ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 400อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 401อ่านอรรถกถา 26 / 402อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สัฏฐิกนิบาต
๑. วังคีสเถรคาถา

หน้าต่างที่ ๒ / ๔.

               พระวังคีสะกล่าวชมพระอัญญาโกณฑัญญะว่า
                         พระอัญญาโกณฑัญญเถระ เป็นผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธ
               เจ้า มีความเพียรอย่างแรงกล้า ได้วิเวกอันเป็นธรรมเครื่องอยู่
               เป็นสุขเป็นนิตย์
                         สิ่งใดที่พระสาวกผู้กระทำตามคำสอนของพระศาสดา
               จะพึงบรรลุ สิ่งนั้นทั้งหมด ท่านพระอัญญาโกณฑัญญูเถระ
               ไม่ประมาทศึกษาอยู่ ก็บรรลุตามได้แล้ว
                         ท่านพระอัญญาโกณฑัญญเถระมีอานุภาพมาก มีวิชชา
               ๓ ฉลาดในการรู้จิตของผู้อื่น เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า
               ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระบรมศาสดาอยู่.
               พระวังคีสะกล่าวชมพระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นต้นว่า
                         เชิญท่านดูพระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมปราชญ์ เสด็จถึงฝั่ง
               แห่งความทุกข์ กำลังประทับอยู่เหนือยอดเขากาลสิลา แห่ง
               อิสิคิลิบรรพต มีหมู่สาวกผู้มีวิชชา ๓ ละมัจจุราชได้แล้วนั่ง
               เฝ้าอยู่
                         พระมหาโมคคัลลานะผู้เรืองฤทธิ์ตามพิจารณาดูจิต
               ของภิกษุผู้มหาขีณาสพเหล่านั้นอยู่ ท่านก็กำหนดได้ว่าเป็น
               ดวงจิตที่หลุดพ้นแล้วไม่มีอุปธิ ด้วยใจของท่าน ด้วยประการ
               ฉะนี้ ภิกษุทั้งหลายจึงได้พากันห้อมล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า
               พระนามว่าโคดม ผู้ทรงสมบูรณ์ด้วยพระคุณธรรมทุกอย่าง
               ทรงเป็นจอมปราชญ์ เสด็จถึงฝั่งแห่งทุกข์ ทรงเต็มเปี่ยมด้วย
               พระอาการกิริยาเป็นอันมาก.
                         ข้าแต่พระมหามุนีอังคีรส พระองค์ไพโรจน์ล่วงโลกนี้
               กับทั้งเทวโลกทั้งปวง ด้วยพระยศ เหมือนกับพระจันทร์และ
               พระอาทิตย์ที่ปราศจากมลทิน สว่างจ้าอยู่บนท้องฟ้าอัน
               ปราศจากเมฆหมอกฉะนั้น.
                         เมื่อก่อน ข้าพระองค์รู้กาพย์กลอน เที่ยวไปบ้านโน้น
               เมืองนี้ แต่เดี๋ยวนี้ ข้าพระองค์ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าผู้ถึงฝั่ง
               แห่งธรรมทั้งปวง พระองค์ผู้เป็นพระมหามุนี ทรงถึงฝั่งแห่ง
               ทุกข์ ได้ทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ๆ ได้ฟังธรรมแล้วเกิด
               ความเลื่อมใสศรัทธา ข้าพระองค์ได้ฟังพระดำรัสของพระองค์
               แล้ว จึงรู้แจ้งขันธ์ อายตนะและธาตุได้แจ่มแจ้ง ได้ออกบวช
               เป็นบรรพชิต พระตถาคตเจ้าทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นมา เพื่อ
               ประโยชน์แก่สตรีและบุรุษเป็นอันมากผู้กระทำตามคำสอน
               ของพระองค์ พระองค์ผู้เป็นมุนี ได้บรรลุพระโพธิญาณเพื่อ
               ประโยชน์แก่ภิกษุและภิกษุณีเป็นอันมากหนอ ผู้ได้บรรลุ
               สัมมัตนิยาม พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
               มีจักษุทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับ
               ทุกข์และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อันให้ถึงความสงบ
               ระงับทุกข์ เพื่อทรงอนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลาย
                         อริยสัจธรรมเหล่านี้ พระองค์ทรงแสดงไว้แล้วอย่างไร
               ข้าพระองค์ก็เห็นแล้วเหมือนอย่างนั้น ข้าพระองค์บรรลุ
               ประโยชน์ของตนแล้ว กระทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
               เสร็จแล้ว การที่ข้าพระองค์ได้มาในสำนักของพระองค์ เป็น
               การมาดีของข้าพระองค์หนอ เพราะข้าพระองค์ได้เข้าถึง
               ธรรมอันประเสริฐในบรรดาธรรมที่พระองค์ทรงจำแนกไว้
               ดีแล้ว ข้าพระองค์ได้บรรลุถึงความสูงสุดแห่งอภิญญาแล้ว
               มีโสตธาตุอันหมดจด มีวิชชา ๓ ถึงความเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์
               เป็นผู้ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของคนอื่น.
                         ข้าพระองค์ขอทูลถามพระศาสดา ผู้มีพระปัญญาอัน
               ไม่ทรามว่า ภิกษุรูปใดมีจิตไม่ถูกมานะทำให้เร่าร้อน เป็น
               ผู้เรืองยศ ตรัสความสงสัยในธรรมที่ตนเห็นได้แล้ว ได้มรณ
               ภาพลง ณ อัคคาฬววิหาร ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุ
               รูปนั้นเป็นพราหมณ์โดยกำเนิด มีนามตามที่พระองค์ทรง
               ตั้งให้ว่า พระนิโครธกัปปเถระ ผู้มุ่งความหลุดพ้น ปรารภ
               ความเพียร เห็นธรรมอันมั่นคง ได้ถวายบังคมพระองค์แล้ว
                         ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะ ทรงมีพระจักษุรอบคอบ แม้
               ข้าพระองค์ทั้งปวงปรารถนาจะทราบพระสาวกองค์นั้น โสต
               ของข้าพระองค์ทั้งหลาย เตรียมพร้อมที่จะฟังพระดำรัสตอบ
               พระองค์เป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย พระองค์
               ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยม.
                         ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญากว้างขวาง ขอพระองค์
               ทรงตัดความเคลือบแคลงสงสัยของข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด
               และขอได้โปรดตรัสบอกพระนิโครธกัปปเถระ ผู้ปรินิพพาน
               แล้วนั้นแก่ข้าพระองค์ด้วย ข้าแต่พระองค์ผู้มีจักษุรอบคอบ
               ขอพระองค์ได้โปรดตรัสบอกในท่ามกลางแห่งข้าพระองค์ทั้ง
               หลายเถิด เหมือนท้าวสักกเทวราชผู้มีพระเนตรตั้งพันดวง
               ตรัสบอกแก่เทวดาทั้งหลายฉะนั้น กิเลสเครื่องร้อยรัดชนิด
               ใดชนิดหนึ่งในโลกนี้ ซึ่งเป็นทางก่อให้เกิดความหลงลืม
               เป็นฝ่ายแห่งความไม่รู้ เป็นมูลฐานแห่งความเคลือบแคลง
               สงสัย
                         กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่านั้น พอมาถึงพระตถาคตเจ้า
               ก็พินาศไป พระตถาคตเจ้าผู้มีพระจักษุนี้อันยิ่งกว่านรชน
               ทั้งหลาย ก็ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเป็นบุรุษชนิดที่ทรง
               ถือเอาแต่เพียงพระกำเนิดมาเท่านั้นไซร้ ก็จะไม่พึงทรง
               ประหารกิเลสทั้งหลายได้ คล้ายกับลมที่รำเพยพัดมาครั้ง
               เดียว ไม่อาจทำลายกลุ่มเมฆหมอกที่หนาได้ฉะนั้น โลก
               ทั้งปวงที่มืดอยู่แล้วก็จะยิ่งมืดหนักลง ถึงจะมีแสงสว่างมา
               บ้างก็ไม่สุกใสได้ นักปราชญ์ทั้งหลายเป็นผู้กระทำแสง
               สว่างให้เกิดขึ้น
                         ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระปรีชา เหตุนั้น ข้าพระองค์จึง
               ขอเข้าถึงพระองค์ผู้ที่ข้าพระองค์เข้าใจว่า ทรงทำแสงสว่าง
               ให้เกิดขึ้นได้เองเช่นนั้น ผู้เห็นแจ้ง ทรงรอบรู้สรรพธรรม
               ตามความเป็นจริงได้ ขอเชิญพระองค์โปรดทรงประกาศ
               พระนิโครธกัปปเถระ ผู้อุปัชฌายะของข้าพระองค์ที่ปรินิพ
               พานไปแล้ว ให้ปรากฏในบริษัทด้วยเถิด.
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงเปล่งพระดำรัส ก็ทรง
               เปล่งด้วยพระกระแสเสียงกังวานที่เกิดแต่นาสิก ซึ่งนับเข้า
               ในมหาปุริสลักษณะประการหนึ่งอันพระบุญญาธิการแต่ง
               มาดี ทั้งเปล่งได้รวดเร็ว และแผ่วเบาเป็นระเบียบ เหมือน
               กับพญาหงส์ทองท่องเที่ยวหาเหยื่อ พบราวไพรใกล้สระน้ำ
               ก็ชูคอป้องปีกทั้งสองขึ้น ส่งเสียงร้องค่อยๆ ด้วยจะงอยปาก
               อันแดงฉะนั้น.
                         ข้าพระองค์ทั้งหมดตั้งใจตรง กำลังจะฟังพระดำรัส
               ของพระองค์อยู่ ข้าพระองค์จักเผยการเกิดและการตายที่
               ข้าพระองค์ละมาได้หมดสิ้นแล้ว จักแสดงบาปธรรมทั้งหมด
               ที่เป็นเครื่องกำจัด เพราะผู้กระทำตามความพอใจของตน ๓
               จำพวกมีปุถุชนเป็นต้น ไม่อาจรู้ธรรมที่ตนปรารถนาหรือ
               แสดงได้ ส่วนผู้กระทำตามความไตร่ตรอง พิจารณาตาม
               เหตุผลของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย สามารถจะรู้ธรรมที่ตน
               ปรารถนาทั้งแสดงได้ พระดำรัสของพระองค์นี้เป็นไวยากรณ์
               อันสมบูรณ์ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้วด้วยพระปัญญาที่ตรงๆ
               โดยไม่มีการเสียดสีใครเลย การถวายบังคมครั้งนี้เป็นครั้งสุด
               ท้าย อันข้าพระองค์ถวายบังคมดีแล้ว
                         ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาไม่ทราม พระองค์ทรง
               ทราบแล้วจะทรงหลงลืมไปก็หามิได้ ข้าแต่พระองค์ผู้มีวิริยะ
               อันไม่ต่ำทราม พระองค์ตรัสรู้อริยธรรมอันประเสริฐกว่าโลกิย
               ธรรมแล้ว ก็ทรงทราบไญยธรรมทุกอย่างได้อย่างไม่ผิดพลาด
               ข้าพระองค์หวังเป็นอย่างยิ่งซึ่งพระดำรัสของพระองค์ เหมือน
               กับคนที่มีร่างกายอันชุ่มเหงื่อคราวหน้าร้อน ย่อมปรารถนา
               น้ำเย็นฉะนั้น ขอพระองค์ทรงยังฝนคือพระธรรมเทศนาที่
               ข้าพระองค์เคยฟังมาแล้วให้ตกลงมาเถิด พระเจ้าข้า
                         ท่านพระนิโครธกัปปะ ได้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อ
               ประโยชน์ใด ประโยชน์ของท่านนั้นเป็นประโยชน์ไม่เปล่า
               แลหรือ ท่านนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานแล้วหรือ ท่าน
               เป็นพระเสขะยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่ หรือว่าท่านเป็นพระ
               อเสขะผู้หลุดพ้นแล้ว ข้าพระองค์ขอฟังพระดำรัสที่ข้าพระองค์
               มุ่งหวังนั้น พระเจ้าข้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ว่า
                         พระนิโครธกัปปะได้ตัดขาดความทะเยอทะยานอยาก
               ในนามและรูปนี้ กับทั้งกระแสแห่งตัณหาอันนอนเนื่องอยู่ใน
               สันดานมาช้านานแล้ว ข้ามพ้นชาติและมรณะได้หมดสิ้นแล้ว
               พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐสุดด้วยพระจักษุ ๕ ได้ตรัสพระ
               ดำรัสเพียงเท่านี้.
               พระวังคีสะกราบทูลว่า
                         ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพระฤาษีองค์ที่ ๗ ข้าพระองค์นี้
               ได้ฟังพระดำรัสของพระองค์แล้วก็เลื่อมใส ทราบว่าคำถามที่
               ข้าพระองค์ทูลถามแล้วไม่ไร้ประโยชน์ พระองค์ไม่หลอกลวง
               ข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า มีปกติกล่าว
               อย่างใดทำอย่างนั้น ได้ตัดข่ายคือตัณหาอันกว้างขวาง มั่นคง
               ของพระยามัจจุราชผู้มากเล่ห์ได้เด็ดขาด
                         ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระนิโครธกัปปเถระ
               กัปปายนโคตร ได้เห็นมูลเหตุแห่งอุปาทาน ข้ามบ่วงมารที่
               ข้ามได้แสนยากได้แล้วหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่าสัตว์
               ทั้งหลาย ข้าพระองค์ขอนมัสการท่านพระนิโครธกัปปเถระ
               ผู้เป็นวิสุทธิเทพผู้ล่วงเสียซึ่งเทพดา ผู้เป็นอนุชาตบุตรของ
               พระองค์ ผู้มีความเพียรมาก ผู้ประเสริฐสุด ทั้งเป็นโอรสของ
               พระองค์ผู้ประเสริฐ.
               บรรดาบทเหล่านั้น คาถา ๕ คาถามีอาทิว่า เราเป็นผู้ออกบวชแล้ว ดังนี้ ท่านพระวังคีสะยังเป็นผู้ใหม่ บวชยังไม่นาน เห็นพวกหญิงมากหลายผู้ไปวิหารตกแต่งร่างกายสวยงามก็เกิดความกำหนัด เมื่อจะบรรเทาความกำหนัดที่เกิดขึ้นนั้น จึงได้กล่าวไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิกฺขนฺตํ วต มํ สนฺตํ อคารสฺมานคาริยํ ความว่า เราผู้ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนอยู่.
               บทว่า วิตกฺกา ได้แก่ วิตกอันลามกมีกามวิตกเป็นต้น.
               บทว่า อุปธาวนฺติ ความว่า ย่อมเข้าถึงจิตของเรา.
               บทว่า ปคพฺภา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความคะนอง คือทำวางอำนาจ. ชื่อว่าผู้หมดความอาย เพราะไม่บริหารอย่างนี้ว่า ผู้นี้ออกจากเรือนบวช ไม่ควรตามกำจัดผู้นี้.
               บทว่า กณฺหโต แปลว่า โดยความดำ. อธิบายว่า โดยความลามก.
               ความที่บุตรของคนสูงศักดิ์เหล่านั้นประจักษ์แก่ตน พระเถระจึงกล่าวว่า อิเม แปลว่า เหล่านี้.
               พวกมนุษย์ผู้เลี้ยงชีวิตไม่บริสุทธิ์ มีสมัครพรรคพวกมาก ท่านเรียกว่าอุคคะ เพราะเป็นผู้มีกิจยิ่งใหญ่, บุตรทั้งหลายของอุคคชนเหล่านั้น ชื่อว่าอุคคบุตร.
               บทว่า มหิสฺสาสา แปลว่า ผู้มีลูกธนูมาก.
               บทว่า สิกฺขิตา ได้แก่ ผู้เรียนศิลปะในตระกูลของอาจารย์ถึง ๑๒ ปี
               บทว่า ทฬฺหธมฺมิโน ได้แก่ เป็นผู้มีธนูแข็ง. เรี่ยวแรง ๒,๐๐๐ แรง ท่านเรียกทัฬหธนู ธนูแข็ง. ก็เครื่องผูกสายธนูที่ต้นสาย ใช้หัวโลหะเป็นต้นหนัก คนที่จับด้ามแล้วยกขึ้นพ้นจากแผ่นดินชั่วประมาณหนึ่งลูกศร ชื่อว่าทวิสหัสสถามะ เรี่ยวแรงยก ๒,๐๐๐ แรง.
               บทว่า สมนฺตา ปริกิเรยฺยุํ ได้แก่ ปล่อยลูกศรไปรอบด้าน.
               หากจะมีคำถามว่า มีลูกศรเท่าไร
               ตอบว่า ลูกศรพันหนึ่งทำให้ศัตรูหนีไม่ทัน.
               อธิบายว่า ลูกศรหนึ่งพันไม่ตรงหน้าคนอื่นในสนามรบ.
               บุตรของคนผู้ยิ่งใหญ่ประมาณ ๑,๐๐๐ ได้ศึกษามาเชี่ยวชาญ เป็นผู้ยิ่งใหญ่มีธนูแข็ง ผู้แม่นธนู แม้ในกาลไหนๆ ก็ไม่พ่ายแพ้ในการรบ เป็นผู้ไม่ประมาท ยืนพิงเสารอบด้าน แม้ถ้าจะพึงยิงสาดลูกศรไปไซร้ แม้นักแม่นธนูพันคนแม้ผู้เช่นนั้น ยิงลูกศรมารอบด้าน คนที่ศึกษามาดีแล้ว จับคันศร ทำลูกศรทั้งหมดไม่ให้ตกลงในร่างกายของตน ให้ตกลงแทบเท้า.
               บรรดานักแม่นธนูเหล่านั้น นักแม่นธนูแม้คนหนึ่ง ชื่อว่ายิงลูกศร ๒ ลูกไปรวมกัน ย่อมไม่มี, แต่หญิงทั้งหลายยิงลูกศรคราวละ ๕ ลูกด้วยอำนาจรูปารมณ์เป็นต้น เมื่อยิงไปอย่างนั้น.
               บทว่า เอตฺตกา ภิยฺโย ความว่า หญิงเป็นอันมากแม้ยิ่งกว่าหญิงเหล่านี้ ย่อมขจัดโดยภาวะที่ร่าเริงด้วยกิริยาอาการแห่งหญิงเป็นต้นของตน
               บทว่า สกฺขี หิ เม สุตํ เอตํ ความว่า เรื่องนี้เราได้ยินได้ฟังมาต่อหน้า.
               บทว่า นิพฺพานคมนํ มคฺคํ ท่านกล่าวด้วยอำนาจลิงควิปลาส. อธิบายว่า ทางเป็นเครื่องดำเนินไปสู่พระนิพพาน. ท่านกล่าวหมายเอาวิปัสสนา.
               บทว่า ตตฺถ เม นิรโต มโน ความว่า จิตของเรายินดีแล้วในวิปัสสนามรรคนั้น.
               บทว่า เอวญฺเจ มํ วิหรนฺตํ ได้แก่ เราผู้อยู่อย่างนี้ด้วยการเจริญฌานมีอนิจจลักษณะ และอสุภเป็นอารมณ์ และด้วยการเจริญวิปัสสนา.
               พระเถระเรียกกิเลสมารว่า ปาปิมะ ผู้ลามก.
               บทว่า ตถา มจฺจุ กริสฺสามิ น เม มคฺคมฺปิ ทกฺขสิ มีวาจาประกอบความว่า เราจักกระทำมัจจุ คือที่สุด โดยประการที่ท่านไม่เห็นแม้แต่ทางที่เราทำไว้.
               คาถา ๕ คาถามีอาทิว่า อรติญฺจ ดังนี้ พระเถระเมื่อบรรเทาความไม่ยินดีเป็นต้นที่เกิดขึ้นในสันดานของตน ได้กล่าวไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อรตึ ได้แก่ ผู้กระสันในธรรม คืออธิกุศล และในเสนาสนะอันสงัด.
               บทว่า รตึ ได้แก่ ความยินดีในกามคุณ ๕.
               บทว่า ปหาย แปลว่า ละแล้ว.
               บทว่า สพฺพโส เคหสิตญฺจ วิตกฺกํ ความว่า ละได้โดยสิ้นเชิงซึ่งมิจฉาวิตกอันอาศัยเรือน คือที่ปฏิสังยุตด้วยบุตรและทาระ และความตริถึงญาติเป็นต้น.
               บทว่า วนถํ น กเรยฺย กุหิญฺจิ ความว่า ไม่พึงทำความอยากในวัตถุทั้งปวง ทั้งประเภทที่เป็นไปในภายในและภายนอก.
               บทว่า นิพฺพนโถ อวนโถ ส ภิกฺขุ ความว่า ก็บุคคลใดไม่มีความอยากโดยประการทั้งปวง เพราะความเป็นผู้ไม่มีความอยากนั้นนั่นแหละ ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีกิเลส เพราะไม่มีความเพลิดเพลินในอารมณ์ไหนๆ. บุคคลชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะเห็นโดยชอบซึ่งภัยในสงสาร และเพราะทำลายกิเลสได้แล้ว.
               บทว่า ยมิธ ปฐวิญฺจ เวหาสํ รูปคตํ ชคโตคธํ กิญฺจิ ความว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้ที่อยู่บนแผ่นดินคือที่อาศัยแผ่นดิน ที่อยู่ในอากาศคือที่ตั้งในอากาศ ได้แก่ที่อาศัยเทวโลก มีสภาวะผุพัง ซึ่งอยู่ในแผ่นดินคือมีอยู่ในโลก อันนับเนื่องในภพทั้ง ๓ อันปัจจัยปรุงแต่ง.
               บทว่า ปริชียติ สพฺพมนิจฺจํ ความว่า รูปทั้งหมดนั้นถูกชราครอบงำ แต่นั้นแหละเป็นของไม่เที่ยง แต่นั้นแลเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา. พระเถระกล่าวถึงการยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ด้วยประการฉะนี้. บางอาจารย์กล่าวว่า นี้เป็นวิปัสสนาของพระเถระ.
               บทว่า เอวํ สเมจฺจ จรนฺติ มุตตฺตา ความว่า บัณฑิตทั้งหลายตรัสรู้ คือตรัสรู้เฉพาะอย่างนี้ ได้แก่ด้วยมรรคปัญญาอันประกอบด้วยวิปัสสนา มีตนอันหลุดพ้นแล้ว คือมีอัตภาพอันกำหนดรู้แล้ว เที่ยวไปคืออยู่.
               บทว่า อุปธีสุ ได้แก่ ในอุปธิคือขันธ์ทั้งหลาย.
               บทว่า ชนา ได้แก่ ปุถุชนผู้บอด.
               บทว่า คธิตาเส ได้แก่ มีจิตปฏิพัทธ์.
               ในที่นี้ พระเถระเมื่อจะแสดงโดยพิเศษว่า พึงนำออกไปซึ่งความพอใจในอุปธิคือกามคุณ จึงกล่าวว่า ในรูปที่ได้เห็น และเสียงที่ได้ยิน และในสิ่งที่มากระทบและในอารมณ์ที่ได้ทราบ.
               บทว่า ทิฏฺฐสุเต ได้แก่ ในรูปที่เห็นและเสียงที่ได้ฟัง. อธิบายว่า รูปและเสียง.
               บทว่า ปฏิเฆ ได้แก่ ในสิ่งที่กระทบคือในโผฏฐัพพะ.
               บทว่า มุเต ได้แก่ ในอารมณ์ที่ได้ทราบ ที่เหลือจากอารมณ์ที่กล่าวแล้ว.
               อธิบายว่า ในกลิ่นและรสทั้งหลาย.
               ในสารัตถปกาสินี ท่านกล่าวว่า ถือเอากลิ่นและรสด้วยบทว่า ปฏิฆะ. ถือเอาโผฏฐัพพารมณ์ด้วยบทว่า มุตะ.
               บทว่า เอตฺถ วิโนทย ฉนฺทมเนโช ความว่า ท่านจงบรรเทากามฉันทะในเบญจกามคุณอันมีรูปที่เห็นเป็นต้นเป็นประเภทนี้ เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านจะเป็นผู้ไม่หวั่นไหว คือไม่กำหนดในอารมณ์ทั้งปวง.
               บทว่า โย เหตฺถ น ลิมฺปติ มุนิ ตมาหุ ความว่า ก็บุคคลใดย่อมไม่ฉาบทาด้วยเครื่องฉาบทาคือตัณหาในกามคุณนี้ บัณฑิตทั้งหลายย่อมเรียกบุคคลนั้นว่ามุนี เพราะเป็นผู้ตั้งอยู่ในโมไนยธรรม ธรรมของมุนี.
               ด้วยการอธิบายว่า พระบาลีว่า อถ สฏฺฐิสิตา ถ้าว่าอาศัยทิฏฐิ ๖๐ ดังนี้ อาจารย์บางพวกจึงกล่าวความหมายว่า อาศัยธรรมารมณ์ ๖๐ ประการ. ก็พระบาลีมีว่า เป็นไปกับด้วยวิตกอันอาศัยทิฏฐิ ๖๘ ประการ. จริงอยู่ อารมณ์มีประมาณน้อย คือหย่อนหรือเกินไป ย่อมไม่นับเอาแล.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่า อฏฺฐสฏฺฐิสิตา ความว่า มิจฉาวิตกอันอาศัยทิฏฐิ ๖๒ ประการ และบุคคลผู้เป็นไปในคติแห่งทิฏฐิ เป็นผู้เชื่อลัทธิว่าไม่มีสัตตาวาสภูมิเป็นที่อยู่ของสัตว์ ๗ ชั้น เพราะเหตุนั้นจึงเว้นอธิจจสมุปปันนวาทะว่า เกิดผุดขึ้นโดยไม่มีเหตุ แล้วจึงกล่าวด้วยอำนาจวาทะนอกนี้ว่า ถ้าว่าอธรรมทั้งหลายเป็นไปกับด้วยวิตก อาศัยทิฏฐิ ๖๐ ประการดังนี้.
               เพื่อจะแสดงว่า เหมือนอย่างว่าที่เรียกว่าภิกษุ เพราะไม่มีเครื่องฉาบทาคือกิเลสฉันใด ที่เรียกว่าภิกษุ แม้เพราะไม่มีเครื่องฉาบทาคือทิฏฐิก็ฉันนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ถ้าอาศัยทิฏฐิ ๖๐ ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า ปุถุชฺชนตาย อธมฺมา นิวิฏฺฐา ความว่า ก็มิจฉาวิตกเหล่านั้นมิใช่ธรรม คือปราศจากธรรม ด้วยอำนาจยึดถือว่าเที่ยงเป็นต้นตั้งลงแล้ว คือตั้งลงเฉพาะแล้วในความเป็นปุถุชน คือในคนอันธพาล.
               บทว่า น จ วคฺคคตสฺส กุหิญฺจิ ความว่า ไม่พึงเป็นไปในพวกมิจฉาทิฏฐิมีสัสสตวาทะว่าเที่ยงเป็นต้นในวัตถุนั้นๆ คือไม่ถือลัทธินั้น. ส่วนในอรรถกถาท่านยกบทขึ้นตั้งว่า ถ้าว่าอธรรมทั้งหลายเป็นไปกับวิตกอาศัยทิฏฐิ ๖๐ ตั้งมั่นในความเป็นปุถุชน ดังนี้แล้วกล่าวว่า ถ้าว่าวิตกที่ไม่เป็นธรรมเป็นอันมากอาศัยอารมณ์ ๖ ตั้งลงมั่น เพราะทำให้เกิดและกล่าวว่าไม่พึงเป็นพรรคพวกในอารมณ์ไหนๆ อย่างนั้น. อธิบายว่า ไม่พึงเป็นพวกกิเลสในอารมณ์ไหนๆ ด้วยอำนาจวิตกเหล่านั้น.
               บทว่า โน ปน ทุฏฺฐุลฺลคาหี ส ภิกฺขุ ความว่า บุคคลใดไม่พึงเป็นผู้มักพูดคำหยาบ คือพูดผิด เพราะถูกกิเลสประทุษร้าย และเพราะเป็นวาทะหยาบเหลือหลาย บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ.
               บทว่า ทพฺโพ ได้แก่ ผู้มีชาติฉลาด คือเป็นบัณฑิต.
               บทว่า จิรรตฺตสมาหิโต แปลว่า ผู้มีจิตเป็นสมาธิตั้งแต่กาลนานมาแล้ว
               บทว่า อกุหโก แปลว่า เว้นจากความโกหก คือไม่โอ้อวด ไม่มีมายา.
               บทว่า นิปโก แปลว่า ผู้ละเอียดละออ คือผู้เฉลียวฉลาด.
               บทว่า อปิหาลุ แปลว่า ผู้หมดตัณหาความอยาก.
               บทว่า สนฺตํ ปทํ อชฺฌคมา ได้แก่ บรรลุพระนิพพาน.
               ชื่อว่ามุนี เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความเป็นมุนี.
               บทว่า ปรินิพฺพุโต ความว่า อาศัยพระนิพพานโดยกระทำให้เป็นอารมณ์ แล้วปรินิพพานด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ.
               บทว่า กงฺขติ กาลํ ความว่า รอเวลาเพื่อต้องการอนุปาทิเสสนิพพานในกาลบัดนี้.
               อธิบายว่า พระเถระนั้นไม่มีกิจอะไรที่จะพึงทำ จึงเตรียมพร้อมด้วยประการที่จักเป็นผู้เช่นนี้.
               คาถา ๔ คาถามีอาทิว่า มานํ ปชหสฺสุ จงละมานะ พระเถระอาศัยปฏิภาณสมบัติบรรเทามานะที่เป็นไปแก่ตนกล่าวไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มานํ ปชหสฺสุ ความว่า จงสละมานะ ๙ ประการมีมานะว่า เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเป็นต้น.
               ด้วยบทว่า โคตม นี้ พระเถระกล่าวถึงตนให้เป็นโคตมโคตร เพราะตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้โคตมโคตร.
               บทว่า มานปถํ ความว่า ท่านจงละ คือจงละขาดซึ่งชาติเป็นต้นอันหุ้มห่อด้วยอโยนิโสมนสิการ การใส่ใจโดยไม่แยบคาย อันเป็นฐานที่ตั้งให้มานะแพร่ไป โดยการละกิเลสที่เนื่องด้วยชาติเป็นต้นนั้น.
               บทว่า อเสสํ แปลว่า ทั้งหมดเลย.
               บทว่า มานปถมฺหิ ส มุจฺฉิโต ความว่า ผู้ถึงความสยบอันมีวัตถุที่ตั้งแห่งมานะเป็นเหตุ.
               บทว่า วิปฺปฏิสารีหุวา จิรรตฺตํ ความว่า เมื่อขณะแห่งการขวนขวายในทางมานะนี้ล่วงไปแล้ว จักบรรลุพระอรหัตในกาลก่อนแท้ คือได้เป็นผู้เดือดร้อนว่า เราฉิบหายเสียแล้ว.
               บทว่า มกฺเขน มกฺขิตา ปชา ความว่า ชื่อว่ามีมักขะลบหลู่คุณท่าน เพราะยกตนข่มผู้อื่นด้วยความกล้าเป็นต้น แล้วบดขยี้ด้วยมักขะอันมีลักษณะลบหลู่คุณของผู้อื่น. จริงอยู่ บุคคลลบหลู่คุณของคนอื่นด้วยประการใดๆ ชื่อว่าย่อมเช็ด คือละทิ้งคุณของตนด้วยประการนั้นๆ.
               บทว่า มานหตา ได้แก่ ผู้มีคุณความดี ถูกมานะขจัดเสียแล้ว.
               บทว่า นิรยํ ปปตนฺติ ได้แก่ ย่อมเข้าถึงนรก.
               บทว่า มคฺคชิโน ได้แก่ ชำนะกิเลสด้วยมรรค.
               บทว่า กิตฺติญฺจ สุขญฺจ ได้แก่ เกียรติที่วิญญูชนสรรเสริญ และสุขอันเป็นไปทางกายและทางจิต.
               บทว่า อนุโภติ แปลว่า ได้เฉพาะ.
               บทว่า ธมฺมทโสติ ตมาหุ ตถตฺตํ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวบุคคลนั้น ผู้ปฏิบัติชอบอย่างนั้นว่าเป็นผู้เห็นธรรมตามเป็นจริง.
               บทว่า อขิโล ได้แก่ ผู้เว้นจากกิเลสเครื่องตรึงใจ ๕ ประการ.
               บทว่า ปธานวา ได้แก่ ผู้ถึงพร้อมด้วยสัมมัปปธานความเพียรชอบ.
               บทว่า วิสุทฺโธ ความว่า ชื่อว่าผู้มีใจบริสุทธิ์ เพราะปราศจากเมฆคือนิวรณ์.
               บทว่า อเสสํ ได้แก่ ละมานะทั้ง ๙ อย่างด้วยอรหัตมรรค.
               บทว่า วิชฺชายนฺตกาโร สมิตาวี ความว่า พระเถระกล่าวสอนตนว่า เป็นผู้มีกิเลสสงบระงับแล้วโดยประการทั้งปวง ถึงที่สุดแห่งวิชชา ๓ ประการ.
               ครั้นวันหนึ่ง ท่านพระอานนท์อันราชมหาอำมาตย์คนหนึ่งนิมนต์ในเวลาเช้า จึงไปเรือนของราชมหาอำมาตย์นั้นแล้วนั่งบนอาสนะที่เขาตกแต่งไว้ โดยมีท่านพระวังคีสะเป็นปัจฉาสมณะ.
               ลำดับนั้น หญิงทั้งหลายในเรือนนั้นประดับด้วยอลังการทั้งปวง พากันเข้าไปหาพระเถระ ไหว้แล้วถามปัญหา ฟังธรรม.
               ลำดับนั้น ความกำหนัดในวิสภาคารมณ์เกิดขึ้นแก่ท่านพระวังคีสะผู้ยังบวชใหม่ไม่อาจกำหนดอารมณ์ได้ ท่านพระวังคีสะนั้น เป็นกุลบุตรผู้มีศรัทธา มีชาติเป็นคนตรง คิดว่าราคะนี้เพิ่มมากแก่เราแล้ว จะพึงทำประโยชน์ปัจจุบัน ทั้งประโยชน์ภายภาคหน้า ให้พินาศทั้งๆ ที่นั่งอยู่แล เมื่อจะเปิดเผยความเป็นไปของตนแก่พระเถระ จึงกล่าวคาถาว่า กามราเคน ดังนี้เป็นต้น.
               ในข้อนั้น เพื่อจะแสดงว่า แม้ถ้าความเร่าร้อนอันเกิดจากความกำหนัด เพราะกิเลสเบียดเบียนแม้กายได้ แต่เมื่อจะเบียดเบียนจิต ย่อมเบียดเบียนได้นานกว่า พระเถระจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าถูกกามราคะแผดเผา แล้วกล่าวว่า จิตของข้าพเจ้าก็ถูกแผดเผา ดังนี้.
               บทว่า นิพฺพาปนํ ความว่า ขอท่านจงให้โอวาทอันเป็นเหตุทำราคะให้ดับ คือที่สามารถทำความเร่าร้อนเพราะราคะให้ดับ.
               คาถามีว่า สญฺญาย วิปริเยสา เพราะความสำคัญผิด ดังนี้เป็นต้นอันท่านพระอานนท์ถูกพระวังคีสะขอร้อง จึงกล่าวไว้.
               บทว่า วิปริเยสา ความว่า เพราะความวิปลาส คือเพราะถือผิดแผก ซึ่งเป็นไปในสิ่งที่ไม่งามว่างาม.
               บทว่า นิมิตฺตํ ได้แก่ มีอันทำกิเลสให้เกิดเป็นนิมิต.
               บทว่า ปริวชฺเชหิ แปลว่า จงสละเสีย.
               บทว่า สุภํ ราคูปสํหิตํ ความว่า เมื่อจะเว้นสุภะ อันเป็นเหตุทำราคะให้เจริญเป็นอารมณ์ พึงเว้นด้วยอสุภสัญญา กำหนดหมายว่าไม่งาม พึงเว้นด้วยอนภิรติสัญญา กำหนดหมายว่าไม่น่ายินดี ในอารมณ์ทุกอย่าง เพราะเหตุนั้น ท่านพระอานนท์เมื่อจะแสดงสัญญาแม้ทั้งสองนั้นจึงกล่าวคำมีอาทิว่า อสุภาย ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสุภาย ได้แก่ ด้วยอสุภานุปัสสนา การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่าไม่งาม.
               บทว่า จิตฺตํ ภาเวหิ เอกคฺคํ สุสมาหิตํ ความว่า ท่านจงเจริญกระทำให้มีอารมณ์เลิศเป็นอันเดียว คือให้ตั้งมั่น ให้แอบแนบในอารมณ์ทั้งหลาย โดยไม่มีความฟุ้งซ่านแห่งจิตของตน คือเราจักบอกอสุภานุปัสสนาที่พึงกระทำได้ง่ายแก่ท่าน.
               บทว่า สติ กายคตา ตฺยตฺถุ ความว่า การเจริญกายคตาสติที่กล่าวแล้ว ท่านจงอบรมกระทำให้มาก.
               บทว่า นิพฺพิทาพหุโล ภว ความว่า ท่านจงเป็นผู้มากด้วยความหน่ายในอัตภาพและในสิ่งทั้งปวง.
               บทว่า อนิมิตฺตญฺจ ภาเวหิ ความว่า โดยพิเศษ อนิจจานุปัสสนาชื่อว่าอนิมิต เพราะเพิกนิมิตว่าเที่ยงเป็นต้น แต่นั้นท่านจงละมานานุสัย กิเลสอันนอนเนื่องคือมานะเสีย.
               อธิบายว่า เมื่อจะเจริญอนิจจานุปัสสนานั้น จงตัดอย่างเด็ดขาดซึ่งมานานุสัย โดยการบรรลุอรหัตมรรคตามลำดับมรรค.
               บทว่า มานาภิสมยา ได้แก่ ตรัสรู้เพราะเห็นมานะและเพราะละมานะ.
               บทว่า อุปสนฺโต ความว่า ท่านชื่อว่าเข้าไปสงบ เพราะสงบราคะเป็นต้นได้ทั้งหมด จักเที่ยวไปคือจักอยู่.
               คาถา ๔ คาถามีอาทิว่า ตเมว วาจํ ดังนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสุภาสิตสูตร พระเถระเกิดความโสมนัส เมื่อจะชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้าเฉพาะพระพักตร์ จึงได้กล่าวไว้.
               บทว่า ยายตฺตานํ น ตาปเย ความว่า ไม่พึงทำตนให้เดือดร้อน คือให้ลำบากด้วยความเดือดร้อนด้วยวาจาใดอันเป็นเหตุ.
               บทว่า ปเร จ น วิหึเสยฺย ความว่า ไม่พึงเบียดเบียนทำลายคนอื่นให้แตกกับคนอื่น.
               บทว่า สา เว วาจา สุภาสิตา มีวาจาประกอบความว่า วาจานั้นชื่อว่าเป็นสุภาษิตโดยส่วนเดียว เพราะฉะนั้น พึงกล่าวแต่วาจานั้นเท่านั้น พระเถระสดุดีพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยมีพระวาจาไม่ส่อเสียดด้วยคาถานี้.
               บทว่า ปฏินนฺทิตา ความว่า ยินดี คือรักใคร่โดยเฉพาะหน้า คือในเดี๋ยวนั้น และในกาลต่อไป ผู้สดับฟังรับเอา.
               บทว่า ยํ อนาทาย ความว่า บุคคลเมื่อจะกล่าววาจาใด อย่าได้ถือเอาคำหยาบคายอันไม่น่ารัก ไม่น่าปรารถนาของคนอื่น ย่อมแสดงแต่วาจาที่น่ารัก อันไพเราะด้วยอรรถและพยัญชนะ.
               บทว่า ตเมว ปิยวาจํ ภาเสยฺย ได้แก่ ชมเชยด้วยอำนาจวาจาที่น่ารัก.
               บทว่า อมตา ได้แก่ ดุจน้ำอมฤต เพราะเป็นวาจายังประโยชน์ให้สำเร็จ.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า คำสัตย์แลยังประโยชน์ให้สำเร็จกว่ารสทั้งหลาย.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่วาจาที่เป็นประโยชน์ คือเป็นปัจจัยแก่อมตะคือพระนิพพาน ชื่อว่าเป็นวาจาอมตะ.
               บทว่า เอส ธมฺโม สนนฺตโน ความว่า ชื่อว่าสัจวาจานี้เป็นธรรมของเก่า คือประพฤติเป็นประเพณี จริงอยู่ ข้อที่คนเก่าก่อนไม่พูดคำเหลาะแหละนี้แหละ เป็นความประพฤติของคนเก่าก่อน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สัตบุรุษเป็นผู้ตั้งอยู่ในคำสัตย์ อันเป็นอรรถเป็นธรรม.
               ในคำนั้น พึงทราบว่า ชื่อว่าตั้งอยู่ในประโยชน์ตนและคนอื่น เพราะเป็นผู้ตั้งอยู่ในสัจจะ ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม เพราะเป็นผู้ตั้งอยู่ในประโยชน์เท่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า อตฺเถ ธมฺเม นี้เป็นวิเสสนะของสัจจะนั่นแหละ.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ตั้งอยู่ในคำสัจ, ในคำสัจเช่นไร? ในคำสัจที่เป็นอรรถเป็นธรรม ซึ่งเป็นที่ให้สำเร็จประโยชน์ คือไม่ทำการขัดขวางให้แก่คนอื่น เพราะไม่ปราศจากอรรถ (และ) ให้สำเร็จธรรม คือประโยชน์อันเป็นไปในธรรมเท่านั้น เพราะไม่ปราศจากธรรม. พระเถระสดุดีพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยทรงมีพระวาจาสัตย์ด้วยคาถานี้.
               บทว่า เขมํ แปลว่า ปลอดภัย คือไม่มีอันตราย.
               หากมีคำถามสอดเข้ามาว่า เพราะเหตุไร?
               ขอเฉลยว่า เพราะได้บรรลุพระนิพพานอันกระทำที่สุดแห่งทุกข์.
               อธิบายว่า ชื่อว่าปลอดภัย เพราะเป็นเหตุให้ถึงกิเลสนิพพาน และเป็นไปเพื่อทำที่สุดแห่งวัฏทุกข์.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นความในข้อนี้อย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสพระวาจาใด ชื่อว่าปลอดภัย เพราะทรงประกาศทางอันเกษม เพื่อประโยชน์แก่นิพพานธาตุทั้งสองคือ เพื่อบรรลุพระนิพพาน หรือเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ วาจานั้นเท่านั้นเป็นวาจาสูงสุดกว่าวาจาทั้งหลาย.
               อธิบายว่า วาจานั้นประเสริฐที่สุดกว่าวาจาทั้งปวง.
               พระเถระเมื่อสดุดีพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยมีพระดำรัสด้วยพระปรีชา ด้วยคาถานี้ จึงให้จบการสดุดีลงด้วยยอดคือพระอรหัต.
               คาถา ๓ คาถามีอาทิว่า คมฺภีรปญฺโญ นี้ พระเถระกล่าวด้วยอำนาจการสรรเสริญท่านพระสารีบุตร.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คมฺภีรปญฺโญ ความว่า ชื่อว่าผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาอันละเอียด ซึ่งเป็นไปในขันธ์และอายตนะเป็นต้นอันลึกล้ำ. ชื่อว่ามีปัญญา เพราะประกอบด้วยปัญญาอันมีโอชาเกิดแต่ธรรม กล่าวคือเมธาปัญญา.
               ชื่อว่าผู้ฉลาดในทางและมิใช่ทาง เพราะความเป็นผู้ฉลาดในทางและมิใช่ทางอย่างนี้ว่า นี้ทางทุคติ นี้ทางสุคติ นี้ทางพระนิพพาน.
               ชื่อว่าผู้มีปัญญามาก ด้วยอำนาจปัญญาอันถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณอันใหญ่.
               บทว่า ธมฺมํ เทเสติ ภิกฺขูนํ ความว่า ประกาศปวัตติ (ทุกข์) และนิวัตติ (นิโรธ) โดยชอบ แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ก็เพื่อจะแสดงอาการเป็นไปแห่งเทศนานั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า โดยย่อบ้างดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สงฺขิตฺเตนปิ ความว่า แสดงแม้โดยย่ออย่างนี้ว่า ดูก่อนผู้มีอายุ อริยสัจ ๔ เหล่านี้. อริยสัจ ๔ เป็นไฉน? ทุกขอริยสัจ ๑ ฯลฯ ดูก่อนผู้มีอายุ อริยสัจ ๔ เหล่านี้แล,
               เพราะเหตุนั้นแล ผู้มีอายุพึงกระทำความเพียรว่า นี้ทุกข์.
               เมื่อจำแนกอริยสัจเหล่านั้นนั่นแหละออกแสดงแม้โดยพิสดาร โดยนัยมีอาทิว่า ก็ผู้มีอายุ ทุกขอริยสัจเป็นไฉน? แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ ดังนี้.
               แม้ในเทศนาเรื่องขันธ์เป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สาลิกายิว นิคฺโฆโส ความว่า เมื่อพระเถระแสดงธรรมย่อมมีเสียงไพเราะเหมือนเสียงนกสาลิกา ตัวได้ลิ้มรสมะม่วงสุกหวาน จึงกระพือปีกทั้งสองแล้วเปล่งเสียงร้องอันไพเราะฉะนั้น.
               จริงอยู่ พระธรรมเสนาบดีมีคำพูดไม่พร่าเครือด้วยอำนาจดีเป็นต้น เสียงเปล่งออกประดุจกังสดาลที่เขาเคาะด้วยท่อนเหล็กฉะนั้น.
               บทว่า ปฏิภาณํ อุทิยฺยติ ความว่า ปฏิภาณความแจ่มแจ้ง ย่อมตั้งขึ้นพรั่งพรูประดุจลูกคลื่นตั้งขึ้นจากมหาสมุทร ในเมื่อท่านประสงค์จะกล่าว.
               บทว่า ตสฺส ได้แก่ พระสารีบุตร.
               บทว่า ตํ ได้แก่ กำลังแสดงธรรมอยู่.
               บทว่า สุณนฺตี ได้แก่ เกิดความเอื้อเฟื้อว่า พระเถระกล่าวคำใดแก่พวกเราๆ จักฟังคำนั้นดังนี้ จึงฟังอยู่.
               บทว่า มธุรํ แปลว่า น่าปรารถนา.
               บทว่า รชนีเยน ได้แก่ อันน่าใคร่.
               บทว่า สวนีเยน ได้แก่ มีความสบายหู.
               บทว่า วคฺคุนา ได้แก่ มีความกลมกล่อมเป็นที่จับใจ.
               บทว่า อุทคฺคจิตฺตา ได้แก่ เป็นผู้มีจิตเบิกบาน คือมีจิตไม่หดหู่ด้วยอำนาจปีติอันประกอบความฟูใจ.
               บทว่า มุทิตา ได้แก่ บันเทิงใจ คือประกอบด้วยความปราโมทย์.
               บทว่า โอเธนฺติ ได้แก่ เงี่ยหูลง คือเข้าไปตั้งจิตเพื่อความรู้ทั่วถึงจึงเงี่ยหูคอยฟังอยู่.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สัฏฐิกนิบาต ๑. วังคีสเถรคาถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 400อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 401อ่านอรรถกถา 26 / 402อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8643&Z=8881
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=12997
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=12997
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :