ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 396อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 397อ่านอรรถกถา 26 / 398อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติงสนิบาต
๓. อานันทเถรคาถา

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               พระอานนทเถระจึงกล่าวเป็นคาถาต่อไปว่า
                         พระศาสดาผู้มีจักษุ ทรงประทานโอกาสให้ประชุมชน
               ที่พากันมาแต่ต่างประเทศ ในเมื่อล่วงเวลาเฝ้า ไม่ทรงห้าม
                         เมื่อเรายังเป็นพระเสขบุคคลอยู่ ๒๕ ปี กามสัญญาไม่
               เกิดขึ้นเลย เชิญดูความที่ธรรมเป็นธรรมดี
                         เมื่อเรายังเป็นพระเสขบุคคลอยู่ ๒๕ ปี โทสสัญญาไม่
               เกิดขึ้นเลย เชิญดูความที่ธรรมเป็นธรรมดี
                         เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเมตตากายกรรม
               เหมือนพระฉายาติดตามพระองค์อยู่ ๒๕ ปี เราอุปัฏฐากพระผู้
               มีพระภาคเจ้าด้วยเมตตาวจีกรรม เหมือนพระฉายาติดตามพระ
               องค์อยู่ ๒๕ ปี เราอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเมตตามโน
               กรรม เหมือนพระฉายาติดตามพระองค์อยู่ ๒๕ ปี
                         เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดำเนินไป เราก็ได้เดินตามไปเบื้อง
               พระปฤษฎางค์ของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ ฌาน
               เกิดขึ้นแก่เรา เราเป็นผู้มีกิจที่จะต้องทำ ยังเป็นพระเสขะ ยังไม่
               บรรลุอรหัต
                         พระศาสดาพระองค์ใดเป็นผู้ทรงอนุเคราะห์เรา พระศาสดา
               พระองค์นั้นได้เสด็จปรินิพพานไปเสียก่อนแล้ว เมื่อพระสัมมาสัม
               พุทธเจ้าผู้ถือความเป็นผู้ประเสริฐโดยอาการทั้งปวง เสด็จปรินิพพาน
               แล้ว ครั้งนั้น ได้เกิดมีความหวาดเสียวและได้เกิดขนพองสยองเกล้า.

               พระสังคีติกาจารย์เมื่อจะสรรเสริญพระอานนทเถระ ได้รจนาคาถา ๓ คาถาความว่า
                         พระอานนทเถระเป็นพหูสูต ทรงธรรม เป็นผู้รักษาคลังพระ
               ธรรมของพระพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นดวงตา
               ของโลกทั่วไป ปรินิพพานไปเสียแล้ว พระอานนทเถระเป็นพหูสูต
               ทรงธรรม เป็นผู้รักษาคลังพระธรรมของพระพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหา
               คุณอันยิ่งใหญ่ เป็นดวงตาของชาวโลกทั่วไป เป็นผู้กำจัดความมืด
               มนที่เป็นเหตุทำให้เป็นดังคนตาบอดได้แล้ว พระอานนทเถระเป็น
               ผู้มีคติ มีสติ และธิติ เป็นผู้แสวงคุณ เป็นผู้ทรงจำพระสัทธรรมไว้ได้
               เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ.

               พระอานนทเถระ ก่อนแต่นิพพานได้กล่าวคาถาความว่า
                         เรามีความคุ้นเคยกับพระศาสดา เราทำคำสั่งสอนของพระ
               พุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่
               ภพได้แล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น คาถา ๒ คาถาเริ่มต้นว่า ปิสุเณน จ ความว่า บัณฑิตเป็นพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ผู้ทำการคลุกคลีกันกับพวกภิกษุฝ่ายพระเทวทัตแล้ว กล่าวโดยมุ่งที่จะให้โอวาทแก่ภิกษุเหล่านั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิสุเณน ได้แก่ ด้วยวาจาส่อเสียด.
               จริงอยู่ บุคคลผู้ประกอบด้วยวาจานั้น ท่านเรียกว่า ปิสุณะ เพราะเปรียบเหมือนผ้าสีเขียวประกอบด้วยส่วนสีเขียว.
               บทว่า โกธเนน แปลว่า มีความโกรธเป็นปกติ.
               ชื่อว่าผู้ตระหนี่ เพราะมีความตระหนี่อันมีลักษณะปกปิดสมบัติของตน.
               บทว่า วิภูตนนฺทินา ความว่า ผู้ปรารถนาจะทำสมบัติที่ปรากฏชัดของปวงสัตว์ให้พินาศไป หรือผู้ปรารถนาจะให้สมบัติที่ปรากฏชัดนั้น แยกเป็นแผนกจากกัน.
               คำทั้งหมดนั้น ท่านกล่าวประสงค์ถึงพวกภิกษุฝ่ายพระเทวทัตเท่านั้น.
               จริงอยู่ ภิกษุเหล่านั้นผู้ถูกความตระหนี่ครอบงำมีแต่ความตระหนี่กล้าแข็งเป็นต้น พากันทำลายเหล่าชนผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติ ชอบเป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะแสดงวัตถุ ๕ ประการ เพราะตนทำพระศาสดาไว้ภายนอก ดำเนินการเพื่อความพินาศแก่มหาชนเป็นอันมาก.
               บทว่า สขิตํ ความว่า ไม่ควรทำตนให้เป็นสหาย คือให้มีความคลุกคลีกัน.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะการสมาคมกับคนชั่ว เป็นความลามก คือการสมาคมกับคนชั่วคือคนบาป เป็นความเลวทรามต่ำช้า.
               จริงอยู่ คนที่เอาเยี่ยงอย่างคนพาลนั้น ก็มีแต่จะนำเอาลักษณะคนพาลมีความคิดถึงเรื่องที่คิดแล้วชั่วเป็นต้น เป็นประเภทมาให้, จะป่วยกล่าวไปไย ถึงคนที่ทำตามคำพูดของคนพาลเหล่านั้นเล่า. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยบางอย่างที่จะเกิดขึ้น, ภัยเหล่านั้นทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะคนพาล, มิใช่เกิดขึ้นเพราะบัณฑิตเลย ดังนี้เป็นต้น.
               ก็เพื่อจะแสดงถึงบุคคลที่บัณฑิตจะพึงทำความเกี่ยวข้องด้วย ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า สทฺเธน จ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สทฺเธน ความว่า ผู้ประกอบพร้อมด้วยความเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม และด้วยความเชื่อในพระรัตนตรัย.
               บทว่า เปสเลน ได้แก่ มีศีลน่ารัก คือสมบูรณ์ด้วยศีล.
               บทว่า ปญฺญวตา ความว่า มีความสมบูรณ์ด้วยปัญญา ด้วยอำนาจปัญญาเครื่องรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งความเกิดขึ้นและเสื่อมไป.
               บทว่า พหุสฺสุเตน ความว่า ผู้ได้สดับเล่าเรียนมามาก เพราะบริบูรณ์ด้วยพาหุสัจจะจนถึงปริยัติและปฏิเวธ.
               บทว่า ภทฺโท อธิบายว่า การเกี่ยวข้องกับคนดีเช่นนั้น เป็นความเจริญ เป็นความดี เป็นความงาม ย่อมนำมาซึ่งประโยชน์อันต่างด้วยประโยชน์ในโลกนี้เป็นต้น.
               คาถา ๗ คาถามีคำเริ่มต้นว่า ปสฺส จิตฺตกตํ ดังนี้ ความว่า เมื่อนางอุตตราอุบาสิกาเกิดกามสัญญาขึ้น เพราะได้เห็นรูปสมบัติของท่าน. ท่านกล่าวคาถาไว้ก็เพื่อจะให้เกิดการตัดความพอใจในร่างกายได้. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เพื่อจะให้โอวาทแก่เหล่าภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน เพราะได้เห็นนางอัมพปาลีคณิกา ดังนี้ก็มี. คาถานั้นมีเนื้อความตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               คาถา ๒ คาถามีคำเริ่มต้นว่า พหุสฺสุโต จิตฺตกถี พระเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว กล่าวไว้ด้วยอำนาจอุทาน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปริจารโก คือ เป็นผู้อุปัฏฐาก.
               คำว่า เสยฺยํ กปฺเปติ นี้ ท่านกล่าวไว้ เพราะพระอานนท์นอนในลำดับต่อจากการบรรลุพระอรหัต.
               จริงอยู่ พระเถระยังราตรีเป็นอันมากให้ผ่านพ้นไปด้วยการจงกรมแล้ว จึงเข้าไปสู่ห้อง เพื่อจะให้ร่างกายเกิดความอบอุ่นแล้ว นั่งบนเตียงเพื่อจะนอน พอเท้าสองข้างพ้นจากพื้น แต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน, ในทันทีนั้น ท่านก็บรรลุพระอรหัต แล้วจึงนอน.
               บทว่า ขีณาสโว ความว่า ท่านสิ้นอาสวะทั้ง ๔ ได้แล้ว ต่อแต่นั้นนั่นแหละ ท่านก็ปราศจากโยคะทั้ง ๔ ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องได้แล้ว เพราะล่วงพ้นจากเครื่องข้องคือราคะเป็นต้นได้, เป็นผู้ดับสนิท คือเย็น เพราะสงบระงับความเร่าร้อนคือกิเลสได้สิ้นเชิง.
               คาถาว่า ยสฺมึ ปติฏฺฐตา ธมฺมา ท้าวมหาพรหมขีณาสพกล่าวไว้ เพราะมุ่งเจาะจงพระเถระ.
               จริงอยู่ เมื่อการทำสังคายนาพระธรรมจวนใกล้เข้ามาแล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวว่า ภิกษุรูปหนึ่งย่อมฟุ้งไปด้วยกลิ่นหอมอบอวลดังนี้ เจาะจงพระเถระ. ลำดับนั้น เมื่อบรรลุพระอรหัตแล้ว พระเถระจึงมายังประตูถ้ำสัตตบรรณคูหา เพื่อให้สงฆ์พร้อมเพรียงกัน ท้าวมหาพรหมชั้นสุทธาวาส เมื่อจะให้ภิกษุเหล่านั้นละอายด้วยการประกาศความเป็นพระขีณาสพของพระอานนท์ จึงกล่าวคาถาว่า ยสฺมึ ปติฏฺฐิตา ธมฺมา ดังนี้เป็นต้น.
               ความแห่งคาถานั้นว่า :-
               ธรรมทั้งหลายของพระพุทธเจ้าคือของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้แก่ ปฏิเวธธรรมและปริยัติธรรมที่พระองค์เท่านั้นบรรลุแล้ว และประกาศแล้ว ตั้งอยู่แล้วในบุรุษผู้วิเศษใด, บุรุษผู้วิเศษนี้นั้นคือพระอานนท์ผู้โคตมโคตร ผู้เป็นธรรมภัณฑาคาริก บัดนี้ตั้งอยู่แล้วในมรรคอันเป็นทางไปสู่อนุปาทิเสสนิพพาน เพราะท่านได้บรรลุสอุปาทิเสสนิพพานแล้ว คือเป็นผู้มีส่วนแห่งนิพพานนั้นแน่นอน.
               ครั้นวันหนึ่ง พราหมณ์ชื่อว่าโคปกโมคคัลลานะ เรียนถามพระเถระว่า ท่านเป็นผู้ปรากฏในพระพุทธศาสนาว่า เป็นพหูสูต, ธรรมทั้งหลายมีประมาณเท่าใดที่พระศาสดาได้ตรัสแล้วแก่ท่าน, ที่ท่านทรงจำไว้แล้ว? พระเถระเมื่อจะให้คำตอบแก่พราหมณ์นั้น จึงกล่าวคาถาว่า ทฺวาสีติ ดังนี้เป็นต้น.
               ในคำว่า ทฺวาสีติ นั้น มีโยชนาแก้ว่า ๘๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์.
               บทว่า พุทฺธโต คณฺหึ ความว่า ได้เล่าเรียนมาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือได้เรียนมาจากสำนักของพระศาสดา ๘๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์.
               บทว่า เทฺว สหสฺสานิ ภิกฺขุโต ความว่า ได้เล่าเรียนจากสำนักภิกษุ ๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ คือได้เล่าเรียนจากสำนักภิกษุทั้งหลายมีพระธรรมเสนาบดีเป็นต้น.
               บทว่า จตุราสีติสหสฺสานิ ได้แก่ รวมทั้ง ๒ สำนักนั้นได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์.
               บทว่า เย เม ธมฺมาปวตฺติโน ความว่า พระธรรมขันธ์มีประมาณตามที่ได้กล่าวไว้แล้วของข้าพเจ้า ช่ำชอง คล่องปาก ติดอยู่ที่ปลายลิ้น.
               ในกาลครั้งหนึ่ง พระเถระบวชในพระศาสนาแล้ว เห็นคนคนหนึ่งผู้ไม่ประกอบในวิปัสสนาธุระและคันถธุระแล้ว เมื่อจะประกาศโทษในเพราะความไม่มีพาหุสัจจะ จึงกล่าวคาถาว่า อปฺปสฺสุตายํ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปสฺสุตายํ ความว่า คนที่มีการศึกษาเล่าเรียนมาน้อย เพราะไม่มีการเล่าเรียนพระสูตร ๑ สูตร, ๒ สูตร, หรือ ๕๐ สูตร, อีกอย่างหนึ่ง เพราะไม่มีการเล่าเรียนพระสูตร ๑ สูตร, หรือ ๒ สูตร, โดยที่สุดแม้พระสูตร ๑ วรรค แต่เขาพากเพียรเรียนกัมมัฏฐาน ก็ชื่อว่าเป็นพหูสูตได้.
               บทว่า พลิพทฺโทว ชีรติ ความว่า เปรียบเหมือนโคที่มีกำลัง มีชีวิต เจริญเติบโตมิใช่เพื่อเป็นแม่โคหรือพ่อโค ไม่เจริญเพื่อประโยชน์แก่หมู่ญาติที่เหลือ, ที่แท้ย่อมแก่เปล่าไร้ประโยชน์ฉันใด แม้คนนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่ทำอุปัชฌายวัตร, อาจริยวัตร และอาคันตุกวัตรเป็นต้น ไม่ประกอบความเพียรบำเพ็ญภาวนา ก็มีแต่แก่เปล่า ไร้ประโยชน์.
               บทว่า มํสานิ ตสฺส วฑฺฒนฺติ ความว่า เปรียบเหมือนเมื่อโคที่มีกำลัง ถูกเจ้าของปล่อยไปในป่า ด้วยคิดว่า โคตัวนี้ไม่สามารถในการลากไถและนำภาระเป็นต้นไปได้ ดังนี้ มันจะเที่ยวกินและดื่มตามสบายใจ เนื้อย่อมเจริญแก่มันฉันใด แม้คนคนนี้ก็ฉันนั้นนั่นแหละ ทอดทิ้งจากวัตรมีอุปัชฌายวัตรเป็นต้น อาศัยพระสงฆ์ พอได้ปัจจัย ๔ แล้วทำกิจมีการถ่ายเป็นต้นแล้ว บำรุงเลี้ยงร่างกาย เนื้อของเขาย่อมเจริญ เป็นผู้มีสรีระอ้วนเที่ยวไป.
               บทว่า ปญฺญา อธิบายว่า ส่วนปัญญาที่เป็นโลกิยะและโลกุตระของเขา แม้เพียงองคุลีหนึ่งก็ไม่เจริญขึ้น คือตัณหาและมานะ ๙ ประการย่อมเจริญแก่เขา เพราะอาศัยทวารทั้ง ๖ เหมือนกอไม้และเถาวัลย์เป็นต้นงอกงามในป่าฉะนั้น.
               คาถาว่า พหุสฺสุโต ท่านกล่าวมุ่งถึงภิกษุรูปหนึ่งผู้ดูหมิ่นภิกษุอื่น เพราะอาศัยว่าตนเป็นพหูสูต.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุเตน ได้แก่ เพราะเหตุแห่งสุตะ คือระบุว่าตนเป็นพหูสูต.
               บทว่า อติมญฺญติ ความว่า ย่อมก้าวล่วงดูหมิ่น คือยกตนขึ้นข่มขู่ผู้อื่น.
               บทว่า ตเถว ความว่า เหมือนคนตาบอดถือดวงไฟไปในที่มืด เพราะการให้แสงสว่าง จึงเป็นเหตุนำประโยชน์มาให้แก่คนเหล่าอื่นเท่านั้น หานำประโยชน์มาให้แก่ตนเองไม่ฉันใด บุคคลฟังปริยัติจนเป็นผู้คงแก่เรียนก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่เข้าถึงการฟัง ไม่บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ตน กลับเป็นคนบอด ด้วยการให้แสงสว่างแห่งญาณ จึงนำประโยชน์มาให้แก่คนเหล่าอื่นเท่านั้น ไม่นำประโยชน์มาให้แก่ตนเองเลย ดุจคนตาบอดถือดวงไฟ ย่อมปรากฏแก่เราฉะนั้น.
               บัดนี้ เมื่อจะแสดงถึงอานิสงส์ในความเป็นผู้ได้สดับมามาก ท่านจึงกล่าวคาถาว่า พหุสฺสุตํ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปาเสยฺย แปลว่า พึงเข้าไปนั่งใกล้.
               บทว่า สุตญฺ จ น วินาสเย ความว่า เข้าไปหาท่านผู้เป็นพหูสูตแล้ว ไม่ยอมให้การสดับที่ได้แล้วพินาศไป เหือดแห้งไป แต่กลับให้เจริญด้วยการทรงจำ คุ้นเคย สอบถามและมนสิการ.
               บทว่า ตํ มูลํ พฺรหฺมจริยสฺส ความว่า เพราะเข้าไปหาท่านผู้เป็นพหูสูต ได้สดับสูตรที่ฟังมาเป็นอันมากคือปริยัติธรรมนั้นเป็นเบื้องต้น เป็นประธานแห่งมรรคพรหมจรรย์. เพราะฉะนั้น จึงสมควรเป็นผู้ทรงธรรม คือเป็นผู้ตั้งอยู่ในหัวข้อแห่งวิมุตตายตนะ ในการทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว ครั้งแรกพึงเป็นผู้ทรงปริยัติธรรม.
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงเนื้อความที่บุคคลจะพึงให้สำเร็จด้วยความเป็นผู้ได้สดับฟังมากในปริยัติธรรม ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ปุพฺพาปรญฺญู ดังนี้.
               บัณฑิตพึงทราบวิเคราะห์ในคำนั้นว่า ชื่อว่าปุพพาปรัญญู เพราะอรรถว่าย่อมรู้อักษรทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย.
               จริงอยู่ แม้เมื่อส่วนแห่งอักษรเบื้องต้นของคาถาหนึ่งยังไม่ปรากฏ หรือส่วนแห่งอักษรเบื้องต้นปรากฏอยู่ส่วนแห่งอักษรเบื้องปลายยังไม่ปรากฏก็ตาม เขารู้ว่า นี้พึงเป็นส่วนอักษรต้นแห่งส่วนอักษรเบื้องปลาย หรือว่า นี้พึงเป็นส่วนอักษรปลายแห่งส่วนอักษรเบื้องต้น ดังนี้ชื่อว่าปุพพาปรัญญู.
               ชื่อว่าอัตถัญญู เพราะอรรถว่า ย่อมรู้จักชนิดแห่งประโยชน์มีประโยชน์ตนเป็นต้น คือประโยชน์แห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้แล้ว.
               บทว่า นิรุตฺติปทโกวิโท ความว่า เป็นผู้ฉลาดในปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ คือในนิรุตติปฏิสัมภิทา และแม้ในบทที่เหลือด้วย.
               บทว่า สุคฺคหิตญฺจ คณฺหาติ ความว่า เพราะความเป็นผู้ฉลาดนั้นแล ย่อมเล่าเรียนธรรมให้เป็นการเล่าเรียนดีทีเดียว ทั้งโดยอรรถ ทั้งโดยพยัญชนะ.
               บทว่า อตฺถญฺโจปปริกฺขติ ความว่า ย่อมพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมตามที่ได้ฟังแล้ว ตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียนแล้ว คือกำหนดไว้ในใจว่า ดังนี้เป็นศีล ดังนี้เป็นสมาธิ ดังนี้เป็นปัญญา เหล่านี้เป็นรูปธรรมและอรูปธรรม.
               บทว่า ขนฺตฺยา ฉนฺทิกโต โหติ ความว่า เมื่อธรรมทั้งหลายที่ตามเพ่งด้วยใจเหล่านั้น อดทนต่อการเพ่งพินิจ ด้วยทนต่อการเห็นและการเพ่งพินิจมีอยู่ ย่อมเป็นผู้กระทำความพอใจ คือเกิดความพอใจ ในการโน้มน้าวไปในวิปัสสนา โดยมุ่งที่จะกำหนดรูปเป็นต้น.
               และเมื่อบำเพ็ญวิปัสสนาเป็นอย่างนั้นแล้ว พยายามพิจารณาคือทำความอุตสาหะด้วยการเห็นปัจจัยและนามรูปนั้นๆ ต่อแต่นั้นก็ยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ ไตร่ตรอง พิจารณาเห็นนามรูปนั้นว่า ไม่เที่ยงบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นอนัตตาบ้าง.
               บทว่า สมเย โส ปทหติ, อชฺฌตฺตํ สุสมาหิโต ความว่า ท่านเมื่อพิจารณาเห็นอย่างนั้นแล้ว ก็ตั้งความเพียรด้วยการประคองจิตเป็นต้นในสมัยที่ควรประคองจิตเป็นต้น และเมื่อจะเริ่มตั้งความเพียร พึงเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดี ด้วยวิปัสสนาสมาธิและมรรคสมาธิไว้ในภายในคือในภายในอารมณ์. พึงละกิเลสทั้งหลายที่เป็นเหตุไม่ตั้งมั่นเสีย.
               อธิบายว่า เพราะคุณนี้นั้นแม้ทั้งหมดย่อมมีแก่ผู้เข้าไปนั่งใกล้ท่านผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม มีปัญญา เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าฉะนั้น บุคคลปรารภอสังขตธรรม หวังความรู้ในธรรมคือรู้แจ้งในธรรม เพราะตนทำหน้าที่อันประเสริฐสุด มีการกำหนดรู้ทุกข์เป็นต้น พึงคบ พึงเสพ คือพึงเข้าไปนั่งใกล้กัลยาณมิตรมีประการดังกล่าวแล้วเช่นนั้นเถิด.
               พระเถระเมื่อจะแสดงว่าท่านผู้เป็นพหูสูตนั้น เป็นผู้ควรแก่การบูชา เพราะมีอุปการคุณมากมายอย่างนั้น จึงกล่าวคาถาว่า พหุสฺสุโต ดังนี้เป็นต้น.
               ความแห่งบาทคาถานั้นว่า :-
               ชื่อว่าพหุสสุตะ เพราะมีคำสอนของพระศาสดา เช่น สุตตะและเคยยะเป็นต้นที่ได้สดับแล้วเป็นอันมาก.
               ชื่อว่าธัมมธระ เพราะทรงจำเทศนาธรรมนั้นทั้งหมดได้ ไม่ให้สูญหายไป เหมือนน้ำมันเหลวของราชสีห์ที่บุคคลใส่ไว้ในภาชนะทองคำ ฉะนั้น.
               ต่อแต่นั้น ก็ชื่อว่าโกสารักขะ เพราะรักษาคลังพระธรรม ธรรมรัตนะของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่, เพราะเป็นดวงตาของชาวโลก ด้วยการมองดูอย่างสม่ำเสมอฉะนั้น จึงเป็นดวงตาที่ชาวโลกทั้งหมดควรบูชา คือควรนับถือ. ท่านกล่าวคำว่า พหุสฺสุโต ซ้ำอีกก็ด้วยอำนาจคำลงท้าย เพื่อแสดงถึงความเป็นพหูสูตว่า ชนเป็นอันมากควรบูชา.
               พระเถระครั้นได้กัลยาณมิตรเห็นปานนั้นแล้ว เมื่อจะแสดงว่า ความไม่เสื่อมย่อมมีแก่บุคคลผู้ทำตามเท่านั้น, หามีแก่บุคคลผู้ไม่ทำตามไม่ ดังนี้ จึงกล่าวคาถาว่า ธมฺมาราโม ดังนี้เป็นต้น.
               อธิบายว่า ความยินดีมีสมถะและวิปัสสนาเป็นธรรม เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่อาศัยในธรรมนั้น.
               ชื่อว่าธัมมรตะ เพราะยินดี คือยินดียิ่งในธรรมนั้นนั่นเอง. ชื่อว่าค้นคว้าธรรม คือคำนึงถึงธรรม ได้แก่ กระทำไว้ในใจด้วยการคิดถึงธรรมนั้นนั่นแหละบ่อยๆ.
               บทว่า อนุสฺสรํ ได้แก่ ระลึกถึงธรรมนั้นเท่านั้น.
               บทว่า สทฺธมฺมา ความว่า ภิกษุเห็นปานนั้น ย่อมไม่เสื่อมจากโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประเภท และจากโลกุตรธรรม ๙ ประการ, ในกาลไหนๆ ความเสื่อมจากธรรมนั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น.
               ครั้นวันหนึ่ง พระเถระเมื่อจะให้ภิกษุผู้ชื่อว่ามีราคะยังไม่ไปปราศ เกียจคร้าน มีความเพียรต่ำทราม มีความฉลาด ให้เกิดความสังเวชในร่างกาย จึงกล่าวคาถาว่า กายมจฺเฉรครุโน ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กายมจฺเฉรครุโน ความว่า เที่ยวไป ไม่ยอมทำอะไรที่ควรทำทางกายแก่อาจารย์และอุปัชฌาย์ มัวแต่สำคัญกายว่าเป็นของเรา มากไปด้วยความยึดมั่นในร่างกาย.
               บทว่า หิยฺยมาเน ความว่า เมื่อร่างกายและชีวิตของตนเสื่อมไปทุกๆ ขณะ.
               บทว่า อนุฏฺฐเห ความว่า ไม่พึงทำความเพียรเป็นเหตุลุกขึ้น ด้วยอำนาจการบำเพ็ญคุณมีศีลเป็นต้น.
               บทว่า สรีรสุขคิทฺธสฺส ความว่า ถึงความติดอยู่ (ในสรีระ) ด้วยการทำสรีระของตนให้ถึงความสุขนั่นแล.
               บทว่า กุโต สมณผาสุตา ความว่า ความอยู่สุขสบายด้วยความเป็นสมณะของบุคคลเห็นปานนั้น จักมีแต่ที่ไหน, คือความอยู่ผาสุกย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้นเลย.
               คาถาเริ่มต้นว่า น ปกฺขนฺติ ดังนี้ พระเถระทราบอย่างแจ่มชัดว่า ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรปรินิพพานแล้ว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ปกฺขนฺติ ทิสา สพฺพา ความว่า ทิศทั้งหมดมีทิศตะวันออกเป็นต้นย่อมไม่ปรากฏ คือเป็นผู้หลงทิศ.
               บทว่า ธมฺมา น ปฏิภนฺติ มํ ความว่า ธรรมที่ได้เล่าเรียนแล้ว แม้จะช่ำชองด้วยดีในครั้งก่อน แต่ในบัดนี้ แม้จะนำมาเทียบเคียงโดยเคารพ ก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพเจ้า.
               บทว่า คเต กลฺยาณมิตฺตมฺหิ ความว่า เมื่อท่านพระธรรมเสนาบดีผู้เป็นกัลยาณมิตรของชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก ถึงอนุปาทิเสสนิพพานแล้ว.
               บทว่า อนฺธการํว ขายติ ความว่า โลกนี้แม้ทั้งหมด ย่อมปรากฏเหมือนมืดมน.
               บทว่า อพฺภตีตสหายสฺส ความว่า ผู้มีสหายล่วงลับไปแล้ว คือปราศจากกัลยาณมิตร.
               บทว่า อตีตคตสตฺถุโน ความว่า ท่านเป็นผู้มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จล่วงลับไปแล้ว คือเป็นผู้มีพระศาสดาปรินิพพานไปแล้ว.
               บทว่า ยถา กายคตา สติ อธิบายว่า ชื่อว่ามิตรอื่นที่จะนำประโยชน์มาให้โดยส่วนเดียว แก่บุคคลผู้ไม่มีที่พึ่งเช่นนั้น ไม่มี เหมือนกายคตาสติภาวนา มีแต่จะนำประโยชน์มาให้โดยส่วนเดียวแก่บุคคลผู้บำเพ็ญนั้น, ภาวนาอย่างอื่นนำประโยชน์มาให้ก็เฉพาะบุคคลที่มีที่พึ่งเท่านั้น.
               บทว่า ปุราณา ได้แก่ มิตรเก่าที่พระเถระกล่าวหมายเอากัลยาณมิตรมีพระสารีบุตรเป็นต้น.
               บทว่า นเวหิ ได้แก่ ด้วยมิตรใหม่.
               บทว่า น สเมติ เม ความว่า จิตของเราย่อมไม่สมาคม คือจิตของเรามิได้เกิดความยินดีกับพวกมิตรใหม่เลย.
               บทว่า สฺวชฺช เอโกว ฌายามิ ความว่า วันนี้ เรานั้นเว้นจากท่านผู้แก่กว่าทั้งหลาย เป็นผู้เดียวเพ่งฌานอยู่ คือเป็นผู้ขวนขวายในฌานอยู่.
               บทว่า วสฺสุเปโต ได้แก่ เหมือนนกที่เข้าอยู่ในรังในฤดูฝน.
               บาลีว่า วาสุเปโต ดังนี้บ้าง ความว่า เข้าไปอยู่.
               คาถาว่า ทสฺสนาย อภิกฺกนฺเต ดังนี้ พระศาสดาได้ตรัสไว้.
               ความแห่งบาทคาถานั้นว่า :-
               อานนท์ เธออย่าห้ามประชาชนเป็นอันมากที่พากันมาจากประเทศต่างๆ ไม่ให้เข้าเฝ้าเรา ในเมื่อล่วงเวลาเฝ้าของเราเลย. เพราะอะไร? เพราะคนฟังธรรมเหล่านั้น (ต้องการ) จะเห็นเรา ก็เฉพาะในเวลาเฝ้านี้เท่านั้น.
               พระเถระได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาอื่นอีกว่า ทสฺสนาย อภิกฺกนฺเต ดังนี้เป็นต้น. ก็คาถาก่อนที่ท่านวางไว้ในที่นี้ ก็เพื่อความสัมพันธ์กันกับคาถานี้, ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ท่านจึงแสดงความสำเร็จประโยชน์แห่งบทนั้นว่า ถ้าเราจักได้เพื่อให้ประชาชนที่พากันมาจากประเทศอื่น ได้เข้าเฝ้าในทันทีไซร้.
               คาถา ๔ คาถาเริ่มต้นว่า ปณฺณวีสติ วสฺสานิ ดังนี้ พระเถระกล่าวเพื่อแสดงว่าตนเป็นอุปัฏฐากผู้เลิศ.
               จริงอยู่ เพราะการเริ่มบำเพ็ญกัมมัฏฐาน และเพราะการขวนขวายอุปัฏฐากพระศาสดา กามสัญญาเป็นต้นแม้ที่ยังมิได้ตัดขาดด้วยมรรค มิได้เกิดขึ้นแก่พระเถระเลย, และกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรม ก็ได้มีเมตตาเป็นหัวหน้า คล้อยไปตามเมตตา ในพระศาสดาตลอดกาล.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปณฺณวีสติ วสฺสานิ แปลว่า ตลอด ๒๕ ปี.
               บทว่า เสขภูตสฺส เม สโต ความว่า เมื่อเรายังดำรงอยู่ในเสขภูมิ คือในโสดาปัตติผลอยู่.
               บทว่า กามสญฺญา ความว่า สัญญาที่ประกอบด้วยกาม ไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว.
               ก็ในคำนี้ พระเถระแสดงถึงความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัยตน ด้วยคำที่มุ่งถึงการไม่เกิดขึ้นแห่งกามสัญญาเป็นต้น และแสดงถึงความบริสุทธิ์แห่งประโยคด้วยคำเป็นต้นว่า เมตฺเตน กายกมฺเมน ดังนี้.
               พึงทราบเนื้อความในข้อนั้นดังต่อไปนี้ :-
               เมตตากายกรรม พึงทราบด้วยการทำเครื่องใช้ในพระคันธกุฎีเป็นต้น และด้วยการทำวัตรและปฏิวัตร ถวายแด่พระศาสดา, เมตตาวจีกรรม พึงทราบด้วยกิจมีการบอกเวลาแสดงธรรมเป็นต้น, เมตตามโนกรรม พึงทราบด้วยการใส่ใจ น้อมนำมุ่งถึงประโยชน์เกื้อกูลเฉพาะพระศาสดาในที่ลับ.
               คำว่า ญาณํ เม อุทปชฺชถ นี้ พระเถระกล่าวถึงการบรรลุเสขภูมิของตน.
               คาถาว่า อหํ สกรณีโยมฺหิ นี้ เป็นคาถาที่เมื่อพระศาสดาใกล้จะปรินิพพาน พระอานนท์เข้าไปยังปะรำ เหนี่ยวคันทวยแล้วกล่าวมุ่งจะครอบงำความเศร้าโศก.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สกรณีโยมฺหิ ความว่า เราเป็นผู้มีกิจมีการกำหนดรู้ทุกข์เป็นต้นที่จะต้องทำ.
               บทว่า อปฺปตฺตมานโส แปลว่า ยังไม่บรรลุพระอรหัต.
               บทว่า สตฺถุ จ ปรินิพฺพานํ ได้แก่ พระศาสดาของเราได้เสด็จปรินิพพานไปเสียแล้ว.
               บทว่า โย อมฺหํ อนุกมฺปโก ได้แก่ พระศาสดาพระองค์ใด เป็นผู้ทรงอนุเคราะห์เรา.
               คาถาว่า ตทาสิ ยํ ภึสนกํ ดังนี้ เป็นคาถาที่พระเถระเห็นแผ่นดินไหว และความแผ่ไปแห่งเสียงกลองสวรรค์เป็นต้น แล้วกล่าวไว้ด้วยเกิดความสังเวช.
               คาถา ๓ คาถามีคำเริ่มต้นว่า พหุสฺสุโต ดังนี้ พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายพากันสรรเสริญพระเถระ ตั้งไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คติมนฺโต ได้แก่ ผู้ประกอบพร้อมด้วยญาณคติไม่มีใครเสมอ.
               บทว่า สติมนฺโต ได้แก่ ประกอบพร้อมด้วยสติและเนปักกปัญญาเป็นอย่างยิ่ง.
               บทว่า ธิติมนฺโต ได้แก่ ประกอบพร้อมด้วยปัญญาสัมปทา มีความสามารถกำหนดพยัญชนะและอรรถะโดยเฉพาะ.
               จริงอยู่ พระเถระรูปนี้กำหนดจำไว้บทเดียวเท่านั้น ก็ย่อมกำหนดถือเอาโดยทำนองที่พระศาสดาตรัสแล้วได้ตั้ง ๖๐,๐๐๐ บท, และบทที่ได้กำหนดแล้ว ย่อมไม่สูญหายตลอดกาลนาน เหมือนน้ำมันเหลวราชสีห์ที่บุคคลใส่ไว้ในภาชนะทองคำฉะนั้น, เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยปัญญา อันมีสติเป็นเบื้องหน้า ซึ่งสามารถกำหนดพยัญชนะไม่ให้วิปริต และด้วยสติอันมีปัญญาเป็นเบื้องหน้า ซึ่งสามารถกำหนดอรรถะ.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเราฝ่ายพหูสูต ดังนี้เป็นต้น. และเหมือนอย่างที่พระธรรมเสนาบดีกล่าวไว้ว่า ท่านพระอานนท์เป็นผู้ฉลาดในอรรถ ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า รตนากโร ได้แก่ เป็นบ่อเกิดแห่งพระรัตนะ คือพระสัทธรรม.
               คาถาว่า ปริจิณฺโณ นี้ พระเถระกล่าวในเวลาใกล้ปรินิพพาน,
               คาถานั้นมีเนื้อความตามที่กล่าวไว้แล้วนั่นแล.


               จบอรรถกถาอานันทเถรคาถาที่ ๓               
               จบอรรถกถาเถรคาถา ติงสนิบาต               
               -----------------------------------------------------               

               พระเถระ ๓ รูปนี้ คือ
                         พระปุสสเถระ ๑
                         พระสารีบุตรเถระ ๑
                         พระอานนทเถระ ๑
               ท่านนิพนธ์คาถาไว้ในติงสนิบาตนั้น รวม ๑๐๕ คาถา ฉะนั้นแล.
               จบติงสนิบาต               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติงสนิบาต ๓. อานันทเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 396อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 397อ่านอรรถกถา 26 / 398อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8134&Z=8214
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=10494
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=10494
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :