ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 400อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 401อ่านอรรถกถา 26 / 402อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สัฏฐิกนิบาต
๑. วังคีสเถรคาถา

               อรรถกถาเถรคาถา มหานิบาต               
               อรรถกถาวังคีสเถรคาถาที่ ๑               
               ในสัตตตินิบาต๑- คาถาของท่านพระวังคีสเถระ มีคำเริ่มต้นว่า นิกฺขนฺตํ วต มํ สนฺตํ ดังนี้.
____________________________
๑- บาลีเป็นมหานิบาต.

               เรื่องนี้มีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า พระเถระนี้บังเกิดในตระกูลมีโภคะมาก ในนครหังสวดี ไปวิหารฟังธรรม โดยนัยอันมีในก่อนนั่นแล ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งผู้เลิศแห่งภิกษุผู้มีปฏิภาณ จึงกระทำกรรมคือบุญญาธิการแด่พระศาสดา แล้วกระทำความปรารถนาว่า แม้เราก็พึงเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปฏิภาณในอนาคตกาล อันพระศาสดาทรงพยากรณ์แล้ว กระทำกุศลจนตลอดชีวิต ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ในเมืองสาวัตถี ได้นามว่าวังคีสะ เรียนจบไตรเพท ได้ทำให้อาจารย์โปรดปรานแล้ว ศึกษามนต์ชื่อว่าฉวสีสะ เอาเล็บเคาะศีรษะศพ ย่อมรู้ได้ว่าสัตว์นี้บังเกิดในกำเนิดโน้น.
               พวกพราหมณ์รู้ว่าผู้นี้จะเป็นทางหาเลี้ยงชีพของพวกเรา จึงพาวังคีสะให้นั่งในยานพาหนะอันมิดชิด แล้วท่องเที่ยวไปยังคามนิคมและราชธานี.
               ฝ่ายวังคีสะก็ให้นำศีรษะแม้ของคนที่ตายไปแล้วถึง ๓ ปีมา เอาเล็บเคาะแล้วกล่าวว่า สัตว์นี้บังเกิดในกำเนิดโน้น เพื่อจะตัดความสงสัยของมหาชน จึงให้ไปพาเอาชนนั้นมาเล่าคติ คือความเป็นไปของตนๆ ด้วยเหตุนั้น มหาชนจึงพากันเลื่อมใสยิ่งในวังคีสะนั้น.
               วังคีสะนั้นอาศัยมนต์นั้นได้ทรัพย์ร้อยหนึ่งบ้าง พันหนึ่งบ้างจากมือของมหาชน. พราหมณ์ทั้งหลายพาวังคีสะเที่ยวไปตามชอบใจแล้ว ได้กลับมาเมืองสาวัตถีอีกตามเดิม.
               วังคีสะได้สดับพระคุณทั้งหลายของพระศาสดาได้มีความประสงค์จะเข้าเฝ้า. พวกพราหมณ์พากันห้ามว่า พระสมณโคดมจักทำท่านให้วนเวียนด้วยมายา.
               วังคีสะไม่สนใจคำของพวกพราหมณ์ จึงเข้าเฝ้าพระศาสดา กระทำปฏิสันถารแล้วนั่ง ณ ส่วนสุดข้างหนึ่ง.
               พระศาสดาตรัสถามวังคีสะว่า ท่านรู้ศิลปะบางอย่างไหม? วังคีสะทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้มนต์ชื่อฉวสีสะ, ด้วยมนต์นั้น ข้าพระองค์เอาเล็บเคาะศีรษะแม้ของคนที่ตายไปถึง ๓ ปีแล้วก็จักรู้ที่ที่เขาเกิด.
               พระศาสดาทรงแสดงศีรษะของผู้บังเกิดในนรกศีรษะหนึ่งแก่เขา ของผู้เกิดในมนุษย์ศีรษะหนึ่ง ของผู้เกิดในเทวโลกศีรษะหนึ่ง และของท่านผู้ปรินิพพานแล้วศีรษะหนึ่ง. วังคีสะนั้นเคาะศีรษะแรกแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สัตว์นี้บังเกิดในนรกพระเจ้าข้า.
               พระศาสดาตรัสว่า ถูกต้องวังคีสะ ท่านเห็นถูกต้อง จึงตรัสถาม (ศีรษะต่อไป) ว่า สัตว์นี้บังเกิดที่ไหน? เขาทูลตอบว่า บังเกิดในมนุษยโลก. ตรัสถามศีรษะต่อไปอีกว่า สัตว์นี้บังเกิดที่ไหน? เขาทูลตอบว่า บังเกิดในเทวโลก รวมความว่า เขาทูลบอกสถานที่ที่สัตว์แม้ทั้งหลายบังเกิดได้. แต่เขาเอาเล็บเคาะศีรษะของท่านผู้ปรินิพพานไม่เห็นเบื้องต้น ไม่เห็นที่สุดเลย.
               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามเขาว่า วังคีสะ ท่านไม่สามารถหรือ? เขากราบทูลว่า ข้าพระองค์ขอใคร่ครวญดูก่อน แม้จะร่ายมนต์ซ้ำๆ แล้วเคาะ จักรู้ได้อย่างไรถึงคติของพระขีณาสพด้วยการงานภายนอก ทีนั้น เหงื่อก็ไหลออกจากกระหม่อมของเขา เขาละอายใจจึงได้นิ่งอยู่.
               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามเขาว่า ลำบากไหม วังคีสะ.
               วังคีสะกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถจะรู้ที่ที่เกิดของท่านผู้นี้ ถ้าพระองค์ทรงทราบ โปรดตรัสบอก.
               พระศาสดาตรัสว่า วังคีสะ เรารู้ข้อนี้ด้วย ทั้งรู้ยิ่งไปกว่านี้ด้วย แล้วได้ตรัสคาถา ๒ คาถานี้ว่า
                         บุคคลใดรู้แจ้งจุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย โดย
               ประการทั้งปวง เรากล่าวบุคคลนั้นผู้ไม่ข้อง ผู้ไปดีแล้ว
               ผู้รู้แล้วว่า เป็นพราหมณ์.
                         เทวดา คนธรรพ์ และมนูษย์ทั้งหลาย ไม่รู้คติของ
               บุคคลใด เราเรียกบุคคลนั้นผู้หมดอาสวะ ผู้เป็นพระ
               อรหันต์ว่า เป็นพราหมณ์.
               วังคีสะกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอจงประทานวิชชานั้นแก่ข้าพระองค์ ดังนี้แล้วแสดงความยำเกรงนั่งอยู่ ณ ที่ใกล้พระศาสดา. พระศาสดาตรัสว่า เราให้แก่คนผู้มีเพศเหมือนกับเรา.
               วังคีสะคิดว่า เราควรจะกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเรียนเอามนต์นี้ จึงได้กล่าวกะพราหมณ์ทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลาย เมื่อข้าพเจ้าบวชก็อย่าเสียใจ ข้าพเจ้าเรียนเอามนต์นี้แล้ว จักเป็นผู้เจริญที่สุดในชมพูทวีปทั้งสิ้น แม้ท่านทั้งหลายก็จักเจริญได้เพราะมนต์นั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอบรรพชา เพื่อต้องการมนต์นั้น.
               ก็ในเวลานั้น ท่านพระนิโครธกัปปเถระได้อยู่ในที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า, พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสั่งพระนิโครธกัปปเถระว่า นิโครธกัปปะ เธอจงให้วังคีสะนั่นบวช. ท่านนิโครธกัปปะได้ให้วังคีสะนั้นบวชตามอาณัติของพระศาสดา.
               ลำดับนั้น พระศาสดาได้ตรัสว่า เธอจงเรียนบริวารของมนต์ก่อนแล้วจึงตรัสบอกทวัตติงสาการกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน แก่พระวังคีสะนั้น. พระวังคีสะนั้นสาธยายทวัตติงสาการอยู่แล จึงเริ่มตั้งวิปัสสนา. พวกพราหมณ์ได้พากันเข้าไปหาพระวังคีสะแล้วถามว่า ท่านวังคีสะผู้เจริญ ท่านได้ศึกษาศิลปะในสำนักของพระสมณโคดมแล้วหรือ. พระวังคีสะกล่าวว่า ประโยชน์อะไรด้วยการศึกษาศิลปะ พวกท่านไปเสียเถิด ข้าพเจ้าไม่มีกิจที่จะต้องทำกับพวกท่าน. พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวว่า บัดนี้ แม้ท่านก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของพระสมณโคดม งงงวยด้วยมายา พวกเราจักกระทำอะไรในสำนักของท่านดังนี้แล้ว พากันหลีกไปตามหนทางที่มาแล้วนั้นแล.
               พระวังคีสเถระเจริญวิปัสสนา ได้ทำให้แจ้งพระอรหัต.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ พระพิชิตมารพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้มีจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว พระศาสนาของพระองค์วิจิตรด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย เหมือนคลื่นในสาครและเหมือนดาวในท้องฟ้า. พระพิชิตมารผู้สูงสุด อันมนุษย์พร้อมทั้งทวยเทพ อสูรและนาคห้อมล้อม. ในท่ามกลางหมู่ชนซึ่งเกลื่อนกล่นไปด้วยสมณพราหมณ์ พระพิชิตมารผู้ถึงที่สุดโลก ทรงทำโลกทั้งหลายให้ยินดีด้วยพระรัศมี พระองค์ทรงยังดอกปทุม คือเวไนยสัตว์ให้เบิกบานด้วยพระดำรัส ทรงสมบูรณ์ด้วยเวสารัชธรรม ๔ เป็นอุดมบุรุษ ทรงละความกลัวและความยินดีได้เด็ดขาด ถึงซึ่งธรรม อันเกษม องอาจกล้าหาญ พระผู้เลิศโลกทรงปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโลกอันประเสริฐ และพุทธภูมิทั้งสิ้น ไม่มีใครจะทักท้วงได้ในฐานะไหนๆ
               เมื่อพระพุทธเจ้าผู้คงที่พระองค์นั้น บันลือสีหนาทอันน่ากลัว ย่อมไม่มีเทวดาและมนุษย์หรือพรหมบันลือตอบได้ พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้าในบริษัท ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ ช่วยมนุษย์พร้อมทั้งเทวดาให้ข้ามสังสาร ทรงประกาศพระธรรมจักร.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสรรเสริญคุณเป็นอันมากของพระสาวกผู้ได้รับสมมติดีว่า เลิศกว่าภิกษุผู้มีปฏิภาณทั้งหลาย แล้วทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอคทัคคะ.
               ครั้งนั้น เราเป็นพราหมณ์ชาวเมืองหังสวดีเป็นผู้ได้รับสมมติว่าเป็นคนดี รู้แจ้งพระเวททุกคัมภีร์ มีนามว่าวังคีสะ เป็นที่ไหลออกแห่งนักปราชญ์ เราเข้าไปเฝ้าพระมหาวีรเจ้าพระองค์นั้น สดับพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ได้ปีติอันประเสริฐ เป็นผู้ยินดีในคุณของพระสาวก จึงได้นิมนต์พระสุคตผู้ทำโลกให้เพลิดเพลิน พร้อมด้วยพระสงฆ์ ให้เสวยและฉัน ๗ วันแล้วนิมนต์ให้ครองผ้า
               ในครั้งนั้น เราได้หมอบกราบลงแทบพระบาททั้งสองด้วยเศียรเกล้า ได้โอกาสจึงยืนประนมอัญชลีอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เป็นผู้ร่าเริงกล่าวสดุดีพระชินเจ้าผู้สูงสุดว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นที่ไหลออกแห่งนักปราชญ์ ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นฤาษีสูงสุด ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เลิศกว่าโลกทั้งปวง ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ทำความไม่มีภัย ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์ผู้ทรงย่ำยีมาร ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงทำทิฏฐิให้ไหลออก ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงประทานสันติสุข ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์. ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงทำให้เป็นที่นับถือ ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์.
               พระองค์เป็นที่พึ่งของชนทั้งหลายผู้ไม่มีที่พึง ทรงประทานความไม่มีภัยแก่คนทั้งหลายผู้กลัว เป็นผู้ที่คุ้นเคยของคนทั้งหลาย ผู้มีภูมิธรรมสงบระงับ เป็นที่พึ่งที่ระลึกของคนทั้งหลาย ผู้แสวงหาที่พึ่งที่ระลึก เราได้ชมเชยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยคำกล่าวสดุดีมีอาทิอย่างนี้ แล้วได้กล่าวสรรเสริญพระคุณอันยิ่งใหญ่ จึงได้บรรลุคติของภิกษุผู้กล้ากว่านักพูด.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีปฏิภาณไม่มีที่สิ้นสุด ได้ตรัสว่า ผู้ใดเป็นผู้เลื่อมใส นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวกให้ฉันตลอด ๗ วัน ด้วยมือทั้งสองของตน และได้กล่าวสดุดีคุณของเรา แล้วได้ปรารถนาตำแหน่งแห่งภิกษุผู้กล้ากว่านักพูด ในอนาคตกาล ผู้นั้นจักได้ตำแหน่งนี้สมดังมโนรถความปรารถนา เขาจักได้เสวยทิพยสมบัติและมนุษยสมบัติ มีประมาณไม่น้อย.
               ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ไป พระศาสดามีพระนามว่าโคดม ซึ่งสมภพในวงศ์แห่งพระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้น พราหมณ์นี้จักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นโอรสอันธรรมนิรมิต จักเป็นสาวกของพระศาสดา มีนามว่าวังคีสะ.
               เราได้สดับพระพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว เป็นผู้มีจิตเบิกบาน มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระพิชิตมารด้วยปัจจัยทั้งหลายในกาลนั้นจนตราบเท่าสิ้นชีวิต เพราะกรรมที่ทำไว้ดีนั้น และเพราะการตั้งเจตน์จำนงไว้ เราละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์.
               ในภพสุดท้ายในบัดนี้ เราเกิดในสกุลปริพาชก เมื่อเราเกิดในครั้งหลัง มีอายุได้ ๗ ปีโดยกำเนิด เราได้เป็นผู้รู้เวททุกคัมภีร์ แกล้วกล้าในเวทศาสตร์ มีเสียงไพเราะ มีถ้อยคำวิจิตร ย่ำยีวาทะของผู้อื่นได้. เพราะเราเกิดที่วังคชนบท และเพราะเราเป็นใหญ่ในถ้อยคำ เราจึงชื่อว่าวังคีสะ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ชื่อของเราจะเป็นเลิศ ก็เป็นชื่อตามสมมติตามโลก.
               ในเวลาที่เรารู้เดียงสา ตั้งอยู่ในปฐมวัย เราได้พบพระสารีบุตรเถระ ในพระนครราชคฤห์อันรื่นรมย์ ท่านถือบาตร สำรวมดี ตาไม่ล่อกแล่ก พูดพอประมาณ แลดูชั่วแอก เที่ยวบิณฑบาตอยู่ ครั้นเราเห็นท่านแล้วก็เป็นผู้อัศจรรย์ใจ ได้กล่าวบทคาถาอันวิจิตร เป็นหมวดหมู่ เหมือนดอกกรรณิการ์เหมาะสม ท่านบอกแก่เราว่า พระสัมพุทธเจ้าผู้นำโลกเป็นศาสดาของท่าน.
               ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเถระผู้ฉลาด ผู้เป็นนักปราชญ์นั้น ได้พูดแก่เราเป็นอย่างดียิ่ง เราอันพระเถระผู้คงที่ ให้ยินดีด้วยปฏิภาณอันวิจิตร เพราะทำถ้อยคำที่ปฏิสังยุตด้วยวิราคธรรม เห็นได้ยาก สูงสุด จึงซบศีรษะลงแทบเท้าของท่าน แล้วกล่าวว่า ขอได้โปรดให้กระผมบรรพชาเถิด.
               ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรผู้มีปัญญามาก ได้นำเราไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด เราซบเศียรลงแทบพระบาทแล้ว นั่งลงในที่ใกล้พระศาสดา.
               พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่านักปราชญ์ทั้งหลาย ได้ตรัสถามเราว่า ดูก่อนวังคีสะ ท่านรู้ศีรษะของคนที่ตายไปแล้วว่า จะไปสุคติหรือทุคติ ด้วยวิชาพิเศษของท่าน จริงหรือ ถ้าท่านสามารถก็ขอให้ท่านบอกมาเถิด. เมื่อเราทูลรับแล้ว พระองค์ก็ทรงแสดงศีรษะ ๓ ศีรษะ เราได้กราบทูลว่า เป็นศีรษะของคนที่เกิดในนรกและเทวดา. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้นำของโลก ได้แสดงศีรษะของพระขีณาสพ.
               ลำดับนั้น เราหมดมานะจึงได้อ้อนวอนขอบรรพชา ครั้นบรรพชาแล้ว ได้กล่าวสดุดีพระสุคตเจ้าโดยไม่เลือกสถานที่ ทีนั้นแหละภิกษุทั้งหลายพากันโพนทะนาว่า เราเป็นจินตกวี.
               ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าผู้นำชั้นวิเศษได้ตรัสถามเราเพื่อทดลองว่า คาถาเหล่านี้ย่อมแจ่มแจ้งโดยควรแก่เหตุสำหรับคนทั้งหลายผู้ตรึกตรองแล้วมิใช่หรือ. เราทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ข้าพระองค์ไม่ใช่นักกาพย์กลอน แต่ว่าคาถาทั้งหลายแจ่มแจ้งโดยควรแก่เหตุสำหรับข้าพระองค์. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนวังคีสะ ถ้ากระนั้นท่านจงกล่าวสดุดีเรา โดยควรแก่เหตุในบัดนี้.
               ครั้งนั้น เราได้กล่าวคาถาสดุดีพระธีรเจ้าผู้เป็นพระฤาษีสูงสุด พระพิชิตมารทรงพอพระทัยในคราวนั้น จึงทรงตั้งเราไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เราดูหมิ่นภิกษุอื่นๆ ก็เพราะปฏิภาณอันวิจิตร เรามีศีลเป็นที่รัก จึงเกิดความสลดใจ เพราะเหตุนั้นจึงได้บรรลุพระอรหัต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ไม่มีใครอื่นที่จะเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปฏิภาณ เหมือนดังวังคีสะภิกษุนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงทรงจำไว้อย่างนี้.
               กรรมที่เราได้ทำไว้ในกัปที่แสน ได้แสดงผลแก่เราในอัตภาพนี้ เราหลุดพ้นจากกิเลส เหมือนลูกศรพ้นจากแล่งฉะนั้น เราเผากิเลสของเราได้แล้ว กิเลสทั้งหลายเราเผาเสียแล้ว ภพทั้งปวงเราถอนได้แล้ว เราตัดเครื่องผูกเหมือนช้างทำลายปลอก ไม่มีอาสวะอยู่. เราเป็นผู้มาดีแล้ว ในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ วิชชา ๓ เราบรรลุแล้วโดยลำดับ คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว. คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๑๓๔

               ก็พระเถระครั้นเป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา ได้สรรเสริญ (คุณ) พระศาสดาด้วยบทหลายร้อย เปรียบเทียบกับสิ่งนั้นๆ ตั้งแต่ตาเห็นได้ไป คือเปรียบด้วยพระจันทร์, พระอาทิตย์, อากาศ, มหาสมุทร, ขุนเขาสิเนรุ, พระยาสีหราชและพระยาช้าง แล้วจึงเข้าไปเฝ้า ด้วยเหตุนั้น พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางสงฆ์ จึงทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปฏิภาณ.
               ครั้งนั้น พระสังคีติกาจารย์ได้รวบรวมคาถานี้ที่พระเถระอาศัยความคิดนั้นๆ กล่าวไว้ในกาลก่อนและภายหลัง แต่การบรรลุพระอรหัต และที่พระอานันทเถระเป็นต้นกล่าวไว้เฉพาะพระเถระ แล้วยกขึ้นสังคายนา ความว่า
                         ความตรึกทั้งหลายกับความคะนองอย่างเลวทรามเหล่านี้
               ได้ครอบงำเราผู้ออกบวชเป็นบรรพชิต เหมือนกับบุตรของคน
               ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นนักแม่นธนูมาก ทั้งได้ศึกษาวิชาธนูศิลป์มาอย่าง
               เชี่ยวชาญ ตั้งพันคนยิงลูกธนูมารอบตัว ให้ศัตรูหนีไปไม่ได้
               ฉะนั้น.
                         ถึงแม้พวกหญิงจักมามากยิ่งกว่านี้ ก็จักทำการเบียดเบียน
               เราไม่ได้ เพราะเราได้ตั้งอยู่ในธรรมเสียแล้ว. ด้วยว่าเราได้สดับ
               ทางอันเป็นที่ให้ถึงนิพพานของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่ง
               พระอาทิตย์ อย่างชัดแจ้ง ใจของเราก็ยินดีในทางนั้น.
                         ดูก่อนมารผู้ชั่วร้าย ถ้าท่านยังเข้ามารุกรานเราผู้เป็นอยู่
               อย่างนี้ ท่านก็จะไม่ได้เห็นทางของเรา ตามที่เรากระทำไม่ให้
               ท่านเห็น.
                         ภิกษุควรละความไม่ยินดี ความยินดีและความตรึกอัน
               เกี่ยวกับบุตรและภรรยาเสียทั้งหมด ไม่ควรทำตัณหาดังป่าชัฏ
               ในที่ไหนๆ อีก เพราะผู้นั้นไม่มีตัณหาเพียงดังป่าชัฏ จึงชื่อว่า
               เป็นภิกษุ.
                         รูปอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งอาศัยแผ่นดินก็ดี อากาศก็ดี อยู่
               ใต้แผ่นดินก็ดี ทั้งหมดล้วนไม่เที่ยง ย่อมคร่ำคร่าไป ผู้แทงตลอด
               อย่างนี้แล้วย่อมเที่ยวไป เพราะเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว.
                         ปุถุชนทั้งหลายหมกมุ่นพัวพันอยู่ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่
               ได้ฟัง กลิ่นที่มากระทบ และอารมณ์ที่ได้ทราบ, ภิกษุควรเป็นผู้
               ไม่หวั่นไหว กำจัดความพอใจในเบญจกามคุณเหล่านี้เสีย เพราะ
               ผู้ใดไม่ติดอยู่ในเบญจกามคุณเหล่านี้ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้นั้น
               ว่าเป็นมุนี.
                         ทีนั้น มิจฉาทิฏฐิซึ่งอิงอาศัยทิฏฐิ ๖๐ ประการ เป็นไปกับ
               ด้วยความตรึกอันไม่เป็นธรรม จึงตั้งมั่นลงในความเป็นปุถุชน.
                         ในกาลไหนๆ ผู้ใดไม่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส ทั้งไม่
               กล่าวถ้อยคำหยาบคาย ผู้นั้นชื่อว่าเป็นมุนี. ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต
               มีจิตมั่นคงตลอดกาลนาน ไม่ลวงโลก มีปัญญารักษาตน ไม่มี
               ความทะเยอทะยานเป็นมุนี ได้บรรลุสันติบทแล้ว หวังคอยเวลา
               เฉพาะปรินิพพานเท่านั้น.
                         ดูก่อนท่านผู้สาวกของพระโคดม ท่านจงละทิ้งความเย่อ
               หยิ่งเสีย จงละทิ้งทางแห่งความเย่อหยิ่งให้หมดด้วย เพราะผู้
               หมกมุ่นอยู่ในทางแห่งความเย่อหยิ่ง จะต้องเดือดร้อนอยู่ตลอด
               กาลนาน. หมู่สัตว์ผู้มีความลบหลู่คุณท่าน ถูกมานะกำจัดแล้ว
               ย่อมตกนรก หมู่ชนถูกความทะนงตัวกำจัดแล้ว พากันตกนรก
               ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนาน.
                         ในกาลบางครั้ง ภิกษุผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ชนะกิเลสด้วยมรรค
               ย่อมไม่เศร้าโศก กลับจะได้เกียรติคุณและความสุข บัณฑิตทั้ง
               หลายเรียกภิกษุผู้ประพฤติชอบอย่างนั้นว่า เป็นผู้เห็นธรรม.
               เพราะเหตุนั้น ภิกษุในศาสนานี้ ไม่ควรมีกิเลสเครื่องตรึงใจ ควร
               มีแต่ความเพียรชอบ ละนิวรณ์แล้วเป็นผู้บริสุทธิ์ และละมานะ
               โดยไม่เหลือแล้ว เป็นผู้สงบระงับ บรรลุถึงที่สุดแห่งวิชชาได้.
                         ข้าพเจ้าเร่าร้อนเพราะกามราคะ และจิตใจของข้าพเจ้าก็
               เร่าร้อนเพราะกามราคะเหมือนกัน ดูก่อนท่านผู้สาวกพระโคดม
               ขอพระคุณจงกรุณาบอกธรรมเครื่องดับความเร่าร้อนด้วยเถิด.
                         จิตของท่านเร่าร้อนก็เพราะความสำคัญผิด เพราะฉะนั้น
               ท่านจงละสุภนิมิตอันประกอบด้วยราคะเสีย ท่านจงอบรมจิตให้
               มีอารมณ์เป็นอันเดียว ตั้งมั่นเด็ดเดี่ยวด้วยการพิจารณาสิ่งทั้ง
               ปวงว่าไม่สวยงาม จงอบรมกายคตาสติ จงเป็นผู้มากไปด้วยความ
               เบื่อหน่าย ท่านจงเจริญอนิมิตตานุปัสสนา (คืออนิจจานุปัสสนา)
               จงตัดอนุสัยคือมานะเสีย แต่นั้นท่านจักเป็นผู้สงบระงับเที่ยวไป
               เพราะละมานะได้.
                         บุคคลควรพูดแต่วาจาที่ไม่ทำตนให้เดือดร้อน อนึ่ง วาจา
               ใดไม่เบียดเบียนผู้อื่น วาจานั้นแลเป็นวาจาสุภาษิต บุคคลควร
               พูดแต่วาจาที่น่ารัก ทั้งเป็นวาจาที่ทำให้ร่าเริงได้ ไม่พึงยึดถือ
               วาจาที่ชั่วช้าของคนอื่น พึงกล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รัก.
                         คำสัตย์แลเป็นวาจาที่ไม่ตาย ธรรมนี้เป็นของเก่า สัตบุรุษ
               ทั้งหลายตั้งอยู่แล้วในคำสัตย์ ทั้งที่เป็นอรรถเป็นธรรม.
                         พระพุทธเจ้าตรัสพระวาจาใด เป็นพระวาจาปลอดภัย เป็น
               ไปเพื่อบรรลุนิพพาน และเพื่อทำที่สุดทุกข์ พระวาจานั้นแลเป็น
               พระวาจาสูงสุดกว่าวาจาทั้งปวง.
                         ท่านพระสารีบุตรมีปัญญาลึกซึ้ง เป็นนักปราชญ์ ฉลาด
               ในทางและมิใช่ทาง มีปัญญามาก แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย
               ย่อบ้าง พิสดารบ้าง เสียงของท่านผู้กำลังแสดงธรรมอยู่ ไพเราะ
               เหมือนกับเสียงนกสาริกา เปล่งขึ้นได้ชัดเจน รวดเร็วเหมือนกับ
               คลื่นในมหาสมุทร เมื่อท่านแสดงธรรมอยู่ด้วยเสียงอันน่ายินดี
               น่าสดับฟังไพเราะจับใจ ภิกษุทั้งหลายได้ฟังคำไพเราะ ก็มีใจ
               ร่าเริงเบิกบาน พากันตั้งใจฟัง.
                         ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำวันนี้ เป็นวันปวารณาวิสุทธิ์ ภิกษุ
               ประมาณ ๕๐๐ รูปมาประชุมกัน ล้วนแต่เป็นผู้ตัดเครื่องเกาะ
               เกี่ยวผูกพันเสียได้สิ้น ไม่มีความทุกข์ สิ้นภพ สิ้นชาติแล้ว
               เป็นผู้แสวงหาคุณธรรมอันประเสริฐทั้งนั้น
                         พระเจ้าจักรพรรดิมีหมู่อำมาตย์ห้อมล้อม เสด็จเลียบ
               แผ่นดินอันไพศาลนี้ มีมหาสมุทรเป็นขอบเขต ไปรอบๆ ได้
               ฉันใด พระสาวกทั้งหลาย ผู้มีวิชชา ๓ ละมัจจุราชได้แล้ว
               พากันเข้าไปห้อมล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ชนะสงครามแล้ว
               เป็นพระผู้นำชั้นเยี่ยมฉันนั้น พระสาวกทั้งมวลล้วนแต่เป็น
               พระชิโนรส ก็ในพระสาวกเหล่านี้ไม่มีความว่างเปล่าจากคุณ
               ธรรมเลย ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระองค์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์
               แห่งพระอาทิตย์ ผู้ทรงประหารลูกศรคือตัณหาได้แล้ว.
                         ภิกษุมากกว่าพันได้เข้าไปเฝ้าพระสุคตเจ้าผู้กำลังทรง
               แสดงธรรมอันปราศจากธุลี คือพระนิพพาน อันไม่มีภัยแต่ที่
               ไหนๆ ภิกษุทั้งหลายพากันตั้งใจฟังธรรมอันไม่มีมลทินที่
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
               อันหมู่ภิกษุห้อมล้อม เป็นสง่างามแท้หนอ.
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า นาคะผู้ประเสริฐ
               ทรงเป็นพระฤาษีผู้สูงสุดกว่าฤาษีทั้งหลาย ทรงโปรยฝนคือ
               อมฤตธรรมใดพระสาวกทั้งหลายคล้ายกับฝนห่าใหญ่ฉะนั้น.
                         ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า พระวังคีสะผู้สาวกของพระองค์
               ออกจากที่พักกลางวันมาถวายบังคมพระยุคลบาทอยู่ ด้วย
               ประสงค์จะเข้าเฝ้าพระองค์.
               พระศาสดาตรัสว่า
                         พระวังคีสะครอบงำทางแห่งกิเลสมารได้แล้ว ทั้งทำลาย
               กิเลสเครื่องตรึงใจได้แล้ว จึงเที่ยวไปอยู่ เธอทั้งหลายจงดูพระ
               วังคีสะผู้ปลดเปลื้องเครื่องผูกได้แล้ว ผู้อันตัณหามานะและ
               ทิฏฐิ ไม่อิงแอบแล้ว ทั้งจำแนกธรรมเป็นส่วนๆ ได้ด้วยนั้น
               เป็นตัวอย่างเถิด.
                         อันที่จริง พระวังคีสะได้บอกทางไว้หลายประการ เพื่อ
               ให้ข้ามห้วงน้ำคือกามเป็นต้น ก็ในเมื่อพระวังคีสะได้บอก
               ทางอันไม่ตายนั้นไว้ให้แล้ว
                         ภิกษุทั้งหลายผู้ได้ฟังแล้วก็ควรเป็นผู้ตั้งอยู่ในความ
               เป็นผู้เห็นธรรม ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรม
                         พระวังคีสะเป็นผู้ทำแสงสว่างให้เกิดขึ้น แทงตลอด
               แล้วซึ่งธรรมฐิติทั้งปวง แสดงธรรมอันเลิศตามกาลเวลาได้
               อย่างฉับพลัน เพราะรู้มาเองและเพราะทำให้แจ้งมาเอง
               เมื่อพระวังคีสะแสดงธรรมด้วยดีแล้วอย่างนี้ จะประมาท
               อะไรต่อธรรมของท่านผู้รู้แจ้งเล่า เพราะเหตุนั้นแหละ
               ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่ประมาทในคำสอนของพระผู้มีพระภาค
               เจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจศึกษาไตรสิกขา ในกาลทุกเมื่อเถิด.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สัฏฐิกนิบาต ๑. วังคีสเถรคาถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 400อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 401อ่านอรรถกถา 26 / 402อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8643&Z=8881
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=12997
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=12997
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :