ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 398อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 399อ่านอรรถกถา 26 / 400อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ปัญญาสนิบาต
๑. ตาลปุฏเถรคาถา

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               บทว่า อิสิปฺปยาตมฺหิ ปเถ วชนฺตํ ความว่า ไปอยู่ คือดำเนินไปอยู่ในทางสมถะและวิปัสสนา อันท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงชำระแล้วโดยชอบแล้ว. ในสมัยฝนตก ท่านแสดงถึงความปริวิตกถึงภาวะที่ตนอยู่ในกลางแจ้ง ว่าเมื่อไรหนอฝนจักตกลงในป่าทึบ ยังจีวรของตนให้เปียกด้วยน้ำ คือด้วยน้ำฝนตกใหม่.
               บทว่า มยูรสฺส สิขณฺฑิโน วเน ทิชสฺส ได้แก่ ทิชชาติด้วยอำนาจเกิด ๒ ครั้ง คือเกิดจากท้องมารดา ๑ เกิดจากฟองไข่ ๑ ก็เมื่อไร เราจะได้ยินเสียงร้อง คือเสียงร้องของนกยูง โดยสมภพของนกยูง และโดยหางของนกยูงในป่า คือที่ซอกเขา แล้วกำหนดเวลาออกจากที่นอนแล้ว บรรลุอมตะคือบรรลุพระนิพพาน.
               บทว่า สญฺจินฺตเย ความว่า พึงกระทำไว้ในใจ คือพึงเห็นแจ้งภพที่จะกล่าวอยู่ โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น.
               บทว่า คงฺคํ ยมุนํ สรสฺสตึ มีวาจาประกอบความว่า เมื่อไรหนอ ความตรึกของเรานี้พึงไหลไปยังแม่น้ำใหญ่เหล่านั้นไม่ติดขัด ด้วยฤทธิ์อันสำเร็จด้วยภาวนา.
               บทว่า ปาตาลขิตฺตํ พฬวามุขญฺจ ความว่า พอละ คือถึงที่สุดแห่งการตกไป ฉะนั้นจึงชื่อว่าบาดาล ซัดไปสู่บาดาลนั้นนั่นแหละ, คือดำรงอยู่อย่างนั้นในเวลาตั้งแผ่นดิน เพราะฉะนั้น ชื่อว่าซัดให้ไหลไปยังบาดาลที่เหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นที่อยู่ของนาคเป็นต้น หรือที่ตั้งอยู่แล้วโดยว่างเปล่านั่นเอง ชื่อว่าที่ฝั่งแผ่นดินในมหาสมุทรมีร้อยโยชน์เป็นต้นเป็นประเภท.
               บทว่า พฬวามุขํ ได้แก่ ปากน้ำวนใหญ่ในมหาสมุทร.
               จริงอยู่ ในเวลาประตูมหานรกเปิด ท่อไฟใหญ่พุ่งออกจากประตูมหานรกนั้น เบื้องหน้าแต่นั้น ไหม้ส่วนภายใต้มหาสมุทรยาวและกว้างหลายร้อยโยชน์ เมื่อส่วนภายใต้มหาสมุทรถูกไฟไหม้ น้ำข้างบนก็วนเวียนโดยอาการเป็นบ่อตกลงในภายใต้ด้วยเสียงดัง ในที่นั้นมีสมัญญาว่าปากน้ำใหญ่ ดังนั้น แม้น้ำที่ไหลไปยังบาดาลและปากน้ำใหญ่ น่าหวาดเสียวน่าสะพึงกลัว เมื่อไรหนอจะพึงไหลตกไปด้วยกำลังฤทธิ์ไม่ติดขัด ดังนั้น ความตรึกของเราจักพึงมีเมื่อไรหนอ เราพึงยังฤทธิ์อันสำเร็จด้วยภาวนาให้บังเกิด จักค้นพบรอยฤทธิ์อย่างนี้ได้เมื่อไรหนอ.
               บทว่า นาโคว อสงฺคจารี ปทาลเย ความว่า ช้างตัวซับมันทำลายเสาอันมั่น กำจัดโซ่เหล็ก ทำลายเสาตะลุง เข้าไปสู่ป่า เป็นผู้ๆ เดียว ไม่มีเพื่อนสอง เที่ยวไปตามความชอบใจของตนฉันใด เราก็ฉันนั้น เมื่อไรหนอจะละทิ้งนิมิตที่ได้ยินมาทุกอย่าง คือเว้นเสียโดยไม่มีส่วนเหลือ ไม่เป็นไปในอำนาจแห่งกามฉันทะ ประกอบการขวนขวายในฌาน พึงทำลาย พึงตัด พึงละความพอใจในกามคุณ เพราะฉะนั้น ความตรึกของเรานั้นจักสำเร็จเมื่อไรหนอ.
               บทว่า อิณฏฺโฏว ทลิทฺทโก นิธึ อาราธยิตฺวา ความว่า คนจนบางคนเป็นผู้มีการเลี้ยงชีพเป็นปกติ กู้หนี้ เมื่อไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ มีคดี เพราะหนี้ คืออึดอัดใจเพราะหนี้ ถูกเจ้าทรัพย์บีบคั้น ครั้นยินดีคือประสบขุมทรัพย์ และชำระหนี้แล้ว พึงเป็นอยู่ ยินดีโดยความสุขฉันใด แม้เราก็ฉันนั้น เมื่อไรหนอจะพึงละกามฉันทะอันเป็นเสมือนกับผู้ไม่มีหนี้ แล้วประสบความยินดีในพระศาสนาของท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ คือพระศาสนาของพระพุทธเจ้า อันเป็นเสมือนขุมทรัพย์อันเต็มไปด้วยรัตนะมีแก้วมณีและทองคำเป็นต้น เพราะเพียบพร้อมไปด้วยอริยทรัพย์ เพราะฉะนั้น ความตรึกของเรานั้นจักสำเร็จเมื่อไรหนอ.
               ครั้นแสดงความเป็นไปแห่งวิตกของตน อันเป็นแล้วด้วยอำนาจเนกขัมมวิตกในกาลก่อน แต่การบรรพชาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ครั้นบวชแล้ว เมื่อจะแสดงอาการอันเป็นเหตุให้สอนตนแล้วจึงบรรลุ จึงได้กล่าวคาถามีอาทิว่า พหูนิ วสฺสานิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหูนิ วสฺสานิ ตยามฺหิ ยาจิโต อคารวาเสน อลํ นุเต อิทํ ความว่า ดูก่อนจิตผู้เจริญ เราถูกท่านอ้อนวอนมาหลายปีแล้วมิใช่หรือว่า พอละ คือถึงที่สุดแล้วสำหรับท่าน ด้วยการอยู่ในท่ามกลางเรือน ด้วยการตามผูกพันทุกข์ต่างๆ อยู่หลายปี.
               บทว่า ตํ ทานิ มํ ปพฺพชิตํ สมานํ ความว่า ดูก่อนจิต ท่านไม่ประกอบเรานั้นผู้เป็นบรรพชิต ด้วยความอุตสาหะเช่นนั้น ด้วยเหตุอย่างหนึ่ง. อธิบายว่า ทิ้งสมถะและวิปัสสนา ประกอบในความเกียจคร้านอันเลว.
               บทว่า นนุ อหํ จิตฺต ตยามฺหิ ยาจิโต อธิบายว่า ดูก่อนจิตผู้เจริญ เราเป็นผู้อันท่านอ้อนวอน คือยังจะขอร้องมิใช่หรือ? ถ้าท่านขอร้อง เพราะเหตุไร? ท่านจึงไม่ปฏิบัติให้สมควรแก่ความขอร้องนั้น.
               ท่านแสดงถึงอาการขอร้อง โดยนัยมีอาทิว่า คิริพฺพเช ดังนี้. อธิบายว่า วิหคมีขนปีกอันแพรวพราว คือมีขนหางและปีกอันวิจิตร. อธิบายว่า นกยูง.
               บทว่า มหินฺทโฆสตฺถนิตาภิคชฺชิโน ความว่า มีการแผดเสียงเป็นปกติด้วยดี ด้วยเหตุที่เสียงอันกึกก้องจากสายน้ำ.
               ด้วยบทว่า เต ตํ รเมสฺสนฺติ วนมฺหิ ฌายินํ ท่านแสดงว่า เราถูกท่านอ้อนวอนมิใช่หรือว่า นกยูงเหล่านั้นจักให้เรานั้นผู้ขวนขวายในฌานในป่าเกิดความยินดี.
               บทว่า กุลมฺหิ ความว่า ในการเวียนมาแห่งตระกูล.
               บทว่า อิมมชฺฌุปาคโต ความว่า วันนี้ ท่านมาใกล้ที่ป่า หรือบรรพชานี้.
               บทว่า อโถปิ ตฺวํ จิตฺต น มยฺห ตุสฺสสิ ความว่า ท่านจักไม่ยินดีกะเราแม้ผู้ประพฤติตามตั้งอยู่เสียเลย.
               บทว่า มเมว เอตํ น หิ ตฺวํ ปเรสํ อธิบายว่า ดูก่อนจิต เพราะท่านพิจารณาเห็นว่าจิตนี้เป็นของเราเท่านั้นไม่ใช่ของคนเหล่าอื่น. แต่ในเวลาสงบ ท่านทำจิตนี้ให้เป็นเหมือนของคนเหล่าอื่น ด้วยการสงบภาวนา เพื่อลบกิเลสมารทั้งหลาย เพราะกระทำอธิบายดังว่ามานี้ ท่านจะประโยชน์อะไรด้วยกับการร้องไห้อยู่เล่า บัดนี้ เราจักไม่ให้ท่านประพฤติโดยประการอื่น.
               บทว่า สพฺพํ อิทํ จลมิติ เปกฺขมาโน อธิบายว่า เพราะเหตุที่เมื่อเราตรวจดูด้วยปัญญาจักษุว่า จิตนี้ เป็นอื่นทั้งหมดมีสังขารเป็นไปในภูมิ ๓ กวัดแกว่ง ไม่ตั้งมั่น อยากได้ แสวงหาการออกจากเรือนและจากกามทั้งหลาย คืออมตบท คือพระนิพพาน ฉะนั้น จึงไม่ไปตามจิต กระทำการแสวงหาพระนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น.
               มีวาจาประกอบความว่า
               จิตห้ามได้แสนยาก เพราะไม่ปราศจากราคะ เป็นเช่นกับลิง ด้วยอำนาจการฝึก เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวแต่คำที่ควรด้วยดี กล่าวคำเป็นแต่สุภาษิต เป็นนายสารถีฝึกนระผู้อันเขาสักการะอย่างยิ่งใหญ่ สูงสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้า.
               บทว่า อวิทฺทสุ ยตฺถ สิตา ปุถุชฺชนา ความว่า อันธปุถุชนเหล่านั้น ผูกติดอยู่ คือเนื่องเฉพาะในวัตถุกามและกิเลสกามอย่างใดอย่างหนึ่ง แสวงหาภพใหม่ด้วยกามราคะนั้น ปรารถนาทุกข์โดยส่วนเดียวเท่านั้นและเมื่อปรารถนา จึงถูกจิตนำไป คือถูกทอดทิ้งในนรก เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้เป็นไปในอำนาจแห่งจิต กระทำกรรมอันเป็นทางแห่งนรก เป็นผู้ทอดทิ้งจากหิตสุข คือถูกนำไปในนรกโดยจิตของตนนั้นเอง ไม่นำไปโดยประการอื่น เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงความที่จิตเท่านั้นที่ควรข่ม.
               เมื่อรู้เพื่อจะข่มจิตนั่นแลแม้อีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า มยูรโกญฺจาภิรุตมฺหิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มยูรโกญฺจาภิรุตมฺหิ ความว่า อันนกยูงและนกกระไนร้อง.
               บทว่า ทีปีหิ พยคฺเฆหิ ปุรกฺขโต วสํ ความว่า เป็นผู้แวดล้อม คือห้อมล้อมด้วยสัตว์ดิรัจฉานเห็นปานนั้น เพราะเป็นผู้อยู่ด้วยเมตตากรรมฐานเป็นอารมณ์อยู่ในป่า ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงกล่าวการเจริญความว่างเปล่า.
               บทว่า กาเย อเปกฺขํ ชห ความว่า จงละไม่อาลัยในกายโดยประการทั้งปวง, เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวถึงที่บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น.
               บทว่า มา วิราธย ความว่า อย่ายังขณะที่ ๙ อันได้แสนยากนี้ให้ล้มเหลว.
               บทว่า อิติสฺสุ มํ จิตฺต ปุเร นิยุญฺชสิ ความว่า ดูก่อนจิต ท่านประกอบเราไว้ในสัมมาปฏิบัติก่อนแต่บวช ด้วยประการฉะนี้แล.
               บทว่า ภาเวหิ ความว่า จงให้เกิดและให้เจริญ.
               บทว่า ฌานิ ได้แก่ ฌาน ๔ มีปฐมฌานเป็นต้น.
               บทว่า อินฺทฺริยานิ ได้แก่ อินทรีย์ ๕ มีสัทธินทรีย์เป็นต้น.
               บทว่า พลานิ ได้แก่ พละ ๕ เหล่านั้นนั่นแล.
               บทว่า โพชฺฌงฺคสมาธิภาวนา ได้แก่ โพชฌงค์ ๗ และสมาธิภาวนา ๔.
               บทว่า ติสฺโส จ วิชฺชา ได้แก่ วิชชา ๓ มีปุพเพนิวาสญาณเป็นต้น, ท่านตั้งอยู่ในพระพุทธศาสนาคือในโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงถูกต้องคือจงบรรลุ.
               บทว่า นิยฺยานิกํ ได้แก่ นำออกจากวัฏทุกข์.
               บทว่า สพฺพทุกฺขกฺขโยคธํ ได้แก่ หยั่งลงในอมตะ คือมีพระนิพพานเป็นที่พึ่ง ได้แก่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์.
               บทว่า สพฺพกิเลสโสธนํ ความว่า ชำระมลทิน คือกิเลสไม่ให้มีส่วนเหลือ.
               บทว่า ขนฺเธ ได้แก่ อุปาทานขันธ์.
               บทว่า ปฏิปสฺส โยนิโส ความว่า จงเห็นด้วยอุบายโดยชอบด้วยวิปัสสนาญาณโดยประการต่างๆ มีอาทิอย่างนี้ว่า โดยเป็นโรค โดยเป็นดุจฝี โดยเป็นดุจลูกศร โดยเป็นความคับแค้น โดยเป็นอาพาธ.
               บทว่า ตํ ชห ความว่า จงละ คือจงถอนตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้น.
               บทว่า อิเธว ได้แก่ ในอัตภาพนี้เท่านั้น.
               บทว่า อนิจฺจํ เป็นต้น ความว่า ท่านจงเห็นว่าไม่เที่ยง เพราะมีที่สุด เพราะไม่ล่วงความเป็นของไม่เที่ยงไปได้ เพราะเป็นไปชั่วกาลเท่านั้น และปฏิเสธต่อความเที่ยง.
               บทว่า ทุกฺขํ ความว่า จงเห็นว่าเป็นทุกข์ เพราะถูกความเกิดขึ้นและดับไปบีบคั้น เพราะมีภัยเกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะทนได้ยาก เพราะปฏิเสธความสุข.
               บทว่า สุญฺญํ ความว่า ชื่อว่าว่างเปล่า เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ เพราะไม่มีเจ้าของ เพราะไม่มีสาระ และเพราะปฏิเสธอัตตา เพราะเหตุนั้นนั่นแล จึงชื่อว่าเป็นอนัตตา.
               มีวาจาประกอบความว่า
               จงพิจารณาเห็นโดยแยบคายว่า เป็นทุกข์และเป็นผู้ฆ่า เพราะเป็นอันจะพึงถูกติเตียนและเป็นความเจ็บป่วยหาความเจริญมิได้.
               บทว่า มโนวิจาเร อุปรุนฺธ เจตโส ความว่า จงปิดกั้นคือจงห้าม ได้แก่จงดับความสำคัญทางมโนวิจารทางใจ ๑๘ อย่างมีการพิจารณาถึงโสมนัสเป็นต้นอันอาศัยเรือน.
               บทว่า มุณฺโฑ ความว่า เข้าถึงซึ่งความเป็นคนโล้น คือเป็นผู้ปลงผมและหนวด.
               บทว่า วิรูโป ความว่า เป็นผู้ผิดรูป คือเข้าถึงความเป็นผู้มีรูปต่างกัน เพราะเป็นคนโล้นนั้น เพราะมีขนรกรุงรัง เพราะมีผ้ากาสายะถูกทำลาย.
               บทว่า อภิสาปมาคโต ความว่า เข้าถึงการถูกสาปแช่งอย่างยิ่ง อันพระอริยเจ้าทั้งหลายควรกระทำว่า ผู้มีก้อนข้าวมีบาตรอยู่ในมือเที่ยวไป.
               สมจริงดังคำที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านเป็นผู้มีก้อนข้าว มีบาตรในมือเที่ยวไปในโลก นี้เป็นผู้ถูกสาปแช่ง ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ท่านเป็นเหมือนมีกระเบื้องในมือ เที่ยวขอในตระกูล.
               บทว่า ยุญฺชสฺสุ สตฺถุวจเน ความว่า จงกระทำการประกอบ คือจงประกอบเนืองๆ ในโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า สุสํวุตตฺโต ความว่า ผู้สำรวมโดยชอบแล้ว ด้วยกาย วาจาและจิตด้วยดี.
               บทว่า วิสิขนฺตเร จรํ ความว่า เที่ยวไปอยู่ในตรอกพิเศษเพื่อภิกขาจาร.
               บทว่า จนฺโท ยถา โทสินปุณฺณมาสิยา มีวาจาประกอบความว่า จงเที่ยวไปเหมือนพระจันทร์เพ็ญปราศจากโทษ ใหม่อยู่เป็นนิจในตระกูลน่าเลื่อมใส.
               บทว่า สทา ธุเต รโต ความว่า ยินดียิ่งในธุดงคคุณตลอดกาลทั้งสิ้น.
               บทว่า ตถูปมํ จิตฺตมิทํ กโรสิ ความว่า บุรุษบางคนปรารถนาผลไม้ ปลูกต้นไม้มีผล พอได้ผลจากต้นไม้นั้น ก็ปรารถนาจะตัดต้นไม้นั้นแต่รากฉันใด ดูก่อนจิต ท่านจงกระทำข้อนี้ให้เหมือนกับบุรุษนั้น คือให้มีส่วนเปรียบกับต้นไม้นั้นฉันนั้น.
               บทว่า ยํ มํ อนิจฺจมฺหิ จเล นิยุญฺชสิ ความว่า ท่านประกอบเราใดไว้ในบรรพชา แล้วประกอบผลแห่งการบรรพชาที่เป็นไปตลอดกาลนาน ในความไม่เที่ยง ในความหวั่นไหว ในปากทางแห่งสงสาร คือให้เป็นไปด้วยอำนาจการประกอบไว้.
               ชื่อว่า อรูป เพราะไม่มีรูป.
               จริงอยู่ สัณฐานเช่นนั้น หรือประเภทแห่งสีมีสีเขียวเป็นต้น ย่อมไม่มีแก่จิต เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าไม่มีรูป.
               ชื่อว่า ทูรงฺคม เที่ยวไปในที่ไกลเพราะเป็นไปในที่ไกล. แม้ถ้าว่า ชื่อว่าการไปของจิต โดยส่วนแห่งทิศมีทิศตะวันออกเป็นต้น แม้เพียงใยแมงมุม ย่อมไม่มีแก่จิตนั้น แต่ย่อมรับอารมณ์ที่มีอยู่ในที่ไกล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทูรงฺคม เที่ยวไปในที่ไกล.
               ท่านเป็นผู้ๆ เดียวเท่านั้น ชื่อว่า เอกจารี ผู้ๆ เดียวเที่ยวไป เพราะเป็นไปด้วยอำนาจเป็นผู้ผู้เดียวเท่านั้นเที่ยวไป. โดยที่สุดจิตทั้ง ๒-๓ ดวง ชื่อว่าสามารถเพื่อจะเกิดขึ้นพร้อมกันย่อมไม่มี แต่จิตดวงเดียวเท่านั้น ย่อมเกิดขึ้นในสันดานเดียวกัน เมื่อจิตนั้นดับแล้วย่อมเกิดขึ้นดวงเดียวเท่านั้นแม้อีก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าดวงเดียวเที่ยวไป.
               บทว่า น เต กริสฺสํ วจนํ อิทานิหํ ความว่า แม้ถ้าเป็นไปในอำนาจของท่านในกาลก่อนไซร้ ก็บัดนี้ เราจักไม่เป็นไปในอำนาจแห่งจิต จำเดิมแต่กาลที่เราได้โอวาทของพระศาสดาแล้ว.
               หากมีคำถามสอดเข้ามาว่า เพราะเหตุไร?
               เฉลยว่า เพราะกามทั้งหลายเป็นทุกข์ มีภัยมาก ชื่อว่ากามเหล่านี้เป็นทุกข์ทั้งในอดีต มีผลดุจหนามแม้ในอนาคต ชื่อว่ามีภัยใหญ่หลวง เพราะติดตามด้วยภัยใหญ่ต่างด้วยมีการติเตียนตนเป็นต้น เราจักมีใจมุ่งสู่พระนิพพานเท่านั้นเที่ยวไป เพราะฉะนั้น เราจึงมีจิตมุ่งเฉพาะพระนิพพานเท่านั้นอยู่.
               เมื่อจะแสดงความที่เรามีใจมุ่งสู่พระนิพพานนั้นเท่านั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เราไม่ได้ออกบวชเพราะหมดบุญ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาหํ อลกฺขยา มีวาจาประกอบความว่า เราไม่ได้ออกจากเรือนเพราะหมดบุญ คือเพราะหมดสิริ.
               บทว่า อหิริกฺกตาย ความว่า เพราะไม่มีความละอาย เหมือนกระทำการเยาะเย้ยตามที่มีโทษ.
               บทว่า จิตฺตเหตุ ความว่า บางคราวเป็นนิครนถ์ บางคราวเป็นปริพาชกเป็นต้น เป็นผู้เป็นไปในอำนาจแห่งจิต เหมือนบุรุษมีจิตไม่ตั้งมั่นฉะนั้น.
               บทว่า ทูรกนฺตนา ความว่า เพราะได้รับเมตตาจากพระราชาเป็นต้นแล้ว มีจิตคิดประทุษร้ายในพระราชาเป็นต้นนั้น.
               บทว่า อาชีวเหตุ ความว่า เพราะเหตุแห่งอาชีพ เราเป็นผู้มีอาชีวะเป็นปกติ ไม่ได้ออกบวชเพราะภัยจากอาชีวะ.
               ด้วยบทว่า กโต จ เต จิตฺต ปฏิสฺสโว มยา นี้ ท่านแสดงว่า ดูก่อนจิต ท่านได้กระทำการรับรองไว้กับเราแล้วมิใช่หรือว่า เราจะอยู่ในอำนาจของท่านจำเดิมแต่กาลบวชแล้ว.
               บทว่า อปฺปิจฺฉตา สปฺปุริเสหิ วณฺณิตา ความว่า ชื่อว่าความเป็นผู้มักน้อยในปัจจัยทั้งหลายโดยประการทั้งปวง บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญว่า เป็นความดี.
               อนึ่ง การละความลบหลู่คือการละความลบหลู่คุณของคนเหล่าอื่น การเข้าไปสงบคือการเข้าไปสงบทุกข์ทั้งปวง ได้แก่การให้บรรลุพระนิพพานอันสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว.
               อธิบายว่า ดูก่อนจิต ท่านได้แนะนำเราไว้ในครั้งนั้นดังกล่าวมาแล้วคือ ดูก่อนจิต ท่านได้แนะนำเราไว้ในครั้งนั้นว่า สหาย ท่านพึงปฏิบัติในคุณเหล่านั้น บัดนี้ท่านจะเดินตามข้อที่เคยประพฤติมา คือบัดนี้ ท่านจะละเราปฏิบัติความมักมากเป็นต้น ที่ตนเคยประพฤติมา, นี้อย่างไรกัน?
               ท่านหมายเอาเรื่องใดจึงกล่าวว่า ท่านจะดำเนินตามข้อที่เคยประพฤติมา. เพื่อแสดงเรื่องนั้นจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ตณฺหา อวิชฺชา จ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตณฺหา ได้แก่ ตัณหาในปัจจัยทั้งหลาย.
               บทว่า อวิชฺชา ได้แก่ อวิชชามีการปกปิดโทษเป็นต้นในเรื่องนั้นนั่นแล.
               บทว่า ปิยาปิยํ ความว่า ความที่สัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก กล่าวคือความรักในบุตรและภรรยาเป็นต้น และความที่สัตว์และสังขารอันไม่เป็นที่รัก กล่าวคือความไม่ยินดีในเสนาสนะอันสงัด คือในกุศลธรรมอันยิ่ง มีความยินดีและยินร้ายในสองอย่างนั้น.
               บทว่า สุภานิ รูปานิ ได้แก่ รูปงามทั้งภายในและภายนอก
               บทว่า สุขา เวทนา ได้แก่ สุขเวทนาอาศัยอิฏฐารมณ์เกิดขึ้น.
               บทว่า มนาปิยา กามคุณา ได้แก่ ส่วนแห่งกามคุณอันน่ารื่นรมย์ใจ ที่เหลือดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า วนฺตา ความว่า ชื่อว่า อันเราคายแล้ว เพราะละด้วยการข่มไว้ ทิ้งและสละฉันทราคะอันอาศัยอารมณ์จากที่ไม่มีรูป.
               ด้วยบทว่า วนฺเต อหํ อาวมิตุํ น อุสฺสเห ท่านกล่าวว่า เราไม่สามารถจะจับต้องกามคุณเหล่านั้นที่เราละเสียแล้วอีกด้วยอาการอย่างนี้ คือเป็นธรรมชาติอันสละเสียแล้วนั่นแล.
               บทว่า สพฺพตฺถ ได้แก่ ในภพทั้งปวง ในกำเนิดทั้งปวง ในคติทั้งปวงและในวิญญาณฐิติทั้งปวง.
               บทว่า วโจ กตํ มยา ความว่า ดูก่อนจิตผู้เจริญ เราได้ทำตามคำของท่านแล้ว.
               เมื่อจะทำอธิบาย บทว่า พหูสุ ชาติสุ น เมสิ โกปิโต ความว่า ก็เมื่อเราไม่ได้โกรธเคืองท่านในชาติเป็นอันมาก. เราเองมิได้ดูหมิ่นท่าน
               อนึ่ง ความเกิดในภายในแม้เกิดในตน เมื่อท่านกระทำเราให้ท่องเที่ยวไปในทุกข์สิ้นกาลนาน เพราะท่านเป็นผู้ไม่กตัญญู เพราะฉะนั้น เราจึงเที่ยวเร่ร่อนไปในสังสารทุกข์ตลอดกาลนาน อันหาเบื้องต้นและที่สุด รู้ไม่ได้ที่ตนบังเกิด.
               บัดนี้ เมื่อจะแสดงความที่กล่าวแล้วโดยสังเขปว่า ท่านกระทำให้เราท่องเที่ยวไปในทุกข์ตลอดกาลนาน และโดยพิสดารด้วยประเภทแห่งการอุบัติ และโดยประเภทแห่งคติ จึงกล่าวว่า ตวญฺเญว ดังนี้เป็นต้น
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราชทสิ ตัดเป็น ราชา อสิ อักษรทำการเชื่อมบท. มีวาจาประกอบความว่า เราเป็นแพศย์และศูทรนั้นก็เนื่องในกาลบางคราว เพราะเหตุแห่งท่านนั่นเอง.
               บทว่า เทวตฺตนํ วาปิ มีวาจาประกอบความว่า ดูก่อนจิต ท่านเท่านั้นทำให้เราเป็นเทวดา.
               บทว่า วาหสา แปลว่า เพราะความเป็นเหตุ.
               บทว่า ตเวว เหตุ ความว่า เพราะเหตุแห่งท่านนั้นเอง.
               บทว่า ตฺวํมูลกํ แปลว่า มีท่านเป็นนิมิต.
               บทว่า นนุ ทุพฺภิสฺสสิ มํ ปุนปฺปุนํ ความว่า ท่านประทุษร้ายบ่อยๆ มิใช่หรือ? ดูก่อนจิต เมื่อก่อนคือในอนันตชาติ ท่านเป็นมิตรเทียม คือเป็นข้าศึก ประทุษร้ายเราบ่อยๆ ฉันใด บัดนี้ เห็นจักประทุษร้ายฉันนั้น อธิบายว่า เราจักไม่ให้ท่านเที่ยวไปเหมือนในกาลก่อน.
               บทว่า มุหุํ มุหุํ จารณิกํว ทสฺสยํ ความว่า ใจดังจะให้เราเที่ยวไปเนืองๆ ลวงบุรุษให้เที่ยวไป ให้ภพนั้นๆ บ่อยๆ เหมือนควบคุมการเที่ยวไปให้สำเร็จ.
               บทว่า อุมฺมตฺตเกเนว มยา ปโลภสิ ความว่า ท่านเล่นกับเราเหมือนกับคนบ้า แสดงอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความประเล้าประโลมนั้นแล้วจึงประเล้าประโลม.
               บทว่า กิญฺจาปิ เต จิตฺต วิราธิตํ มยา อธิบายว่า ดูก่อนจิตผู้เจริญ อะไรที่เราทำความผิดพลาดให้แก่ท่าน ท่านจงบอกเรื่องนั้น.
               บทว่า อิทํ ปุเร จิตฺตํ ความว่า ธรรมดาว่าจิตนี้ เมื่อก่อนแต่นี้ ย่อมปรารถนาด้วยอาการอย่างใดมีความยินดีเป็นต้นในอารมณ์มีรูปเป็นต้น และความใคร่ของจิตนั้น ย่อมเกิดในอารมณ์ใด และความใคร่ เมื่อเที่ยวไปโดยประการที่ความสุขย่อมมีแก่จิตผู้เที่ยวไปตามอำนาจตามความปรารถนา ก็เที่ยวจาริกไปตามความสุขตลอดกาลนาน วันนี้เราจักข่มจิตนั้นด้วยโยนิโสมนสิการ เหมือนควาญช้างผู้ฉลาด กล่าวคือนายหัตถาจารย์ใช้ขอข่มช้างตัวซับมันผู้แตกปลอกฉะนั้น คือเราจะไม่ให้มันก้าวไปได้.
               บทว่า สตฺถา จ เม โลกมิมํ อธิฏฺฐหิ ความว่า พระศาสดาสัมพุทธเจ้าของเราทรงอธิษฐานด้วยพระญาณถึงขันธโลกโดยไม่มีส่วนเหลือฉะนี้, อธิษฐานกระไร? อธิษฐานโดยความไม่เที่ยง เพราะอรรถว่ามีแล้วกลับไม่มี โดยความไม่ยั่งยืน เพราะไม่มีความยั่งยืนคือถาวร แม้อย่างใด โดยความไม่มีสาระ เพราะไม่มีสุขเป็นสาระเป็นต้น.
               บทว่า ปกฺขนฺท มํ จิตฺต ชินสฺส สาสเน ความว่า ดูก่อนจิต เพราะเหตุนั้น ท่านจึงยังเราให้แล่นไป คือให้เข้าไปในศาสนาของพระชินะผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อปฏิบัติตามความเป็นจริง.
               บาลีว่า ปกฺขนฺทิมํ ดังนี้ก็มี ท่านจงแล่นไปสู่โลกในศาสนาของพระชินะเจ้าด้วยญาณ จงให้ข้ามตามความเป็นจริงและแม้แล่นไป คือเมื่อให้แล่นไปให้เป็นไปด้วยมรรคอันสัมปยุตด้วยวิปัสสนาญาณ จงให้เราข้ามจากโอฆะใหญ่คือสงสารที่ข้ามได้แสนยาก.
               บทว่า นเต อิทํ จิตฺต ยถา ปุราณกํ ความว่า ดูก่อนจิตผู้เจริญ เรือนคืออัตภาพนี้ ย่อมไม่มีแก่ท่าน เหมือนมีในกาลก่อน
               เพราะเหตุไร? เพราะเราจักไม่เป็นไปในอำนาจของท่านต่อไป.
               อธิบายว่า บัดนี้เราไม่ควรเพื่อจะเป็นไปในอำนาจของท่าน เพราะเหตุที่เราออกบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ และจำเดิมแต่กาลที่เราบวชแล้ว ชื่อว่าสมณะทั้งหลายผู้เช่นกับเราย่อมไม่มี เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความพินาศ เป็นสมณะโดยส่วนเดียวเท่านั้น.
               บทว่า นคา ได้แก่ ภูเขาทั้งปวงมีภูเขาสิเนรุและภูเขาหิมวันต์เป็นต้น.
               บทว่า สมุทฺทา ได้แก่ สมุทรทั้งปวง มีสมุทรที่ตั้งในทิศตะวันออกเป็นต้น และสมุทรเย็นเป็นต้น.
               บทว่า สริตา ได้แก่ แม่น้ำทั้งปวงมีแม่น้ำคงคาเป็นต้น.
               บทว่า วสุนฺธรา แปลว่า แผ่นดิน.
               บทว่า ทิสา จตสฺโส ได้แก่ ทิศทั้ง ๔ อันต่างด้วยทิศตะวันออกเป็นต้น.
               บทว่า วิทิสา ได้แก่ ทิศน้อยทั้ง ๔ มีทิศที่อยู่ระหว่างทิศตะวันออกและทิศทักษิณเป็นต้น
               บทว่า อโธ ความว่า ภายใต้จนถึงกองลมที่รองรับน้ำ
               บทว่า ทิวา ได้แก่ เทวโลก. ก็ด้วย ทิวา ศัพท์ ในบทว่า ทิวา นี้ ท่านกล่าวหมายเอาสัตว์และสังขารที่อยู่ในที่นั้น.
               บทว่า สพฺเพ อนิจฺจา ติภวา อุปทฺทุตา อธิบายว่า ภพทั้ง ๓ มีกามภพเป็นต้นทั้งหมดเป็นของไม่เที่ยง ถูกทุกข์มีชาติทุกข์เป็นต้น และกิเลสมีราคะเป็นต้น ทำให้วุ่นวายและเบียดเบียน, ชื่อว่าสถานที่อันปลอดภัยอะไรๆ ในที่นี้ย่อมไม่มี ดูก่อนจิต เพราะไม่มีความปลอดภัยนั้น ท่านไปในที่ไหนจักรื่นรมย์เป็นสุข เพราะฉะนั้น ท่านจงแสวงหาที่สลัดออกจากชาติทุกข์เป็นต้นนั้นในที่นี้.
               บทว่า ธิติปฺปรํ ความว่า ดูก่อนจิต เบื้องหน้าแต่จิตของเราตั้งมั่นแล้ว ท่านจักทำอะไรแก่เราผู้ตั้งอยู่ในความมั่นคง ท่านไม่สามารถจักทำให้เราหวั่นไหวแม้น้อยหนึ่ง จากอารมณ์อันเป็นทุกข์นั้นได้.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ดูก่อนจิต เราไม่ควรเพื่อจะเป็นไปในอำนาจของท่าน บัดนี้เมื่อจะแสดงความนั้นให้ปรากฏชัด ท่านจึงกล่าวว่า บุคคลไม่ควรถูกต้องไถ้สองปาก คือร่างกายอันเต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีช่อง ๙ แห่งเป็นที่ไหลออก น่าติเตียน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภสฺตํ ได้แก่ ถุงหนัง.
               บทว่า อุภโตมุขํ ได้แก่ ปากสองข้างแห่งไถ้.
               บทว่า น ชาตุ ฉุเป ความว่า บุคคลไม่พึงถูกต้องแม้ด้วยเท้าโดยส่วนเดียว.
               อนึ่ง บทว่า ธิรตฺถุ ปุรํ นวโสตสนฺทนึ ความว่า ซึ่งร่างกายอันเต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ เป็นที่ไหลออกแห่งของอันไม่สะอาดจากช่องคือจากปากแผลทั้ง ๙ น่าติเตียนเวจกุฏินั้น คือน่าครหาเวจกุฏินั้น.
               ครั้นโอวาทจิตด้วยอำนาจข่มด้วยคาถา ๒๘ คาถาอย่างนี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะให้ร่าเริง ด้วยการบอกสถานที่อันวิเวกเป็นต้นจึงกล่าวคำมีอาทิว่า วราหเอเณยฺยวิคาฬฺหเสวิเต ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วราหเอเณยฺยวิคาฬฺหเสวิเต อันหมูและเนื้อทรายหยั่งลงเสพแล้ว.
               บทว่า ปพฺภารกุฏฺเฏ ได้แก่ ที่เงื้อมเขาและบนยอดเขา.
               บทว่า ปกเตว สุนฺทเร ความว่า อันสวยงามตามธรรมชาติ พึงได้รื่นรมย์ใจไม่อิ่ม. อีกอย่างหนึ่ง บาลีว่า ปกติ วสุนฺธเร ในแผ่นดินตามธรรมชาติ. อธิบายว่า ในภูมิประเทศตามปกติ.
               บทว่า นวมฺพุนา ปาวุสสิตฺตกานเน ความว่า ในป่าที่ฝนตกใหม่ๆ.
               บทว่า ตหึ คุหาเคหคโต รมิสฺสสิ ความว่า ท่านเข้าไปสู่เรือน คือถ้ำ ณ เชิงบรรพตนั้น จักรื่นรมย์ใจอย่างยิ่งด้วยความยินดีในภาวนา
               บทว่า เต ตํ รเมสฺสนฺติ ความว่า สัตว์เหล่านั้นมีนกยูงเป็นต้นให้เกิดความสำคัญในป่า จักรื่นรมย์ป่านั้น.
               บทว่า วุฏฺฐมฺหิ เทเว ความว่า เมื่อฝนตกใหม่ๆ.
               บทว่า จตุรงฺคุเล ติเณ ความว่า เมื่อฝนตกและหญ้างอกงามยาวประมาณ ๔ นิ้ว เช่นกับผ้ากัมพลมีสีแดงจัดในที่นั้นๆ.
               บทว่า สํปุปฺผิเต เมฆนิภมฺหิ กานเน ความว่า หมู่ไม้คล้ายกับเมฆฝนบานสะพรั่งทีเดียว.
               บทว่า นคนฺตเร ได้แก่ ในระหว่างภูเขา.
               บทว่า วิฏปิสโม สยิสฺสํ ความว่า เป็นผู้เช่นกับต้นไม้ไม่มีอะไรปกคลุมนอนอยู่.
               บทว่า ตํ เม มุทู เหหิติ ตูลสนฺนิภํ ความว่า เครื่องลาดหญ้านั้นอ่อนนุ่ม มีสัมผัสสบาย งดงามเหมือนปุยนุ่น จักเป็นที่นอนของเรา.
               บทว่า ตถา ตุ กสฺสามิ ยถาปิ อิสฺสโร ความว่า บุรุษผู้เป็นใหญ่บางคนให้ทาสเป็นต้นผู้ทำตามคำของตน ให้เป็นไปในอำนาจฉันใด ดูก่อนจิต แม้เราก็ฉันนั้น จักกระทำจิตนั้นให้เหมือนอย่างนั้นจะให้อยู่ในอำนาจของเราเท่านั้น. อย่างไร? คือสิ่งใดที่เราได้ แม้สิ่งนั้นจงควรแก่เรา.
               อธิบายว่า ในปัจจัย ๔ เราได้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถึงสิ่งนั้นก็จงควร คือจงสำเร็จแก่เรา.
               ด้วยคำนั้นท่านจึงแสดงว่า
               สัตว์บางพวกในโลกนี้ย่อมเป็นไปในอำนาจแห่งจิต เพราะเหตุให้เกิดตัณหา แต่เราเว้นการเกิดตัณหาให้ห่างไกล ทำจิตให้เหมือนทาสให้เป็นไปในอำนาจแห่งตน.
               บทว่า น ตาหํ กสฺสามิ ยถา อตนฺทิโต พิฬารภสฺตํว ยถา สุมทฺทิตํ ความว่า
               ดูก่อนจิต ความเกียจคร้านย่อมจับต้องจิตอีก เพราะเหตุเว้นการเกิดตัณหา ใครๆ แม้อื่นผู้ไม่เกียจคร้าน ย่อมทำจิตของตนให้ควรแก่การงาน คือให้เหมาะแก่การงานด้วยภาวนา โดยการประกอบสัมมัปธานฉันใด ดูก่อนจิต แม้เราก็ฉันนั้น กระทำจิตนั้นให้ควรแก่การงาน คือให้เหมาะแก่การงาน ได้แก่ให้เป็นไปในอำนาจแห่งตน.
               เปรียบเหมือนอะไร? เหมือนบุคคลเลื่อนถุงใส่แมวฉะนั้น.
               ศัพท์ว่า เป็นเพียงนิบาต.
               ถุงใส่แมวที่บุคคลเลื่อนดีแล้ว ย่อมควรแก่การงาน คือแก่การงานและเป็นอันคุ้มครองได้โดยสะดวกฉันใด เราจักกระทำจิตให้เป็นฉันนั้น.
               บทว่า วิริเยน ตํ มยฺห วสฺสานยิสฺสํ ความว่า ดูก่อนจิตผู้เจริญ เราจักยังกำลังแห่งภาวนาให้เกิดด้วยความเพียรของตน แล้วจักนำเธอมาสู่อำนาจของเราด้วยความเพียรนั้น.
               บทว่า คชํว มตฺตํ กุสลงฺกุสคฺคโห ความว่า เหมือนนายหัตถาจารย์ผู้ฉลาดเฉียบแหลม นำช้างตัวซับมันมาสู่อำนาจของตน ด้วยกำลังแห่งการศึกษาของตน อธิบายว่าเหมือนกันนั่นแหละ.
               ศัพท์ว่า หิ ในบทว่า ตยา สุทนฺเตน อวฏฺฐิเตน หิ นี้เป็นเพียงนิบาต ความว่า ดูก่อนจิต ท่านผู้ฝึกด้วยดีด้วยสมถะและวิปัสสนาภาวนา.
               ชื่อว่าตั้งมั่นแล้ว เพราะดำเนินตามวิปัสสนาวิถี โดยชอบแท้เพราะเหตุนั้นแล.
               บทว่า หเยน โยคฺคาจริโยว อุชฺชุนา ความว่า นายอัสสาจารย์ผู้ประกอบด้วยวิชาฝึกม้าที่ให้ตรงไม่โกง เพราะตนฝึกดีแล้วสามารถเพื่อดำเนินไปจากที่ไม่ปลอดภัยสู่ที่อันปลอดภัยฉันใด เราก็สามารถเพื่อดำเนินไปสู่ที่ปลอดภัยฉันนั้น.
               อธิบายว่า ชื่อว่าที่ปลอดภัย เพราะไม่มีกิเลสอันกระทำความไม่ปลอดภัย.
               บทว่า จิตฺตานุรกฺขีหิ ความว่า เราอาจ คือสามารถเพื่อดำเนินตาม คือเพื่อบรรลุอริยมรรค อันบัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเสพแล้วตลอดกาลทั้งสิ้น ด้วยศีลเป็นเครื่องตามรักษาจิตของตน.
               บทว่า อารมฺมเณ ตํ พลสา นิพนฺธิสํ นาคํว ถมฺภมฺหิ ทฬฺหาย รชฺชุยา ความว่า ดูก่อนจิต เราจะผูกจิตไว้ในอารมณ์กรรมฐานด้วยกำลังภาวนา เหมือนนายหัตถาจารย์มัดช้างใหญ่ไว้ที่เสาตะลุง ด้วยเชือกอันมั่นคงฉะนั้น.
               บทว่า ตํ เม สุคุตฺตํ สติยา สุภาวิตํ ความว่า ดูก่อนจิต ท่านนั้นเป็นผู้อันสติของเราคุ้มครองดีแล้ว และอบรมดีแล้ว.
               บทว่า อนิสฺสิตํ สพฺพภเวสุ เหหิสิ ความว่า ท่านจักเป็นผู้อันความประพฤติที่นอนเนื่องในสันดานมีตัณหาเป็นต้น ในภพทั้งหมดมีกามภพเป็นต้นไม่อาศัยแล้ว ด้วยกำลังอริยมรรคภาวนา.
               บทว่า ปญฺญาย เฉตฺวา วิปถานุสารินํ ความว่า ท่านจงตัดทางดำเนินที่ผิด คือที่เกิดแห่งอายตนะ คือจงตัดทางเป็นที่ไหลออกแห่งกิเลส คือทางดิ้นรนแห่งกิเลส อันเป็นเหตุให้เดินทางผิดตามความเป็นจริง แล้วทำการป้องกันด้วยอำนาจตัดกระแสตัณหา ด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาอันเป็นที่เข้าไปอาศัยอินทรียสังวร.
               บทว่า โยเคน นิคฺคยฺห ความว่า ข่มใจแล้วด้วยการทำลายด้วยความสามารถคือด้วยความเพียรกล่าวคือวิปัสสนาภาวนา.
               บทว่า ปเถ นิเวสิยา ความว่า ส่งใจคือให้ตั้งอยู่ในวิปัสสนาวิถี.
               อนึ่ง ในกาลใดวิปัสสนาอันตนพยายามให้เกิดขึ้น ย่อมสืบต่อด้วยมรรค เมื่อนั้นท่านจักเห็นความเสื่อมและความเจริญแห่งความเกิดขึ้นแห่งอายตนะ โดยความไม่หลงโดยประการทั้งปวง ด้วยการแสดงไขว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา จักเป็นทายาทคือเป็นโอรสของผู้มีวาทะอันเลิศในโลกพร้อมด้วยเทวโลก คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า จตุพฺพิปลฺลาสวสํ อธิฏฺฐิตํ ความว่า ได้นำเราให้ตั้งมั่น คือให้เป็นไปตามอำนาจของความเข้าใจผิด ๔ ประการนี้ คือในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่มิใช่ตนว่าเป็นตน ดังนี้.
               บทว่า คามณฺฑลํว ปริเนสิ จิตฺต มํ ความว่า ดูก่อนจิตผู้เจริญ ท่านฉุดคร่าเราไปเหมือนเด็กชาวบ้าน คือฉุดคร่าให้หมุนไปจากที่โน้นและที่นี้.
               บทว่า นนุ สํโยชนพนฺธนจฺฉิทํ ความว่า ท่านคบหาพระมหามุนีคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยกรุณา ผู้ตัดเครื่องผูก ๑๐ อย่างกล่าวคือสังโยชน์แน่ ย่อมสรรเสริญพระศาสดาด้วยการประกอบด้วยความสรรเสริญว่า ท่านเว้นผู้มีอานุภาพมากเห็นปานนี้ แต่แสวงหาท่านผู้มีตบะเห็นตามความชอบใจ.
               บทว่า มิโค ยถา ความว่า เหมือนมฤคชาติพอใจมีอำนาจเอง ย่อมยินดีด้วยความใคร่ในที่ไม่อากูล อันวิจิตรตระการด้วยดี ด้วยต้นไม้ กอไม้และเถาวัลย์เป็นต้น.
               บทว่า รมฺมํ คิรึ ปาวุสอพฺภมาลินึ ความว่า เราได้ภูเขาอันน่ารื่นรมย์ใจ เพราะสงัดจากหมู่ชนและเป็นที่รื่นรมย์ใจ ชื่อว่ามีพวงมาลัยดุจกลุ่มเมฆ เพราะประกอบด้วยดอกไม้ทั้งบนบกและในน้ำ โดยรอบในฤดูฝนอย่างนี้ จักยินดีภูเขานั้น ดูก่อนจิต ท่านจักเสื่อมโดยส่วนเดียว.
               อธิบายว่า จักตั้งอยู่ด้วยความวอดวายในสงสาร.
               ด้วยบทว่า เย ตุยฺห ฉนฺเทน วเสน วตฺติโน ท่านกล่าวหมายเอาปุถุชนทั้งปวง โดยความเป็นผู้เสมอกับจิต.
               คำนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้
               ดูก่อนจิตผู้เจริญ นระและนารีทั้งหลายตั้งอยู่ด้วยความพอใจ คือด้วยอำนาจความชอบใจของท่าน ย่อมเสวยจักประสบความสุขอันอาศัยเรือนใด คนเหล่านั้นเป็นคนโง่ อันธพาล เป็นไปในอำนาจแห่งมาร คือมีปกติเป็นไปในอำนาจแห่งกิเลสมารเป็นต้น เพลิดเพลินในภพเพราะเพลิดเพลินในกามภพเท่านั้น สาวกของท่านกระทำตามคำพร่ำสอน ส่วนพวกเราเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่เป็นไปในอำนาจของท่าน.
               เมื่อก่อนพระเถระจำแนกโยนิโสมนสิการ อันเป็นไปด้วยอำนาจการข่มจิตโดยประการต่างๆ แสดงธรรมด้วยอำนาจให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในที่ใกล้.
               ก็ในที่นี้คำใดที่ท่านไม่ได้จำแนกไว้โดยอรรถในระหว่างๆ คำนั้นมีอรรถง่ายทั้งนั้น เพราะมีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังแล.


               จบอรรถกถาตาลปุฏเถรคาถาที่ ๑               
               จบอรรถกถาเถรคาถา ปัญญาสนิบาต               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ปัญญาสนิบาต ๑. ตาลปุฏเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 398อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 399อ่านอรรถกถา 26 / 400อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8303&Z=8477
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=11694
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=11694
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :