สัมมาปฏิบัติเถิด ขอจงอย่าได้ปฏิบัติผิด อย่าพินาศ
               เสียเลย ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสียเลย
                         เมืองที่ตั้งอยู่ชายแดน เขาคุ้มครองป้องกันดีทั้งภายนอก
               และภายในฉันใด ท่านทั้งหลายก็จงคุ้มครองตนฉันนั้นเถิด ขณะ
               อย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะผู้มีขณะอันล่วงเลยไป
               เสียแล้ว ต้องพากันไปเศร้าโศกยัดเยียดอยู่ในนรก
                         ภิกษุผู้สงบระงับ งดเว้นโทษเครื่องเศร้าหมองใจได้อย่าง
               เด็ดขาด มีปกติพูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมกำจัดบาปธรรม
               ได้ เหมือนลมพัดใบไม้ร่วงหล่นไปฉะนั้น.
                         ภิกษุผู้สงบระงับ งดเว้นจากโทษเครื่องเศร้าหมองใจได้
               อย่างเด็ดขาด มีปกติพูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน ได้ลอยบาปธรรม
               เสียได้ เหมือนลมพัดใบไม้ร่วงหล่นไปฉะนั้น
                         ภิกษุผู้สงบระงับ ละเว้นกองกิเลสและกองทุกข์ที่เป็นเหตุ
               ทำให้เกิดความคับแค้น มีใจผ่องใสไม่ขุ่นมัว มีศีลงาม เป็นนัก
               ปราชญ์ พึงทำที่สุดทุกข์ได้.
                         บุคคลไม่ควรคุ้นเคยในบุคคลบางพวก จะเป็นคฤหัสถ์
               หรือบรรพชิตก็ตาม หรือเบื้องต้นเขาจะเป็นคนดี ตอนปลาย
               เป็นคนไม่ดีก็ตาม.
                         นิวรณ์ ๕ คือกามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑
               อุทธัจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑ เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองจิต
                         สมาธิจิตของภิกษุผู้มีปกติ ชอบอยู่ด้วยความไม่ประมาท
               ไม่หวั่นไหวด้วยเหตุ ๒ ประการ คือด้วยมีสักการะ ๑ ด้วยไม่มี
               สักการะ ๑ นักปราชญ์เรียกบุคคลผู้เพ่งธรรมอยู่เป็นปกติ พาก
               เพียรเป็นเนืองนิตย์ พิจารณาเห็นด้วยปัญญาสุขุม สิ้นความยึด
               ถือและความยินดีว่าเป็นสัตบุรุษ.
                         มหาสมุทร ๑ แผ่นดิน ๑ ภูเขา ๑ และแม้ลม ๑ ไม่ควร
               เปรียบเทียบความหลุดพ้นกิเลสอย่างประเสริฐของพระศาสดา
               เลย พระเถระผู้ยังพระธรรมจักรอันพระศาสดา ให้เป็นไปแล้ว
               ให้เป็นไปตาม ผู้มีปัญญามาก มีจิตมั่นคง เป็นผู้เสมอด้วยแผ่น
               ดินและไฟ ย่อมไม่ยินดียินร้าย.
                         ภิกษุผู้บรรลุปัญญาบารมีธรรมแล้ว มีปัญญาเครื่องตรัสรู้
               มาก เป็นนักปราชญ์ผู้ใหญ่ ไม่ใช่เป็นคนเขลา ทั้งไม่เหมือน
               คนเขลา เป็นผู้ดับความทุกข์ร้อนได้ทุกเมื่อ ท่องเที่ยวไปอยู่
                         เรามีความคุ้นเคยกับพระศาสดามาก เราทำคำสอนของ
               พระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระหนักลงได้แล้ว ถอนตัณหา
               เครื่องนำไปสู่ภพได้แล้ว ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาท
               ให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นอนุสาสนีของเรา เราพ้นจากกิเลสทั้งปวง
               แล้ว จักปรินิพพาน ดังนี้.

               จริงอยู่ คาถาบางคาถาเหล่านี้ พระเถระได้กล่าวไว้แล้ว. บางคาถา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภพระเถระแล้วตรัสภาษิตไว้ คาถาหลังสุดได้เป็นคาถาของพระเถระเท่านั้น เพราะพระเถระได้กล่าวไว้ ด้วยมุ่งจะประกาศความประพฤติของตน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถาจารี ความว่า เป็นผู้สำรวมแล้วด้วยการสำรวมทางกายเป็นต้น ประพฤติเป็นปกติอยู่, หรือชื่อว่ายถาจารี เพราะประพฤติปฏิบัติตามศีล คือสมบูรณ์ด้วยศีล.
               บทว่า ยถาสโต ได้แก่ เป็นผู้สงบระงับ.
               อธิบายว่า จริงอยู่ ท่านแสดงไว้ เพราะลบเสียงที่เกิดทางจมูกเสีย เพื่อสะดวกแก่รูปคาถา ได้แก่เป็นราวกะผู้สงบระงับ คือไม่มีความพิเศษไปจากพระอริยเจ้าทั้งหลายเลย.
               บทว่า สตีมา ได้แก่ ประกอบพร้อมด้วยสติอย่างยิ่ง.
               บทว่า ยตสงฺกปฺปชฺฌายี ได้แก่ เป็นผู้ละมิจฉาสังกัปปะได้โดยประการทั้งปวงแล้ว เป็นผู้มีความดำริอันสำรวมระวังแล้ว ด้วยอำนาจแห่งเนกขัมมสังกัปปะเป็นต้น คือเป็นผู้มีปกติเพ่งด้วยอารัมมณูปนิชฌานและลักขณูปนิชฌาน.
               บทว่า อปฺปมตฺโต ได้แก่ เป็นผู้มีความดำริอันบังคับให้เป็นไปในความประพฤติตามปกตินั้นนั่นแล และเป็นผู้เว้นขาดจากความประมาทด้วยการเพ่ง คือมีสติสัมปชัญญะตั้งมั่นด้วยดีในที่ทั้งปวง.
               บทว่า อชฺฌตฺตรโต ได้แก่ ยินดีเฉพาะแต่กัมมัฏฐานภาวนา อันเป็นธรรมภายใน.
               บทว่า สมาหิตตฺโต ได้แก่ ด้วยภาวนานั้นนั่นแหละ จึงมีจิตเป็นหนึ่ง.
               บทว่า เอโก ได้แก่ ไม่มีสหาย ละการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ และละการคลุกคลีด้วยกิเลสแล้ว เพิ่มพูนกายวิเวกและจิตตวิเวก.
               บทว่า สนฺตุสิโต ได้แก่ เป็นผู้สันโดษยินดีโดยชอบทีเดียว ด้วยความสันโดษด้วยปัจจัยและด้วยสันโดษยินดีในภาวนา.
               จริงอยู่ ปีติปราโมทย์อันโอฬารย่อมเกิดขึ้นเพราะการนำมาซึ่งคุณวิเศษชั้นสูงๆ ขึ้นไปได้ด้วยภาวนา, แต่เพราะบรรลุถึงที่สุด จึงไม่มีคำที่จะต้องกล่าวถึงเลย.
               บทว่า ตมาหุ ภิกฺขุํ ความว่า นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกบุคคลนั้น คือผู้เห็นปานนั้นว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้เห็นภัย และเป็นผู้กำจัดกิเลสได้เด็ดขาด เหตุเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยไตรสิกขา.
               บัดนี้ เมื่อจะแสดงความสันโดษด้วยปัจจัย ในความสันโดษ ๒ ประการตามที่กล่าวไว้แล้วก่อน จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า อลฺลํ สุกฺขํ วา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลฺลํ ได้แก่ เปียก คือละเอียด ด้วยการบริโภคเนยใสเป็นต้น.
               บทว่า สุกฺขํ ได้แก่ หยาบเพราะไม่มีสิ่งของอันละเอียด.
               วา ศัพท์มีอรรถอันไม่แน่นอน คืออาหารจะเป็นของสด หรือของแห้งก็ตาม.
               บทว่า พาฬฺหํ ได้แก่ จนเกินไป.
               บทว่า สุหิโต ความว่า ไม่ควรให้เขาเลี้ยงดู.
               เพื่อจะหลีกเลี่ยงคำถามว่า จะพึงเป็นอยู่อย่างไร ท่านจึงกล่าวว่า ควรเป็นผู้มีท้องพร่อง มีอาหารพอประมาณ ดังนี้เป็นต้น
               ความว่า ภิกษุบริโภคโภชนะอันประณีตหรือเศร้าหมองก็ตาม ไม่ได้บริโภคตามต้องการแล้ว จะเป็นผู้มีท้องพร่อง มีท้องเบา, ต่อแต่นั้นนั่นแหละพึงเป็นผู้มีอาหารพอประมาณ คือรู้จักประมาณในโภชนะ นำเอาอาหารอันประกอบด้วยองค์ ๘ มา เป็นผู้มีสติด้วยการรู้จักประมาณในโภชนะนั้นและด้วยมีสติเป็นเครื่องพิจารณาในโภชนะนั้นอยู่.
               ก็เพื่อจะแสดงอาการที่ชื่อว่าเป็นผู้มีท้องพร่อง มีอาหารพอประมาณว่าเป็นอย่างไร ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า จตฺตาโร ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภุตฺวา ความว่า พึงเว้นโอกาสแห่งอาหารที่จะอิ่ม ไม่บริโภคเหลือไว้อีก ๔-๕ คำแล้วดื่มน้ำเสีย. ก็ภิกษุนี้ชื่อว่าเป็นผู้มีความประพฤติเบาใจในอาหาร.
               อธิบายว่า เป็นการสมควร คือความต้องการเพื่ออยู่สำราญของภิกษุผู้มีจิตอันส่งมุ่งตรงพระนิพพาน คือเพื่อความอยู่สุขสบาย เพราะประกอบด้วยการบรรลุฌานเป็นต้น.
               ด้วยบทนี้ ท่านเมื่อจะกล่าวถึงบิณฑบาต ว่าเป็นเครื่องบริหารท้อง จึงแสดงถึงความสันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ในบิณฑบาตไว้.
               อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะว่า ภุตฺวาน ก็มี, ปาฐะนั้นพึงเป็นปาฐะที่ท่านกล่าวไว้แล้วด้วยอำนาจแห่งบุคคลที่มีความสามารถ คือมีปกติมั่นคงอย่างยิ่ง เพื่อจะยังสรีระให้เป็นไปด้วยอาหารแม้เพียง ๔-๕ คำก็ได้. ปาฐะนั้นย่อมเทียบเคียงกันได้กับคาถาที่เหนือขึ้นไปนั่นแล เพราะเรื่องจีวรและเสนาสนะ ส่วนที่เล็กน้อย ท่านจักกล่าวต่อไป.
               บทว่า กปฺปิยํ ความว่า ซึ่งผ้าที่ทำด้วยเปลือกไม้เป็นต้นอันอนุโลมกับสิ่งที่เป็นกัปปิยะอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า ตญฺเจ ฉาเทติ ความว่า นุ่งห่มจีวรอันเป็นกัปปิยะ คือที่ที่จะพึงนุ่งห่มให้เสมอ.
               อนึ่ง คือที่ที่มีอยู่ ในชาติที่พระศาสดาทรงอนุญาตไว้ คืออันประกอบด้วยประมาณ อันพระศาสดาทรงอนุญาตไว้ โดยกำหนดเบื้องต่ำ.
               บทว่า อิทมตฺถิกํ ได้แก่ เพื่อประโยชน์นี้ คือเพื่อประโยชน์ตามที่พระศาสดาตรัสไว้แล้ว.
               อธิบายว่า เพียงเพื่อป้องกันความหนาวเป็นต้น และเพื่อปกปิดอวัยวะอันเป็นเหตุยังความละอายให้กำเริบ.
               ด้วยคำนั้น ท่านกล่าวถึงจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย และความสันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ในจีวรนั้น.
               บทว่า ปลฺลงฺเกน นิสินฺนสฺส ความว่า นั่งด้วยการนั่งวงขาโดยรอบ ท่านเรียกว่าคู้บัลลังก์ คือนั่งคู้บัลลังก์สามแห่ง.
               บทว่า ชณฺณุเก นาภิวสฺสติ ความว่า เมื่อภิกษุนั่งที่กุฏิอย่างนั้น พอฝนตก น้ำฝนไม่เปียกเข่าทั้งสองข้าง. เสนาสนะแม้มีประมาณเท่านี้ จัดเป็นเสนาสนะท้ายสุด.
               จริงอยู่ กุลบุตรผู้ต้องการประโยชน์ นั่งในเสนาสนะนั้นแล้ว ก็สามารถจะทำประโยชน์ของตนให้สำเร็จได้. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นับว่าพอเป็นการอยู่สบายของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว ดังนี้เป็นต้น.
               พระเถระ ครั้นประกาศถึงโอวาทเครื่องขัดเขลาอย่างอุกฤษฏ์ยิ่งนักแก่ภิกษุทั้งหลายผู้มีความมักมาก ไม่สันโดษ ด้วยคาถาทั้ง ๔ คาถาเหล่านี้อย่างนั้นแล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงถึงความสันโดษในการยินดีภาวนา โดยมุ่งถึงเวทนา จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า โย สุขํ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขํ ได้แก่ สุขเวทนา.
               บทว่า ทุกฺขโต ได้แก่ โดยความเป็นวิปริณามทุกข์.
               บทว่า อทฺทา ได้แก่ ได้เห็นแล้ว.
               อธิบายว่า ผู้ที่ได้เห็นแล้วตามความเป็นจริง ด้วยมรรคปัญญา อันประกอบด้วยวิปัสสนาปัญญา.
               จริงอยู่ สุขเวทนาแม้จะให้ความสบายใจในเวลาบริโภค แต่ก็เป็นทุกข์อยู่นั่นเองในเวลาที่แปรปรวน เหมือนโภชนะที่เจือปนด้วยยาพิษฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงแสดงถึงการพิจารณาในข้อนั้นว่า เป็นทุกข์.
               บทว่า ทุกฺขมทฺทกฺขิ สลฺลโต ความว่า ผู้ที่พิจารณาเห็นทุกขเวทนาว่า เป็นลูกศร.
               จริงอยู่ ทุกขเวทนาจะเกิดขึ้นก็ตาม จะถึงความตั้งอยู่ก็ตาม จะแตกสลายไปก็ตาม ชื่อว่าย่อมเบียดเบียนเสมอทีเดียว เปรียบเหมือนลูกศรปักอยู่ที่ร่างกาย ติดอยู่ก็ตาม ถูกถอนออกก็ตาม ก็ย่อมเกิดเป็นการเบียดเบียนอยู่นั่นเอง.
               ด้วยคำนั้น ท่านจึงยกถึงการพิจารณาเห็นในสรีระนั้นว่า เป็นทุกข์ ขึ้นกล่าวไว้. ด้วยเหตุนั้น จึงยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตนในเวทนาทั้งสอง เพราะคำว่า ความทุกข์เป็นอนัตตา ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า อุภยนฺตเรน ความว่า ในระหว่างเวทนาทั้งสองคือในอทุกขมสุขเวทนาอันมีในท่ามกลางแห่งสุขเวทนาและทุกขเวทนา.
               บทว่า นาโหสิ ความว่า ได้มีความยึดมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน ในการตรัสรู้ตามความเป็นจริง.
               บทว่า เกน โลกสฺมิ กึ สิยา ความว่า ภิกษุกำหนดรู้อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ โดยมุ่งถึงเวทนาอย่างนั้นแล้ว ถอนขึ้นเด็ดขาดซึ่งข่ายคือกิเลสทั้งสิ้นที่เนื่องด้วยอุปาทานขันธ์นั้นได้ดำรงอยู่ จะพึงติดอยู่ในโลกด้วยกิเลสชื่อไรเล่า.
               อีกอย่างหนึ่ง อนาคตที่จะเกิดในเทวดาเป็นต้น จะพึงมีอย่างไรเล่า.
               อธิบายว่า โดยที่แท้ ผู้มีเครื่องผูกพันอันตัดเสียแล้ว พึงเป็นผู้ไม่ติดในบัญญัติทีเดียว.
               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะติเตียนบุคคลผู้ปฏิบัติผิดและสรรเสริญบุคคลผู้ปฏิบัติชอบ จึงกล่าวคาถา ๔ คาถามีคำว่า มา เม ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา เม กทาจิ ปาปิจฺโฉ ความว่า ผู้ที่ชื่อว่ามีความปรารถนาลามก เพราะปรารถนาจะยกย่องคุณความดีที่ไม่มีในตน. ชื่อว่าผู้เกียจคร้าน เพราะไม่มีความอุตสาหะในสมณธรรม, เพราะความเกียจคร้านนั้นนั่นแหละ จึงชื่อว่าผู้มีความเพียรเลวทราม. ชื่อว่าผู้สดับน้อย เพราะไม่มีการสดับฟังอันเกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องสัจจะและปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น. ชื่อว่าผู้ไม่เอื้อเฟื้อ เพราะไม่มีความเอื้อเฟื้อในโอวาทานุสาสนี บุคคลผู้เลวทรามเช่นนั้น ขออย่าได้มีในสำนักของเราในกาลไหนๆ เลย.
               เพราะเหตุไร? เพราะจะพึงติดอยู่ในโลกอย่างใด.
               อธิบายว่า โอวาทอะไรในนิกาย ๗ ในโลกจะพึงมีแก่บุคคลนั้น คือผู้เช่นนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เขาจะพึงทำอะไรที่ทำแล้ว คือหาประโยชน์มิได้.
               บทว่า พหุสฺสุโต จ ความว่า บุคคลผู้ที่มีพหุสสุตะ เพราะมีการสดับมากอันต่างโดยประเภทมีสุตตะและเคยยะเป็นต้นที่เกี่ยวเนื่องด้วยศีลเป็นอาทิ, ชื่อว่ามีเมธา ก็ด้วยอำนาจแห่งปัญญาที่เกิดแต่ธรรม ปริหาริยปัญญาและปฏิเวธปัญญา, ชื่อว่าตั้งมั่นด้วยดี เพราะตั้งมั่นด้วยดีในศีลทั้งหลาย, ชื่อว่าประกอบใจให้สงบ คือมีจิตตั้งมั่นอันต่างด้วยประเภทแห่งโลกิยะและโลกุตระ, บุคคลเช่นนั้นแม้จะดำรงอยู่บนศีรษะของเราก็ได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงการอยู่ร่วมกัน.
               บทว่า โย ปปญฺจมนุยุตฺโต ความว่า ก็บุคคลใดประกอบด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้า มีตัณหาเป็นต้นเป็นประเภท เพราะอรรถว่าเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า เหตุเป็นไปด้วยความเป็นผู้ยินดีในการงานเป็นต้นและด้วยการเกี่ยวข้องด้วยรูปเป็นต้น และเป็นผู้ยินดียิ่ง เพราะมองไม่เห็นโทษในธรรมเครื่องเนิ่นช้านั้น เป็นเช่นกับผู้ยังแสวงหา, บุคคลนั้นย่อมพลาดจากพระนิพพาน คือดำรงอยู่ไกลแสนไกลจากพระนิพพาน.
               บทว่า โย จ ปปญฺจํ หิตฺวาน ความว่า ฝ่ายบุคคลใดละธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือตัณหาเสียได้ ยินดีในหนทางคือในอุบายเครื่องบรรลุพระนิพพานอันเป็นธรรมเครื่องไม่เนิ่นช้า เพราะไม่มีปปัญจธรรมนั้น ได้แก่อริยมรรค, ยินดียิ่งในการตรัสรู้ภาวนา บุคคลนั้นย่อมยินดีพระนิพพาน ย่อมสำเร็จพระนิพพาน ได้แก่ย่อมบรรลุพระนิพพาน.
               ครั้นวันหนึ่ง พระเถระเห็นว่าพระเรวตเถระผู้น้องชายของตน อยู่ในถิ่นที่กันดาร ไม่มีน้ำ ปกคลุมด้วยต้นไม้ตะเคียนหนาแน่นไปด้วยหนาม เมื่อจะสรรเสริญท่าน จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า คาเม วา ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คาเม วา ความว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย แม้จะไม่ได้กายวิเวกในที่ละแวกบ้านก็จริง ถึงกระนั้น ท่านก็ได้จิตตวิเวกทีเดียว.
               จริงอยู่ อารมณ์ทั้งหลาย แม้จะมีส่วนเปรียบด้วยอารมณ์ทิพย์ ก็ไม่สามารถจะทำจิตของพระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้นให้หวั่นไหวได้เลย เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จะอยู่ในบ้านหรือในป่าเป็นต้นที่ใดที่หนึ่งก็ตาม เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายย่อมอยู่ในที่ใด สถานที่นั้นย่อมเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ คือภูมิประเทศนั้นย่อมเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจทีเดียว.
               บทว่า อรญฺญานิ สัมพันธ์ความว่า ป่าอันสมบูรณ์ด้วยน้ำและที่อาศัยอันสะอาด ประดับประดาด้วยหมู่ไม้ไพรสณฑ์ ผลิดอกเผล็ดผลงดงาม ชื่อว่าสถานที่น่ารื่นรมย์ใจ.
               บทว่า ยตฺถ ความว่า ชนผู้ฝักใฝ่ในกาม แสวงหากาม ย่อมไม่ยินดีในสถานที่รื่นรมย์ ดุจในป่าที่มีดอกไม้แย้มบาน.
               บทว่า วีตราคา ความว่า ฝ่ายพระขีณาสพทั้งหลายผู้มีราคะไปปราศแล้ว จักรื่นรมย์ในป่าเช่นนั้น ดุจฝูงภมรและผึ้ง ยินดีในสวนดอกปทุมฉะนั้น.
               บทว่า น เต กามคเวสิโน ความว่า เพราะผู้มีราคะไปปราศแล้วเหล่านั้น ย่อมไม่มีการแสวงหากาม.
               พระเถระอาศัยความอนุเคราะห์ จึงให้พราหมณ์ทุคตะชื่อว่าราธะ บรรพชาแล้วให้อุปสมบทอีก ทำราธะนั้นนั่นแหละให้เป็นปัจฉาสมณะเที่ยวไป วันหนึ่ง เมื่อจะให้โอวาทชมเชยราธภิกษุนั้นว่า เป็นผู้ว่าง่าย จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า นิธีนํว ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิธีนํว ได้แก่ หม้อคือขุมทรัพย์ที่เต็มด้วยวัตถุน่าปลื้มใจมีเงินและทองคำเป็นต้น ที่เขาฝั่งเก็บไว้ในที่นั้นๆ.
               บทว่า ปวตฺตารํ ความว่า กระทำการอนุเคราะห์แนะนำที่ฝั่งขุมทรัพย์กะหมู่คนขัดสนมีชีวิตยากจนว่า มานี่แน่ะ เราจักชี้แนะอุบายเพื่อเป็นอยู่สุขสบายแก่เจ้า ดังนี้แล้ว เหยียดแขนราวกะบอกว่า เจ้าจงถือเอาทรัพย์สมบัตินี้แล้ว จงเป็นอยู่ให้สุขสบายเถิด.
               บทว่า วชฺชทสฺสินํ ความว่า ผู้ชี้โทษมี ๒ ลักษณะ คือการแสวงหาโทษด้วยคิดว่า เราจักข่มขี่บุคคลนั้น ด้วยสิ่งอันไม่สมควรนี้ หรือด้วยความพลั้งพลาดนี้ ในท่ามกลางสงฆ์ และผู้ประสงค์จะให้คนที่ไม่รู้เรื่องได้รับรู้ ให้คนที่รู้เรื่องแล้วยินดีพอใจ มองดูความผิดนั้นๆ ตั้งเขาไว้แล้วในสภาวะที่ยกย่องช่วยเหลือ เพราะมุ่งถึงความเจริญด้วยคุณมีศีลเป็นต้น, ข้อนี้ท่านประสงค์ถึงในที่นี้.
               เหมือนอย่างคนขัดสน แม้ถูกข่มขู่ว่า เจ้าจงถือเอาขุมทรัพย์นี้ ดังนี้ ย่อมไม่ทำความโกรธ ในเพราะการชี้แนะขุมทรัพย์ แต่กลับชื่นชมยินดีฉันใด ในบุคคลเห็นปานนั้นก็ฉันนั้น เห็นสิ่งไม่สมควร หรือความพลั้งพลาดแล้วบอกให้ บุคคลไม่ควรทำความโกรธเลย แต่พึงมีจิตยินดีรับเท่านั้น, และพึงปวารณาตลอดไปว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านพึงบอกสิ่งที่สมควรกะผมอีกนะ.
               บทว่า นิคฺคยฺหวาทึ ความว่า บุคคลใดเห็นโทษแล้ว ไม่คิดว่าผู้นี้เป็นสัทธิวิหาริก อันเตวาสิกของเรา, เป็นผู้มีอุปการะคุณแก่เรา ดังนี้ ข่มขู่ตามสมควรแก่ความผิด ประณาม กระทำทัณฑกรรม ให้ยอมรับรู้, บุคคลนี้ชื่อว่านิคคัยหวาที เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉะนั้น.
               สมดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า
                         ดูก่อนอานนท์ เราจักข่มแล้วๆ จึงบอก
                         ดูก่อนอานนท์ เราจักยกย่องแล้วๆ จึงบอก
                         ผู้ใดมีแก่นสาร ผู้นั้นจักดำรงอยู่ได้.

____________________________
๑- ม. อุปริ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๓๕๖

               บทว่า เมธาวึ ได้แก่ ประกอบพร้อมด้วยปัญญามีรสอันเกิดแต่ธรรม.
               บทว่า ตาทิสํ ได้แก่ บัณฑิตผู้เห็นปานนั้น.
               บทว่า ภเช แปลว่า พึงเข้าไปนั่งใกล้. อธิบายว่า จริงอยู่ อันเตวาสิกผู้คบหาอาจารย์เช่นนั้น ย่อมมีแต่ความประเสริฐ, ไม่มีความเลวทราม, มีแต่ความเจริญถ่ายเดียว หาความเสื่อมมิได้.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติงสนิบาต ๒. สารีปุตตเถรคาถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 395อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 396อ่านอรรถกถา 26 / 397อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8049&Z=8133
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=9393
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=9393
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :