ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 400อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 401อ่านอรรถกถา 26 / 402อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สัฏฐิกนิบาต
๑. วังคีสเถรคาถา

หน้าต่างที่ ๓ / ๔.

               คาถา ๔ คาถามีอาทิว่า อชฺช ปณฺณรเส ดังนี้ พระเถระได้เห็นพระศาสดาประทับนั่ง ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ห้อมล้อม เพื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาปวารณาสูตร เมื่อจะสดุดีจึงกล่าวไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปณฺณรเส ความว่า ก็สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งในบุพพาราม ในเวลาเย็นทรงแสดงพระธรรมเทศนา อันเหมาะแก่กาลสมัยแก่บริษัทที่ถึงพร้อมแล้ว จึงโสรจสรงพระวรกายในซุ้มสรงน้ำแล้วครองผ้า ทรงกระทำมหาจีวรเท่าสุคตประมาณ เฉวียงบ่า ทรงประทับพิงเสากลาง ประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่เขาตกแต่งไว้ในปราสาทของมิคารมารดา ทรงชำเลืองดูภิกษุสงฆ์ผู้นั่งห้อมล้อม ประทับนั่งในวันปวารณา ในวันอุโบสถนั้น, ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำนี้.
               บทว่า วิสุทฺธิยา ได้แก่ เพื่อต้องการความบริสุทธิ์ คือเพื่อวิสุทธิปวารณา.
               บทว่า ภิกฺขู ปญฺจสตา สมาคตา ความว่า ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปมาประชุมกัน ด้วยการนั่งห้อมล้อมพระศาสดา และด้วยอัธยาศัย.
               บทว่า เต จ สํโยชนพนฺธนจฺฉิทา ความว่า ผู้ตัดกิเลสทั้งหลายอันเป็นเครื่องผูกสันดาน กล่าวคือสังโยชน์ดำรงอยู่ เพราะเหตุนั้นแหละจึงเป็นผู้ไม่มีทุกข์ หมดสิ้นภพใหม่ เป็นผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่.
               อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีทุกข์ เพราะไม่มีทุกข์อันเกิดจากกิเลส เป็นผู้มีภพใหม่สิ้นไปแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เพราะแสวงหาศีลขันธ์เป็นต้นอันเป็นของพระอเสขะ.
               บทว่า วิชิตสงฺคามํ ความว่า ชื่อว่าผู้ทรงชนะสงคราม เพราะทรงชนะสงครามคือกิเลส คือเพราะทรงชนะมารและพลของมารได้แล้ว.
               บทว่า สตฺถวาหํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าสัตถวาหะ ผู้นำกองเกวียน เพราะทรงยกขึ้นรถ คืออริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ แล้วขนพาเวไนยสัตว์ทั้งหลายไปคือให้ข้ามพ้นจากสงสารกันดาร. ด้วยเหตุนั้น สหัมบดีพรหมจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า ผู้ชนะสงคราม ผู้นำหมู่เกวียน ขอพระองค์โปรดเสด็จลุกขึ้น, พระสาวกทั้งหลายเข้าไปนั่งใกล้พระศาสดาพระองค์นั้น ผู้ทรงนำหมู่เกวียน ผู้ยอดเยี่ยม.
               บทว่า เต วิชฺชา มจฺจุหายิโน มีวาจาประกอบความว่า ผู้อันพระสาวกทั้งหลายเห็นปานนั้นห้อมล้อม เสด็จตามลำดับรอบๆ ไป ด้วยการเสด็จจาริกไปยังชนบท เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิอันหมู่อำมาตย์ห้อมล้อมฉะนั้น.
               บทว่า ปลาโป แปลว่า ว่างเปล่า คือเว้นจากสาระในภายใน. อธิบายว่า เว้นจากศีล.
               บทว่า วนฺเท อาทิจฺจพนฺธุนํ ความว่า พระเถระกล่าวว่า ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระทศพลบรมศาสดา ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์.
               คาถา ๔ คาถามีอาทิว่า ปโรสหสฺสํ ดังนี้ พระเถระเมื่อจะสดุดีพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตด้วยพระนิพพาน จึงได้กล่าวไว้
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปโรสหสฺสํ แปลว่า เกินกว่าพัน.
               พระเถระกล่าวหมายเอาภิกษุ ๑,๒๕๐ องค์.
               บทว่า อกุโตภยํ ความว่า ในพระนิพพาน ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ และท่านผู้บรรลุนิพพานแล้ว ย่อมไม่มีภัยแม้แต่ที่ไหนๆ เพราะเหตุนั้น พระนิพพานจึงชื่อว่าไม่มีภัยแต่ที่ไหน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า บัณฑิตเรียกว่านาค เพราะเหตุทั้งหลายดังกล่าวแล้ว โดยนัยมีอาทิว่า พระองค์ไม่ทรงทำบาป เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมีพระนามว่านาค แล.
               บทว่า อิสีนํ อิสิสตฺตโม ความว่า เป็นพระฤาษีผู้สูงสุดแห่งพระฤาษี คือสาวกพุทธะและปัจเจกพุทธะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่เป็นฤาษีองค์ที่ ๗ แห่งพระฤาษีทั้งหลาย นับตั้งแต่พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า มหาเมโฆว ได้แก่ เป็นเสมือนมหาเมฆอันตั้งขึ้นในทวีปทั้ง ๔.
               บทว่า ทิวา วิหารา แปลว่า จากที่เร้น.
               บทว่า สาวโก เต มหาวีร ปาเท วนฺทติ วงฺคีโส นี้ พระเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะประกาศการบรรลุคุณวิเศษของตน จึงกล่าวไว้.
               คาถา ๔ คาถามีคำเริ่มต้นว่า อุมฺมคฺคปถํ ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงว่า พระองค์ตรัสถามว่า วังคีสะ คาถาเหล่านี้เธอตรึกมาก่อนหรือว่าปรากฏขึ้นโดยพลันทันใด, พระวังคีสะทูลว่า ปรากฏแจ่มแจ้งขึ้นทันทีทันใด จึงตรัสไว้.
               ก็เพราะเหตุไร จึงได้ตรัสอย่างนั้น?
               ได้ยินมาว่า เพราะได้เกิดการสั่งสนทนาขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ว่า พระวังคีสะไม่ได้ร่ำเรียน ไม่กระทำกิจด้วยการอุเทศ ด้วยการสอบถามและด้วยโยนิโสมนสิการ ไฉนจึงประพันธ์คาถา เที่ยวพรรณนาบทกลอน.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า พวกภิกษุเหล่านี้ไม่รู้ปฏิภาณสมบัติของพระวังคีสะ เราจักให้รู้จักปฏิภาณสมบัติของวังคีสะนี้ จึงตรัสถามโดยนัยมีอาทิว่า วังคีสะ เหตุไรหนอ ดังนี้.
               บทว่า อุมฺมคฺคปถํ ได้แก่ ทางเกิดกิเลสมิใช่น้อย.
               จริงอยู่ ที่เรียกว่าทาง เพราะเป็นทางที่วัฏฏะประกอบสร้างไว้.
               บทว่า ปภิชฺช ขีลานิ ได้แก่ ทำลายตาปูตรึงใจมีราคะเป็นต้น ๕ อย่าง เที่ยวไป.
               บทว่า ตํ ปสฺสถ ความว่า ท่านทั้งหลายจงเห็นพระวังคีสะนั้น ผู้รู้แล้ว ผู้ครอบงำและตัดกิเลสแล้วเที่ยวไปอย่างนั้น.
               บทว่า พนฺธปมุญฺจกรํ แปลว่า กระทำการปลดเครื่องผูก.
               บทว่า อสิตํ แปลว่า ไม่อาศัยแล้ว.
               บทว่า ภาคโส ปฏิภชฺช ได้แก่ กระทำการจำแนกธรรมโดยส่วนมีสติปัฏฐานเป็นต้น. บาลีว่า ปวิภชฺช ดังนี้ก็มี,
               อธิบายว่า จำแนกแสดงธรรมโดยส่วนๆ มีอุเทศเป็นต้น คือโดยประการ.
               บทว่า โอฆสฺส ได้แก่ โอฆะ ๔ มีกามโอฆะเป็นต้น.
               บทว่า อเนกวิหิตํ ความว่า บอกคือได้กล่าวทางอันนำไปสู่อมตะหลายประการด้วยอำนาจสติปัฏฐานเป็นต้น หรือด้วยอำนาจกรรมฐาน ๓๘ ประการ.
               บทว่า ตสฺมึ จ อมเต อกฺขาเต ความว่า เมื่อวังคีสะนั้นบอกทางอมตะ คืออันนำอมตะมาให้นั้น.
               บทว่า ธมฺมทสา แปลว่า ผู้เห็นธรรม.
               บทว่า ฐิตา อสํหิรา ได้แก่ เป็นผู้อันใครๆ ให้ง่อนแง่นคลอนแคลนไม่ได้ ดำรงอยู่.
               บทว่า อติวิชฺฌ แปลว่า รู้แจ้งแล้ว.
               บทว่า สพฺพฐิตีนํ ได้แก่ ซึ่งที่ตั้งแห่งทิฏฐิ หรือที่ตั้งแห่งวิญญาณทั้งปวง.
               บทว่า อติกฺกมมทฺทส ได้แก่ ได้เห็นพระนิพพานอันเป็นตัวล่วงพ้น.
               บทว่า อคฺคํ ได้แก่ ธรรมอันเลิศ. บาลีว่า อคฺเค ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า เป็นที่หนึ่งกว่าเขา.
               บทว่า ทสทฺธานํ ความว่า แสดงธรรมอันเลิศแห่งพระเบญจวัคคีย์ หรือแสดงก่อนกว่าเขา คือแต่เบื้องต้น.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่ผู้รู้ว่า ธรรมนี้ท่านแสดงดี จึงไม่ควรทำความประมาท ฉะนั้น จึงควรสำเหนียกตาม.
               อธิบายว่า พึงศึกษาสิกขา ๓ ตามลำดับวิปัสสนา และตามลำดับมรรค.
               คาถา ๓ คาถา มีคำเริ่มต้นว่า พุทฺธานุพุทฺโธ พระวังคีสเถระกล่าวชมเชยท่านพระอัญญาโกณฑัญญเถระ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พุทฺธานุพุทฺโธ แปลว่า ตรัสรู้ตามพระพุทธะทั้งหลาย.
               จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้สัจจะ ๔ ก่อน ภายหลังพระเถระตรัสรู้ก่อนกว่าเขาทั้งหมด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธะทั้งหลาย. ชื่อว่าเถระ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์เป็นต้นอันมั่น. อธิบายว่า เป็นผู้มีธรรมอันไม่กำเริบ.
               บทว่า ติพฺพนิกฺกโม แปลว่า ผู้มีความเพียรมั่นคง.
               บทว่า สุขวิหารานํ แปลว่า ผู้มีธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน.
               บทว่า วิเวกานํ ได้แก่ วิเวกทั้ง ๓.
               บทว่า สพฺพสฺสตํ ความว่า สิ่งใดอันสาวกทั้งปวงจะพึงบรรลุ สิ่งนั้นอันท่านพระอัญญาโกณฑัญญะนี้บรรลุตามแล้ว.
               บทว่า อปฺปมตฺตสฺส สิกฺขโต แปลว่า เป็นผู้ไม่ประมาทศึกษาอยู่.
               บทว่า เตวิชฺโช เจโตปริยโกวิโท ความว่า บรรดาอภิญญา ๖ พระอัญญาโกณฑัญญเถระกล่าวแต่อภิญญา ๔ อภิญญา ๒ นอกนี้พระเถระไม่กล่าวไว้ก็จริง ถึงอย่างนั้น พระเถระก็เป็นผู้มีอภิญญา ๖ ทีเดียว. เพราะเหตุที่ท่านพระวังคีสะเห็นพระเถระผู้มาจากสระฉัททันตะ ในป่าหิมวันต์ แสดงความเคารพอย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วถวายบังคมอยู่ มีใจเลื่อมใส เมื่อจะชมเชยพระเถระเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงกล่าวคาถานี้ เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า พระโกณฑัญญะผู้เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระศาสดา ดังนี้.
               คาถา ๓ คาถามีคำเริ่มต้นว่า นคสฺส ปสฺเส ดังนี้
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับภิกษุ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ ประทับอยู่ ณ ประเทศกาลศิลา ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระพิจารณาดูจิตของภิกษุเหล่านั้นอยู่ จึงเห็นวิมุตติ คืออรหัตผล. ท่านพระวังคีสะเห็นดังนั้น เมื่อจะชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระเถระทั้งหลาย จึงได้กล่าวไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นคสฺส ปสฺเส ความว่า ที่กาลศิลาประเทศข้างภูเขาอิสิคิลิ.
               บทว่า อาสีนํ แปลว่า นั่งแล้ว.
               บทว่า เจตสา ได้แก่ ด้วยเจโตปริยญาณของตน.
               บทว่า จิตฺตํ เนสํ สมเนวฺสํ ได้แก่ แสวงหาจิตของภิกษุขีณาสพเหล่านั้น.
               บทว่า อนุปริเยติ แปลว่า ย่อมกำหนดโดยลำดับ.
               ผู้สมบูรณ์ด้วยองค์ทั้งปวงอย่างนี้ คือผู้ถึงพร้อม ได้แก่ประกอบด้วยองค์ทั้งปวง คือด้วยสัตถุสมบัติที่กล่าวว่า ผู้เป็นมุนี ผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์ และด้วยสาวกสมบัติที่กล่าวว่า มีวิชชา ๓ ผู้ละมัจจุ ดังนี้.
               จริงอยู่ ด้วยบทว่า มุนึ นี้ ท่านกล่าวการตรัสรู้ไญยธรรมอย่างสิ้นเชิงของพระศาสดา ด้วยญาณกล่าวคือโมนะ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงสงเคราะห์ทศพลญาณเป็นต้นด้วยอนาวรณญาณ, ท่านแสดงญาณสัมปทาของพระศาสดานั้น ด้วยอนาวรณญาณนั้น.
               ด้วยบทว่า ทุกฺขสฺส ปารคุํ นี้ ท่านแสดงปหานสัมปทาและแสดงอานุภาวสัมปทาเป็นต้นของพระศาสดาด้วยบททั้งสองนั้น.
               ด้วยบททั้งสองว่า เตวิชฺชา มจฺจุหายิโน นี้ ท่านแสดงสมบัติของสาวกของพระศาสดา โดยแสดงญาณสมบัติของสาวกทั้งหลาย และโดยแสดงการบรรลุนิพพานธาตุของสาวก.
               จริงอย่างนั้น เพื่อจะกระทำเนื้อความตามที่กล่าวให้ปรากฏชัด ท่านจึงกล่าวว่า พากันเข้าไปนั่งใกล้พระโคดมผู้เป็นมุนี ผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์ ผู้ทรงเต็มเปี่ยมด้วยพระอาการเป็นอันมาก ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อเนกาการสมฺปนฺนํ ได้แก่ ทรงถึงพร้อมด้วยพระอาการเป็นอันมาก. อธิบายว่า ทรงประกอบด้วยพระคุณคืออาการมิใช่น้อย.
               คาถาว่า จนฺโท ยถา ดังนี้เป็นต้น
               พระเถระได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้อันพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ กับพวกเทวดาและนาคหลายพันห้อมล้อมอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณีคัคคราใกล้จัมปานคร ทรงไพโรจน์ด้วยวรรณะและพระยศของพระองค์ เกิดความโสมนัส เมื่อจะสดุดีจึงได้กล่าวไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จนฺโท ยถา วิคตวลาหเก นเภ ความว่า ในฤดูใบไม้ร่วง พระจันทร์เพ็ญย่อมไพโรจน์ในอากาศอันปราศจากเมฆฝน คือพ้นจากสิ่งเศร้าหมองอื่น เช่นกับเมฆและน้ำค้างเป็นต้นฉันใด (และ) เหมือนพระอาทิตย์ปราศจากมลทิน.
               อธิบายว่า ภาณุ คือพระอาทิตย์ที่ปราศจากมลทิน โดยปราศจากสิ่งเศร้าหมองมีเมฆฝนเป็นต้นนั้นนั่นแหละ ย่อมไพโรจน์ฉันใด.
               บทว่า เอวมฺปิ องฺคีรส ตฺวํ ความว่า ข้าแต่พระมหามุนีผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงโชติช่วง ด้วยความโชติช่วงอันเปล่งออกจากพระอวัยวะ แม้พระองค์ก็ฉันนั้น ย่อมรุ่งโรจน์ยิ่ง คือย่อมไพโรจน์ล่วงโลกพร้อมทั้งเทวโลกด้วยพระยศของพระองค์.
               คาถา ๑๐ คาถา มีคำว่า กาเวยฺยมตฺตา ดังนี้เป็นต้น พระวังคีสะบรรลุพระอรหัต พิจารณาข้อปฏิบัติของตน เมื่อจะประมาณพระคุณของพระศาสดาและคุณของตน ได้กล่าวไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเวยฺยมตฺตา ความว่า เป็นผู้ประมาณได้ คือผู้อันเขานับถือยกย่องทำให้เกิดคุณความดีด้วยกาพย์ คือด้วยการแต่งกาพย์.
               บทว่า อทฺทสาม แปลว่า ได้เห็นแล้ว.
               บทว่า อทฺธา๑- โน อุทปชฺชถ ความว่า ในพระรัตนตรัยเกิดขึ้นเพื่ออุดหนุนแก่พวกข้าพระองค์ตลอดกาลนาน.
____________________________
๑- บาลีว่า สทฺธา.

               บทว่า วจนํ ได้แก่ ธรรมกถาอันประกอบด้วยสัจจะ.
               บทว่า ขนฺเธ อายตนานิ จ ธาตุโย จ ได้แก่ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘. ในฐานะนี้ พึงกล่าวกถาว่าด้วยขันธ์เป็นต้น กถานั้นท่านให้พิสดารแล้วในวิสุทธิมรรคนั่นแล เพราะเหตุนั้น พึงทราบโดยนัยดังกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคนั้นนั่นแล.
               บทว่า วิทิตฺวาน ได้แก่ รู้ด้วยญาณอันเป็นส่วนเบื้องต้น โดยการจำแนกรูปเป็นต้น และโดยความไม่เที่ยงเป็นต้น.
               บทว่า เย เต สาสนการกา ความว่า พระตถาคตทั้งหลายอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์แก่เหล่าสัตว์เป็นอันมาก ผู้กระทำตามคำสอนของพระตถาคตทั้งหลาย.
               บทว่า เย นิยามคตทฺทสา มีโยชนาว่า นิยามคตะ ก็คือนิยามนั่นเอง, ภิกษุและภิกษุณีเหล่าใดได้เห็นคือได้บรรลุสัมมตนิยาม พระมุนีคือพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงบรรลุพระโพธิญาณคือพระสัมมาสัมโพธิญาณ เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุและภิกษุณีเหล่านั้นหนอ.
               บทว่า สุเทสิตา ความว่า ทรงแสดงดีแล้ว ทั้งโดยย่อและพิสดารสมควรแก่อัธยาศัยของเวไนยสัตว์.
               บทว่า จกฺขุมตา ได้แก่ ผู้มีจักษุด้วยจักษุ ๕. ชื่อว่าอริยสัจ เพราะอรรถว่าเป็นธรรมอันไม่มีข้าศึก อันผู้ใคร่ประโยชน์ตน พึงกระทำ คือคุณชาตอันกระทำความเป็นพระอริยะ หรือเป็นสัจจะของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นอริยะ.
               บทว่า ทุกฺขํ เป็นต้น เป็นบทแสดงสรุปอริยสัจเหล่านั้น, ในที่นี้พึงกล่าวอริยสัจจกถา, อริยสัจจกถานั้น ท่านให้พิสดารโดยประการทั้งปวงในวิสุทธิมรรค เพราะเหตุนั้น พึงทราบโดยนัยดังกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคนั้นนั่นแล.
               บทว่า เอวเมเต ตถา ความว่า อริยสัจธรรมมีทุกข์เป็นต้นนี้ เป็นของจริง คือของแท้ไม่เป็นอย่างอื่น โดยประการอย่างนั้น คือโดยประการที่เป็นทุกข์เป็นต้น.
               บทว่า วุตฺตา ทิฏฺฐา เม เต ยถา ตถา ความว่า พระศาสดาตรัสแล้วโดยประการใด ข้าพระองค์ก็เห็นแล้วโดยประการนั้น เพราะแทงตลอดอริยสัจเหล่านั้นอย่างนั้นด้วยอริยมรรคญาณ. ประโยชน์ของตน ข้าพระองค์บรรลุแล้วโดยลำดับ คือข้าพระองค์กระทำให้แจ้งพระอรหัตแล้ว และแต่นั้น ข้าพระองค์ได้กระทำคำสอนของพระพุทธเจ้า คือของพระผู้มีพระภาคเจ้าเสร็จแล้ว ได้แก่ตั้งอยู่แล้วในพระโอวาทและอนุศาสน์.
               บทว่า สฺวาคตํ วต เม อาสิ ความว่า การมาดีหนอ ได้มีแก่ข้าพระองค์แล้ว.
               บทว่า มม พุทฺธสฺส สนฺติเก ได้แก่ ในสำนัก คือในที่ใกล้พระสัมพุทธเจ้า คือพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา.
               บทว่า อภิญฺญาปารมิปฺปตฺโต ได้แก่ ได้บรรลุบารมี คือความสูงสุดแห่งอภิญญาทั้ง ๖.
               จริงอยู่ เพื่อจะเปิดเผยเนื้อความที่กล่าวไว้นั่นแหละ ด้วยบทนี้ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ชำระโสตธาตุให้หมดจด.
               คาถา ๑๒ คาถามีคำเริ่มต้นว่า ปุจฺฉามิ สตฺถารํ ดังนี้ พระวังคีสเถระเมื่อจะทูลว่าอุปัชฌาย์ของตนปรินิพพานแล้ว จึงกล่าวไว้.
               จริงอยู่ ในเวลาที่ท่านพระนิโครธกัปปเถระปรินิพพาน ท่านพระวังคีสะไม่ได้อยู่พร้อมหน้า. ก็ความรำคาญทางมือเป็นต้นของท่านพระนิโครธกัปปเถระนั้น พระวังคีสะนั้นเคยเห็นแล้ว และก็ด้วยอำนาจแห่งวาสนาที่อบรมไว้ในชาติก่อน ความรำคาญทางมือเป็นต้นเช่นนั้น ย่อมมีแม้แก่พระขีณาสพทั้งหลาย เหมือนอย่างท่านพระปิลินทวัจฉะร้องเรียกด้วยวาทะว่าคนถ่อยฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระวังคีสะเกิดความปริวิตกขึ้นว่า อุปัชฌาย์ของเราปรินิพพานหรือไม่หนอ. จึงได้ทูลถามพระศาสดา.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระวังคีสะเมื่อจะทูลถามว่า พระอุปัชฌาย์ปรินิพพาน (หรือเปล่า) จึงกล่าว (คาถา) ไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตฺถารํ ได้แก่ ผู้สั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลายด้วยทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์เป็นต้น.
               บทว่า อโนมปญฺญํ ความว่า ความลามกเล็กน้อย ท่านเรียกว่าโอมะ ต่ำทราม, ผู้มีปัญญาไม่ต่ำทราม ชื่อว่าอโนมปัญญะ. อธิบายว่า ผู้มีปัญญามาก.
               บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม ได้แก่ เห็นประจักษ์ชัด. อธิบายว่า ในอัตภาพนี้ทีเดียว.
               บทว่า วิจิกิจฺฉานํ ได้แก่ ผู้ตัดความสงสัย หรือความปริวิตกเห็นปานนั้น.
               บทว่า อคฺคาฬเว ได้แก่ ในวิหารกล่าวคืออัคคาฬวเจดีย์
               บทว่า ญาโต แปลว่า ปรากฏแล้ว.
               บทว่า ยสสฺสี ได้แก่ ผู้สมบูรณ์ด้วยลาภและสักการะ.
               บทว่า อภินิพฺพุตตฺโต ได้แก่ ผู้มีสภาพสงบระงับ คือมีจิตไม่เร่าร้อน.
               บทว่า ตยา กตํ ได้แก่ ผู้มีนามอันท่านตั้งว่านิโครธกัปปะ เพราะเป็นผู้นั่งอยู่โคนต้นนิโครธอันพร้อมด้วยร่มเงาเช่นนั้น. ดังนั้น ท่านจึงกล่าวเอาโดยประการที่ตนกำหนดไว้. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกท่านอย่างนั้น เพราะเป็นผู้นั่งเท่านั้นหามิได้ โดยที่แท้ตรัสเรียก แม้เพราะท่านบรรลุพระอรหัตที่โคนต้นนิโครธนั้น.
               ด้วยบทว่า พฺราหฺมณสฺส นี้ พระเถระกล่าวหมายชาติกำเนิด.
               ได้ยินว่า ท่านพระนิโครธกัปปเถระออกบวชจากตระกูลพราหมณ์มหาศาล.
               บทว่า นมสฺสํ อจรึ แปลว่า นมัสการอยู่.
               บทว่า มุตฺยเปโข ได้แก่ ผู้ดำรงอยู่แล้วในพระนิพพาน.
               พระวังคีสะเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ทฬฺหธมฺมทสฺสี ผู้ทรงเห็นธรรมอันมั่นคง. จริงอยู่ พระนิพพาน ชื่อว่าธรรมอันมั่นคง เพราะอรรถว่าไม่แตกทำลาย และพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นและทรงแสดงพระนิพพานนั้น.
               เรียกพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นแหละ โดยพระนามทางพระโคตรว่าพระศากยะ ดังนี้บ้าง.
               ด้วยบทว่า มยมฺปิ สพฺเพ นี้ พระเถระกล่าวแสดงตนรวมทั้งบริษัททั้งหมด.
               เรียกพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแหละว่า สมันตจักขุ ผู้มีพระจักษุรอบคอบ ดังนี้บ้าง ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ.
               บทว่า สมวฏฺฐิตา แปลว่า ตั้งลงโดยชอบ คือทำความคำนึงตั้งอยู่แล้ว.
               บทว่า โน แปลว่า ของข้าพระองค์ทั้งหลาย.
               บทว่า สวนาย ได้แก่ เพื่อต้องการฟังการพยากรณ์ปัญหานี้.
               บทว่า โสตา ได้แก่ โสตธาตุ.
               คำว่า ตุวํ โน สตฺถา ตฺวมนุตฺตโร นี้ พระเถระกล่าวด้วยอำนาจคำสดุดี.
               คำว่า ฉินฺท โน วิจิกิจฺฉํ นี้ พระเถระกล่าวหมายเอาความปริวิตกนั้นอันเป็นตัววิจิกิจฉาเทียม. ก็พระเถระเป็นผู้ไม่มีวิจิกิจฉาด้วยวิจิกิจฉาอันเป็นอกุศล.
               บทว่า พฺรูหิ เมตํ ความว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกพระนิโครธกัปปเถระนั่น. ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญามาก ขอพระองค์จงประกาศพราหมณ์ที่ข้าพระองค์อ้อนวอนพระองค์เหมือนอย่างเทวดาอ้อนวอนท้าวสักกะว่า ข้าแต่ท้าวสักกะ แม้ข้าพระองค์ทั้งหมดปรารถนาจะรู้พระสาวกนั้นว่าปรินิพพานแล้ว.
               บทว่า มชฺเฌว โน ภาส ความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีปัญญามาก พระองค์ทรงรู้ว่าปรินิพพานแล้ว จงตรัสบอกแก่มวลข้าพระองค์ในท่ามกลางทีเดียว โดยประการที่ข้าพระองค์ทั้งปวงจะพึงทราบ.
               ก็คำว่า สกฺโกว เทวาน สหสฺสเนตฺโต นี้ เป็นคำกล่าวสดุดีเท่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ในข้อนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้ :-
               ท้าวสักกะสหัสสนัยน์ ย่อมตรัสพระดำรัสที่เทพเหล่านั้นรับเอาโดยเคารพ ในท่ามกลางเทพทั้งหลายฉันใด ขอพระองค์โปรดตรัสพระดำรัสที่ข้าพระองค์ทั้งหลายรับเอา ในท่ามกลางข้าพระองค์ทั้งหลาย ฉันนั้น.
               คาถาแม้นี้ว่า เยเกจิ เป็นต้น พระเถระเมื่อจะสดุดีพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกราบทูลเพื่อให้เกิดความประสงค์เพื่อจะตรัส.
               ความแห่งคำอันเป็นคาถานั้นว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอภิชฌาเป็นต้น เมื่อยังไม่ละกิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่านั้น ท่านเรียกว่าโมหมัคคะ ทางแห่งความหลงบ้าง เรียกว่า อัญญาณปักขะ ฝ่ายแห่งความไม่รู้บ้าง เรียกว่าวิจิกิจฉฐาน ที่ตั้งวิจิกิจฉาบ้าง เพราะละโมหะและ วิจิกิจฉาทั้งหลาย (ไม่ได้) กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหมดนั้น พอถึงพระตถาคตเข้าถูกกำจัดด้วยเทศนาพละของพระตถาคต ย่อมไม่มี คือย่อมพินาศไป.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะจักษุของพระตถาคตนี้ เป็นจักษุชั้นยอดเยี่ยมของนรชน. ท่านอธิบายว่า เพราะพระตถาคตเป็นบรมจักษุของเหล่านรชน เพราะทำให้เกิดปัญญาจักษุด้วยการกำจัดกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง.
               พระเถระสดุดีอยู่นั่นแหละ เมื่อจะทำให้เกิดความประสงค์เพื่อจะตรัส จึงกล่าวคาถาแม้นี้ว่า โน เจ หิ ชาตุ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชาตุ เป็นคำกล่าวโดยส่วนเดียว.
               ด้วยบทว่า ปุริโส พระเถระกล่าวหมายเอาพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทว่า โชติมนฺโต ได้แก่ พระสารีบุตรเป็นต้นผู้สมบูรณ์ด้วยความโชติช่วงแห่งปัญญา ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า หากพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงฆ่ากิเลสทั้งหลายด้วยกำลังแห่งเทศนา เหมือนลมต่างด้วยลมทิศตะวันออกเป็นต้นทำลายกลุ่มหมอกฉะนั้น แต่นั้น โลกที่ถูกกลุ่มหมอกหุ้มห่อ ย่อมเป็นโลกมืดมนอนธการไปหมด ฉันใด ชาวโลกแม้ทั้งปวงก็ฉันนั้น ถูกความไม่รู้หุ้มห่อ ก็จะพึงเป็นชาวโลกผู้มืดมน.
               ก็บัดนี้ พระเถระมีพระสารีบุตรเป็นต้นซึ่งปรากฏโชติช่วงอยู่แม้นั้น ไม่พึงกล่าวคือไม่พึงแสดง.
               คาถาว่า ธีรา จ แม้นี้ พระเถระกล่าวโดยนัยอันมีในก่อนนั่นแหละ.
               ความแห่งคำอันเป็นคาถานั้นว่า ก็นักปราชญ์ทั้งหลาย คือบุรุษผู้เป็นบัณฑิต เป็นผู้กระทำความโชติช่วง คือทำความโชติช่วงแห่งปัญญาให้เกิดขึ้น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้แกล้วกล้า คือผู้ทรงประกอบด้วยปธานความเพียร เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงเข้าใจอย่างนั้นแหละ คือย่อมเข้าใจว่านักปราชญ์เป็นผู้กระทำความสว่างโชติช่วง, แม้ข้าพระองค์ทั้งหลายก็รู้อยู่แท้ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เห็นแจ้ง คือผู้ทรง เห็นธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง. เพราะฉะนั้น ขอพระองค์โปรดทรงกระทำให้แจ้งซึ่งท่านพระกัปปะแก่พวกข้าพระองค์ในท่ามกลางบริษัท คือโปรดกระทำให้แจ้ง คือโปรดทรงประกาศพระนิโครธกัปปะ ดุจปรินิพพานแล้วฉะนั้น.
               คาถาว่า ขิปฺปํ แม้นี้ พระเถระกล่าวโดยนัยอันมีในก่อนนั่นแหละ.
               เนื้อความแห่งคำอันเป็นคาถานั้นว่า:-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งพระวาจาได้เร็ว ไพเราะ คือทรงเปล่งไม่ช้า เปล่งพระวาจาได้ไพเราะจับใจ. เหมือนหงส์ คือหงส์ทองเมื่อหาเหยื่อ ได้เห็นชัฏป่าใกล้ชาตสระ จึงชูคอกระพือปีก ร่าเริงดีใจ ค่อย ๆ คือไม่รีบด่วน ส่งเสียงคือเปล่งเสียงไพเราะ ฉันใด พระองค์ก็เหมือนอย่างนั้น ขอจงค่อยๆ ตรัสด้วยพระสุรเสียงอันกลมกล่อม อันเป็นพระมหาปุริสลักษณะอย่างหนึ่งซึ่งพระบุญญาธิการได้ปรุงแต่งมาดีแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหมดนี้ตั้งใจ คือมีใจไม่ฟุ้งซ่าน จะฟังพระดำรัสของพระองค์.
               แม้คำว่า ปหีนชาติมรณํ นี้ พระเถระได้กล่าวแล้วโดยนัยก่อนเหมือนกัน.
               ในคำนั้น ที่ชื่อว่าอเสสะ เพราะไม่เหลือ, ชาติและมรณะที่ละได้แล้วนั้น ไม่มีเหลือ.
               อธิบายว่า ชาติและมรณะที่ละได้แล้ว ไม่เหลืออะไรๆ เหมือนพระโสดาบันเป็นต้น.
               บทว่า นิคฺคยฺห ได้แก่ ตระเตรียม.
               บทว่า โธนํ ได้แก่ กำจัดบาปทั้งปวงได้แล้ว.
               บทว่า วเทสฺสามิ ความว่า ข้าพระองค์จักขอให้ตรัสธรรม.
               บทว่า น กามกาโร โหติ ปุถุชฺชนานํ ความว่า บุคคลผู้กระทำตามความประสงค์ของบุคคล ๓ จำพวก มีปุถุชนและพระเสขะเป็นต้น ย่อมไม่มี คนทั้ง ๓ พวกนั้นย่อมไม่อาจรู้หรือกล่าวธรรมตามที่ตนต้องการได้.
               บทว่า สงฺเขยฺยกาโร จ ตถาคตานํ ความว่า ส่วนพระตถาคตทั้งหลายมีการกระทำด้วยการพิจารณา คือมีการกระทำอันมีปัญญาเป็นหัวหน้า. อธิบายว่า พระตถาคตทั้งหลายนั้นย่อมสามารถแท้ที่จะรู้หรือกล่าวธรรมที่ตนต้องการได้.
               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะประกาศการกระทำด้วยการพิจารณานั้น จึงกล่าวคาถาว่า สมฺปนฺนเวยฺยากรณํ ดังนี้เป็นต้น.
               ความแห่งคำอันเป็นคาถานั้นว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               จริงอย่างนั้น พระดำรัสนี้ พระองค์ผู้มีพระปัญญาตรงจริง คือมีพระปัญญาอันดำเนินไปตรง เพราะไม่กระทบกระทั่งในที่ทุกสถาน พระองค์ตรัสไว้คือประกาศไว้ชอบแล้ว เป็นพระดำรัสมีไวยากรณ์สมบูรณ์ ยึดถือได้คือยึดถือได้โดยถูกต้อง เห็นได้อย่างไม่วิปริตผิดแผก มีอาทิอย่างนี้ว่า สันตติมหาอำมาตย์เหาะขึ้นประมาณ ๗ ชั่วลำตาลแล้วจักปรินิพพาน, สุปปพุทธศากยะจักถูกแผ่นดินสูบในวันที่ ๗, พระเถระประนมอัญชลีอันงดงามแล้วจึงกราบทูลอีก.
               บทว่า อยมญฺชลิ ปจฺฉิโม สุปฺปณามิโต ความว่า อัญชลีนี้แม้จะเป็นอัญชลีครั้งหลัง ก็นอบน้อมอย่างดีทีเดียว.
               บทว่า มา โมหยี ชานํ ความว่า พระองค์เมื่อทรงทราบคติของท่านพระกัปปะนั้น โปรดอย่าทรงลืม เพราะยังไม่ตรัสแก่ข้าพระองค์.
               พระเถระเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อโนมปญฺญ ผู้มีพระปัญญาไม่ต่ำทราม.
               ก็คาถานี้มีคำเริ่มต้นว่า ปโรปรํ ดังนี้ พระเถระเมื่อจะทูลอ้อนวอน มิให้ทรงลืมโดยปริยายแม้อื่นอีก จึงกล่าวไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปโรปรํ ความว่า ดีและไม่ดี คือไกลหรือใกล้ ด้วยอำนาจโลกิยะและโลกุตระ.
               บทว่า อริยธมฺมํ ได้แก่ สัจธรรมทั้ง ๔.
               บทว่า วิทิตฺวา แปลว่า รู้แจ้งแล้ว.
               บทว่า ชานํ ได้แก่ ทรงทราบไญยธรรมทั้งปวง.
               บทว่า วาจาภิกงฺขามิ ความว่า ข้าพระองค์หวังได้พระวาจาของพระองค์ เหมือนในฤดูร้อน คนมีร่างกายร้อนลำบากอยากได้น้ำฉะนั้น.
               บทว่า สุตํ ปวสฺส ความว่า ขอพระองค์โปรดโปรยปรายคือหลั่งโปรย ประกาศสัททายตนะกล่าวคือเสียงที่ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว.
               บาลีว่า สุตสฺส วสฺส ดังนี้ก็มี.
               อธิบายว่า จงโปรยฝนแห่งสัททายตนะมีประการดังกล่าวแล้ว.
               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะประกาศวาจาเช่นที่ตนจำนงหวัง จึงกล่าวคาถาว่า ยทตฺถิกํ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กปฺปายโน พระเถระกล่าวถึงท่านพระกัปปะนั่นแหละ ด้วยอำนาจความเคารพบูชา.
               บทว่า ยถา วิมุตฺโต ความว่า พระเถระทูลถามว่า ท่านพระกัปปะนิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เหมือนพระอเสขะ หรือว่าด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เหมือนพระเสขะ.
               คำที่เหลือในที่นี้ปรากฏชัดแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าอันพระวังคีสเถระทูลอ้อนวอนด้วยคาถา ๑๒ คาถาอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงพยากรณ์ท่านพระนิโครธกัปปเถระ จึงได้ตรัสคาถามีอาทิว่า อจฺเฉจฺฉิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อจฺเฉจฺฉิ ตณฺหํ อิธ นามรูเป ตณฺหาย โสตํ ทีฆรตฺตานุสยิต ความว่า ตัณหาต่างด้วยกามตัณหาเป็นต้น ในนามรูปนี้อันนอนเนื่องอยู่นาน เพราะอรรถว่ายังละไม่ได้ ท่านเรียกว่ากระแสแห่งมารผู้มีชื่อว่า กัณหะ ดังนี้บ้าง, ท่านพระกัปปายนะได้ตัดตัณหาในนามรูปนี้อันนอนเนื่องอยู่ ซึ่งเป็นกระแสแห่งมารชื่อว่า กัณหะ นั้นแล้ว.
               ก็คำว่า อิติ ภควา นี้ เป็นคำของพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย.
               ด้วยบทว่า อตาริ ชาตึ มรณํ อเสสํ นี้ ท่านแสดงว่า พระนิโครธกัปปะนั้นตัดตัณหานั้นได้แล้ว ข้ามชาติและมรณะได้สิ้นเชิง คือปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ, พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐด้วยพระจักษุ ๕ ได้ตรัสเท่านี้.
               อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐด้วยอินทรีย์ ๕ มีสัทธินทรีย์เป็นต้น หรือด้วยพระจักษุทั้งหลายอันไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น ถูกท่านพระวังคีสะทูลถาม จึงได้ตรัสอย่างนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปญฺจเสฏฺโฐ ได้แก่ ผู้ประเสริฐคือสูงสุด ล้ำเลิศด้วยธรรมขันธ์ ๕ มีศีลขันธ์เป็นต้น หรือด้วยเหตุสัมปทาเป็นต้น ๕ ดังนั้น
               แม้คำนี้ก็เป็นคำของพระสังคีติกาจารย์.
               เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระวังคีสะมีใจชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงกล่าวคาถาว่า เอส สุตฺวา ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น มํ วญฺเจสิ ในคาถาแรก มีความว่า เพราะเหตุที่ท่านพระนิโครธกัปปะปรินิพพานแล้ว ฉะนั้น พระองค์จะไม่ลวงข้าพระองค์ผู้ปรารถนาว่า ท่านพระนิโครธกัปปะนั้นปรินิพพานแล้ว.
               อธิบายว่า ไม่ตรัสให้เคลื่อนคลาด.
               ความที่เหลือปรากฏชัดแล้ว.
               ในคาถาที่ ๒ เพราะเหตุที่ท่านพระนิโครธกัปปะมุ่งความหลุดพ้นอยู่ เพราะฉะนั้น พระวังคีสะหมายเอาพระนิโครธกัปปะนั้น จึงทูลว่า สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีปกติกล่าวอย่างใดทำอย่างนั้น.
               บทว่า มจฺจุโน ชาลํ ตตํ ได้แก่ ข่ายคือตัณหาของมารอันแผ่ไปในวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓.
               บทว่า มายาวิโน แปลว่า ผู้มีมายามาก. บางอาจารย์กล่าวว่า ตถา มายาวิโน ดังนี้ก็มี. อาจารย์บางพวกนั้นอธิบายว่า มารผู้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าหลายครั้ง ด้วยมายาหลายประการนั้น มีมายาอย่างนั้น.
               ในคาถาที่ ๓ บทว่า อาทึ ได้แก่ มูลเหตุ.
               บทว่า อุปาทานสฺส ได้แก่ แห่งวัฏฏะ.
               วัฏฏะ ท่านเรียกว่าอุปาทาน เพราะอรรถว่าอันกรรมกิเลสทั้งหลายที่รุนแรงยึดมั่น.
               ท่านพระนิโครธกัปปเถระได้เห็นเบื้องต้นแห่งอุปาทานนั้น ได้แก่เหตุอันต่างด้วยอวิชชาและตัณหาเป็นต้น ด้วยญาณจักษุ.
               พระเถระกล่าวโดยประสงค์ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ควรตรัสอย่างนี้ว่า พระกัปปะผู้กัปปิยโคตร.
               บทว่า อจฺจคา วต แปลว่า ล่วงไปแล้วหนอ.
               บทว่า มจฺจุเธยฺยํ ความว่า ชื่อว่าบ่วงมัจจุราช เพราะเป็นที่ที่มัจจุราชดักไว้ ได้แก่วัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓.
               พระเถระเกิดความปลื้มใจ จึงกล่าวว่า ท่านนิโครธกัปปะได้ล่วงพ้นบ่วงมัจจุราชที่ข้ามได้แสนยากไปแล้วหนอ.
               บัดนี้ พระวังคีสะมีใจเลื่อมใสในพระศาสดาและในอุปัชฌาย์ของตน เมื่อจะประกาศอาการที่เลื่อมใส จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า ตํ เทวเทวํ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ เทวเทวํ วนฺทามิ ความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เลิศกว่าสัตว์ ๒ เท้า ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระองค์ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ เพราะเป็นเทพดา ผู้สูงสุดกว่าเทพแม้ทั้งหมดเหล่านั้น คือสมมติเทพ อุปปัตติเทพ วิสุทธิเทพ. จะถวายบังคมเฉพาะพระองค์อย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ โดยที่แท้ ข้าพระองค์ขอไหว้พระนิโครธกัปปะด้วย ผู้ชื่อว่าอนุชาตบุตร เพราะเกิดแต่ธรรมอัน สมควรแก่การตรัสรู้สัจจะของพระองค์ ชื่อว่าผู้แกล้วกล้ามาก เพราะมีความเพียรมากโดยได้ชนะมาร ชื่อว่าผู้ประเสริฐ เพราะอรรถว่าไม่ทำชั่วเป็นต้น ชื่อว่าผู้เป็นโอรสคือบุตร เพราะมีชาติอันความพยายามให้เกิดแล้วที่พระอุระของพระองค์.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สัฏฐิกนิบาต ๑. วังคีสเถรคาถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 400อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 401อ่านอรรถกถา 26 / 402อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8643&Z=8881
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=12997
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=12997
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :