ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 396อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 397อ่านอรรถกถา 26 / 398อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติงสนิบาต
๓. อานันทเถรคาถา

               อรรถกถาอานันทเถรคาถาที่ ๓               
               คาถาของท่านพระอานันทเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ปิสุเณน จ โกธเนน ดังนี้.
               เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               ท่านพระอานันทเถระแม้นี้เป็นผู้ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้ว ในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดเป็นพี่ชายต่างมารดาแห่งพระศาสดา ในหังสวดีนคร,
               ท่านได้มีชื่อว่าสุมนะ ส่วนพระบิดาของท่านได้มีพระนามว่า พระเจ้าอานันทะ. เมื่อสุมนกุมารผู้เป็นพระราชโอรสของตน เจริญวัยแล้ว พระองค์ได้ทรงพระราชทานเนื้อที่ให้ครอบครองพระนคร ประมาณได้ ๑๒๐ โยชน์แห่งกรุงหังสวดี. พระราชกุมารนั้นบางคราวก็เสด็จมาเฝ้าพระศาสดา และพระราชบิดา.
               ในกาลนั้น พระราชาทรงบำรุงพระศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ด้วยพระองค์เอง, ไม่ยอมให้คนเหล่าอื่นบำรุงบ้าง.
               สมัยนั้น ปัจจันตชนบทได้มีการจลาจลขึ้น. พระราชกุมารไม่ยอมกราบบังคมทูลให้พระราชาได้ทรงทราบว่า ปัจจันตชนบทเกิดมีการจลาจล พระองค์เท่านั้นจัดการปราบจลาจลนั้นเสียจนสงบ. พระราชาทรงทราบเหตุการณ์นั้นแล้ว ทรงเบิกบานพระทัยยิ่งนัก รับสั่งเรียกหาพระราชโอรสมาแล้วตรัสว่า ลูกเอ๋ย พ่อจะให้พรแก่เจ้า เจ้าจงรับพรนะ.
               พระราชกุมารกราบบังคมทูลว่า หม่อมฉันต้องการจะใช้ชีวิตทำการบำรุงพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ให้ตลอด ๓ เดือน. พระราชาตรัสว่า พรนั้น เจ้าไม่อาจจะทำ, จงกล่าวขออย่างอื่นเถิด. พระราชกุมารกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ธรรมดาพระมหากษัตริย์ทั้งหลายไม่ตรัสถ้อยคำเป็นสอง. ขอจงพระราชทานพรนั้นแก่หม่อมฉันเถิด, หม่อมฉันไม่ต้องการสิ่งอื่น.
               พระราชาตรัสว่า ถ้าพระศาสดาทรงอนุญาต ก็จงให้ทานตามสบายเถิด.
               พระราชกุมารนั้นเสด็จไปยังพระวิหาร เพื่อประสงค์ว่า เราจักรู้ความคิดของพระศาสดา.
               ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตกิจเสร็จสิ้นแล้วจึงเสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี. พระราชกุมารนั้นจึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายแล้ว ตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เรามาเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า, ขอท่านจงชี้พระผู้มีพระภาคเจ้าแก่เราเถิด.
               ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า พระเถระชื่อว่าสุมนะเป็นอุปัฏฐาก, จงไปยังสำนักของพระเถระนั้นเถอะ. พระราชกุมารนั้นเข้าไปหาพระเถระแล้ว ถวายบังคมแล้วตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงแสดงพระศาสดาแก่เราเถิด.
               ลำดับนั้น พระเถระเมื่อพระราชกุมารนั้นเห็นอยู่นั่นแหละ จึงดำลงดินไปแล้ว เข้าเฝ้าพระศาสดากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชบุตรจะมาเฝ้าพระองค์. พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุ ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้ปูลาดอาสนะไว้ข้างนอก. พระเถระทั้งที่พระกุมารนั้นเห็นอยู่นั่นแหละ รับพุทธอาสน์แล้ว ดำลงภายในพระคันธกุฎีแล้วปรากฏภายนอกบริเวณ ให้ปูลาดอาสนะไว้บริเวณพระคันธกุฎี.
               พระกุมารเห็นเหตุนั้นแล้วเกิดความคิดขึ้นว่า พระเถระนี้สำคัญยิ่งนัก.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากพระคันธกุฎีแล้ว ประทับนั่งบนอาสนะที่พระเถระปูลาดแล้ว. พระราชบุตรถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ทำปฏิสันถารแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเถระรูปนี้เห็นทีจะมีความคุ้นเคยในพระศาสนาของพระองค์.
               พระศาสดาตรัสว่าใช่แล้วกุมาร เป็นผู้มีความคุ้นเคย. พระราชกุมารตรัสถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้ทำอย่างไรจึงมีความคุ้นเคย. พระศาสดาตรัสว่า กระทำบุญทั้งหลาย มีทานเป็นต้นไว้.
               พระราชกุมารตรัสว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ข้าพระองค์จงเป็นผู้มีความคุ้นเคยในพระพุทธศาสนา ในอนาคตกาลเหมือนพระเถระรูปนี้เถิด แล้วถวายภัตตามขอบเขตกำหนดตลอด ๗ วันแล้ว ในวันที่ ๗ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้วาระบำรุงพระองค์ตลอด ๓ เดือนจากสำนักพระบิดาของข้าพระองค์, ขอพระองค์ทรงยับยั้งอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือน เพื่อข้าพระองค์เถิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาว่า ประโยชน์ในการไปในที่นั้นจะมีหรือไม่หนอ ทรงเห็นว่ามี จึงตรัสว่า กุมาร พระตถาคตทั้งหลายย่อมยินดียิ่ง ในเรือนว่างเปล่าแล.
               พระกุมารตรัสว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ทราบพระดำรัสแล้ว, ข้าแต่พระสุคตเจ้า ข้าพระองค์ทราบพระดำรัสแล้ว, ดังนี้แล้วให้พระพุทธเจ้ารับปฏิญญาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไปถึงแล้ว ก่อนอื่นจะให้คนสร้างวิหาร, เมื่อข้าพระองค์ส่งข่าวสาสน์แล้ว ขอพระองค์จงเสด็จมาพร้อมกับภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ดังนี้แล้วไปเฝ้าพระราชบิดาแล้ว ถวายบังคมพระราชบิดา ด้วยพระดำรัสว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงให้ปฏิญญาแก่ข้าพระองค์แล้ว, เมื่อข้าพระองค์ส่งข่าวสาสน์ไปแล้ว พึงได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นแน่ ดังนี้แล้วจึงออกไป เมื่อจะสร้างวิหารในเนื้อที่ทุกๆ โยชน์ เสด็จไปสู่หนทางไกลถึง ๑๒๐ โยชน์. ก็ครั้นเสด็จไปแล้ว พิจารณาถึงสถานที่สร้างวิหารในพระนครของพระองค์ เห็นอุทยานของโสภณกุฏุมพี จึงซื้อด้วยทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ แล้วสละทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ ให้สร้างวิหาร.
               ครั้นให้สร้างพระคันธกุฎีสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า และให้สร้างกุฎีที่เร้นและมณฑป เพื่อเป็นที่พักกลางคืนและกลางวันสำหรับหมู่ภิกษุที่เหลือในที่นั้นแล้ว ให้ตั้งกำแพงล้อมรอบ และซุ้มประตูแล้ว จึงส่งสาสน์ไปยังสำนักพระราชบิดาว่า การงานของข้าพระองค์เสร็จแล้ว, ขอพระองค์จงส่งสาสน์ไปยังพระศาสดา.
               พระราชาทรงนิมนต์ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า การงานของสุมนะสำเร็จแล้ว, บัดนี้หวังการเสด็จไปของพระองค์. พระผู้มีพระภาคเจ้ามีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูปแวดล้อมแล้ว ได้เสด็จไปประทับอยู่ในวิหารทุกๆ โยชน์.
               พระกุมารทรงทราบว่า พระศาสดาจะเสด็จมา จึงเสด็จไปต้อนรับในที่โยชน์หนึ่ง นำเอาของหอมและดอกไม้เป็นต้นบูชา นิมนต์ให้เสด็จเข้าไปยังวิหารที่สร้างด้วยทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ ในอุทยานชื่อว่าโสภณะ ที่ซื้อด้วยทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ แล้วมอบถวายวิหารนั้น ด้วยพระดำรัสว่า :-
                         ข้าแต่พระมหามุนีเจ้า ขอพระองค์จงทรงรับอุทยาน
               ชื่อโสภณะ ที่ข้าพระองค์ซื้อด้วยทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ แล้ว
               สร้างด้วยทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ เถิด.
               ในวันเข้าพรรษา พระกุมารนั้นยังมหาทานให้เป็นไปแล้ว มอบหมายหน้าที่การงานให้บุตรและภรรยา อีกทั้งพวกอำมาตย์ ด้วยพระดำรัสว่า พวกท่านพึงให้ทานโดยทำนองนี้แหละ แล้วพระองค์เองก็อยู่ในที่ใกล้สถานที่อยู่ของพระสุมนเถระนั่นแล ทำการบำรุงพระศาสดาตลอด ๓ เดือน.
               เมื่อใกล้ถึงวันปวารณาจึงเข้าไปสู่บ้านแล้ว ยังมหาทานให้เป็นไปตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ จึงจัดวางผ้าไตรจีวรทั้งหลายที่แทบพระบาทพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ รูปแล้ว ถวายบังคม ตั้งปณิธานว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ทำบุญมาตั้งแต่การให้ทานตามเขตกำหนดตลอด ๗ วัน ขอผลบุญอันนั้นอย่าเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สวรรค์สมบัติเป็นต้นเลย โดยที่แท้ขอให้ข้าพระองค์พึงได้เป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าสักองค์หนึ่งในอนาคตกาล เหมือนพระสุมนเถระรูปนี้เถิด.
               แม้พระศาสดาก็ทรงเห็นว่า ความปรารถนาของพระกุมารนั้นหาอันตรายมิได้ จึงตรัสพยากรณ์แล้วเสด็จหลีกไป.
               แม้พระราชกุมารนั้นทรงบำเพ็ญบุญมากมายตลอด ๑๐๐,๐๐๐ ปี ในพุทธุปบาทกาลนั้นแล้ว แม้ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็ทรงสะสมบุญกรรมอันโอฬารในภพนั้นๆ แล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ได้ถวายผ้าอุตตรสาฎกเพื่อเป็นถลกบาตรแก่พระเถระรูปหนึ่งผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ แล้วได้ทรงทำการบูชา. บังเกิดในสวรรค์อีกครั้งแล้ว จุติจากสวรรค์นั้นไปเกิดเป็นพระเจ้าพาราณสี ทรงพบพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์ นิมนต์ให้พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นบริโภคแล้ว ให้ช่างสร้างบรรณศาลา ๘ หลังในมงคลอุทยานของตนแล้ว ให้ตบแต่งตั้งที่สำเร็จล้วนด้วยรัตนะและที่รองเป็นแก้วมณี ๘ ที่ เพื่อเป็นที่นั่งของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ได้ทำการบำรุงตลอด ๑๐,๐๐๐ ปี. สถานที่เหล่านั้นยังปรากฏอยู่.
               ก็เมื่อพระราชาทรงบำเพ็ญบุญเป็นอันมาก ในภพนั้นๆ ตลอดแสนกัป จึงได้บังเกิดในดุสิตบุรี พร้อมกับพระโพธิสัตว์ของพวกเรา จุติจากดุสิตนั้นแล้ว บังเกิดในวังของอมิโตทนะศากยวงศ์ ได้มีพระนามว่าอานนท์ เพราะท่านเกิดแล้ว ทำให้หมู่ญาติทั้งหมดได้รับความยินดีเพลิดเพลิน.
               ท่านเจริญวัยโดยลำดับแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกอภิเนษกรมณ์ แล้วบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวรให้เป็นไปแล้ว เสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรก เสด็จออกจากกรุงนั้น (ท่านอานนท์) ออกไปพร้อมกับเจ้าภัททิยะเป็นต้น ออกไปเพื่อบวชเป็นบริวารของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บวชแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ต่อกาลไม่นานนัก ได้ฟังธรรมกถาในสำนักของท่านพระปุณณมันตาณีบุตรแล้วดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
               ก็สมัยนั้น ตลอดเวลา ๒๐ ปีในปฐมโพธิกาล ไม่มีอุปัฏฐากประจำสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า. บางคราวพระนาคสมาละก็รับบาตรและจีวรตามเสด็จไป, บางคราวพระนาคิตะ, บางคราวพระอุปวานะ, บางคราวพระสุนักขัตตะ, บางคราวพระจุนทสมณุทเทส, บางคราวพระสาคตะ, บางคราวพระเมฆิยะ, โดยมาก ท่านเหล่านั้นมิได้ทำจิตของพระศาสดาให้ยินดีโปรดปรานเลย.
               ครั้นวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้ามีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ ที่เขาปูลาดไว้ ที่บริเวณพระคันธกุฎีแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเป็นคนแก่, ภิกษุบางพวก เมื่อเรากล่าวว่า เราจะไปทางนี้ บัดนี้ ก็กลับไปทางอื่นเสีย, ภิกษุบางพวกวางบาตรและจีวรของเราไว้ที่ภาคพื้น, พวกเธอจงรู้ภิกษุผู้จะอุปัฏฐากเราเป็นประจำ. เพราะได้ฟังพระดำรัสนั้น ธรรมสังเวชเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย.
               ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรลุกขึ้นถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอุปัฏฐากบำรุงพระองค์. พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสห้ามท่านพระสารีบุตร. พระมหาสาวกทั้งหมด เริ่มต้นแต่พระมหาโมคคัลลานะไป เว้นท่านพระอานนท์เสีย พากันลุกขึ้นกราบทูลโดยอุบายนั้นว่า ข้าพระองค์จักอุปัฏฐาก, ข้าพระองค์จักอุปัฏฐาก ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสห้ามพระสาวกแม้เหล่านั้นเสีย.
               ส่วนพระอานนท์นั้นได้นั่งนิ่งแล้วทีเดียว.
               ลำดับนั้น พวกภิกษุกล่าวกะท่านพระอานนท์นั้นว่า ผู้มีอายุ แม้ท่านก็จงทูลขอตำแหน่งการอุปัฏฐากประจำพระศาสดาเถิด. พระอานนท์กล่าวว่า ถ้าทูลขอได้ตำแหน่งมาแล้วจะเป็นเช่นไร, ถ้าชอบใจ พระศาสดาก็จักตรัสเอง.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าอื่นจะพึงให้อานนท์อุตสาหะขึ้นไม่ได้, ตนเองเท่านั้น ทราบแล้วจักอุปัฏฐากเรา. ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายพากันกล่าวว่า อานนท์ผู้มีอายุ เธอจงลุกขึ้น, จงทูลขอตำแหน่งอุปัฏฐากกะพระศาสดาเถิด.
               พระเถระลุกขึ้นแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ให้จีวรอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์ จักไม่ให้บิณฑบาตอันประณีต, จักไม่ให้เพื่ออยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกัน, รับนิมนต์แล้ว จักไม่ไป, ข้าพระองค์จักอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าเอง.
               พระอานนท์ได้เป็นผู้อุปัฏฐากประจำ รับพร ๘ ประการ คือ ข้อห้าม ๔ ประการเหล่านี้เพื่อปลดเปลื้องคำติเตียนว่า เมื่อพระศาสดาได้รับคุณมีประมาณเท่านี้, ภาระอะไรในการที่จะอุปัฏฐาก.
               พระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จไปยังที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับแล้ว ถ้าเมื่อมีคนพากันมาจากที่ไกล ข้าพระองค์จักได้เพื่อเข้าเฝ้าในทันทีทีเดียว. เมื่อข้าพระองค์เกิดความสงสัยขึ้น จักได้เพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทันทีทีเดียว, ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วลับหลังแก่ข้าพระองค์ซ้ำอีก ข้าพระองค์จักอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าทันที.
               การทูลขอพร ๔ ประการเหล่านี้เพื่อปลดเปลื้องคำติเตียนพระอานนท์ ย่อมไม่ได้การอนุเคราะห์ในสำนักของพระศาสดา แม้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล. และเพื่อบำเพ็ญบารมีความเป็นธรรมภัณฑาคาริกให้บริบูรณ์ว่า พระอานนท์บรรลุผลแห่งบารมีที่บำเพ็ญมาตลอดแสนกัป ก็เพื่อประโยชน์แก่ตำแหน่งนั้นนั่นแหละแล้ว.
               ท่านตั้งแต่วันที่ได้ตำแหน่งอุปัฏฐากแล้ว เมื่อจะอุปัฏฐากพระทศพล ด้วยกิจทั้งหลายเป็นต้นอย่างนี้ว่า ด้วยน้ำ ๒ ชนิด, ด้วยไม้สีฟัน ๓ ชนิด, ด้วยการบริกรรมมือและเท้า, ด้วยการบริกรรมหลัง, ด้วยการปัดกวาดบริเวณพระคันธกุฎี ดังนี้ ก็ทราบว่า เวลานี้พระศาสดาควรจะได้สิ่งนี้, และควรจะทำสิ่งนี้ถวาย ดังนี้ เป็นผู้เฝ้าสำนักตลอดกลางวัน ในเวลากลางคืนก็ตามประทีปใหญ่ไว้ คอยรักษาเหตุการณ์บริเวณพระคันธกุฎี ๙ ครั้ง
               เมื่อพระศาสดาตรัสเรียก ก็รีบถวายคำตอบ เพื่อบรรเทาถีนมิทธนิวรณ์เสีย.
               ลำดับนั้น พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางหมู่พระอริยสงฆ์ในพระเชตวันแล้ว ทรงสรรเสริญท่านพระอานนท์ โดยอเนกปริยายแล้ว ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต ผู้มีสติ ผู้มีคติ ผู้มีธิติและผู้อุปัฏฐาก.
               พระอานนท์ได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งเอตทัคคะในฐานะ ๕ ประการจากพระศาสดาอย่างนี้แล้ว ประกอบด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรม ๔ ประการ เป็นผู้รักษาคลังพระธรรมของพระศาสดา.
               พระมหาเถระรูปนี้ถึงจะยังเป็นพระเสขบุคคลอยู่ก็ตาม แต่เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ภายหลังถูกหมู่ภิกษุกระตุ้นให้อาจหาญแล้ว และถูกเทวดาทำให้เกิดสังเวชแล้ว โดยนัยดังที่กล่าวมาแล้ว จึงได้เกิดความอุตสาหะขึ้นว่า ก็กาลพรุ่งนี้แล้วซิหนอ พระมหาเถระทั้งหลายจะทำการร้อยกรองพระธรรมวินัยกัน, ข้อที่เราเป็นพระเสขบุคคล เป็นผู้มีกิจที่จะต้องทำ จะเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อร้อยกรองพระธรรมวินัยร่วมกับพระเถระอเสขบุคคลทั้งหลาย ไม่สมควรแก่เราเลยหนอดังนี้ จึงเริ่มเจริญวิปัสสนา บำเพ็ญวิปัสสนาทั้งกลางวันและคืน ไม่ได้ความเพียรที่สม่ำเสมอในการเดินจงกรมจึงไปสู่วิหาร นั่งบนที่นอน ประสงค์จะนอนพักผ่อน จึงเอนกายลง. ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน เท้าทั้งสองข้างเพียงพ้นจากพื้น ในระหว่างนั้น จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น เป็นผู้ได้อภิญญา ๖.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า :-๑-
               พระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ เสด็จออกจากประตูพระอารามแล้ว ทรงยังเมล็ดฝนอมฤตให้ตกอยู่ ยังมหาชนให้เย็นสบาย พระขีณาสพผู้เป็นนักปราชญ์เหล่านั้นประมาณตั้งแสน ได้อภิญญา ๖ มีฤทธิ์มากแวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดุจพระฉายาตามพระองค์ฉะนั้น.
               เวลานั้น เราอยู่บนคอช้าง ทรงไว้ซึ่งฉัตรขาวอันประเสริฐสุด ปิติย่อมเกิดแก่เราเพราะได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีรูปงาม เราลงจากคอช้างแล้ว เข้าไปเฝ้าพระนราสภ ได้กั้นฉัตรแก้วของเราถวายแด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด.
               พระมหาฤาษีพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงทราบความดำริของเราแล้ว ทรงหยุดกถานั้นไว้ แล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้ใดได้กั้นฉัตรอันประดับด้วยเครื่องอลังการทอง เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว
               สัตว์ผู้นี้ไปจากมนุษย์โลกนี้ จักครอบครองดุสิต จักเสวยสมบัติมีนางอัปสรทั้งหลายแวดล้อม จักเสวยเทวราชสมบัติ ๓๔ ครั้ง จักเป็นอธิบดีแห่งชน ครอบครองแผ่นดิน ๘๐๐ ครั้ง จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๘ ครั้ง จักเสวยราชสมบัติในประเทศราชอันไพบูลย์ในแผ่นดิน.
               ในแสนกัปพระศาสดาพระนามว่าโคดม โดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นี้จักเป็นโอรสแห่งพระญาติของพระพุทธเจ้าผู้เป็นธงชัยแห่งสกุลศากยะ จักเป็นพุทธอุปัฏฐาก มีชื่อว่าอานนท์ จักมีความเพียร ประกอบด้วยปัญญา ฉลาดในพาหุสัจจะ มีความประพฤติอ่อนน้อม ไม่กระด้าง ชำนาญในบาลีทั้งปวง.
               พระอานนท์นั้นมีตนส่งไปแล้วเพื่อความเพียร สงบระงับไม่มีอุปธิ จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะนิพพาน
               มีช้างกุญชรอยู่ในป่าอายุ ๖๐ ปี ตกมันสามครั้ง เกิดในตระกูลช้างมาตังคะ มีงางอนงาม ควรเป็นราชพาหนะฉันใด แม้บัณฑิตทั้งหลายก็ฉันนั้น ประมาณได้หลายแสน มีฤทธิ์มากทั้งหมดนั้น ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ เป็นผู้ไม่มีกิเลส เราจักนมัสการทั้งยามต้น ในยามกลางและในยามสุด เรามีจิตผ่องใส ปลื้มใจ บำรุงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด เรามีความเพียร ประกอบด้วยปัญญา มีสติสัมปชัญญะ บรรลุโสดาปัตติผล ฉลาดในเสขภูมิ
               ในแสนกัปแต่กัปนี้ เราก่อสร้างกรรมใด เราบรรลุถึงภูมิแห่งกรรมนั้นแล้ว ศรัทธาตั้งมั่นแล้วมีผลมาก การมาในสำนักพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสุดของเรา เป็นการมาดีหนอ ... ฯลฯ ... พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๑๒

               ก็ท่านพระอานนท์เป็นผู้ได้อภิญญา ๖ เข้าไปสู่มณฑปสำหรับสังคายนา เมื่อจะสังคายนาพระธรรม จึงทำการแยกกล่าวคาถาภาษิตไว้แผนกหนึ่ง ด้วยมุ่งที่จะให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายในที่นั้นๆ และมุ่งที่จะประกาศข้อปฏิบัติของตนเป็นต้น ในเวลาที่จะทำการสังคายนาขุททกนิกายตามลำดับ
               เมื่อจะยกขึ้นสู่สังคายนา ในเถรคาถา จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
                         บัณฑิตไม่ควรทำตนให้เป็นมิตรสหายกับคนที่ชอบส่อเสียด
               มักโกรธ ตระหนี่และผู้ปรารถนาให้ผู้อื่นพินาศ เพราะการสมาคม
               กับคนชั่ว เป็นความลามก แต่บัณฑิตควรทำตนให้เป็นมิตรสหาย
               กับคนผู้มีศรัทธา มีศีลน่ารัก มีปัญญา และเป็นคนได้สดับเล่าเรียน
               มามาก เพราะการสมาคมกับคนดี ย่อมมีแต่ความเจริญอย่างเดียว
                         เชิญดูร่างกายอันมีกระดูก ๓๐๐ ท่อน ซึ่งมีเอ็นใหญ่น้อย
               ผูกขึ้นเป็นโครงตั้งไว้อันบุญกรรมตบแต่งให้วิจิตร มีแผลทั่วทุกแห่ง
               กระสับกระส่าย คนโง่เขลาพากันดำริเป็นอันมาก ไม่มีความยั่งยืน
               ตั้งมั่น
                         พระอานนทเถระผู้โคดมโดยโคตร เป็นผู้ได้สดับมามาก
               มีถ้อยคำไพเราะ เป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ปลงภาระลงแล้ว บรรลุ
               อรหัต สำเร็จการนอน พระอานนทเถระสิ้นอาสวะแล้ว ปราศจากกิเลส
               เครื่องเกาะเกี่ยวแล้ว ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องแล้ว ดับสนิท ถึงฝั่งแห่ง
               ชาติและชรา ทรงไว้แต่ร่างกายอันมีในที่สุด
                         ธรรมทั้งหลายของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
               ตั้งอยู่แล้วในบุคคลใด บุคคลนั้นคือพระอานนทเถระผู้โคตมะ ชื่อว่า
               ย่อมตั้งอยู่ในมรรค เป็นทางไปสู่นิพพาน
                         พระอานนทเถระได้เรียนธรรมจากพระพุทธเจ้ามา ๘๒,๐๐๐
               ธรรมขันธ์ ได้เรียนมาจากสำนักภิกษุมีพระธรรมเสนาบดีเป็นต้น
               ๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์ จึงรวมเป็นธรรมที่คล่องปากขึ้นใจ ๘๔,๐๐๐
               ธรรมขันธ์
                         คนที่เป็นชายมีการศึกษาเล่าเรียนมาน้อย ย่อมแก่เปล่า เหมือน
               กับโคที่มีกำลังแต่เขาไม่ได้ใช้งานฉะนั้น เนื้อย่อมเจริญแก่เขา ปัญญา
               ไม่เจริญแก่เขา ผู้ใดเล่าเรียนมามาก ดูหมิ่นผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาน้อย
               ด้วยการสดับ แต่เขาไม่ปฏิบัติตามที่เล่าเรียนมา ย่อมปรากฏแก่เรา
               เหมือนคนตาบอดถือดวงไฟไปฉะนั้น
                         บุคคลควรเข้าไปนั่งใกล้ผู้ที่ศึกษามามาก แต่ไม่ควรทำสุตะที่ตน
               ได้มาให้พินาศ เพราะสุตะที่ตนได้มานั้นเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์
               เพราะฉะนั้น จึงควรเป็นผู้ทรงธรรม
                         บุคคลผู้รู้อักษรทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย รู้อรรถแห่งภาษิต ฉลาด
               ในนิรุตติและบท ย่อมเล่าเรียนธรรมให้ เป็นการเล่าเรียนดีและพิจารณา
               เนื้อความ เป็นผู้กระทำความพอใจด้วยความอดทน พยายามพิจารณา
               ตั้งความเพียร ในเวลาพยายามมีจิตตั้งมั่นด้วยดีในภายใน
                         บุคคลควรคบหาท่านผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม มีปัญญา เป็นสาวก
               ของพระพุทธเจ้า หวังการรู้แจ้งธรรมเช่นนั้นเถิด
                         บุคคลผู้เป็นพหูสูตทรงธรรม เป็นผู้รักษาคลังพระธรรมแห่งพระ
               พุทธเจ้า ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นดวงตาของโลกทั่วไป ผู้ที่เป็น
               พหูสูตนั้น เป็นผู้อันมหาชนควรบูชา
                         ภิกษุมีธรรมเป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในธรรม ค้นคว้าธรรม ระลึกถึง
               ธรรม ย่อมไม่เสื่อมไปจากสัทธรรม เมื่อกายและชีวิตของตนเสื่อมไป ภิกษุ
               ผู้หนักในความตระหนี่กาย ติดอยู่ด้วยความสุขทางร่างกาย ไม่ขวนขวาย
               บำเพ็ญเพียร ความผาสุกทางสมณะจักมีแต่ที่ไหน
                         ทิศทั้งหมดไม่ปรากฏ ธรรมทั้งหลายไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า ในเมื่อ
               ท่านธรรมเสนาบดีผู้เป็นกัลยาณมิตรนิพพานแล้ว โลกทั้งหมดนี้ปรากฏ
               เหมือนความมืดมน กายคตาสติย่อมนำมาซึ่งประโยชน์โดยส่วนเดียว
               ฉันใด กัลยาณมิตรเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้มีสหายล่วงลับไปแล้ว มี
                         พระศาสดานิพพานไปแล้วฉันนั้น มิตรเก่าพากันล่วงลับไปแล้ว
               จิตของเราไม่สมาคมด้วยมิตรใหม่ วันนี้เราจะเพ่งฌานอยู่ผู้เดียว เหมือน
               กับนกที่อยู่ในรัง ในฤดูฝน ฉะนั้น.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะพระอานนท์ด้วยพระคาถา ๑ พระคาถาความว่า
                         เธออย่าห้ามประชาชนเป็นอันมากที่พากันมาแต่ต่างประเทศ
               ในเมื่อล่วงเวลาเฝ้า เพราะประชุมชนเหล่านั้นเป็นผู้มุ่งจะฟังธรรม จง
               เข้ามาหาเราได้ เวลานี้เป็นเวลาที่จะเห็นเรา.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติงสนิบาต ๓. อานันทเถรคาถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 396อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 397อ่านอรรถกถา 26 / 398อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8134&Z=8214
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=10494
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=10494
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :