ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 395อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 396อ่านอรรถกถา 26 / 397อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติงสนิบาต
๒. สารีปุตตเถรคาถา

หน้าต่างที่ ๔ / ๔.

               ในกาลครั้งหนึ่ง พระธรรมเสนาบดีรับพระดำรัสสั่งจากพระศาสดา ในเรื่องอาวาสที่กีฏาคิรีชนบท ถูกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะประทุษร้าย จึงพร้อมกับบริษัทของตนและพระมหาโมคคัลลานะ ไปยังที่นั้นแล้ว เมื่อพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะไม่ทำความเอื้อเฟื้อต่อโอวาท จึงกล่าวคาถานี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอวเทยฺย ความว่า พึงให้โอวาทคือคำพร่ำสอน.
               คำว่า อนุสาเสยฺย เป็นคำกล่าวโดยอ้อมแห่งคำว่า โอวเทยฺย นั้นนั่นเอง.
               อธิบายว่า อีกอย่างหนึ่ง เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นแล้ว จึงพูดบอก ชื่อว่าย่อมกล่าวสอน, เมื่อเรื่องยังไม่เกิดขึ้น พูดบอกมุ่งถึงอนาคตกาล เป็นต้นว่า แม้ความเสื่อมยศพึงมีแก่ท่าน ดังนี้ ชื่อว่าย่อมพร่ำสอน.
               อีกอย่างหนึ่ง พูดบอกต่อหน้า ชื่อว่าย่อมกล่าวสอน, ส่งทูตหรือส่งสาสน์ไปพูดบอกลับหลัง ชื่อว่าย่อมพร่ำสอน.
               อีกอย่างหนึ่ง พูดบอกครั้งเดียว ชื่อว่าย่อมกล่าวสอน, พูดบอกบ่อยๆ ชื่อว่าย่อมพร่ำสอน.
               บทว่า อสพฺภา จ ความว่า พึงห้ามอกุศลธรรม และพึงให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรม.
               บทว่า สตํ หิ โส ความว่า บุคคลผู้เห็นปานนั้น ย่อมเป็นที่รักของสาธุชนทั้งหลาย. บุคคลนั้นผู้สั่งสอน ผู้พร่ำสอน บุคคลผู้ไม่สงบ ไม่เป็นสัปบุรุษ ยังไม่ข้ามพ้นโลกหน้า มีจักษุ เพ่งอามิส บวชเพื่อเลี้ยงชีวิตเหล่านั้น ย่อมไม่เป็นที่รักของบุคคลผู้ทิ่มแทงด้วยหอกคือปากอย่างนี้ว่า ท่านไม่ได้เป็นอุปัชฌาย์ของพวกเรา ท่านไม่ใช่อาจารย์ของพวกเรา ท่านกล่าวสอนพวกเราเพราะอะไร ดังนี้.
               เพราะถ้อยคำที่ยกขึ้นกล่าวในหมู่ภิกษุว่า พระศาสดาทรงปรารภผู้ใดแสดงธรรม ผู้นั้นแหละเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ดังนี้ พระเถระเมื่อจะแสดงว่า ข้อนี้นั้นไม่ถูกต้อง จึงกล่าวคาถาว่า อญฺญสฺส ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อญฺญสฺส ความว่า พระศาสดาตรัสหมายถึงทีฆนขปริพาชก ผู้เป็นหลานชายของตน.
               จริงอยู่ เมื่อพระศาสดาทรงแสดงเวทนาปริคคหสูตรแก่เขา พระมหาเถระนี้บรรลุมรรคภาวนา ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณได้.
               บทว่า โสตโมเธสิมตฺถิโก ความว่า เราเป็นผู้มุ่งประโยชน์ ยืนถวายงานพัดพระศาสดา เงี่ยโสตตั้งใจฟัง.
               บทว่า ตํ เม อโมฆํ สวนํ ความว่า การตั้งใจสดับฟังของเรานั้นไม่ว่างเปล่า คือได้เป็นที่พึ่งแก่สมบัติทั้งหลาย ซึ่งอัครสาวกพึงถึง. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า วิมุตฺโตมฺหิ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เนว ปุพฺเพนิวาสาย มีวาจาประกอบความว่า การตั้งปณิธานไม่ได้มีแก่เรา เพื่อประโยชน์แก่ญาณที่จะรู้ถึงที่เคยอยู่ในกาลก่อนของตนและของผู้อื่นเลย.
               อธิบายว่า แม้เพียงการตั้งปณิธานไว้ในใจ ด้วยการทำบริกรรม เพื่อประโยชน์นั้นย่อมไม่มี คือไม่ได้มีแล้ว.
               บทว่า เจโตปริยาย แปลว่า เพื่อเจโตปริยญาณ.
               บทว่า อิทฺธิยา แปลว่า เพื่ออิทธิวิธญาณ.
               บทว่า จุติยา อุปปตฺติยา ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่จุตูปปาตญาณ เครื่องหยั่งรู้การจุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย.
               บทว่า โสตธาตุวิสุทฺธิยา แปลว่า เพื่อทิพโสตญาณ.
               บทว่า ปณิธี เม น วิชฺชติ ความว่า ปณิธานแห่งจิต คือการบำเพ็ญทางใจ ด้วยการบริกรรม เพื่อประโยชน์แก่อภิญญาและคุณวิเศษเหล่านี้ ย่อมไม่มี คือไม่ได้มีแล้วแก่เรา.
               จริงอยู่ คุณของพระสาวกทั้งหมดจะมีอยู่ในเงื้อมมือของพระสาวกทั้งหลายได้ ก็ด้วยการบรรลุอริยมรรคเท่านั้น ดุจคุณคือพระสัพพัญญูมีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายฉะนั้น, เพราะการบรรลุของพระสาวกเหล่านั้น จึงไม่มีหน้าที่ที่จะทำบริกรรมเป็นแผนกหนึ่งต่างหาก.
               คาถา ๓ คาถาที่เริ่มต้นว่า รุกฺขมูลํ ดังนี้ พระเถระกล่าวมุ่งแสดงถึงความไม่หวั่นไหวแห่งตน ผู้อยู่ในกโปตกันทรวิหาร ในเวลาถูกยักษ์ประหาร ด้วยพลังแห่งสมาบัติ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มุณฺโฑ ได้แก่ ปลงผมแล้วใหม่ๆ.
               บทว่า สงฺฆาฏิปารุโต ได้แก่ ห่มผ้าสังฆาฏินั่งแล้ว และอาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ห่มเรียบร้อยด้วยผ้าสังฆาฏิ.
               บทว่า ปญฺญาย อุตฺตโม เถโร ความว่า เป็นพระเถระผู้อุดมด้วยปัญญา คือเป็นผู้ประเสริฐกว่าพระสาวกทั้งหลายด้วยปัญญา.
               บทว่า ฌายติ ความว่า ย่อมเพ่งด้วยอารัมมณูปนิชฌานและลักขณูปนิฌาน คืออยู่ด้วยสมาบัติโดยมาก.
               บทว่า อุเปโต โหติ ตาวเท ความว่า ผู้ที่ถูกยักษ์ประหารที่ศีรษะ ในขณะกำลังเข้าสมาบัติอันไม่มีวิตก คือผลสมาบัติอันประกอบด้วยจตุตถฌานก็ยังเข้าถึง คือประกอบพร้อมด้วยธรรมคือความนิ่งอย่างประเสริฐ.
               ก็คำว่า โหติ นี้ เป็นคำบ่งถึงปัจจุบันกาล ซึ่งใช้ในอรรถแห่งอดีตกาล.
               บทว่า ปพฺพโตว น เวธติ ความว่า เพราะสิ้นโมหะ ภิกษุจึงทำลายกิเลสทั้งหมดได้ ไม่หวั่นไหว คือตั้งมั่นด้วยดี เหมือนภูเขาหินล้วนย่อมไม่หวั่นไหว ด้วยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งมีอิฏฐารมณ์เป็นต้น คือเป็นผู้คงที่ในอารมณ์ทั้งปวง.
               ครั้นวันหนึ่ง เมื่อชายผ้านุ่งของพระเถระห้อยย้อยลงโดยมิได้รู้ตัว สามเณรรูปหนึ่งจึงเตือนว่า ท่านควรนุ่งห่มเป็นปริมณฑลซิขอรับ. พระเถระครั้นได้ฟังคำนั้นแล้ว รับดุจด้วยเศียรเกล้าว่า คำอันเจริญ เธอกล่าวดีแล้ว ในขณะนั้นนั่นเองจึงหลีกไปหน่อยหนึ่งแล้วนุ่งห่มให้เป็นปริมณฑล เมื่อจะแสดงว่า แม้สิ่งนี้ก็นับว่าเป็นโทษแก่คนเช่นกับเรา ดังนี้ จึงกล่าวคาถาว่า อนงฺคณสฺส ดังนี้เป็นต้น.
               พระเถระ เมื่อจะแสดงว่าตนมีความคิดเสมอกันในความตายและชีวิตซ้ำอีก จึงกล่าวคาถา ๒ คาถา โดยเริ่มต้นว่า นาภินนฺทามิ ดังนี้ และเมื่อจะแสดงธรรมแก่คนเหล่าอื่นจึงกล่าวคาถา ๒ คาถาโดยเริ่มต้นว่า อุภเยน มิทํ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุภเยน แปลว่า ในสองคราว. อธิบายว่า ในกาลทั้งสอง.
               บทว่า มิทํ ได้แก่ อักษร กระทำการเชื่อมบท. อธิบายว่า ความตายนี้เท่านั้น, ชื่อว่าความตายย่อมมีอยู่แน่นอน, ความไม่ตายไม่มี.
               เพื่อจะเฉลยคำถามว่า ในสองคราวเป็นอย่างไร? ท่านจึงกล่าวว่า ในเวลาแก่หรือในเวลาหนุ่ม.
               ความว่า ในเวลาแก่เริ่มแต่มัชฌิมวัย คือในเวลาสังขารชราทรุดโทรม หรือในเวลาหนุ่ม คือในกาลเป็นหนุ่ม ความตายเท่านั้นย่อมมีแน่นอน เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงบำเพ็ญ คือจงทำสัมมาปฏิบัติให้บริบูรณ์เถิด จงอย่าได้ปฏิบัติผิดให้พินาศเลย คือจงอย่าได้เสวยทุกข์อย่างใหญ่หลวงในอบายทั้งหลายเลย.
               บทว่า ขโณ โว มา อุปจฺจคา ความว่า เพราะเว้นจากอักขณะ ๘ ขณะที่ ๙ นี้ อย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.
               ครั้นวันหนึ่ง พระเถระเห็นท่านพระมหาโกฏฐิกะแล้ว เมื่อจะประกาศคุณของท่าน จึงได้กล่าวคาถา ๓ คาถาโดยเริ่มต้นว่า อุปสนฺโต ดังนี้.
               คำว่า ธุนาติ ท่านกล่าวไว้โดยมิได้มุ่งหมายถึงความในข้อนั้นเลย ท่านเมื่อจะกล่าวอิงอาศัยพระเถระอีก จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า อปฺปาสิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปาสิ ความว่า ละแล้วไม่นาน.
               บทว่า อนายาโส ความว่า ไม่มีความดิ้นรน คือปราศจากทุกข์ คือกิเลส.
               บทว่า วิปฺปสนฺโน อนาวิโล ความว่า มีความผ่องใส คือมีจิตผ่องใสด้วยดี เพราะไม่มีความไม่เชื่อเป็นต้น ชื่อว่าไม่ขุ่นมัว เพราะมีความดำริไม่ขุ่นมัว.
               คาถาว่า น วิสฺสเส ท่านกล่าวปรารภพวกพระวัชชีบุตรผู้เชื่อพระเทวทัต ชอบใจทิฏฐิของพระเทวทัตนั้นแล้ว ดำรงอยู่.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น วิสฺสเส ความว่า ไม่พึงคุ้นเคย คือไม่พึงเชื่อ.
               บทว่า เอกติเยสุ ความว่า ในปุถุชนผู้มีสภาวะไม่มั่นคงบางพวก.
               บทว่า เอวํ ความว่า เหมือนท่านทั้งหลายถึงความคุ้นเคยว่า พระเทวทัตเป็นผู้ปฏิบัติชอบ.
               บทว่า อคาริสุ แปลว่า ในหมู่คฤหัสถ์.
               บทว่า สาธูปิ หุตฺวาน ความว่า เพราะขึ้นชื่อว่า ความเป็นปุถุชนย่อมเป็นผู้มีความไม่มั่นคง เหมือนหม้อน้ำที่ตั้งอยู่บนหลังม้า และเหมือนตอไม้ที่ฝังลงในกองแกลบฉะนั้น คนบางพวกตอนต้นเป็นคนดี อยู่ต่อมาตอนปลายเป็นคนไม่ดี.
               อธิบายว่า เหมือนพระเทวทัตในตอนต้นสมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ได้อภิญญาสมาบัติ แต่ถูกลาภและสักการะเข้าครอบงำ บัดนี้จึงเสื่อมจากคุณวิเศษเหมือนกาปีกหัก เป็นผู้ไปเกิดในอบาย เพราะฉะนั้น คนเช่นนั้นไม่ควรคุ้นเคยว่าเป็นคนดี เพราะเพียงแต่ได้เห็นกันเท่านั้น.
               ส่วนคนบางพวกถึงตอนต้นจะเป็นคนไม่ดี เพราะไม่คบหากัลยาณมิตร แต่ตอนปลายกลับตนเป็นคนดีได้ เพราะคบหากัลยาณมิตร เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรคุ้นเคยกับคนดีเทียมๆ เยี่ยงพระเทวทัตว่าเป็นคนดีเลย.
               คนซึ่งมีอุปกิเลสภายในใจมีกามฉันทะเป็นต้นยังไม่ไปปราศ ชื่อว่าคนไม่ดี. เมื่อจะแสดงถึงคนที่มีอุปกิเลสไปปราศแล้วว่า เป็นคนดี ท่านจึงกล่าวคาถาว่า กามจฺฉนฺโท ดังนี้เป็นต้น และเพื่อจะแสดงถึงลักษณะของคนดีชั้นสูงสุดโดยไม่ทั่วไป ท่านจึงกล่าวคาถา ๒ คาถาโดยเริ่มต้นว่า ยสฺส สกฺกริยมานสฺส ดังนี้.
               ก็เพื่อจะแสดงถึงคนดีชั้นสูงสุด โดยไม่ทั่วไป จึงยกพระศาสดาและตนขึ้นเป็นอุทาหรณ์ กล่าวคาถาเริ่มต้นว่า มหาสมุทฺโท ดังนี้
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหาสมุทฺโท ความว่า มหาสมุทร มหาปฐพี หินคือภูเขา และลมโดยประเภทที่พัดมาจากทิศตะวันออกเป็นต้น ย่อมทนได้ต่ออิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ เพราะเป็นสภาวะไม่มีเจตนา มิใช่อดทนได้ เพราะกำลังคือความพิจารณาใคร่ครวญ.
               ส่วนพระศาสดาทรงดำรงอยู่ในความเป็นผู้คงที่ชั้นยอดเยี่ยม ด้วยอำนาจบรรลุถึงพระอรหัต จึงมีความเสมอ ไม่มีความหวั่นไหวในอารมณ์ทั้งปวงมีอิฏฐารมณ์เป็นต้น, มหาสมุทรเป็นต้นเหล่านั้นจึงไม่ควรเปรียบเทียบกับความหลุดพ้นอย่างประเสริฐ คือหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอรหัตผลของพระศาสดาได้เลย คือย่อมไม่ถึงแม้ทั้งเสี้ยวและทั้งส่วน.
               บทว่า จกฺกานุวตฺตโก ได้แก่ ผู้ยังพระธรรมจักรอันพระศาสดาให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตาม.
               บทว่า เถโร ได้แก่ เป็นพระเถระ เพราะเป็นพระอเสขะ คือประกอบพร้อมด้วยศีลขันธ์เป็นต้น.
               บทว่า มหาญาณี แปลว่า มีปัญญามาก
               บทว่า สมาหิโต ได้แก่ มีความตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ และอนุตรสมาธิ.
               บทว่า ปฐวาปคฺคิสมาโน ความว่า เป็นผู้ประพฤติเช่นกับแผ่นดิน น้ำและไฟ เพราะตนเป็นผู้ไม่มีความหวั่นไหว ในเมื่อประจวบกับอารมณ์มีอิฏฐารมณ์เป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ย่อมไม่ยินดี ย่อมไม่ยินร้าย ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า ปญฺญาปารมิตํ ปตฺโต ความว่า ถึงฝั่งแห่งสาวกญาณ คือถึงที่สุดแห่งฝั่งแล้ว.
               บทว่า มหาพุทฺธิ ได้แก่ ประกอบพร้อมไปด้วยปัญญา ที่ชื่อว่าพุทธิ เพราะกว้างขวาง เหตุบรรลุถึงความเป็นผู้มีปัญญามาก กว้างขวาง ร่าเริง เร็วไว แหลมคมและเป็นเครื่องชำแรกกิเลส.
               บทว่า มหามติ ได้แก่ ประกอบพร้อมไปด้วยความรู้จักคาดหมายนัยอันสำคัญยิ่ง คือรู้อนุโลมตามธรรมแล้ว.
               จริงอยู่ พระมหาเถระนี้ประกอบด้วยคุณวิเศษเช่นมีปัญญามากเป็นต้น เพราะท่านบรรลุถึงคุณทั้งหมดไม่มีส่วนเหลือ ยิ่งกว่าท่านผู้มีประเภทแห่งปัญญา เป็น ๔ ส่วน ๑๖ ส่วน ๔๔ ส่วนและ ๗๓ ส่วน จึงสมควรที่จะเรียกว่า มหาพุทฺธิ ผู้มีปัญญามากยิ่งนัก.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-๑-
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเป็นบัณฑิต
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเป็นผู้มีปัญญามาก
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเป็นผู้มีปัญญาร่าเริง
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเป็นผู้มีปัญญาว่องไว
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเป็นผู้มีปัญญาแหลมคม
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเป็นผู้มีปัญญาเครื่องชำแรกกิเลส
               ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๑- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๑๕๔

               บัณฑิตพึงทราบความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ในส่วนแห่งความเป็นบัณฑิตเป็นต้น ในข้อนั้นดังต่อไปนี้ :-
               บุคคลจะเป็นบัณฑิตก็ด้วยเหตุ ๔ ประการเหล่านี้ คือความเป็นผู้ฉลาดในธาตุ ความเป็นผู้ฉลาดในอายตนะ ความเป็นผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท และความเป็นผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะดังนี้.
               ในการแสดงวิภาคแห่งความเป็นผู้มีปัญญามากเป็นต้น มีพระบาลีดังต่อไปนี้ :-
                         ชื่อว่า ปัญญาใหญ่เป็นไฉน?๒-
                         ชื่อว่า ปัญญาใหญ่ เพราะอรรถว่า กำหนดอรรถใหญ่,
               กำหนดธรรมใหญ่, กำหนดนิรุตติใหญ่, กำหนดปฏิภาณใหญ่,
               กำหนดศีลขันธ์ใหญ่, กำหนดสมาธิขันธ์ใหญ่, กำหนดปัญญา
               ขันธ์ใหญ่, กำหนดวิมุตติขันธ์ใหญ่, กำหนดวิมุตติญาณทัสสน
               ขันธ์ใหญ่, กำหนดฐานะและอฐานะใหญ่, กำหนดวิหารสมาบัติ
               ใหญ่, กำหนดอริยสัจใหญ่, กำหนดสติปัฏฐานใหญ่, กำหนด
               สัมมัปปธานใหญ่, กำหนดอิทธิบาทใหญ่, กำหนดอินทรีย์ใหญ่,
               กำหนดพละใหญ่, กำหนดโพชฌงค์ใหญ่, กำหนดอริยมรรค
               ใหญ่,กำหนดสามัญญผลใหญ่, กำหนดอภิญญาใหญ่ กำหนด
               นิพพานอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ นี้เป็นปัญญาใหญ่.
____________________________
๒- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ ข้อ ๖๖๕

                         ปุถุปัญญาเป็นไฉน?๓-
                         ชื่อว่าปัญญาหนา เพราะอรรถว่า ญาณเป็นไปในขันธ์ต่างๆ
               มาก ในธาตุต่างๆ มาก ในอายตนะต่างๆ มาก ในปฏิจจสมุปบาท
               ต่างๆ มาก ในความได้เนืองๆ ซึ่งความสูญต่างๆ มาก ในอรรถต่างๆ
               มาก ในธรรมต่างๆ มาก ในนิรุตติต่างๆ มาก ในปฏิภาณต่างๆ มาก
               ในศีลขันธ์ต่างๆ มาก ในสมาธิขันธ์ต่างๆ มาก ใน ปัญญาขันธ์ต่างๆ
               มาก ในวิมุตติขันธ์ต่างๆ มาก ในวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ต่างๆ มาก
               ในฐานะและอฐานะต่างๆ มาก ในวิหารสมาบัติต่างๆ มาก ในอริยสัจ
               ต่างๆ มาก ในสติปัฏฐานต่างๆ มาก ในสัมมัปปธานต่างๆ มาก ใน
               อิทธิบาทต่างๆ มาก ในอินทรีย์ต่างๆ มาก ในพละต่างๆ มาก ใน
               โพชฌงค์ต่างๆ มาก ในอริยมรรคต่างๆ มาก ในสามัญญผลต่างๆ
               มาก ในอภิญญาต่างๆ มาก ในนิพพานอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
               ล่วงธรรมที่ทั่วไปแก่ปุถุชน นี้เป็นปุถุปัญญา.
____________________________
๓- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ ข้อ ๖๖๖

                         หาสปัญญาเป็นไฉน?๔-
                         ชื่อว่าหาสปัญญา เพราะอรรถว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ มีความ
               ร่าเริงมาก มีความพอใจมาก มีความยินดีมาก มีความปราโมทย์มาก
               บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ ชื่อว่าหาสปัญญา เพราะอรรถว่ามีความร่าเริง
               มาก ฯลฯ มีความปราโมทย์มาก บำเพ็ญอินทรียสังวรให้บริบูรณ์
               เพราะอรรถว่ามีความร่าเริงมาก ฯลฯ มีความปราโมทย์มาก บำเพ็ญ
               ตนรู้จักประมาณในโภชนะ เพราะอรรถว่า มีความร่าเริงมาก ฯลฯ
               มีความปราโมทย์มาก บำเพ็ญชาคริยานุโยค เพราะอรรถว่ามีความ
               ร่าเริงมาก ฯลฯ มีความปราโมทย์มากบำเพ็ญศีลขันธ์ ฯลฯ สมาธิขันธ์
               วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ฯลฯ ย่อมตรัสรู้ตลอด. บำเพ็ญวิหาร
               สมาบัติทั้งหลายได้ ย่อมตรัสรู้ตลอดอริยสัจ ๔ ย่อมเจริญสติปัฏฐาน ๔
               ย่อมเจริญสัมมัปปธาน ๔ ย่อมเจริญอิทธิบาท ๔ ย่อมเจริญอินทรีย์ ๕
               ย่อมเจริญพละ ๕ ย่อมเจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมเจริญอริยมรรค ฯลฯ ชื่อว่า
               หาสปัญญา เพราะอรรถว่า ย่อมทำให้แจ้งได้ซึ่งสามัญญผล. ชื่อว่าหาส
               ปัญญา เพราะอรรถว่ามีความร่าเริงมาก มีความพอใจมาก มีความยินดี
               มาก มีความปราโมทย์มาก ย่อมตรัสรู้แจ้งซึ่งอภิญญา, ชื่อว่าหาสปัญญา
               เพราะอรรถว่า มีความร่าเริงมาก มีความพอใจมาก มีความยินดีมาก
               มีความปราโมทย์มาก ย่อมทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานอันเป็นประโยชน์
               อย่างยิ่ง.
____________________________
๔- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ ข้อ ๖๗๔
               *ขุ. ป. ๓๑/ข้อ ๖๗๕.

                         ชวนปัญญาเป็นไฉน?๕-
                         ชื่อว่าชวนปัญญา เพราะอรรถว่าปัญญาแล่นไปสู่รูปอย่างใด
               อย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ มีอยู่ในที่ไกลหรือ
               มีอยู่ในที่ใกล้ โดยความเป็นของไม่เที่ยงได้ไว แล่นไปโดยความเป็น
               ทุกข์ได้ไว แล่นไปโดยความเป็นอนัตตาได้ไว แล่นไปสู่เวทนา ฯลฯ
               วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ
               แล่นไปสู่วิญญาณทั้งหมดโดยความไม่เที่ยงได้ไว แล่นไปโดยความ
               เป็นทุกข์ได้ไว แล่นไปโดยความเป็นอนัตตาได้ไว. แล่นไปสู่จักษุ
               ฯลฯ ชราและมรณะ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันโดยความเป็น
               ของไม่เที่ยงได้ไว แล่นไปโดยความเป็นทุกข์ได้ไว แล่นไปโดยความ
               เป็นอนัตตาได้ไว.
                         ชื่อว่าชวนปัญญา เพราะอรรถว่า ปัญญาเทียบเคียง พินิจ
               พิจารณา ทำให้แจ่มแจ้งว่า รูปทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
               ไม่เที่ยง เพราะอรรถว่าสิ้นไป เป็นทุกข์ เพราะอรรถว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว
               เป็นอนัตตา เพราะอรรถว่าไม่มีแก่นสาร แล้วแล่นไปในพระนิพพาน
               เป็นที่ดับรูปได้ไว ฯลฯ เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ.
                         ชื่อว่าชวนปัญญา เพราะอรรถว่า ปัญญาเทียบเคียง พินิจ
               พิจารณา ทำให้แจ่มแจ้งว่าจักษุ ฯลฯ ชรามรณะ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต
               และปัจจุบัน ไม่เที่ยง เพราะอรรถว่าสิ้นไป เป็นทุกข์ เพราะอรรถว่าเป็น
               สิ่งที่น่ากลัว เป็นอนัตตา เพราะอรรถว่าไม่มีแก่นสาร แล้วแล่นไปในพระ
               นิพพานเป็นที่ดับชรามรณะได้ไว.
                         ชื่อว่าชวนปัญญา เพราะอรรถว่า ปัญญาเทียบเคียง พินิจ
               พิจารณา ทำให้แจ่มแจ้งว่า รูปทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็น
               ของไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป
               คลายไป ดับไปเป็นธรรมดาแล้ว แล่นไปในพระนิพพานเป็นที่ดับรูป
               ได้ไว. เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ.
                         ชื่อว่าชวนปัญญา เพราะอรรถว่า ปัญญาเทียบเคียง พินิจ
               พิจารณา ทำให้แจ่มแจ้งว่า จักษุ ฯลฯ ชราและมรณะ ทั้งที่เป็นอดีต
               อนาคต และปัจจุบัน เป็นของไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิด
               ขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา แล้วแล่นไป
               ในพระนิพพาน อันเป็นที่ดับชราและมรณะได้ไว.
____________________________
๕- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ ข้อ ๖๗๕

                         ติกขปัญญาเป็นไฉน?๖-
                         ชื่อว่าติกขปัญญา เพราะอรรถว่า ทำลายกิเลสได้ไว ไม่รับรอง
               ไว้ ย่อมละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีต่อไปซึ่งกามวิตก
               ที่เกิดขึ้นแล้ว, ชื่อว่าติกขปัญญา เพราะอรรถว่าไม่รับรองไว้ ย่อมละ
               บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีต่อไป ซึ่งพยาบาทวิตกที่เกิด
               ขึ้นแล้ว ไม่รับรองไว้ ฯลฯ ซึ่งวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว,
                         ชื่อว่าติกขปัญญา เพราะอรรถว่า ไม่รับรองไว้ ย่อมละ บรรเทา
               ทำให้สิ้นสุดให้ถึงความไม่มีต่อไป ซึ่งอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้น
               แล้ว, ชื่อว่าติกขปัญญา เพราะอรรถว่าไม่รับรองไว้ ย่อมละ บรรเทา
               ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีต่อไป ซึ่งราคะที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ ซึ่ง
               โทสะที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ ซึ่งโมหะที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ ซึ่งความโกรธ
               ที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ ซึ่งอุปนาหะที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ ซึ่งมักขะ ปลาสะ
               อิสสา มัจฉริยะ มายา สาไถย ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ
               ปมาทะ กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง อภิสังขารทั้งปวง ฯลฯ กรรมอัน
               เป็นเหตุให้ไปสู่ภพทั้งปวงที่เกิดขึ้นแล้ว.
                         ชื่อว่าติกขปัญญา เพราะอรรถว่า ปัญญาเป็นเหตุให้บุคคลได้
               บรรลุ ทำให้แจ้ง ถูกต้องอริยมรรค ๔ สามัญญผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔
               อภิญญา ๖ ณ อาสนะเดียว.
____________________________
๖- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ ข้อ ๖๗๖

                         นิพเพธิกปัญญาเป็นไฉน?๗-
                         ชื่อว่านิพเพธิกปัญญา เพราะอรรถว่า บุคคลบางคนในโลกนี้
               เป็นผู้มากไปด้วยความสะดุ้ง ความหวาดเสียว ความเบื่อหน่าย ความ
               ระอา ความไม่พอใจ เบือนหน้าออก ไม่ยินดีในสังขารทั้งปวง ย่อมเบื่อ
               หน่าย ทำลายกองโลภะที่ไม่เคยเบื่อหน่าย ที่ไม่เคยทำลายในสังขาร
               ทั้งปวง.
                         ชื่อว่านิพเพธิกปัญญา เพราะอรรถว่า ย่อมเบื่อหน่าย ทำลาย
               กองโทสะที่ไม่เคยเบื่อหน่าย ที่ไม่เคยทำลาย ชื่อว่านิพเพธิกปัญญา
               เพราะอรรถว่า ย่อมเบื่อหน่าย ทำลายกองโมหะที่ไม่เคยเบื่อหน่าย
               ที่ไม่เคยทำลาย,
                         ชื่อว่านิพเพธิกปัญญา เพราะอรรถว่า ย่อมเบื่อหน่าย ทำลาย
               โกธะ ฯลฯ อุปนาหะ ฯลฯ กรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่ภพทั้งปวงที่ไม่
               เคยเบื่อหน่าย ที่ไม่เคยทำลาย.
____________________________
๗- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๖๗๗

               ท่านกล่าวคำว่า มหาพุทฺธิ มีปัญญามากไว้ เพราะพระเถระประกอบพร้อมด้วยปัญญาอย่างมากมาย มีวิภาคตามที่กล่าวไว้แล้วด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง บัณฑิตพึงทราบความที่พระเถระนี้มีปัญญามาก แม้ด้วยอำนาจธรรมตามลำดับบท และวิปัสสนา.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-๘-
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเห็นแจ้งธรรมตามลำดับบท
               ได้เพียงกึ่งเดือน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในการเห็นแจ้งธรรมตาม
               ลำดับบทของพระสารีบุตรนั้น มีดังต่อไปนี้ :-
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องนี้พระสารีบุตร สงัดจากกาม
               ทั้งหลาย ฯลฯ เข้าปฐมฌานอยู่. ก็ธรรมในปฐมฌานคือวิตก ฯลฯ
               จิตเตกัคคตา ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา จิต ฉันทะ อธิโมกข์
               วิริยะ สติ อุเปกขา มนสิการ. เป็นอันสารีบุตรกำหนดธรรมได้
               ตามลำดับบท เป็นอันสารีบุตรรู้แจ้งแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และ
               ถึงความดับ. เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า ด้วยประการนี้ เป็นอันว่า ธรรม
               ที่ไม่มีแก่เราย่อมมี ที่มีแล้วย่อมเสื่อมไป เธอไม่ยินดีไม่ยินร้าย
               อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรม
               นั้นๆ มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่, ย่อมรู้ชัด
               ว่า ยังมีธรรมเครื่องสลัดออกยิ่งขึ้นไปอยู่ และมีความเห็นต่อไป
               ว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัดออกนั้นให้มาก ก็มีอยู่.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตรเข้าทุติย
               ฌาน ฯลฯ เพราะสงบวิตกและวิจาร. เข้าตติยฌานอยู่. เข้าจตุตถ
               ฌานอยู่. เข้าอากาสานัญจายตนะอยู่. เข้าวิญญาณัญจายตนะอยู่.
               เข้าอากิญจัญญายตนะอยู่. สารีบุตรล่วงอากิญจัญญายตนฌาน
               โดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่.
               เธอเป็นผู้มีสติออกจากสมาบัตินั้น ครั้นเธอมีสติออกจากสมาบัติ
               นั้นแล้ว พิจารณาเห็นธรรมที่ล่วงแล้ว ดับแล้ว แปรปรวนไปแล้ว
               ว่า ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันว่าธรรมที่ไม่มีแก่เราย่อมมี ที่มีแล้ว
               ย่อมเสื่อมไป. เธอไม่ยินดีไม่ยินร้ายอันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน
               พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมนั้นๆ มีใจอันกระทำให้ปราศ
               จากเขตแดนได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า ยังมีธรรมเครื่องสลัดออกยิ่ง
               ขึ้นไปอยู่ และมีความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัดออกนั้นให้
               มาก ก็มีอยู่.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตรล่วงเนว
               สัญญานาสัญญายตนฌาน โดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าสัญญา
               เวทยิตนิโรธอยู่. เพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะของเธอจึงเป็นอัน
               สิ้นไป. เธอย่อมมีสติออกจากสมาบัตินั้น ครั้นเธอมีสติออกจาก
               สมาบัตินั้นแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นธรรมที่ล่วงแล้ว ดับแล้ว แปร
               ปรวนไปแล้วว่า ด้วยประการนี้ เป็นอันว่า ธรรมที่ไม่มีแก่เรา
               ย่อมมี ที่มีแล้วย่อมเสื่อมไป. เธอไม่ยินดีไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่
               อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมนั้นๆ มี
               ใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า ยังมี
               ธรรมเครื่องสลัดออกยิ่งขึ้นไปอยู่ และมีความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่
               ทำเครื่องสลัดออกนั้นให้มาก ก็มีอยู่.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้กล่าวชอบ พึงกล่าวชมภิกษุรูปใด
               ว่า เป็นผู้ถึงความชำนาญ ถึงความสำเร็จในอริยศีล, เป็นผู้ถึง
               ความชำนาญ ถึงความสำเร็จในอริยสมาธิ, เป็นผู้ถึงความ
               ชำนาญ ถึงความสำเร็จในอริยปัญญา, เป็นผู้ถึงความชำนาญ
               ถึงความสำเร็จในอริยวิมุตติ ภิกษุรูปนั้นคือสารีบุตรนั่นเอง ที่
               ผู้กล่าวชอบ พึงกล่าวชม ดังนี้.
____________________________
๘- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๑๕๙-๑๖๕ อนุปทสูตร

               อธิบายว่า พระเถระชื่อว่า เป็นผู้มีปัญญามาก เพราะประกอบพร้อมด้วยความรู้อย่างกว้างขวาง เพราะบรรลุถึงความเป็นผู้มีปัญญามาก กว้างขวาง ร่าเริง เร็วไว แหลมคมและเป็นเครื่องชำแรกกิเลสด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนความรู้ที่อนุโลมตามธรรม บัณฑิตพึงแสดงด้วยสัมปสาทนียสูตรเถิด.๙-
____________________________
๙- ที. ปาฏิ. ๑๑/ข้อ ๗๓-๙๓

               จริงอยู่ พระสูตรนั้น การคาดหมายของพระเถระ ท่านกล่าวไว้ว่าเป็นเช่นกับพระสัพพัญญุตญาณ.
               บทว่า อชโฬ ชฬสมาโน ความว่า ไม่ใช่เป็นคนเขลา แม้โดยประการทั้งปวง เพราะท่านเป็นผู้สูงสุดด้วยปัญญา ในบรรดาสาวกทั้งหลาย แต่ทำเช่นกับคนเขลาคือทำทีเหมือนคนโง่ เพราะแสดงทำตนดุจคนที่ไม่รู้อะไร เพราะท่านเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยยิ่งนัก เป็นผู้ดับคือเป็นผู้เย็นสนิท เพราะไม่มีความทุกข์ร้อนคือกิเลส เที่ยวไปในกาลทุกเมื่อคืออยู่เป็นนิตย์.
               คาถาว่า ปริจิณฺโณ นี้ พระเถระเมื่อจะประกาศถึงกิจที่ตนได้ทำไว้ จึงได้กล่าวถึงคาถานั้น ก็มีเนื้อความดังที่ได้กล่าวไว้แล้วนั่นแล.
               ก็คาถาว่า สมฺปาเทถปฺปมาเทน นี้ พระเถระก็กล่าวไว้ โดยมุ่งที่ที่จะให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายผู้พากันมาประชุม ในเวลาที่ตนจะปรินิพพาน, ถึงคาถานั้นก็มีเนื้อความดังที่ได้กล่าวไว้แล้วนั่นแล.


               จบอรรถกถาสาริปุตตเถรคาถาที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติงสนิบาต ๒. สารีปุตตเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 395อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 396อ่านอรรถกถา 26 / 397อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8049&Z=8133
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=9393
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=9393
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :