ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 400อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 401อ่านอรรถกถา 26 / 402อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สัฏฐิกนิบาต
๑. วังคีสเถรคาถา

หน้าต่างที่ ๔ / ๔.

               พระมหาเถระ ๒๖๔ องค์เหล่านี้มีพระสุภูติเป็นองค์แรก มีพระวังคีสะเป็นองค์สุดท้าย ท่านยกขึ้นไว้ในพระบาลี ณ ที่นี้ด้วยประการฉะนี้ พระมหาเถระเหล่านั้นเป็นอย่างเดียวกันโดยความเป็นพระอเสขะ โดยเป็นผู้ถอดกลอนแล้ว โดยเป็นผู้มีความเห็นเข้ากันได้ โดยเป็นผู้ถอนเสาระเนียดขึ้นแล้ว โดยเป็นผู้ปลอดอุปสรรค โดยเป็นผู้มีทางไกลอันถึงแล้ว โดยเป็นผู้ปลงภาระแล้ว โดยเป็นผู้พรากได้แล้ว และโดยเป็นผู้มีธรรมเครื่องอยู่อันอยู่แล้วในอริยวาส ๑๐ ประการ เหมือนเป็นอย่างเดียวกัน โดยความเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               จริงอย่างนั้น พระมหาเถระเหล่านั้นละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๖ มีธรรมเครื่องอารักขา ๑ มีธรรมเครื่องอิงอาศัย ๔ มีสัจจะ เฉพาะอย่างบรรเทาแล้ว มีการแสวงหา ๖๐ ประการอันเป็นไปร่วมกัน มีความดำริไม่ขุนมัว มีกายสังขารสงบระงับ มีจิตพ้นดีแล้ว และมีปัญญาพ้นดีแล้ว.
               ท่านเป็นอย่างเดียวกัน โดยนัยมีอาทิดังพรรณนามาฉะนี้.
               ท่านเป็น ๒ อย่าง คืออุปสมบทด้วยเอหิภิกขุกับไม่อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุ.
               ในข้อที่ว่าเป็น ๒ อย่างนั้น พระปัญจวัคคีย์เถระมีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นประธาน พระยสเถระ สหายของท่าน ๔ คน คือวิมละ สุพาหุ ปุณณชิ ควัมปติ สหายของท่านแม้อื่นอีก ๕๕ คน ภัททวัคคีย์ ๓๐ ปุราณชฎิล ๑,๐๐๐ มีพระอุรุเวลกัสสปเป็นประธาน, พระอัครสาวก ๒ ปริพาชกผู้เป็นบริวารของท่าน ๒๕๐, พระองคุลิมาลเถระ รวมทั้งหมด ๑,๓๕๐.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         พระเถระอื่นๆ อีกเหล่านี้ จำนวน ๑,๓๕๐#-
                         เป็นผู้มีปัญญามาก ทั้งหมดเป็นเอหิภิกษุ.
____________________________
#- นับตามอรรถกถาได้ ๑,๓๔๘ ถ้ารวมหัวหน้าชฎิลทั้งสามจะได้ ๑,๓๕๑.

               มิใช่พระเถระเหล่านี้เท่านั้น โดยที่แท้พระเถระแม้เหล่าอื่นก็มีอยู่มาก คือเสลพราหมณ์, พราหมณ์ ๓๐๐ ผู้เป็นศิษย์ของเสลพราหมณ์, ท่านมหากัปปินะ บุรุษ ๑,๐๐๐ ผู้เป็นบริวารของท่าน, บุรุษชาวเมืองกบิลพัสดุ์ ๑๐,๐๐๐ คนที่พระเจ้าสุทโธทมหาราชทรงส่งไป, มาณพ ๑๖ คนมีอชิตมาณพเป็นต้นผู้เป็นศิษย์ของมหาพาวรีพราหมณ์ มีประมาณ ๑,๐๐๐.
               พระเถระอื่นจากที่กล่าวแล้วอย่างนี้ไม่ได้อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุ แต่ท่านได้รับการอุปสมบทด้วยสรณคมน์ ๑ อุปสมบทด้วยรับการโอวาท ๑ อุปสมบทด้วยพยากรณ์ปัญหา ๑ อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม ๑.
               จริงอยู่ พระเถระทั้งหลายข้างต้นเข้าถึงความเป็นเอหิภิกขุ,
               แม้การอุปสมบทด้วยสรณคมน์ ๓ นั่นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงอนุญาตแก่พระเถระเหล่านั้น เหมือนทรงอนุญาตการบรรพชาฉะนั้น นี้เป็นการอุปสมบทด้วยสรณคมน์.
               ก็การอุปสมบทที่ทรงอนุญาตแก่พระมหากัสสปเถระ โดยการรับโอวาทนี้ว่า
               กัสสป เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเข้าไปตั้งหิริโอตตัปปะอย่างแรงกล้าไว้ในพระเถระ ผู้ใหม่และปานกลาง, กัสสป เธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ. กัสสป เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอันประกอบด้วยกุศล จักกระทำธรรมทั้งหมดนั้นให้มีประโยชน์ กระทำไว้ในใจ ประมวลไว้ด้วยใจทั้งหมด จักเงี่ยหูฟังธรรม กัสสป เธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ. กัสสป เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักไม่ละสติอันไปในกาย อันไปพร้อมกับความยินดี กัสสป เธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ.
               นี้ชื่อว่าอุปสมบทโดยการรับโอวาท.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อเสด็จจงกรมอยู่ที่บุพพาราม ตรัสถามปัญหาอิงอสุภ โดยนัยมีอาทิว่า โสปากะ ธรรมเหล่านี้ที่ว่า อุทธุมาตกสัญญา หรือรูปสัญญา มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกัน หรือว่ามีอรรถอย่างเดียวกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน ดังนี้.
               โสปากสามเณรมีอายุ ๗ ขวบผู้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลแก้ปัญหาโดยนัยมีอาทิว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ธรรมเหล่านี้ที่ว่า อุทธุมาตกสัญญา หรือรูปสัญญา มีอรรถอย่างเดียวกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน ดังนี้ ทรงมีพระทัยโปรดปรานว่า โสปากะนี้ เทียมกับพระสัพพัญญุตญาณแล้วแก้ปัญหานี้ จึงทรงอนุญาตการอุปสมบท.
               นี้ชื่อว่าการอุปสมบทโดยพยากรณ์ปัญหา.
               การอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม ปรากฏชัดแล้ว.
               แม้โดยประเภทอุปสมบทต่อหน้าและลับหลังก็มี ๒ อย่าง เหมือนอุปสมบทมี ๒ อย่าง คือ อุปสมบทโดยเป็นเอหิภิกขุกับไม่อุปสมบทโดยเป็นเอหิภิกขุ.
               จริงอยู่ พระสาวกทั้งหลายผู้เกิดในอริยชาติในเวลาที่พระศาสดาทรงพระชนม์อยู่ มีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นต้น ชื่อว่าพระสาวกต่อพระพักตร์. ส่วนพระสาวกใดผู้บรรลุคุณวิเศษภายหลังพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพาน พระสาวกนั้น แม้เมื่อพระสรีระคือธรรมของพระศาสดามีประจักษ์อยู่ ก็ชื่อว่าพระสาวกลับหลัง เพราะพระสรีระร่างของพระศาสดาไม่ประจักษ์แล้ว.
               อนึ่ง พึงทราบพระสาวก ๒ พวก คือเป็นอุภโตภาควิมุตติ ๑ เป็นปัญญาวิมุตติ ๑ แต่พระสาวกที่มาในพระบาลีในที่นี้ พึงทราบว่า เป็นอุภโตภาควิมุตติเท่านั้น.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
                         คุณวิเศษเหล่านี้ คือ วิโมกข์ ๘ อภิญญา ๖
                         เราทำให้แจ้งแล้ว.
               โดยประเภทพระสาวกที่มีอปทาน และไม่มีอปทานก็เหมือนกัน
               ก็พระสาวกเหล่าใดมีอปทาน กล่าวคือสาวกบารมีที่เป็นไปด้วยบุญกิริยาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพุทธสาวกแต่ปางก่อน พระสาวกเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้มีอปทาน เหมือนพระเถระทั้งหลายผู้มาในบาลีอปทาน. ส่วนพระเถระเหล่าใดไม่มีอปทาน พระเถระเหล่านั้นชื่อว่าไม่มีอปทาน.
               ถามว่า ก็เว้นจากความถึงพร้อมแห่งเหตุในชาติก่อนเสียทั้งหมด การตรัสรู้สัจจะจะมีได้ไหม?
               ตอบว่า มีไม่ได้. เพราะการบรรลุอริยมรรคย่อมไม่มีแก่ผู้เว้นจากอุปนิสัยสมบัติ เพราะการบรรลุอริยมรรคนั้นมีสภาพกระทำยากและเกิดมีได้ยากมาก.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สิ่งไหนหนอแล ทำได้ยากกว่าหรือเกิดมีได้ยากกว่า ดังนี้เป็นต้น.
               ถ้าเมื่อเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุไร จึงกล่าวว่า ก็พระเถระผู้ไม่มีอปทานนั้น ชื่อว่าไม่มีอปทานเรื่องราว. คำนี้แหละไม่พึงเห็นว่า พระเถระเหล่าใดเว้นจากอุปนิสัยสมบัติเสียโดยประการทั้งปวง พระเถระเหล่านั้นไม่มีอปทานเรื่องราว ดังนี้ เพราะพระเถระเช่นนั้นไม่ประสงค์เอาในที่นี้.
               ส่วนพระเถระเหล่าใดไม่มีเรื่องราวที่เด่นจริง พระเถระเหล่านั้นท่านกล่าวไว้ในที่นี้ว่า ไม่มีอปทานคือเรื่องราว, พระเถระที่เว้นจากอุปนิสัยเสียทั้งหมดก็เหมือนกัน ท่านไม่กล่าวว่า ไม่มีอปทาน.
               จริงอย่างนั้น ในพุทธุปบาทกาล สัตว์เหล่านี้เมื่อเห็นอานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอันแพร่ไปด้วยความสง่าผ่าเผยแห่งพระคุณอันเป็นอจินไตยน่าอัศจรรย์ ย่อมกลับได้ความศรัทธาในพระศาสดา เพราะทรงเป็นผู้นำความเลื่อมใสมาแม้โดยประการทั้งปวงแก่ชาวโลกผู้ถือประมาณ ๔ จำพวก.
               อนึ่ง ย่อมได้เฉพาะศรัทธาในพระสัทธรรม ด้วยการได้ฟังพระสัทธรรม ด้วยการได้เห็นความปฏิบัติชอบของพระสาวกทั้งหลาย ด้วยการได้เห็นอภินิหารอันวิจิตรแห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณของพระมหาโพธิสัตว์ในกาลบางครั้งบางคราว และด้วยได้รับโอวาทและอนุศาสน์ในสำนักของพระมหาโพธิสัตว์เหล่านั้น
               สัตว์เหล่านั้นได้เฉพาะศรัทธาในการฟังพระสัทธรรมเป็นต้นนั้น ถ้าแม้เห็นโทษในสงสารและอานิสงส์ในพระนิพพาน แต่เพราะยังมีกิเลสธุลีในดวงตามาก จึงยังไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ ย่อมปลูกพืชคือกุศลอันเป็นนิสัยแก่วัฏฏะลงไว้ในสันดานของตนๆ ในระหว่างๆ เพราะการคบหาสัปบุรุษเป็นสิ่งมีอุปการะมาก
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         ผิว่าเราพลาดศาสดาของพระโลกนาถพระองค์นี้ไซร้
               ในอนาตกาล เราจักได้อยู่พร้อมหน้าพระโพธิสัตว์องค์นี้
               มนุษย์ทั้งหลาย เมื่อข้ามแม่น้ำพลาดจากท่าตรงหน้า ก็
               ยึดท่าข้างใต้ไว้ ย่อมข้ามแม่น้ำใหญ่ได้ฉันใด เราทั้งหมด
               ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพ้นพระชินเจ้าพระองค์นี้ไป ใน
               อนาคตกาลจักได้อยู่พร้อมหน้าพระโพธิสัตว์นี้.
               ใครๆ ไม่อาจกล่าวได้ว่า กุศลจิตที่บุคคลให้เกิดขึ้นเฉพาะเจาะจงพระนิพพานอย่างนี้ ย่อมไม่เป็นอุปนิสัยแก่การบรรลุวิโมกข์ ในระหว่างกาลสี่อสงไขยแสนกัป. จะป่วยกล่าวไปไยถึงกุศลจิตที่ดำเนินไป เพราะทำบุญญาธิการด้วยอำนาจความปรารถนา.
               พระสาวกเหล่านี้แม้มี ๒ อย่างด้วยประการอย่างนี้.
               พระสาวกมี ๓ อย่าง คืออัครสาวก มหาสาวก ปกติสาวก.
               บรรดาพระสาวก ๓ พวกนั้น พระสาวกเหล่านี้ คือท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ พระอัสสชิ พระนาลกะ พระยสะ พระวิมละ พระสุพาหุ พระปุณณชิ พระควัมปติ พระอุรุเวลกัสสปะ พระนทีกัสปะ พระคยากัสปะ พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระมหากัจจายนะ พระมหาโกฏฐิตะ พระมหากัปปินะ พระมหาจุนทะ พระอนุรุทธะ พระกังขาเรวตะ พระอานันทะ พระนันทกะ พระภคุ พระนันทะ พระกิมพิละ พระภัททิยะ พระราหุล พระสีวลี พระอุบาลี พระทัพพะ พระอุปเสนะ พระขทิรวนิยเรวตะ พระปุณณมันตานีบุตร พระปุณณสุนาปรันตะ พระโสณกุฏิกัณณะ พระโสณโกฬิวิสะ พระราธะ พระสุภูติ พระองคุลิมาล พระวักกลิ พระกาฬุทายี พระมหาอุทายี พระปิลินทวัจฉะ พระโสภิตะ พระกุมารกัสปะ พระรัฏฐปาละ พระวังคีสะ พระสภิยะ พระเสละ พระอุปวานะ พระเมฆิยะ พระสาตะ พระนาคิตะ พระลกุณฏกภัททิยะ พระปิณโฑลภารทวาชะ พระมหาปันถกะ พระจูฬปันถกะ พระพากุละ พระกุณฑธานะ พระทารุจีริยะ พระยโสชะ พระอชิตะ พระติสสเมตเตยยะ พระปุณณกะ พระเมตตคู พระโธตกะ พระอุปสิวะ พระนันทะ พระเหมกะ พระโตเทยยะ พระกัปปะ พระชตุกัณณิ พระภัทราวุธะ พระอุทยะ พระโปสาละ พระโมฆราชะ พระปิงคิยะ ชื่อว่าเป็นพระอสีติมหาสาวก.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระเถระเหล่านั้นเท่านั้น จึงเรียกว่ามหาสาวก?
               ตอบว่า เพราะเป็นผู้มีอภินิหารมาก.
               จริงอย่างนั้น แม้พระอัครสาวกทั้งสองก็จัดเข้าในพระมหาสาวกทั้งหลาย ด้วยว่าพระอัครสาวกเหล่านั้นแม้ดำรงอยู่ในตำแหน่งอันเลิศ เพราะบรรลุธรรมอันเลิศในพระสาวกทั้งหลาย โดยถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ ก็เรียกว่ามหาสาวกดังนี้บ้าง เพราะความเสมอกันโดยความเป็นผู้มีอภินิหารมาก.
               ส่วนพระมหาสาวกอื่นๆ เป็นผู้มีอภินิหารมากยิ่งกว่าปกติสาวกทั้งหลาย.
               จริงอย่างนั้น ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ พระอัครสาวกทั้งสองนั้นได้กระทำความปรารถนาไว้ เพราะเหตุนั้นแล จึงเป็นผู้เชี่ยวชาญในอภิญญาและสมาบัติอย่างดียิ่ง กับทั้งเป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา.
               พระอรหันต์แม้ทั้งปวงทำศีลวิสุทธิเป็นต้นให้สมบูรณ์ มีจิตตั้งลงเฉพาะในสติปัฏฐาน ๔ เจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง ทำกิเลสทั้งหลายให้สิ้นไปอย่างสิ้นเชิงตามลำดับมรรค ย่อมดำรงอยู่ในอรหัตผลโดยแท้ แม้ถึงอย่างนั้น พระอรหันต์เหล่านั้นชื่อว่าเป็นพระมหาสาวก เพราะเป็นสาวกผู้ใหญ่ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น เพราะเป็นผู้สำเร็จด้วยคุณวิเศษอันดียิ่งในสันดานของตน โดยความเป็นผู้ใหญ่ด้วยอภินิหาร และเป็นผู้ใหญ่ด้วยบุรพประโยค เหมือนภาวนาพิเศษอันเป็นส่วนเบื้องต้นของท่านผู้เป็นทิฏฐิปัตตะเป็นคุณวิเศษที่ปรารถนาได้แน่ เพราะเป็นผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา และของผู้เป็นอุภโตภาควิมุตติ ก็เป็นคุณวิเศษที่ปรารถนาได้แน่ เพราะเป็นผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาฉะนั้น.
               กับบรรดาพระมหาสาวกเหล่านั้นแหละ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะดำรงอยู่ในความเลิศด้วยคุณทั้งปวงพร้อมด้วยความวิเศษเพื่อบรรลุบารมีอันอุกฤษฎ์ในปัญญาและสมาธิตามลำดับ ด้วยการปฏิบัติชอบอันตั้งมั่นแล้ว ตลอดกาลนานหาระหว่างมิได้ โดยความเคารพอันนำมาเฉพาะอภินิหารอันเกิดแต่เหตุนั้น อันเป็นเหตุแห่งความสำเร็จในกิจอื่นอันดียิ่งของสัมมาทิฏฐิและสัมมาสมาธิอันเป็นตัวธุระ โดยเป็นประธานในโพธิปักขิยธรรมทั้งหลาย. แม้เมื่อความเป็นมหาสาวกจะมีอยู่ ก็เรียกว่าอัครสาวก เพราะเป็นผู้ตั้งอยู่ในความเป็นยอดแห่งสาวกทั้งปวงอันเป็นสุดแห่งสาวกบารมี เพราะเป็นผู้ใหญ่ด้วยอภินิหาร และเพราะเป็นผู้ใหญ่ด้วยบุรพประโยคความเพียรเครื่องประกอบในกาลก่อน.
               ก็พระอริยสาวกเหล่าใด เปรียบไม่ได้เลย ดุจพระอัครสาวกและมหาสาวก โดยที่แท้มีเป็นหลายร้อย หลายพัน, พระอริยสาวกเหล่านั้นเป็นปกติสาวก. แต่พระอริยสาวกที่ยกขึ้นสู่บาลีในที่นี้ พอนับจำนวนได้เพราะกำหนดนับเอาด้วยคาถา แม้ถึงอย่างนั้น บรรดาพระมหาสาวกทั้งหลายบางพวกก็ไม่ได้ยกขึ้นสู่บาลีในที่นี้.
               พระอริยสาวกเหล่านั้นแม้มี ๓ เหล่าดังกล่าวมานี้ ก็มีเป็น ๓ เหล่าโดยประเภทอนิมิตวิโมกข์เป็นต้น ทั้งมีเป็น ๓ เหล่าด้วยการบรรลุวิโมกข์ก็มี.
               จริงอยู่ วิโมกข์มี ๓ ดังนี้ คือสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์. ก็วิโมกข์ ๓ เหล่านั้นมีสุญญตาเป็นต้น พึงบรรลุด้วยอนุปัสสนา ๓ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น. ก็เบื้องต้นย่อมมีการยึดเอาวิปัสสนาด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาอาการมีความไม่เที่ยงเป็นต้น.
               ก็ในกาลใด เมื่อวิปัสสนาอันเป็นวุฏฐานคามินี พิจารณาสังขารทั้งหลายโดยอาการไม่เที่ยง การออกจากกิเลสด้วยมรรคย่อมมี ในกาลนั้น วิปัสสนายังไม่ได้ชื่อว่าอนิมิต เพราะเมื่อการถอนราคะนิมิตเป็นต้นแม้จะมีอยู่ แต่วิปัสสนานั้นยังไม่ละสังขารนิมิต จึงไม่อาจให้ชื่อว่าอนิมิตแก่มรรคของตน.
                         ยทา ปน วุฏฺฐานคามินิยา วิปสฺสนาย อนิจฺจาการโต
               สงฺขา เรสมฺมสนฺติยา มคฺควุฏฺฐานํ โหติ ตทา วิปสฺสนา
               สติปิ ราคนิมิตฺตาทีนํ สมุคฺฆาฏเน สงฺขารนิมิตฺตํ ปน สา
               น วิสฺสชฺเชตีติ นิปฺปริยาเยน อนิมิตฺตนามํ อลภมานา
               อตฺตโน มคฺคสฺส อนิมิตฺตนามํ ทาตุํ น สกฺโกนฺตีติ ฯ

               ท่านไม่ได้ยกอนิมิตตวิโมกข์ขึ้นไว้ในอภิธรรมก็จริง ถึงอย่างนั้นในพระสูตรย่อมมีได้ เพราะถอนนิมิตมีราคะเป็นต้นแล.
               จริงอยู่ ท่านกล่าวความที่วิปัสสนาเป็นอนิมิตตวิโมกข์ และความที่ธรรมอันยอดเยี่ยมเป็นอนิมิตวิโมกข์ไว้ โดยนัยมีอาทิว่า๑-
                         ท่านจงเจริญวิปัสสนาอันหานิมิตมิได้ และจงถอน
               อนุสัยคือมานะ แต่นั้นเพราะละมานะได้ ท่านจักเป็นผู้
               สงบระงับ เที่ยวไป ดังนี้.
____________________________
๑- สํ.สคา. เล่ม ๑๕/ข้อ ๗๓๗

               ในกาลใด เมื่อวิปัสสนาอันเป็นวุฏฐานคามินี พิจารณาสังขารทั้งหลายโดยเป็นทุกข์ การออกจากกิเลสด้วยมรรคย่อมมี ในกาลนั้น วิปัสสนาย่อมได้ชื่อว่าอัปปณิหิตะ เพราะถอนปณิธิคือที่ตั้งของราคะเป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงมีชื่อว่าอัปปณิหิตวิโมกข์ และมรรคในลำดับแห่งวิปัสสนาอันเป็นอัปปณิหิตวิโมกข์นั้น ก็เป็นอัปปณิหิตวิโมกขมรรค.
               ก็ในกาลใด เมื่อวิปัสสนาอันเป็นวุฏฐานคามินี พิจารณาสังขารโดยอาการเป็นอนัตตา ย่อมมีการออกจากกิเลสด้วยมรรค ในกาลนั้นวิปัสสนาย่อมได้ชื่อว่าสุญญตะ เพราะถอนอัตตทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุนั้น จึงได้ชื่อว่าสุญญตวิโมกข์ และมรรคในลำดับแห่งวิปัสสนาอันเป็นสุญญตะนั้น ก็ได้ชื่อว่าสุญญตวิโมกขมรรค
               บรรดาวิโมกข์ ๓ อันเป็นอรหัตมรรคนี้ พระเถระเหล่านี้บางพวกหลุดพ้นด้วยอนิมิตวิโมกข์, บางพวกหลุดพ้นด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์, บางพวกหลุดพ้นด้วยสุญญตวิโมกข์ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มี ๓ พวกโดยประการแห่งอนิมิตวิโมกข์เป็นต้น แม้เพราะการบรรลุวิโมกข์ก็มี ๓ พวก.
               มี ๔ พวก โดยวิภาคแห่งปฏิปทา.
               จริงอยู่ ปฏิปทามี ๔ คือทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ๑ ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ๑.
               ในปฏิปทา ๔ อย่างนั้น ในการยึดมั่นวิปัสสนาในจิตสันดานอันมีรูปเป็นประธานเป็นต้น ผู้ใดมีจิตสันดานยึดมั่นวิปัสสนามีรูปเป็นประธาน กำหนดเอามหาภูตรูป ๔ แล้วกำหนดเอาอุปาทารูป กำหนดอรูป ก็เมื่อกำหนดรูปและอรูป ย่อมอาจเป็นผู้เหน็ดเหนื่อยกำหนดได้โดยยาก โดยลำบาก สำหรับท่านผู้นั้นชื่อว่ามีปฏิปทา คือการปฏิบัติลำบาก.
               ส่วนสำหรับท่านผู้กำหนดรูปและอรูป ย่อมชื่อว่าตรัสรู้ได้ช้า เพราะมรรคปรากฏได้ช้า ในการกำหนดอยู่กับวิปัสสนา.
               ฝ่ายท่านผู้ใดกำหนดเอารูปและอรูปแล้ว เมื่อจะกำหนดนามและรูป ย่อมเป็นผู้เหน็ดเหนื่อยกำหนดเอาโดยยาก โดยลำบาก และเมื่อกำหนดนามและรูปได้แล้ว เมื่ออบรมบ่มวิปัสสนาอยู่ ย่อมอาจทำมรรคให้เกิดขึ้นได้โดยเวลาเนิ่นนาน แม้สำหรับผู้นั้นก็ย่อมชื่อว่า ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า.
               อีกท่านหนึ่งกำหนดลงตรงนามและรูป ก็กำหนดเอาปัจจัยทั้งหลาย เป็นผู้เหน็ดเหนื่อย กำหนดเอาได้โดยยาก โดยลำบาก. ก็ครั้นกำหนดเอาปัจจัยทั้งหลายได้แล้ว อบรมบ่มวิปัสสนาอยู่ ย่อมทำมรรคให้เกิดขึ้นโดยกาลช้านาน แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ย่อมชื่อว่า ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า.
               อีกท่านหนึ่ง แม้ปัจจัยทั้งหลายก็กำหนดได้แล้ว เมื่อจะรู้แจ้งลักษณะทั้งหลาย ย่อมรู้แจ้งได้โดยยาก โดยลำบาก และรู้แจ้งลักษณะแล้วอบรมบ่มวิปัสสนาอยู่ ทำมรรคให้เกิดขึ้นโดยเวลาเนิ่นนาน แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ย่อมชื่อว่า ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า.
               อีกท่านหนึ่ง แม้ลักษณะทั้งหลายก็รู้แจ้งแล้ว เมื่อวิปัสสนาญาณแก่กล้าผ่องใสเป็นไปอยู่ เมื่อครอบงำความชอบใจในวิปัสสนาที่เกิดขึ้นลำบากอยู่ ย่อมรู้แจ้งได้โดยยาก โดยลำบาก และรู้แจ้งลักษณะแล้ว อบรมบ่มวิปัสสนาอยู่ ย่อมทำมรรคให้เกิดขึ้นโดยเวลาช้านาน แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ย่อมชื่อว่า ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า.
               บรรดาปฏิปทาตามที่กล่าวแล้วนั้นแหละ พึงทราบปฏิปทาที่ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว เพราะมรรคปรากฏได้เร็ว แต่ในเมื่อปฏิปทาเหล่านั้นสำเร็จได้โดยไม่ยาก พึงทราบปฏิปทาที่ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า เพราะมรรคปรากฏช้าและปฏิปทาที่ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว เพราะมรรคปรากฏเร็วตามลำดับ.
               พึงทราบพระเถระ ๔ จำพวกโดยการบรรลุพระอรหัตมรรคด้วยอำนาจปฏิปทา ๔ ประการนี้. เพราะเว้นจากปฏิปทาทั้งหลายเสีย การบรรลุอริยมรรคจะมีไม่ได้. จริงอย่างนั้น ในพระอภิธรรม ท่านจึงจำแนกอริยมรรคพร้อมกับปฏิปทาเท่านั้น โดยนัยมีอาทิว่า สมัยใด พระโยคาวจรเจริญโลกุตรฌานอันนำออกจากโลก เป็นเครื่องนำไปสู่พระนิพพาน ฯลฯ อันเป็นทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ดังนี้.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระอริยบุคคล ๔ จำพวกโดยจำแนกตามปฏิปทา ๔.
               พระอริยบุคคลมี ๕ จำพวกโดยการจำแนกผู้ยิ่งด้วยอินทรีย์. พระอริยบุคคลเหล่านั้น แม้มีความเสมอกันโดยการตรัสรู้สัจจะ แต่พระเถระบางพวกเป็นผู้ยิ่งด้วยศรัทธาดุจพระวักกลิเถระ, บางพวกเป็นผู้ยิ่งด้วยความเพียรดุจพระมหาโสณโกฬิวิสเถระ, บางพวกเป็นผู้ยิ่งด้วยสติดุจพระโสภิตเถระ, บางพวกเป็นผู้ยิ่งด้วยสมาธิดุจพระจูฬปันถกเถระ, บางพวกเป็นผู้ยิ่งด้วยปัญญาดุจพระอานันทเถระ.
               จริงอย่างนั้น พระอานันทเถระนั้น พระศาสดาทรงยกย่องไว้ในความเป็นผู้มีคติ และในความเป็นผู้มีความฉลาดในอรรถเป็นต้น. ก็วิภาคการจำแนกนี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจคุณวิเศษซึ่งมีอยู่ในกาลอันเป็นส่วนเบื้องต้น แต่ในขณะอรหัตมรรค ท่านประสงค์เอาอินทรีย์แม้ที่เหลือเป็นสภาพเดียวกันแล.
               อนึ่ง มี ๕ จำพวก คือท่านผู้บรรลุบารมี คือคุณอันยอดเยี่ยม ท่านผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ท่านผู้มีอภิญญา ๖ ท่านผู้มีวิชชา ๓ และท่านผู้เป็นสุกขวิปัสสก.
               จริงอยู่ บรรดาพระสาวกทั้งหลาย พระสาวกบางพวกบรรลุถึงที่สุดสาวกบารมี เหมือนท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ.
               บางพวกบรรลุปฏิสัมภิทาด้วยอำนาจปฏิสัมภิทา ๔ นี้ คืออัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ ๑ ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม ๑ นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในภาษา ๑ ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในไหวพริบ ๑. บางพวกมีอภิญญา ๖ ด้วยอำนาจอภิญญาทั้งหลายมีอิทธิวิธญาณ ความรู้ในการแสดงฤทธิ์ได้เป็นต้น.
               บางพวกมีวิชชา ๓ ด้วยอำนาจวิชชา ๓ มีบุพเพนิวาสญาณ ความรู้ระลึกชาติได้เป็นต้น.
               ส่วนพระเถระผู้ตั้งอยู่ในสมาธิเพียงสักว่าขณิกสมาธิ แล้วเริ่มตั้งวิปัสสนาบรรลุอรหัตมรรคนั้น ชื่อว่าสุกขวิปัสสก ผู้เจริญวิปัสสนาล้วนๆ เพราะมีแต่วิปัสสนาล้วน ไม่มีการสืบต่อในภายในวิปัสสนาด้วยองค์ฌานอันเกิดแต่สมาธิในเบื้องต้นและในระหว่างๆ.
               ก็วิภาคนี้ ท่านกล่าวโดยเพ่งภาวะทั่วๆ ไปแห่งพระสาวกทั้งหลาย.
               พระเถระผู้มาในบาลีในที่นี้ ไม่มีสุกขวิปัสสกเลย.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
               อภิญญา ๖ เราได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสอนของพระ
               พุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.
               พระเถระมี ๕ จำพวกด้วยอำนาจท่านผู้บรรลุถึงบารมีเป็นต้นด้วยประการอย่างนี้.
               เมื่อว่าด้วยอำนาจวิมุตติมีอนิมิตตวิมุตติเป็นต้น พระเถระมี ๖ พวกมีท่านผู้เป็นอนิมิตวิมุตติเป็นต้น.
               พระเถระ ๒ พวก คือ สัทธาธุระ ปัญญาธุระ.
               อนึ่ง มี ๒ พวกคือ อัปปณิหิตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ. ก็เมื่อว่าด้วยอนิมิตตวิมุตติเป็นต้น พระเถระมี ๗ จำพวก ด้วยประเภทแห่งท่านผู้หลุดพ้นโดยปริยายด้วยประการอย่างนี้.
               จริงอยู่ ท่านผู้เป็นอุภโตภาควิมุตติ ๕ คือท่านผู้กระทำอรูปสมาบัติหนึ่งๆ ในอรูปสมาบัติ ๔ ให้เป็นบาทแล้วเจริญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัต เป็น ๔ และท่านผู้ออกจากนิโรธสมาบัติแล้วบรรลุพระอรหัต ๑ และท่านผู้เป็นปัญญาวิมุตติ ๒ คือสัทธาธุระและปัญญาธุระ รวมเป็น ๗ พวก โดยชนิดแห่งวิมุตติด้วยประการอย่างนี้.
               มี ๘ พวกโดยวิภาคแห่งธุระและปฏิปทา.
               จริงอยู่ ท่านผู้ใดออกจากทุกข์ ด้วยทุกขปฏิปทา ทันธาภิญญา ท่านผู้นั้นเป็น ๒ อย่างโดยสัทธาธุระและปัญญาธุระ, แม้ในปฏิปทาที่เหลือก็เหมือนกัน พระเถระมี ๘ พวก ด้วยการวิภาคโดยธุระและปฏิปทาอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               มี ๙ พวกโดยชนิดแห่งวิมุตติ. มี ๙ พวกอย่างนี้ คืออุภโตภาควิมุตติ ๕ ปัญญาวิมุตติ ๒ พระอัครสาวกทั้งสองผู้บรรลุบารมีในปัญญาวิมุตติและเจโตวิมุตติ.
               มี ๑๐ พวกโดยวิมุตตินั่นแหละ. ท่านผู้เป็นปัญญาวิมุตติ ๕ คือท่านผู้กระทำอรูปาวจรฌานหนึ่งๆ ในบรรดาอรูปาวจรฌาน ๔ ให้เป็นบาทแล้วบรรลุพระอรหัต เป็น ๔ และท่านผู้เป็นสุกขวิปัสสก ๑ กับท่านผู้เป็นอุภโตภาควิมุตติตามที่กล่าวมาแล้ว ๕ รวมเป็นพระเถระ ๑๐ พวก โดยชนิดแห่งวิมุตตินั่นแล ด้วยประการอย่างนี้.
               พระเถระ ๑๐ พวกนั้น เมื่อแตกออกด้วยประเภทธุระตามที่กล่าวแล้วย่อมเป็น ๒๐ พวก.
               เมื่อแตกออกโดยประเภทปฏิปทาย่อมเป็น ๔๐ พวก เมื่อแตกออกอีกโดยประเภทปฏิปทาและโดยประเภทธุระก็เป็น ๘๐ พวก.
               ถ้าว่า พระเถระ ๔๐ พวกนั้นแตกออกโดยจำแนกเป็นสุญญตวิมุตติเป็นต้นเป็น ๒๔๐ พวก ท่านทั้ง ๒๔๐ พวกนั้นเมื่อแตกออกไปโดยความเป็นผู้ยิ่งด้วยอินทรีย์เป็น ๑,๒๐๐ พวก.
               บรรดาพระอริยสาวกผู้ดำรงอยู่ในมรรคและผล ซึ่งจำแนกออกไปหลายประเภท ด้วยอำนาจแห่งคุณของตนๆ อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               พระอริยสาวกเหล่าใดประกาศเรื่องราวแห่งข้อปฏิบัติเป็นต้นของตน และพระอริยสาวกเหล่าใดได้กล่าวคาถาด้วยอำนาจอุทานเป็นต้นมีอาทิว่า ฉนฺนา เม กุฏิกา กุฎีเรามุงบังแล้ว และพระอริยสาวกเหล่านั้น ท่านยกขึ้นสังคายนาในที่นี้ โดยมุขคือคาถา.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สีหานํว น ทนฺตานํ ฯเปฯ ผุสิตฺวา อจฺจุตํ ปทํ ดังนี้เป็นต้น.
               พึงทราบกถาเบ็ดเตล็ดในเรื่องนี้ด้วยประการอย่างนี้.


               จบอรรถกถาวังคีสเถรคาถาที่ ๑               
               จบปรมัตถทีปนี อรรถกถาเถรคาถา มหานิบาต               
               พระอาจารย์ธัมมปาลเถระ ผู้อยู่ในพทรติตถมหาวิหาร               
               รจนา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สัฏฐิกนิบาต ๑. วังคีสเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 400อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 401อ่านอรรถกถา 26 / 402อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8643&Z=8881
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=12997
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=12997
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :